(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)
ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่รู้จักโรคหอบและโรคภูมิแพ้เป็นอย่างดี แต่คงมีน้อยคนที่จะรู้ประวัติความเป็นมาของโรคทั้งสองอย่างละเอียด Gregg Mitman ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เป็นโรคหอบมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงสนใจศึกษาประวัติของโรคทั้งสองอย่างจริงจังและเขียนหนังสือชื่อ Breathing Space : How Allergies Shape Our Lives and Landscapes ขึ้นเมื่อตอนกลางปี 2550 หนังสือขนาด 330 หน้าเล่มนี้เป็นผลของงานวิจัยที่เขาต้องการทำให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้าง ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างโรคและสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ผู้เขียนนำเข้าประเด็นด้วยการพูดถึงโรคไข้ละอองฟาง (Hay Fever) ซึ่งมีอาการคล้ายหวัดและถูกพบครั้งแรกในกลุ่มแพทย์และพระที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2362 มันจึงได้รับสมญาว่าเป็นโรคของชนชั้นสูง แพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุของโรคมาจากการที่ผู้ป่วยย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเมืองทำให้พวกเขาห่างไกลจากเกสรดอกไม้ยังผลให้ภูมิต้านทานต่อสารในเกสรลดลง การได้สัมผัสกับเกสรดอกไม้อีกครั้งหนึ่งจึงทำให้ร่างกายของคนกลุ่มดังกล่าวมีปฏิกิริยาออกมาในรูปของอาการคล้ายโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา น้ำตาไหล จาม เจ็บคอและอ่อนเพลีย
ส่วนการพบไข้ละอองฟางในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นเมื่อปี 2423 แพทย์ชาวอเมริกันคิดว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อย่างเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมหรือสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม ส่วนวิธีรักษามีอยู่ทางเดียวคือการหนีไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีฐานะดีเท่านั้นจึงมีโอกาสรักษา ผู้ป่วยด้วยโรคไข้ละอองฟางมักหลั่งไหลไปที่ย่านภูเขาที่มีอากาศบริสุทธิ์ชื่อ White Mountains และหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อเบทเลเฮม ในมลรัฐนิวแฮมเชียร์ จนทำให้สถานที่นั้นเต็มไปด้วยชนชั้นสูงของสังคมส่งผลให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเบทเลเฮมกลายเป็นที่ก่อตั้งสมาคมโรคละอองฟางของอเมริกา
ต่อมาสภาพแวดล้อมของเบทเลเฮมเริ่มเปลี่ยนไปเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝุ่นผงจากรถไฟที่พาคนเข้าไปในเมือง อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจนทำให้เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น และจำนวนสารก่อภูมิแพ้ที่มีมากจากพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะวัชพืชชื่อ Ragweed (Ambrosia artemisiifolia) เบทเลเฮมจึงเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยไม่ได้อีกต่อไป แต่กลับทำให้พวกเขาได้รับความทุกข์ทรมานแทน เมื่ออเมริกาพัฒนามากขึ้นไข้ละอองฟางก็แพร่กระจายออกไปจนทั่วทวีปและเมื่อชาวอเมริกันมีรถยนต์ใช้อย่างทั่วถึง พวกเขาสามารถเดินทางไปพักผ่อนในสถานที่ซึ่งปราศจากสารที่ทำให้เกิดไข้ละอองฟางได้ยังผลให้การหนีไข้ละอองฟางไม่จำกัดอยู่ในหมู่ของชนชั้นสูงเท่านั้น
ในปี 2449 ได้มีผู้บัญญัติคำว่าโรคภูมิแพ้ขึ้น โรคนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในปีเดียวกันนั้นแพทย์ชาวเยอรมันพบว่าละอองเกสรดอกไม้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะเขาสามารถทำให้ผู้ป่วยไข้ละอองฟางเกิดอาการของโรคได้ด้วยการหยดสารละลายของเกสรดอกไม้ลงบนตาของผู้ป่วย สี่ปีต่อมาหัวหน้าหน่วยสรีรวิทยาและเภสัชวิทยาแห่งสถาบันรอกกี้เฟลเลอร์ที่กรุงนิวยอร์กก็พบว่าเมื่อหนูถูกทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง มันจะมีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคหอบ ในราวปี 2463 แพทย์จึงสรุปว่าโรคไข้ละอองฟางและโรคหอบอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้เช่นเดียวกัน และสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติเป็นศัตรูที่สำคัญที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะต้องเอาชนะให้ได้
แพทย์ชาวเยอรมันชื่อ William Dunbar เป็นผู้ค้นพบว่า โรคไข้ละอองฟางเกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนที่ถูกผลิตออกมาจากละอองเกสรดอกไม้ และเป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีรักษาโรคไข้ละอองฟางโดยใช้เซรุ่มต่อต้านสารพิษ เขาและบริษัทชิมเมลจึงได้ร่วมกันผลิตยาที่มีสารชื่อว่า Pollantin ขึ้นเพื่อบรรเทาอาการ สารชนิดนี้ได้จากเซรุ่มที่ได้มีการฉีดละอองเกสรดอกไม้เข้าไปและมีทั้งแบบน้ำ ขี้ผึ้งและผงซึ่งใช้ได้กับเยื่อบุตาและจมูก หลังจากนั้นบริษัทยาต่าง ๆ ก็ผลิตสารที่ใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ออกมาวางขาย
เมื่อแพทย์สามารถชี้ได้แน่นอนว่าวัชพืช Ragweed มีสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ การศึกษาเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น นักพฤกษศาสตร์พบว่ามันมักเจริญงอกงามในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนตามสถานที่กำจัดของเสียหรือสลัมตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ อันเป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติอพยพ แพทย์อเมริกันชื่อ William Scheppegrell ผู้ก่อตั้งคลินิกโรคภูมิแพ้คนแรกของสหรัฐฯ เชื่อว่าหากแพทย์ให้ความสนใจกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย รวมทั้งการกำจัดวัชพืชด้วยแล้ว เขาจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ถึงร้อยละ 50 การรณรงค์ป้องกันโรคไข้ละอองฟางครั้งแรกด้วยการกำจัดวัชพืชจึงเกิดขึ้นในเมืองนิวออร์ลีนส์ อย่างไรก็ตามมีนักวิทยาศาสตร์บางคนแย้งว่าโรคไข้ละอองฟางเป็นผลของการทำลายและการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้องของมนุษย์ เช่น การทำลายดิน การถอนวัชพืชออกรังแต่จะทำให้สภาพดินเหมาะสมกับการเกิดใหม่ของวัชพืชเพิ่มขึ้น การปลูกพืชอื่นที่มีคุณเพื่อกำจัดวัชพืชจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ป่วยไข้ละอองฟางหายจากโรคได้
แนวคิดนี้มีผลให้นายกเทศมนตรีเมืองดีทรอยต์ยกพื้นที่รกร้างของเทศบาลที่เต็มไปด้วยวัชพืชให้เป็นที่ทำสวนครัวของคนยากจน ชาวบ้าน 945 ครอบครัวจึงเปลี่ยนพื้นที่ 430 เอเคอร์ให้กลายเป็นที่ปลูกมันฝรั่ง ถั่ว ข้าวโพดและมะเขือเทศ นักปฏิรูปเห็นว่าการทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจไปในตัวด้วย ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมืองนิวยอร์กจึงได้จ้างชาวบ้านที่ตกงานให้กำจัดวัชพืชออกไปจากเนื้อที่ถึงกว่า 130 ล้านตารางฟุตซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวบ้านที่ตกงานมีงานทำแล้วยังเท่ากับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ละอองฟางไปในตัวด้วย ต่อมามีผู้เสนอว่าว่าความพยายามของทางการจะเสียเปล่า หากรัฐไม่มีกฎหมายกำจัดวัชพืชอย่างจริงจังทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะวัชพืชสามารถแพร่ไปในต่างรัฐได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นในปี 2458 รัฐบาลจึงออกกฎหมายกำหนดให้กรมทางหลวงรับผิดชอบในการกำจัดวัชพืชฤดูกาลละสองครั้ง ส่วนเจ้าของบ้านในเมืองก็มีหน้าที่กำจัดวัชพืชในพื้นที่ของตนเช่นกัน และในปีต่อมารัฐนิวยอร์กได้ออกกฎหมายเพิ่มโทษปรับเจ้าของบ้านที่ละเลยไม่กำจัดวัชพืชที่ก่อให้เกิดโรคไข้ละอองฟางด้วย
เมื่อยากำจัดวัชพืช “2,4-D” ถูกผลิตขึ้นมา การกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีชนิดนี้จึงเกิดขึ้นทั่วทุกเมือง แต่ภายหลังนักวิทยาศาสตร์พบว่าสารเคมีตัวนี้กลับสร้างปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้เพราะมันเป็นพิษ ชาวอเมริกันตื่นตัวเกี่ยวกับพิษของสารเคมีเพิ่มขึ้นเมื่อหนังสือชื่อ Silent Spring ของ Rachel Carson ออกวางจำหน่ายในปี 2505 การศึกษาที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นำมาเสนอสรุปว่า การกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการควบคุมธรรมชาติเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะวิธีที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขและวิศวกรทางด้านสุขาภิบาลเลือกใช้ในการแก้ปัญหาเป็นการมองเฉพาะแต่ปัญหาของตัวเอง มิได้มองภาพรวม มันจึงทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมา หนังสือเล่มนี้ถือเป็นเล่มแรกที่กล่าวถึงโทษของสารเคมี มันมีบทบาทสำคัญในการชักนำให้รัฐบาลและประชาชนมองความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีและธรรมชาติด้วยมุมมองใหม่
ในปี 2466 ประธานสมาคมแพทย์โรคภูมิแพ้ของสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่นชื่อ Oren Durham ให้เก็บตัวอย่างละอองเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เขาจึงกลายเป็นผู้จัดทำแผนที่ละอองเกสรดอกไม้แห่งชาติ แผนที่ชนิดนี้เป็นประโยชน์กับบริษัทยาในการผลิตสารสกัดจากละอองเกสรเพื่อใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนเป็นถึงร้อยละ 1.5-3 ของชาวอเมริกัน ต่อมาในปี 2479 The New York World-Telegram เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่นำเสนอการนับจำนวนละอองเกสรดอกไม้ประจำวันในรายการพยากรณ์อากาศ และการกระทำเช่นนั้นได้กลายเป็นมาตรฐานการนำเสนอข่าวมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกที่มีการพบโรคหอบและโรคไข้ละอองฟางนั้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยย้ายไปยังบริเวณที่มีอากาศแห้งหรือบนภูเขา เช่น เมืองทูซอนในรัฐอาริโซน่า และเมืองเดนเวอร์ในรัฐโคโลราโด จำนวนประชากรของเมืองเดนเวอร์จึงหนาแน่นขึ้นจนทำให้อากาศมีมลพิษเพิ่มขึ้น ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สภาพแวดล้อมของเมืองนั้นเลวร้ายลงไปอีกเมื่อบริษัทรถไฟวางรางรถไฟเข้าไปในเมือง แต่นักการเมืองและนักการเงินยังคงพยายามที่จะส่งเสริมการขายธรรมชาติของเมืองเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วงเวลานั้นสภาพแวดล้อมของเดนเวอร์จะแย่ลงมากจนไม่เหมาะสมกับการเป็นที่หลบโรคของผู้ป่วยแล้วก็ตาม
นอกจากเมืองเดนเวอร์แล้ว ทูซอนก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวกับผู้ป่วยไข้ละอองฟางอย่างจริงจังถึงกับมีการตั้งสมาคมชื่อ The Tucson Sunshine Climate Club ขึ้นในปี 2465 ชาวเมืองทูซอนหวังให้เมืองนี้เป็นจุดหมายปลายทางถาวรของผู้ป่วยและเป็นที่พักผ่อนในฤดูหนาวของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ชื่อเสียงของเมืองทูซอนโด่งดังมากขึ้นไปอีก เมื่อนักประพันธ์ชื่อดัง Harold Bell Wright เขียนนวนิยายส่งเสริมสรรพคุณของเมืองจนผู้อ่านต่างหลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่หยุดยั้งจนทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเขาอีกต่อไป เขาจึงย้ายออกจากทูซอนไปในปี 2479
การที่ผู้ป่วยซึ่งมีฐานะดีหลั่งไหลเข้าไปในเมืองทูซอนทำให้สถาบันวิจัยชื่อ The Desert Sanatorium and Institute of Research กลายเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางเดินหายใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา สถาบันนี้ดึงดูดทั้งนักเขียน ราชวงศ์ยุโรปและดาราให้หลั่งไหลเข้าไปมากยิ่งขึ้น นักวิจัยของสถาบันเชื่อว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด หากสภาพแวดล้อมของที่นั่นถูกทำลาย มันก็จะไม่สามารถเป็นสวรรค์ของผู้ป่วยได้อีกต่อไปซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของเมืองเสื่อมถอยลง แม้ว่าผู้คนและสถาบันต่าง ๆ ในเมืองนั้นต่างตระหนักถึงภัยจากมลพิษทางอากาศเป็นอย่างดี แต่หลังปี 2513 สภาพบรรยากาศของเมืองกลับเลวร้ายลงไปจนถึงระดับต่ำกว่ามาตรฐานทางคุณภาพของอากาศแห่งชาติ ความเลวร้ายนั้นเป็นผลมาจากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ จำนวนประชากรและปริมาณละอองเกสรดอกไม้ที่เพิ่มขึ้น พวกเขาพบว่าหญ้าตระกูลเบอร์มิวดา ต้นไม้จำพวกหม่อนและมะกอกที่มีอยู่เต็มเมืองต่างมีสารก่อภูมิแพ้ทั้งนั้น มันเป็นต้นเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคหอบและภูมิแพ้ในเมืองเพิ่มขึ้นถึง 9-10 เท่า สารนั้นและมลพิษทางอากาศทำให้ทูซอนไม่เหมาะกับผู้ป่วยอีกต่อไป แม้ว่าชาวเมืองที่ป่วยจะมิได้ละเมืองทิ้งไป แต่ผู้ป่วยอื่นก็เดินทางมายังเมืองนั้นลดลง นอกจากนั้นระบบสาธารณสุขของรัฐได้ขยายตัวจนครอบคลุมทั่วประเทศทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้น
แม้ว่าชาวอเมริกันจำนวนมากจะป่วยด้วยโรคหอบและไข้ละอองฟาง แต่ในช่วงแรกโรคเหล่านี้กลับมิได้เป็นที่สนใจของรัฐมากนัก จนกระทั่งสถาบันด้านโรคหอบสองแห่งชื่อ Tucson’s National Foundation for Asthmatic Children (NFAC) และ Denver’s Jewish National Home for Asthmatic Children (JNHAC) ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น NFAC เป็นองค์กรการกุศลแรกที่ส่งเสริมการรณรงค์รักษาผู้ป่วยด้วยโรคหอบในเด็ก ผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ประสงค์จะช่วยเหลือเด็กยากจนที่ป่วยด้วยโรคหอบ เขาจึงสร้างโรงพยาบาลเพื่อเด็กขึ้น ส่วน JNHAC ก็สร้างโรงพยาบาลขนาด 112 เตียงขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน หลังจากนั้นรัฐและบริษัทยาต่างก็เห็นความสำคัญของโรคทั้งสองและให้ทุนสนับสนุนสถาบันทั้งสองนั้นเพื่อทำวิจัย จากนั้นมากุมารแพทย์และจิตแพทย์ก็เริ่มให้ความสนใจกับโรคหอบในเด็กมากขึ้น พวกเขาพบว่าโรคหอบมีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทและขบวนการทางเคมีของร่างกาย ยาแก้โรคภูมิแพ้และสเตียรอยด์รุ่นแรกจึงถูกพัฒนาขึ้น
ในช่วงปี 2503 โรงพยาบาลตามเมืองใหญ่ ๆ พบว่า อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราตายของเด็กผิวดำที่ป่วยด้วยโรคหอบสูงกว่าเด็กผิวขาวที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันถึง 3-5 เท่า แพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากการที่เด็กผิวดำต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ฝุ่นและมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังขาดความสามารถในการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขด้วย สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในเมืองนิวออร์ลีนส์ซึ่งมีประชากรผิวดำเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทุกปีในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนเมืองนิวออร์ลีนส์จะมีการระบาดของโรคหอบ บางวันห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยโรคนี้ถึงกว่า 200 คนเลยทีเดียว ในที่สุดคณะนักวิจัยก็พบว่าการระบาดของโรคหอบเกิดขึ้นใกล้ ๆ กับที่ทิ้งขยะซึ่งรองรับขยะมากว่า 40 ปี นักวิจัยจึงคาดว่าฝุ่นผงจากขยะน่าจะเป็นสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการหอบ ดังนั้นเทศบาลเมืองจึงตัดสินใจย้ายที่ทิ้งขยะออกไป แต่จำนวนผู้ป่วยกลับมิได้ลดลง พวกเขาจึงตั้งสมมติฐานใหม่ว่าจำนวนละอองเกสรดอกไม้ที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูน่าจะเป็นต้นเหตุของการระบาดของโรคหอบ
แม้ว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงและมลพิษของอากาศมีส่วนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบมากขึ้น แต่ในปี 2505 แพทย์กลับพบว่าโรคหอบที่เกิดในเมืองนิวยอร์กมิได้มีความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับการเข้านอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในแมนฮัตตันตอนเหนือเท่านั้นที่มีจำนวนผู้ป่วยมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะคนยากจนผิวดำ การสำรวจพบว่าย่านที่โรงพยาบาลตั้งอยู่เป็นที่อยู่ของชาวอเมริกันผิวดำซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าชาวนิวยอร์กทั่ว ๆ ไปและเป็นย่านที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุดในโลก การศึกษาเรื่องโรคหอบในผู้ป่วยผิวดำจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง แม้ว่าจิตแพทย์จะเคยทราบมาแล้วว่าเด็กที่ได้รับการปกป้องมากเกินไปมักจะมีอาการหอบ แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้กลับไม่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ป่วยผิวดำ การศึกษาพบว่าโรคหอบในเด็กผิวดำมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความกลัวถูกแม่ทิ้งและความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกอยากพึ่งพิงและเป็นอิสระ นอกจากนั้นจิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยังพบว่า ความเกลียดชังตัวเองเป็นลักษณะเฉพาะของคนผิวดำ เด็กผิวดำจะรู้สึกว่าพ่อแม่ของตนเองถูกรังเกียจและแบ่งแยกสีผิวจากคนผิวขาว คนผิวดำจึงเกลียดชังสังคมคนผิวขาว ความรู้สึกเหล่านี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กผิวดำป่วยด้วยโรคหอบ ผู้เขียนเห็นว่าการที่นักวิจัยในช่วงเวลานั้นใช้ปัจจัยทางด้านจิตวิทยามาช่วยในการวินิจฉัยการระบาดของโรคหอบย่อมง่ายกว่าการยอมรับว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่เท่าเทียมกันมีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยผิวดำหอบ ทั้ง ๆ ที่สภาพแวดล้อมเช่นนั้นเห็นกันอยู่ตำตา อาจเป็นไปได้ว่าแพทย์และนักนิเวศน์วิทยาถูกอำนาจของคนขาวบดบังก็เป็นได้
ส่วนการวิจัยในเรื่องสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบของคนผิวดำนั้น นักวิจัยสองคนพบว่าชาวนิโกรมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากแมลงสาบรุนแรงที่สุด ส่วนผู้มีเชื้อสายอิตาเลียนและยิวกลับมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นน้อยกว่า นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มักเป็นหอบด้วย พวกเขาจึงสรุปว่าเชื้อชาติน่าจะมีผลต่อการเกิดโรคหอบมากกว่าระดับชนชั้น
ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่อการหอบคือ John Salvaggio แพทย์จากมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา เขาพบว่าความยากจนและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรามของบ้านทำให้ชาวเมืองนิวออร์ลีนส์เกิดอาการหอบ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของบ้าน การเพิ่มบริการทางด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นรวมทั้งการมียาใหม่ ๆ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่นั้นลดลง การที่รัฐลดคุณภาพของบ้านเอื้ออาทรและลดงบประมาณในการบำรุงรักษาบ้านทำให้สภาพแวดล้อมเลวร้ายลงไปอีก แม้แต่เมื่อปี 2548 นี่เองสถานการณ์ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ที่อาศัยในบริเวณคนผิวดำของนิวยอร์กยังคงต้องทนทุกข์จากนโยบายของรัฐที่ทำให้มลพิษทางอากาศของย่านนั้นสูงกว่าที่อื่น ๆ ทั้งนี้เพราะรัฐยังคงปล่อยให้รถที่มีควันพิษจำนวนมากแล่นเข้าไปในพื้นที่ ข้อมูลจากโรงพยาบาลของย่านนั้นบ่งว่าในปีเดียวกันยังคงมีผู้ป่วยหอบมากถึงร้อยละ 25 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีอยู่เพียงร้อยละ 6 นอกจากนั้นยังมีการพบว่าสถานที่ทำงานซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่ดีก็มีส่วนทำให้ผู้ป่วยหอบได้เช่นกัน
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขายังคงให้ความเห็นถึงสาเหตุของอาการหอบแตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างยอมรับว่าโรคหอบเป็นผลมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน มิใช่ปัจจัยเดียว และยังมีข้อสงสัยด้วยว่าโรคนี้มิใช่โรคของบุคคลแต่ได้กลายเป็นปัญหาของสังคมไปแล้ว
เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหอบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงพยายามที่จะหาทางเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านตนเองให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ผู้เขียนเล่าถึงวิศวกรจากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรสในอาร์เจนตินาซึ่งมีอาการของภูมิแพ้และหอบ เมื่อเขาอพยพไปอยู่ในนิวยอร์กและแต่งงานกับแพทย์หญิงคนหนึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งสองได้อาศัยความรู้ของตนเปลี่ยนรังรักให้เป็นบ้านที่เลียนแบบรีสอร์ทโดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีแผ่นกรองซึ่งทำให้อากาศที่หมุนเวียนภายในปราศจากฝุ่นละออง หลังจากทดสอบจนประสบความสำเร็จ ทั้งสองก็เปิดบริษัทขายเครื่องปรับอากาศชนิดนั้นให้กับผู้ป่วยไข้ละอองฟาง เครื่องปรับอากาศกลายเป็นสินค้าขายดีแม้ว่าในช่วงแรกราคาของมันจะยังสูงก็ตาม อย่างไรก็ตามความสบายที่ผู้ป่วยได้รับจากมันกลับมิได้คงอยู่นาน ทั้งนี้เพราะบ้านแต่ละหลังมีระบบนิเวศน์ต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาปลูกสร้าง เครื่องเรือน สถานที่ตั้งและพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย
ในปี 2450 James Murray Spangler ภารโรงวัย 70 ปีสังเกตว่าอาการหอบของเขาจะกำเริบทุกครั้งที่กวาดบ้าน เขาจึงออกแบบไม้กวาดใหม่ให้มีกล่องที่บรรจุสบู่และมอเตอร์รวมทั้งหมอนเพื่อกักฝุ่นไว้ในกล่อง ภายหลังเขาขายเทคโนโลยีนั้นให้กับ William H. Hoover ผู้จัดตั้งบริษัท Hoover ขึ้นเพื่อขายเครื่องดูดฝุ่นซึ่งได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมของชาวอเมริกันจวบจนปัจจุบัน
แม้ว่าเครื่องดูดฝุ่นจะสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยได้บ้าง แต่สาเหตุของการเกิดอาการจากฝุ่นผงยังคงไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก ต่อมานักวิจัยพบว่าฝุ่นละอองในบ้านเป็นสารก่อภูมิแพ้จริง แต่ฝุ่นผงของแต่ละบ้านและแต่ละฤดูกาลจะมีองค์ประกอบแตกต่างกันเพราะมันมาจากเครื่องใช้ภายในบ้านที่ต่างกัน เช่น ผ้าม่าน หมอน เตียง ผ้าปูที่นอน พรมและสัตว์เลี้ยง ต่อมายังมีการค้นพบอีกว่าสารก่อภูมิแพ้มิได้มาจากตัวไรฝุ่นแต่เกิดจากอุจจาระของมัน และสารก่อภูมิแพ้ชนิดนี้มีความสามารถในการทำให้เกิดอาการแพ้ไม่เท่าเทียมกันด้วย ไรฝุ่นที่พบในบ้านที่มีโคลนและน้ำใต้ดินมากจะก่ออาการมาก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องประหยัดน้ำมันและค่าใช้จ่าย พวกเขาจึงหันมานิยมใช้ฟืนมากขึ้น นอกจากนั้นพวกเขายังนิยมใช้แผ่นฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกันมิให้ความร้อนและความเย็นรั่วไหลออกจากห้อง แต่แผ่นฉนวนกลับทำให้ความสามารถในการถ่ายเทอากาศระหว่างภายในและภายนอกอาคารลดลงถึง 4-10 เท่า ทั้งฟืนและแผ่นฉนวนกันความร้อนทำให้อากาศภายในบ้านเต็มไปด้วยสารพิษ เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ฟอร์มาดีไฮด์และเรดอน จนทำให้แต่ละบ้านมีปริมาณสารเหล่านั้นเกินมาตรฐานที่รัฐกำหนด มลพิษภายในบ้านจึงทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และหอบเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศสหรัฐฯ
นอกจากนั้นมลพิษภายในอาคารยังเกิดจากบุหรี่อีกด้วย ทั้งนี้เพราะแพทย์โรคทางเดินหายใจพบว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่มือสองหรือผู้ที่ต้องสูดควันบุหรี่เข้าไปโดยมิได้สูบเองมักเป็นโรคหอบเช่นกัน รัฐจึงรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารจนทำให้ในปี 2539 อาคารกว่าร้อยละ 33 ของสหรัฐฯ เป็นอาคารปลอดบุหรี่ แม้ว่าในปัจจุบันวิศวกรจะสามารถผลิตเครื่องกรองอากาศที่มีตัวกรองเรียกว่า High Efficiency Particulate Absorbing (HEPA) ซึ่งสามารถกรองทั้งฝุ่นผงและแบคทีเรียได้แล้ว แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะมีกำลังซื้อเพราะสินค้านี้ราคาสูงถึง 600 ดอลลาร์ โรคหอบและภูมิแพ้จึงยังคงเป็นปัญหาต่อไป
เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของตนเองได้ทั้งหมด ยาแก้แพ้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ยอดขายยาแก้แพ้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อแพทย์ของโรงพยาบาลกองทัพเรือในอิลลินอยส์พบว่ายาแก้แพ้ทำให้อาการหวัดหายไปหากใช้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังเริ่มปรากฏอาการ และเมื่อองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2492 ให้ร้านขายยาสามารถจำหน่ายยาแก้แพ้ชื่อ Neohetramine ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยอดขายยาชนิดนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว แม้ว่าต่อมาวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกันจะประกาศว่ายังไม่มีใครทราบผลของการใช้ยาแก้แพ้ในระยะยาว แต่ชาวอเมริกันยังคงใช้ยาชนิดนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเพราะมันทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่จำเป็นต้องหยุดงาน
ในปี 2499 ยาสูดขยายหลอดลมสำหรับผู้ป่วยโรคหอบถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก ยาชนิดนี้ใช้ง่ายและพกติดตัวไปไหนมาไหนได้จึงเป็นยาที่แพทย์นิยมสั่งและผู้ป่วยก็นิยมหาซื้อไว้ใช้เองจากร้านขายยา แม้ว่ายาแก้แพ้และยาสูดขยายหลอดลมจะสามารถหาซื้อได้ง่าย แต่จำนวนผู้ป่วยโรคหอบและความรุนแรงของโรคกลับมิได้ลดลงเลย ภายหลังนักวิจัยพบว่าสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยซื้อหายาเองที่ร้านขายยาโดยมิได้ไปพบแพทย์จึงทำให้ความสามารถในการควบคุมโรคเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ คณะกรรมการความปลอดภัยของยาแห่งสหราชอาณาจักรเชื่อมั่นในงานวิจัยชิ้นนี้ จึงประกาศห้ามร้านขายยาจำหน่ายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยโรคหอบก็ลดลงซึ่งแสดงว่าผลการวิจัยนั้นถูกต้อง
ส่วนข้อมูลของสหรัฐอเมริกาก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน นั่นคือ มันบ่งว่านับจากปี 2507 เป็นต้นมา ภายในเวลาเพียง 4 ปีจำนวนยอดขายยาสูดขยายหลอดลมในสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 3.3 ล้านเป็น 5.1 ล้านหลอด นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคหอบจะสูดยาขยายหลอดลมเกือบทุกครั้งเมื่อเริ่มมีอาการ บางรายใช้ยาหมดหลอดภายในเวลาเพียงวันเดียว แพทย์อเมริกันจึงเสนอให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ประกาศห้ามจำหน่ายยานี้ในร้านขายยา หลังจากนั้นเพียงปีเดียวยอดขายยาก็ตกลงถึงกว่าร้อยละ 40 เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับใบสั่งยา การที่พวกเขาไม่สามารถหาซื้อยาเองได้ การใช้ยามากเกินขนาดจึงลดลง
ต่อมาบริษัท Schering-Plough สามารถผลิต Loratadine ยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์เป็นเวลานานตัวแรกของโลกได้ในปี 2536 ยาตัวนี้กลายเป็นสินค้าขายดีอย่างรวดเร็วเพราะผู้ป่วยไข้ละอองฟางเชื่อว่ายาแก้แพ้สามารถเสริมสร้างสมรรถนะให้กับพวกเขา ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติในช่วงเวลาที่เขามีอาการ ชั่วเวลาเพียง 10 ปี Loratadine ทำรายได้ให้กับบริษัทถึงหนึ่งหมื่นสามพันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบันยาสูดที่มีส่วนผสมระหว่างยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์ได้นานและสเตียรอยด์ที่ชื่อว่า Advair ของบริษัท GlaxoSmithKline กำลังเป็นที่นิยม สินค้าชนิดนี้ทำรายได้ให้กับบริษัทถึงกว่าร้อยละ 27 และเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทด้วย ในปี 2548 Advair และสเตียรอยด์ชนิดสูดชื่อ Flovent เป็นสินค้าที่ทำเงินให้กับบริษัทถึงสามหมื่นสองพันล้านเหรียญ หรือเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดขายของบริษัท
ในปัจจุบัน ชาวอเมริกันเป็นโรคหอบมากถึง 35-40 ล้านคน แต่พวกเขากลับไปพบแพทย์น้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความสำเร็จของยาและความสะดวกในการเข้าถึงยา อีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกังขาว่าพวกเขาควรไปพบแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีอาการเพื่อรับยาที่ใหม่ที่สุดและมีประสิทธิภาพดีขึ้นแต่ราคาแพงขึ้นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะยาเหล่านั้นกลับมิได้ทำให้อัตราป่วยและตายจากโรคหอบของชาวอเมริกันลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น
ผู้เขียนสรุปว่า ในภาวะที่ยา โรค ธุรกิจ การบริโภคและสมรรถนะเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก ผู้ป่วยโรคหอบผิวดำซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอาการป่วยรุนแรงที่สุดจึงเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับประโยชน์ มนุษย์เราให้ความสนใจแค่การบรรเทาอาการเพื่อให้ตนเองรู้สึกมีความสุขโดยมิได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและสถานที่ ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสถานที่เป็นผู้กำหนดประวัติศาสตร์โรคภูมิแพ้ของสหรัฐอเมริกา
ความคิดเห็น – คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าโรคหอบและโรคภูมิแพ้เป็นผลมาจากธรรมชาติ แต่หนังสือเล่มนี้ชี้ว่าโรคทั้งสองเป็นผลมาจากน้ำมือของมนุษย์เรา การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายลงไปมากแล้ว ผลร้ายที่เกิดจากน้ำมือของเรายังส่งผลต่อตัวเราเองด้วย ในอีกนัยหนึ่งโรคหอบและโรคภูมิแพ้มิใช่สิ่งใดเลยนอกจากธรรมชาติของความสัมพันธ์ เมื่อเราให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมน้อย ผลของความสัมพันธ์นั้นจึงออกมาเป็นลบ
