You are here: Home > Science & Envi > The Weather Makers / โลกร้อน – ใครทำ ?

The Weather Makers / โลกร้อน – ใครทำ ?

(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

                      ประเด็นโลกร้อนกำลังถูกกล่าวขวัญถึงตามหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้เพราะได้รณรงค์เรื่องโลกร้อนมาเป็นเวลานานผ่านกลวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการทำภาพยนตร์และหนังสือชื่อ An Inconvenient Truth เมื่อปีที่แล้ว  ผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือดังกล่าว รวมทั้งสัมผัสกับอากาศในเดือนพฤษภาคมเช่นปีนี้คงไม่สงสัยอีกต่อไปว่าโลกร้อนขึ้นหรือไม่เพราะมันร้อนจนอยากแก้ผ้าเดินเลยทีเดียว  แต่ประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ก็คือ สถิติน้ำท่วมและภัยแล้งที่ถูกทำลายติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้วนั้นเป็นผลของโลกร้อนหรือไม่และใครเป็นคนทำ  Tim Flannery นักวิทยาศาสตร์ นักคิดและนักเขียนชาวออสเตรเลียได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างละเอียดลออไว้ก่อนภาพยนตร์และหนังสือของ Al Gore ในหนังสือของเขาชื่อ The Weather Makers: The History and Future Impact of Climate Change 

             ผู้เขียนตั้งชื่อภาคแรกของหนังสือขนาด 341 หน้าซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2548 เล่มนี้ว่า “กายา” (Gaia) ซึ่งหมายถึงโลกด้านกายภาพและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับโลก  เขาเริ่มด้วยการเล่าถึงบรรยากาศของ Mt. Albert Edward ยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในเกาะนิวกีนีซึ่งเขาเดินทางไปเมื่อปี 2524  การไปในครั้งนั้นสร้างความประหลาดใจแก่เขามากเพราะเขาพบตอของต้นเฟิร์นในบริเวณที่มีเพียงหญ้าเท่านั้น  ถึงแม้ว่าเขาจะทราบมานานแล้วว่าธารน้ำแข็งของนิวกีนีกำลังละลาย แต่การค้นพบในครั้งนั้นยืนยันว่าโลกได้ร้อนขึ้นจนกระทั่งป่าสามารถขึ้นบนยอดเขาแห่งนั้นได้แล้ว  

                ปี 2518 เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำนายได้ว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าจะส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาเซนติเกรด  แต่การทำนายนี้กลับไม่มีผู้กำหนดนโยบายหรือผู้นำของประเทศใดมองเห็นความสำคัญ  โลกต้องรออีกนานกว่ารัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มตื่นตัวและค้นหาวิธีหยุดยั้งภาวะโลกร้อนซึ่งวิวัฒน์ไปสู่การร่วมกันร่างพิธีสารเกียวโต  ถึงกระนั้นก็ตามประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียกลับปฏิเสธที่จะลงนามในพิธีสารนี้  ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อ้างว่าเขาต้องการหลักฐานที่แน่ชัดกว่าที่มีอยู่เพื่อพิสูจน์ว่าโลกร้อนขึ้นจริงและจะส่งผลเสียต่อประชากรโดยรวมจริง  ผู้เขียนเห็นว่าข้ออ้างนั้นไร้เหตุผลสิ้นดี ทั้งนี้เพราะคงไม่มีมนุษย์คนใดรอให้ป่วยปางตายจึงจะลงมือรักษา    

                เจมส์ ลัฟลอกค์ (James Lovelock) นักคณิตศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานที่ชื่อว่า กายา ขึ้นเมื่อปี 2522  เขาเปรียบโลกเป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีระบบรักษาความสมดุลทั้งทางชีวภาพ และกายภาพโดยจะมีการตอบสนองต่อกระบวนการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก  บรรยากาศก็คืออวัยวะของกายาที่ใช้สัมผัสกับสิ่งอื่น ๆ และควบคุมอุณหภูมิให้กับร่างกายเหมือนกับขนแมวหรือขนนกที่ใช้ปกคลุมผิว  นั่นหมายความว่า บรรยากาศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

                นักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นบรรยากาศโลกออกเป็น 4 ชั้นตามอุณหภูมิและปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิ  ส่วนต่ำที่สุดเรียกว่า Troposphere ซึ่งมีอากาศบรรจุอยู่ถึงร้อยละ 80 อยู่ห่างจากพื้นผิวโลก 12 กิโลเมตรและส่วนที่ติดกับผิวโลก 1 ใน 3 ของชั้นนี้บรรจุก๊าซไว้ถึงครึ่งหนึ่งของบรรยากาศทั้งหมดและเป็นอากาศเพียงชั้นเดียวที่มนุษย์สามารถใช้ในการหายใจได้  อุณหภูมิของชั้นนี้จะอุ่นที่สุดที่ระดับต่ำสุดและจะลดลง 6.5 องศาเซนติเกรดทุก ๆ 1 กิโลเมตรที่ห่างผิวโลกออกไป  ชั้นที่สองคือ Stratosphere  ส่วนนอกสุดของชั้นนี้จะมีโอโซนมาก  สารนี้จะจับแสงอัลตราไวโอเลตไว้จึงทำให้ส่วนนอกร้อนกว่าส่วนใน  ชั้นที่สามคือ Mesosphere ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 50 กิโลเมตร มีอุณหภูมิ -90 องศา  ส่วนชั้นนอกสุดคือ Thermosphere ซึ่งมีอากาศเบาบางมาก

                คนทั่วไปมักคิดว่า บรรยากาศโลกกว้างใหญ่มากเสียจนกระทั่งการกระทำของมนุษย์จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อมันได้  แต่แท้ที่จริงแล้วอากาศที่มนุษย์สามารถใช้หายใจได้มีไม่มากนัก  นักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่าโลกร้อนเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบหลัก  เมื่อก๊าซนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ โลกจะร้อนมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะก๊าซนี้ป้องกันการสะท้อนของความร้อนออกสู่บรรยากาศ  ซ้ำร้ายเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ไอน้ำจะถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น  ไอน้ำที่มีปริมาณมากขึ้นนี้จะรวมตัวกันเป็นเมฆหนาและกักความร้อนไว้มากกว่าที่จะสะท้อนเอาแสงอัลตราไวโอเลตออกไปจึงทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

                การที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องใช้เวลายาวนานหลายร้อยปีในการกำจัดทำให้ปริมาณของมันสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ข้อมูลบ่งว่าก่อนปี 2343 โลกมีก๊าซนี้อยู่เพียง 280 ส่วนต่อล้านส่วนของอากาศซึ่งเท่ากับ 586 กิกะตัน (พันล้านตัน)  แต่ในปัจจุบันก๊าซนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 380 ส่วนต่อล้านส่วนหรือเท่ากับ 790 กิกะตันแล้ว  นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าหากมนุษย์ต้องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือเท่ากับช่วงปี 2343 พวกเขาจะต้องลดการปล่อยก๊าซนี้ให้เหลือเพียง 600 กิกะตันเท่านั้น  นั่นหมายความว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 กิกะตันหรือ 550 ส่วนต่อล้านส่วนในปี 2643 และปริมาณก๊าซเพียงเท่านี้ก็น่าที่จะส่งผลกระทบต่อมวลมนุษย์อย่างรุนแรงแล้ว

                เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนในการควบคุมอุณหภูมิของโลกมากเช่นนี้ วงจรของมันจึงมีความสำคัญยิ่ง  ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประกอบด้วยก๊าซออกซิเจนและธาตุคาร์บอนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด  มันจึงมีอยู่มากมายและสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างร่างกายของสิ่งมีชีวิตและอากาศ ทั้งนี้เพราะก๊าซนี้เป็นของเสียจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตแต่เป็นแหล่งอาหารของพืช  และเมื่อคาร์บอนแยกตัวออกจากอากาศไป มันจะไปรวมกันอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าอ่างคาร์บอน (carbon sink)  อ่างคาร์บอนที่มีขนาดใหญ่ก็คือป่าและมหาสมุทร

                มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือซึ่งมีพื้นที่เพียงร้อยละ 15 ของมหาสมุทรทั้งหมดสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 25 ของที่มนุษย์ผลิตออกมา  ปริมาณคาร์บอนที่มีอยู่ในมหาสมุทรแห่งนี้ถูกถ่ายเทมาจากทะเลเหนือซึ่งอยู่ระหว่างเกาะอังกฤษและประเทศในยุโรปตอนเหนือ  มันถูกเรียกว่า ไตคาร์บอน (carbon kidney)  การค้นพบไตคาร์บอนทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของมหาสมุทรจากภาวะโลกร้อนจะทำให้ประสิทธิภาพของการถ่ายเทของอากาศเสียไป ทั้งนี้เพราะมหาสมุทรที่เย็นจะมีความสามารถในการดูดซับก๊าซได้ดีกว่ามหาสมุทรที่ร้อน  ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถในการดูดซับคาร์บอนยังขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของคาร์บอนในมหาสมุทรอีกด้วย  หากความเข้มข้นของคาร์บอนในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น น้ำจะมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นยังผลให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนลดลง  ข้อมูลบ่งว่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของมหาสมุทรได้ลดลงจาก 1.8 กิกะตันเหลือเพียง 1.6 กิกะตันภายในเวลาเพียงแค่สิบปีเท่านั้น  นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าก่อนสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของมหาสมุทรจะลดลงอีกถึงร้อยละ 10

               อ่างคาร์บอนอีกอย่างหนึ่งคือ ฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศโดยสิ่งมีชีวิตเมื่อหลายล้านปีก่อน เช่น น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ  การเผาไหม้สารเหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการปล่อยคาร์บอนกลับเข้าไปในอากาศ  สถิติบ่งว่า ในปี 2545 เพียงปีเดียวการเผาไหม้สารเหล่านี้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศสูงถึงสองหมื่นหนึ่งพันล้านตันโดยเป็นผลจากถ่านหินมากที่สุดถึงร้อยละ 41 รองลงมาคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 39 และ 20 ตามลำดับ   นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปี 2593 มนุษย์จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้มากถึง 2 เท่าของที่มีอยู่ในโลกหากพวกเขาหามันมาเพิ่มเติมได้ และจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยยังผลให้โลกร้อนขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ขึ้นทุกปี

                  นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดหนึ่งที่สร้างจากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในสภาพที่ไม่ใช้ออกซิเจน  ก๊าซนี้มีความสามารถในการจับพลังงานความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 60 เท่า  มันจึงเป็นสาเหตุของโลกร้อนถึงร้อยละ 15-17  ถึงแม้ว่ามันจะมีปริมาณเพียง 1.5 ส่วนต่อล้านส่วนของอากาศก็ตาม แต่ปริมาณของมันก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าแล้วภายในเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี  นอกจากนี้ ไนตรัสออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดหนึ่งที่มีอายุกว่า 150 ปีและมีความสามารถในการดักความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 270 เท่า  ก๊าซนี้ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 แล้วหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม  

              ในภาค 2 ผู้เขียนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการสูญพันธุ์  นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ภาวะโลกร้อนเป็นการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศแบบกระตุกนั่นคือ เมื่อความร้อนถูกสะสมจนถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดและขยายวงออกอย่างรวดเร็ว  จูเลีย โคล (Julia Cole) นักภูมิอากาศวิทยาบัญญัติความหมายของจุดพลิกผันที่จุดชนวนการเปลี่ยนแปลงแบบกระตุกของบรรยากาศนี้ว่า “ประตูมหัศจรรย์”  ประตูนี้ได้เปิดขึ้น 2 ครั้งแล้วในโลกยุคปัจจุบันคือ ในปี 2519 และปี 2541

                เหตุการณ์ในปี 2519 เกิดขึ้นที่แนวปะการังของมายานาในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นจุดแรกที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิลโญ  หลังจากประตูนี้เปิดอุณหภูมิของกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกก็เพิ่มขึ้นจาก 19.2 องศาเป็น 25 องศาเซนติเกรด  การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อเขตอเมริกาเท่านั้น หากยังส่งผลไปถึงออสเตรเลียอีกด้วย นั่นคือ ในปีต่อมากเกิดความแห้งแล้งในออสเตรเลียจนทำให้สัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์ติดตามศึกษาตายลงจาก 1,300 ตัวเหลือเพียง 180 ตัว  ซ้ำร้ายตัวที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ยังเป็นตัวผู้ซึ่งต้องแย่งชิงกันผสมพันธุ์ 

                  ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2541 มีทั้งเอลนิลโญและลานิลญาซึ่งกินเวลาราว 2-8 ปี ในช่วงที่เกิดลานิลญา ลมได้พัดไปทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้เกิดความอบอุ่นในแถบบริเวณชายฝั่งของออสเตรเลียไปจนถึงเกาะทางเหนือ  ในช่วงที่เกิดเอลนิลโญลมที่พัดให้กระแสน้ำอุ่นไหลเวียนกลับไปทางทิศตะวันออกนำเอาน้ำไปท่วมเปรูและส่วนน้ำที่เย็นกว่าได้ไหลไปยังบริเวณตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังทำให้เกิดไฟป่าขึ้นทั่วทุกทวีปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเกาะบอร์เนียวได้สูญเสียผืนป่าไปถึง 5 ล้านเฮกเตอร์

                 นอกจากนี้ ผลของโลกร้อนยังทำให้เกิดความแปรปรวนของธรรมชาติอื่น ๆ อีกมาก  การศึกษาของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสพบว่าหลังปี 2493 สัตว์ต่าง ๆ เคลื่อนย้ายสูงขึ้นไปบนภูเขาทศวรรษละ 6.1 เมตรและเกิดฤดูใบไม้ผลิเร็วขึ้นถึงทศวรรษละ 2.3 วัน  ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของผีเสื้อฤดูหนาว ทั้งนี้เพราะผีเสื้อชนิดนี้ต้องอาศัยใบของต้นโอ๊กเป็นอาหารแต่ผีเสื้อและต้นโอ๊กยึดตัวบ่งชี้ของฤดูกาลที่ต่างกันเป็นหลักวงจรชีวิต นั่นคือ การฟักไข่ของผีเสื้ออาศัยความอบอุ่นของฤดูในขณะที่การผลิใบของต้นโอ๊กอาศัยการนับจำนวนวันที่สั้นของฤดูหนาว  เมื่อฤดูใบไม้ผลิอบอุ่นกว่าเมื่อ 25 ปีก่อน แต่จำนวนวันที่สั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง  ผีเสื้อฤดูหนาวจึงฟักตัวออกมาถึงสามสัปดาห์ก่อนที่ต้นโอ๊กจะผลิใบทำให้ตัวอ่อนตายไปเกือบหมดก่อนที่ต้นโอ๊กจะผลิใบ

                ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์รายงานเมื่อปี 2547 ว่า ในบริเวณแอนตาร์ติกาและอาร์กติกซึ่งเป็นขั้วโลก สัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความอบอุ่นที่เพิ่มขึ้นคือกวางคาริบูพันธุ์เล็กที่พบได้เฉพาะในบริเวณกรีนแลนด์และแคนาดาเท่านั้น  ภาวะโลกร้อนทำให้สัตว์เหล่านี้หาอาหารได้ยากขึ้นยังผลให้จำนวนของมันลดลงจากราว 26,000 ตัวเหลือเพียง 1,000 ตัวภายในเวลาเพียงแค่ 15 ปี  ชาวเอสกิโมซึ่งอาศัยกวางชนิดนี้เป็นอาหารต้องขาดแหล่งอาหารสำคัญไป  ผู้เขียนสันนิษฐานว่าหากอุณหภูมิบริเวณขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ สัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านั้นอาจสูญพันธุ์ไปหมดก็เป็นได้ 

                มาร์ตี ครัมพ์ (Marty Crump) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นบุคคลแรกที่มีโอกาสได้เห็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไปต่อหน้าต่อตาจากภาวะโลกร้อน  เขาบรรยายไว้ในหนังสือชื่อ In Search of the Golden Frog ว่าในเดือนเมษายน 2530 เขาได้เป็นพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ นั่นคือ การผสมพันธุ์ของคางคกทองในประเทศคอสตาริกาครั้งสุดท้าย  คางคกตัวเมียหนึ่งตัวมีตัวผู้ถึง 3 ตัวพยายามที่จะผสมพันธุ์กับมัน  นอกจากคางคกตัวเมียตัวนั้นแล้ว รอบ ๆ สระยังมีคางคกตัวผู้อีก 42 ตัวที่ไม่มีตัวเมียให้มันผสม  และถึงแม้ว่าเขาจะพบไข่ถึง 43,000 ฟองในสระ 10 ลูกรอบ ๆ บริเวณนั้น แต่จำนวนตัวอ่อนที่รอดมีเพียง 29 ตัวเท่านั้น  ปีต่อมาเขากลับไปยังสถานที่เดิมอีกและพบกบตัวผู้เพียงตัวเดียว  อีกหนึ่งปีหลังจากนั้นเขาก็พบตัวผู้เพียงตัวเดียวอีกเช่นเคย  เขาจึงสันนิษฐานว่ามันเป็นตัวเดียวกับตัวที่เขาพบเมื่อปีก่อนและเป็นตัวสุดท้ายของสัตว์ชนิดนี้

                 โดยทั่วไปบริเวณต่าง ๆ ของโลกมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน  บริเวณขั้วโลกถึงเส้นศูนย์สูตรมีอุณหภูมิแตกต่างกันจาก -40 องศาถึง 40 องศาเซนติเกรด และทุก ๆ 1 องศาที่เพิ่มขึ้นปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1  อย่างไรก็ดีการมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นกลับมิใช่เรื่องดีเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเกิดผิดที่ผิดเวลา เช่น ฝนที่ตกในฤดูหนาวในบริเวณขั้วโลกทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยและเป็นวงกว้างขึ้น  ในขณะเดียวกันความแห้งแล้งก็นำความทุกข์ยากมาสู่ประชาชนเช่นกัน  ผู้เขียนได้ยกพื้นที่ในเขตซาเฮลของแอฟริกามาเป็นตัวอย่าง  ดินแดนแห่งนี้ประสบความแห้งแล้งยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ  ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่คิดว่าความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเผาไม้ทำลายป่าและการมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในบริเวณนั้นมากเกินไป  แต่การศึกษาของนักอากาศวิทยาแห่งศูนย์การวิจัยบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาพบว่า ความแห้งแล้งเกิดขึ้นเพราะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกทำให้ลมมรสุมที่จะพัดไปยังบริเวณเขตซาเฮลอ่อนกำลังลงจนทำให้เกิดความแห้งแล้งตามมา

                   ออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้งยกเว้นบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนคงที่  มันจึงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ  แต่หลังปี 2519 เป็นต้นมาปริมาณน้ำฝนในบริเวณนั้นได้ลดลงถึงร้อยละ 15   แบบจำลองของบรรยากาศบ่งว่าสาเหตุของปริมาณน้ำฝนที่ลดลงมาจากปัญหาโลกร้อน  ซ้ำร้ายการที่ฝนตกผิดฤดูกาลซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการเพาะปลูกส่งผลให้น้ำซึมลงไปใต้ดินทั้งหมดจนทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นและนำเอาเกลือที่สะสมอยู่ใต้ดินกลับขึ้นมาบนดิน  ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดินที่เคยเป็นแหล่งเพาะปลูกเค็มจนไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป

                   นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้นำตัวอย่างความเสียหายอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนอื่น ๆ มาเสนออีกด้วย เช่น รายงานที่บ่งว่าในเวลาเพียงไม่กี่ปีชั้น Tropopause ซึ่งเป็นชั้นดูดซับความร้อนได้ขยายออกไปหลายร้อยเมตร  การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บางบริเวณเกิดพายุลดลง ในขณะที่บางบริเวณเกิดพายุเพิ่มขึ้น เช่น อเมริกาเหนือต้องประสบกับพายุเฮอริเคนเพิ่มขึ้นทั้งในด้านจำนวนและความรุนแรง  นอกจากนี้การที่มีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคระบาดตามมาอีกด้วย เช่น อหิวาห์ ไข้เลือดออก ไข้เหลือง  ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าธารน้ำแข็งที่อาลาสกาได้ลดลงแล้วถึง 12 กิโลเมตรภายในเวลาเพียง 20 ปี  และในฤดูร้อนปี 2545  น้ำแข็งที่กรีนแลนด์และอาร์กติกได้ละลายลงมากถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร  อีกสองปีต่อมาสถานการณ์ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเพราะธารน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ได้ละลายลงเร็วกว่าปกติถึง 10 ท่า  ถึงแม้ว่าการละลายของน้ำแข็งในทะเลเหนือจะมิได้เพิ่มปริมาณน้ำให้กับมหาสมุทร แต่มันทำให้ความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่นอกโลกลดลงยังผลให้ผิวโลกร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก  คณะกรรมการระหว่ารัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change)  คาดว่ามหาสมุทรจะสูงขึ้นประมาณ 10-100 เซนติเมตรโดยที่ 10-43 เซนติเมตรมาจากความร้อนที่แผ่ซ่านไปทั่วมหาสมุทร และ 23 เซนติเมตรมาจากการละลายของธารน้ำแข็งนอกขั้วโลกและบริเวณกรีนแลนด์

                 ความเสียหายจากโลกร้อนนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ทวีปออสเตรเลีย อเมริกา หรือเอเซียเท่านั้น  ในปี 2546 ทวีปยุโรปก็ได้รับความเสียหายจากคลื่นความร้อนด้วยเช่นกันโดยมันทำให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไปกว่า 26,000 คน  ผู้เขียนคิดว่าการที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้รับความเสียหายจากความแปรปรวนของอากาศสูงที่สุดในโลกน่าจะเป็นผลมาจากการที่สองประเทศนั้นต่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะบางพื้นที่กลับมิได้รับผลกระทบที่ก่อความเสียหายจากโลกร้อน เช่น บริเวณอ่าวเบงกอลมีพายุไซโคลนลดลง และรัฐกุจาราตของอินเดียแห้งแล้งน้อยลง

              ภาค 3 เป็นเรื่องของการคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์  การคาดการณ์เกี่ยวกับบรรยากาศของโลกมีพื้นฐานมาจากการพยากรณ์อากาศโดยอาศัยการสร้างแบบจำลองเหตุการณ์  นักวิทยาศาสตร์อาศัยแบบจำลองเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ เช่น  บรรยากาศโลกจะเป็นเช่นใดเมื่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนผิวโลกเพิ่มขึ้นเท่าตัว

                   ในปี 2518 ซุกุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) และ ริชาร์ด เวเธอรัลด์ (Richard Weatherald) ได้ใช้แบบจำลองเพื่อทำนายบรรยากาศโลกและพบว่า หากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 2.4 องศาเซนติเกรด  ต่อมาในปี 2522 ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น คอมพิวเตอร์สามารถคำนวณได้ว่าหากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 3.5-3.9 องศาเซนติเกรด  หลังจากนั้นมาไม่ว่าเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์จะดีขึ้นมากเท่าใด ตัวเลขนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง  

                    แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถจำลองเหตุการณ์ได้บ้างแต่แบบจำลองก็ยังคงไม่สามารถคาดเดาหายนะที่จะเกิดขึ้นกับโลกจากภาวะโลกร้อนได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในชั้น Troposphere จากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิที่ลดลงในชั้น Stratosphere จากการลดลงของโอโซนไม่มีความหมายอย่างมีนัยสำคัญต่อการตีความของคอมพิวเตอร์จึงทำให้ผลที่นักวิจัยได้รับไขว้เขว  อย่างไรก็ดีข้อมูลจากประวัติศาสตร์บ่งว่าโลกมิได้มีแต่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว  ในระหว่างปี 2483-2513 อุณหภูมิโลกได้ลดต่ำลงบ้างอันเป็นผลมาจากหมอกควันของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะก๊าซนี้ทำให้แสงอาทิตย์สะท้อนกลับออกไปนอกโลกมากกว่าปกติ

                 นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้คอมพิวเตอร์จำลองแบบธรรมชาติเพื่อทำนายอนาคตและสรุปว่า หลังจากปี 2593 เป็นต้นไปบริเวณชายฝั่งอังกฤษจะมีหิมะตกลดลงถึงร้อยละ 80 มีฝนตกในฤดูหนาวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 ในขณะที่ฝนตกในฤดูร้อนลดลง  และอุณหภูมิโลกในช่วงเวลานั้นจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 2 องศาเซนติเกรดโดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นที่บริเวณยุโรป เอเซียและอเมริกามากถึง 4.5 องศาจนทำให้บรรยากาศของอังกฤษคล้ายบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน  และเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้คลื่นความร้อนจะโจมตีนครลอสเอนเจลิสเพิ่มขึ้น 2-7 เท่าและทำให้หิมะตกลดลงถึงครึ่งหนึ่งจนทำให้ป่าของแคลิฟอร์เนียสูญไปถึง 50-90% เลยทีเดียวโดยสถานการณ์จากการคาดการณ์ทั้งหมดจะมาจากฝีมือของมนุษย์ล้วน ๆ

                  เลสลีย์ ฮิวส์ (Lesley Hughes) นักพฤกษ์ศาสตร์ชาวออสเตรเลียคำนวณว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา อุณหภูมิของออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นถึง 5 องศาซึ่งจะทำให้ยูคาลิปตัส 200 ชนิดจาก 819 ชนิดสูญพันธุ์ ทั้งนี้เพราะยูคาลิปตัสที่คาดว่าจะสูญพันธุ์นั้นไม่สามารถดำรงพันธุ์ได้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมากกว่า 1 องศา  นอกจากนี้สตีเวน วิลเลียม (Steven Williams) แห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุกยังพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ทำให้ปริมาณสารอาหารในพืชเกษตรลดน้อยลงอีกด้วย

                นักวิจัยแห่งศูนย์พยากรณ์และวิจัยภูมิอากาศแฮดลีย์จึงเห็นว่า มนุษย์ต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะลดภาวะโลกร้อน  ที่เป็นเช่นนี้เพราะก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถถูกกำจัดได้ในระยะเวลาอันสั้นและผลกระทบที่มนุษย์ได้รับในปัจจุบันมาจากการกระทำตั้งแต่ในสมัยก่อน  ดังนั้นหากมนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องการรักษาอุณหภูมิโลกไว้ให้ได้ พวกเขาจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้เหลือเพียงร้อยละ70 ของที่พวกเขาเคยปล่อยในช่วงปี 2533   ถึงกระนั้นก็ตามการปล่อยก๊าซด้วยอัตรานี้จะยังคงทำให้โลกมีคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 450 ส่วนต่อล้านส่วนของอากาศและจะทำให้อุณหภูมิคงที่ได้ในราวปี 2643 ซึ่งในช่วงเวลานั้นอุณหภูมิโลกยังจะสูงกว่าปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.1 องศาเซนติเกรด  สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ก็คือ โลกจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 550 ส่วนต่อล้านส่วนซึ่งเท่ากับสองเท่าของเมื่อเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม  เมื่อถึงเวลานั้นอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นถึง 3 องศาเลยทีเดียว

                ในสมัยโบราณเมื่อบรรยากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ยังคงสามารถอพยพไปยังส่วนอื่นของทวีปได้  แต่ในปัจจุบันจำนวนมนุษย์มีกว่า 6.3 พันล้านคนทำให้สิ่งมีชีวิตไม่มีที่หนีอีกต่อไปส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังคงดำรงอยู่ต้องมีชีวิตอยู่เฉพาะแต่ในอุทยานแห่งชาติหรือในป่าเท่านั้น  คริส โธมัส (Chris Thomas) แห่งมหาวิทยาลัยลีดได้พยากรณ์ชะตากรรมของสัตว์จำนวน 1,103 ชนิดจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกลงในนิตยสาร Nature เมื่อปี 2547 ไว้ว่า หากโลกร้อนขึ้น 0.8-1.7 องศา ร้อยละ 18 ของกลุ่มนี้จะสูญพันธุ์  หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 1.8-2.0 องศาสิ่งมีชีวิตราวร้อยละ 25 จะถูกทำลายล้าง  และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาสิ่งมีชีวิตกว่า 1 ใน 3 จะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน  การคาดการณ์นี้ยังให้โอกาสสัตว์อพยพ  แต่หากสัตว์ไม่สามารถอพยพได้เลย คาดว่าที่อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 2 องศา สัตว์กว่าร้อยละ 58 จะสูญพันธุ์   นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1 องศาทำให้กบสายพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 3 องศา สิ่งมีชีวิตอีกกว่า 65 ชนิดจะสูญพันธุ์ซึ่งจำนวนนี้เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาแห่งความเสียหายที่โผล่ออกมาให้เห็นเท่านั้น             อย่างไรก็ดีการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นก็มิได้ทำให้สัตว์สูญพันธุ์ไปแต่เพียงสถานเดียว  บางชนิดกลับเจริญเติบโตและสามารถแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น เชื้อมาลาเรีย    

                อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงจะส่งผลกระทบกับสัตว์บกเท่านั้น มันยังส่งผลกระทบกับสัตว์ในทะเลอีกด้วย  นักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นของระดับน้ำทะเลเป็น 3 ระดับตามอุณหภูมิที่แตกต่างกัน  ที่ระดับความลึก 100 เมตรแรก น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิแตกต่างกันมากหรือไม่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น ที่ขั้วโลกระดับน้ำทะเลจะมีอุณหภูมิประมาณ 0 องศา  แต่ที่เส้นศูนย์สูตรระดับเดียวกันนี้น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูงถึง 30 องศา  ส่วนที่ระดับระหว่าง 100-1000 เมตรจะเป็นรอยต่อ  และที่ระดับลึกกว่า 1 กิโลเมตรอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง -0.5 ถึง 4 องศาซึ่งน้ำที่ระดับความลึกนี้มักอยู่ที่มหาสมุทรแอนตาร์กติกา  

               โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกไม่สามารถขึ้นมามีชีวิตอยู่บนพื้นดินได้เพราะความดันที่แตกต่างกัน  แต่แท้จริงอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่างหากที่ทำให้สัตว์เหล่านั้นเสียชีวิต ทั้งนี้เพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์จับสัตว์จากใต้ทะเลลึกไปไว้ในน้ำทะเลที่เย็นจัด มันสามารถกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้นหากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นโอกาสที่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกจะตายลงก็มีมากขึ้นด้วย  นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าหากน้ำทะเลมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น สัตว์ทะเลจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่  ริชาร์ด ฟีลี (Richard Feely) แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมทางน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกพบว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้น้ำในมหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้นและมีคาร์บอเนตลดลงจนทำให้สัตว์ที่ต้องใช้สารชนิดนี้สร้างเปลือกไม่สามารถสร้างเปลือกได้  และสถานที่แรกที่มนุษย์จะได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกไม่สามารถสร้างเปลือกได้คือส่วนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เย็นจัด ทั้งนี้เพราะบริเวณนี้มีปริมาณสารคาร์บอเนตอยู่ต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ  อย่างไรก็ดี เขาคาดว่าเหตุการณ์ที่ว่านี้จะคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน  แต่หากมนุษย์ปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

                ดังนั้นมนุษย์จึงมีทางเลือกไม่มากนัก  ผู้เขียนคาดว่าหากมนุษย์ลงมือกระทำการเพื่อลดความร้อนของโลกลงเดี๋ยวนี้ พวกเขาน่าที่จะสามารถช่วยเหลือสัตว์ได้ถึง 2 ชนิดจากทุก ๆ หนึ่งชนิดที่จะสูญพันธุ์ไป  แต่หากมนุษย์ยังคงเพิกเฉย สิ่งมีชีวิตกว่า 3 ใน 5 ชนิดจะสูญพันธุ์ไปก่อนสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้อย่างแน่นอน

               คนทั่วไปมักคิดว่าอุณหภูมิของโลกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ  แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  นักวิทยาศาสตร์คาดว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกจะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบทันทีทันใดจากปัจจัย 3 อย่างคือ 1) การหยุดไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกชื่อ Gulf Stream 2) การตายลงของสิ่งมีชีวิตในป่าอาเมซอน และ 3) การปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นทะเล  ดังนั้นหากเหตุการณ์เป็นไปดังที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้ มนุษย์ก็จะทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปรากฏการณ์ทั้งสามเกิดได้รวดเร็วขึ้น อะไรคือสัญญาณบอกเหตุ และปรากฏการณ์ทั้งสามนี้จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร

                ปรากฏการณ์ที่ 1 การหยุดไหลเวียนของกระแสน้ำทะเล Gulf Stream ในปี 2546 แอนดรู มาร์แชล (Andrew Marshall) จากกระทรวงกลาโหมอเมริกัน ปีเตอร์ ชวอร์ทซ์ (Peter Schwartz) และ ดัก แรนดอลล์ (Doug Randall) จากบริษัท Emeryville ผู้ชำนาญการในการจำลองสถานการณ์ได้ร่วมกันเขียนรายงานส่งถึงองค์การความมั่นคงของสหรัฐฯ ว่า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงปี 2553  หลังจากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ จะเกิดจุดพลิกผันซึ่งอุณหภูมิโลกจะเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด  เมื่อเวลานั้นมาถึงความแห้งแล้งจะกระจายไปทั่วโลก  อุณหภูมิของออสเตรเลีย อเมริกาใต้และแอฟริกาใต้จะเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซนติเกรด  ส่วนอุณหภูมิของทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือจะเพิ่มขึ้นทันทีถึง 3 องศาส่งผลให้เกิดความอดอยาก  ผลผลิตทางด้านชีวภาพในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือจะลดลงถึงร้อยละ 50 และผลผลิตจากมหาสมุทรทั้งหมดก็จะลดลงถึงร้อยละ 20  เหตุการณ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้คนอพยพลี้ภัยกันขนานใหญ่จนอาจทำให้เกิดสงครามเพื่อปกป้องหรือแย่งชิงทรัพยากร

                ผู้เขียนคาดว่าการหยุดไหลเวียนของกระแสน้ำทะเล Gulf Stream น่าจะเกิดขึ้นในปี 2623 มากกว่า ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลานั้นกรีนแลนด์จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 4 องศาเซนติเกรดซึ่งจะทำให้น้ำแข็งในบริเวณนั้นละลายลงจนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 5 เซนติเมตรยังผลให้กระแสน้ำนั้นหยุดไหลเวียน

                ปรากฏการณ์ที่ 2 การตายลงของสิ่งมีชีวิตในป่าดงดิบอาเมซอน  ในปี 2533 นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์แฮดลีย์ได้สร้างแบบจำลองที่ใช้วงจรคาร์บอนและพืชเพื่อทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับป่าอาเมซอน  พวกเขาพบว่าคาร์บอนในดินเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ตามปกติการถ่ายเทของคาร์บอนในดินและในอากาศจะค่อนข้างสมดุล  แต่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของดินเพียงเล็กน้อยจะทำให้ดินเปลี่ยนหน้าที่จากการดูดซับคาร์บอนไปเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศเพราะแบคทีเรียจะทำงานเพิ่มขึ้น  และเมื่อปริมาณคาร์บอนในอากาศเพิ่มขึ้น พืชก็จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป  ธรรมชาติของพืชนั้นมักไม่ค่อยยอมสูญเสียน้ำ  แต่มันต้องยอมสูญเสียน้ำเมื่อมันเปิดรูหายใจเพื่อดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใช้ในการผลิตสารอาหาร  การที่โลกมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากจนทำให้พืชไม่จำเป็นต้องเปิดรูดังกล่าวนั้นนานเพื่อให้มันรับก๊าซนี้อย่างเพียงพอจะทำให้น้ำระเหยออกมาลดลง  ผลก็คืออากาศจะมีปริมาณน้ำไม่มากพอที่รวมตัวกันให้ตกลงมาเป็นฝนยังผลให้เกิดความแห้งแล้งตามมา

             แบบจำลองนี้ชี้ว่า ราวปี 2643 ระดับคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ป่าดงดิบในอาเมซอนมีฝนตกลดลงจนสภาพป่าดิบชื้นหมดไป  ดินจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและถูกย่อยสลายมากขึ้นจนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น  นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เมื่อถึงตอนนั้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ส่วนต่อล้านส่วนของอากาศซึ่งมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 710 ส่วนต่อล้านส่วน และอุณหภูมิโลกก็น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10 องศาเซนติเกรดแทนที่จะเป็น 5.5 องศาอย่างที่เคยคาดกันไว้  ฝนจะตกน้อยลงถึงร้อยละ 64  อย่างไรก็ตามผู้เขียนกลับคาดว่าปรากฏการณ์ดังแบบจำลองนี้น่าจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2583 และจะเกิดจนครบถ้วนเมื่อสิ้นปี 2643

                ปรากฏการณ์ที่ 3 ก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมาจากพื้นทะเล  ธรรมชาติของมีเทนจะเป็นของแข็งได้ต้องจับกับน้ำภายใต้ความดันสูงและอุณหภูมิที่ต่ำ  มีเทนจึงจับกับน้ำแข็งและฝังตัวอยู่ใต้ทะเลที่ระดับความลึก 400 เมตร ณ อุณหภูมิ 1-2 องศาเซนติเกรด  มีเทนในสภาพของแข็งนี้เป็นแหล่งอาหารของไส้เดือนตามพื้นทะเลลึก  เมื่อความดันลดลงและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นก๊าซมีเทนจะถูกปล่อยออกมายังผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ตัวอย่างมีให้เห็นจากประวัติศาสตร์เมื่อ 245 ล้านปีก่อนในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Permo-Triassic  นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟทำให้ก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากและทำให้สิ่งมีชีวิตถึง 9 ใน 10 ที่มีอยู่บนโลกในขณะนั้นสูญพันธุ์ไป

                จากสถานการณ์จำลองทั้ง 3 ข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เลวร้ายที่สุดน่าจะเป็นการหยุดไหลเวียนของกระแสน้ำทะเล Gulf Stream  แต่มนุษย์ยังน่าที่จะหยุดยั้งการเกิดของปรากฏการณ์ทั้งสามได้หากพวกเขาเริ่มลดระดับความร้อนให้กับโลกตั้งแต่บัดนี้  หากมนุษย์ปล่อยให้สถานการณ์จำลองทั้งสามเริ่มต้นขึ้นก็ยากที่จะหยุดยั้งเฉกเช่นลูกกระสุนที่ออกจากปืนย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดยั้ง

                ในปัจจุบันสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่มักอยู่ในเมืองจึงมีการแบ่งงานกันทำอย่างถาวร  คนต่างอาชีพกันมักไม่สามารถทำงานอื่นได้  คุณสมบัติของคนเมืองจึงแตกต่างจากคนชนบทอย่างสิ้นเชิง  ชีวิตของคนเมืองมีสภาพเหมือนต้นไม้มากกว่าสัตว์เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายที่ได้  ทั้งนี้เพราะคนเมืองต้องพึ่งพาอาศัยกันในการจัดหาน้ำ อาหารและพลังงาน  สัตว์หลากหลายชนิดในป่าดิบชื้นก็อยู่ในสภาพคล้ายสังคมมนุษย์เช่นกัน  เมื่อป่าดิบชื้นขาดน้ำและแสงแดด สิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้จึงสูญพันธุ์ไป  ปรากฏการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้วที่คอสตาริกาและปาปัวนิวกีนี และกำลังจะเกิดขึ้นในป่าแห่งอื่น ๆ ของโลกด้วย เช่น ป่าอาเมซอน  หลักฐานทางประวัติศาสตร์จากหนังสือชื่อ Collapse ของ Jared Diamond บ่งว่า การลดน้อยถอยลงของทรัพยากรเป็นเหตุที่ทำให้อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เช่นมายาสิ้นสุดลง  นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มกังวลว่า เมื่อบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงสามารถทำให้สังคมของสัตว์พังทลายลงได้ อารยธรรมของมนุษย์ก็มีโอกาสที่จะพังทลายเช่นเดียวกัน

           ในปัจจุบัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้ชาวเมืองเพิร์ทและซิดนีย์ของออสเตรเลียเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานกันบ้างแล้ว  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อประชาชนต้องเผชิญกับความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชผลทางการเกษตร เช่น คนขายรถไถต้องปิดกิจการลง  ส่วนคนอาชีพอื่น เช่น เภสัชกร นายธนาคารก็ถูกบีบบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องจากเศรษฐานะตกต่ำ  และแม้ว่าความแห้งแล้งจะหมดไป แต่คนที่ย้ายถิ่นฐานไปแล้วก็จะไม่หวนกลับมาอีกส่งผลให้ผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ที่เดิมต้องอยู่กันอย่างยากลำบากมากขึ้นเพราะต้องเดินทางไกลไปหาซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ  ในที่สุดทุกคนจำต้องย้ายถิ่นฐานออกไป  นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง  อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังคงแย้งว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของประเทศร่ำรวยเพื่อลดความร้อนให้กับโลกเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มค่า 

               ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังคงไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า อุณหภูมิที่เท่าใดกันแน่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอารยธรรมโลก แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอุณหภูมิใดก็ตามที่ทำให้ความสามารถในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการมีชีวิตของมนุษย์สิ้นสุดลง จุดนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของอารยธรรมของมนุษย์  ดังนั้นมนุษย์จึงอาจมีเวลาไม่มากนักที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งนี้เพราะความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ในปัจจุบันเร็วกว่าในอดีตถึง 30 เท่าแล้ว

                 ในภาค 4 ผู้เขียนพูดถึงชาวโลกในเรือนกระจก  ปี 2540 เป็นปีที่พิธีสารเกียวโตได้ถือกำเนิดขึ้นจากความเห็นพ้องต้องกันของประเทศพัฒนาแล้ว  พิธีสารนี้มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยป้องกันมิให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปอีก  วิธีดำเนินการตามพิธีสารนี้ก็คือ ประเทศที่ลงนามจะร่วมกันจัดตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นโดยให้ชื่อว่า คาร์บอนดอลลาร์ โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับส่วนแบ่งสกุลเงินนี้  อุตสาหกรรมที่มีปริมาณคาร์บอนเหลือใช้จากโควตาสามารถที่จะนำมาขายให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่รับมา  อย่างไรก็ดีผู้เขียนกลับเห็นว่าการลดการปล่อยก๊าซตามพิธีสารนี้คงได้ประโยชน์น้อย ทั้งนี้เพราะค่าที่แต่ละอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้ปล่อยก๊าซใช้ตัวเลขพื้นฐานของปี 2533  แต่หลังปีนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจของยุโรปตะวันออกถดถอยมากเสียจนกระทั่งปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาลดลงถึงร้อยละ 25   ดังนั้นปริมาณคาร์บอนที่ซื้อขายกันในตลาดจึงมีจำนวนมากเสียจนกระทั่งมันมีราคาถูกยังผลให้ความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมมิได้ลดลงแต่อย่างใด

                แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะลงนามในพิธีสารเกียวโต แต่ออสเตรเลียซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนมากที่สุดในโลกกลับไม่ยอมลงนามด้วย  รัฐบาลออสเตรเลียอ้างว่าหากออสเตรเลียต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต รายได้ประชาชาติจะลดลงถึงหนึ่งในสี่ซึ่งรัฐบาลรับไม่ได้  จอห์น ควิกกิน (John Quiggin) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลียแย้งว่าตัวเลขที่รัฐบาลอ้างนั้นเป็นตัวเลขที่ถูกบิดเบือน ทั้งนี้เพราะออสเตรเลียสามารถที่จะลดการใช้พลังงานลงจนถึงเกณฑ์ของสนธิสัญญาได้โดยไม่สร้างความเสียหายใด ๆ เลย  นอกจากนี้ออสเตรเลียยังมียูเรเนียมมากถึงร้อยละ 28 ของโลกจึงเท่ากับว่าออสเตรเลียสามารถที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ได้อย่างสบาย ๆ อีกทั้งประเทศนี้ยังมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะตั้งกังหันลมเพื่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ด้วย  การที่ออสเตรเลียเลือกสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากถึงร้อยละ 90 จึงเป็นผลจากการเลือกโดยความจงใจ มิใช่ถูกจำกัดด้วยด้านกายภาพหรือทรัพยากร

                นอกจากออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯ ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมากและไม่ร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโตเช่นกัน  วิลเลียม แลช คำนวณว่าการลงสัตยาบันจะทำให้อัตราการขยายตัวของค่าจ้างแรงงานลดลงถึงร้อยละ 5-10 ต้นทุนพลังงานเพิ่มถึงร้อยละ 86 รายได้ของชาวอเมริกันลดครอบครัวละ 2,700 เหรียญต่อปี และต้นทุนในการผลิตพืชผลทางเกษตรเพิ่มขึ้นหนึ่งถึงสองหมื่นล้านเหรียญต่อปี  แต่อีบัน กูดสไตน์ (Eban Goodstein) กลับพบว่าการคำนวณทั้งหมดที่แลชอ้างถึงได้ถูกทำให้สูงเกินกว่าเหตุ  ถึงกระนั้นก็ตามในเดือนกรกฎาคม ปี 2540  สภาสูงของสหรัฐฯ ยังคงยืนยันเป็นเอกฉันท์ที่จะไม่เซ็นสนธิสัญญาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกโดยไม่มีประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะพิธีสารเกียวโตยกเว้นประเทศกำลังพัฒนาจากการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งที่ประเทศเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นเช่นเดียวกัน 

                แม้ว่าสหรัฐฯ และออสเตรเลียจะปฏิเสธที่จะลงนามในพิธีสารเกียวโต แต่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้รับความเสียหายจากก๊าซเรือนกระจก  บันทึกจากศูนย์ข้อมูลทางบรรยากาศชี้ว่า ระหว่างปี 2541-2545  มีเหตุการณ์รุนแรงในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากภาวะโรคร้อนถึง 17  ครั้งส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลล่าร์  พอล เอพสไตน์ (Paul Epstein) แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดเห็นว่าในปี 2541 อันเป็นปีที่เกิดเอลนิลโญเพียงปีเดียวความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์นี้มากถึงแปดหมื่นเก้าพันล้านเหรียญ ทำให้คนกว่า 300 ล้านคนไม่มีบ้านอยู่และมีคนตายถึง 32,000 คน  นอกจากนี้ข้อมูลจากบริษัทประกันภัยยังบ่งว่านับจากทศวรรษที่เริ่มเมื่อปี 2518 เป็นต้นมาบริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึงปีละ 10% จนเป็นหนึ่งแสนล้านเหรียญแล้วในปี 2542 และบริษัทต่าง ๆ ยังคาดว่าในปี 2608  ค่าใช้จ่ายนี้จะเพิ่มขึ้นจนเท่ากับความสามารถในการผลิตของมนุษย์หรือรายได้ประชาชาติทั่วโลกรวมกันเลยทีเดียว

                คริสโตเฟอร์ วอลเกอร์ (Christopher Walker) ผู้อำนวยการของบริษัทประกันภัย Swiss Re กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และรัฐต้องเป็นหัวขบวนในการแก้ไขปัญหาเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา  ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ประชาชนส่วนหนึ่งยังถูกหลอกโดยผู้ที่ไม่ประสงค์จะลดการปล่อยก๊าซนี้ด้วยคำลวงที่ว่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะการได้อยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่นย่อมดีกว่าการมีชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่หนาวเหน็บ

                คณะทำงานในรัฐบาลสมัยที่ 2 ของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช รวมทั้งผู้สนับสนุนเขาล้วนเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะคนกลุ่มนี้เคยทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานมาก่อน  พวกเขาพยายามใช้อิทธิพลต่อต้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือหาพลังงานทดแทนเพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้สินค้าของบริษัทของพวกเขามีมูลค่าลดลงซึ่งเท่ากับเป็นการคุกคามความมั่งคั่งของบริษัท  คนกลุ่มนี้พยายามหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ผ่านทางสื่อ เช่น รองประธานบริษัทผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดบอกชาวโลกว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้กับโลกซึ่งจะเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรได้ถึงร้อยละ 30-60 

                 ส่วนผู้ที่ควรได้รับเครดิตในการชักจูงให้ผู้บริหารประเทศเห็นความสำคัญของปัญหานี้คือ เจมส์ ลัฟลอกค์ ผู้เสนอทฤษฎีกายา  เขาสามารถโน้มน้าวให้นายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธ็ตเชอร์เห็นความสำคัญของปัญหานี้จนอังกฤษสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงร้อยละ 14  และนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ซึ่งเข้าบริหารประเทศต่อมาก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เช่นกัน  แบลร์เชื่อว่าอังกฤษยังสามารถที่จะขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 36 ในขณะที่ลดการปลดปล่อยก๊าซนี้ลงถึงร้อยละ 15  

                 การปลูกป่าอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ  บริษัทบีพี ยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของอังกฤษจึงสนับสนุนให้มีการปลูกต้นสนถึง 25,000 เฮกเตอร์ในออสเตรเลียตะวันตก  แต่ผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ทั้งนี้เพราะปริมาณคาร์บอนที่สะสมในดินมิได้มีชีวิตยืนยาวเช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตขึ้นจากการเผาไหม้ถ่านหิน  การปลูกป่าเช่นนั้นจึงเป็นเสมือนกับการนำพิมเสนไปแลกกับเกลือซึ่งย่อมไม่คุ้มค่า

                จอห์น บอกคริส (John Bockris) นักเคมีไฟฟ้าชาวออสเตรเลียเห็นว่าไฮโดรเจนน่าจะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้เพราะสารที่ได้จากการเผาไหม้ไฮโดรเจนมิใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  อย่างไรก็ดีการเกิดเศรษฐกิจไฮโดรเจนคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะ 1) การผลิตไฮโดรเจนต้องใช้ทองคำขาวซึ่งมีราคาแพงจึงมีต้นทุนสูง 2) การผลิตเพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติ ประสิทธิภาพของพลังงานจึงเหลือเพียงร้อยละ 35-40 เท่านั้น 3)  ถังเก็บก๊าซไฮโดรเจนก็ต้องมีขนาดใหญ่กว่าถังน้ำมันธรรมดาถึง 10 เท่า และก๊าซนี้ยังรั่วออกจากถังถึงอย่างน้อยร้อยละ 4 ทุก ๆ วัน 4) การสร้างปั้มและท่อต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง  ดังนั้น การใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์จึงไม่น่าจะเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อน  ตามทฤษฏีแล้วก๊าซชนิดนี้น่าที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าตามบ้านได้ แต่ราคาของกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้ยังมีราคาแพงเพราะต้นทุนในการทำให้มันบริสุทธิ์และนำมาใช้การได้ยังคงมีราคาสูง  นอกจากนี้สารที่ถูกเผาไหม้จากไฮโดรเจนยังปราศจากกลิ่นและควัน อีกทั้งตัวมันยังรั่วจากถังและติดไฟง่าย มันจึงไม่เหมาะกับการใช้ในครัวเรือนเพราะอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

             ภาค 5 เป็นคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา  ข้อถกเถียงหนึ่งที่เกิดขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนคือ มนุษย์ควรเปลี่ยนพลังงานของการขนส่งหรือแหล่งกำเนิดไฟฟ้ากันแน่ทั้งที่ควรจะเปลี่ยนทั้งสองอย่างหากมีเวลามากพอ  แต่เนื่องจากเวลามีน้อย ผู้เขียนจึงแนะนำว่า มนุษย์ควรเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าก่อน  ชาวเดนมาร์กเลือกพลังงานจากลมเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้ามานานแล้วแม้ว่าในช่วงแรกที่พวกเขาเริ่มใช้ไฟฟ้าพลังลมมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานจากฟอสซิลก็ตาม  ในปัจจุบันเดนมาร์กได้กลายเป็นผู้นำในการผลิตกังหันลมและใช้โรงไฟฟ้าพลังลมถึงร้อยละ 21 ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ  ไฟฟ้าพลังลมทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมของเดนมาร์กต่ำกว่าประเทศอื่น จึงทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ต่อปี  อย่างไรก็ดี ปัญหาของพลังงานจากลมคือ 1) ลมมิได้พัดตลอดเวลา 2) กังหันลมอาจฆ่านกจำนวนมาก และ 3) กังหันลมทำลายทัศนียภาพในสายตาของบางคน 

                 พลังงานอีกชนิดหนึ่งที่น่าจะเป็นทางเลือกคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์  พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นที่นิยมคือชนิดที่เรียกว่า solar thermal devices ซึ่งสามารถใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปได้  ส่วนชนิด photovoltaic cells มักถูกนำมาใช้เมื่อมีความต้องการพลังงานมากเกินปกติเป็นครั้งคราวเท่านั้น    

                พลังงานสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ พลังงานนิวเคลียร์  ผู้ที่กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งคือ เจมส์ ลัฟลอกค์ ผู้ตั้งทฤษฎี กายา  เขาให้ความเห็นไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ว่า ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทางแก้ไขที่เป็นไปได้ก็คือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์  แต่ข้อเสนอของเขาถูกคัดค้านจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก  อย่างไรก็ดีหลายประเทศได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ มานานแล้ว เช่น ฝรั่งเศสใช้นิวเคลียร์ถึงร้อยละ 80 ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด  สวีเดนและอังกฤษก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานนี้ถึงร้อยละ 50 และ 25  ตามลำดับ  กระนั้นก็ตามในปัจจุบันไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกกลับเป็นเพียงร้อยละ 18 องการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่มันเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย  แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีข้อเสียหลายอย่าง 1) ต้องสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดใหญ่จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงถึงโรงละ 2 พันล้านเหรียญ และใช้เวลายาวนานในการขออนุญาตและก่อสร้าง 2) ปัญหาเรื่องความปลอดภัยและของเสีย 3) โลกมียูเรเนียมจำกัด  หากทุกประเทศสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้ ยูเรเนียมจะมีไม่เพียงพอ  อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบปฏิกรณ์ชนิดใหม่แล้วชื่อว่า pebble bed reactors ซึ่งใช้ยูเรเนียมน้อยกว่าและใช้ได้เฉพาะในโรงงานขนาดเล็กเท่านั้น 

                พลังงานจากความร้อนใต้ผิวโลกก็อาจใช้เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าได้  ในอดีตความร้อนชนิดนี้มักได้มาจากภูเขาไฟ  แต่ในปัจจุบันออสเตรเลียสามารถจะหาพลังงานประเภทนี้ได้โดยขุดลงไปลึก 4 กิโลเมตรซึ่งจะพบหินแกรนิตที่ร้อนราว 250 องศาเซนติเกรด  ความร้อนนี้ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการกัมมันตภาพรังสีของหินแกรนิตซึ่งถูกอาบอยู่ในน้ำร้อนภายใต้ความดันสูง มันจึงไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหินประเภทนี้จะสามารถเป็นแหล่งพลังงานให้กับออสเตรเลียได้นานถึง 75 ปี

                นอกจากโรงไฟฟ้าแล้ว ยานพาหนะก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบริษัทรถยักษ์ใหญ่ในค่ายญี่ปุ่นทั้งโตโยต้าและฮอนด้าต่างก็สามารถผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์ผสมระหว่างไฟฟ้ากับน้ำมันได้แล้ว  มันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงร้อยละ 70  ส่วนบริษัทในค่ายยุโรปซึ่งมีสัญชาติลักเซมเบอร์กก็สามารถผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซที่อัดไว้ใต้ความดันสูงที่เรียกว่า MiniCAT ได้แล้ว  รถชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะมีสมรรถนะสูงเท่านั้น มันยังประหยัดน้ำมันได้อีกด้วย  แต่รถเหล่านี้ยังมีราคาแพง

                ส่วนเครื่องบินยังคงเป็นยานพาหนะที่ยังไม่สามารถหาพลังงานทดแทนที่ปราศจากคาร์บอนหรือประหยัดพลังงานได้  ซ้ำร้ายสถิติยังบ่งว่า ในปี 2535 เพียงปีเดียว เครื่องบินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสหรัฐฯ มากถึงร้อยละ 2 ซึ่งในขณะนั้นชาวอเมริกันยังใช้เครื่องบินเป็นยานพานะในการเดินทางเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น  หากระหว่างปี 2540-2560 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเดินทางโดยทางอากาศของชาวอเมริกันจะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซ้ำร้ายเครื่องบินยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ซึ่งทำลายโอโซนของชั้น Stratosphere จึงยิ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปอีก

                แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีอารยธรรมของชนชาติใดต้องล่มสลายลงจากภาวะโลกร้อน  แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าไม่มีชนชาติใดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  ชนชาติแรกที่อาจต้องย้ายที่อยู่โดยที่พวกเขาก็ยังไม่ทราบว่าจะย้ายไปที่ใดคือ ชาวเอสกิโมกลุ่มหนึ่งในรัฐอาลาสกาเพราะบริเวณที่อยู่อาศัยของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถดำรงชีวิตได้อีกต่อไป  แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีเพียง 600 คนแต่พวกเขาก็อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมากว่า 4 พันปีแล้วและการย้ายออกไปของพวกเขาหมายถึงการสิ้นสุดของอารยธรรมหนึ่งนั่นเอง 

                 ชนกลุ่มต่อไปที่กำลังจะสูญเสียความเป็นชาติคือ หมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพราะพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยปะการังของพวกเขากำลังถูกทำลายจากออสเตรเลียซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนมากที่สุดในโลก  ดร. ไบรอัน ฟิสเชอร์ ( Dr.Brian Fisher) หัวหน้าที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวในการประชุมที่นครลอนดอนว่า การเคลื่อนย้ายผู้คนจากเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกยังเป็นการแก้ไขที่ทำให้เกิดประสิทธิผลมากกว่าการที่จะให้อุตสาหกรรมของออสเตรเลียลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้เพราะนักเศรษฐศาสตร์ตีมูลค่าคนจนเพียง 1 ใน 15  ของคนร่ำรวยเท่านั้น  คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจของนักการเมืองชาวออสเตรเลียที่มีต่อเพื่อนบ้าน  แม้ว่าโลกร้อนอาจทำให้หลายประเทศเสียประโยชน์ไปมากมาย แต่ก็ยังมีบางประเทศกลับได้รับผลดี นั่นคือ แคนาดาและรัสเซีย  นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ทั้งสองประเทศน่าจะมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 เลยทีเดียว

                ออเบรย์ ไมเออร์ (Aubrey Meyer) นักการเมืองของสหราชอาณาจักรได้เสนอวิธีที่เรียกว่า Contraction and Convergence เพื่อลดปัญหาโลกร้อน  วิธีการนี้คล้ายกับพิธีสารเกียวโต แต่มีรายละเอียดมากกว่าเพราะการให้สิทธิในการก่อมลพิษแบ่งย่อยถึงระดับประชาชน  ข้อมูลบ่งว่าชาวอเมริกันเป็นชนชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนมากกว่าชาวยุโรปถึง 3 เท่าและมากกว่าประชาชนของประเทศด้อยพัฒนากว่าร้อยเท่า  ตามแนวคิดนี้คนรวยจะต้องซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซจากคนจนจึงเท่ากับเป็นการกระจายรายได้ไปในตัว  แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ประเทศยากจนซึ่งมีจำนวนประชากรน้อยไม่ยอมคุมกำเนิดเพื่อต้องการส่วนแบ่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

                ผู้เขียนสรุปว่า วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่ง่ายที่สุดคือ การเริ่มต้นที่ตัวเราแต่ละคนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพียงเล็กน้อยเพราะมันจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น 1) เสาะหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด 2) ซื้ออุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าหรือต้มน้ำ 3) ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้ประสิทธิผลสูงและขนาดพอเหมาะกับความต้องการใช้สอย 4) ใช้รถที่ใช้พลังงานผสมหรือรถขนาดเล็ก

               ข้อคิดเห็น ข้อมูลทั้งหมดจากหนังสือเล่มนี้มุ่งไปที่การชี้ให้เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์นี่เอง และหากมนุษย์ไม่ลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งทันที เมื่อมหันตภัยเริ่มก่อตัวขึ้นก็ยากที่จะหยุดยั้งเฉกเช่นสึนามิที่ได้กวาดล้างบ้านเรือนและชีวิตคนไปเมื่อปลายปี 2548   การปฏิเสธการรับรู้และหลีกเลี่ยงการลงมือกระทำการเพื่อลดปัญหาคงไม่น่าที่จะเป็นกลยุทธ์ที่รัฐและประชาชนเลือกใช้    

Rating: 4 stars

Tags: , , , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.