You are here: Home > Econ & Business, Social Science > Tipping Point

Tipping Point

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

              ผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอาจรู้สึกประหลาดใจว่า “ปรากฏการณ์สนธิ” นำการเปลี่ยนแปลง มาสู่การเมืองของประเทศเรา ได้อย่างไร แต่ผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ The Tipping Point ซึ่งคงจะแปลเป็นไทยว่า “จุดพลิกผัน” หรือ “จุดหักเห” แล้วจะไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยเพราะหนังสือเล่มนี้ อธิบายว่าสิ่งละอันพันละน้อยที่รวมๆ กันเข้าก่อให้เกิดการพลิกผันได้อย่างไร The Tipping Point พิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2000 มียอดจำหน่ายแล้วเกือบ 2 ล้านเล่มและแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 25 ภาษา ทำให้ผู้เขียน Malcolm Gladwell ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ฉบับประจำปี 2005 ให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลอันทรงอิทธิพลของโลกและ “tipping point” กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันของฝรั่ง

            The Tipping Point เปิดตัวด้วยการนำคำถามที่ผู้คนมีความสงสัยอยู่เป็นทุนมาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อ่านติดตาม นั่นคือ เหตุใดเครื่องโทรสาร หรือแฟกซ์ และโทรศัพท์มือถือซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสินค้าที่ขายได้ปีละไม่กี่หมื่นเครื่องจู่ ๆ กลับขายได้ปีละหลายล้านเครื่อง ทำไมรองเท้ายี่ห้อฮัชปั๊ปปี้ซึ่งครั้งหนึ่งไม่เคยมีใครให้ความสนใจกลายเป็นรองเท้าแฟชั่นขึ้นมา ทำไมหลังปี 1990 อาชญากรรมในนครนิวยอร์กจึงลดลงอย่าง ฮวบฮาบทั้งที่เมืองนี้เคยเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในโลก และทำไมนาย Paul Revere ซึ่งทำเพียงแค่ขี่ม้าข้ามคืนไปส่งข่าวจึงกลายเป็นวีรบุรุษในสงครามปลดแอกของอเมริกา จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

          เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ผู้เขียนเปรียบการเกิดจุดพลิกผัน เหมือนการเกิดโรคระบาดโดยนำการระบาดของโรคซิฟิลิส ในเมืองบัลติมอร์มาช่วยอธิบาย สถิติก่อนปี 1990 บ่งว่าในแต่ละปีบัลติมอร์จะมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคซิฟิลิส 36,000 คน หลังปีนั้นรัฐบาลตัดงบประมาณทำให้จำนวนคลินิก และผู้ให้บริการทางการแพทย์ลดลงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาได้เพียงปีละ 21,000 คน จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงนั้นบัลติมอร์สร้างตึกสูงๆ เพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนอยู่กันแออัดมากขึ้น จนคนส่วนหนึ่งทนไม่ไหว ต้องย้ายสำมะโนครัวหนีไปอยู่ที่อื่น พวกเขานำเชื้อโรคไปแพร่ขยายในบริเวณกว้างขึ้นด้วย ผู้เขียนสรุปว่า การเกิดโรคระบาดนี้มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1) ตัวเชื้อซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้แต่ในที่นี้ก็คือเชื้อซิฟิลิส 2) ผู้นำเชื้อหรือผู้ส่งสารซึ่งจะเป็นใครก็ได้แต่ในที่นี้คือคนติดเชื้อ ที่ไม่ได้รับการรักษา และ 3) สภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เหมาะสม ซึ่งในที่นี้คือการลดลงของจำนวนคลินิกร่วมกับความแออัดของชุมชน

              ผู้เขียนนำเรื่องโรคระบาดมาประยุกต์ใช้ในการแสวงหากฎเกณฑ์ของการเกิดจุดพลิกผัน และสรุปว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดจุดพลิกผันมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ 1) กฎของคนจำนวนน้อย (The law of the few) ซึ่งหมายถึงผู้นำเชื้อหรือผู้ส่งสารที่มีคุณสมบัติพิเศษ 2) ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติด (The stickiness factor) ซึ่งในบางกรณีอาจหมายถึงความนิยมก็ได้ และ 3) สิ่งแวดล้อมหรือบริบท (context)  กฎของคนจำนวนน้อยมีอยู่ว่า ผู้ส่งสารอาจมีจำนวนเพียงเล็กน้อยแต่ต้องมีคุณลักษณะพิเศษ ที่ทำให้การแพร่กระจายของข่าวสาร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ส่งสารมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้เชื่อมโยง (connector) ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักคนจำนวนมากและหลากหลายประเภท นอกจากนั้นเขายังต้องมีพรสวรรค์ ในการสร้างความสัมพันธ์ กับคนระดับผู้นำองค์กรหรือชุมชนต่างๆ อีกด้วย ผู้เขียนนำเหตุการณ์การแพร่ข่าว แบบปากต่อปากในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของการประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มาเป็นตัวอย่างของคุณลักษณะของผู้เชื่อมโยง

            เหตุการณ์เกิดขึ้นในบ่ายวันที่ 18 เมษายน 1775 เมื่อนาย Paul Revere กรรมการหลากหลายองค์กรของเมืองบอสตัน และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกองกำลังต่อต้านอังกฤษ สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวของทหารอังกฤษในบริเวณท่าเรือ พร้อมกับได้ข่าวจากเด็กดูแลคอกม้าว่าอังกฤษกำลังจะนำทหารเข้าจับกุมแกนนำสำคัญ 2 คนของกองกำลังต่อต้าน กลางดึกคืนนั้นเขาและนาย Dawes ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับข่าวมาเหมือนกันจึงตัดสินใจขี่ม้าจากบอสตัน ไปยังเมืองเลกซิงตันเพื่อแจ้งข่าวกับแกนนำ 2 คนนั้น ระหว่างทางนาย Revere และนาย Dawes ได้เคาะประตูบอกข่าวนั้นให้กับคนในหมู่บ้านตามรายทางโดยหวังให้คนเหล่านั้นกระจายข่าวต่อๆ กันไป ในวันรุ่งขึ้นผู้คนที่ได้ทราบข่าวจากฝ่ายนาย Revere เท่านั้นที่จับอาวุธเข้าสู้รบกับทหารอังกฤษ ผู้เขียนสรุปว่านั่นเป็นเพราะนาย Revere เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและกว้างขวาง รู้จักผู้มีอิทธิพลและผู้นำชุมชนต่างๆ ที่เขาขี่ม้าผ่านไป เขารู้ว่าจะต้องไปหาใครจึงจะสามารถทำให้การกระจายข่าวแบบปากต่อปากเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนนาย Dawes นั้นแม้จะพยายามแพร่ข่าวสารเดียวกันและเดินทางเป็นระยะทางเท่าๆ กันกับนาย Revere แต่ไม่สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ดังที่นาย Revere ทำให้เกิดขึ้นได้เพราะจำนวนคนและประเภทของคนที่นาย Dawes รู้จักไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

                 ผู้ส่งสารประเภทที่สองได้แก่ พหูสูตหรือผู้มีความรู้มาก (maven) ซึ่งชอบอ่านหนังสือและใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา พวกเขาสามารถจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่องราวต่างๆ ได้แถมยังมีทักษะในการให้ข้อมูลโดยที่ผู้ฟังไม่รู้สึกว่า ถูกยัดเยียดด้วย ผู้ฟังจึงเกิดความไว้วางใจและพร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของเขา ยิ่งไปกว่านั้นคนพวกนี้ ยังชอบที่จะกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแก้ปัญหา พวกเขาจึงทำหน้าที่เสมือนครูหรือนายหน้าของข้อมูลข่าวสาร พหูสูตมักมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั่วไปเพราะพวกเขามีส่วนทำให้นักการตลาดและห้างร้านไม่สามารถโกงผู้บริโภคได้

              ผู้เขียนได้ยกนาย Mark Alpert ซึ่งเป็นคนรู้จักของเขาและมีคุณสมบัติเป็นพหูสูตมาเป็นตัวอย่าง บ่ายวันหนึ่ง ผู้เขียนได้เล่าให้นาย Alpert ฟังว่า เขาอยากซื้อรถใหม่ นาย Alpert จึงแนะนำเขาว่าอย่าซื้อรถออดี้ แม้ว่าออดี้จะเป็นรถที่มีสมรรถนะดีแต่บริการไม่ดี เพราะมีศูนย์บริการน้อยเกินไป นาย Alpert แนะนำให้ผู้เขียนซื้อรถ Mercury Mystique แทน เพราะรถนี้มีสมรรถนะ เหมือนรถเยอรมนีราคาแพง แต่เพราะเป็นรถที่คนไม่นิยมราคาจึงไม่แพง นอกจากนั้นเขายังแนะนำให้ผู้เขียนไปซื้อในวันที่ 25 ของเดือน เพราะเป็นวันปิดยอดขายของพนักงานขาย ซึ่งจะทำให้ได้ราคาถูกมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้เขียนบอกนาย Alpert ว่าจะไปเมืองลอสแองเจลิส นาย Alpert ก็ให้ข้อมูลโรงแรมชื่อ Westwood ซึ่งนาย Alpert เคยเข้าพักเมื่อ 5 ปีก่อนอย่างละเอียด ตั้งแต่ลักษณะของอาหารเช้าที่จอดรถ สระว่ายน้ำ จำนวนห้อง ราคา รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ ที่จะสามารถจองโรงแรมนั้น ได้ในราคาถูกกับผู้เขียน หลังผู้เขียนกลับจากการเดินทาง เขาจึงแนะนำคนอื่นๆ ให้ไปพักที่โรงแรมนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงแรม Westwood กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในเวลาต่อมา

               ผู้ส่งสารประเภทสุดท้ายได้แก่ นักขายของ (salesman) ซึ่งมีความสามารถในการสื่อสารผ่านสีหน้าและกิริยาท่าทางได้ดี จนทำให้ผู้ฟังเกิดความเคลิบเคลิ้ม และคล้อยตามโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ผู้เขียนนำผลการศึกษาของนักจิตวิทยา เกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 1984 มาใช้อธิบายความสามารถในการใช้สีหน้าและกิริยาท่าทางจนทำให้เกิดจุดพลิกผัน การศึกษานั้นทำขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 8 วันโดยการนำภาพโทรทัศน์ของผู้ประกาศข่าวของ 3 สถานีหลักคือ นายปีเตอร์ เจนนิ่ง แห่งเอบีซี นายทอม โบคอว์ แห่งเอ็นบีซี และ นายแดน รัทเธอร์ แห่งซีบีเอส มาให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มตัวแทนประชาชนชม แล้วให้พวกเขาให้คะแนนแก่การแสดงสีหน้าและกิริยาท่าทางของผู้ประกาศข่าว ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจยิ่งคือ นายปีเตอร์ เจนนิ่ง ได้คะแนนการแสดงสีหน้าและกิริยาท่าทางสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เขากล่าวถึงนายโรนัลด์ เรแกนนั้น นายเจนนิ่งจะแสดงหน้าตาและท่าทางเป็นมิตรมากที่สุด ส่วนผู้ประกาศข่าวอีก 2 คนได้คะแนนต่ำกว่า นักจิตวิทยาทำการศึกษาต่อไปและพบว่าในจำนวนผู้ที่ชมข่าวของทั้ง 3 สถานีผู้ที่ชมข่าวของเอบีซีจะมีสัดส่วนของคนที่เลือกนายเรแกนมากกว่าผู้ฟังข่าวของอีก 2 สถานีอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนจึงสรุปว่าการแสดงออกของสีหน้าและท่าทางที่เป็นมิตรสูงของนายเจนนิ่งส่งผลให้ผู้ชมเลือกนายเรแกนมากกว่าคู่แข่ง นั่นหมายความว่าความลำเอียงที่แสดงออกมาทางสีหน้าที่เข้าข้างนายเรแกนของผู้ประกาศข่าวสถานีเอบีซี สามารถชักชวนให้ผู้ชมเลือกนายเรแกนจนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง

             กฎข้อที่สองของการเกิดจุดพลิกผัน ได้แก่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติด หรือความนิยม ผู้เขียนยกรายการโทรทัศน์ชื่อ “เซซามีสตรีต” มาเป็นตัวอย่าง ผู้จัดรายการนี้มีวัตถุประสงค์จะให้เด็กก่อนวัยเรียนมีโอกาสเรียนรู้และจดจำคำง่ายๆ ก่อนเข้าโรงเรียน โดยอาศัยโทรทัศน์เป็นสื่อ ผู้สร้างรายการทราบดีว่าเด็กเล็กๆ นั้นจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เป็นเวลานาน และมีความสนใจต่อสิ่งรอบข้างอย่างจำกัด แต่มักชอบดูการ์ตูนและชอบดูซ้ำไปซ้ำมา เขาจึงสร้างรายการเลียนแบบ แนวคิดของการ์ตูน โดยเพิ่มการร้องเพลง และเต้นรำเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับรายการ ผลก็คือเด็กติดรายการนั้นกันงอมแงม แถมยังสามารถจดจำความรู้ที่ได้รับจากรายการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อเข้าโรงเรียนอีกด้วย ผู้เขียนสรุปว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้เนื้อหามีความดึงดูดใจจนทำให้เกิดความนิยมและจดจำได้

             อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การติดบุหรี่ เป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐจึงพยายามหามาตรการ ที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลง โดยเพิ่มราคาบุหรี่และจำกัดการโฆษณา แต่กลับพบว่ามาตรการเหล่านั้นไร้ผล การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่าวัยรุ่นชายเกือบทุกคน หัดสูบบุหรี่เพราะรู้สึกว่า มันทำให้ตัวเองเท่ อย่างไรก็ตามผู้สูบจำนวนมากหัดสูบบุหรี่แล้วเลิกไปเลย เพราะมีความรู้สึกว่าความสุขที่ได้จากการสูบบุหรี่มีน้อย และรสของบุหรี่ก็ไม่เป็นที่ต้องใจนัก หนึ่งในสามของผู้เริ่มสูบบุหรี่ยังคงสูบอย่างสม่ำเสมออีกหลายปี แต่หนึ่งในสิบของคนพวกนี้จะสูบบุหรี่เฉพาะเมื่อถูกกระตุ้นเท่านั้น เช่น อยู่ในแวดวงของคนสูบบุหรี่หรือในงานสังสรรค์ พวกนี้จึงสูบเพียงเพื่อความสนุกเป็นครั้งคราว

                ส่วนผู้ที่ติดบุหรี่จริงๆ คือพวกที่มีอาการขาดบุหรี่ไม่ได้ ผู้เขียนอธิบายว่ากลุ่มที่สูบเป็นครั้งคราวเพื่อความสนุกนั้น ทำได้โดยไม่ติดบุหรี่เพราะไม่เคยสูบจนปริมาณนิโคตินต่อวันถึงระดับที่ทำให้เกิดการติด นั่นคือ 5 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนกลุ่มที่ติดบุหรี่จะสูบจนถึงปริมาณการสูบข้ามเส้น 5 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เกิดการติดบุหรี่ ผู้เขียนจึงแนะนำว่าทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันการติดบุหรี่ก็คือ รัฐควรออกกฎหมายบังคับให้บริษัทผลิตบุหรี่ ลดปริมาณนิโคตินในบุหรี่ให้เหลือน้อยที่สุด จนกระทั่งเมื่อสูบถึง 30 มวนต่อวัน ปริมาณนิโคตินก็ยังน้อยกว่า 5 มิลลิกรัม

                  ส่วนกฎข้อสุดท้ายได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ผู้เขียนใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเป็นตัวอย่าง โดยกล่าวว่าตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 อาชญากรรมตามเมืองต่างๆ ของสหรัฐลดลงอย่างน่าประหลาดใจ นักอาชญาวิทยาพากันคิดว่ามันเป็นผลของปัจจัย 3 อย่าง คือ 1)การลดลงของโคเคน นักอาชญาวิทยาเชื่อว่าอาชญากรส่วนใหญ่ติดโคเคน เมื่อจำนวนโคเคนลดลงอาชญากรจึงลดลงด้วย 2)เศรษฐกิจดีขึ้นทำให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้น อาชญากรบางคนที่ก่ออาชญากรรมด้วยความจำเป็นเริ่มมีงานทำ อาชญากรรมจึงลดลง และ 3)อายุของคนในเมืองเพิ่มขึ้น นักอาชญาวิทยามีข้อมูลที่บ่งว่าอายุของอาชญากรมักจะอยู่ในช่วง 18-24 ปี เมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยลงอาชญากรจึงลดลงด้วย

              อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้ไม่สามารถอธิบายการลดลงของอาชญากรรมในนิวยอร์กได้ ซ้ำร้ายสถานการณ์ในนิวยอร์กกลับวิวัฒน์ไปในทางตรงกันข้าม เพราะเศรษฐกิจของนิวยอร์กในทศวรรษนั้น ไม่ได้ดีขึ้นเหมือนในเมืองอื่นๆ ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือคนยากจนถูกตัดสวัสดิการลงพร้อมๆ กับจำนวนคนที่อายุระหว่าง 18-24 ปีก็เพิ่มขึ้นด้วย

                ผู้เขียนจึงหันไปใช้ทฤษฎีกระจกหน้าต่างแตกของนักอาชญาวิทยา James Q Wilson & George Kelling อธิบายการเกิดจุดพลิกผันของสถานการณ์อาชญากรรมในนิวยอร์ก ทฤษฎีนี้กล่าวว่าอาชญากรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความไร้ระเบียบ และอธิบายว่าถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองปล่อยให้กระจกหน้าต่างตามที่สาธารณะแตกโดยไม่แก้ไข ย่อมหมายความว่าไม่มีใครให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั่นเป็นเสมือนการส่งสัญญาณ หรือเชื้อเชิญให้เกิดการก่ออาชญากรรม นอกจากนั้น Wilson & Kelling ยังเชื่อว่าการก่ออาชญากรรมเป็นเหมือนโรคระบาด หรือแฟชั่น นั่นคือ หากไม่มีอาชญากรคนใดถูกจับได้ หรือถูกลงโทษ อาชญากรรมจะเกิดตามมามากขึ้น ผู้เขียนนำทฤษฎีทั้งสองนี้มาอธิบายการลดลงของอาชญากรรมในนิวยอร์กอย่างไร ?

           ครั้งหนึ่งนิวยอร์กเป็นหนึ่งในเมืองที่อันตรายที่สุดของอเมริกา โดยเฉพาะในระบบรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดอาชญากรรมบ่อยที่สุดจนทำให้ในแต่ละปีบริการสาธารณะนี้สูญเงินถึงกว่า 150 ล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม หลังปี 1980 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเทศบาลนครนิวยอร์กว่าจ้างบริษัทของ Kelling & Gunn ให้ปรับปรุงสภาพของรถไฟใต้ดิน บริษัทนี้เชื่อในทฤษฎีข้างต้น และเห็นว่ารอยขีดข่วนบนตู้รถโดยสาร เป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของระบบความปลอดภัย จึงสั่งให้ลบรอยขีดข่วนจนหมด และถ้ารถคันใดมีขีดข่วนอีก ก็จะไม่ปล่อยเข้าสู่ระบบจนกว่าจะได้รับการแก้ไข นอกจากนั้นบริษัทยังขอความร่วมมือจากตำรวจ ในการดักจับผู้โดยสาร ที่โกงค่าโดยสาร เพราะข้อมูลบ่งว่าเมื่อผู้โดยสารคนหนึ่งโกงค่าโดยสารคนต่อไป ที่ตั้งใจจ่ายค่าโดยสาร จะเลียนแบบพฤติกรรมนั้นด้วย นอกเหนือจากนั้นบริษัทยังเสนอ ให้มีมาตรการประจานผู้โดยสารที่โกงค่าโดยสาร ด้วยการใส่กุญแจมือ และให้ยืนอยู่ที่บริเวณชานชาลา ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า ทางการกำลังเอาจริงเอาจัง กับผู้กระทำผิดกฎหมาย ผลดีอีกอย่างหนึ่งที่ตำรวจได้รับจากการจับคนโกงค่าโดยสารคือ ตำรวจพบว่า คนเหล่านี้มักมีประวัติการทำผิดกฎหมายอย่างอื่นด้วย ส่งผลให้ตำรวจจับอาชญากรเหล่านั้น มาลงโทษได้อีกกระทงหนึ่ง ผู้เขียนสรุปว่า การทำความสะอาดตู้โดยสาร และการจัดระเบียบการใช้บริการรถใต้ดิน ทำให้อาชญากรรมของนครนิวยอร์ก ลดลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยทำให้สิ่งแวดล้อม ที่เคยเอื้ออำนวยให้เกิดการก่ออาชญากรรมนั้น ไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไปจนเกิดจุดพลิกผันส่งผลให้อาชญากรรมโดยรวมลดลง

             นอกจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพแล้ว สิ่งแวดล้อมทางสังคมก็มีส่วนทำให้เกิดจุดพลิกผันได้ ผู้เขียนใช้ผลการศึกษาทางประสาท เกี่ยวกับความสามารถในการจดจำของสมอง อธิบายว่า เหตุใดจำนวนคน 150 คนจึงเหมาะสมที่สุดสำหรับขนาดขององค์กร ผลการศึกษาพบว่าส่วนของสมองซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำนั้นมีพื้นที่จำกัด ฉะนั้นถ้าเราได้รับข้อมูลมากเกินไป ในเวลาเดียวกัน เราจะไม่สามารถจดจำได้   ผลการศึกษานี้นำไปสู่ข้อสรุปที่สำคัญ นั่นคือ มนุษย์จะสามารถมีสัมพันธภาพได้มากที่สุดกับกลุ่มคนเพียง 150 คนเท่านั้น หากจำนวนคนในกลุ่มมีมากกว่านี้ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตรงกันข้ามความแตกแยกอาจเกิดตามมา 

               ผู้เขียนได้ใช้ผลการศึกษาทางประสาทวิทยาเกี่ยวกับจำนวนคน 150 คนนี้มาอธิบายว่า บริษัท Gore Association ประสบความสำเร็จเพราะนาย William Gore ผู้ก่อตั้งบริษัทเชื่อในผลการศึกษาข้างต้น และจำกัดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงาน ไม่ให้เกิน 150 คน  ผลก็คือพนักงานในบริษัทมีความสามัคคีและทำงานอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร เพราะนโยบายนี้ Gore Association จึงเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตติดต่อกันมานานถึง 35 ปี มีอัตราการลาออกของพนักงาน เพียงหนึ่งในสามของบริษัทจำพวกเดียวกัน และได้รับคะแนนเสียงจากพนักงานว่าเป็นบริษัทที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุด

                 ข้อสังเกต – อันที่จริงจุดพลิกผันไม่ใช่ของใหม่สำหรับคนไทยเลย เพราะกระบวนการของการเกิดจุดพลิกผันนั้น ไม่ต่างกับการเล่นกระดานหก หรือการใช้ตาชั่งสมัยเก่า  นั่นคือ การใส่น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่ละน้อยๆ ลงไปทางข้างใดข้างหนึ่งของกระดานหกหรือของตาชั่ง เพียงไม่นานกระดานหก หรือตาชั่งก็จะไปตกข้างนั้น แน่นอน สำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ภาษาฝรั่ง กระบวนการนี้ไม่ต่างกับเรื่องฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้อูฐหลังหัก (The straw that breaks the camel”s back.) ความสามารถของผู้เขียนในการแยกแยะองค์ประกอบ ของการเกิดจุดพลิกผัน และการนำมาเสนออย่างน่าสนใจทำให้ดูเสมือนว่า กระบวนการนี้เป็นของใหม่จนฝรั่งนิยมใช้กันจนติดปาก

           ณ จุดนี้ผู้อ่านคงคิดออกแล้วว่าทำไม “ปรากฏการณ์สนธิ” เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองในบ้านเราในทศวรรษนี้  ส่วน  “ปรากฏการณ์บุกโรงพยาบาลจุฬา” ก็เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ฝ่ายคนเสื้อแดงเข้าสู่จุดอับจนถึงกับได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย  และ“ปรากฏการณ์บ้านพักตากอากาศ” ก็อาจกำลังจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ก็เป็นได้

 

Rating: 5 stars

Tags: , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.