You are here: Home > Econ & Business, Science & Envi > The Coming Economic Collapse / ตอบข้อกังขาเรื่องราคาน้ำมัน

The Coming Economic Collapse / ตอบข้อกังขาเรื่องราคาน้ำมัน

(โดย พ. ญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

             เมื่อ 5 ปีก่อนขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกบาร์เรลละประมาณ 25 เหรียญสหรัฐ คนไทยใช้น้ำมันราคาเพียงแค่ลิตรละราว 10 บาท  แต่ตั้งแต่ปลายปี ค. ศ. 2004 ราคาน้ำมันดิบค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่บาร์เรลละ 78 เหรียญเมื่อเดือนกรกฎาคม ค. ศ. 2006  ในตอนนั้นรัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมันอย่างจริงจังแล้ว  คนไทยจึงมีโอกาสได้ใช้น้ำมันราคาลิตรละเกือบ 30 บาท  ในช่วงเวลานั้นคนไทยจำนวนมากติดตามราคาน้ำมันกันอย่างใกล้ชิดจนเป็นกิจวัตรประจำวันส่วนหนึ่งเพื่อหวังจะชิงเติมน้ำมันให้ทันก่อนที่มันจะขึ้นราคา  แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทราบแล้วว่าน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้า แต่มันไม่เคยส่งผลกระทบกับคนทั่ว ๆ ไปถึงขนาดก่อนที่จะขับรถออกจากบ้านยังต้องคิดแล้วคิดอีก ก่อให้เกิดความฉงนและกังวลกันว่าเพราะอะไรราคาน้ำมันจึงได้ขึ้นเอา ๆ และมันจะมีโอกาสลดลงบ้างหรือไม่ แล้วจะอยู่กันอย่างไร  Stephen Leeb ประธานบริษัท Leeb Capital Management และบรรณาธิการของจดหมายข่าวชั้นนำชื่อ The Complete Investor  และ Glen Strathy นักเขียนบทความทางการเงิน ได้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ The Coming Economic Collapse: How You Can Thrive When Oil Costs $200 a Barrel เพื่อตอบข้อกังขาเหล่านั้นและให้คำแนะนำในการเตรียมตัวที่จะรับมือกับสถานการณ์ในวันข้างหน้าเมื่อราคาน้ำมันอาจขึ้นถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรล

            ผู้เขียนเริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงขาขึ้น หรือ ช่วงกระทิง ของตลาดหุ้นสหรัฐอันเป็นตอนที่ผู้ลงทุนทุ่มเงินเข้าซื้อหุ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีก่อนปี ค. ศ. 2000 ด้วยความกลัวที่จะตกรถไฟ หรือ ไม่ได้ซื้อ  ลูกค้ารายหนึ่งของผู้เขียนซึ่งเป็นคนมีการศึกษาดีและลงทุนอย่างระมัดระวังตลอดมาก็ติดเข้าไปในกระแสนั้นด้วย  เขาขายหุ้นทุกตัวนอกกลุ่มเทคโนโลยีออกไปเพื่อเอาเงินมาซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักบริษัทที่เข้าไปลงทุนเลยเพราะเชื่อว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำให้เขาร่ำรวย  เมื่อราคาหุ้นตกอย่างฮวบฮาบในปี ค. ศ. 2000 จนดัชนีชี้วัดราคาในตลาดหุ้นลดลงจาก 5,000 จุดเหลือเพียง 1,000 จุด และบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีส่วนหนึ่งล้มละลาย ผู้ลงทุนจำนวนมากพากันล้มละลายตามไปด้วย  ลูกค้าของผู้เขียนเองสูญเงินถึงกว่าร้อยละ 70 ของเงินสะสมเพื่อการเกษียณ  

            จากวิกฤตหุ้นเทคโนโลยีในครั้งนั้นสิ่งที่ผู้คนต่างสงสัยกันก็คือ ทำไมนักลงทุนอันชาญฉลาดมากมายจึงหลงเข้าไปซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยไม่สำเหนียกว่าบริษัทเหล่านั้นกำลังจะล้มละลาย ผู้เขียนให้ความเห็นว่าสาเหตุน่าจะมาจากทั้งสื่อและนักวิเคราะห์แทบทุกค่ายต่างให้ข่าวสนับสนุนหุ้นในกลุ่มนี้กันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเงินเข้าไปในหุ้นกลุ่มนี้อย่างไม่หยุดยั้ง  ความจริงอีกข้อหนึ่งคือคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารทางด้านเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด  ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง หรือติดตามผลงานของผู้เขียนซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าอัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ลดลงไว้ในหนังสือชื่อ Defying the Market จะทราบว่าอัตราความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้ลดลงจากการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อย่างน้อย 5 อย่างต่อทศวรรษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนเหลือเพียง 1 อย่างในทศวรรษที่เริ่มจากปี ค. ศ. 1980 และไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่อีกเลยหลังจากนั้น

            ในปัจจุบันความเห็นที่ประชาชนได้รับจากสื่อและผู้นำก็เป็นเช่นเดียวกับมายาภาพที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกระทิงของหุ้นเทคโนโลยี นั่นคือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้นและมันจะลดลงในไม่ช้า  ผู้เขียนเห็นว่าความเสียหายจากมายาภาพครั้งนี้จะใหญ่หลวงกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับราคาหุ้นเทคโนโลยีมากนัก  ผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

            ผู้เขียนกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับน้ำมันซึ่งจะมีความสำคัญต่ออนาคตไว้ 3 ประเด็นคือ (1) ราคาน้ำมันได้กลายเป็นตัวชี้นำสำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของสหรัฐ  ข้อมูลบ่งว่าระหว่างปี ค. ศ. 1973 – 2000 เศรษฐกิจของสหรัฐถดถอย 5 ครั้งและทุกครั้งจะมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันสูงมาก นั่นคือ เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจจะถดถอย

              (2) เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่สหรัฐสูญเสียอำนาจในการควบคุมปริมาณน้ำมันของตน ยังผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐผันผวนตามสถานการณ์ทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจจากภายนอก  ก่อนปี ค. ศ. 1973 สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้เกือบเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อต่ำทำให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจไม่ยุ่งยากมากนัก  แต่หลังจากสหรัฐต้องพึ่งพลังงานจากภายนอก สหรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  เมื่อกลุ่มผู้ส่งออกนำมันใหญ่ที่สุดในโลก หรือ โอเปค ลดกำลังการผลิตลงในปี ค. ศ. 1973 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อม ๆ กับการเกิดภาวะเงินเฟ้อ (Stagflation) ซึ่งยากแก่การบริหารจัดการ 

               สหรัฐต้องพึ่งพาน้ำมันจากภายนอกเพิ่มขึ้นทุกวันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลกมีความสำคัญมากขึ้น  แม้กลุ่มชนชั้นปกครองของซาอุดีอาระเบียจะยังคงญาติดีกับสหรัฐ แต่กลุ่มอื่น ๆ มักต่อต้านสหรัฐอย่างรุนแรงยังผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น  ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ สหรัฐไม่สามารถหันหน้าเข้าหาใครได้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเวเนซุเอลา ไนจีเรีย และสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดนอกกลุ่มโอเปคก็เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น  นอกเหนือจากนั้นความสัมพันธ์กับอังกฤษก็ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่นนักเพราะชาวอังกฤษกำลังร่วมกับประชาชนในสหภาพยุโรปต่อต้านสงครามในอิรัก  แม้แต่แคนาดาซึ่งเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นก็กำลังมีข้อพิพาทกับสหรัฐในเรื่องการค้าไม้เนื้ออ่อน

            (3) ความต้องการน้ำมันในโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น  ความขาดสมดุลนี้เป็นปัญหาสาหัสที่สุด  นักธรณีวิทยาจำนวนมากเชื่อว่าการผลิตน้ำมันจะเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนักและในไม่ช้าจะลดลง  ผู้เขียนอ้างถึงบทความของ เอ็ดเวิร์ด มอส และเจมส์ ริชาร์ด ในนิตยสาร Foreign Affairs ฉบับเดือนมีนาคม 2002  ซึ่งคาดว่าความต้องการน้ำมันของชาวโลกจะเพิ่มจาก 77 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 120 ล้านบาร์เรลต่อวันในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพราะ 2 ประเทศใหญ่จะเข้ามามีบทบาทสูงขึ้น นั่นคือ จีนและอินเดีย  ในปัจจุบัน 2 ประเทศนี้ใช้น้ำมันรวมกันเท่ากับร้อยละ 95 ของสหรัฐ  แต่หากคิดการใช้ต่อหัวของประชากรแล้วยังน้อยมาก นั่นคือ เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของการใช้ต่อหัวของคนทั่วโลกและเพียงหนึ่งในเจ็ดของประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้น  เนื่องจาก 2 ประเทศนี้มีประชากรรวมกันราวร้อยละ 35 ของโลกและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ความต้องการน้ำมันในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัวด้วย

             ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้สวนทางกับการผลิตของกลุ่มโอเปคซึ่งคาดกันว่าจะเพิ่มจาก 28 ล้านบาร์เรลในปี ค. ศ. 1998 เป็น 60 ล้านบาร์เรลในปี ค. ศ. 2020 ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยากด้วยซ้ำเพราะปริมาณการผลิตของประเทศสมาชิกได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดไปแล้วยกเว้นซาอุดีอาระเบีย  ยิ่งกว่านั้นยังไม่มีใครทราบว่าปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียมีอยู่เท่าไหร่กันแน่  นักธรณีวิทยา โคลิน แคมเบล และจีน ลาเฮอร์เรีย คิดว่าตัวเลขประเมินปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบีย อิรัก และอิหร่านสูงเกินความเป็นจริง  ส่วนแมทธิว ซิมมอนส์ บรรณาธิการหนังสือ Twilight in the Desert  คาดว่าปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียได้ถูกนำออกมาใช้กว่าครึ่งหนึ่งแล้วซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการผลิตของซาอุดีอาระเบียลดลงในอนาคต

            จากข้อมูลเหล่าเหล่านี้ผู้เขียนคาดว่า ปัญหาพลังงานเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนและราคาน้ำมันยังเพิ่มขึ้นต่อไป  ราคาที่พุ่งขึ้นในปี 2005 เป็นเพียงสัญญาณเริ่มแรกเท่านั้นเพราะมันอาจเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 เหรียญต่อบาร์เรลในเร็ววันนี้ก็ได้  เขาจึงเห็นว่ามันจึงถึงเวลาแล้วที่สหรัฐและชาวโลกจะต้องคิดค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือก  

                หลังจากพูดถึงการขาดความสมดุลอย่างร้ายแรงระหว่างความต้องการและปริมาณน้ำมันที่จะผลิตได้ในอนาคตแล้ว ผู้เขียนยกเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเป็นอุทาหรณ์ว่าสาเหตุแห่งการล่มสลายของอารยธรรมเกิดจากการขาดแคลนพลังงานร่วมกับการขาดความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพราะการมีผู้นำที่มีสายตาสั้น  ข้อมูลดังกล่าวมาจากหนังสือชื่อ The Collapse of Complex Societies ของนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ โจเซฟ เทนเตอร์ ซึ่งเขียนไว้ว่าจักรพรรดิโรมันทราบว่า การจะทำให้โรมันรุ่งเรืองจำเป็นต้องรุกรานเพื่อนบ้านเพื่อให้มีพลังงานเพิ่มขึ้น  แต่เมื่ออาณาจักรใหญ่โตมากขึ้น ต้นทุนเพื่อรักษาอาณาจักรและตอบสนองความต้องการของชนชั้นปกครองก็สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้พลเมืองต้องเสียภาษีมากขึ้น  เมื่อชาวบ้านทนแบกภาระไม่ไหวก็ละทิ้งถิ่นฐานทำให้ผลผลิตโดยรวมตกต่ำ  โรมจึงต้องรุกรานเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก  แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับน้อยกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไปในการสร้างกองทัพที่ใหญ่โต  ผลสุดท้ายอาณาจักรโรมมันจึงล่มสลาย นั่นหมายความว่า การล่มสลายของอารยธรรมโรมันนั้นมาจากความสลับซับซ้อนของของสังคม  ยิ่งสังคมมีความสลับซับซ้อนก็ยิ่งใช้ทรัพยากรซึ่งรวมทั้งเพื่อผลิตพลังงานมากขึ้นในการแก้ปัญหา

            ผู้เขียนจึงเสนอว่า หากเราไม่ต้องการให้อารยธรรมในยุคปัจจุบันล่มสลายก่อนอื่นเราต้อง (1) ยอมรับก่อนว่าต้นทุนของการรักษาความสลับซับซ้อนของสังคมในปัจจุบันสูงเกินไปและยอมที่จะลดความสลับซับซ้อนของสังคมลง  (2) เริ่มต้นจำกัดการเพิ่มประชากรและการใช้ทรัพยากร และ (3) เร่งหาพลังงานทดแทน  ผู้เขียนเห็นว่าวิธีหลังนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดโดยอ้างถึงหนังสือชื่อ The Doomsday Myth ของ ชาร์ล มอริส และ ชาร์ล สมิธสัน ซึ่งเล่าถึงวิธีการแก้วิกฤติพลังงานของประเทศอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ อังกฤษได้พลังงานส่วนใหญ่จากไม้  แต่เมื่อไม้ราคาสูงขึ้น อังกฤษก็ค้นหาพลังงานทดแทนขึ้นใหม่ นั่นคือ ถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานอันสำคัญยิ่งของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

          ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย แต่ขณะนี้ยังคงมีข้อจำกัดในการนำมาใช้คือ (1) พลังงานจากกังหันลมซึ่งมีต้นทุนต่ำ สะอาดและปลอดภัย แต่ยังไม่แพร่หลาย  (2) พลังงานจากถ่านหินซึ่งแม้ว่าจะสะอาดกว่าในอดีตแต่จะหมดไปในเวลาอันใกล้  (3) พลังงานจากนิวเคลียร์ซึ่งมีข้อเสียคือ ขยะนิวเคลียร์ยากแก่การกำจัดและสามารถนำไปใช้ทำเป็นอาวุธได้  นอกจากนั้นโรงงานยังเสี่ยงต่อการรั่วและระเบิดอีกด้วย  (4) พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งสะอาดและเงียบ แต่การผลิตต้องใช้พื้นที่มากและยังต้องการการพัฒนาจนมีต้นทุนต่ำลงจึงจะนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย  (5) พลังงานจากก๊าซธรรมชาติซึ่งมีโอกาสหมดไปและให้ผลตอบแทนลดลงเช่นเดียวกับน้ำมัน  (6) ทรายน้ำมัน (tar sand) ซึ่งยังยากที่จะนำมาใช้ และ (7) เชื้อเพลิงเหลวจากพืช เช่น เอธานอล หรือไบโอดีเซล ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากนักจึงน่าจะเป็นพลังงานที่สามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกได้ในอนาคต

             ข้อจำกัดของพลังงานทางเลือกหมายความว่าน้ำมันยังจะมีความสำคัญยิ่งต่อไปและราคาของมันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยังผลให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย  ผู้เขียนเห็นว่าแม้สหรัฐจะผ่านบทเรียนเศรษฐกิจถดถอยมาแล้วหลายครั้งหลังน้ำมันขึ้นราคาก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปยากที่จะทำนายเพราะในไม่ช้าสหรัฐจะต้องเผชิญกับการเกษียณของประชาชนจำนวนมากที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินประกันสังคมและค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพแก่พวกเขา  ยิ่งไปกว่านั้นหากสหรัฐยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางสงบลงได้ ค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารเพื่อปกป้องแหล่งน้ำมันก็จะยิ่งสูงขึ้น  นั่นย่อมหมายความว่าค่าใช้จ่ายของรัฐจะยิ่งเพิ่มขึ้น อันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น  การรับมือที่สหรัฐเคยใช้ในอดีตต่ออัตราเงินเฟ้อคือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย  อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่จะพบในอนาคตจะไม่เหมือนกับในช่วงทศวรรษที่เริ่มปี 1970 เสียทีเดียว เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันในขณะนั้นเป็นอยู่เพียงชั่วคราว แต่ในอนาคต คาดกันว่าการขาดน้ำมันจะเป็นไปอย่างถาวร หากโลกไม่สามารถหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทนได้  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า รัฐบาลในช่วงเวลานั้นจะใช้นโยบายใดในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 200 เหรียญเพราะสหรัฐกำลังตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน 

         สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยากแก่การที่จะคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป  แต่ผู้เขียนเห็นว่าประชาชนทั่วไปยังคงสามารถที่จะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ผู้เขียนยกเอาข้อมูลทางการลงทุนในช่วงทศวรรษซึ่งเริ่มจากปี 1970 อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยมาเป็นตัวอย่างให้ผู้ลงทุนเห็นว่า ช่วงเวลานั้นยังเป็นเวลาที่ทำกำไรได้หากเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกต้องและสัดส่วนที่เหมาะสม  ข้อมูลบ่งว่าช่วงเวลานั้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีกิจกรรมทำทองและในทองคำแท่งให้ผลตอบแทนจริง (หลังจากหักค่าเงินเฟ้อ) ถึงร้อยละ 20.6 และ 25.7 ต่อปีตามลำดับ  หุ้นของบริษัทน้ำมันดิบและบริษัทให้บริการแก้อุตสาหกรรมน้ำมันให้ผลตอบแทนร้อยละ 19 และ 23.6 ต่อปี  ส่วนอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแต่เพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี  นอกจากนี้บริษัทใหญ่ ๆ ที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนและอินเดียก็ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน  นั่นหมายความว่า ทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนก็ไม่ได้ปิดตายเสียทีเดียวในยามที่เศรษฐกิจถดถอย

           ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้เขียนแนะนำให้ซื้อ TIPS (Treasury Inflation-Protection Securities) หรือพันธบัตรรัฐบาลที่ได้มีการปกป้องเงินเฟ้อไว้โดยปรับค่าตอบแทนให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยอัตโนมัติ  ส่วนการลงทุนในหุ้นโดยใช้นโยบายกระจายความเสี่ยงซึ่งเป็นที่นิยมกันนั้น ผู้เขียนกลับไม่แนะนำเพราะผลตอบแทนที่ได้มักเป็นลบ  สำหรับในภาวะเงินฝืด ผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ย(zero coupon bond) ซึ่งได้ผลตอบแทนเท่ากับราคาที่หน้าพันธบัตรหักด้วยราคาส่วนลดที่ซื้อ  พันธบัตรชนิดนี้จะมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง  ยิ่งไปกว่านั้น เขาแนะนำว่าผู้ลงทุนควรลงทุนในบริษัทที่ให้ความสนใจกับการใช้ หรือผลิตพลังงานทางเลือกด้วย เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทเหล่านี้มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

            สำหรับสัดส่วนในการลงทุนนั้น ผู้เขียนแนะนำว่า ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากนัก ผู้ลงทุนควรลงทุนในกลุ่มแร่ที่มีค่าสูงเช่นทองคำและเงินร้อยละ 25 ในกลุ่มพลังงานร้อยละ 25 ในบริษัทที่มีกิจการสำคัญในจีนและอินเดียร้อยละ 30 และที่เหลือในที่ปลอดภัยซึ่งได้แก่พันธบัตรที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ย  สำหรับในภาวะที่ราคาน้ำมันผันผวนสูง กลยุทธ์ควรเป็นลงทุนในกลุ่มแร่ที่มีค่าสูงร้อยละ 10 ในกลุ่มพลังงานร้อยละ 10  ในกลุ่มบริษัทที่ทำกิจการในจีนและอินเดียร้อยละ 30 เท่าเดิม และพันธบัตรที่ไม่มีดอกเบี้ยร้อยละ 50  นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุนควรถือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงจำพวกพันธบัตรไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตลอดเวลา

            ข้อคิดเห็น – ผู้ที่อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับเรื่องปิโตรไชนาแซงเชลล์ขึ้นเป็นที่ 2 ของโลกเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาย่อมทราบว่า มูลค่าหุ้นของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนนั้นได้ทะยานสูงขึ้นกว่าร้อยละ 58 ภายในเวลาเพียงปีเดียว  นั่นหมายความว่า การคาดการณ์ของผู้เขียนในเรื่องราคาน้ำมันที่จะขึ้นไปถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรลก่อนสิ้นทศวรรษนี้มีผู้เห็นด้วยและพากันคาดว่าปิโตรไชนาจะมีกำไรสูง พวกเขาจึงดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว

            คำแนะนำของผู้เขียนเรื่องการลงทุนในหนังสือเล่มนี้มุ่งไปที่คนอเมริกัน  อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เขานำมาเสนอมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไปซึ่งน่าจะสังเกตว่าเขาแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรซึ่งปลอดภัยไว้อย่างน้อยร้อยละ 20 เสมอ  สิ่งที่ผู้เขียนไม่ได้แนะนำแต่น่าจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนก็คือ เมื่ออายุยังน้อยอาจลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง  แต่เมื่ออายุมากขึ้นควรลงทุนในสิ่งที่ปลอดภัยในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  และเมื่อถึงวัยทองควรงดลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.