(โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร)
หลายเดือนติดต่อกันมาแล้วที่บทความและข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ไทยเขียนถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งเกิดข่าวใหญ่ขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั่นคือ เด็กนักเรียนไทยที่สอบเข้าแพทย์ได้สละสิทธิ์ถึงกว่าร้อยละ 25 นี่คงเป็นครั้งแรกในโลกก็ว่าได้ที่เกิดการสละสิทธิ์การเข้าเรียนในสาขาอาชีพที่เคยได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลกสาขาหนึ่งมากมายขนาดนี้ นักวิจัยและหนังสือพิมพ์ต่างตื่นตัวที่จะหาข้อมูลว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่อยากเป็นแพทย์ แต่กลับไม่เคยมีใครมาถามว่าแพทย์ที่ทำงานกันอยู่ว่าคิดอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ว่าเมื่อเด็กที่สนใจจะเข้าเรียนแพทย์มาผ่านการฝึกงานที่โรงพยาบาลแล้วพบว่าการเป็นแพทย์มิได้ดีอย่างที่คิด สิ่งที่พวกแพทย์บอกกับเด็ก ๆ สภาพในโรงพยาบาล หรือข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์กันแน่ที่ทำให้พวกเด็ก ๆ ท้อใจจนไม่ต้องการที่จะเป็นแพทย์อีกต่อไป
โดยทั่วไปนั้นเวลาที่ผู้คนรู้สึกเป็นปกติดีอาจไม่เคยอยากทราบว่าแท้ที่จริงแล้วพวกแพทย์คิดอย่างไรเพราะมันเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อพวกเขาหรือญาติป่วยและต้องเผชิญหน้ากับแพทย์จริง ๆ พวกเขาส่วนใหญ่มักสงสัยว่าแพทย์คิดอย่างไรเกี่ยวกับโรคและตัวเขา หนังสือขนาด 307 หน้าที่ชื่อ How Doctors Think ของ Dr. Jerome Groopman หัวหน้าหน่วยอายุรกรรมแห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดและนักเขียนประจำนิตยสาร New Yorker, New York Times และ Washington Post ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี 2550 มีคำตอบ นอกจากนี้หนังสือยังตอบคำถามอื่น ๆ อีก เช่น แพทย์แต่ละคนในแต่ละสาขาคิดเหมือนกันหรือไม่ อารมณ์ชอบหรือไม่ชอบผู้ป่วยส่งผลต่อการคิดหรือตัดสินใจของแพทย์หรือไม่ ฯลฯ
คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินกันมาแล้วที่คนรุ่นเก่ามักบ่นว่าเด็กรุ่นใหม่ขาดความสามารถและความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในวงการแพทย์เช่นกัน ผู้เขียนเห็นว่าข้อแตกต่างในการเรียนรู้ระหว่างแพทย์รุ่นใหม่และแพทย์รุ่นเก่าคงเป็นความบกพร่องโดยธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะการสอนนักเรียนแพทย์ในอดีตมิได้มีการสอนถึงวิธีคิดออกมาตรง ๆ หากเป็นการเฝ้าสังเกตว่าแพทย์รุ่นพี่ทำอย่างไรเหมือนการเฝ้าสังเกตช่างไม้แกะสลักอย่างไรอย่างนั้น น้อยครั้งนักที่แพทย์รุ่นพี่จะอธิบายให้แพทย์รุ่นน้องหรือแพทย์ฝึกหัดที่เฝ้าสังเกตวิธีการดูแลผู้ป่วยของพวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไร ต่อมาวิธีที่แพทย์สอนกันได้พัฒนามาจนกระทั่งมีแนวทางการปฏิบัติการรักษาซึ่งจะบอกวิธีการติดตามทีละขั้นตอนในการตรวจและรักษาเสมือนติดตามวิธีการคิดนั่นเอง วิธีการนี้จะเริ่มต้นเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการใดอาการหนึ่ง แพทย์จะติดตามกิ่งก้านสาขาตามแนวทางการปฏิบัตินี้ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายพวกเขาจะได้การวินิจฉัยโรคและแนวทางการรักษาโรคนั้น ๆ
อย่างไรก็ดีการหาคำวินิจฉัยโรคโดยวิธีนี้อาจไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยทุกคน ทั้งนี้เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนมาด้วยอาการตามแนวทางการรักษา ผู้ป่วยบางคนอาจมาด้วยอาการที่คลุมเครือหรือมีความซับซ้อนมากกว่าปกติ แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องคิดให้ออกไปนอกกรอบเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่ปัจจุบันการที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้แนวทางการปฏิบัติการรักษานี้เป็นหลักทำให้แพทย์ไม่สามารถที่จะคิดหรือทำการรักษานอกกรอบได้มากนักส่งผลให้การรักษาขาดประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะการรักษาผู้ป่วยเป็นศิลปะและแพทย์อาจสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้โดยใช้เพียงแค่ประสบการณ์โดยไม่จำเป็นต้องทำตาม(ตาม)แนวทางการปฏิบัติการรักษาทั้งหมดก็ได้ ผู้เขียนเห็นว่าการที่นักเรียนแพทย์และแพทย์ฝึกหัดต้องทำตามรายการของแนวทางการรักษาตลอดเวลาอาจทำให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ไม่สามารถคิดได้กว้างและรอบคอบ
เมื่อวิธีคิดของแพทย์เป็นสิ่งที่แพทย์มิได้รับการสั่งสอนมาในโรงเรียนแพทย์ ผู้เขียนจึงสนใจศึกษาถึงวิธีการคิดของแพทย์ เขาพบว่าแท้ที่จริงแล้วพวกแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองคิดอย่างไร เดบรา โรเตอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านนโยบายสุขภาพและการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กินได้ศึกษาวิธีการสื่อสารของแพทย์หลากหลายสาขาจากวีดีทัศน์กว่าพันตลับพบว่า แพทย์คิดอย่างไรสามารถดูได้จากวิธีการที่เขาพูดและฟัง รวมทั้งภาษากายทั้งของเขาเองและของผู้ป่วย การตั้งคำถามและการตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ป่วยเป็นกุญแจสำคัญที่จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยตอบสนองหรือถอยหนี หากแพทย์กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูด ผู้ป่วยจะรู้สึกสะดวกใจในการเล่าเรื่องของตัวเอง แต่หากผู้ป่วยถูกปิดกั้นไม่ให้พูด แพทย์ย่อมขาดหลักฐานสำคัญที่นำสู่การวินิจฉัย นอกจากนี้โรเตอร์พบว่าแพทย์มักขัดจังหวะมิให้ผู้ป่วยพูดหลังจากที่พวกเขาพูดได้เพียงแค่ 18 วินาทีเท่านั้น
นอกจากนี้คนทั่วไปมักคิดว่าแพทย์จะไม่มีอารมณ์ใด ๆ ในขณะตรวจรักษา ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ จูดี ฮอลล์ นักสังคมวิทยาพบว่าไม่ว่าแพทย์และผู้ป่วยจะชอบกันหรือไม่ ความรู้สึกระหว่างกันนี้ยากที่จะปิดบัง ผู้ป่วยทราบดีว่าแท้ที่จริงแล้วแพทย์รู้สึกกับพวกเขาอย่างไรจากลักษณะท่าทางที่แพทย์แสดงออก เช่น สีหน้า ท่าทาง ธรรมชาติของแพทย์นั้นจะชอบผู้ป่วยที่แข็งแรงที่สุดและผู้ป่วยที่ป่วยมากที่สุดจะเป็นผู้ป่วยที่แพทย์ไม่ชอบมากที่สุด ทั้งนี้เพราะแพทย์จะรู้สึกล้มเหลวเมื่อพวกเขาไม่สามารถที่จะรักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยที่ป่วยมากที่สุดจึงมักสร้างความกระสับกระส่ายให้กับแพทย์เพราะมันทำให้ดูเหมือนว่าความพยายามของพวกเขาไร้ความหมาย
นอกจากนี้นักสังคมวิทยายังพบว่าความสามารถและความเห็นอกเห็นใจมีส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของแพทย์ เมื่อสิ่งที่แพทย์ทำคือการพูดคุย การสื่อสารย่อมไม่สามารถแยกออกจากคุณภาพทางการรักษาได้ ความสามารถของแพทย์จึงไม่สามารถแยกออกจากทักษะในการสื่อสารได้
ในบทที่ 1 ผู้เขียนพูดถึงความสำคัญของวิธีคิดและการรับรู้ ผลการศึกษาของโรเบอร์ต แฮมม์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความทรงจำที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดพบว่า อาจารย์แพทย์และแพทย์รุ่นพี่ทั้งหลายไม่เคยคิดเหมือนอย่างตอนที่เขาสอนนักศึกษาแพทย์เลยโดยเฉพาะในขณะที่เขาต้องพบผู้ป่วยหนักตรงหน้า ทั้งนี้เพราะวิธีการสอนนักศึกษาแพทย์โดยทั่ว ๆ ไปต้องใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีกว่าอาจารย์จะสามารถสรุปให้นักศึกษาทราบว่าผู้ป่วยเป็นอะไรกันแน่ แต่ในสถานการณ์จริงนั้นแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายในเวลาเพียง 20 วินาที และหากไปถามพวกแพทย์ว่าพวกเขาคิดได้อย่างไร พวกเขามักตอบว่าไม่ทราบเพราะมันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ดร. แพท ครอสแกร์รี อดีตแพทย์ห้องฉุกเฉินในแฮลิแฟกซ์กล่าวว่ากุญแจสำคัญที่บ่งบอกถึงปัญหาของผู้ป่วยจะรวมกันเป็นรูปแบบที่จะทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ การจดจำรูปแบบจะสะท้อนเป็นการรับรู้อย่างทันทีทันใดเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดเหล็กจากทุกทิศทางซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเป็นวินาทีโดยปราศจากความรู้สึกว่าได้ผ่านการวิเคราะห์ นี่คือวิธีการประเมินผู้ป่วยของแพทย์นั่นเอง
โดนัลด์ โชน ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ผู้ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ในวิชาชีพต่าง ๆ พบว่าแพทย์จะมีกระบวนการรับรู้แตกต่างจากวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ แพทย์จะไม่เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยจนเสร็จสิ้นก่อนเริ่มตั้งสมมติฐาน พวกเขาจะคิดถึงการวินิจฉัยทันทีที่พวกเขาเผชิญหน้ากับผู้ป่วยโดยจะเริ่มต้นประเมินตั้งแต่สีหน้าท่าทาง ความสุภาพ การนั่ง การสอดส่ายสายตา เสียง ลักษณะการหายใจ ผลการศึกษาพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะได้ข้อวินิจฉัยมาสองสามอย่างในขณะประเมินผู้ป่วย แต่แพทย์เก่ง ๆ อาจได้ข้อวินิจฉัยมาถึง 4-5 อย่างซึ่งพวกเขาจะตั้งสมมติฐานเสร็จสมบูรณ์หลังจากได้ข้อมูลครบถ้วน
โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักคิดว่าการตัดสินใจทางการแพทย์เป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและปราศจากอารมณ์ ความผิดพลาดทางการแพทย์จึงน่าจะเกิดจากปัญหาทางด้านเทคนิค แต่ผลการศึกษากลับพบว่าปัญหาทางด้านเทคนิคก่อให้เกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ได้น้อยกว่าความผิดพลาดที่เกิดจากการคิดและความรู้สึก ทั้งนี้เพราะความเครียดและความรู้สึกของแพทย์อาจจะบดบังและปิดกั้นความสามารถในการรับฟังปัญหาของผู้ป่วยจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคที่ผิดหรือช้ากว่าปกติจนทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ป่วยได้
บทที่ 2 ผู้เขียนพูดถึงลักษณะของความผิดพลาด เขายกกรณีศึกษาผู้ป่วยชายวัย 70 ปีรายหนึ่ง ชายชราผู้เกษียณจากการเป็นนักเดินเรือ มีกลิ่นตัวเหม็นคละคลุ้งทั้งจากการไม่อาบน้ำและการดื่มสุรามาหา ดร. แพท ครอสแกร์รี ที่ห้องฉุกเฉินในแฮลิแฟกซ์ ผู้ป่วยมีอาการบวมที่ท้องและแขนขาร่วมกับประวัติดื่มสุราเป็นอาจิณซึ่งเข้ากันได้กับโรคตับแข็งจากพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีลักษณะน่าขยะแขยงเหล่านี้มักทำให้แพทย์อยากถอยหนี ทั้งนี้เพราะแพทย์ส่วนใหญ่มักคิดว่างานของพวกเขาคือการวินิจฉัยและรักษาและโดยไม่รู้สึกตัวก็พยายามเพียงแค่ที่จะทำให้งานของตนสำเร็จเท่านั้น แพทย์มักพิจารณาผู้ป่วยที่มาด้วยโรคตับแข็งจากการดื่มจัด หรือถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่รักตัวเองและไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา พวกเขาจึงไม่ค่อยใส่ใจและไม่อยากเสียเวลาให้กับผู้ป่วยประเภทนี้มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จสมดังความตั้งใจจึงบั่นทอนและทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองของแพทย์ แต่สำหรับกรณีผู้ป่วยรายนี้ ดร. ครอสแกร์รี กลับพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ฝึกหัดคิดถึงโรคอื่น ๆ ที่มิได้พบบ่อยเพื่อป้องการผิดพลาดด้วย สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Wilson Disease ซึ่งเป็นโรคที่ตับถูกทำลายจากทองแดง จากกรณีศึกษารายนี้ผู้เขียนเห็นว่าการที่ ดร. ครอสแกร์รี หลีกเลี่ยงที่จะให้การวินิจฉัยที่สอดคล้องกับความคาดหวังของตนเองมากกว่าการหาทางเลือกอื่น ๆ จึงทำให้เขาสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดอันเนื่องมาจากอารมณ์ได้
ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากอารมณ์อาจเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด การที่แพทย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมักทำให้พวกเขาลังเลที่จะส่งตรวจหรือให้การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการที่อาจทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมาน ดังนั้นแพทย์จึงต้องข่มใจและดึงตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด ผู้เขียนสรุปว่าถึงแม้ว่าแพทย์ ผู้ป่วยและญาติจะต้องว่ายน้ำไปในทะเลของอารมณ์ แต่ต่างต้องให้ความสนใจกับฝั่งที่มีธงปักไว้ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ก็ตาม
ในบทที่ 3 ผู้เขียนพูดถึงลักษณะการทำงานและความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับแพทย์ห้องฉุกเฉิน โดยทั่วไปแล้วแพทย์ห้องฉุกเฉินมักเลือกให้ความสำคัญเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับการวินิจฉัยที่พวกเขาตั้งใจจะให้ซึ่งเรียกว่า “อคติที่ช่วยยืนยัน” (confirmation bias) เอมอส ทเวอร์สกี และ แดเนียล คาห์นีแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2545 อธิบายว่าอคตินี้มีลักษณะที่เป็นการทอดสมอทางความคิดทำให้ผู้คนตัดความคิดอื่นที่อาจเป็นไปได้ออกไปจนหมดสิ้นเพราะมั่นใจแต่เฉพาะกับสิ่งที่ตนเองคิดไว้ส่งผลให้ความคิดล่อลวงให้พวกเขาหลงผิด การที่แพทย์พบผู้ป่วยชนิดใดเป็นประจำหรือกำลังมีการระบาดของโรคใดโรคหนึ่งอยู่ทำให้ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการใกล้เคียงกันถูกตีความให้เป็นโรคนั้น ๆ ทันทีโดยที่แพทย์ไม่เฉลียวใจว่าผู้ป่วยรายนั้นอาจมิได้เป็นโรคที่กำลังระบาดอยู่หรือเป็นโรคที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไปก็เป็นได้ การที่แพทย์คิดไว้แล้วว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคอะไรทำให้พวกเขามักยอมรับเฉพาะสิ่งตรวจพบที่สอดคล้องกับโรคที่เขาคิดไว้และละข้อมูลที่ไม่เข้ากันกับโรคนั้น ๆ ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า รูปแบบการรับรู้ที่เบี่ยงเบน (Distorted Pattern Recognition)
ดร. แพท ครอสแกร์รี เปรียบเทียบการทำงานในห้องฉุกเฉินเสมือนการเล่นจานหมุนบนแท่งแก้วของละครสัตว์ ทั้งนี้เพราะการทำงานของแพทย์ในห้องฉุกเฉินนั้นถูกจำกัดโดยเงื่อนเวลาเหมือนจานที่ต้องหมุนบนแท่งแก้วตลอดเวลาซึ่งพวกเขาไม่สามารถทำให้มันหยุดได้ การที่แพทย์ห้องฉุกเฉินต้องพยายามหาเหตุผลที่นำผู้ป่วยมาหาพวกเขาให้ได้ภายในเวลาที่จำกัดส่งผลให้คำถามและวิธีการถามกลายเป็นตัวกำหนดคำตอบให้กับผู้ป่วย อีกทั้งยังกำหนดทิศทางในการคิดของแพทย์เองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการที่ระบบนิเวศในห้องฉุกเฉินประกอบด้วยผู้คนมากมาย เช่น ผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ แพทย์และนักศึกษาจึงทำให้บรรยากาศของห้องฉุกเฉินตึงเครียด การที่แพทย์จะคิดได้อย่างถูกต้องในสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เขาแนะนำว่าแพทย์ห้องฉุกเฉินต้องพยายามทำให้สิ่งต่าง ๆ ในห้องฉุกเฉินเคลื่อนที่ช้าลงเพื่อหลีกเลี่ยงความรับรู้ที่ผิดพลาด การที่ผู้คนขัดจังหวะในขณะที่แพทย์กำลังซักประวัติหรือตรวจร่างกายผู้ป่วยจะทำให้การหลั่งไหลของความคิดหยุดชะงักลงจนอาจส่งผลให้พวกเขาไปผิดทางได้ ผู้เขียนจึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ร่วมงานที่ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ในห้องฉุกเฉินก็คือการถามคำว่า “อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่สิ่งนี้จะเป็นไปได้” และ “อวัยวะอะไรที่อยู่ใกล้บริเวณนี้” คำถามเช่นนี้จะช่วยฉุดแพทย์ออกจากความรีบร้อนและทำให้พวกเขาคิดให้กว้างขึ้น นั่นหมายความว่า ไม่เพียงแต่คำตอบของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีความสำคัญ คำถามของพวกเขาก็มีความสำคัญด้วย
ในบทที่ 4 ผู้เขียนพูดถึงความคิดและการทำงานของกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ ดร. วิคตอเรีย แมคคีวอย กุมารแพทย์ทางตะวันตกของบอสตันเห็นว่าการเป็นกุมารแพทย์คล้ายกับการเป็นยามเฝ้าประตู ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาหามักเป็นเด็กปกติหรือเป็นแค่โรคเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ดังนั้นการมีเฉพาะผู้ป่วยประเภทนี้ทำให้ความสามารถในการเฝ้าสังเกตหาความผิดปกติของแพทย์ต้องเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน พวกเขาจึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา คำถามที่กุมารแพทย์มักต้องถามตนเองเป็นประจำก็คือเด็กคนนี้มีปัญหาสำคัญใดหรือไม่ และพวกเขาต้องแยกแยะให้ออกว่าแท้ที่จริงแล้วเด็กผิดปกติมากน้อยเพียงใดและจะอาศัยเพียงแค่คำบอกเล่าจากผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้นำไม่ได้ การที่กุมารแพทย์ต้องถูกตามตัวเกือบทุกครึ่งชั่วโมงตลอดวันตลอดคืนจนไม่มีโอกาสนอนอาจทำให้พวกเขาเบรกแตกและไม่สามารถที่จะควบคุมตนเองได้ นั่นหมายความว่า การทำงานมากเกินไปแทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลเสียทั้งต่อตัวแพทย์และผู้ป่วย อันตรายที่สุดสำหรับการทำเวชปฏิบัติก็คือการพยายามทำให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้นหรือการหยุดเอาใจใส่นั่นเอง วิธีการแก้ไขที่ ดร. แมคคีวอย เลือกคือจำกัดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันซึ่งเท่ากับต้องสร้างสมดุลระหว่างงานกับรายได้ ทั้งนี้เพราะการจำกัดจำนวนย่อมหมายถึงรายได้ที่ลดลง แต่แพทย์บางคนก็แก้ปัญหาด้วยการจำกัดเวลากับผู้ป่วยแต่ละราย เธอเห็นว่าการทำเช่นนี้ก็เสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกับที่เกิดกับแพทย์ห้องฉุกเฉิน
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับอายุรแพทย์ก็ไม่แตกต่างจากกุมารแพทย์มากนัก ดร. จูดี บิกบี อายุรแพทย์และผู้อำนวยการโครงการสุขภาพชุมชนของโรงพยาบาล Boston’s Brigham and Woman เห็นว่าการที่แพทย์ถูกคาดหวังให้ต้องตรวจผู้ป่วยทุก ๆ 15 นาทีเป็นสิ่งที่เธอทำไม่ได้ ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลายาวนานกว่าปกติในการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันจะทำให้พวกเขามิต้องเสี่ยงกับการเป็นโรคในระยะยาว อีกทั้งปัญหาที่ยุ่งยากมักไม่สามารถจัดการได้ในระยะเวลาอันสั้นเพราะความเร่งรีบอาจก่อให้เกิดการรับรู้ที่ผิดพลาดได้
เธอได้ยกผู้ป่วยหญิงชาวอเมริกันนิโกรอายุ 70 ปีรายหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง หญิงชรารายนี้เป็นทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบและโรคข้อรูมาตอยด์ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาใหม่ที่รักษารูมาตอยด์ไปได้ไม่กี่วัน เธอก็กลับมาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการบวมทั้งตัวและหายใจเหนื่อยหอบซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหัวใจล้มเหลว ซ้ำร้ายในใบเวชทะเบียนของเธอยังมีแพทย์บันทึกไว้ว่าเธอเป็นผู้ป่วยที่ขาดความสามารถในการทำตามสั่ง เธอจึงเป็นผู้ป่วยที่แพทย์ส่วนใหญ่เอือมระอาเพราะพวกเขาเบื่อหน่ายที่จะอธิบายให้เธอฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเธอควรกินยาและปฏิบัติตัวอย่างไร โชคดีที่ครั้งนี้เธอพบกับ ดร. บิกบี ซึ่งสามารถจับประเด็นได้ว่าการที่เธอไม่สามารถได้รับยาอย่างถูกต้องทุกครั้งเป็นเพราะเธออ่านหนังสือไม่ออก ดร. บิกบี จึงได้อธิบายวิธีการกินยาให้ลูกสาวของเธอฟังและขอให้ลูกสาวของเธอมาโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง หญิงชรารายนี้จึงได้รับยาอย่างถูกต้องสมใจแพทย์และสามารถหายขาดได้ในที่สุด
ในบทที่ 6 ผู้เขียนพูดถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในวิชาชีพแพทย์ ดร. เจมส์ ลอกค์ หัวหน้าหน่วยกุมารแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลเด็กที่บอสตันเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การทำงานของแพทย์ส่วนใหญ่เป็นการอนุมานคำตอบจากข้อมูลที่มีอยู่ในมือเท่านั้นจึงยิ่งต้องอาศัยความเฉลียวฉลาดของแพทย์เป็นตัวตัดสินในการหาคำตอบร่วมกัน ทั้งนี้เพราะแพทย์ไม่สามารถที่จะทำการศึกษาจริง ๆ เหมือนอย่างการทดสอบรถ ซ้ำร้ายบางครั้งการศึกษาต้องอาศัยเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษซึ่งไม่มีใครสามารถรอคอยได้ยาวนานขนาดนั้น วิธีการปฏิบัติตามปกติของเขาก็คือ เขาจะดูจากข้อมูลดิบด้วยตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอคติหรือการรับรู้ไปก่อนหน้าซึ่งอาจปิดกั้นหรือบดบังบางสิ่งบางอย่างไว้ เขาเห็นว่าการดูทุกสิ่งทุกอย่างเองจะทำให้การรวบรวมข้อมูลทำได้ดีขึ้น หากมีข้อมูลใดที่ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยโรค ข้อมูลนั้น ๆ ก็อาจเป็นกุญแจสำคัญสำหรับไขความลับก็เป็นได้ แต่การทำเช่นนี้ก็มิใช่ได้ผลที่ถูกต้องเสมอไป เขายกตัวอย่างการประชุมกุมารแพทย์โรคหัวใจที่เขาเป็นผู้ให้คำตัดสิน ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการทำหัตถการตามที่เขาแนะนำแทนที่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นกลับเลวลง ทั้งนี้เพราะชีววิทยาและสรีรวิทยาของมนุษย์ยากที่จะคำนวณ อีกทั้งความรู้ทางการแพทย์ยังมีจำกัด ซ้ำร้ายพวกแพทย์มักเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปเพราะพวกเขาถูกทำให้เชื่อเช่นนั้น พวกเขาจึงมักมุ่งตรงไปยังข้อมูลที่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองเชื่อมากกว่าข้อมูลที่ไม่สนับสนุนหรือตรงข้าม
เดวิด เอดดี ศาสตราจารย์ทางด้านนโยบายสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊กเห็นว่าความไม่แน่นอนทางการแพทย์เกิดขึ้นได้ทุกขณะโดยอาจเริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงผลของการรักษาซึ่งตรงกับผลการศึกษาของ เรนี ฟอกซ์ ที่กล่าวว่าความไม่แน่นอนทางการแพทย์เป็นผลมาจาก 1) ความไม่สมบูรณ์ของความรู้ที่มีอยู่เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรู้ทุกเรื่อง 2) ความจำกัดของความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันเพราะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังค้นไม่พบ 3) ความไม่แน่นอนซึ่งแยกกันยากระหว่างความละเลยส่วนบุคคลหรือความจำกัดของความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันกันแน่ หลายสถาบันจึงไม่เห็นด้วยกับการใช้การตัดสินใจแบบผังก้างปลา (decision-analysis) เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วย โดนัลด์ โชน แห่งสถาบันแมสซาชูเซตส์ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการคิดของผู้เชี่ยวชาญไว้ว่า การตัดสินใจของแพทย์ในสถานการณ์ที่ต่างกันย่อมต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากในการกำหนดความเป็นไปได้ให้กับแต่ละข้อวินิจฉัยหรือผลของการรักษาจากแต่ละวิธีการ ตรรกะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์อันยาวนาน บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นปัญหาที่พิเศษ มิได้พบบ่อย พวกเขาอาจต้องเรียงร้อยข้อมูลใหม่และนี่คือกุญแจหรือศิลปะในการเผชิญหน้ากับการแก้ไขปัญหาที่มีความไม่แน่นอน
นอกจากนี้การวัดผลทางการรักษายังเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งนี้เพราะวิธีการรักษาที่จะให้ผลดีที่สุดยังคงขึ้นกับตามสภาพร่างกายและเศรษฐานะของผู้ป่วยด้วย การที่ธรรมชาติมีความหลากหลายจึงทำให้เกิดความแตกต่างของผลลัพธ์ ยิ่งไปกว่านั้นความเจ็บปวด ความพิการ ความเครียด สัมพันธภาพในครอบครัว และจำนวนผลลัพธ์ที่หลากหลายยังมีส่วนสำคัญต่อผลที่จะตามมาจากการทำหัตถการต่าง ๆ นั่นหมายความว่า ความไม่แน่นอนในทางการแพทย์มีอยู่ตลอดเวลา และการรักษาแบบเดียวกันอาจให้ผลกับผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน
ในบทที่ 7 ผู้เขียนพูดถึงอคติหลากหลายประเภท เขาสรุปอคติของศัลยแพทย์จากประสบการณ์ที่ตนเองต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อมือและได้เข้าพบศัลยแพทย์ทางมือถึง 6 คนว่า ศัลยแพทย์บางคนจะมีอคติจากการได้รับมอบหมายหน้าที่ (Commission bias) แพทย์กลุ่มนี้มักนิยมกระทำการมากกว่าไม่กระทำการและมีความมั่นใจสูงเกินไป อคติประเภทนี้ของแพทย์อาจมาจากสาเหตุตามที่ ดร. ลินดา เลวิส ที่ปรึกษาของผู้เขียนให้ความเห็นไว้ นั่นคือ แพทย์มักถูกกดดันจากผู้ป่วยให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ว่าพวกเขาจะทราบดีว่าการไม่กระทำการใด ๆ เลยอาจถูกต้องมากกว่าก็ตาม แต่การไม่กระทำอะไรเลยมักมิใช่สิ่งที่ผู้ป่วยคาดหวังจากแพทย์ นอกจากนี้แพทย์บางคนก็อาจมีการรับรู้ที่ผิดพลาดแบบที่เรียกว่า พึงพอใจที่ได้ค้นหา แพทย์กลุ่มนี้มักพึงพอใจเมื่อพวกเขาพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งและหยุดการค้นหา การที่แพทย์ต้องพยายามหาคำอธิบายอาการของผู้ป่วยบีบบังคับให้พวกเขาต้องพยายามหาความผิดปกติให้ได้สักอย่างหนึ่ง การหาความผิดปกติไม่พบเลยเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมักไม่ต้องการ แต่การพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาจเท่ากับเป็นการปิดประตูการพิจารณาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ก็เป็นได้
ส่วนแพทย์บางกลุ่มก็พยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากการคิดเป็นแนวเดียวด้วยการพยายามคิดออกนอกกรอบและไม่ค่อยให้ความเชื่อถือกับผลการตรวจทางเทคโนโลยีร้อยเปอร์เซนต์ แพทย์กลุ่มนี้มักให้ความเชื่อถือกับกลุ่มอาการและสิ่งตรวจพบมากกว่าการตรวจเฉพาะเทคโนโลยี
ในบทที่ 8 ผู้เขียนพูดถึงการทำงานของรังสีแพทย์ โดยทั่วไปนั้นการทำงานของรังสีแพทย์จะแตกต่างจากแพทย์สาขาอื่น ๆ เพราะแพทย์กลุ่มนี้แทบไม่เคยมีโอกาสพบผู้ป่วยเลย การสื่อสารระหว่างกันจึงผ่านทางฟิล์มและประวัติที่แพทย์ผู้ตรวจเขียนมาเท่านั้น อย่างไรก็ดีความผิดพลาดของรังสีแพทย์กลับมิได้แตกต่างจากแพทย์สาขาอื่นมากนัก ความผิดพลาดที่พบบ่อยในกลุ่มรังสีแพทย์คือความพึงพอใจที่หาพบทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการที่รังสีแพทย์ไม่เคยมีโอกาสพบผู้ป่วย ดังนั้นเมื่อพวกเขาพบความผิดปกติ มันจึงกลายเป็นคำตอบของสิ่งที่พวกเขาต้องการหาแล้ว พวกเขาจึงหยุดค้นหาเพราะพวกเขาพอใจแล้ว นอกจากนี้ความผิดพลาดยังอาจเกิดจากการสื่อสารระหว่างรังสีแพทย์และแพทย์ผู้ส่งตรวจเพราะแพทย์ทั้งสองฝ่ายต่างตีความกันเองจากภาษาที่ใช้เขียนสื่อสารกัน
ดร. เจมส์ พอตเชน แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ทำการศึกษาการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดของรังสีแพทย์กว่าร้อยคนพบว่า ความผันแปรในการอ่านฟิล์มระหว่างแพทย์มีถึง 20% และความผันแปรในการอ่านฟิล์มของแพทย์คนเดียวกันมีถึง 5-10% หากรังสีแพทย์ได้รับการชี้นำการวินิจฉัยโรคจากใบคำขอตรวจ รังสีแพทย์จะไม่พบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยถึง 60% แต่หากเป็นคำร้องที่ให้ตรวจหามะเร็ง แพทย์จะตรวจพบสิ่งผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 83% นั่นหมายความว่า หากใบคำขอตรวจมีการให้เบาะแสบ้าง รังสีแพทย์จะอ่านฟิล์มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดีสถิติยังบ่งว่ารังสีแพทย์จะให้การวินิจฉัยถูกต้องเพียงระหว่าง 75-95% เท่านั้น ทั้งนี้สาเหตุอาจเป็นอย่างที่ เอลิซาเบธ ครุพินสกี แห่งมหาวิทยาลัยอาริโซน่าชี้ให้เห็น นั่นคือ จำนวนฟิล์มที่มากเกินไปส่งผลให้รังสีแพทย์เหนื่อยล้าและอ่านผลผิดพลาดเพิ่มขึ้น สถิติบ่งว่าระหว่างปี 2541-2545 การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 59% การตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กเพิ่มขึ้นถึง 51% และอุลตราซาวน์ก็เพิ่มขึ้นถึง 30%
ยิ่งไปกว่านั้น ดร. เดนนิส ออร์วิก รังสีแพทย์แห่งโรงพยาบาลมาริน ซานฟรานซิสโกเหนือยังให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนไว้ว่าการที่แพทย์ส่วนใหญ่ฝากความหวังการให้คำวินิจฉัยโรคไว้กับรังสีแพทย์โดยมิได้ให้เบาะแสใด ๆ ยิ่งทำให้รังสีแพทย์ทำงานยากยิ่งขึ้นไปอีกและมีโอกาสผิดพลาดเพิ่มขึ้น แต่การแก้ปัญหาด้วยเครื่องอ่านฟิล์มคงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเพราะเครื่องย่อมไม่สามารถที่จะทดแทนวิธีการคิด ประสบการณ์และการตัดสินใจของรังสีแพทย์ได้ ดังนั้นเพื่อให้การอ่านฟิล์มผิดพลาดลดลง ดร. ออก์วิก จึงใช้วิธีอ่านเรียงตามลำดับเพื่อมิให้หลงอวัยวะและจะทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งที่มีขนาดเล็กได้โดยยากที่จะผิดพลาด ผู้เขียนสรุปว่าเมื่อความผิดพลาดจากการอ่านฟิล์มมีมากมายถึงเพียงนี้ เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้จึงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่แท้จริงสำหรับทุกกรณีก็เป็นได้
ในบทที่ 9 ผู้เขียนพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการตลาด เงินและการตัดสินใจทางการแพทย์ แคเรน เดลกาโด อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อซึ่งเป็นคณะกรรมการทบทวนแนวทางการรักษาผู้ป่วยของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า บริษัทยาต่าง ๆ พยายามที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพและโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนความชราให้กลายเป็นโรค เช่น การทำแบบสอบถามกับชายสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้พวกเขากระตุ้นแพทย์ให้จ่ายฮอร์โมนนี้ให้ด้วยความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า พวกเขาขาดฮอร์โมนนี้และการได้รับฮอร์โมนนี้จะช่วยทำให้อาการตามแบบสอบถามหายไปหรือดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้ฮอร์โมนนี้ในผู้ชายสูงอายุจะทำให้ความสามารถทางเพศดีขึ้นหรือมีสุขภาพดีขึ้นแต่อย่างใด แต่การที่ยาชนิดหนึ่งได้รับการจดทะเบียนให้ขายได้แล้ว บริษัทยาอาจสามารถขยายข้อบ่งใช้ได้ด้วยการกระตุ้นให้แพทย์ที่มีชื่อเสียงใช้ยานั้น ๆ นอกเหนือไปจากข้อบ่งใช้ที่จดทะเบียน หากข้อบ่งใช้ใหม่ ๆ ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย องค์การอาหารและยาก็จะอนุญาตให้จดทะเบียนข้อบ่งชี้ใหม่ ๆ ต่อไปซึ่งการทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาการตลาดนำการแพทย์ได้
การที่บริษัทต้องหันมาทำการตลาดกับผู้บริโภคอาจเป็นผลมาจากผลการศึกษาที่พบว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้แต่ยาที่พวกเขารู้จักมานานตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนหรือแพทย์ฝึกหัดเท่านั้นเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับยาเหล่านั้นดี แต่ดักลาส วัตสัน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยาโนวาร์ติสกลับแย้งว่าบริษัทยาไม่มีความจำเป็นต้องทำการตลาดอย่างเข้มข้นอย่างที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้เพราะหากยาใหม่ตัวใดที่บริษัทคิดค้นขึ้นให้ผลดีอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นด้านประสิทธิผลหรือความปลอดภัยจากผลข้างเคียง ความพยายามในการชักชวนแพทย์ให้ใช้มันก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่การที่บริษัทยาใช้กลยุทธ์ทางด้านผู้บริโภคทำให้แพทย์ยากที่จะปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้ป่วยไปเรียกร้องเอายากับแพทย์ แพทย์มักไม่ค่อยกล้าปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ดร. โธมัส สตรอสเซลล์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยาแห่งโรงพยาบาล Brigham and Woman ในบอสตันยังคงให้ความเห็นไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ว่าบริษัทยามิได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้เพราะหากความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับอุตสาหกรรมยาเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นย่อมส่งผลให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์หยุดชะงักและส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาใหม่ ๆ
ในบทที่ 10 ผู้เขียนพูดถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ดร. สตีเฟน ไนเมอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งแห่งโรงพยาบาลเมโมเรียลอธิบายถึงขั้นตอนวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งของเขาว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติเลือกวิธีการรักษา แพทย์จำเป็นต้องหาความต้องการของผู้ป่วยให้พบ และต้องหาวิธีการที่จะพูดกับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถบอกความต้องการ อีกทั้งยังต้องใช้ความพยายามชักจูงผู้ป่วยให้เห็นหนทางที่ยังมีอยู่เพื่อมิให้พวกเขาสิ้นหวัง ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ทราบความต้องการของตนเองและทางเลือกที่มีอยู่ แพทย์จึงต้องเป็นผู้บอกหนทางที่ดีที่สุดที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการในชีวิตของพวกเขาและไม่ขัดแย้งกับความต้องการของญาติด้วย
นอกจากนี้แพทย์กลุ่มนี้ยังต้องเผชิญกับการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยยากจนสูงอายุ แพทย์บางคนอาจเลือกไม่รักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่เขามักเลือกที่จะรักษาเพราะเขาคิดว่าการเลือกไม่รักษาจะทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสที่จะดีขึ้น ดังนั้นเขาจึงไม่เน้นให้ผู้ป่วยมองเห็นเฉพาะผลข้างเคียงของยาเท่านั้นเพราะผู้ป่วยแต่ละคนย่อมตอบสนองต่อยาและได้รับผลข้างเคียงจากยาไม่เหมือนกัน เขาพยายามเน้นให้ผู้ป่วยสนใจกับการมีโอกาสหายจากโรค วิธีการและคำพูดที่แพทย์ใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วยจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้ป่วย หากแพทย์ให้คำแนะนำในแง่บวกโอกาสที่ผู้ป่วยจะทำตามคำแนะนำนั้น ๆ ก็ยิ่งมีมากขึ้น นอกจากนี้แพทย์กลุ่มนี้ยังมีหน้าที่จะต้องปลอบใจผู้ป่วยเพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้อย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ผู้เขียนสรุปว่าการได้รับความนับถือของแพทย์กลุ่มนี้จึงมิได้เป็นผลจากเพียงแค่ฝีมือของเขาเท่านั้น หากยังเกิดจากความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วยอีกด้วย
ในบทส่งท้าย ผู้เขียนสรุปว่าสัญชาตญาณทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะมาจากการทำเวชปฏิบัติที่ยาวนานและจากการตรวจผู้ป่วยมาเป็นพัน ๆ คน รวมทั้งจากความทรงจำต่อความผิดพลาดของแพทย์เอง มันจึงเป็นธรรมดาที่แพทย์แต่ละคนจะมีรูปแบบในการทำเวชปฏิบัติที่ต่างกันและวิธีในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน แต่ทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาดเหมือน ๆ กัน ทั้งนี้เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะไม่ทำผิดเลย การที่แพทย์จะไม่ทำผิดเลยจึงผิดวิสัยมนุษย์ ความผิดพลาดอาจเริ่มตั้งแต่การตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด เหตุใดความคิดของพวกเขาจึงถูกปิดหรือเบี่ยงเบนไป เหตุใดพวกเขาจึงมองข้ามช่องว่างในความรู้ ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากช่องโหว่ในขบวนการคิดของแพทย์ มิใช่ความผิดพลาดทางด้านเทคนิค
การสื่อสารผิด ๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด การที่ผู้ป่วยสามารถบอกแพทย์ว่า พวกเขารู้สึกอย่างไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่มันจึงเกิดขึ้นก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัย การบอกเรื่องราวของตนเองใหม่หมดก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะให้ข้อมูลที่แพทย์อาจไม่สามารถจับประเด็นได้ในการฟังครั้งแรก ทั้งนี้เพราะแพทย์ส่วนใหญ่มักหยุดค้นหาเมื่อพบความผิดปกติที่เข้ากันได้กับโรคใดโรคหนึ่ง และเพิกเฉยต่อความผิดปกติที่ไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัยที่ตนเองคาดว่าจะเป็น นอกจากนี้อารมณ์ก็สามารถที่จะบดบังความสามารถในการฟังและการคิดของแพทย์ได้
ในปัจจุบันการที่โรคบางอย่างสามารถรักษาได้หลายทางจึงน่าที่จะทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเดียวกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจได้รับยาหรือได้รับการทำหัตถการชนิดเดียวกัน แต่พวกเขาอาจสามารถทนต่อการรักษาและอาจตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน ทางเลือกที่สองของพวกเขาจึงอาจไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นศิลปะทางการแพทย์ การเลือกของแพทย์จึงต้องเป็นอิสระและปราศจากผลประโยชน์หรืออคติใด ๆ นอกจากนี้การตัดสินใจที่ดีที่สุดทางการแพทย์อาจต้องอาศัยเวลาซึ่งได้กลายเป็นทรัพยากรที่หาได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน การเปลี่ยนห้องตรวจของแพทย์ให้เป็นสายพานประกอบชิ้นส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยขาดสะบั้นลงส่งผลให้การสื่อสารถูกทำลายและฟูมฟักให้เกิดความผิดพลาด แพทย์ย่อมไม่สามารถคิดได้อย่างรอบคอบหากตาหนึ่งของเขาต้องอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ในขณะที่ตาอีกข้างอยู่กับนาฬิกา ดังนั้นผู้ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแพทย์ได้อย่างดียิ่งก็คือผู้ป่วยและญาติ ผ่านคำถามที่ช่วยกระตุ้นให้แพทย์คิดให้กว้างและรอบคอบขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางที่นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ผิดพลาดนั่นเอง
ส่วนการทำเวชปฏิบัติตามแนวทางการรักษาเพียงอย่างเดียวก็อาจมิใช่ความคิดที่ถูกต้องนักเหมือนอย่างที่ ดร. แอริก แคสเซลล์ ศาสตราจารย์ทางด้านอายุรกรรมแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ได้เขียนไว้ว่า แนวทางการรักษามิได้มีไว้เพื่อให้แพทย์ให้ความสนใจผู้ป่วยมากที่สุด มันมีไว้เพื่อกำกับค่าใช้จ่ายเท่านั้น ทั้งนี้เพราะแพทย์จะหันไปให้ความสนใจกับการเติมเต็มช่องว่างในแบบฟอร์มแทนที่จะให้ความสนใจกับผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดความเหินห่างระหว่างแพทย์และผู้ป่วย นอกจากนี้การที่สมัยนี้เป็นยุคของการจำกัดค่าใช้จ่ายส่งผลให้แพทย์คิดถึงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายตลอดเวลาว่า พวกเขาใช้เงินไปมากเท่าใดแล้วกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ จนทำให้แพทย์ขาดแรงจูงใจที่จะคิดนอกกรอบให้มากขึ้นอันอาจจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยตามมาในที่สุดก็เป็นได้
ข้อคิดเห็น : หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและง่ายต่อการเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้อ่านเป็นแพทย์หรือทำงานในวงการแพทย์เพราะมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาผู้ป่วยเป็นช่วง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงปัญหาและสามารถใช้เป็นข้อเตือนใจได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงเป็นประโยชน์สำหรับคนในวงการแพทย์เท่านั้น มันยังเป็นประโยชน์กับคนทั่ว ๆ ไปด้วย ทั้งนี้เพราะความเข้าใจถึงวิธีการคิดของแพทย์จะทำให้เกิดความร่วมมือกันด้วยความเข้าอกเข้าใจอย่างเต็มกำลังจากทั้งแพทย์ ผู้ป่วยและครอบครัวอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการรักษา
