You are here: Home > Science & Envi > ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง/ An Inconvinient Truth

ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง/ An Inconvinient Truth

(โดย พ. ญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

             ผู้ติดตามข่าวสารเป็นประจำอาจจะสังเกตเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านระดับความรุนแรงและด้านระยะเวลา  อาจมีคำถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นและเราจะมีหนทางใดหรือไม่ที่จะทำให้ภัยธรรมชาตินี้หมดไปได้  หนังสือเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งคงแปลเป็นไทยได้ว่า “ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง”  มีคำตอบ  หนังสือเล่มนี้เขียนโดยอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ (Al Gore) แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ติดตามปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนมาเป็นเวลานาน  หนังสือออกวางตลาดพร้อม ๆ กับการฉายรอบปฐมฤกษ์ของภาพยนตร์สารคดีชื่อเดียวกันในเทศกาลประกวดภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2549  ผู้เขียนอาศัยภาพถ่ายเป็นส่วนใหญ่ในการเล่าเรื่องซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ส่วนแรกกล่าวถึงตัวชี้บ่งว่าโลกร้อนขึ้น  ส่วนที่สองกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น  ส่วนที่สามกล่าวถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้น  และส่วนสุดท้ายกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหา

                        ผู้เขียนใช้ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายผ่านดาวเทียมจากทั่วโลกในช่วงเวลาต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันเพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกร้อนขึ้นจริง  เช่น ปริมาณธารน้ำแข็งในบริเวณต่าง ๆ ของโลกลดลงจนบางแห่งไม่มีสภาพเป็นธารน้ำแข็งอีกต่อไปแต่กลับกลายเป็นทุ่งหญ้าสีเขียว  นอกจากนั้นเขายังมีข้อมูลที่ชี้ว่าเมื่อปี 2548 เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกสร้างสถิติใหม่ในการมีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองในทวีปอเมริกาและยุโรป  ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลยังชี้ว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรก็สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วย            

สำหรับปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกอื่นๆ เช่น  ก๊าซมีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (NO) และคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซ์ (Chlorofluoro-carbons หรือ CFCs) เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก  ก๊าซเหล่านี้เก็บกักความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ในชั้นบรรยากาศของโลกแทนที่จะปล่อยให้ความร้อนนั้นระบายผ่านชั้นบรรยากาศกลับออกไปในอวกาศดังที่ควรจะเป็นจึงก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก  ในจำนวนนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด  ก๊าซนี้เป็นผลจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ในโรงไฟฟ้าและโดยยานพาหนะ

การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก  การศึกษาพบว่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นในบริเวณมหาสมุทรมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มความรุนแรงและระยะเวลาของพายุจากท้องทะเล  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความอุ่นของน้ำทำให้ลมแรงขึ้นและพายุมีความชื้นมากขึ้นจนกระตุ้นให้ฝนตกมากขึ้นยังผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น เช่น ที่เมืองมุมไบใน ประเทศอินเดียเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2548 เกิดฝนตกใหญ่ในวันเดียววัดได้ถึง 37 นิ้วยังผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันสูงถึง 7 ฟุต  ปริมาณน้ำฝนนั้นทำลายสถิติฝนตกในเมืองของประเทศอินเดียทั้งหมด

นอกจากน้ำท่วมแล้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังนำความแห้งแล้งมาสู่ผิวโลกอีกด้วยเพราะความร้อนทำให้น้ำระเหยจากพื้นดินขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น  ตัวอย่างความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นที่ทะเลสาบชาดในแอฟริกาซึ่งเคยเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับหกของโลก  ปัจจุบันพื้นที่ทะเลสาบลดลงเหลือเพียง 1 ใน 12 ของพื้นที่เดิมส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ชายแดนชาด แคเมอรูน ไนเจอร์ไปจนถึงไนจีเรียและสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อการดำเนินชีวิตของคนในย่านนั้น  นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ชาวแอฟริกันจะสูญเสียแม่น้ำไปถึง 25-50% จากที่มีอยู่เดิมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรราว 20 ล้านคนที่อาศัยแหล่งน้ำเหล่านั้นในการเพาะปลูก  

ส่วนบริเวณที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากภาวะโลกร้อนขึ้นก็คือบริเวณแถบขั้วโลกเหนือ หรือ อาร์กติก (Arctic) รองลงมาคือ แถบขั้วโลกใต้ หรือ ทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica)  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริเวณอาร์กติกมีความหนาของน้ำแข็งเพียง 10 ฟุตและล้อมรอบด้วยผืนดิน ในขณะที่แถบแอนตาร์กติกามีความหนาของน้ำแข็งถึง 10,000 ฟุตและล้อมรอบด้วยมหาสมุทร  นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกจะละลายเร็วกว่าแถบแอนตาร์กติกาเพราะมันบางกว่าและเมื่อมันละลายลง ความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่นอกโลกก็ลดลงส่งผลให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ถูกเก็บกักไว้ในบริเวณนั้นมากขึ้น  พื้นที่บริเวณนั้นจึงร้อนขึ้น  นอกจากนั้นน้ำที่อุ่นขึ้นจากความร้อนของแสงอาทิตย์ร่วมกับน้ำจากมหาสมุทรบริเวณข้างเคียงจะยิ่งเร่งให้น้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นอีก  ร้ายยิ่งกว่านั้นความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้พื้นดินที่เคยแข็งอย่างถาวรเพราะความหนาว (permafrost) อ่อนลงและพังทลายได้ง่ายขึ้นสร้างอันตรายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น

การที่โลกร้อนขึ้นส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายจนเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำแข็งที่ละลายนี้ยังกัดเซาะลงไปบนแผ่นน้ำแข็งจนอาจทำให้เกิดการแยกของแผ่นดินในบริเวณขั้วโลกได้ในอนาคต  ผลการศึกษาจากดาวเทียมขององค์การอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA) พบว่า ปัจจุบันทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งถึงปีละ 31,000 ล้านตัน  นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า หากน้ำแข็งจากบางส่วนของทวีปแอนตาร์คติกาหรือของเกาะกรีนแลนด์ทั้งหมดละลายลงในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นทันทีถึง 18-20 ฟุต ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้และบังคลาเทศ จมหายไปในน้ำ

นอกจากนั้นการละลายของน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกยังส่งผลใหญ่หลวงต่อภูมิอากาศทั่วโลก  การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า การระบายความร้อนและการดูดซับความร้อนของโลกจะเริ่มต้นจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรก่อนเพราะเป็นบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าบริเวณอื่น แล้วจะค่อย ๆ กระจายความร้อนไปสู่บริเวณขั้วโลกยังผลให้เกิดกระแสลมและกระแสน้ำทะเล  การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในบริเวณขั้วโลกอันเป็นแหล่งดูดซับความร้อนจึงอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมและกระแสน้ำซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างประเมินค่ามิได้  นอกเหนือจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า เมื่ออุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5 องศาโดยเฉลี่ยนั้นอุณหภูมิบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศาในขณะที่บริเวณขั้วโลกอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 12 องศา  ผลก็คือฤดูใบไม้ผลิในเขตหนาวจะมาถึงเร็วขึ้นและฤดูใบไม้ร่วงจะมาถึงช้าลงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตในการผสมพันธุ์ของสัตว์จนอาจทำให้เกิดการสูญพันธ์ของสัตว์บางชนิด และก่อความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรบางอย่างเนื่องจากฤดูหนาวไม่ยาวเพียงพอ

            เป็นที่ทราบกันดีว่า ปะการังซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเลถูกทำลายจากหลายสาเหตุ เช่น มลพิษบริเวณชายฝั่ง การใช้ระเบิดในการหาปลาของประเทศด้อยพัฒนาและการที่น้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้น  แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่า สิ่งที่ทำลายปะการังมากและเร็วที่สุดคืออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  สถิติบ่งว่า ในปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์โลก ปะการังถูกทำลายมากถึง 16%  นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา บริเวณที่เหมาะแก่การเจริญของปะการังได้ถูกทำลายไปหมด  นั่นอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต

            นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคมักมีความสามารถในการก่อให้เกิดโรคน้อยเมื่ออยู่ในแถบอากาศเย็น  เมื่ออากาศร้อนขึ้นมันจะมีความสามารถในการก่อโรคเพิ่มขึ้น และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยจนยากที่จะคาดการณ์ถึงอันตรายที่จะเกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้  ยิ่งไปกว่านั้นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อสัตว์อีกหลายชนิด เช่น นกเพนกวินซึ่งลดลงแล้วถึงกว่า 70% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา  เป็นไปได้ว่าสัตว์เหล่านี้อาจสูญพันธุ์ในเวลาไม่นาน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นส่งผลให้ระบบนิเวศของโลกถูกทำลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ก๊าซเหล่านี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจัยหลัก ๆ 3 อย่าง  ปัจจัยแรกได้แก่การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว  สถิติบ่งว่าเมื่อราวสองพันปีที่แล้วโลกมีประชากรเพียง 250 ล้านคนและเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เป็น 2.3 พันล้านคนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ  หลังจากนั้นประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 9 พันล้านคนในเวลาอีก 4 ทศวรรษ  ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ผลิตก๊าซเรือนกระจกแบบทวีคูณเพราะแต่ละคนบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันซึ่งมีจำนวนเพียง 5% ของประชากรโลก แต่กลับผลิตก๊าซเรือนกระจกมากถึง 25% ของปริมาณที่ผลิตขึ้นทั่วโลก  ทั้งที่ผลิตก๊าซเหล่านี้มากกว่าผู้อื่น แต่สหรัฐอเมริกากลับเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตอันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ  ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ยอมลงนามคือ ออสเตรเลีย

                นอกจากนั้นประชากรที่เพิ่มขึ้นยังทำลายป่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและที่เพาะปลูก  การสูญป่ามีส่วนทำให้ความสมดุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียไป  ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการเผาป่าซึ่งส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 30% ของจำนวนที่ผลิตขึ้นในโลก อีกทั้งยังทำให้ระดับอุณหภูมิบริเวณนั้นสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งตามมา  แม้ผู้เขียนจะไม่ได้บอกโดยตรง ๆ แต่ภาพที่นำมาเสนอมีนัยว่าพื้นที่ป่าอันเป็นผลของนโยบายอนุรักษ์ป่ามีผลกระทบใหญ่หลวงต่อการพัฒนาในระยะยาว  ภาพถ่ายทางอากาศของประเทศเฮติและสาธารณรัฐโดมินิกันชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน  ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองนี้อยู่บนเกาะเดียวกันและเคยมีจำนวนพื้นที่ป่าไม้พอ ๆ กัน แต่มีนโยบายด้านการอนุรักษ์ป่าต่างกัน  ในปัจจุบันเฮติแทบไม่มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เลย ส่วนโดมินิกันยังคงมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเฮติเป็นรัฐล่มสลายส่วนโดมิกันยังพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ

                ปัจจัยที่สองคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  นั่นคือ เทคโนโลยีเดิม ๆ มักมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำไม่ว่าจะเป็นการใช้มีดและปืนผาหน้าไม้ในการทำสงคราม หรือการใช้ควายไถนา  ในปัจจุบันนี้เรารู้แล้วว่าเทคโนโลยีใหม่มีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมแม้เราจะคาดเดาไม่ได้มาก่อนก็ตาม เช่น เมื่อสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่นก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง  การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การทำลายผิวดิน  การสร้างเขื่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำจนทำให้พื้นที่บางแห่งเป็นทะเลทราย อาทิเขื่อนในสหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนแปลงทางไหลของแม่น้ำสองสายในบริเวณเอเชียกลางจนส่งผลให้ลุ่มน้ำแถวนั้นกลายเป็นทะเลทราย

                ปัจจัยสุดท้ายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะมันวางอยู่บนฐานของการคิดผิด ๆ ซึ่งอาจแยกได้เป็น 4 ด้านคือ

1) การละเลยหรือไม่ใส่ใจเพราะมันเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด  ผู้เขียนนำนิทานเก่าแก่ เรื่องการต้มกบมาเล่าประกอบประเด็นว่าในการนำกบเป็น ๆ มาต้มโดยปล่อยให้น้ำค่อย ๆ ร้อนขึ้นจนเดือดนั้น กบที่ไม่ใส่ใจกับความร้อนและไม่กระโดดหนีจะตายเมื่อน้ำร้อนขึ้นถึงจุดหนึ่ง  ส่วนกบที่กระโดดหนีเพราะทนความร้อนไม่ไหวย่อมรอดตาย  ประเด็นจึงเป็นว่าว่าเราจะเลือกเป็นกบชนิดไหน 

2) วัฒนธรรมทางความคิดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักการเมือง  นักวิทยาศาสตร์มักพยายามทำวิจัยเพื่อให้ได้ความจริงเป็นที่ประจักษ์แต่มักไม่สามารถหรือไม่สนใจสื่อสารสิ่งที่ค้นพบให้โลกรับรู้อย่างจะแจ้ง  ส่วนนักการเมืองมักจะเพียรพยายามสื่อสารสิ่งที่ตนอยากให้ประชาชนรับรู้โดยไม่สนใจว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นสิ่งที่พวกบริษัทสนับสนุนให้มีข้อสรุปออกมาเช่นนั้น  วัฒนธรรมของนักการเมืองเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่าโลกร้อนขึ้นจริงหรือไม่ และมันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยหรือไม่เพราะนักการเมือง สื่อ และบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่มีผลผลิตหรือขบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมช่วยกันบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างความสับสน  เกี่ยวกับประเด็นนี้มีตัวอย่างจากข่าวอื้อฉาวในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ นั่นคือ รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชพยายามที่จะปกปิดและบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโลกร้อนจากองค์กรเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมอันเป็นองค์กรของรัฐเอง  เมื่อเรื่องแดงออกมาพนักงานผู้ทำการปิดกั้นและบิดเบือนข้อมูลต้องลาออกจากตำแหน่ง  อย่างไรก็ตามต่อมาเขาได้งานกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่โมบิล

                3) เราต้องเลือกระหว่างสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้  การคิดเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นเพราะเราลืมไปว่า หากไม่มีโลกนี้แล้วเราจะมีความร่ำรวยได้อย่างไร  ความจริงก็คือ หากเราใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เราย่อมสามารถที่จะสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้  ตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากบริษัทรถยนต์จากหลายประเทศพยายามผลิตรถยนต์ที่มีอัตราการใช้น้ำมันต่ำ  แต่เนื่องจากชาวอเมริกันคำนึงถึงเรื่องนี้น้อยและต้องการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนส่งผลให้รถยนต์อเมริกันซึ่งกินน้ำมันมากกว่ารถที่ผลิตในประเทศอื่นไม่สามารถเข้าไปขายในบางประเทศได้เนื่องจากกฎหมายของเขาไม่อนุญาต   

4) ประชาชนส่วนหนึ่งคิดว่าปัญหานี้ใหญ่หลวงเกินไปจนยากที่จะเยียวยาได้  ฉะนั้นจึงเกิดความท้อแท้หรือไม่ก็ไม่ยอมทำอะไรเลย

                เมื่อปรากฏการณ์โลกร้อนเกิดจากน้ำมือของเราและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตของโลกสูงมากอย่างไม่ต้องสงสัยแล้ว ประเด็นจึงเป็นว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ ?  การศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซตันยืนยันว่า เรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากพอที่จะลดความร้อนให้กับโลกได้หากเราเปลี่ยนชนิดและปริมาณของพลังงานพร้อมทั้งชนิดและปริมาณของสินค้าต่าง ๆ ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน  ฉะนั้นถ้าเราต้องการแก้ปัญหาจริง ๆ เราย่อมทำได้

                ผู้เขียนมีคำแนะนำสำหรับทุกคนเพื่อให้มีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองคือ 1) แสวงหาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนและวิธีการปฏิบัติตัว เพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon footprint) ของเราบนผืนโลก  2) เลือกทำแต่กิจกรรมที่ลดความร้อนหรือไม่เพิ่มความร้อนให้กับโลกซึ่งอาจทำให้เราต้องลดความสะดวกสบายลงบ้าง เช่น ลดการใช้รถหรือ เครื่องบิน ลดการบริโภคลง  พร้อมกับพยายามอนุรักษ์ให้มากขึ้น เช่น เลือกใช้สินค้าของบริษัทที่มีนโยบายใช้ของหมุนเวียน (recycle) และใช้ปริมาณกระดาษให้น้อยลง และ 3) เพิ่มการแสดงออกทางการเมืองเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลออกมาตรการในการลดอุณหภูมิโลก

ข้อสังเกต – ผู้เขียนมีความประสงค์จะให้ทุกคนในโลกได้ประจักษ์และตระหนักว่าโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดจากน้ำมือของเรา  ฉะนั้นเราสามารถลดปัญหาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรบางอย่าง  เขามองว่าการที่เราต้องช่วยกันลดปัญหานี้ตั้งอยู่บนหลักของความยุติธรรมระหว่างรุ่น (Intergeneration Equity)  นั่นหมายความว่า คนรุ่นต่อไปซึ่งก็คือลูกหลานของเรานั่นเองควรที่จะได้มีโอกาสอยู่ในโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีไม่น้อยไปกว่าที่เราได้รับมาจากคนรุ่นก่อน 

เขานำภาพชาวนาไทยในจังหวัดปัตตานีซึ่งกำลังคราดนาด้วยควายมาพิมพ์ไว้ที่หน้า 236 เทียบกับภาพชาวนาอเมริกันในหน้าต่อไปซึ่งใช้รถไถนาเพื่อแสดงถึงนัยที่ว่าการใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกำลังเปลี่ยนไปในทางลบ  แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงว่า ถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 18-20 ฟุตจริง ๆ กรุงเทพฯ และชุมชนตามชายฝั่งของไทยจะจมน้ำเหมือนนครเซี่ยงไฮ้และรัฐฟลอริดาหรือเปล่า

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มซึ่งพูดถึงปัญหาโลกร้อนและออกวางตลาดในสหรัฐอเมริกาในเวลาไล่เลี่ยกัน  นั่นคงเป็นสัญญาณที่ชี้บ่งว่าปัญหานี้หนักหนาสาหัสและเร่งด่วนมาก  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ดูจะให้ความสนใจในระดับหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชซึ่งดูจะยังอยู่ใต้มนต์สะกดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีความสนใจจะลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกของตน

Rating: 5 stars

Tags: , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.