(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)
คนส่วนใหญ่คงทราบดีแล้วว่า สิ่งมีชีวิตหลายชนิดบนโลกได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ไดโนเสาร์ และสัตว์กับพืชอีกหลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ แต่หากใครมาบอกว่าผู้ชายกำลังจะสูญพันธุ์ด้วย ทุกคนคงสงสัยทันที เมื่อไม่นานมานี้วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ (The British Medical Journal) พูดถึงเรื่องนี้โดยตั้งคำถามเชิงขบขันว่า “ผู้ชายกำลังจะสูญพันธุ์กันแล้วหรือ ?” อย่างไรก็ตามคำถามดังกล่าวไม่ใช่เรื่องขบขันหากเป็นประเด็นสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมที่ Dr. Devra Lee Davis ศาสตราจารย์ทางด้านระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพิตซเบิร์กผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพนำมาเสนอไว้อย่างน่าสนใจยิ่งในบทที่ 7 ของหนังสือเรื่อง When Smoke Ran Like Water
ข้อมูลเบื้องต้นบ่งว่าถึงแม้ในปัจจุบันผู้ชายจะมีหน้าที่การงาน เงินและฐานะทางสังคมดีขึ้นมาก แต่พวกเขากลับมีอายุขัยน้อยกว่าผู้หญิงโดยเฉลี่ยถึง 7 ปี ซ้ำร้ายพวกเขายังเป็นพ่อคนได้ยากขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นกับผู้ชายทั่วโลก เช่น เด็กชายมีปัญหาเรื่องอัณฑะไม่ลงถุง องคชาตผิดปกติ ป่วยด้วยโรคมะเร็งอัณฑะมากขึ้นแลด้วยอายุที่น้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ชายก่อนที่พวกเขาจะเป็นพ่อคนคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกหลานที่ตามมาและอาจเป็นสาเหตุที่อเมริกามีเด็กคลอดก่อนกำหนดปีละหลายแสนคนและเสียชีวิตจากความพิการแรกคลอดปีละหลายพันคน ทั้งนี้เพราะแม้หญิงตั้งครรภ์จะละทิ้งบุหรี่ ของมึนเมาและยาต่าง ๆ ไปหมดแล้ว แต่ปัญหาความผิดปกติเหล่านั้นกลับไม่หมดสิ้นไป
ในปัจจุบันร้อยละ 20 ของคู่สมรสในสหรัฐอเมริกามีปัญหาการมีบุตรยาก แพทย์ที่ให้คำปรึกษาส่วนใหญ่จึงมักแนะนำให้คู่สมรสหลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ อุณหภูมิสูงและการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป แต่แท้ที่จริงแล้วปัญหาการมีบุตรยากของพวกเขาอาจเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะการผสมพันธุ์กันของไข่และตัวอสุจิต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นไขมัน โดยธรรมชาติไขมันจะดึงดูดสารเคมีที่เป็นพิษต่าง ๆ ซึ่งน่าที่จะมีส่วนทำให้การผสมพันธุ์ยากลำบากขึ้น อีกทั้งยังสร้างปัญหาต่อความแข็งแรงสมบูรณ์ของทั้งไข่และตัวอสุจิด้วย นอกจากนี้ ธรรมชาติของเซลล์ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมักถูกโจมตีได้ง่ายจากสารต่าง ๆ ดังนั้น ตัวอสุจิซึ่งเป็นเซลล์ที่มีอายุสั้นและตัวอ่อนซึ่งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วจึงเป็นเซลล์ที่อ่อนไหวต่อการถูกทำลายจากสารเคมีจนอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติในเด็ก เช่น เกิดรูรั่วที่หัวใจและอัณฑะไม่ยอมลงถุง
เมื่อปี 1997 ขณะที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับองค์การรักษาสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) เธอพบรายงานที่น่าสนใจจากรัฐแคลิฟอร์เนีย นั่นคือ ผู้ชายที่ทำงานอยู่ในแผนกผลิตสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลงชื่อ Dibromochloropropane (DBCP) ของบริษัทออกซิเดนตัลเคมิคัล 35 คนเป็นหมันทั้งหมด เมื่อรายงานนี้ถูกเผยแพร่ออกไป สหภาพแรงงานของกิจการน้ำมัน เคมีและปรมาณูก็เรียกร้องให้บริษัทสำรวจสถานการณ์การเป็นหมันในโรงงานอื่น ๆ ผลปรากฏว่าคนงานส่วนใหญ่มีตัวอสุจิน้อยกว่าปกติหรือเป็นหมัน เมื่อการสืบสวนดำเนินต่อไปก็พบว่าแท้ที่จริงบริษัทเชลล์และดาวเคมิคัลได้ส่งรายงานผลการศึกษาให้กับ EPA ตั้งแต่ปี 1950 แล้วว่าสาร DBCP ทำให้หนูมีอวัยวะเพศเล็กลง น้ำหนักลด ผมร่วง เกิดพยาธิสภาพในปอด ไตและอัณฑะ นั่นหมายความว่า EPA น่าที่จะทราบถึงผลเสียของสารเคมีนี้มาหลายทศวรรษแล้ว
สาเหตุที่การทำงานของ EPA มีปัญหาล่าช้าเป็นเพราะองค์กรนี้ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายควบคุมสารพิษ กฎหมายควบคุมสารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดเชื้อราและหนู และกฎหมายควบคุมคุณภาพของอาหาร อีกทั้งตัวองค์กรเองไม่มีหน้าที่ในการทำหรือให้เงินทุนในการวิจัย หากมีเพียง หน้าที่ทบทวนผลงานที่ถูกส่งมาจากบริษัทต่าง ๆ เท่านั้น ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ข้อมูลที่องค์กรได้รับมีจำนวนมหาศาลจนต้องใช้เวลายาวนานในการจัดหมวดหมู่และศึกษาจึงส่งผลให้คณะกรรมการต้องใช้เวลายาวนานอีกเช่นกันกว่าจะได้ทราบข้อมูล สหรัฐฯ จึงตามหลังประเทศต่าง ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสแกนดิเนเวียในการพิจารณาและทางตอบสนองต่อข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม
สามปีหลังจากมีการศึกษาครั้งแรก Ted Torkelson นักพิษวิทยาของบริษัทดาวเคมิคัลได้เขียนบทความลงในวารสาร Journal of Toxicology and Applied Pharmacology ว่า DBCP เป็นสารที่สามารถซึมผ่านผิวหนังและทำให้เกิดความเสียหายต่ออัณฑะของสัตว์ เช่น หนูและลิง แม้เพียงความเข้มข้นแค่ 1 ต่อล้านส่วนเท่านั้น ผู้ใช้จึงต้องใส่ถุงมือและเสื้อผ้าที่สารไม่สามารถซึมผ่านได้ และที่สำคัญคือถุงมือทั่ว ๆ ไปที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถป้องกันสารนี้มิให้ซึมผ่านเข้าผิวหนัง แต่คำเตือนเหล่านี้กลับมิได้ปรากฏในที่ใดจนกระทั่งปี 1997 เมื่อรายงานความเสียหายของโรงงานในแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นยังผลให้รัฐบาลสั่งห้ามการใช้สารนี้ อย่างไรก็ดีฉลากที่ติดตามสินค้ากลับมีเพียงแค่ว่าสารนี้อาจซึมผ่านผิวหนังได้ แต่ยังมิได้เปิดเผยอวัยวะที่จะถูกทำลายจากพิษของมัน
เมื่อสาร DBCP ถูกควบคุม ชาวอเมริกันก็ให้ความสนใจในตัวสารเพิ่มขึ้นและเรียนรู้ว่า การศึกษาที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1950 พบว่า ชายที่สัมผัสสารนี้ระหว่าง 100-6,726 ชั่วโมงจำนวน 12 คนจาก 23 คนไม่มีตัวอสุจิเหลืออยู่เลยและมีโครงสร้างภายในของอวัยวะเพศผิดปกติ อีกทั้งยังมีฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติด้วย ส่วนชาย 6 คนที่สัมผัสสารนี้ระหว่าง 34-95 ชั่วโมงมีจำนวนตัวอสุจิลดลงอย่างมาก และชาย 5 คนที่สัมผัสสารนี้เพียง 10-60 ชั่วโมงเท่านั้นที่มีจำนวนตัวอสุจิปกติ ส่วนอีกผลการศึกษาหนึ่งซึ่งทำกับแผนกอื่นพบว่า ชาย 12 คนใน 25 คนที่ทำงานกับสารนี้นาน 8 ปีไม่มีตัวอสุจิเหลือเลยและมีฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนที่เคยทำงานกับสารตัวนี้นานถึง 10 ปีจะยังคงไม่มีตัวอสุจิต่อไปแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสสารนี้แล้วถึง 7 ปีก็ตาม
เมื่อปี 1985 ขณะที่ผู้เขียนทำงานที่สภาวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ทนายความชื่อ Charles Siegel จากสำนักงานทนายความ Houston ได้เข้าพบกับเธอ ทนาย Siegel เล่าว่า ผู้ชายกว่าสองหมื่นคนที่คอสตาริกาเป็นหมันจากการใช้ DBCP ซึ่งส่งไปจากบริษัทดาวเคมิคัลและเชลล์หลังจากสารเคมีชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในสหรัฐฯ ชาวบ้านในคอสตาริกาซึ่งไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับพิษของสารนี้ได้ทิ้งสารที่เหลือใช้ลงในแม่น้ำยังผลให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก และพวกเขาก็ไม่เคยใช้สิ่งปกคลุมใด ๆ เวลาสัมผัสสารชนิดนี้ด้วยเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ถุงมือหรือเสื้อผ้าที่มิดชิดจนสามารถป้องกันการซึมผ่านของสารในสภาพภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิสูงถึงกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์
ทนาย Siegel ได้นำกรณีการเป็นหมันของชาวคอสตาริกาขึ้นฟ้องต่อศาลในรัฐเทกซัส ศาลสูงของมลรัฐนั้นประกาศไม่อนุญาตให้บริษัทดาวเคมิคัล เชลล์และบริษัทอื่นส่งสินค้าที่ก่อปัญหาทางสุขภาพไปยังประเทศอื่น ๆ หลังจากนั้นไม่นานรัฐนี้ก็ออกกฎหมายห้ามมิให้ชาวต่างชาติฟ้องร้องบริษัทของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับศาลของรัฐแคลิฟอร์เนียและฟลอริดา นับจากนั้นมาทนาย Siegel ใช้เวลาอีกกว่า 15 ปีช่วยผู้ชายกว่า 13,000 คนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ฮอนดูรัส นิคารากัว กัวเตมารา ปานามา และฟิลิปปินส์ ฟ้องร้องบริษัทเหล่านี้จนได้ค่าชดเชยถึงกว่า 50 ล้านเหรียญ ขณะนั้น ผู้เขียนได้พยายามศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของเพศเด็กที่เกิดจากผู้ชายที่สัมผัสสารชนิดนี้ แต่เธอกลับไม่สามารถสรุปผลได้เพราะติดปัญหาเรื่องวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามอย่างน้อยเธอก็ทราบว่าผลเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ชายที่สัมผัสกับสารนี้มีค่ามหาศาลจนยากที่จะคำนวณเป็นเงินได้
เรื่องราวของสารเคมีมิได้มีเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1976 เกิดการระเบิดขึ้นในโรงงานแห่งหนึ่งทางเหนือของเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ทำให้สารไดออกซินถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมาก ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ผู้คนหลายร้อยคนเกิดอาการคลื่นเหียน เด็กเกิดผื่นผิดปกติ และมีฟิล์มสีขาวปกคลุมทั่วทั้งบริเวณ การศึกษาระหว่างเดือนเมษายน 1977 ถึงเดือนธันวาคม 1984 พบว่า ผู้ชายที่เคยได้รับสารนี้จากอุบัติเหตุครั้งนั้นให้กำเนิดทารกเพศชาย 26 คนต่อหญิง 48 คนซึ่งต่างจากคู่สมรสทั่วไปที่มีสัดส่วนทารกชายต่อหญิงเท่ากับ 106 ต่อ 100 และชายที่ได้รับสารนี้มากกว่า 100 ส่วนต่อล้านล้านส่วนไม่มีคนใดสามารถเป็นพ่อคนได้เลย แต่หลังจากปี 1985 เป็นต้นมา ผู้ชายที่เคยได้รับสารพิษจากบริเวณนั้นก็กลับมามีบุตรได้อีกและได้บุตรชายในสัดส่วนปกติด้วย ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งพบว่า ในคู่สมรสที่สัมผัสสารนี้ทั้งสองฝ่ายสัดส่วนบุตรชายต่อหญิงจะเท่ากับ 113 ต่อ 137 ส่วนในคู่สมรสที่ฝ่ายชายเท่านั้นที่สัมผัสกับสารนี้สัดส่วนบุตรชายต่อหญิงจะเท่ากับ 88 ต่อ 103 และในคู่สมรสที่เพศหญิงเท่านั้นที่สัมผัสสารนี้สัดส่วนบุตรชายต่อหญิงจะเท่ากับ 127 ต่อ 106 นั่นหมายความว่า สารนี้น่าที่จะทำให้ความสามารถในการมีบุตรชายของผู้ชายลดลง
ดังที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว สหรัฐฯ มิได้ผูกขาดเรื่องปัญหาสุขภาพอันเกิดจากสารเคมี เมื่อปี 1980 Niels Skakkebaek ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการมีลูกแห่งเดนมาร์กต้องการทราบว่า เหตุใดผู้ชายที่จะบริจาคอสุจิชั้นดีจึงหายากเย็นยิ่งนัก เขาจึงเริ่มศึกษาผู้ชายที่ทำงานด้านเสี่ยงอันตรายและพบว่าจำนวนตัวอสุจิของคนกลุ่มนี้มีน้อยกว่าคนปกติประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อเขาและ Elizabeth Carlsen ศึกษาข้อมูลย้อนหลังระหว่างปี 1938-1991 ก็พบว่า จำนวนตัวอสุจิของผู้ชายในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาลดลงจาก 113 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรเหลือเพียง 66 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรเท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ กลับแย้งว่า การศึกษานั้นไม่น่าจะถูกต้องเพราะชาวแคลิฟอร์เนียก็มีจำนวนตัวอสุจิน้อยกว่าชาวนิวยอร์กเช่นกัน อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งนี้มิได้อ้างถึงลักษณะของประชากรของแคลิฟอร์เนียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเอเซียซึ่งมักมีจำนวนตัวอสุจิน้อยกว่าคนผิวขาวอยู่แล้ว
การศึกษาของ Jose Garcia-Rodriguez จากมหาวิทยาลัยกรานาดาแห่งสเปนซึ่งเป็นเมืองที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากที่สุดในประเทศนั้นพบว่า อัตราการทำผ่าตัดแก้ไขปัญหาอัณฑะไม่ลงถุงของย่านนั้นสูงกว่าส่วนอื่นของสเปนถึง 2 เท่า นอกจากนั้นระดับของ heptachlorepoxide (HCE) และ hexachlorobenzene (HCB) ซึ่งเป็นผลิตผลของกระบวนการสันดาปของยาฆ่าแมลงในเลือดของเด็กเหล่านั้นยังสูงกว่าปกติอีกด้วย ส่วนการศึกษาที่ทำโดย Vincent Garry แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตาพบว่า เด็กชายที่เกิดจากผู้ชายที่ใช้ยาฆ่าแมลงจะมีความผิดปกติมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ปฏิสนธิในช่วงฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่มีการปลูกข้าวสาลีและมีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นพิเศษ การศึกษาส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่า ช่วงเวลาในการสัมผัสสารมีความสำคัญมากกว่าปริมาณของสารที่สัมผัส การสัมผัสในช่วงก่อนปฏิสนธิมีผลต่อสุขภาพระบบสืบพันธุ์เพศชาย และการรบกวนของสารเคมีที่เกิดขึ้นในขณะที่ทารกเพศชายกำลังเริ่มสร้างอวัยวะเพศทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะเพศชายได้หลายรูปแบบ เช่น อัณฑะไม่ลงถุง องคชาตมีรูปร่างผิดปกติและมะเร็งอัณฑะ
นอกจากสารเคมีดังที่กล่าวถึงแล้ว มลพิษในอากาศก็มีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติกับมนุษย์เพศชายได้เช่นกัน การศึกษาของ Mildred Maisonet แห่งศูนย์การควบคุมโรคของสหรัฐฯ พบว่า เด็กที่คลอดระหว่างปี 1994-1996 ในเมืองใหญ่ 6 เมืองของสหรัฐซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด นั่นคือ บอสตัน ฮาร์ทฟอร์ด ฟิลาเดลเฟีย พิตซเบิร์ก สปริงฟิลด์และวอชิงตัน ดีซี พบว่า เด็กจะมีน้ำหนักตัวน้อย มีขนาดของอัณฑะเล็กและการทำงานของไตต่ำผิดปกติ ซึ่งตรงกับผลการศึกษาที่ทำในเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป นอกจากนั้นกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยังพบว่า ประชากรของพวกเขามีคุณภาพของตัวอสุจิลดลง ซ้ำร้ายเด็กจากพ่อที่มีบุตรยากยังมีแนวโน้มที่จะเกิดมะเร็งอัณฑะเพิ่มขึ้น และผู้ที่เป็นมะเร็งอัณฑะมีแนวโน้มที่จะมีบุตรชายน้อยกว่าปกติด้วย ยิ่งกว่านั้นการศึกษาที่เพิ่งทำขึ้นในปี 2002 ยังพบอีกว่า ผู้ชายที่ไปคลินิกเพราะมีบุตรยากนั้น นอกจากจะมีจำนวนตัวอสุจิน้อยแล้ว อสุจิยังมีรูปร่างและความเร็วผิดปกติด้วย และคนกลุ่มนี้จะมีระดับของสาร PCBs สาร DDE และยาฆ่าแมลงในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า การแยกเพศในทารกมิได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนปฏิสนธิ แต่เริ่มขึ้นเมื่อทารกอายุระหว่างสัปดาห์ที่ 6-9 โดยถูกกำกับจากโครโมโซม Y โครโมโซมตัวนี้จะส่งสัญญาณไปยัง Sertoli cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการกำกับการสร้างอวัยวะสืบพันธุ์เพศชายและสร้างฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า เทสโทสเตอโรน การที่จะเป็นผู้ชายโดยสมบูรณ์ได้นั้น การทำหน้าที่ของ Sertoli cell ต้องเป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่ถูกขัดจังหวะ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายสูงอายุหรือชายที่ทำงานโรงงานจะมีฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลงส่งผลให้ Sertoli cell ผิดปกติจนเกิดการสร้างอวัยวะเพศชายที่ผิดปกติ บุตรชายของคนเหล่านี้จะไม่มีอัณฑะและมีองคชาตเล็กเสียจนกระทั่งแพทย์คิดว่าเด็กเป็นผู้หญิง แต่เมื่อเด็กไม่สามารถพัฒนาเป็นหญิงสาวได้จึงทราบภายหลังว่า แท้ที่จริงพวกเธอเป็นผู้ชายจากผลการตรวจพบโครโมโซม Y
ในญี่ปุ่น ร้อยละ 66 ของเด็กตายตอนคลอดเป็นเพศชายและอัตราการเกิดของเด็กชายก็น้อยกว่าเด็กหญิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะธรรมชาติของเพศชายมีความอ่อนไหวต่อสารเคมีมากกว่าเพศหญิง นักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าน่าจะเป็นผลมาจากสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์จนคุกคามการพัฒนาทางเพศของเด็กชาย หรือสารพิษที่ผู้เป็นพ่อเด็กรับก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เด็กเจริญเติบโตอย่างไม่ราบรื่น อย่างไรก็ดีการหาคำตอบสำหรับประเด็นนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ พยายามทำให้ประชาชนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือไม่เป็นปัญหา
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเพศชายกลายเป็นเรื่องร้อนแรงมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ก็รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเพื่อการประชาสัมพันธ์ขึ้นชื่อ The Advancement of Sound Science Coalition (TASSC) เพื่อรับมือกับปัญหา องค์กรนี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้ร่างนโยบายจำนวนมากจึงทำให้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นจากองค์กรดูน่าเชื่อถือ แต่แท้ที่จริงแล้วเงินสนับสนุนที่องค์กรได้รับกลับมาจากบริษัท Philip Morris ผู้ผลิตบุหรี่ชั้นนำของโลกและฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการสร้างความสงสัยในหมู่ประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพ แม้ว่าหลังปี 2002 องค์กรนี้ต้องสลายตัวไปเพราะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ก็ยังคงเหลือเว็บไซด์ไว้เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คนต่อไปอีก
นอกจากสารเคมีแล้ว สัดส่วนของทารกเพศชายยังอาจได้รับผลกระทบจากอีกหลายปัจจัย เช่น อายุที่แตกต่างกันมากของคู่สมรส ชายสูงอายุ การมีเพศสัมพันธ์จำนวนน้อยครั้ง เด็กหลอดแก้ว และความเครียดซึ่งปัจจัยสุดท้ายนี้ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติโคโทรปินเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้ที่เพิ่มขึ้นในผู้ชายจะทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายลดลง แต่กลับมีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดบุตรสาวเพิ่มขึ้น ส่วนฮอร์โมนนี้ที่เพิ่มขึ้นในผู้หญิงกลับทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้เกิดบุตรชายเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันผู้คนจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นหรือมีบุตรเมื่อมีอายุสูงขึ้นก็ตาม แต่ปัจจัยทั้งสองนี้คงมิได้เกิดขึ้นในทุกสถานที่จึงไม่น่าที่จะใช้อธิบายการลดลงของทารกเพศชายได้ในทุกกรณี
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ สารเคมีไม่เพียงส่งผลกระทบในมนุษย์ผู้ชายเท่านั้น ยังทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศในสัตว์ด้วย Ted Kerstter นักสัตว์วิทยารายงานในวารสาร Journal of Environmental Biology ว่า อวัยวะเพศผู้ของปลา Chinook salmon ในแม่น้ำโคลัมเบียในย่านตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีการบิดตัวของถุงอัณฑะ อัณฑะไม่ลงถุง และองคชาตเล็ก ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุของความผิดปกติได้ แต่เขาตั้งข้อสงสัยไว้ว่า บริเวณที่พบสัตว์ที่มีอวัยวะเพศผิดปกติมีการใช้สเปรย์กับธัญพืชมากเป็นพิเศษซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุของความพิการนี้ก็เป็นได้ นอกจากนี้ นักนิเวศน์วิทยาซึ่งศึกษาความผิดปกติของปลาวาฬ Beluga whaleในแคนาดายังพบว่าหอยแมลงภู่สีน้ำเงิน ที่ปลาวาฬชนิดนี้กินเป็นอาหารมีสารไฮโดรคาร์บอนในเนื้อเยื่อมากที่สุดในโลก ผลการชันสูตรศพของปลาวาฬนี้พบว่า ร้อยละ 20 มีสาร PCBs และออแกนโนคลอไรด์อื่น ๆ ในระดับสูงเป็นพิษ นอกจากนั้นในปี 1989 มีการพบปลาวาฬชนิดนี้มีรังไข่และอัณฑะอย่างละสองอันในตัวเดียวกันด้วย ผู้เขียนสรุปว่า จากรายงานในสัตว์ทั้งหมดนี้น่าที่จะเป็นข้อเตือนใจสำหรับมนุษย์ด้วย แม้ว่ามนุษย์จะไม่เหมือนสัตว์เลยเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยมนุษย์ก็มิได้แตกต่างจากสัตว์มากนัก
จากข้อมูลและผลการศึกษาทั้งหมดที่ผู้เขียนรวบรวมไว้ในบทที่ 7 ของหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งนำมาเล่านี้น่าที่จะก่อให้เกิดความตระหนักว่า ถ้าบริษัทต่าง ๆ ยังคงมีความฉ้อฉลและพยายามที่จะปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี ประกอบกับการที่โลกยังคงเร่งรัดพัฒนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา สารเคมีที่มีอันตรายและมลพิษร้ายจะสะสมมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่ออัตราการเกิดและความผิดปกติของเพศชาย และหากเราไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง ในวันหนึ่งข้างหน้าผู้ชายอาจจะสูญพันธุ์ไปเลยดังที่วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษตั้งข้อสังเกตไว้ก็เป็นได้
