(โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร)
ผู้ที่ติดตามข่าวต่างประเทศเป็นประจำจะทราบว่า อิรักยังคงหาความสงบไม่ได้ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จึงเห็นตรงกันว่าการที่สหรัฐฯ บุกอิรักเป็นความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งนี้เพราะไม่เพียงสถานการณ์ภายในอิรักจะไม่ดีขึ้น ซ้ำยังทำให้ทั้งอิรัก สหรัฐฯ และโลกยุ่งเหยิงมากขึ้นด้วย ห้าปีหลังสงครามอิรักเริ่มขึ้นชาวโลกส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวอเมริกันจึงอยากทราบว่าแท้ที่จริงแล้วสงครามครั้งนี้ส่งผลกระทบทางด้านการเงินและเลือดเนื้อเท่าใดกันแน่ Joseph Stiglitz อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกและหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีคลินตัน และ Linda J. Bilmes คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The New York Times, The Washington Post และ The Financial Times ได้ช่วยกันตอบคำถามนี้ไว้ในหนังสือขนาด 311 หน้าซึ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2551 ชื่อ The Three Trillion Dollar War: The True Cost of The Iraq Conflict ทั้งนี้เพราะผู้เขียนทั้งสองเชื่อว่าชาวอเมริกันและชาวโลกมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงต้นทุนแท้จริงที่เกิดขึ้นแล้ว ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตและผลกระทบอื่น ๆ ต่อชาวอเมริกันและชาวโลกจากสงครามอิรักครั้งนี้
วันที่ 19 มีนาคม 2551 เป็นวันครบรอบ 5 ปีที่สหรัฐฯ บุกอิรักซึ่งมากกว่า 3 ปี 8 เดือนที่สหรัฐฯ เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากสงครามที่ใช้เวลาไปแล้วถึงห้าปีมีน้อยมากอีกทั้งยังทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางขาดเสถียรภาพและทำให้ชาวโลกหันมาเกลียดชังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะชาวอิรัก ทั้งนี้เพราะสงครามก่อความเสียหายแก่อิรักมากมาย เช่น 1) ทำให้ชาวอิรักเสียชีวิตถึง 1-1.5 แสนคนและอาจมากถึง 7 แสนคนจากทุกสาเหตุรวมกัน 2) ทำให้ชาวอิรักต้องอพยพถึง 2 ล้านคน 3) ทำให้รายได้ประชาชาติของอิรักลดลง และยังทำให้ชาวอิรักกว่า 25% ตกงาน และ 4) ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวอิรักย่ำแย่ลงจากการไม่มีไฟฟ้าใช้
ก่อนการบุกอิรักประธานาธิบดีบุชประกาศว่าสงครามจะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเพียงแค่ 2 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้นซึ่งน่าที่จะสามารถชดใช้ได้ด้วยค่าก่อสร้างในการฟื้นฟูประเทศและการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันสำรอง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ค่าใช้จ่ายในสงครามอิรักที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าค่าใช้จ่ายในสงครามเวียดนามซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 12 ปีและมากกว่า 2 เท่าของสงครามเกาหลีด้วย การคาดการณ์แบบมองโลกในแง่ที่ดีที่สุดพบว่า ค่าใช้จ่ายในสงครามอิรักครั้งนี้จะสูงถึง 10 เท่าของสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกและสูงเป็น 2 เท่าของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนของสงครามครั้งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ 1) ต้นทุนด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนต่อทหารหนึ่งคน การสำรวจในปี 2549 พบว่าสหรัฐฯ จ้างผู้รับเหมาถึงกว่าแสนรายในสงครามครั้งนี้ซึ่งมากกว่าสิบเท่าของสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนเพื่อคุ้มครองนายทหารระดับสูงเป็นจำนวนมาก เช่น จ้างบริษัท Blackwater Security ในปี 2546 เพื่อคุ้มครอง L.Paul Bremer III ตัวแทนรัฐบาลอเมริกันซึ่งทำหน้าที่บริหารอิรักหลังซัดดัมถูกโค่นเป็นเงินถึง 27 ล้านดอลลาร์โดยไม่ต้องประมูล ยามเอกชนจากบริษัทรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ได้รับค่าจ้างวันละ 1,222 ดอลลาร์ หรือเท่ากับ 445,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่นายสิบของกองทัพได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์เพียงวันละ 140-190 ดอลลาร์หรือเท่ากับ 51,000-69,350 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น เมื่อค่าจ้างของยามเอกชนเพิ่มขึ้น ทหารที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จึงต้องการเป็นยามเอกชนหลังปลดประจำการและไม่ยินยอมต่อสัญญากับรัฐส่งผลให้รัฐบาลต้องเพิ่มผลประโยชน์ให้ทหารเพื่อจูงใจให้ทหารที่ถึงกำหนดปลดประจำการยินยอมต่อสัญญาหรือประชาชนยินยอมเป็นทหาร การใช้ยามเอกชนยังเท่ากับเป็นการแปรรูปทหารอีกทางหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่การแปรรูปทหารเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ยิ่งกว่านั้นการใช้ยามเอกชนยังเป็นการปกปิดงบประมาณทางทหารและเป็นการคอรัปชั่นอีกทางหนึ่งด้วยเพราะฝ่ายบริหารมักใช้วิธีการจ้างแบบพิเศษจึงทำให้ค่าจ้างยามสูงเกินจริงอีกทั้งยังใช้บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศจึงเท่ากับมีผลประโยชน์ทับซ้อน 2) ผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละ 25 ดอลลาร์เป็นเกือบร้อยดอลลาร์เมื่อหนังสือตีพิมพ์ ราคาน้ำมันที่ขนย้ายไปยังอิรักยิ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกขึ้นไปอีกเพราะต้องมีค่าขนส่งและค่าเสี่ยงภัยรวมอยู่ด้วย 3) ผลจากการที่ต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารใหม่เพื่อทดแทนของเดิม และ 4) ผลจากค่าฝึกฝนและอุปกรณ์ในการป้องกันภัย
ขั้นตอนที่ผู้เขียนใช้ในการคำนวณต้นทุนของสงครามอิรักประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายโดยตรงของการปฏิบัติการทางทหารโดยคำนวณจากงบประมาณตั้งแต่ปี 2544 ถึงธันวาคม 2550 ขั้นตอนนี้รวมเงินทั่วไปและเงินส่วนเพิ่มของกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศและองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ค่าฟื้นฟู เงินช่วยเหลือต่างประเทศและค่าการทูต 2) ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการซึ่งถูกซ่อนอยู่ในงบประมาณการป้องกันประเทศ 3) เงินเฟ้อและคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 5% หักด้วยเงินเฟ้อ 3% เท่ากับดอกเบี้ยที่แท้จริง 1.5% 4) ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการในอนาคต ทั้งค่าใช้จ่ายโดยตรงและค่าใช้จ่ายที่ถูกซ่อนอยู่งบประมาณต่าง ๆ เช่น ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในอนาคต ต้นทุนทหารและผู้รับเหมาต่าง ๆ ต้นทุนของอุปกรณ์ที่จะถูกใช้ ซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม 5) ต้นทุนในอนาคตจากความพิการและค่ารักษาพยาบาลทหารผ่านศึกโดยค่าใช้จ่ายประเภทนี้มักได้มาจากการกู้ยืมซึ่งทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 6) ต้นทุนในอนาคตจากการที่ต้องฟื้นฟูกองทัพเพื่อให้มีสมรรถนะทัดเทียมกับก่อนเกิดสงคราม การซ่อมแซมและการบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ 7) ต้นทุนงบประมาณที่จะถูกรวมไว้ในส่วนอื่น ๆ ของรัฐบาล เช่น ต้นทุนในการจัดเตรียมผลประโยชน์ให้กับทหารผ่านศึก ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น 8) ดอกเบี้ย สหรัฐฯ กู้เงินมาทำสงคราม ชาวอเมริกันจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายในช่วงต้นของสงครามเพียงแค่ 8% ของงบประมาณเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลกู้เงินเป็นจำนวนมาก ดอกเบี้ยจึงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10% ในปี 2554 9) ต้นทุนทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ต้นทุนของสังคมและเศรษฐกิจที่นอกเหนือไปจากต้นทุนในงบประมาณ และ 10) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค เช่น การที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นและงบประมาณที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นย่อมทำให้รัฐขาดความสามารถในการใช้จ่ายไปกับด้านการศึกษา สุขภาพและสาธารณูปโภคอันจะทำให้เศรษฐกิจระยะยาวขาดเสถียรภาพ
ผู้เขียนแยกการคำนวณเป็น 2 กรณีคือ 1) แบบมองจากแง่ที่ดีที่สุด นั่นคือ สหรัฐฯ จะสามารถถอนทหารออกจากอิรักได้อย่างรวดเร็วและเป็นการคำนวณเพื่อให้เกิดต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งเขาคาดว่าน่าจะมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ 2) แบบที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจริง นั่นคือ สงครามจะยังคงยืดเยื้อต่อไป ความต้องการทางด้านสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้น การอ้างสิทธิจากการเจ็บป่วยและพิการหลังสงครามของทหารจะเพิ่มขึ้นซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามการคำนวณนี้ยังไม่รวมต้นทุนที่ส่งผลกระทบหรือเกิดขึ้นกับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก
เงินมีต้นทุนเสมอ นั่นคือ เงินที่ใช้ไปในสงครามอิรักนี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาส ข้อมูลจากบ่งว่าเงินจำนวนหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สามารถที่จะสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 8 ล้านหน่วย จ้างครูเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านคนต่อปี จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนให้กับเด็กได้ถึง 120 ล้านคน ประกันสุขภาพให้กับเด็ก 530 ล้านคนต่อปีและเป็นค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย 4 ปีจำนวนถึง 43 ล้านคน ส่วนเงินที่เหลืออีกถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ยังสามารถใช้ลงทุนทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีและงานวิจัยเพื่อสร้างโอกาสของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้อีกด้วย นอกจากนั้นเงินจำนวนนี้ยังจะทำให้สหรัฐฯ สามารถที่จะบริจาคเงิน 0.7% ของรายได้ประชาชาติตามสัญญาที่ให้ไว้กับโครงการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เป็นเวลาถึงราว 30 ปี
ต้นทุนตามงบประมาณสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท 1) ต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้วในการทำสงครามกับอิรักและอัฟกานิสถานเดือนละ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันต้องจ่ายครอบครัวละ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน 2) ต้นทุนในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ต้องจ่ายแม้ว่าสงครามสิ้นสุดลงแล้ว ต้นทุนในการปฏิบัติการทางทหาร ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ เงินชดเชยในกรณีทหารพิการ ค่าใช้จ่ายทางด้านประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนในการทดแทนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เสียหายไปจากสงคราม การฟื้นฟูทหาร จากมุมมองในแง่ดีที่สุดคาดว่าจำนวนทหารอเมริกันในอิรักจะลดลงเหลือ 180,000 คนในปี 2551 และเหลือเพียง 75,000 คนในปี 2553 และจำนวนทหารที่ใช้ทั้งหมดจนถึงปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถถอนทหารออกจนหมดจากอิรักน่าจะเท่ากับ 1.8 ล้านคน ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่ากับ 5.21 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบัน จำนวนทหารที่คาดว่าจะอ้างสิทธิความพิการจากสงครามครั้งนี้น่าจะสูงถึง 712,800 คนโดยคำนวณจากอัตราการอ้างสิทธิความพิการ 45% ของจำนวนทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามและ 88% ได้รับอนุญาตให้อ้างสิทธิ ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพสำหรับทหารผ่านศึกเท่ากับ 1.21 แสนล้านดอลลาร์และผลประโยชน์สำหรับทหารผ่านศึกเท่ากับ 2.77 แสนล้านดอลลาร์ รวมเป็น 3.98 แสนล้านดอลลาร์
ในกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง จำนวนทหารที่ใช้ทั้งหมดจนถึงปี 2560 น่าจะเท่ากับ 2.1 ล้านคน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทางทหารเท่ากับ 4 แสนดอลลาร์ต่อคนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวม ณ ปี 2560 น่าจะเท่ากับ 9.13 แสนล้านดอลลาร์ จำนวนทหารที่คาดว่าจะอ้างสิทธิความพิการจากสงครามครั้งนี้น่าจะสูงถึง 850,000 คน ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพสำหรับทหารผ่านศึกเท่ากับ 2.85 แสนล้านดอลลาร์และผลประโยชน์สำหรับทหารผ่านศึกเท่ากับ 3.88 แสนล้านดอลลาร์ รวมเป็น 6.83 แสนล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายสำหรับทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บ 45,000 คนและป่วยทางจิตที่ไม่สามารถทำงานได้เดือนละ 1 พันดอลลาร์ตลอดเวลา 4 ทศวรรษเป็นเงินรวม 2.5-4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายในการนำทหารเจ็บป่วยกลับบ้าน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างกองทัพขึ้นใหม่ในเวลา 15 ปีเท่ากับ 2.50-3.75 แสนล้านดอลลาร์
3)ค่าใช้จ่ายซ่อนเร้น เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเกณฑ์ทหาร ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศได้เพิ่มขึ้นจาก 3% ของรายได้ประชาชาติในปี 2544 เป็น 4.2% ในปี 2551 แล้วและเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดของรัฐบาลในการซ่อนงบประมาณสงครามอิรักไว้ก็คือซ่อนไว้ในงบประมาณประจำในการป้องกันประเทศ จากมุมมองในแง่ดีที่สุดคาดว่าค่าใช้จ่ายที่ถูกซ่อนไว้อยู่ในเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดหลังเกิดสงคราม ในกรณีที่น่าจะเกิดขึ้นจริงนั้น ค่าจ้างทหารได้เพิ่มขึ้นถึง 28% แล้วอันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลคาดว่าจำนวนทหารเกณฑ์จะขาดแคลน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้มากขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเกณฑ์ทหารใหม่ต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 14,500 ดอลลาร์ในปี 2546 เป็น 18,842 ดอลลาร์ในปี 2551 นอกจากนี้การที่ทหารหลังสงครามมีประสบการณ์มากขึ้น พวกเขาสามารถไปปฏิบัติหน้าที่เป็นยามเอกชนซึ่งมีรายได้ดี รัฐจึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินจูงใจเพื่อให้ทหารที่มีประสบการณ์ยอมขยายเวลาประจำการ ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อปีเพื่อขยายจำนวนทหารเกณฑ์ระหว่างปี 2552-60 น่าจะเท่ากับ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์
ต้นทุนที่ถูกกระจายไปยังสาขาอื่น ๆ นอกกระทรวงกลาโหม เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง ค่าประกันชีวิต ค่าชดเชย บริษัทสัญชาติอเมริกันจะต้องจ่ายค่าประกันเสี่ยงภัยให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น รัฐต้องเพิ่มค่าประกันส่วนพิเศษให้กับบริษัทที่เข้าไปรับเหมาในเขตสงครามประมาณ 21% ของเงินเดือนพนักงานจึงทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐเพิ่มขึ้นถึง 780 ล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายระยะยาวในการชดเชยความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของพนักงานบริษัทผู้รับเหมาต่าง ๆ น่าจะอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ การเก็บภาษีได้ลดลงระหว่างปี 2546-52 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชาชนมีรายได้น้อยลงในการจับจ่ายใช้สอย พวกเขาจึงมีความสามารถในการจ่ายภาษีลดลงถึง 1.28-3.68 แสนล้านดอลลาร์ ค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจาก 25 ดอลลาร์เมื่อเริ่มสงครามจนเป็นเกือบร้อยดอลลาร์ ณ เวลาที่เขียนหนังสือทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านดอลลาร์ต่อปี
4) ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมคิดเป็น 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ในกรณีที่น่าจะเกิดขึ้นจริงดอกเบี้ยรวมจนถึงปี 2560 น่าจะเท่ากับหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ในปัจจุบันดอกเบี้ยที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายสำหรับค่าทำสงครามก็สูงอยู่แล้ว หากรัฐบาลยังคงเลื่อนการจ่ายหนี้ คงยินยอมจ่ายเพียงแค่ดอกเบี้ยจะทำให้ภาษีในอนาคตสูงขึ้นอย่างแน่นอนและจะทำให้โอกาสในการพัฒนาประเทศในอนาคตลดน้อยถอยลงไปด้วย ต้นทุนรวมของสงครามจนถึงปี 2560 ในกรณีที่มองจากแง่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ หากรวมสงครามของอัฟกานิสถานไปด้วยจะเท่ากับ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนในกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงน่าจะอยู่ที่ 2.65 ล้านล้านดอลลาร์ หากรวมสงครามของอัฟกานิสถานไปด้วยจะเท่ากับ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ต้นทุนทั้งหมดนี้ยังไม่รวมต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ต้นทุนของการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะสร้างความสั่นคลอนให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในสงครามเวียดนามและเกาหลี อัตราการบาดเจ็บต่อการเสียชีวิตของทหารเท่ากับ 2.6 และ 2.8: 1 ตามลำดับ แต่ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานนั้น อัตราการบาดเจ็บต่อการเสียชีวิตของทหารเพิ่มขึ้นเป็น 7:1 หรือสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หากเป็นกลุ่มที่มิใช่ทหารแล้วสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15:1 เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 จำนวนทหารอเมริกันบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถานสูงถึง 67,000 นายโดย 2 ใน 3 เป็นการเจ็บป่วยที่มิได้เป็นผลจากการสู้รบโดยตรง เช่น โรคติดเชื้อ ส่วนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มิใช่ทหารก็ได้รับบาดเจ็บนอกสนามสูงเพิ่มขึ้นอีกถึง 50% ปัจจุบันทหารที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางด้านการแพทย์และขอรับสิทธิพิการจากสงครามระหว่างอิรักและอัฟกานิสถานสูงถึง 230,000 นายแล้วและกว่าหนึ่งแสนคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ
การที่องค์การทหารผ่านศึกซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านสุขภาพและการชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับทหารผ่านศึกมีบุคลากรและงบประมาณน้อยร่วมกับระเบียบขั้นตอนในการปฏิบัติมากทำให้วิธีการขอค่าชดใช้ความพิการของทหารผ่านศึกต้องใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์ ข้อมูลในปี 2543 บ่งว่าทหารกว่า 57,000 นายต้องคอยเพื่อขอใช้สิทธิความพิการมากว่า 6 เดือนแล้ว และเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 นายเมื่อสิ้นปี 2551 การที่ทหารต้องรอคอยใช้สิทธิยาวนานทำให้พวกเขาเครียดมากเสียจนกระทั่งพวกเขาต้องเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตตามมา เช่น ฆ่าตัวตาย ติดยา หย่าร้าง ร้ายกว่านั้นเมื่อทหารผ่านศึกมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วทำให้จำนวนสถานบริการทางการแพทย์สำหรับทหารผ่านศึกไม่เพียงพอต่อการให้บริการ อดีตเลขานุการองค์การทหารผ่านศึกจึงได้ตัดสินใจลดสิทธิของทหารกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษต่ำสุดเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่งผลให้ทหารผ่านศึกทั้งหมดกว่า 4 แสนนายหมดสิทธิเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพจากสถานพยาบาลจึงยิ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมทหารผ่านศึก
จากมุมมองของแง่ดีที่สุดคาดว่าสงครามครั้งนี้จะใช้ทหารทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน รัฐบาลจะต้องจ่ายเงิน 1.21 แสนล้านสำหรับบริการทางการแพทย์ และจ่าย 2.77 แสนล้านสำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้พิการ และ 25 ล้านดอลลาร์สำหรับเป็นค่าชดเชยความพิการ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 4.22 แสนล้านดอลลาร์ หากทหารสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมสงครามเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน และ 50% ของทหารผ่านศึกเข้ารับบริการทางด้านการแพทย์ ต้นทุนทางด้านการแพทย์จะเท่ากับ 2.85 แสนล้านดอลลาร์ ผลประโยชน์เกี่ยวกับความพิการเท่ากับ 3.88 แสนล้านดอลลาร์ ค่าชดเชยทางด้านประกันสังคม 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายรวมจะเท่ากับ 7.17 แสนล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายนี้ไม่รวมต้นทุนที่ญาติของทหารผ่านศึกต้องใช้และค่าชดเชยและผลประโยชน์ทางการศึกษาที่ภรรยาและบุตรทหารที่เสียชีวิตจะได้รับด้วย
ประวัติศาสตร์บ่งว่าหลังสงครามผู้คนมักลืมไปว่าสิทธิประโยชน์รวมทั้งการบริการด้านการแพทย์ของทหารผ่านศึกเป็นต้นทุนของสงครามและของประเทศต่อไปอีกนับทศวรรษ
นอกจากต้นทุนในงบประมาณแล้ว ชาวอเมริกันยังต้องแบกรับต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ต้นทุนนี้แตกต่างจากต้นทุนงบประมาณตรงที่รัฐมิได้เป็นผู้จ่าย แต่ทหารผ่านศึก ครอบครัวและชุมชนเป็นผู้จ่าย การที่รัฐชดเชยค่าชีวิตของทหารเพียงแค่ 5 แสนดอลลาร์ ทั้ง ๆ ที่ค่าชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์เท่ากับ 7.2 ล้านดอลลาร์ถ้าคิดตามที่องค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมจ่ายเป็นค่าชดเชยชีวิต นั่นหมายความว่า ต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจของทหารที่เสียชีวิตไปแล้วในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานจำนวน 4,300 คนย่อมมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ มิใช่เพียงแค่ 2.15 พันล้านดอลลาร์เหมือนกับที่รัฐจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับญาติของทหารที่เสียชีวิตเหล่านี้
ส่วนผลประโยชน์ที่องค์การทหารผ่านศึกจ่ายให้กับทหารผ่านศึกที่ป่วยทางจิตคิดเป็น 69% ของรายได้ที่ทหารวัย 35 ปีจะได้รับซึ่งแตกต่างจากผลประโยชน์ที่คนทั่วไปควรได้รับจากการทำงานถึง 3.6 ล้านดอลลาร์ การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าทหารผ่านศึกที่มีปัญหาทางจิตมีคุณภาพชีวิตเลวที่สุดในความพิการทั้งหมด แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มิได้จ่ายเงินชดเชยให้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทั้ง ๆ ที่ประเทศอื่น เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและอังกฤษ ต่างจ่ายเงินชดเชยในแง่ของคุณภาพชีวิตด้วยถึงรายละ 2-5 แสนดอลลาร์ นอกจากนั้นญาติของทหารผ่านศึกยังต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลทหารพิการจึงเท่ากับว่าพวกเขาต้องเป็นผู้แบกรับภาระในการดูแลทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บและป่วยทางจิตโดยมิได้รับการชดเชยจากรัฐ นั่นหมายความว่า ต้นทุนทางสังคมน่าจะสูงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์
การคาดการณ์ต้นทุนทางสังคมสำหรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสประกอบด้วยต้นทุนค่าเสียชีวิต บวกต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยสาหัส บวกต้นทุนทางสังคมที่ญาติของทหารต้องออกจากงาน หักด้วยเงินที่รัฐจ่ายให้กับทหารพิการเท่ากับ 2.62 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่าต้นทุนที่ปรากฏในงบประมาณ และอาจสูงถึง 3.67 แสนล้านดอลลาร์สำหรับกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายนี้ยังมิได้รวมค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่ญาติต้องเสียให้กับคนอื่น ๆ ในครอบครัวและต้นทุนที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงซึ่งน่าจะทำให้ต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่านี้มากนัก
นอกจากนั้นรัฐยังมีต้นทุนอันเกิดจากการที่ทหารกองหนุนมิได้อยู่ปกป้องประเทศ และการนำยุทธ์ปัจจัยที่ควรใช้ในประเทศไปเสริมกำลังทหาร ณ สนามรบส่งผลให้การตอบสนองต่อสาธารณภัยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและขาดประสิทธิภาพจนทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อทรัพยากรทางทหารถูกใช้ไปกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถานหมดจึงทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากอิหร่านและเกาหลีเหนือมากขึ้น เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทางด้านสังคมและเศรษฐกิจแล้วจึงทำให้ค่าใช้จ่ายของสงครามกับอิรักและอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์หากมองในแง่ดีที่สุด และเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ในกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง
ตั้งแต่สงครามอิรักเริ่มขึ้นราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 25 ดอลลาร์จนเป็น 95 ดอลลาร์แล้ว ณ วันที่ผู้เขียนเขียนหนังสืออยู่ การที่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเช่นสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้การค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นและทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จึงแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยยังผลให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลงจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว จึงเท่ากับว่าสงครามอิรักเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจมหภาค
ก่อนสงครามคนส่วนใหญ่คาดว่าชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากสงครามเพราะพวกเขาจะมีโอกาสในการเข้าถึงน้ำมันมากขึ้น ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่สงครามกลับมีเพียงบริษัทน้ำมันเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วโลกรวมทั้งชาวอเมริกันกลับต้องเป็นผู้สูญเสีย ผู้เขียนคาดว่าสงครามทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นบาร์เรลละ 5 ดอลลาร์เป็นเวลา 7 ปีหากมองจากแง่ดีที่สุด และเพิ่มขึ้นเป็น 10 ดอลลาร์เป็นเวลา 8 ปีหากพิจารณาตามความจริง นั่นหมายความว่า ต้นทุนของราคาน้ำมันจากสงครามจะเท่ากับปีละ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 1.75 แสนล้านดอลลาร์หากมองจากแง่ดีที่สุดและเท่ากับปีละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 4 แสนล้านดอลลาร์ในกรณีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง
เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ประชาชนย่อมเหลือเงินลดลงสำหรับซื้อสินค้าอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะน้ำมันคิดเป็นค่าใช้จ่ายถึง 5% ของรายได้ แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะแย้งว่าเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีที่ถูกส่งไปให้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันย่อมทำให้ประเทศเหล่านั้นมีความสามารถในการซื้อสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตมากขึ้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะเงินจำนวนนี้เมื่อรั่วไหลไปยังประเทศอื่นทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของชาวอเมริกันลดลงยังผลให้ผลผลิตมวลรวมของประเทศลดลงซึ่งคำนวณด้วยตัวคูณ 1.5 (สัดส่วนของผลกระทบต่อรายได้ประชาชาติอันเป็นผลมาจากการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ) แล้วจะทำให้รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ ลดลงถึงปีละ 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์หากมองจากแง่ดีที่สุด หรือเท่ากับ 1.87 แสนล้านดอลลาร์ในเวลา 7 ปี สำหรับกรณีที่เป็นจริงตัวคูณสำหรับการคำนวณผลผลิตมวลรวมเท่ากับ 2 จึงทำให้รายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ ลดลงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์ในเวลา 8 ปีซึ่งหากนำเงินนี้ไปลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทน 7% ตลอดไป ผลผลิตของชาติจะเพิ่มขึ้นปีละ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับครอบครัวละ 500 ดอลลาร์
นอกจากนั้นการที่รัฐเพิ่มการใช้จ่ายยังทำให้การลงทุนในภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้เพราะรัฐกลายเป็นผู้แย่งเงินทุนไปจากมือของเอกชน ซ้ำร้ายเมื่อรัฐมีค่าใช้จ่ายทางด้านสงครามเพิ่มขึ้น หนี้สินของประเทศจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หนี้สินของรัฐในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนล้านดอลลาร์แล้วและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560 เมื่อรัฐบาลกู้เงินมาทำสงคราม พวกเขาจึงจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยและเพิ่มภาษีเพื่อนำมาใช้หนี้ซึ่งคาดว่ารัฐจะต้องเพิ่มภาษีถึงปีละ 9 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น การที่รัฐใช้จ่ายเงินไปกับสงครามและใช้หนี้ยังทำให้รัฐไม่เหลือเงินมาลงทุนทางด้านงานวิจัย สร้างถนนและโรงเรียนจึงทำให้โอกาสของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นการที่รัฐแย่งทรัพยากรกับภาคเอกชนจนทำให้การลงทุนในภาคเอกชนลดลงย่อมส่งผลให้ผลผลิตในอนาคตลดน้อยถอยลงไปด้วย การคาดการณ์พบว่าหนี้สิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ของภาครัฐจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลง 60% ซึ่งเท่ากับว่าเอกชนลดการลงทุนลงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หากคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทน 7% หักด้วยต้นทุนทางสังคม 1.5% ผลผลิตมวลรวมที่จะลดลงจะเท่ากับ 5 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว เมื่อหักด้วยอัตราส่วนลดเทียบเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 4% ผลผลิตมวลรวมที่ลดลงจะเท่ากับ 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หากใช้อัตราส่วนลดที่ 7% ผลผลิตมวลรวมที่จะลดลงจะเท่ากับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ผลกระทบทั้งหมดต่อเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ จากสงครามอิรักน่าจะเท่ากับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ และหากรวมสงครามอัฟกานิสถานด้วยจะเท่ากับ 5 ล้านล้านดอลลาร์
โดยทั่วไปสงครามสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ สังคมและอธิปไตยของทุกประเทศ สงครามนี้อิรักจึงเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ทหารและพลเมืองอิรักเสียชีวิตไปแล้ว 7,697 นายและกว่า 15,000 คนตามลำดับ หากคำนวณค่าชีวิตของชาวอิรักเท่ากับชาวอเมริกัน ต้นทุนของทหารและพลเมืองอิรักที่เสียชีวิตจะเท่ากับ 1.72 แสนล้านดอลลาร์ การสำรวจในเดือนกันยายนปี 2550 พบว่าชาวอิรักกว่า 4 ล้านคนหรือ 1 ใน 7 คนต้องย้ายที่อยู่ ยิ่งไปกว่านั้นสงครามทำให้ชาวอิรักมีคุณภาพชีวิตเลวลงเห็นได้จาก 1) รายได้ประชาชาติของอิรักยังคงเท่าเดิม แม้ว่าในปี 2546 ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าแล้วก็ตาม 2) ชาวอิรักหนึ่งในสี่ยังคงไม่มีงานทำ 3) กรุงแบกแดดมีไฟฟ้าใช้เพียงแค่วันละ 9 ชั่วโมงเท่านั้น 4) จำนวนน้ำมันส่งออกของอิรักลดลงอันเป็นผลมาจากการที่โรงกลั่นน้ำมันอิรักได้รับความเสียหายจากสงคราม ซ้ำร้ายการที่อิรักมีความวุ่นวายสูงมากทำให้ไม่มีบริษัทใดกล้าลงทุนเพิ่ม ร้ายกว่านั้นเงินฟื้นฟูอิรักจากสหรัฐฯ ก็มิได้ตกถึงมือชาวอิรักเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายของสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ผู้รับเหมางานฟื้นฟูเป็นชาวต่างชาติ เงินฟื้นฟูจากสหรัฐฯ จึงตกอยู่ในมือของชาวอเมริกันเป็นส่วนใหญ่
นอกจากเศรษฐกิจของอิรักและสหรัฐฯ แล้ว อังกฤษเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามนี้ โทนี่ แบลร์นายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นบุคคลซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดสงครามอิรัก ทั้งนี้เพราะเขาเป็นมหามิตรที่เหนียวแน่นกับประธานาธิบดีบุชในการทำสงคราม ทั้ง ๆ ที่ประเทศอื่นรวมทั้งองค์การสหประชาชาติต่างไม่เห็นด้วยกับการบุกอิรัก อังกฤษส่งทหารเข้าไปในอิรักมากถึง 46,000 นายหรือเท่ากับ 10% ของจำนวนทหารทั้งหมด สงครามอิรักจึงสร้างความเสียหายกับอังกฤษไม่น้อยเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เช่น ทหารอังกฤษต้องเสียชีวิตในสงครามถึง 176 นาย บาดเจ็บสาหัส 206 นาย และบาดเจ็บจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 2,372 นาย เฉพาะค่าใช้จ่ายในสงครามนี้ก็ไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านปอนด์แล้ว ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการดูแลทหารผ่านศึกผู้พิการ นอกจากนั้นอังกฤษเองก็ต้องเผชิญปัญหาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเช่นกันจนทำให้อังกฤษต้องสูญเสียความมั่งคั่งไปถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ เมื่อนับรวมกับตัวทวีคูณ 1.5 เท่าจึงทำให้ต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของอังกฤษนับถึงปี 2560 สูงถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์ ผู้เขียนคาดว่าต้นทุนทางงบประมาณของอังกฤษในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานจนถึงปี 2553 จะมากกว่า 1.8 หมื่นล้านปอนด์ หากรวมต้นทุนทางสังคมด้วยแล้วต้นทุนรวมน่าจะมากกว่า 2 หมื่นล้านปอนด์
ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกันอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น การคาดการณ์จากมุมมองของแง่ดีที่สุดพบว่าสงครามทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศในยุโรป 1.29 แสนล้านดอลลาร์ ประเทศในกลุ่ม OECD อื่น ๆ 2.35 แสนล้านดอลลาร์ การคาดการณ์ในกรณีที่น่าเป็นจริงพบว่าสงครามจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศในยุโรป 2.95 แสนล้านดอลลาร์ ประเทศในกลุ่ม OECD อื่น ๆ 5.39 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อย่อมสูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต้องสูงขึ้นตามไปด้วยจนกดดันให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หากคำนวณด้วยตัวคูณ 1.5 จะพบว่าจากมุมมองของแง่ดีที่สุดยุโรปจะได้รับผลกระทบ 1.94 แสนล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 1.01 แสนล้านดอลลาร์ ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำเข้าน้ำมันนอกเหนือจากสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ 3.54 แสนล้านดอลลาร์ หากคำนวณด้วยตัวคูณ 2 ในกรณีที่น่าเป็นจริงจะพบว่า ยุโรปจะได้รับผลกระทบ 5.90 แสนล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 3.07 แสนล้านดอลลาร์ ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำเข้าน้ำมันนอกเหนือจากสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากสงครามจะทำลายชีวิต ทรัพย์สินและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล้ว สงครามครั้งนี้ยังทำลายระดับความชื่นชอบสหรัฐฯ ของประเทศต่าง ๆ อีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจากตะวันออกกลาง ซ้ำร้ายประชาชนทั่วโลกมองเห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นซาตานด้วย การที่ชาวโลกไม่ชอบสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะยาว ทั้งนี้เพราะชาวโลกเห็นว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกันกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันชาวโลกจึงเริ่มขาดความมั่นใจในการนำของสหรัฐฯ มันจึงกลายเป็นภาระของผู้นำคนต่อไปที่จะทำให้ความเชื่อมั่นหวนคืนมาสู่สหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง
หลังสงครามอิรักห้าปี แม้ว่าสหรัฐฯ จะเสียเงินเสียทองและชีวิตทหารไปมากมาย แต่สถานการณ์ของอิรักยังคงไม่ดีขึ้น การคอรัปชั่นในอิรักยังคงสูงมากคือติดอันดับ 178 จาก 180 ประเทศ หรือเป็นรองเพียงแค่โซมาเลียและพม่าเท่านั้น รัฐบาลอิรักยังคงขาดความสามารถในการสร้างความสมานฉันท์ให้กับชาวอิรักต่างเชื้อชาติ นั่นหมายความว่า การที่สหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในอิรักไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ของอิรักดีขึ้น กลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรักอ้างว่า หากสหรัฐฯ ถอนตัวจะทำให้อิรักถูกแบ่งเป็น 3 ประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากอิรักในทันทีหรือยังคงอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้เพราะเมื่อใดที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรัก ความยุ่งเหยิงย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีรัฐบาลสหรัฐฯ โดยการนำของประธานาธิบดีบุชไม่มีทีท่าที่จะถอนตัวออกจากอิรักในสมัยของเขาอย่างแน่นอนเห็นได้จากการสร้างฐานทัพขนาดใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อมรวมทั้งสนามกีฬา โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เช่น เบอร์เกอร์คิง พิซซ่าฮัท แม้ประธานาธิบดีบุชยังคงอ้างว่าฐานทัพนี้มิใช่ฐานทัพถาวรก็ตาม แต่ฐานทัพที่ปรากฏต่อสายตาชาวอิรักคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการยึดครองอิรักอย่างถาวร
ในปัจจุบันผู้ที่สนับสนุนการอยู่ในอิรักของสหรัฐฯ เชื่ออย่างผิด ๆ ว่า 1) การที่พวกเขาถอนตัวออกจากอิรักในขณะนี้เท่ากับว่าสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จตามความคาดหวัง แต่แท้ที่จริงแล้วผู้เขียนกลับเห็นว่าไม่ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัว ณ วันนี้หรืออีก 2 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ ก็คงไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จดังที่คาดหวัง ซ้ำร้ายหากสหรัฐฯ ยังคงดื้อดึงดำรงกองทัพอยู่ในอิรักต่อไป พวกเขาย่อมเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาจะขาดโอกาสในการเลือกเวลาที่จะถอนตัว 2) หากสหรัฐฯ ถอนตัวในขณะที่ไม่ประสบความสำเร็จจะทำให้การเสียชีวิตของทหารเสียเปล่า แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัว ณ เวลาใด ทหารที่เสียชีวิตย่อมไม่สามารถกลับมามีชีวิตได้อีกแล้วเหมือนอย่างกับที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกต้นทุนชนิดนี้ว่าต้นทุนจม การที่สหรัฐฯ ดำรงอยู่เนิ่นนานออกไปรังแต่จะทำให้ทหารเสียชีวิตเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า มันเป็นการตัดสินใจอย่างไร้เหตุผลที่จะส่งทหารไปตายเพิ่มขึ้น 3) สหรัฐฯ ควรรับผิดชอบต่อความสูญเสียของอิรัก เมื่อสหรัฐฯ ทำให้อิรักเสียหาย สหรัฐฯ จึงควรต้องรับผิดชอบ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ว่าสหรัฐฯ จะดำรงกองทัพอีกนานเท่าใดย่อมไม่สามารถทำให้ทหารอิรักที่เสียชีวิตฟื้นคืนชีพขึ้นได้ หากสหรัฐฯ ต้องการฟื้นฟูอิรักจริง ๆ พวกเขาจำเป็นต้องลงทุนในการฟื้นฟูให้มากกว่านี้เหมือนกับที่พวกเขาใช้ Marshall Plan ในการฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่าประธานาธิบดีบุชคงไม่ออกคำสั่งถอนกำลังทหารออกจากอิรักเองอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการประกาศความพ่ายแพ้ในสงครามที่เขาเป็นคนก่อขึ้น มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอมเสียหน้าถอนทหารในสมัยของเขาซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์จารึกชื่อเขาในแง่ร้าย การดำรงทหารต่อไปอาจทำให้ประวัติศาสตร์กล่าวขวัญถึงเขาในแง่ที่ดีขึ้น ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ควรทำก็คือถอนทหารออกทันที ไม่เช่นนั้นปัญหาการสูญเสียเลือดเนื้อต่อ ๆ ไปย่อมเป็นปัญหาของรัฐบาลใหม่ซึ่งจะทำให้ผู้นำคนใหม่ต้องเสียเวลาและกำลังมากมายไปกับการอธิบายความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด อีกทั้งยังทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่หลงลืมไปว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากประธานาธิบดีบุช
บทเรียนจากสงครามอิรักครั้งนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจสหรัฐฯ ก่อนที่จะก่อสงครามครั้งต่อ ๆ ไปว่า 1) การก่อสงครามโดยไม่มีการวางแผนที่ดีเท่ากับเป็นการทำร้ายทหาร 2) โลกต้องมีอำนาจสำหรับการตรวจสอบ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันโลกมักต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องตัวแทน นั่นคือ ตัวแทนซึ่งมีหน้าที่ตัดสินใจมักตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของผู้เป็นเจ้าของ ในกรณีของสงครามอิรักก็เช่นกัน ผู้ที่ต้องรับภาระหนักสุดก็คือทหารที่ถูกส่งไปรบ ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจกลับพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาหน้าของตัวเอง
ในตอนท้ายของหนังสือผู้เขียนแนะว่า สหรัฐฯ ควรปฏิรูปใหญ่ ๆ สองด้านคือ 1) ด้านความโปร่งใสของข้อมูล ทั้งนี้เพราะสงครามครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สภาได้รับข้อมูลผิด ๆ จากฝ่ายบริหารจึงสนับสนุนให้ประธานาธิบดีบุชก่อสงคราม 2) ด้านการดูแลทหารผ่านศึก ทั้งนี้เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม
ข้อคิดเห็น – ข้อมูลจากหนังสือทำให้ผู้อ่านทราบว่าต้นทุนที่แท้จริงของสงครามมีทั้งในและนอกงบประมาณและทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่ประเทศคู่สงครามเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ด้วย สงครามจึงไม่ควรเกิดขึ้นด้วยความมักง่ายหรือเพื่อสนองตัณหาของตัวเอง ในช่วงนี้สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่จุดอับซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ผู้กำหนดนโยบาย สื่อ นักวิชาการและประชาชนอาจใช้แนวคิดจากหนังสือนี้คำนวณว่า หากเกิดสงครามระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านแล้ว ต้นทุนที่แท้จริงของสงครามจะเป็นเท่าไร
