You are here: Home > Medical Science > The End of Medicine / ฤๅจะถึงกาลสิ้นสุดของวิชาชีพแพทย์ ?

The End of Medicine / ฤๅจะถึงกาลสิ้นสุดของวิชาชีพแพทย์ ?

(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

            เป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญยิ่งในการลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ  วงการแพทย์เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมาก แต่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์กลับมิได้ลดลง  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรืออุตสาหกรรมทางการแพทย์แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นและแตกต่างอย่างไร  มีหนทางใดบ้างหรือไม่ที่เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดลงในอนาคต  Andy Kessler อดีตผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนและประธานของ Velocity Capital Management  ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการเทคโนโลยีหลายปีก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal, The New York Times ฯลฯ มีคำตอบในหนังสือชื่อ The End of Medicine: How Silicon Valley (And Naked Mice) Will Reboot Your Doctor  หนังสือขนาด 360 หน้าเล่มนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2006 และขายดีติดอันดับของ The New York Times ในปีนั้น

            ผู้เขียนเริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้คุยกับเพื่อนที่ไม่ได้พบกันหลายปีที่สกีรีสอร์ท เพื่อนของเขาเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาหายไปหลายปีว่ามาจากการที่เขาประสบอุบัติเหตุและปวดต้นคอเขาจึงไปพบแพทย์  หลังจากที่เขาต้องใช้เวลารอคอยหลายชั่วโมงหลายครั้งติดต่อกันเพื่อทำเอ็กซเรย์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แพทย์สรุปว่ากระดูกคอของเขาเป็นปกติดี แต่แพทย์กลับพบก้อนเนื้อที่บริเวณฐานของกะโหลก  แพทย์จึงส่งเขาต่อเป็นทอด ๆ ไปยังอีกหลายโรงพยาบาลจนในที่สุดเขาจึงทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง  

               เมื่อผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนจบลงเขาจึงนึกได้ว่าตนเองซึ่งมีอายุกว่า 40 ปีแล้วแต่กลับไม่ได้รับการตรวจเช็คร่างกายมาเป็นเวลานาน  เขาจึงไปพบแพทย์เพื่อขอเข้ารับการตรวจเช็คร่างกายบ้าง  แพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายซึ่งทำให้เขาระลึกถึงวิธีการซึ่งไม่แตกต่างจากที่เขาเคยได้รับการปฏิบัติมาเมื่อยังเล็ก  แพทย์สรุปว่าเขามีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเล็กน้อยและมีไขมันในเลือดสูงจึงควรลดอาหารประเภทไข่และเนื้อแดง  หลังจากนั้นเขาได้รับใบเสร็จค่าตรวจร่างกายในวันนั้นเป็นเงินถึง 408 เหรียญ  นั่นหมายความว่า การตรวจเพียง 8 นาทีเพื่อที่จะทราบว่าเขามีไขมันในเลือดสูงและได้รับคำแนะนำในการลดไขมันซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถหาได้จากนิตยสารราคาเพียง 6.95 เหรียญมีราคาสูงถึง 408 เหรียญเลยทีเดียว  ยิ่งไปกว่านั้นรายการย่อยจากใบเสร็จทำให้เขาทราบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการเจาะเลือดและส่งเลือดไปตรวจสูงถึงอย่างละ 16 เหรียญเลยทีเดียว  ส่วนใบเสร็จอีกใบหนึ่งบ่งว่าค่าตรวจเลือดเป็นเงินสูงถึง 220 เหรียญ

            ตามปกติเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าร่วมกับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง  แต่ต้นทุนของอุตสาหกรรมการแพทย์ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงมากกลับมิได้ลดลงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น  สถิติบ่งว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในสหรัฐสูงขึ้นทุก ๆ ปี จนเมื่อปี 2005 สูงถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเท่ากับร้อยละ 15 ของรายได้ประชาชาติในสหรัฐเลยทีเดียว  ผู้เขียนจึงเริ่มสงสัยเช่นเดียวกับคนทั่วไปว่าแท้ที่จริงแล้วเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยหรือทำร้ายประชาชนกันแน่  ค่าใช้จ่ายที่มากมายขนาดนี้มากหรือน้อยและมันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะจ่าย อีกทั้งมันจะไม่มีโอกาสลดลงโดยที่มนุษย์จะสามารถมีชีวิตอยู่ยืนยาวเพิ่มขึ้นได้เลยเชียวหรือ จะมีสิ่งมหัศจรรย์ใดหรือไม่ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายนี้ลดลง และแพทย์มีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นหรือไม่

            เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบข้อมูลในวงการแพทย์มากขึ้น ผู้เขียนจึงลงทะเบียนเพื่อเข้าประชุมและสัมมนาหลายต่อหลายครั้ง  ข้อมูลที่เขาได้รับเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์บ่งว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐสูงที่สุดในโลก นั่นคือ 5400 เหรียญต่อคนต่อปี รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน แคนาดา และอังกฤษโดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่  3300, 2800, 2700 และ 2000 เหรียญตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายร้อยละ 70 ของสหรัฐใช้ไปในการรักษาโรคเรื้อรังซึ่งประกอบด้วย โรคหัวใจและอัมพฤกษ์ถึง 2.1 แสนล้านเหรียญ มะเร็ง 1.92 แสนล้านเหรียญ เบาหวาน 9.2 หมื่นล้านเหรียญ โรคที่เกิดจากความอ้วน 7.5 หมื่นล้านเหรียญ และโรคข้อ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ  ผู้รับผิดชอบประกอบด้วย 3 ส่วนคือ รัฐรับผิดชอบสูงสุดถึงร้อยละ 44  บริษัทประกันร้อยละ 40 ส่วนประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุกลับเป็นผู้จ่ายต่ำสุดเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น   ในด้านการพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ให้ความเห็น  หากเป็นความเห็นของผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีซึ่งจะเป็นผู้ได้รับการประกันสุขภาพจากรัฐเพื่อให้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ไปจนถึงอย่างน้อย 80 ปีย่อมคุ้มค่า  แต่หากเป็นความเห็นของเด็กหนุ่มสาวหรือคนในวัยทำงานจะรู้สึกว่ามากเกินไป  

               ผู้ที่เริ่มต้นออกความคิดให้รัฐเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุจนกลายเป็นปัญหาโลกแตกในสหรัฐมาจนถึงปัจจุบันคืออดีตประธานาธิบดี Lyndon Baines Johnson  เขาเป็นนักการเมืองคนแรกที่คิดวิธีหาเสียงกับผู้สูงอายุเพื่อให้ตนเองชนะการเลือกตั้งด้วยการเสนอกฎหมายคุ้มครองสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ  หลังจากนั้นมาภาระทางด้านสุขภาพของประชาชนก็ตกเป็นของรัฐผ่านการหาเสียงของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัยและคงยากที่จะล้มเลิกได้เพราะคนย่อมต้องการที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามสำคัญสำหรับทั้งประชาชนและรัฐตามมานั่นคือ พวกเขาจะมีกำลังจ่ายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ มนุษย์ควรมีระบบการดูแลสุขภาพที่เป็นเลิศเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่ มีความสูญเสียอันใดในระบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นหรือไม่

              สถิติปี 2004 บ่งว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพมีทั้งสิ้น 40 ล้านคนในขณะที่การใช้สิทธิมีสูงถึง 900 ล้านครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2 แสนล้านเหรียญ  หากการบริการทางการแพทย์เป็นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ การตัดลดเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการน่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง  แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  ปี 2002 ประชาชนที่มีสิทธิรับประโยชน์จากบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เจ็บป่วย แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับคนกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 47 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด  เมื่อค่าใช้จ่ายทางด้านนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นในขณะที่ความสามารถในการจ่ายจากทุก ๆ ส่วนโดยเฉพาะจากภาครัฐลดลง รัฐจึงมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลงร้อยละ 5 ต่อปีตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นไป

                 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปที่ใด  จากปี 1999-2003 แพทย์ที่ได้รับสัดส่วนของค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์และกุมารแพทย์ซึ่งได้รับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20  แต่รายได้ของแพทย์แต่ละคนในกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น  นั่นหมายความว่า แพทย์แต่ละคนในกลุ่มนี้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วนของเงินได้ที่เพิ่มขึ้น  ส่วนแพทย์ที่ได้รับสัดส่วนของเงินค่าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เป็นอายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจที่ไม่ได้ทำเกี่ยวกับการผ่าตัดหรือสอดแทรกเครื่องมือเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย  แพทย์แต่ละคนในกลุ่มนี้กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  ที่เป็นเช่นนี้เพราะแพทย์กลุ่มนี้มีของเล่นที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ อุปกรณ์ที่ช่วยในการวินิจฉัยโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสี่ยง เช่น เครื่องสแกนและเครื่องถ่ายภาพต่าง ๆ  อุปกรณ์เหล่านี้มีข้อดีเหนือกว่าการผ่าตัดหรือการฉีดสีตรงที่แพทย์สามารถเห็นอวัยวะภายในของผู้ป่วยได้อย่างละเอียดลออเช่นเดียวกับการทำหัตถการเก่า ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับสารใด ๆ หรือใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในร่างกายจึงเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง  แพทย์ที่ทำหัตถการทางด้านนี้รวมทั้งรังสีแพทย์ต้องทำงานหนักแต่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดด้วย  

               ปัญหาที่ตามมาคือบริษัทประกันทั้งหลายไม่สามารถประเมินได้ว่าพวกเขาควรจ่ายให้กับอะไรบ้าง  ในเมื่อโรคหัวใจซึ่งเคยเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาราว 50 ปี และสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 80 ปีก็มิใช่โรคหัวใจอีกต่อไป หากกลับเป็นเป็นโรคมะเร็ง  แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการตายของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีเพียงสี่แสนกว่าคนนั้นกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.1 แสนล้านเหรียญซึ่งไม่มีใครทราบว่าคุ้มค่าหรือไม่  หรือแพทย์ควรเริ่มต้นด้วยการพยายามทำให้ประชาชนห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บจะดีกว่า

             หลังจากที่ผู้เขียนเริ่มควบคุมอาหารและน้ำหนักได้ระยะหนึ่ง เขาต้องการทราบผลของไขมันในเลือดว่าจะลดลงตามวัตถุประสงค์หรือไม่แต่เขาไม่ต้องการเสียเงินให้แพทย์อีกต่อไป เขาจึงเริ่มเสาะหาอุปกรณ์ตรวจผลเลือดด้วยตัวเอง  ผลปรากฏว่ามันไม่มีขายตามท้องตลาด  เขาจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีเรื่องลับลมคมในอะไรสักอย่างในอุตสาหกรรมนี้เพราะการตรวจหาความผิดปกติในเลือดนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นและค่าใช้จ่ายก็ไม่ควรจะสูงเหมือนที่ทราบกันในปัจจุบัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาความผิดปกติในเลือดแต่ละชนิดสูงถึง 25-50 เหรียญ  หากแพทย์ต้องการตรวจเลือดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ร่องรอยของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) หรือร่องรอยของโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ (DNA) ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้นไปอีกทั้ง ๆ ที่ความแม่นยำก็ไม่สูงมากนักเพียงแค่ 80 % เท่านั้น  นั่นหมายความว่ามีผู้ป่วยถึงร้อยละ 20 ที่ผลการตรวจกลับบ่งบอกว่าปกติ  ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อลิขสิทธิ์ของอุปกรณ์สำหรับตรวจหาความผิดปกติแต่ละชนิดหมดลง บริษัทที่ทำธุรกิจในวงการนี้ก็ค้นพบการตรวจที่ยุ่งยากมากขึ้นและมีความแม่นยำสูงขึ้นไปอีกทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่หมดลิขสิทธิ์หมดความหมายไปโดยปริยาย

              การที่ผู้เขียนมีความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อความกังวลแก่เขาอย่างมาก  เมื่อเขาอ่านพบการชักชวนการตรวจร่างกายด้วยเครื่องมืออันทันสมัยซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความแข็งตัวของเส้นเลือดหัวใจจากการมีแคลเซียมเกาะได้ เขาจึงตัดสินใจเข้ารับการตรวจดังกล่าวโดยที่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับเงินคืนจากบริษัทประกันหรือไม่  เขายินดีจ่ายเงินสูงถึง 445 เหรียญเพื่อหาคำตอบ  ผลการตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจของเขายังเป็นปกติดี  แต่แพทย์ผู้ตรวจกลับยืนยันว่าเขายังคงมีความเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอยู่ถึง 5% และแนะนำให้เขามาตรวจใหม่ทุก ๆ 5 ปี 

             แพทย์ให้เหตุผลว่าระดับไขมันในเลือดที่สูงกว่าปกติเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น  ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนหนึ่งยังคงมีระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ  เขาจึงคิดว่าแท้ที่จริงแล้วธุรกิจหลายพันล้านเหรียญของยาลดระดับไขมันในเลือดนั้นตั้งอยู่บนฐานของความไม่แน่นอนและความหลอกลวงเสียนี่กระไร  ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ที่มีโอกาสอ่านวารสารทางการแพทย์จะพบว่า บทความต่าง ๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นเต็มไปด้วยข้อความที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่มิได้มีการยืนยันอะไรที่แน่นอนลงไป  ซ้ำร้ายผู้เขียนส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ทำวิจัยและบรรยายผลงานทางวิชาการให้กับบริษัทผลิตยาผู้สนับสนุนงานวิจัยนั้น ๆ  จึงเป็นที่น่ากังขาว่าอาจมีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทผลิตยาและแพทย์ในการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับยาชนิดต่าง ๆ ก็เป็นได้ เช่น ยาลดระดับไขมันในเลือด  ยิ่งไปกว่านั้น การตรวจที่เขาเพิ่งจ่ายเงินไปนั้นก็เป็นเพียงแค่ลดความกังวลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ  เขายังคงอาจเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบจากการมีไขมันในเลือดสูงและมะเร็งอีกอยู่ดี 

                ในช่วงเวลาที่เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ นั้น การตรวจร่างกายด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  ภายหลังเครื่องมือนี้กลับได้รับความนิยมน้อยลงแต่ไม่ใช่เพราะบริษัทประกันมักไม่ยอมจ่ายค่าตรวจ หากเป็นเพราะความผิดพลาดในการแปลผลมากกว่า  แพทย์มักอ่านพบความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอจากฟิล์มที่ถ่ายโดยเครื่องมือชนิดนี้  แต่เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ อีกครั้งกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ นั่นหมายความว่า แทนที่เครื่องมือนี้จะมีความแม่นยำและทำให้ผู้ป่วยหายกังวลใจหลังการตรวจ มันกลับสร้างความกังวลใจให้เขามากขึ้นไปอีกจากผลที่ผิดพลาด  ความนิยมในการเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้จึงลดลง

               เพื่อหาความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเมื่อการอ่านผลโดยแพทย์มีความแม่นยำไม่สูงมากนัก เทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยได้หรือไม่  ผู้เขียนได้เข้าไปเฝ้าดูการอ่านฟิล์มจากการตรวจเต้านม (mammogram) ของรังสีแพทย์และพบว่า ฟิล์มส่วนใหญ่ที่พวกเขาอ่านอยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะฟิล์มเหล่านี้เป็นฟิล์มจากการตรวจร่างกายประจำปีทั่ว ๆ ไป  สถิติบ่งว่า ฟิล์มเพียง 1 ใน 25 เท่านั้นที่จะชี้ว่ามีความผิดปกติและเพียง 1 ใน 250 เท่านั้นที่ผู้ได้รับการตรวจจะเป็นมะเร็งจริง ๆ  วิธีการอ่านของแพทย์ก็คือรังสีแพทย์จะอ่านฟิล์มเอง 1 ครั้ง  แต่เพื่อความแน่นอนฟิล์มจะถูกอ่านอีกครั้งโดยเครื่องคอมพิวเตอร์อ่านฟิล์มที่เรียกว่า R2  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะฟิล์มประเภทนี้โดยทั่ว ๆ ไปควรได้รับการอ่านโดยรังสีแพทย์ 2 คน  แต่การทำเช่นนั้นย่อมสิ้นเปลืองเกินไป  อย่างไรก็ตามการอ่านฟิล์มโดยรังสีแพทย์เพียงคนเดียวก็เสี่ยงเกินไป  หลังจากนั้นผู้เขียนจึงทราบว่าเครื่องอ่านฟิล์มชนิดนี้มีความแม่นยำมากกว่าผลอ่านโดยรังสีแพทย์ถึง 7-19% เลยทีเดียว 

                นอกจากเครื่องมือตรวจเต้านมแล้ว ผู้เขียนยังไปสังเกตการใช้เครื่องมือ 3 มิติตรวจผู้ป่วยอีกด้วย  ศาสตราจารย์ผู้สาธิตเล่าว่าอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถใช้ได้ในการศึกษาแบบจำลองของโปรตีนเพื่อจะผลิตยาให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมที่จะทำลายเซลมะเร็ง  กระบวนการนี้เรียกว่าการออกแบบยาอย่างสมเหตุสมผลซึ่งน่าจะช่วยรักษาโรคทุกโรคให้หายได้ในอนาคต  ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเข้าชมการสาธิตจากเครื่องมือประเภทนี้ในการสัมมนา The 7th International Multi-Detector Row Computed Tomography Symposium และทราบว่า มันสามารถตรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้ผลแม่นยำและเสร็จภายในเวลา 6 นาทีเท่านั้น  เครื่องเหล่านี้ส่วนใหญ่ราคาประมาณ 2 ล้านเหรียญ สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ชั่วโมงละประมาณ 6 คน ซึ่งเท่ากับ 18,000 คนต่อปี ทำให้มันมีต้นทุนอยู่ที่ 111 เหรียญต่อครั้ง และการอ่านฟิล์มจากเครื่องเหล่านี้โดยรังสีแพทย์ก็ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น  นั่นหมายความว่า เทคโนโลยีนอกจากจะทำให้การตรวจชนิดต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายลดลงแล้ว มันยังทำให้แพทย์สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้ดีขึ้นและประหยัดเวลาด้วยซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในอนาคตลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเครื่องมือชนิดที่สามารถอ่านผลเองได้โดยอัตโนมัติ

            แม้ว่าเทคโนโลยีทางด้านเอ็กซเรย์ต่าง ๆ จะมีส่วนสำคัญมากขึ้นในวงการแพทย์จนผู้เขียนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านฟิล์มทั้งหลายซึ่งมีค่าบริการเพียงครั้งละ 29 เหรียญนี้น่าจะเป็นเครื่องมือตัวแรก ๆ ที่สามารถทะลุทะลวงเกราะของวิชาชีพแพทย์สู่หนทางของการประหยัดเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ในไม่ช้านี้ แต่การวินิจฉัยเพื่อรักษาของแพทย์ยังคงต้องอาศัยผลการตรวจเลือดอยู่ดี  บริษัทต่าง ๆ ได้เริ่มผลิตอุปกรณ์ตรวจเล็ก ๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถซื้อหาไปตรวจเองได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัสสาวะ  ส่วนการแปลผลนั้นคนทั่วไปก็สามารถหาความรู้ได้จากหนังสือและจากระบบอินเตอร์เนต  การไปพบแพทย์เพื่อรับคำสั่งเจาะเลือดและฟังการแปลผลจึงอาจเป็นกิจกรรมที่แพงเกินเหตุ  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพบว่า เครื่องมือตรวจเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถหาได้ง่าย ๆ แต่คนทั่วไปกลับไม่สามารถทำการตรวจเองได้  ที่เป็นเช่นนี้เพราะการตรวจต่าง ๆ มักจำเป็นต้องใช้เลือด แต่การนำเลือดออกจากร่างกายต้องใช้เข็มและหลอดดูด  ข้อจำกัดหรือคอขวดจึงมาจากจุดนี้เพราะคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาอุปกรณ์ทั้งสองอย่างนี้ได้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์  แต่หากผู้ใดมีความสามารถนำเลือดออกจากร่างกายมาได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ทั้งสอง การส่งเลือดเข้าไปรับตรวจในห้องปฏิบัติการก็ยังคงต้องอาศัยคำสั่งที่มีลายเซ็นแพทย์กำกับอยู่ดี  นั่นหมายความว่า วงการแพทย์กำหนดให้การเจาะเลือดและการจ่ายยาเป็นเอกสิทธิ์ที่ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น  ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือวิธีการหากินของ(วิชาชีพ)แพทย์

            เป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้ามากขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์อันเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีมีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  ปัญหาที่ตามมาคือผู้จ่ายจะมีความสามารถในการจ่ายเพิ่มขึ้นตลอดไปเช่นนี้หรือไม่ และใครกันแน่ควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพราะดูเหมือนว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้มิได้ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเลย  ฝ่ายที่ดูเหมือนจะเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายมากที่สุดคงจะเป็นบริษัทประกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันสุขภาพเพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ทำประกัน  หากผู้ทำประกันเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรง บริษัทประกันสุขภาพย่อมอยากให้ผู้เอาประกันเสียชีวิตมากกว่ามีชีวิตอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่าย  ส่วนบริษัทประกันชีวิตนั้นจะต้องจ่ายเงินก้อนเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต  ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตย่อมอยากให้ผู้ทำประกันมีชีวิตอยู่ตลอดไปมากกว่า

            นับจากทศวรรษที่เริ่มจากปี 1980 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นจนบริษัทประกันสุขภาพเริ่มรับภาระไม่ไหวจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรคหรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า DRG (Diagnostic Related Groups) นั่นหมายความว่า การรักษาพยาบาลทุกอย่างจะถูกกำหนดโดยรหัสที่เข้าใจตรงกันระหว่างแพทย์และบริษัทประกันเพื่อสะดวกในการเบิกจ่าย  ยิ่งไปกว่านั้น DRG นี้ยังถือเป็นการควบคุมการสั่งปฏิบัติการรักษาของแพทย์ไปในตัวเพื่อป้องกันมิให้แพทย์สั่งการเกินพอดีหรือขาดเหตุผลอันควร

            อย่างไรก็ดีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการต่าง ๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล  ผู้เขียนจึงพยายามสืบค้นว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  เมื่อเขามีโอกาสพูดคุยกับ Dr. Laurence Baker แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดในเรื่องค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เขาก็เข้าใจมากขึ้น  เขาได้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีอาจสามารถลดจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลได้ เพิ่มอัตราการรอดของผู้ป่วยได้ แก้ปัญหาโรคที่ไม่เคยรักษาได้ให้กลายเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้โดยง่าย  แต่ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกและประเมินผลยาก  ตามกฎหมายโครงการสวัสดิการสุขภาพของรัฐไม่สามารถที่จะนับความสำเร็จจากต้นทุนได้เพราะไม่มีหน่วยนับที่แน่นอน เช่น ดอลลาร์ต่อปีของชีวิต  รัฐอาจต้องลงทุนค่ารักษาพยาบาลถึงสองหมื่นเหรียญซึ่งอาจสามารถยืดอายุผู้ป่วยได้ 5- 20 ปี  ดังนั้นการพยายามวัดเป็นหน่วยปริมาณหรือต้นทุนต่อผลได้จึงทำได้ยาก  ยิ่งไปกว่านั้นการหาข้อมูลในเรื่องนี้ยังแทบเป็นไปไม่ได้อีกด้วย  การตรวจด้วยวิธีการใหม่ ๆ อาจให้ผลการตรวจที่แม่นยำถูกต้องกว่าก็จริง แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยังคงต้องเริ่มต้นตรวจด้วยเครื่องมือเก่า ๆ ซึ่งให้ข้อมูลน้อยกว่าเพื่อให้ได้รับอนุมัติการตรวจด้วยเครื่องมือที่มีความซับซ้อนและราคาแพงขึ้นหากมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามันคุ้มค่าที่จะได้รับการตรวจในระดับนั้น ๆ   นอกจากนี้การที่ค่าใช้จ่ายไม่สามารถลดลงได้ก็อาจมาจากการที่แพทย์พยายามสืบค้นโรคให้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นซึ่งย่อมจะยากลำบากกว่าการสืบค้นเมื่อโรคอยู่ในระยะรุนแรงเพราะมันย่อมปรากฏอย่างแจ้งชัดแล้ว

            นอกจากข้อมูลจาก Dr. Baker แล้ว ผู้เขียนยังมีโอกาสคุยกับ John Simpson ผู้ให้กำเนิดการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันด้วยการใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดและใช้ลูกโป่งค้ำยันไว้เพื่อป้องกันการแฟบของหลอดเลือด  เขาให้ความเห็นว่าในอนาคตหากการค้นหาตำแหน่งเส้นเลือดที่อุดตันด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ทำได้ง่ายและราคาถูก แพทย์จะสามารถป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการอุดตันได้อย่างแน่นอนด้วยการนำก้อนเลือดและไขมันที่อุดตันนั้นออกจากร่างกายด้วยวิธีการคล้ายกับการทำลายเนื้องอกที่มดลูกซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในระยะยาว  ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์อาจทำให้มนุษย์ในยุคหน้าไม่จำเป็นต้องใช้บริการแพทย์อีกต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์โรคหัวใจเพราะผู้ป่วยจะได้รับการป้องกันการเจ็บป่วยได้จากเครื่องมือใหม่ ๆ เหล่านี้

            ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ Dr. Gary Glazer แห่ง The Quadrus Office Complex ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือในการตรวจทางคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง นั่นคือ การตรวจโมเลกุลด้วยคอมพิวเตอร์ (Molecular Imaging)  การที่บริษัทต้องการพัฒนาเครื่องมือนี้ก็เพราะการตรวจหามะเร็งในปัจจุบันด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องตรวจด้วยแม่เหล็กนั้นสามารถตรวจพบมะเร็งที่ขนาดเล็กที่สุดประมาณ 1 เซนติเมตรซึ่งบรรจุเซลมะเร็งไว้แล้วถึงหนึ่งพันล้านเซลทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากลำบาก  หากเราสามารถตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ 10 -100 ล้านเซลได้ ความสามารถในการรักษาให้หายขาดจากโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ถึงแม้ว่าวงการแพทย์จะสามารถตรวจพบร่องรอยของมะเร็ง (tumor marker) จากการตรวจเลือดได้บ้างแล้วก็ตาม แต่สัญญาณที่ใช้ติดตามนี้ยังไม่สามารถแปลผลได้แน่นอนและมักใช้ในการติดตามหลังการรักษามากกว่าการช่วยวินิจฉัย  ยิ่งไปกว่านั้นการที่ค่าเหล่านี้มีความผิดปกติที่มีความเฉพาะเจาะจงไม่มากนักอีกทั้งการตรวจพบยังทำได้ในระยะหลัง ๆ ของโรคไม่ช่วยในการป้องกันหรือวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น  หากบริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตามเป้าหมาย ตลาดของสินค้านี้จะใหญ่มากและสามารถให้ความช่วยเหลือประชากรโลกได้มากขึ้นด้วย อีกทั้งยังน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือเกิดการประหยัดจากขนาดนั่นเอง

            เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบริษัททำวิจัยเพื่อค้นหายาใหม่ ๆ เขาสงสัยว่า เหตุใดบริษัทที่ขายสินค้าได้เพียงปีละ 50 ล้านเหรียญและขาดทุนถึงปีละ 100 ล้านเหรียญจึงสามารถทำธุรกิจอยู่ได้  หัวหน้าผู้บริหารของบริษัทอธิบายว่า บริษัทจะเริ่มต้นด้วยการนำสารประกอบชนิดต่าง ๆ ที่คิดค้นขึ้นเข้าทำปฏิกิริยากับเซลมะเร็ง  หากสารประกอบตัวใดมีความสามารถที่จะหยุดยั้งหรือทำให้เซลมะเร็งลดลงได้ สารประกอบชนิดนั้น ๆ จะถูกเลือกมาทำการวิจัยต่อในขั้นต่อ ๆ ไปจนกว่าจะถึงระยะที่เข้าสู่ตลาดได้   ในปัจจุบันบริษัทมีสารประกอบที่รอเข้ารับการทดสอบกว่า 4 ล้านตัว  เงินทุนที่บริษัทใช้ทำวิจัยมักมาจากบริษัทยาใหญ่ ๆ ที่กำลังขาดสินค้าใหม่ ๆ  ยิ่งเมื่อผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมกับบริษัทยาต่าง ๆ เขาจึงพบว่า บริษัทยาเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ยาที่อยู่ในระยะที่ 2 ของการทดลอง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะหุ้นของบริษัทยาเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปจนกว่าการทดลองยาจะสิ้นสุดลง หรือไม่สามารถที่จะผ่านการทดลองในระยะที่ 2 ได้  ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การค้นหาตัวยาด้วยวิธีดังกล่าวของบริษัทเป็นวิธีการที่มีโอกาสล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จอีกทั้งยังขาดความเป็นวิทยาศาสตร์และเหตุผลค่อนข้างมากด้วย  เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทวิจัยและบริษัทยา รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมีบางอย่างซ่อนอยู่ในวงการแพทย์จึงทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดูยุ่งเหยิง

              อย่างไรก็ตาม ผลจากการติดตามการสัมมนาและการประชุมหลายครั้งทำให้ผู้เขียนเริ่มมีความคิดว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการสืบค้นโรคตั้งแต่ระยะแรกน่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดลงได้  เขาจึงไปที่ Hutch องค์กรหนึ่งซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับการตรวจหาโปรตีนที่จะสามารถบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก  เขาได้มีโอกาสพบกับประธานและผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2001  ประธานคนนั้นอธิบายว่าการค้นหาโปรตีนที่คาดว่าจะใช้การได้ 1 ชนิดมักได้มาจากโปรตีนประมาณ 1 ล้านชนิด  ถึงกระนั้นก็ตามโปรตีนที่ค้นพบและคาดว่าจะใช้การได้นี้ก็อาจไม่สามารถใช้การได้  สิ่งที่บริษัทกำลังค้นหาคือคู่ของการทดสอบที่เพิ่มความไวและความแม่นยำในการทำนายมะเร็งในระยะเริ่มต้น และแหล่งของข้อมูลโปรตีนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน 

                   เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ผู้เขียนเข้าชมในการทดลองของ Gambhir Lab ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการค้นหามะเร็งในระยะแรก ๆ เช่นกัน  วิธีการในการตรวจของเครื่องมือนี้คือ การใช้สารเรืองแสงหรือสารที่มีความเฉพาะเจาะจงเพื่อค้นหาเซลมะเร็งชนิดหนึ่ง ๆ ฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วทำการถ่ายเอ็กซเรย์ด้วยเครื่องที่มีความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่างเซลปกติและเซลมะเร็งที่ทำปฏิกิริยากับสารเรืองแสงหรือสารที่มีความเฉพาะเจาะจงในการค้นหาเซลมะเร็งชนิดหนึ่ง ๆ ที่ฉีดเข้าไป  หากตรวจพบว่ามีเซลมะเร็ง เครื่องมือชนิดนี้ก็ยังสามารถใช้ในการติดตามเคมีบำบัดที่ฉีดเข้าไปในผู้ป่วยได้ด้วย นั่นหมายความว่า หากบริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องมือใหม่ ๆ เครื่องมือเก่า ๆ เช่น เครื่องตรวจเต้านมเพื่อหามะเร็งเต้านมและรังสีแพทย์จะหมดประโยชน์ไปในทันทีซึ่งน่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงได้มากในอนาคต  แต่หากค่าใช้จ่ายในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้นยังคงมีราคาสูงค่าใช้จ่ายก็คงบานปลายเช่นเดิม  

              เมื่อค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้คนส่วนใหญ่จึงสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นคือเท่าไรกันแน่และควรใช้อะไรมาเป็นดัชนีชี้วัด  ข้อมูลบ่งว่ารัฐบาลสหรัฐจ่ายเงินทดแทนให้กับครอบครัวผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ 9/11 รวมทั้งสิ้น 7 พันล้านเหรียญโดยแบ่งเป็นค่าทดแทนให้ผู้บาดเจ็บ 1 พันล้านเหรียญและผู้เสียชีวิต 6 พันล้านเหรียญจำนวน 2,878 ครอบครัวโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 2.1 ล้านเหรียญ  ครอบครัวที่ผู้เสียชีวิตมีอายุน้อยและคาดว่าจะมีชีวิตอยู่อีกยาวนานอีกทั้งยังมีศักยภาพสูงในการหารายได้และครอบครัวของผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งจะได้รับการทดแทนในอัตราที่สูงกว่าปกติ  ค่าชดเชยนี้คือค่าตัวต่อปีของประชาชนแต่ละคนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตีค่าให้ ซึ่งตรงกับที่ Murphy and Topel ให้ความเห็นว่าค่าเฉลี่ยของคนแต่ละคนที่จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะมีชีวิตยืนยาวขึ้นร่วมกับการที่พวกเขาบริโภคและสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ระหว่าง 3-7 ล้าน หรือเฉลี่ย 5 ล้านเหรียญ  และตรงกับบทความที่กล่าวถึงประเด็นค่าของคนแต่ละคนอยู่ระหว่าง 50,000 -100,000 เหรียญต่อปีหรือเท่ากับที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสุขภาพที่รัฐจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลนั่นเอง 

            อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐจ่ายนี้สูงเกินไป  แทนที่รัฐจะเสียค่าใช้จ่ายไปในการรักษาพยาบาล รัฐควรจะสนับสนุนการค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกซึ่งน่าจะเป็นหนทางในการลดค่าใช้จ่ายจะดีกว่า  สถิติบ่งว่ารัฐจ่ายเงินเพื่องานวิจัยในการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกเพียง 20 ล้านเหรียญเท่านั้นซึ่งเทียบกันไม่ได้กับเงินที่รัฐจ่ายเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดสูงถึง 6 พันล้าน และยิ่งเทียบกันไม่ได้กับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยของบริษัทไมโครซอฟท์และอินเทลที่ลงทุนกันถึง 6 และ 5 พันล้านเหรียญตามลำดับ  ผู้เขียนจึงเริ่มสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการสมรู้ร่วมคิดกันในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเพราะคนส่วนใหญ่ทราบดีว่าโรงพยาบาลและบริษัทผลิตยาสามารถทำเงินมากมายจากผู้ป่วยมะเร็ง  จึงอาจเป็นเหตุให้ไม่มีใครสนใจใยดีที่จะหาทางสืบค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น  และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐมิได้ใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

            เพื่อหาคำตอบสำหรับข้อข้องใจนี้ ผู้เขียนจึงเข้าประชุมกับองค์การอาหารและยา ตัวแทนจากบริษัทวิจัยอุปกรณ์เพื่อค้นหาโรคในระยะเริ่มต้นและบริษัทผลิตยา  เขาพบว่าการอนุมัติการทดลองในระยะที่ต้องทำกับมนุษย์สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีความยุ่งยากเช่นเดียวกับการทดลองยาในมนุษย์ซึ่งจะทำให้โอกาสในการค้นคว้าทดลองต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นและยืดเวลาออกไปอีก  ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่องค์การอาหารและยาไม่อนุญาตให้ทำการทดลองอาจเป็นการสมรู้ร่วมคิดกับบริษัทผลิตยาก็เป็นได้  อย่างไรก็ดีบริษัทที่ทำการวิจัยเหล่านี้ก็ไม่สิ้นความพยายาม พวกเขามีโครงการที่จะจัดประชุมร่วมกับกลุ่มนักลงทุนเพื่อหาเงินทุนต่อไป

            ผู้เขียนสรุปในตอนท้ายว่า แม้เทคโนโลยีใหม่จะทำให้หลายอาชีพสาบสูญไป เช่น พนักงานรับจ่ายเงินหน้าธนาคารหายไปจากการมีตู้เอทีเอ็มส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนลดลงและกำไรมากขึ้น แต่วงการแพทย์กลับไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ  การปฏิบัติการทางการแพทย์ไม่มีสิ่งใดดีที่สุด มีแต่แพทย์ที่ดีที่สุดเท่านั้น  งานของวงการแพทย์ไม่มีผลิตภัณฑ์แต่เป็นการบริการ โอกาสที่อาชีพแพทย์จะสาบสูญไปจึงน่าที่จะมีน้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ  จากผลการศึกษาเขาสรุปว่าการที่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์สูงมากเป็นเพราะแท้ที่จริงแล้วพวกแพทย์ไม่ได้รู้อะไรมากพอจึงใช้เพียงแค่ความทรงจำเกี่ยวกับอาการ ความรู้เกี่ยวกับโรคร่วมกับเครื่องมือเก่า ๆ ซึ่งบอกอะไรไม่ได้มากมาช่วยในการรักษา  เขาคาดว่านับจากนี้ไปวงการแพทย์น่าจะเปลี่ยนไป  การที่เทคโนโลยีสามารถรวบรวมความรู้ในวงการแพทย์ไปไว้ในเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทั้งหลายทำให้พวกแพทย์มีโอกาสที่จะถูกกำจัดไปเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ เช่นรังสีแพทย์ถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการค้นหาโรคหรือช่วยอ่านฟิล์ม และนักโภชนาการจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือเย็บกระเพาะให้เล็กลง  บางคนอาจแย้งว่ามนุษย์คงไม่มีใครยอมเชื่อเฉพาะอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพียงอย่างเดียว  แต่ความจริงก็คือมนุษย์จะไม่เชื่อถืออุปกรณ์เฉพาะในยามเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น  หากยินดีที่จะใช้มันเพื่อค้นหาโรคด้วยตนเองเพราะคนส่วนใหญ่ย่อมไม่ต้องการเสียเงินมากและอยากมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา  ยิ่งไปกว่านั้นการเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์การตรวจใหม่ ๆ ก็มิได้ยากเย็นจึงสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน

                  เมื่อการลดค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง และอัมพฤกษ์สามารถเป็นไปได้จากการค้นหาโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นซึ่งจะอยู่ในรูปของอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งลดลง ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในวงการแพทย์ในอนาคตคือเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ที่นิยมการแสวงหากำไรจะหลั่งไหลเข้าไปยังบริษัทวิจัยที่คิดสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อค้นหาและกำจัดโรคในระยะแรก ส่งผลให้การป้องกันเข้าไปแทนที่การรักษาไปโดยปริยาย  นั่นหมายความว่า คริสต์ศตวรรษที่ 21 กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมใหม่อย่างแท้จริง  และนี่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของการแพทย์อย่างที่เคยเป็นมาก็เป็นได้

                   ข้อสังเกต – หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ข้อมูลในวงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาหลายเรื่อง อีกทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยีที่คาดว่าจะออกมาขายในอนาคตด้วยซึ่งเป็นการยากที่ใครจะไปเสาะแสวงหาข้อมูลเองได้จึงเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับทั้งผู้ที่ทำงานในวงการนี้และคนทั่ว ๆ ไป  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเขียนได้อย่างสนุกสนานเร้าใจตลอดเรื่องด้วย  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนซึ่งมิใช่แพทย์และมิได้ทำงานในวงการนี้ยังคงมีความเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับวงการแพทย์ ความนึกคิดและจรรยาบรรณของแพทย์อีกหลายเรื่อง  แต่อย่างน้อยความนึกคิดของเขาก็สะท้อนให้เห็นถึงความนึกคิดของประชาชนที่มีความรู้สูงต่อวงการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

ข้อแตกต่างระหว่างวงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยมีหลายอย่าง เช่น

1.  ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อรายได้ประชาชาติของสหรัฐอเมริกาสูงถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เท่านั้น  จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกปี 2004 ประชาชนของประเทศที่มีอายุขัยตามคาดพอ ๆ กับชาวอเมริกัน (ชาย 75 ปี หญิง 80 ปี) มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ประมาณร้อยละ 7-9 ของรายได้ประชาชาติ  การที่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐสูงกว่าประเทศที่ประชากรที่มีอายุขัยตามคาดพอ ๆ กันมากอาจเป็นเหตุที่ทำให้ผู้เขียนพิจารณาเรื่องที่จะหาหนทางลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีและตัดลดการพึ่งพาแพทย์ลงก็เป็นได้  ส่วนประเทศที่ประชาชนมีอายุขัยตามคาดพอ ๆ กับคนไทย เช่น ตรินิแดด และศรีลังกา (ชาย 67 ปี หญิง 73 ปี) มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อรายได้ประชาชาติพอ ๆ กับประเทศไทยคือ อยู่ที่ร้อยละ 3.9 และ 3.5 ตามลำดับ

2.  ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นรายหัวคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยพบว่า ชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายนี้ในปี 2003 สูงถึง 5711 เหรียญซึ่งสูงที่สุดในโลก  ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายนี้เพียง 76 เหรียญเท่านั้น  อย่างไรก็ตามนั่นเป็นการคิดแบบใช้อัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่คิดถึงอำนาจการซื้อของเงินภายในประเทศ  หากคิดตามอำนาจการซื้อเปรียบเทียบจะพบว่า ชาวอเมริกันซึ่งมีค่าใช้จ่าย 5711 เหรียญต่อคนยังจ่ายสูงที่สุดในโลก  แต่ค่าใช้จ่ายของคนไทยจะเป็นคนละ 260 เหรียญ  จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ค่าใช้จ่ายของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ทั้ง ๆ ที่อายุตามคาดของประชาชนของประเทศกำลังพัฒนามิได้ต่ำกว่าอายุตามคาดของประชาชนของประเทศพัฒนาแล้วมากนัก  อาจเป็นไปได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสูง อีกทั้งค่าแรงด้านบุคลากรก็มักอยู่ในเกณฑ์สูงจึงทำให้ค่าใช้จ่ายนี้สูงตามไปด้วย

3.  จำนวนแพทย์ทั้งหมดของสหรัฐมีสูงถึง 703,801 คน ซึ่งเท่ากับ 2.56 คนต่อประชากร 1000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีแพทย์อยู่เพียง 22,435 คนซึ่งเท่ากับ 0.37 คนต่อประชากร 1000 คน  ยิ่งไปกว่านั้นโรคที่เป็นสาเหตุการตายของชาวอเมริกันมักเป็นโรคไม่ติดต่อ (ร้อยละ 75) ในขณะที่คนไทยเสียชีวิตจากโรคติดต่อมากกว่า (ร้อยละ 43)  ประเทศไทยจึงน่าจะยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แพทย์ในการตรวจรักษาถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถมีเทคโนโลยีที่เท่าทันกับสหรัฐก็ตาม  นอกจากนี้ ค่าแรงของแพทย์ไทยก็ต่ำจนเทียบกับแพทย์อเมริกันไม่ได้  สถานการณ์ที่ผู้เขียนต้องการจะกำจัดแพทย์ออกจากวงจรเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาสำหรับประเทศไทยจึงไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้  แม้ว่าแพทย์ไทยจะมีเอกสิทธิ์ในการสั่งการตรวจและรักษาเช่นเดียวกับแพทย์สหรัฐก็ตาม

Rating: 5 stars

Tags: ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.