You are here: Home > Hot Topic, Medical Science > เมื่อเงินไม่สามารถซื้อชีวิตได้อีกต่อไป

เมื่อเงินไม่สามารถซื้อชีวิตได้อีกต่อไป

(โดย พ. ญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

                 ผู้ที่ติดตามเรื่องค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศไทยจะทราบว่าค่าใช้จ่ายนี้สูงขึ้นทุก ๆ ปี  ทั้งนี้จะเห็นได้จากงบประมาณต่อหัวคนที่รัฐต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนับจากเริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่าบัตรทอง 30 บาท  ที่เป็นเช่นนี้เพราะการประชาสัมพันธ์อย่างหนักจากภาครัฐรวมทั้งความสามารถในการเข้ารับการบริการอย่างทั่วถึง  คนส่วนใหญ่ซึ่งมีสิทธิจึงมารับบริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันนี้คนไทยมีอายุยืนขึ้นซึ่งย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นด้วย และยิ่งการบริการทางการแพทย์ได้กลายเป็นสิทธิที่ประชาชนคิดว่าตนพึงมีพึงได้ การจ่ายเงิน 30 บาทเพื่อเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพจึงกลายเป็นเรื่องถูกแสนถูกไปในทันที

                การที่ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้วยต้นทุนของตนเองที่ถูกแสนถูกประกอบกับการส่งเสริมการตรวจร่างกายประจำปีจึงมีผู้ป่วยใหม่ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือระดับไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  การที่โรคเหล่านี้ถูกเรียกว่าโรคเรื้อรังก็เพราะมันเป็นโรคที่รักษาไม่หายจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต  ยิ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการเน้นย้ำจากแพทย์ว่าโรคเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง เส้นโลหิตสมองตีบหรือแตก เส้นเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจึงยิ่งเข้ารับการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันการบริการทางการแพทย์ของไทยส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานการรักษาเดียวกันกับของสหรัฐอเมริกาหรือประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป จึงยิ่งมีความจำเป็นที่แพทย์จะต้องตรวจหาโรคร่วมหรือโรคแทรกซ้อนอย่างจริงจัง  หนทางแห่งการลดลงของค่าใช้จ่ายจึงแทบไม่มี

                เป็นที่ทราบกันดีว่าข้าราชการเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกของประเทศที่รัฐให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลรักษาพยาบาลให้ ไม่ว่าพวกเขาและครอบครัวจะเจ็บป่วยเป็นโรคใด ๆ ก็ตาม  นี่คือเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่รับราชการเพราะมันคือหลักประกันตลอดชีวิต หรือการทำประกันสุขภาพแบบตลอดชีวิตโดยจ่ายเบี้ยประกันเป็นแรงงานของตนนั่นเอง   คนกลุ่มต่อมาที่รัฐให้การประกันคือ กลุ่มผู้ยากไร้ เด็กและพระสงฆ์  เมื่อประเทศไทยมีประกันสังคม สวัสดิการนี้ก็ให้ความคุ้มครองสุขภาพแก่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศโดยพวกเขาเป็นผู้ร่วมจ่าย  กลุ่มประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เพิ่งได้รับสวัสดิการเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง  การที่รัฐเพิ่มคำมั่นสัญญากับประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเลยบานปลาย  รัฐจึงได้ออกมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยใช้กลยุทธ์มากมายที่ประชาชนไม่เคยรับทราบ เช่น การจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรคซึ่งเป็นการควบคุมแบบปลายปิด (DRG)  ที่เรียกว่าการควบคุมแบบปลายปิดนั้นหมายถึง รัฐจะจ่ายเงินให้กับสถานบริการตามการวินิจฉัยโรคและงบประมาณที่มีอยู่  หากสถานพยาบาลไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายเงินตามที่งบประมาณรัฐจ่ายให้สถานพยาบาลจะต้องเป็นผู้ออกเงินส่วนเกินเอง และมาตรการที่กำลังจะนำมาใช้ในอนาคตคือ การบังคับใช้ยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติ  หากพิจารณาการควบคุมเหล่านี้ แง่ดีก็คือการลดค่าใช้จ่ายให้กับภาครัฐ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการบีบบังคับให้การรักษาพยาบาลเป็นไปตามตัวเงินหรือข้อกำหนดที่ค่อนข้างจำกัดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงและวงการแพทย์โดยทางอ้อมในอนาคต 

                  การที่รัฐเลือกลดค่าใช้จ่ายภาครัฐด้วยการลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลจึงน่าที่จะไม่ยุติธรรมกับประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ทำประกันสุขภาพชั่วชีวิตไว้กับรัฐ  ซ้ำร้ายข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วและทหารที่พิการจากการไปออกรบเพื่อปกป้องชาติยังขาดโอกาสที่จะไปหากินอย่างอื่นเพื่อเก็บเงินไว้รักษาตัว  ที่เป็นเช่นนี้เพราะระเบียบราชการที่กำลังจะออกใหม่นี้บีบบังคับให้ข้าราชการต้องจ่ายเงินเองสำหรับยานอกบัญชียาหลักซึ่งรัฐไม่อนุญาตให้เบิกได้อีกต่อไปหลังจากที่รัฐได้ปฏิเสธการเบิกอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เข็มฉีดยามาแล้วช่วงเวลาหนึ่ง  นั่นหมายความว่า ข้าราชการจะได้รับการปฏิบัติด้อยไปกว่าประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ใช้สิทธิอื่น ๆ เพราะโดยปกติแล้ว ประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน นั่นคือ สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักได้หากแพทย์เห็นสมควร  กฎระเบียบใหม่นี้จึงน่าที่จะละเมิดสิทธิอันพึงมีพึงได้ของข้าราชการและจะส่งผลร้ายต่อประชาชนทั่วไปโดยรวมต่อไปในอนาคต

                การที่วงการแพทย์ไทยในปัจจุบันสามารถพัฒนาได้ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นเป็นผลมาจากการซื้อหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเวชภัณฑ์ยาจากประเทศเหล่านี้  เมื่อรัฐบาลเริ่มลดงบประมาณด้วยการจำกัดการใช้ยาให้เหลือเพียงยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ (การจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติมักใช้เวลาในการจัดทำนานกว่า 5 ปีและยาที่จะถูกบรรจุอยู่ในบัญชีนี้ส่วนใหญ่มักต้องเป็นยาที่มียาสามัญหรือยาเลียนแบบขายแล้วในประเทศไทย) ในอนาคตบริษัทยาคงไม่นำยาใหม่ ๆ เข้ามาขายเพราะขนาดของตลาดที่จะขายยาใหม่ ๆ จะเล็กเกินกว่าที่จะคุ้มทุนต่อการนำเข้าเพราะการรอเพื่อให้ยาเข้าบัญชียาหลักต้องใช้เวลานานเกินไป อีกทั้งยาที่ไม่เคยมีการใช้ในวงกว้างยากที่จะเข้าบัญชียาหลักได้  เมื่อไม่มีตลาดหรือตลาดเล็กเกินไปบริษัทยาต่าง ๆ ก็จะไม่เสียเวลากับการขึ้นทะเบียนยาและขายยาให้กับประเทศไทย 

                    บางคนอาจแย้งว่าคนไทยก็รอซื้อยาเลียนแบบของต่างประเทศ หรือเลียนแบบเองเช่นที่รัฐบาลกำลังคิดจะทำด้วยการละเมิดสิทธิบัตรยาจะมิประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าหรือ  คำตอบคือการผลิตยาเลียนแบบจะทำได้ก็ต่อเมื่อหมดสิทธิบัตรซึ่งต้องใช้เวลานานและอาจยาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว  การผลิตยาหรือการเลียนแบบยามีความจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจากบริษัทแม่ที่เป็นต้นกำเนิดยาและความสามารถในการผลิตก็มิใช่เลียนแบบกันได้ง่าย ๆ  อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตยาเลียนแบบใหญ่ที่สุดก็ไม่สามารถผลิตยาเลียนแบบใหม่ ๆ ได้อีกต่อไปเพราะเขาได้จดทะเบียนเรื่องสิทธิบัตรยาไปแล้วเมื่อปี 2005  นั่นหมายความว่ายาใหม่ ๆ ที่ผลิตหลังปี 2005 อินเดียก็ไม่สามารถผลิตเลียนแบบเช่นกัน  นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิบัตรยาก็สามารถทำได้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดโรคระบาดฉับพลันไม่สามารถทำได้ในทุกกรณีด้วย  อีกเหตุผลหนึ่งคือ เมื่อยาใหม่ ๆ มิได้ขึ้นทะเบียนขายในประเทศไทย บริษัทยาไทยหรือบริษัทยาเลียนแบบย่อมไม่อาจขายยาในประเทศไทยได้  คงไม่มีบริษัทยาเลียนแบบรายใดลงทุนผลิตยาโดยที่ไม่ทราบว่าจะสามารถขายในประเทศได้หรือไม่ 

                 การที่บริษัทยาต่างประเทศไม่ขึ้นทะเบียนยาใหม่ ๆ ทำให้คนไทยหมดโอกาสที่จะได้ใช้ยาเหล่านั้น  ความก้าวหน้าของวงการแพทย์ไทยก็จะลดลง  ส่วนผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่กำลังรอคอยยาใหม่ ๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีเวลารอคอยไม่นานนักคงต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน  นั่นหมายความว่า แม้มีเงินก็จะไม่สามารถซื้อชีวิตได้อีกต่อไป

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.