You are here: Home > Hot Topic, Science & Envi > The Last Oil Shock / วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้าย

The Last Oil Shock / วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้าย

(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมา  แม้ว่าในบางช่วงมันจะลดลงบ้างก็ตาม แต่การลดลงกลับอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าการขึ้น  เป็นไปได้หรือไม่ว่า ยุคของน้ำมันราคาถูกได้สิ้นสุดลงแล้ว ?  David Strahan นักข่าวและนักสร้างภาพยนตร์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และธุรกิจ มีคำตอบในหนังสือชื่อ The Last Oil Shock: A Survival Guide to the Imminent Extinction of Petroleum Man  นอกจากจะตอบคำถามนั้นแล้ว หนังสือขนาด 292 หน้าซึ่งพิมพ์เมื่อกลางปี ค. ศ. 2007 เล่มนี้ ยังจะตอบคำถามอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่าปริมาณน้ำมันสำรองกำลังจะลดลงจนถึงจุดต่ำสุด ?  เหตุใดบริษัทน้ำมันต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญเกลียดการพูดถึงประเด็นกำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันสำรอง ?  การบุกอิรักของสหรัฐอเมริกามาจากประเด็นน้ำมันจริงหรือไม่ ?  อิหร่านจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเช่นที่กำลังเกิดกับอิรักหรือไม่ ?  การขาดแคลนน้ำมันจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่และจะส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันของมหาอำนาจหรือไม่ ?  แล้วมนุษย์จะทำอะไรได้บ้างหรือไม่ ?

                   ในบทนำ ผู้เขียนเริ่มเรื่องด้วยการสารภาพว่า เขาไม่เคยให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาน้ำมันเลยจนเมื่อเขาพบกับ มาเรียน คิง ฮับเบอร์ต (Marion King Hubbert) นักธรณีวิทยาของบริษัทเชลล์ผู้ทำนายได้อย่างถูกต้องว่า ความสามารถในการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะขึ้นถึงจุดสูงสุดและเริ่มลดลงก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงถึง 15 ปี  เขาจึงเริ่มกังวลว่า วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของโลกกำลังจะคืบคลานเข้ามา ทั้งนี้เพราะสมการของฮับเบอร์ตทำนายว่า กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกกำลังจะลดลงอย่างถาวร  ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า การตัดสินใจบุกอิรักของสหรัฐฯ เมื่อสามปีก่อนก็น่าที่จะมาจากเหตุผลเรื่องน้ำมันมากกว่าอาวุธร้ายแรงดังที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวอ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันว่าโลกกำลังจะเผชิญหน้ากับการขาดแคลนน้ำมันในอนาคตอันใกล้จริง ?

                ในบทที่ 1 ผู้เขียนพูดถึงข้อมูลทางด้านน้ำมันจากกรุงวอชิงตัน  เขาเริ่มเรื่องด้วยการไปพบกับ หลุยซ์ คริสเตียน ผู้ชำนาญการทำแผนที่ตะวันออกกลางและนักธรณีวิทยาที่เพิ่งจะเกษียณมาจากบริษัทน้ำมันที่เมืองดัลลัส  คริสเตียนเล่าให้เขาฟังว่า ในฤดูใบไม้ผลิปี 1998 องค์การธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (United State Geological Survey หรือ USGS) ได้ว่าจ้างเขาทำแผนที่อิรัก  ข้อมูลที่ USGS ต้องการมิใช่เพื่อให้เรือดำน้ำเข้าโจมตีกรุงแบกแดด แต่กลับเป็นเรื่องทางด้านธรณีวิทยา โครงสร้างภายใต้พื้นดิน ความหนาและชนิดของหินซึ่งเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการคำนวณปริมาณน้ำมัน

                  หลังจากที่คริสเตียนส่งมอบแผนที่ใหม่ของอิรักให้กับ USGS ในตอนกลางเดือนพฤศจิกายนปี 1999 รองประธานาธิบดีดิกค์ เชนนี่ ซึ่งตอนนั้นยังทำงานในด้านกิจการน้ำมันได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่นครลอนดอนท่ามกลางตัวแทนจากบริษัทน้ำมันกว่า 400 บริษัททั่วโลก  เชนนี่ให้ข้อมูลว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 ต่อปีจนทำให้ความต้องการน้ำมันในปี 2010 เพิ่มขึ้นถึงวันละ 50 ล้านบาร์เรล แต่กำลังการผลิตน้ำมันกลับจะลดลงถึงร้อยละ 3 ต่อปี  แล้วน้ำมันจะมาจากไหน ?  แหล่งที่มีน้ำมันสูงสุดและราคาถูกที่สุดคือตะวันออกกลาง  แต่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อประเทศในภูมิภาคนั้นกลับทำให้ต้นทุนจากแหล่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  สี่เดือนหลังปาฐกถา เชนนี่ได้สมัครเข้าแข่งขันเป็นรองประธานาธิบดีและหลังชนะเลือกตั้งมีหน้าที่ดูแลนโยบายการต่างประเทศและพลังงาน

                  ย้อนไปในปี 1980 เมื่อซัดดัม ฮุสเซนเผาชาวเคิร์ทห้าพันคน แทนที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการลงโทษ สหรัฐฯ กลับให้ความช่วยเหลืออิรักโดยการให้อาวุธซึ่งรวมทั้งอาวุธชีวภาพพร้อมกับเงินกู้อีกห้าพันล้านเหรียญส่งผลให้อิรักมีกำลังทหารที่แข็งแกร่งขึ้น  ในปี 1990 เมื่ออิรักบุกคูเวต สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษอิรัก แต่การทำเช่นนั้นกลับทำให้สหรัฐฯ หมดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันใหญ่  นับจากนั้นมาสหรัฐฯ จึงเริ่มวางตัวแบบอันธพาล

                อิรักมีปริมาณน้ำมันสำรองสูงเป็นอันดับสามของโลกรองจากซาอุดีอาระเบียและอิหร่านคือ มีถึง 1.57 แสนล้านบาร์เรล แต่ผลิตออกมาขายได้เพียงวันละ 2 ล้านบาร์เรลเท่านั้นทั้ง ๆ ที่ควรผลิตออกมามากกว่านี้ถึง 3 เท่า  ทั้งนี้เพราะอิรักถูกมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ จากการบุกคูเวต  สถิติบ่งว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวอิรักมีอาหารยังชีพคนละเพียง 1200 แครอลี่ต่อวันซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารที่คนทั่วไปควรได้รับ ส่งผลให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนกว่าล้านคนขาดอาหารและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก  โครงการน้ำมันแลกอาหารจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1997  แม้ว่าอิรักจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากสหรัฐฯ แต่ก็เพียงจำกัดจำเขี่ยยิ่ง  ซ้ำร้ายในช่วงสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักครั้งหลังสุดนี้ สหรัฐฯ ยังเน้นการทำลายแหล่งวัฒนธรรมเก่า ๆ  แหล่งสาธารณูปโภคทั้งหลาย เช่น โรงไฟฟ้า โรงกำจัดขยะและน้ำเสีย แหล่งน้ำมัน อีกทั้งยังห้ามการซ่อมแซมสาธารณูปโภคอีกด้วย  การจำกัดการเข้าถึงคลอรีนเพื่อบีบบังคับให้อิรักใช้น้ำจากแม่น้ำยังผลให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยจากอหิวาตกโรคและไทฟอยด์  ผู้เขียนคาดว่าจำนวนคนตายด้วยน้ำมือของ คลินตัน บุช และแบลร์ จากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและสงครามจะมากกว่าจำนวนคนตายด้วยน้ำมือของซัดดัมเองเสียอีก 

                ในปี1998 พอล วูด วิศวกรน้ำมันชาวอังกฤษได้รับอนุมัติจากองค์การสหประชาชาติให้เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันในอิรัก  วูดเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าอุปกรณ์น้ำมันทั้งหลายในอิรักได้รับความเสียหายจากสงคราม  ยิ่งไปกว่านั้น อิรักยังขาดแคลนอะไหล่เพื่อใช้ในการซ่อมแซมความเสียหาย  คณะสำรวจสรุปว่า อิรักไม่มีทางที่จะผลิตน้ำมันให้ได้สูงถึงสี่พันล้านบาร์เรลอย่างแน่นอน  การบีบบังคับให้อิรักเร่งผลิตน้ำมันโดยขาดการทำนุบำรุงรังแต่จะเร่งให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำมันและท่อต่าง ๆ  อิรักควรได้รับอะไหล่เพิ่มขึ้น  แต่ดีอิรักกลับมิเคยได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เพิ่มเติมหลังจากการสำรวจครั้งนั้น

                การที่น้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญจึงทำให้มันมีส่วนสำคัญยิ่งต่อนโยบายของรัฐบาลอเมริกันสมัย จอร์จ ดับเบิลยู บุช  คณะทำงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานให้กับบริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น เช่น รัฐมนตรีกลาโหมโรนัลด์ รัมเฟลด์ เคยทำงานให้กับบริษัทบริการน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  รัฐมนตรีต่างประเทศคอนโดลิซ่า ไรซ์ เคยทำงานให้กับบริษัทเชฟรอน ฯลฯ  การที่คนเหล่านี้เคยทำงานในบริษัทน้ำมันจึงน่าที่จะทราบสถานการณ์น้ำมันในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี  หลักฐานคือจดหมายที่รัมสเฟลด์เขียนถึงประธานาธิบดีคลินตันเพื่อเสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างความแข็งกร้าวทางด้านทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซีย  หลังจากที่รัมสเฟลด์และเชนี่ย์เข้าร่วมรัฐบาลกับบุช พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะบุกอิรักโดยในการประชุมมิได้มีการพูดถึงเหตุผลแต่ประการใด  สาเหตุที่แท้จริงกลับถูกค้นพบหลังจากนั้นราว 18 เดือนจากเอกสารที่มีแผนที่แหล่งน้ำมันของอิรักและข้อมูลที่บ่งบอกว่า บริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส นอร์เวย์ ฯลฯ กำลังจะได้สัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในอิรักโดยที่บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ และอังกฤษต่างไม่มีโอกาสได้แบ่งปันผลประโยชน์แต่ประการใด 

                เจ็ดเดือนหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ดเทรดในนิวยอร์ก แบลร์ได้เดินทางไปพบบุชที่สหรัฐฯ  ผู้เขียนทราบมาว่า การพบกันในครั้งนั้นทั้งสองได้ตกลงกันในหลักการที่จะบุกอิรักอย่างแน่นอนเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงาน  ก่อนการบุกอิรักจะเริ่มขึ้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ด้วยความช่วยเหลือของบริษัทต่างชาติ ปริมาณการผลิตน้ำมันในอิรักน่าที่จะเพิ่มขึ้นได้ถึงเท่าตัวภายในปี 2010  แต่หลังจากที่สงครามเริ่มขึ้นกลับไม่มีบริษัทต่างชาติใดกล้าเข้าไปลงทุนในอิรักอีก ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ มุ่งโจมตีโรงกลั่นและท่อน้ำมันส่งผลให้ความสามารถในการผลิตน้ำมันของอิรักลดน้อยถอยลงไปอีก ผลลัพธ์จึงตรงกันข้ามกับที่รัมสเฟลด์คาดการณ์ไว้  แต่อย่างน้อยการบุกอิรักก็กลายเป็นหลักฐานที่ประจักษ์ชัดถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการหาแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ อีกทั้งยังส่งผลให้หลายประเทศยอมจำนนต่อสหรัฐฯ ด้วยความหวาดกลัวว่าอาจต้องถูกรุกรานเป็นประเทศต่อไปตามแต่สหรัฐฯ จะสรรหาเหตุผลมาอ้าง

             ผู้เขียนได้กลับไปหาหลุยซ์ คริสเตียนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2005 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เขาพบว่า คริสเตียนเพิ่งได้รับการร้องขอให้ทำแผนที่อิหร่าน  คำขอนี้จึงน่าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า ปัญหาน้ำมันจะประเด็นจูงใจในการบุกอิหร่านเหมือนอย่างที่ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยไว้ 

             บทที่ 2 พูดถึงกราฟอันตรายที่ฮับเบอร์ตเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1956 ว่าปริมาณน้ำมันที่สหรัฐฯ ผลิตจะขึ้นถึงจุดสูงสุดภายในปี 1970  ฮับเบอร์ตอธิบายว่า จริงอยู่นับจากปี 1880-1930 ความสามารถในการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปียังผลให้กราฟพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ภายในเวลาประมาณ 9 ปี ปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า  แต่หลักฐานยืนยันว่าแม้ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแต่ก็เพิ่มในอัตราที่ลดลงเรื่อยมาจนกระทั่งติดลบ  เขาจึงสรุปว่าความสามารถในการผลิตน้ำมันน่าที่จะเป็นรูประฆังคว่ำ ทั้งนี้เพราะการกำเนิดของน้ำมันต้องใช้เวลากว่าห้าร้อยล้านปี  มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่น้ำมันจะไม่หมดไปจากโลกหากมนุษย์ยังดูดมันขึ้นมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  ฮับเบอร์ตคาดว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันจะเริ่มลดลงเมื่อน้ำมันที่ดูดขึ้นมารวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของปริมาณที่มีอยู่ทั้งหมด ณ แหล่งนั้น ๆ

                ความจำกัดในการผลิตน้ำมันเกิดขึ้นจากวิธีการผลิตที่ต้องอาศัยความแตกต่างระหว่างแรงดันในบ่อกับพื้นผิวเพื่อดูดเอาน้ำมันออกมาจากหิน  ความแตกต่างของแรงดันจะเริ่มลดลงเมื่อน้ำมันถูกดูดออกจากบ่อ  เมื่อความแตกต่างของความดันสิ้นสุดลงความสามารถในการดูดน้ำมันออกจากบ่อก็หมดไปด้วย  วิธีแก้ปัญหาของบริษัทน้ำมันก็คือการขุดบ่ออีกบ่อหนึ่งห่างออกไปแล้วอัดฉีดน้ำหรือก๊าซเข้าไปเพื่อรักษาความดันให้น้ำมันไหลผ่านท่อออกมาได้อีก  แต่เมื่อปริมาณน้ำที่อัดฉีดเข้าไปเท่ากับความสามารถในการผลิตน้ำมัน น้ำจะแทนที่น้ำมันทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำมันหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง  ยิ่งบ่อเก่าเท่าไรเงินลงทุนยิ่งเพิ่มขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับลดลงจนในที่สุดบริษัทต้องเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งอื่น และเมื่อใดที่บริษัทหยุดขุดบ่อใหม่ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ก็จะลดลงไปด้วย  อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทหยุดผลิตน้ำมันจากบ่อ น้ำมันที่เหลืออยู่ในบ่อนั้นยังสูงถึง 2 ใน 3 ของที่เคยมีอยู่ในบ่อเลยทีเดียว 

              วิธีการแก้ไขอีกวิธีหนึ่งก็คือ หลีกเลี่ยงการผลิตจนถึงระดับสูงสุดเพื่อชะลอการลดลงอย่างรวดเร็ว  วิธีการนี้อาจไม่ถูกต้องนักตามหลักทางธุรกิจเพราะเงินในวันนี้ย่อมมีค่ามากกว่าเงินในอนาคต  แต่บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องทำเพื่อยืดระยะเวลาในการผลิต  นอกจากนั้นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของการขุดเจาะน้ำมันก็คือ บ่อที่พบบ่อแรกจะเป็นบ่อที่ใหญ่ที่สุด  บ่อต่อ ๆ มาจะเล็กลงและมีปริมาณน้ำมันลดลง

                ฮับเบอร์ตสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการน้ำมันเป็นอย่างมาก  นักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามหาหนทางที่จะโต้แย้ง เช่น มอร์แกน เดวิส หัวหน้านักธรณีวิทยาและกรรมการของบริษัทเอ๊กซอนพยายามคำนวณหาปริมาณน้ำมันสำรองด้วยวิธีการใหม่ยังผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปริมาณน้ำมันสำรองที่ฮับเบอร์ตคำนวณไว้ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำมันยังคงมีมากพอไปอย่างน้อยอีกหนึ่งชั่วอายุคน  ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่าปริมาณการผลิตสะสมจะเกิดขึ้นช้ากว่าปริมาณการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ซึ่งข้อคิดนี้ฮับเบอร์ตเห็นว่าเป็นไปได้  เขาจึงนำข้อมูลที่ได้จากการขุดเจาะและการผลิตมาพล็อตลงบนกราฟตามสมการที่ใช้คำนวณอัตราการเพิ่มของประชากรในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้เพราะข้อมูลย้อนหลังของสหรัฐฯ เป็นไปตามสมการนี้  เขาพบว่าปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตราเกือบเป็นศูนย์ที่ 1.7 แสนล้านบาร์เรลซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของที่เขาคำนวณปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ทั้งหมดจากสมการที่เขาคิดขึ้นในปี 1956  นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำมันที่พบได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว  การที่คนในวงการน้ำมันส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับความคิดของฮับเบอร์ตได้เป็นเพราะความคิดของเขาคุกคามต่อความมั่นคงขององค์กรและทำลายอัตตาของผู้คนในวงการนั่นเอง

                การคำนวณของฮับเบอร์ตมิได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับนโยบายน้ำมันของสหรัฐฯ เพราะการคาดการณ์ของ USGS อาศัยสมมติฐานของนักธรณีวิทยาชื่อ เอ. ดี. แซปป์ ซึ่งมีพื้นฐานในการตั้งสมมติฐานต่างจากฮับเบร์ต จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 เมื่อกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลางลดการผลิตน้ำมันลง  สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกลับไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตและให้ความช่วยเหลือประเทศคู่สงครามได้จึงเท่ากับเป็นการยืนยันทฤษฎีของ ฮับเบอร์ตนั่นเอง  เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้วินเซนต์ แมคเคลวี ผู้บริหาร USGS ถูกไล่ออก

                ในบทที่ 3 ผู้เขียนพูดถึงลักษณะและปริมาณน้ำมันที่เก็บสำรองไว้  เขาเริ่มต้นด้วยสถานการณ์พายุแคทธลีนาที่นิวออร์ลีนส์ในเดือนสิงหาคมปี 2005 ที่ทำให้โลกทั้งโลกต้องตื่นตะลึง  ทั้งนี้เพราะนอกจากพายุลูกนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินแล้วยังได้ทำความเสียหายให้กับแหล่งผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกซึ่งมีกำลังการผลิตถึงวันละ 1.5 ล้านบาร์เรลอีกด้วย  สถานการณ์นี้จึงเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามในตะวันออกกลางเมื่อปี 1973 ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องนำน้ำมันที่เก็บสำรองไว้ออกมาใช้  ปัญหาที่ตามมาคือ น้ำมันที่เก็บสำรองของสหรัฐฯ เป็นน้ำมันดิบที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที ซ้ำร้ายโรงกลั่นที่ถูกทำลายยังเป็นของสหรัฐฯ เองส่งผลให้น้ำมันดิบที่เก็บสำรองของสหรัฐฯ กลายเป็นของไร้ค่า  น้ำมันเก็บสำรองที่ถูกนำมาใช้กลายเป็นของกลุ่มประเทศยุโรปทำให้ราคาน้ำมันในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

                นอกจากนั้นสถานการณ์นี้ยังเป็นการยืนยันว่าปริมาณการผลิตของโลกเกือบเท่ากับความต้องการแล้ว  เมื่อแหล่งผลิตหนึ่งถูกทำลายโลกย่อมต้องการแหล่งผลิตใหม่มาเสริม  ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่มีแหล่งผลิตที่นำมาเสริมได้กลับผลิตน้ำมันที่มิใช่น้ำมันที่โลกต้องการ ทั้งนี้เพราะน้ำมันจากแหล่งนี้เป็นน้ำมันที่มีกำมะถันและมีน้ำหนักมากเกินไป  นั่นหมายความว่า แหล่งน้ำมันสำรองที่โลกมีอยู่กลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปโดยปริยาย  สถานการณ์พายุแคทธลีนาจึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า ความต้องการน้ำมันเกือบเท่ากับความสามารถในการผลิตแล้ว  แม้ว่าเฟธ บิรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งองค์การพลังงานระหว่างประเทศจะยังคงยืนยันว่าโลกจะมีปริมาณน้ำมันเพียงพอไปจนถึงปี 2030 เช่นเดียวความเห็นของลอร์ด บราวน์ แห่งมาดิงลี ประธานผู้บริหารของบีพี บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ค่ายอังกฤษ  แต่ผู้เขียนกลับไม่เห็นด้วย  เขาจึงไปสอบถามริชาร์ด ฮาร์ดแมน ประธานสมาคมนักธรณีวิทยาแห่งอังกฤษ  ฮาร์ดแมนให้ความเห็นว่า โอกาสที่โลกจะค้นพบแหล่งน้ำมันใหญ่ ๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของการค้นพบแหล่งน้ำมันนั้นมักเริ่มต้นจากแหล่งใหญ่  ๆ ก่อน   ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดของแหล่งที่ค้นพบได้ลดลงจาก 1.5 พันล้านบาร์เรลเหลือเพียงแค่ 45 ล้านบาร์เรลเท่านั้น  นั่นหมายความว่า แหล่งใหญ่ ๆ น่าที่จะถูกค้นพบไปหมดแล้ว  ซ้ำร้ายปริมาณการบริโภคน้ำมันยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากวันละ 10 ล้านบาร์เรลในปี 1950 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลาหนึ่งทศวรรษและกลายเป็น 3 เท่าในอีกทศวรรษต่อมา  ยิ่งเมื่อประเทศใหญ่สองประเทศคือ จีนและอินเดีย พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการน้ำมันยิ่งสูงขึ้นในอัตราสามเท่าของการค้นพบ 

                รายงานจากวารสาร BP Statistic Review เปิดเผยว่า 18 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก เช่น นอร์เวย์ โอมาน อาร์เจนติน่า อียิปต์ ออสเตรเลีย โคลัมเบีย สหรัฐฯ และอังกฤษ ได้ผลิตจนเลยจุดสูงสุดไปแล้ว  ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมกันของประเทศเหล่านี้ได้ลดลงจาก 22.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 1996 เหลือเพียง 19 ล้านต่อวันในปี 2005 หรือลดลงถึงปีละ 3%  ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น เม็กซิโก เติร์กเมนิสทานและบรูไน กำลังการผลิตก็กำลังจะขึ้นถึงจุดสูงสุดเช่นกัน  แม้ว่าในรายงานเดียวกันนี้ยังมีประเทศที่การผลิตเพิ่มขึ้น เช่น อาเซอร์ไบจัน ไทยและแอฟริกาตะวันตก แต่ปริมาณที่ผลิตได้จากประเทศเหล่านี้กลับไม่สามารถทดแทนปริมาณที่ลดลงจากประเทศผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังการผลิตจากรัสเซียก็เริ่มคงที่นับจากปี 2005 เป็นต้นมาเช่นกัน  ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตการณ์จากพายุแคทธลีนาอาจเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้ายก็เป็นได้

              บทที่ 4 เป็นเรื่องของพลังงานทางเลือก  ผู้เขียนเริ่มเรื่องด้วยสถานการณ์ที่นักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมมาชุมนุมกันที่หน้าตลาดค้าน้ำมันในลอนดอนเมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ 2005 ด้วยความหวังที่จะกดดันให้หยุดการผลิตน้ำมันเพิ่มเพราะพวกเขาเชื่อว่าน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น  สตีเฟน ทินเดล ผู้อำนวยการกรีนพีซ (Green Peace) ให้ความเห็นไว้ว่าชาวโลกควรเร่งหาทางผลิตและเพิ่มเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจหมายถึง เชื้อเพลิงชีวภาพและไฮโดรเจน  ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องที่อาร์โนลด์ ชวารเซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียใช้ความพยายามในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการออกนโยบายส่งเสริมการมีปั้มก๊าซไฮโดรเจนเพื่อให้ประชาชนที่มีรถชนิดขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น  แต่พลังงานไฮโดรเจนอาจมิใช่ทางเลือกที่ดีนักเพราะแม้ว่ารถชนิดนี้จะมีความสามารถในการขับเคลื่อนได้ไม่น้อยกว่ารถทั่วไปและของเสียจากรถจะไม่ใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ตาม แต่การที่ราคารถยังคงสูงถึงคันละ 1 ล้านดอลลาร์กลับไม่สร้างแรงจูงใจในการซื้อแต่อย่างใด  นอกจากนั้นรถประเภทนี้ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย น้ำหนักถังก๊าซ และประสิทธิภาพในการเผาไหม้ซึ่งสุดท้ายแล้วพลังงานที่ได้รับยังคงไม่มากไปกว่าของรถจำพวกลูกผสมระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้าที่เรียกกันว่า “ไฮบริด” (Hybrid) ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะการผลิตก๊าซไฮโดรเจนยังคงต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ดี

            นอกจากนั้นการจะผลิตก๊าซไฮโดรเจนให้เพียงพอต่อความต้องการอาจต้องใช้กังหันลมซึ่งเท่ากับการต้องใช้พื้นที่จำนวนมากจนทำให้ไม่เหลือพื้นที่ในการเพาะปลูก  ยิ่งกว่านั้นทัศนียภาพจากการมีเสากังหันลมตั้งอยู่ทุก ๆ 500 เมตรคงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะยอมรับได้ง่าย ๆ  อีกประการหนึ่ง โจ รอมม์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Hype About Hydrogen ให้ความเห็นว่า ไฮโดรเจนควรเป็นพลังงานทางเลือกสุดท้าย ทั้งนี้เพราะมันประหยัดพลังงานได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นจึงทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้คือ พลังงานชีวภาพ  ผู้เขียนเล่าว่าบริษัท Global Commodities สามารถผลิตดีเซลจากน้ำมันที่ผ่านการหุงต้มได้แล้วถึง 350 ล้านลิตรต่อปี  ปัญหาสำหรับการผลิตดีเซลจากน้ำมันที่ผ่านการหุงต้มแล้วคือ การหาน้ำมันชนิดนั้นให้ได้เพียงพอ 

                  ไบโอดีเซลก็น่าที่จะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งเพราะพลังงานชนิดนี้สามารถผลิตได้จากเมล็ดพืช  อย่างไรก็ดี การใช้พลังงานนี้ยังมีปัญหาหลายประการคือ 1) ต้องมีการดัดแปลงรถขนานใหญ่เพราะรถในปัจจุบันสามารถใช้พลังงานชนิดนี้ผสมได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น  2) เอธานอลให้พลังงานเพียง 2 ใน 3 ของพลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียม  3) นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าพลังงานชนิดนี้สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยเพียงใด  4) การปลูกพืชเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลังงานชีวภาพเป็นการแย่งพื้นที่ในการปลูกพืชที่ใช้ทำอาหาร  การคำนวณพบว่าหากต้องการผลิตพืชเพื่อแทนที่พลังงานที่ใช้กันในปัจจุบัน 5% ต้องใช้พื้นที่ถึงร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกพืชที่ใช้ทำอาหาร  และแม้ว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอาหารทั้งหมดมาปลูกพืชเพื่อใช้ทำพลังงานก็ยังจะทดแทนพลังงานจากน้ำมันได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น  การศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาพบว่า หากเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกอาหารทั้งหมดของสหรัฐฯ มาปลูกพืชเพื่อใช้ทำพลังงานชีวภาพจะได้พลังงานเพียงร้อยละ 12 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ใช้กันในประเทศเท่านั้น

                ทางออกใหม่ที่น่าจะเป็นไปได้คือ การผลิตเอธานอลจากฟางซึ่งลอร์ด ออกซเบอร์ก อดีตประธานบริษัทเชลล์ได้ซื้อเทคโนโลยีไว้แล้ว  เขาเห็นว่า การผลิตเอธานอลจากฟางซึ่งเป็นของเหลือจากการทำฟาร์มน่าที่จะผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอด้วยต้นทุนที่ต่ำ  แต่การหาวัตถุดิบชนิดนี้กลับทำได้ไม่ง่ายนัก  การศึกษาพบว่าฟางหนึ่งตันสามารถผลิตเอธานอลได้ 300 ลิตร  แคนาดาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีผลิตฟางได้ปีละ 17.8 ล้านตันจึงสามารถนำมาผลิตเอธานอลได้เพียง 5.34 พันล้านลิตรซึ่งมีค่าเท่ากับ 3.5 พันล้านลิตรของน้ำมันปิโตรเลียมเท่านั้น หรือน้อยกว่าร้อยละ 10 ของน้ำมันที่ประชาชนแคนาดาใช้ใน 1 ปีเสียอีก

                บราซิลผลิตและใช้เอธานอลเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุดในโลก ทั้งนี้เพราะประเทศนี้เป็นแหล่งปลูกอ้อยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสามารถผลิตพลังงานชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดจนสามารถที่จะใช้เป็นพลังงานได้ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40  เอธานอลที่ขายตามท้องตลาดก็มีราคาเพียงลิตรละ 55 เซนต์เท่านั้นโดยที่รัฐไม่ต้องให้การสนับสนุนใด ๆ ด้วยซ้ำ  คาดกันว่า Flex-Fuel car ซึ่งเป็นรถที่สามารถใช้พลังงานได้ทั้งสองชนิดจะกลายเป็นรถที่ถูกใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรถที่วิ่งอยู่ในปี 2005   รัฐมนตรีวัฒนธรรมของบราซิลถึงกับประกาศไว้ในปี 2005 ว่า บราซิลจะเป็นผู้ส่งออกเอธานอลรายใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีพื้นที่ที่จะใช้ปลูกอ้อยได้มากถึง 90 ล้านเฮคเตอร์ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตเอธานอลได้ถึงวันละ 6 ล้านบาร์เรล  

ศ                 าสตราจารย์จิม แรตเตอร์ ให้ความเห็นว่า หากบราซิลทำเช่นที่ประกาศไว้จริง ผลกระทบต่อบรรยากาศและน้ำที่จะเกิดขึ้นจะร้ายแรงมาก   แต่การปลูกอ้อยในพื้นที่จำนวนเท่าจำนวนดังกล่าวคงทำได้ยาก  ดร. เปาโล โรเบล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคำนวณว่าการปลูกอ้อยให้ได้ดังที่ประกาศไว้น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยกึ่งศตวรรษเพราะบราซิลจะต้องสร้างสาธารณูปโภคอีกเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิต  แต่อย่างน้อยคำประกาศนั้นก็เป็นการยืนยันว่า บราซิลมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตเอธานอลชั้นนำในอนาคต  ผู้เขียนคำนวณว่าโลกอาจต้องใช้พื้นที่ถึง 320 ล้านเฮคเตอร์เพื่อผลิตอ้อยซึ่งเท่ากับ 15 เท่าของอ้อยที่ผลิตในปี 2004 เพื่อที่จะทดแทนพลังงานที่ใช้อยู่ในปี 2003

                ดร. เจเรมี วูด แห่งวิทยาลัยอิมพิเรียลให้ความเห็นว่าประเทศที่อยู่ในแถบร้อนมีพื้นที่มากมายที่เหมาะสมต่อการปลูกอ้อย  แต่การปลูกอ้อยกลับสร้างทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม ทั้งนี้เพราะการปลูกอ้อยย่อมเท่ากับเป็นการแย่งพื้นที่ปลูกธัญญาหาร ซ้ำยังเป็นการทำลายพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่บนโลกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์  ความเห็นนี้ตรงกับของจอร์จ มอนเบียต ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ตลาดจะตอบสนองต่อเงินตรามิใช่ต่อความจำเป็น  ผู้เป็นเจ้าของรถย่อมมีกำลังซื้อมากกว่าผู้ที่กำลังจะอดตาย  ผู้ชนะในการแข่งขันมักเป็นผู้ร่ำรวยกว่าเสมอ  ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ แม้ว่าคนกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกจะเป็นโรคขาดอาหาร แต่ผู้ผลิตยังคงผลิตอาหารสัตว์ต่อไปเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงคนร่ำรวยเพราะพวกเขามีกำลังซื้อมากกว่า

                นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ พลังงานที่ใช้บนท้องถนนกว่าร้อยละ 50 เป็นน้ำมันดีเซล  บริษัท DI Oil ของอังกฤษจึงมีแผนที่จะผลิตต้นสบู่ดำ (Jatropha curcas) ซึ่งเป็นพืชที่สามารถผลิตดีเซลได้บนพื้นที่กว่าร้อยล้านเฮกเตอร์ทั่วโลก เช่น อินเดีย จีน ไทย กาน่าและแซมเบีย ด้วยวิธีการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อปลูกสบู่ดำในพื้นที่ว่างเปล่าของตนเองและผลิตน้ำมันมาใช้เอง  ส่วนที่เหลือใช้จึงส่งขาย  การทำเช่นนี้น่าที่จะแก้ปัญหาการแย่งพื้นที่เพาะปลูกกับธัญพืช อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย จึงน่าที่จะลดแรงต่อต้านลงได้   ผู้เขียนแย้งว่าหากต้องการปลูกพืชชนิดนี้เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนจริง ๆ จะต้องใช้พื้นที่ถึง 370 ล้านเฮกเตอร์ซึ่งมากกว่าพื้นที่ที่จะต้องใช้ในการปลูกอ้อยเสียอีก 

                ส่วนการหาพลังงานทดแทนสำหรับอุตสาหกรรมการบินนั้น การศึกษาจากวิทยาลัยอิมพิเรียลสรุปว่า ในระยะเวลาอันสั้น มนุษย์คงยังไม่สามารถหาพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมนี้ได้  หลังจากศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกทั้งหมดแล้ว ผู้เขียนสรุปว่า ไฮโดรเจนและพลังงานชีวภาพน่าจะเป็นพลังงานทดแทนเพียงสองอย่างที่น่าจะแทนที่พลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์และลดปัญหาเรื่องโลกร้อนได้

                บทที่ 5 พูดถึงวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้าย  เมื่อสินค้าแทบทุกชนิดบนโลกถูกผลิตโดยมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหรือขับเคลื่อน การขาดแคลนน้ำมันจึงเป็นปัญหาใหญ่  นักธรณีวิทยาคาดว่าหากกำลังผลิตน้ำมันลดลงร้อยละ 3 ต่อปี ภายในเวลาเพียงสิบปีปริมาณการผลิตจะลดลงถึงร้อยละ 25 และลดลงถึงเกือบครึ่งหนึ่งภายในเวลาสองทศวรรษ  เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงคาดว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  ตัวอย่างมีให้เห็นจากสถิติในปี 1973 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก  ตอนนั้นราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า  หลังเกิดวิกฤตการณ์ 2 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 6 และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า  ส่วนสถานการณ์ในปี 1979 และ 1990 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันจากการปฏิวัติในอิหร่านและจากอิรักบุกคูเวต ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยเช่นกัน  

             ศาสตราจารย์ อะลัน คาร์รูธ แห่งมหาวิทยาลัยเคนต์และคณะศึกษาข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์และพบว่า ราคาน้ำมันและดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์กับอัตราการว่างงาน  หลังจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 18 เดือน อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ  เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นผลกำไรของบริษัทย่อมลดลงส่งผลให้มีการเลิกจ้างงาน  ข้อสรุปนี้ตรงกับผลที่ได้จากแบบจำลองของโรเบอร์ต อายเรส ศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมและนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกิ-เมลลอนที่พบว่าการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของพลังงานสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 0.7  พลังงานจึงมีส่วนในอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก  ดังนั้น หากกำลังการผลิตของน้ำมันขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็น่าจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดด้วยเช่นกัน  การตีราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงน่าที่จะต่ำเกินจริง  ราคาน้ำมันควรจะเพิ่มสูงขึ้นในไม่ช้า  และเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อย่อมเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับการถดถอยของเศรษฐกิจ  การเกิดภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเศรษฐกิจถดถอย หรือ stagflation ในช่วงวิกฤตน้ำมันครั้งสุดท้ายนี้น่าที่จะรุนแรงมากกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นจะทำให้ธุรกิจล้มละลายและเกิดการตกงานตามมา  ผลก็คืออุปสงค์ต่อน้ำมันจะลดลงส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงชั่วคราวซึ่งจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง  อย่างไรก็ดีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถคงอยู่ได้ยาวนานเพราะปริมาณน้ำมันไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ วงจรอุบาทว์จะกลับมาอีกครั้งวนไปเวียนมาเช่นนี้ 

                ขณะที่ผู้เขียนขับรถกลับบ้าน เขาคิดถึงการพึ่งพาน้ำมันของประเทศที่พัฒนาแล้วว่ามันอาจมีผลกระทบร้ายแรงเพียงใด เช่น ชาวอเมริกันเดินทางถึงปีละ 4 ล้านล้านไมล์หรือเฉลี่ยคนละ 14,500 ไมล์ซึ่งเท่ากับวันละ 40 ไมล์  หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 200 เหรียญ คงยากที่ชาวอเมริกันทุกคนจะสามารถขับรถไปทำงานได้  เหตุการณ์ที่ว่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่นานนักเพราะในปี 2006 ราคาน้ำมันก็เคยขึ้นไปถึงบาร์เรลละ 80 เหรียญมาแล้ว  นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว อาหารต่าง ๆ ที่ชาวยุโรปและชาวอเมริกันรับประทานนั้นถูกส่งมาจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก  สถิติบ่งว่าอาหารในตะกร้าเพียง 26 ชนิดเดินทางมาแล้วถึง 241,000 กิโลเมตรหรือ 6 เท่าของระยะทางรอบโลก เช่น ต้นหอมจากเม็กซิโกต้องเดินทางโดยเครื่องบินถึง 8,941 กิโลเมตร  มันสำปะหลังจากซิซิลีต้องเดินทางโดยรถบรรทุกถึง 2,448 กิโลเมตร หรือหัวหอมจากนิวซีแลนด์ต้องเดินทางโดยเรือถึง 18,839 กิโลเมตร  จริงอยู่อังกฤษสามารถปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เองได้บ้าง เช่น สามารถปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงแกะเองถึงร้อยละ 81  แต่อาหารสัตว์จำพวกข้าวโพดและถั่วเหลืองยังคงต้องเดินทางมาจากต่างประเทศ  หากอังกฤษต้องการปลูกพืชไว้ใช้ทำอาหารสัตว์ด้วยคงต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านเฮกเตอร์เลยทีเดียว

                การที่ชาวโลกสามารถพึ่งพิงสินค้าเกษตรราคาถูกจากจีนและอินเดียได้นั้นเป็นผลมาจากเงินสนับสนุนของภาครัฐ  หากราคาน้ำมันและปุ๋ยเพิ่มขึ้น รัฐย่อมไม่สามารถให้การสนับสนุนได้  ราคาอาหารน่าจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชากรทั่วโลกขาดแคลนอาหาร  ส่วนการเกษตรของประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งต้องพึ่งพาพลังงาน  ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมหมายถึงหายนะของภาคการเกษตรทั่วโลก

                บทที่ 6 พูดถึงสถานการณ์ทางบัญชีของบริษัทน้ำมัน  ในปี 2006 บริษัทเชลล์และเอ๊กซอน สองยักษ์ใหญ่ของวงการน้ำทำกำไรได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2.3 และ 3.6 หมื่นล้านเหรียญตามลำดับ  นั่นหมายความว่า ปีที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงที่สุดในโลกบริษัทน้ำมันก็ทำกำไรสูงที่สุดด้วยเช่นกัน  สถานการณ์เช่นนี้จะดำรงอยู่ตลอดไปได้หรือไม่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ทั้งนี้เพราะบริษัทน้ำมันจะอยู่ได้นานเท่าไรขึ้นอยู่กับอัตราที่บริษัทค้นพบและสูบน้ำมันสำรองของตนออกมาขาย  การสอบสวนของตลาดหลักทรัพย์พบว่าปริมาณน้ำมันสำรองที่บริษัทเชลล์แจ้งไว้ไม่เป็นจริงดังกล่าวอ้าง  ค่าต่าง ๆ ที่บริษัทแจ้งไว้จึงเป็นการจงใจหลอกลวงให้ตลาดและผู้ถือหุ้นเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารส่วนหนึ่งถูกประเมินจากเป้าหมายของน้ำมันสำรอง  เมื่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จับได้จึงบีบบังคับให้บริษัทเชลล์ยอมรับว่าคาดการณ์ปริมาณน้ำมันสำรองสูงเกินจริง บริษัทจึงต้องเสียค่าปรับมหาศาลและทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงถึง 3 พันล้านเหรียญภายในวันเดียว

                อาร์ต สมิธ ประธานผู้บริหารของบริษัท John S. Herold อธิบายถึงวิธีการที่บริษัทน้ำมันทำกันคือ การควบรวมกิจการซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองของบริษัทของตนเองเพิ่มขึ้นจึงเท่ากับเป็นการตกแต่งตัวเลข ทั้งนี้เพราะตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ผลิตได้รวมกันมิได้เพิ่มขึ้นเลย  สัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นและสัดส่วนของเงินลงทุนใหม่ที่ลดลงซึ่งแสดงว่าพวกเขาไม่มีโครงการที่แสดงถึงโอกาสในอนาคต  ถึงกระนั้นก็ตามบริษัทน้ำมันทั้งหลายต่างยังคงพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นวิกฤตน้ำมันเพราะมันเป็นการแสดงให้ตลาดเห็นว่าธุรกิจของพวกเขากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤต

                ในบทที่ 7 ผู้เขียนพูดถึงปัญหาของโอเปก (OPEC = Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก  พวกเขาจะทำหน้าที่ปรับปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อควบคุมมิให้ปริมาณน้ำมันมีมากเกินไปซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ  อย่างไรก็ดีไม่มีใครทราบว่ากลุ่มโอเปกมีปริมาณน้ำมันสำรองเท่าใดกันแน่  ผู้เขียนยกตัวเลขปริมาณน้ำมันสำรองของซาอุดีอาระเบียมาเป็นตัวอย่าง  ดร. นานเซน ซาเลรี ผู้จัดการบริษัทอารัมโคแจ้งว่าซาอุฯ มีปริมาณน้ำมันสำรองที่จะทำให้บริษัทผลิตได้ถึงวันละ 15 ล้านบาร์เรลไปได้อีก 15 ปีข้างหน้า  แต่เมื่อแมตต์ ซิมมอนส์ นายธนาคารทางด้านพลังงานแห่งเมืองฮุสตันไปสำรวจแหล่งผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดของซาอุฯ ที่มีกำลังผลิตวันละ 5 ล้านบาร์เรลหรือเท่ากับร้อยละ 6 ของกำลังการผลิตโลก ก็พบว่าการขุดบ่อค่อนไปทางเหนือซึ่งวิศวกรอธิบายว่า เป็นการเจาะตามลำดับจากเหนือลงใต้  แต่หลักฐานที่เขาพบคือปริมาณน้ำมันทางใต้มีน้อยกว่าทางเหนือส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองที่บริษัทรายงานกลายเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ  เป็นไปได้ว่าปริมาณการผลิตของซาอุ ฯ อาจเข้าสู่จุดสูงสุดในไม่ช้านี้ 

               การที่รัฐบาลซาอุฯ พยายามให้คำมั่นสัญญาในการคงระดับการผลิตน่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่า ทั้งนี้เพราะซาอุฯ มีรัฐบาลที่มาจากราชวงศ์ซึ่งให้การสนับสนุนประชาชนทุก ๆ เรื่องทั้งสวัสดิการการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ฯลฯ  ส่วนรายได้ของประเทศกว่า 3 ใน 4 มาจากน้ำมันซึ่งได้ลดลงจาก 22,600 เหรียญต่อคนต่อปีเหลือเพียง 4,600 เหรียญต่อคนต่อปีภายในเวลาเพียงแค่ 25 ปีเพราะประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 7 ล้านคนเป็น 22 ล้านคน  ข้อมูลของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ บ่งว่า ประชากรซาอุฯ กว่าร้อยละ 50 เป็นคนอายุต่ำกว่า 21 ปี และกว่าร้อยละ 25 ไม่มีงานทำ  คนเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้ก่อการร้าย  ราชวงศ์ซาอุฯ จึงเกรงว่า พวกตนอาจต้องเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับอิหร่านจึงยิ่งมีความต้องการการปกป้องจากสหรัฐฯ  การพึ่งพาอาศัยกันของสองประเทศนี้เป็นที่ทราบกันดีในสังคมโลกมาตั้งแต่ปี 1945 โดยสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาน้ำมันจากซาอุฯ  ในขณะที่ราชวงศ์ซาอุฯ ก็ต้องการความคุ้มครองจากสหรัฐฯ  ดังนั้น แม้ว่าซาอุฯ จะทราบดีว่าการผลิตน้ำมันจำนวนมากและรวดเร็วเกินไปจะส่งผลร้ายต่อบ่อน้ำมันของตนเอง แต่ราชวงศ์ก็ไม่มีทางเลือก 

                ปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลกในปัจจุบันคือ ไม่มีใครทราบว่าปริมาณน้ำมันสำรองของโอเปกมีเท่าใดกันแน่ และแต่ละวันโอเปกผลิตน้ำมันออกมาขายเท่าใด ทั้งนี้เพราะแต่ละประเทศต่างมีเหตุผลของตนเองในการให้ข้อมูลผิด ๆ กับตลาด  เป็นไปได้ว่าปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกจะขึ้นถึงจุดสูงสุดส่งผลให้โลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติน้ำมันในเร็ววันนี้

                ผู้เขียนชื่อบทที่ 8 ว่า “เวลาที่น่าสนใจ”  เขาอ้างว่าวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้ายเกือบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2006 หากยามไม่สามารถหยุดยั้งรถของผู้ก่อการร้ายที่จะเข้าไปยึดบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในซาอุดีอาระเบียได้  ผู้ที่จะเข้าโจมตีคือ กลุ่มอัลไกดาร์ซึ่งแม้ล้มเหลวก็คงยืนยันที่จะใช้ความพยายามต่อไปด้วยข้ออ้างที่ว่าจะปกป้องทรัพย์สมบัติอันแสดงถึงความมั่งคั่งของชาวมุสลิมต่อไป  ผู้เขียนย้ำว่า การที่เขาเรียกมันว่าวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้ายก็เนื่องจากมันจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอื่น ๆ ตามมาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเงินและภูมิศาสตร์การเมือง ทั้งนี้เพราะพายุแคทธาลีนาซึ่งทำลายโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ไปจำนวนมากได้พิสูจน์ให้โลกทราบแล้วว่ากำลังผลิตน้ำมันของโลกไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วและอาจไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว  หากโลกขาดแคลนน้ำมันขึ้นอย่างทันทีทันใด เศรษฐกิจน่าที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันทีเช่นกัน  การที่โลกไม่มีมีกำลังการผลิตสำรองเหลืออยู่มากพอหากประเทศใดประเทศหนึ่งหรือแหล่งใดแหล่งหนึ่งหยุดการผลิตทันทีทันใดอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งสุดท้ายก็เป็นได้

                ในเดือนเมษายน 2006 ซีมัวร์ เฮอร์ช นักข่าวอเมริกันรายงานว่า ทำเนียบขาวกำลังใช้ความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของโลกอิสลามโดยไม่คำนึงถึงวิธีการทางการทูต ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์อิหร่านทดลองตอร์ปิโดใหม่ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของตนในย่านตะวันออกกลาง  อย่างไรก็ดี อิหร่านมิได้กระทำการโดยลำพังเพราะหลังจากที่อิหร่านถูกโดดเดี่ยวจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 อิหร่านก็ได้จีนเป็นมหามิตร  ในปี 2004 จีนและอิหร่านสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นผ่านสัญญา 7 หมื่นล้านเหรียญโดยจีนจะช่วยเหลืออิหร่านพัฒนาแหล่งน้ำมันและซื้อก๊าซธรรมชาติจากอิหร่าน 250 ล้านตันภายใน 25 ปีข้างหน้า  นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีแผนที่จะสร้างท่อส่งน้ำมันระหว่างกันผ่านทางทะเลแคสเปียนและคาซัคสถาน  เนื่องจากอิหร่านเป็นแหล่งป้อนน้ำมันให้กับจีน การรุกรานอิหร่านของสหรัฐฯ จึงเท่ากับเป็นการท้าทายจีน

               เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐฯ จึงมองจีนว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและตั้งองค์กรขึ้นเพื่อสังเกตความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย  การที่จีนมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งพลังงานก็เพราะจีนกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากเป็นอันดับสองของโลกและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของโลกก็มาจากจีนนี่เอง  ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังมีอัตราความต้องการพลังงานเพิ่มถึงร้อยละ 6 ต่อปีเพื่อให้ดำรงศักยภาพทางเศรษฐกิจเช่นที่เป็นอยู่  ซ้ำร้ายนโยบายพลังงานของจีนยังมิใช่การแข่งขันกันซื้อสินค้าในตลาด หากเป็นการซื้อแหล่งผลิตเลยทีเดียว เช่น ซื้อแหล่งผลิตในออสเตรเลีย อาเซอร์ไบจัน พม่า เอกวาดอร์ หรือแม้แต่ประเทศใกล้ ๆ กับสหรัฐฯ คือ เวเนซุเอลา และแคนาดา  ริชาร์ด ดีมาโต กล่าวว่ามันเป็นการยากที่จะชักจูงให้จีนเปลี่ยนวิธีการซื้อ และเป็นการยากอีกเช่นกันที่จะให้ทั้งสองประเทศหันมาให้ความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์หากนโยบายของสหรัฐฯ ต่อความมั่นคงทางด้านน้ำมันยังคงเป็นไปอย่างก้าวร้าวเช่นที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

                สหรัฐฯ ถูกคุกคามมากที่สุดเมื่อจีนเข้าไปมีอิทธิพลในตะวันออกกลาง  ข้อมูลบ่งว่า ซาอุฯ กลายเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีนและบริษัทน้ำมันอารัมโคของซาอุฯ มีหุ้นอยู่ในโรงกลั่นของจีนถึงร้อยละ 25  นอกจากนั้นจีนยังได้รับสิทธิในการสำรวจแหล่งน้ำมันของซาอุฯ อีกด้วย  จีนหวังจะเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับซาอุฯ แทนสหรัฐฯ  ที่ร้ายไปกว่านั้นคือสหรัฐฯ เห็นว่าจีนปิดหนทางการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซในอิหร่านและอิรักของสหรัฐฯ  ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ของจีนใกล้ชิดกว่าความสัมพันธ์ที่ฝรั่งเศสและพันธมิตรมีกับอิรักก่อนสหรัฐฯ จะบุกอิรักเสียอีก  ศาสตราจารย์ไมเคิล แคลร์ ผู้เขียนเรื่อง Blood and Oil: How America’s Thirst for Petrol is Killing Us ให้ความเห็นว่าจากมุมมองของจอร์จ ดับเบิลยู บุช และคณะ หนทางเดียวที่จะเปลี่ยนดินแดนในย่านนั้นคือการเปลี่ยนระบบการปกครองและสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นมิตรกับสหรัฐมีอำนาจซึ่งอาจต้องใช้วิธีการที่ไม่เป็นมิตร  การแย่งชิงแหล่งพลังงานของทั้งสองประเทศจึงน่าที่จะมีส่วนทำให้ปริมาณการผลิตขึ้นถึงจุดสูงสุดรวดเร็วและรุนแรงขึ้น  และที่น่าแปลกคือทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการความมั่นคงทางด้านพลังงานแต่ตนเองกลับเป็นฝ่ายทำให้สถานการณ์ของตนเองและโลกเข้าสู่จุดอับและน่าที่จะกระตุ้นให้เกิดวิกฤตการณ์เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

                ไม่ว่าวิกฤตการณ์น้ำมันจะเกิดจากการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองในกรณีของอิหร่านหรือไม่ก็ตาม ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจย่อมสูงยิ่ง  โรเบอร์ต เฮอร์ช เห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะมันไม่ใช่เศรษฐกิจถดถอยธรรมดา แต่มันจะเกิดขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อรุนแรงที่เรียกว่า stagflation   สิ่งที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นก็คือเงินดอลลาร์ที่ทั่วโลกถือเอาไว้  ในปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 5 แสนล้านเหรียญในปี 1970 เป็น 8 ล้านล้านเหรียญในปี 2005  ที่แย่ไปกว่านั้นบริษัทสหรัฐฯ ก็เป็นหนี้จำพวกอนุพันธ์ถึง 100 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว  นั่นหมายความว่า ในปี 2005 สังคมอเมริกันเป็นหนี้ถึง 39 ล้านล้านเหรียญหรือมากกว่าสามเท่าของรายได้ประชาชาติ (GDP)  หากค่าของดอลลาร์อ่อนลงมากจะส่งผลไม่เพียงแค่ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นเท่านั้น การส่งออกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยจากกำลังซื้อของสหรัฐฯ ที่ลดลง  แต่หากสหรัฐฯ ยังคงนำเข้าสินค้าจำนวนมากย่อมกดดันให้เกิดเงินเฟ้อจนทำให้ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซึ่งยิ่งจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีก 

                การที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนดให้ใช้ดอลลาร์เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนกับน้ำมันทำให้ทุกประเทศทั่วโลกถูกบังคับให้ต้องใช้ดอลลาร์ตามไปด้วย  เมื่อทุกประเทศต้องนำเข้าน้ำมันเงินดอลลาร์จึงมีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมัน  พวกเขาจึงต้องนำเงินนั้นมาหาผลประโยชน์ด้วยการซื้อพันธบัตรของสหรัฐฯ อันเป็นการสร้างความกดดันให้ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ต่ำลงซึ่งเท่ากับเป็นการอนุญาตให้ทั้งรัฐบาลและชาวอเมริกันมีเงินกู้ราคาถูกมาไว้ใช้  ยิ่งไปกว่านั้นการที่สหรัฐฯ ส่งออกลดลงและนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่มีดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านเป็น 7.24 แสนล้านเหรียญในปี 2005 หรือเท่ากับเป็นหนี้ต่างประเทศถึง 5.25 ล้านล้านเหรียญ  เมื่อสหรัฐเป็นหนี้มากเช่นนี้ประเทศต่าง ๆ ที่ถือเงินสกุลดอลลาร์ไว้ในมือมากมายจึงเริ่มกังวล

                สิ่งที่ผู้เขียนกังวลมากที่สุดคือ ปริมาณการใช้น้ำมันของชาวอเมริกัน  หากชาวโลกหันมาใช้น้ำมันเช่นเดียวกับที่ชาวอเมริกันใช้ โลกต้องมีกำลังการผลิตถึง 450 ล้านบาร์เรลต่อวันแทนที่จะเป็น 81 ล้านบาร์เรลเช่นทุกวันนี้ และปริมาณน้ำมันสำรองที่มีอยู่น่าที่จะหมดลงภายในเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น  แต่หากชาวโลกใช้น้ำมันเช่นที่ชาวอังกฤษ จีนหรืออินเดียใช้ ปริมาณน้ำมันสำรองน่าจะหมดลงภายในเวลา 17, 96 และ 226 ปีตามลำดับ  ความไม่เท่าเทียมกันนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวอเมริกันไม่เพียงแต่โลภเท่านั้น พวกเขายังน่าที่จะถูกตำหนิอีกด้วย

                อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นตัวอย่างที่ดีของการกระทำที่ไม่เข้าท่าของชาวอเมริกัน  พวกเขาแทนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพรถให้ทัดเทียมกับบริษัทสัญชาติอื่นกลับใช้การโฆษณามาสร้างมายาภาพให้ชาวอเมริกันหลงผิดคิดว่า รถจำพวกใช้งานได้หลายอย่างที่เรียกว่า SUV (Sport Utility Vehicles) ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่และเปลืองน้ำมันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สถานะและอิสรภาพ  พวกเขายังคงพึ่งพานโยบายการกีดกันทางการค้าส่งผลให้บริษัทขาดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวและสูญเสียตลาดให้กับบริษัทรถญี่ปุ่นไปในที่สุด  ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทวอลมาร์ทซึ่งถือเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งจะถูกคุกคามจากราคาน้ำมันเพราะสถานที่ตั้งของร้านค้ามักอยู่ห่างไกลออกไปจากชุมชน และสินค้าต่าง ๆ ของบริษัทก็นำเข้าจากประเทศจีนซึ่งต้องเดินทางไกลหลายพันไมล์  หากเทียบวอลมาร์ทเป็นประเทศ บริษัทนี้ก็เป็นคู่ค้าใหญ่อันดับแปดของจีนโดยมีสัดส่วนการสั่งสินค้าจากจีนถึง 1.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2004 หรือเท่ากับหนึ่งในสิบของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนเลยทีเดียว

                 ผู้เขียนสรุปว่า เมื่อปริมาณน้ำมันสำรองลดลง ประเทศต่าง ๆ น่าที่จะหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทน  แม้ว่าในปัจจุบันราคาของก๊าซมิได้ขึ้นอยู่กับน้ำมันก็ตาม  แต่ในสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมัน ราคาก๊าซน่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเพราะความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันของผลิตภัณฑ์ทั้งสองในตลาดการเงิน และความต้องการก๊าซที่เพิ่มสูงย่อมส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นด้วย

 

                ในบทที่ 9 ผู้เขียนพูดถึงความเห็นของมอลคอล์ม วิคส์ รัฐมนตรีพลังงานของอังกฤษ  วิคส์ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2005 ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องพลังงานจะหมดไปจากโลกในระยะเวลาอันใกล้หรือในชั่วชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน  ผู้เขียนเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีคนนี้เป็นการโกหกอย่างสิ้นเชิงเพราะสิ่งที่ทุกคนกำลังพูดกันคือ การที่กำลังการผลิตจะขึ้นถึงจุดสูงสุด มิได้พูดถึงการที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก  แม้ว่าแต่ละสถาบันจะทำนายว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในระยะเวลาต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองและวิธีคิดคำนวณและการคาดการณ์ปริมาณน้ำมันสำรองของแหล่งต่าง ๆ แต่การคาดการณ์ส่วนใหญ่จะบ่งว่าจุดสูงสุดอยู่ระหว่างปี 2010-30  ไมเคิล สมิธ เห็นว่าการที่ปริมาณน้ำมันจะขึ้นถึงจุดสูงสุดอยู่ระหว่างปี 2008-2020 นั้นเป็นเพราะเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลงจึงทำให้ปริมาณการผลิตขึ้นถึงจุดสูงสุดช้าลงซึ่งอาจกลายเป็นปี 2016  แทนที่จะเป็นปี 2008 ก็เป็นได้  ถึงกระนั้นก็ตามมนุษย์เรายังคงมีเวลาไม่มากนักที่จะเตรียมตัว 

                เป็นที่ทราบกันดีว่านักการเมืองส่วนใหญ่ยินดีที่จะทำสงครามนอกประเทศเพื่อยืดเวลาการเกิดวิกฤตพลังงานดีกว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนของตนโดยการขอร้องให้พวกเขาชะลอการใช้พลังงาน ทั้งนี้เพราะทางเลือกหลังไม่มีวันทำให้นักการเมืองได้รับการเลือกตั้งอย่างแน่นอน และนี่คือต้นเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกันและอังกฤษตัดสินใจบุกอิรัก  ผู้เขียนจึงคาดว่าการที่นักการเมืองส่วนใหญ่พยายามที่จะปฏิเสธเรื่องนี้อาจมิได้เป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง ๆ แต่อาจเป็นเพราะพวกเขาถูกทำให้เป็นอัมพาตจากความท้าทายอันใหญ่หลวงมากกว่า

                ในบทที่ 10 ผู้เขียนแสดงความมั่นใจว่า วิกฤตการณ์น้ำมันคงเกิดขึ้นในไม่ช้าแต่มันคงไม่ถึงกับทำให้อารยธรรมสิ้นสุดลงเพราะเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชนซึ่งคงต้องเริ่มต้นจากการหยุดปฏิเสธว่ามหันตภัยนี้จะไม่เกิดขึ้นและร่วมกันรับมืออย่างจริงจัง

                สิ่งที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ กระทำได้ก็คือ การเริ่มต้นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการมีแผนงานที่แน่นอนเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสร่วมมือกันลดการใช้พลังงาน  หากขาดแผนงานที่ดีปัญหานี้คงยากที่จะแก้อันจะส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ทุก ๆ ส่วนเป็นอัมพาต  ส่วนผู้ที่มีแผนงานที่ดีและเริ่มเคยชินกับการลดการใช้พลังงานหรือใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพย่อมมีโอกาสที่จะอยู่รอดได้มากกว่า แม้ว่าคนกลุ่มนี้อาจต้องยากลำบากก่อนผู้อื่นก็ตาม  ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลประเทศทั้งหลายควรเร่งออกมาตรการลดการใช้พลังงานเพื่อชะลอช่องว่างระหว่างความต้องการพลังงานและพลังงานที่ผลิตได้ อีกทั้งยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

               การที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ละเลยไม่ใส่ใจเป็นการนำประเทศอังกฤษเข้าไปเสี่ยงกับสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานและเศรษฐกิจถดถอยเพราะประเทศอื่น ๆ ในภาคพื้นยุโรปได้เตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว  การที่อังกฤษยังไม่ปรับตัวโดยมีความเชื่อแบบหลงผิดว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีจึงไม่น่าที่จะสมเหตุสมผลเพราะการหาแหล่งพลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และการสร้างโรงงานไฟฟ้าใหม่จากพลังงานนิวเคลียร์ต้องอาศัยเวลานาน อีกทั้งการปรับปรุงโรงงานผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลและระยะเวลาหลายปีจึงจะประสบผลสำเร็จ  หากอังกฤษยังคงมีท่าทีต่อปัญหาพลังงานเช่นนี้ประชาชนคงต้องประสบกับสถานการณ์เลวร้ายที่ยากจะคาดเดาเพราะพลังงานก๊าซที่อังกฤษหวังพึ่งพาจากรัสเซียก็กำลังถูกท้าทายจากจีน

                นอกจากนี้ การที่อังกฤษตั้งความหวังไว้ว่าการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะชะลอหรือเพิ่มระยะเวลาการขึ้นถึงจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง  จากการศึกษาของวิลเลียม สแตนลีย์ เจวอน นักเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 จะเห็นว่าหลังการผลิตเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ ซึ่งทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การใช้พลังงานกลับมิได้ลดลงเลย ซ้ำยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นไปอีก  ดังนั้น หนทางเดียวที่น่าจะแก้ไขได้คือการบริโภคให้น้อยลง

                ส่วนมาตรการการค้าก๊าซเสียที่เรียกว่า EU Emission Trading Scheme ซึ่งสหภาพยุโรปหวังว่าบริษัทต่าง ๆ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาซึ่งเท่ากับเป็นการลดการใช้พลังงานไปในตัว ไม่ค่อยได้ผลมากนักเพราะบริษัทต่าง ๆ กลับสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพจนสามารถปล่อยก๊าซนี้ได้ตามโควตา ปริมาณก๊าซที่ถูกปลดปล่อยออกมาจึงมิได้ลดลงเท่าที่ควร  ซ้ำร้ายโควตาที่กำหนดขึ้นในอนาคตยังมากกกว่าปริมาณที่คาดว่าจะถูกปล่อยออกมาอยู่แล้ว  มาตรการนี้จึงไม่น่าที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว 

                เดวิด เฟลมมิ่ง นักเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้คิดวิธีการใหม่ขึ้นมาเรียกว่า Tradable Energy Quotas (TEQ) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซได้ดี  การนำมาตรการนี้ไปปฏิบัติก็คือ กำหนดให้ทุกคนที่เกิดมามีบัตรโควตาของการปลดปล่อยก๊าซเรียกว่า “งบประมาณการปล่อยคาร์บอน” (carbon budget)   ทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้พลังงาน บัตรที่ว่านี้จะถูกคิดคำนวณเป็นราคาของก๊าซที่จะปลดปล่อยซึ่งจะเป็นการควบคุมและเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้คนใช้พลังงานให้น้อยลง   หากรัฐบาล บริษัท หรือประชาชนต้องการปล่อยก๊าซนี้มากกว่าโควตาที่กำหนด  พวกเขาต้องซื้อโควตาเพิ่ม แต่ปริมาณสัดส่วนในปีต่อ ๆ ไปของพวกเขาจะลดลง  หากใช้เกินโควตาของผู้อื่นจะถูกคิดราคาแพงขึ้น มาตรการนี้จะกระตุ้นให้ทุกคนพยายามหาทางใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศได้รับการแก้ไขไปในตัวด้วย  อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ยังคงไม่ยุติธรรมกับประเทศยากจนมากนักเพราะสหรัฐฯ ยังคงมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าอยู่ดีและโควตาที่พวกเขาได้รับในตอนแรกก็ยังมากกว่าผู้อื่น  แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องปรับตัวเพื่อที่จะไม่บริโภคเพิ่มขึ้น 

                ผู้เขียนคาดว่า หากวิกฤตการณ์พลังงานเกิดขึ้นจริง วิกฤตเศรษฐกิจย่อมจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน นั่นย่อมหมายความว่า หลายอาชีพจะได้รับผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยวและสายการบิน  เขาจึงแนะนำว่า 1) ผู้คนควรเน้นให้ลูกหลานเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เพราะช่วงเวลานั้นโลกคงต้องการนักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากเพื่อค้นคิดวิธีสำหรับการประหยัดพลังงานและทำงานในด้านพลังงานและเทคโนโลยี  2) ลงทุนในกลุ่มพลังงานเพราะแม้ว่าจะเกิดวิกฤตแต่หุ้นในกลุ่มนี้น่าที่จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นในระยะแรกเพราะราคาสินค้าที่พวกเขาจะขายได้มีราคาสูงขึ้น  3) ประเมินวิธีการขับรถของตนเองใหม่ให้พยายามใช้พลังงานให้ลดลงด้วยการเปลี่ยนเป็นรถเล็กหรือรถประหยัดพลังงาน ขับให้ช้าลงและน้อยลง ใช้จักรยานบนเส้นทางที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัย  4) ประเมินกิจกรรมการซื้อของ เช่น สถานที่ที่ไปซื้อห่างไกลจากบ้านและที่ทำงานหรือไม่  สินค้าที่ซื้อแต่ละครั้งมาจากแหล่งที่ห่างไกลหรือไม่ ความถี่ในการไปซื้อของ รวมทั้งของที่ซื้อมีการใช้ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก สินค้านอกฤดูกาลหรือไม่ 5) ประเมินการใช้พลังงานในบ้านเรือน ประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ มีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้โดยไม่จำเป็นหรือไม่  6) สถานที่ตั้งบ้านเรือนห่างไกลจากที่ทำงานหรือไม่และมีการใช้รถสาธารณะเดินทางไปทำงานหรือไม่

                ข้อคิดเห็น ข้อมูลทั้งหมดในหนังสือชี้ชัดว่า กำลังการผลิตน้ำมันคงจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในไม่ช้านี้จริง และผลของมันน่าที่จะทำให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกระแสโลกก็ย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกัน  การเลือกเมินเฉยกับข้อมูลหรือรณรงค์เพียงแค่การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกคงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง  นั่นหมายความว่า คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและประชาชนทุกคนต้องหันมาจับมือกันวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวทั้งในเรื่องพลังงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน พลังงานทางเลือกและแผนเศรษฐกิจสำหรับการเผชิญหน้ากับวิกฤตอันหนักหนาสาหัสที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.