You are here: Home > Econ & Business, Hot Topic > The End of Poverty/ สิ้นสุดความจนกันเสียที

The End of Poverty/ สิ้นสุดความจนกันเสียที

โดย    พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การแก้ไขความยากจนมักเป็นข้ออ้างที่นักการเมืองใช้ในการขันอาสาเข้ามาทำงานให้กับประชาชนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน แต่แท้ที่จริงแล้ว คนยากจนเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากนักการเมือง และโลกภายนอกจริงหรือ เงินช่วยเหลือเท่าไหร่กันแน่ถึงจะเพียงพอ เป็นคำถามที่ผู้ที่ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนอยากได้คำตอบ Jeffy Sach นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลกตอบคำถามเหล่านี้ไว้ในหนังสือเรื่อง The End of Poverty: How we can make it happen in our lifetime

หนังสือซึ่งมี 396 หน้า 18 บทตีพิมพ์ปี 2548 เล่มนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ MDG เพื่อให้ความยากจนหมดไปจากโลกในชั่วชีวิตคนรุ่นปัจจุบัน

                หลังเหตุการณ์ตึกถล่มกรุงนิวยอร์กเมื่อวันที่ 9 กันยายนปี 2544 สหรัฐฯ ก็ละเลยที่จะแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้โลกขาดเสถียรภาพ นั่นคือ ความยากจน เห็นได้จากการที่รัฐบาลเลือกที่จะเสียเงินถึง 450 พันล้านดอลลาร์ไปกับการทำสงครามที่ไม่สามารถจะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลกได้   แทนที่จะเลือกจ่ายเงินเพียงแค่ปีละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งเท่ากับ 15 เซนต์จากทุก ๆ 100 ดอลลาร์ของรายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขความยากจน  ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมที่ไม่มั่นคงเป็นบ่อเกิดของการก่อการร้าย ความยุ่งเหยิงและความรุนแรง  

                ผู้เขียนนำเข้าประเด็นด้วยการเล่าถึงสถานการณ์ของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศมาลาวีทวีปแอฟริกา  หมู่บ้านนี้มีสภาพไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในทวีปเดียวกันนั่นคือ ตกอยู่ในสภาวะแห้งแล้งยาวนานจนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ  คนในวัยทำงานก็มีเพียงไม่กี่คนเพราะคนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคเอดส์  ส่วนเด็กเล็ก ๆ ก็ผอมโซและมีสุขภาพไม่แข็งแรงจากการติดเชื้อมาลาเรีย ขาดอาหารและโรงพยาบาลในละแวกหมู่บ้านก็ไม่มียามากพอที่จะรักษาส่งผลให้เด็กส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตลงตั้งแต่ยังเล็ก  ข้อมูลบ่งว่าเด็กชาวแอฟริกันป่วยและเสียชีวิตจากมาลาเรียถึงปีละ 3 และ 1 ล้านคนตามลำดับ แม้ว่าโรคนี้จะสามารถป้องกันได้อย่างง่ายดายด้วยการนอนในมุ้งเท่านั้นและสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยง่ายด้วยยาที่มีราคาไม่สูงมากนักก็ตาม   

               นอกจากนี้ผู้เขียนยังเล่าถึงสภาพของโรงพยาบาล Queen Elizabeth Central Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลนำร่องในการรักษาผู้ป่วยเอดส์ของมาลาวี  โรงพยาบาลแห่งนี้มีเพียง 150 เตียง  แต่มีผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายที่มานอนรอความตายมากถึง 450 คนหรือ 3 เท่าของจำนวนเตียงจึงทำให้เตียงหนึ่งต้องรับผู้ป่วยถึง 3 คนโดยผู้ป่วย 2 คนจะนอนหัวสลับเท้ากันและอีกหนึ่งคนนอนอยู่ใต้เตียง  การที่หอผู้ป่วยอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้ป่วยที่นอนรอความตายมากมายเป็นเพราะโรงพยาบาลขาดศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยเอดส์  ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยเอดส์ชาวมาลาวีส่วนใหญ่ตอบสนองดีต่อยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์และราคายาที่ใช้รักษาก็เป็นชนิดที่ราคาถูกเพียงแค่วันละหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น แต่เนื่องจากชาวมาลาวีส่วนใหญ่มีรายได้เพียงแค่ครึ่งดอลลาร์หรือ 180 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น การรับยารักษาต้านไวรัสวันละหนึ่งดอลลาร์จึงกลายเป็นเรื่องเกินเอื้อม  รัฐบาลมาลาวีเคยเขียนข้อเสนอขอเงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี 3 แสนคนได้รับยาต้านไวรัสเอดส์เป็นเวลา 5 ปี แต่ประเทศร่ำรวยกลับเห็นว่าข้อเสนอของรัฐบาลมาลาวีมีต้นทุนสูงเกินไปจึงลดความช่วยเหลือลงเหลือเพียงแค่ 25,000 คนเท่านั้น  เมื่อรัฐบาลมาลาวีไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวย  ชาวมาลาวีจึงต้องป่วยตายและยากจนข้นแค้นต่อไปอีกนานแสนนาน

                จริงอยู่ ความยากจนเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข แต่มิได้หมายความว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้เลย บังกลาเทศเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีฐานะยากจน  ประเทศนี้ถือกำเนิดขึ้นจากสงครามประกาศอิสรภาพต่อปากีสถานในปี 2514  แม้ว่าปัจจุบันบังกลาเทศจะยังคงเป็นประเทศยากจน  แต่หลังประกาศอิสรภาพเป็นต้นมารายได้ประชาชาติของพวกเขาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า อายุตามคาดของประชากรเพิ่มขึ้นจาก 44 ปีเป็น 62 ปี อัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงจาก 145 คนต่อพันในปี 2513 เหลือเพียง 48 คนต่อพันในปี 2545  นั่นหมายความว่า กลยุทธ์ที่ถูกต้องร่วมกับการลงทุนที่เหมาะสมสามารถนำความสำเร็จมาให้กับประเทศยากจนได้เช่นกัน   สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บังคลาเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศคือ ธนาคารกรามีน  ธนาคารนี้มีนโยบายให้คนยากจนที่ไม่มีเครดิตมากพอที่จะกู้เงินจากธนาคารใหญ่ ๆ สามารถกู้เงินมาทำธุรกิจได้ยังผลให้หญิงชาวบังกลาเทศส่วนหนึ่งลืมตาอ้าปากและพัฒนาตนเองได้  แม้ว่าหญิงชาวบังกลาเทศจะยังคงต้องเดินเท้าถึง 2 ชั่วโมงเพื่อไปทำงานในโรงงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง แต่การที่พวกเธอมีงานทำก็ทำให้พวกเธอสามารถที่จะมีรายได้ไว้เลี้ยงครอบครัวและมีเงินสะสมไว้ศึกษาต่อได้ในอนาคตจึงทำให้พวกเธอมีลูกน้อยลงตามไปด้วย นั่นหมายความว่า บังกลาเทศได้เริ่มก้าวขึ้นสู่บันไดแห่งความสำเร็จแล้ว

                โดยทั่วไป นักพัฒนาจะแบ่งระดับความยากจนออกเป็น 3 ระดับคือ 1) กลุ่มที่ยากจนข้นแค้นหรือมีรายได้น้อยกว่าวันละหนึ่งดอลลาร์ซึ่งก็คือชาวนาหรือคนยากจนในมาลาวี  คนกลุ่มนี้มักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา  พวกเขาไม่สามารถที่จะมีสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตได้ เช่น น้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล ไม่สามารถรับเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขและไม่มีรายได้มากพอที่จะเรียนหนังสือ   พวกเขาจึงไม่มีโอกาสแม้แต่จะก้าวขึ้นบันไดแห่งการพัฒนา ทั้งนี้เพราะพวกเขาติดอยู่ในกับดักของโรคภัยไข้เจ็บ สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและความยากจน  ซ้ำร้ายรัฐบาลของพวกเขาก็ไม่มีฐานะดีพอที่จะลงทุนให้กับคนเหล่านี้ด้วย  อย่างไรก็ดีประเทศในแถบเอเชียตะวันออกส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จในการลดประชากรกลุ่มนี้ลงจาก 58% ในปี 2524 เหลือเพียง 15% ในปี 2544 แล้ว 2) กลุ่มคนยากจนหรือมีรายได้วันละระหว่าง 1-2 ดอลลาร์มีอยู่ประมาณ 1.6 พันล้านคนซึ่งก็คือชาวบังคลาเทศ  คนกลุ่มนี้มีสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตบ้างตามสมควรและเป็นกลุ่มที่กำลังเริ่มไต่ขึ้นบันไดสู่ความสำเร็จ  จริงอยู่พวกเขามิได้มีความตายรออยู่ที่หน้าบ้านเหมือนอย่างคนกลุ่มแรก แต่พวกเขายังคงต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 3) กลุ่มคนยากจนโดยเปรียบเทียบ  คนกลุ่มนี้มักอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ประชาชาติ  พวกเขาจึงเพียงแต่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าทางด้านวัฒนธรรม บันเทิง การศึกษาและคุณภาพชีวิตเท่านั้น

                ในการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์กเมื่อปี 2543 สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมจึงตั้งเป้าหมายที่จะยุติความยากจนให้ได้ภายในปี 2558 โดยตั้งชื่อว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (The Millennium Development Goals/MDG) ซึ่งประกอบด้วย  1) กำจัดความยากจนข้นแค้นและความหิวโหยให้ได้ครึ่งหนึ่ง 2) เด็กทุกคนทั่วโลกควรมีโอกาสในการศึกษาระดับต้นอย่างเท่าเทียม 3) สร้างความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มอำนาจให้กับสตรี 4) ลดอัตราตายของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีโดยให้ลดลง 2 ใน 3 5) พัฒนาสุขภาพให้กับสตรีมีครรภ์ 6) ลดอัตราการเกิดโรคเอดส์และมาลาเรียลงครึ่งหนึ่ง 7) รักษาและจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก  เป้าหมายทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนมีหลายมิติ  สิ่งที่ยากลำบากที่สุดในการพัฒนาก็คือ การก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นแรกของการพัฒนานั่นเอง

                    ในอดีต ประชากรทั่วโลกต่างอยู่ในสภาพเดียวกันหมด ข้อมูลบ่งว่า ในปี 2363 ความแตกต่างของรายได้ประชาชาติของอังกฤษซึ่งเป็นชาติที่ร่ำรวยที่สุดกับแอฟริกาซึ่งเป็นทวีปที่ยากจนที่สุดต่างกันเพียงแค่ 4 ต่อ 1 เท่านั้น  แต่เมื่อถึงปี 2541 ความแตกต่างของรายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติที่ร่ำรวยที่สุดกับแอฟริกาซึ่งเป็นทวีปที่ยากจนที่สุดต่างกันถึง 20 ต่อ 1  แม้ว่ารายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ปีละ 1.7% ก็ตาม แต่การที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สามารถเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอขนาดนี้จึงทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นจาก 1,200 ดอลลาร์ในปี 2363 เป็น 3 หมื่นดอลลาร์ (เทียบเป็นเงินปัจจุบัน) ในปี 2533  ในขณะที่แอฟริกามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงแค่ปีละ 0.7% จึงทำให้รายได้ประชาชาติต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 400 ดอลลาร์เป็น 1,300 ดอลลาร์เท่านั้น  จริงอยู่ทุก ๆ พื้นที่บนโลกต่างมีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่บางพื้นที่เท่านั้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 

                 กุญแจสำคัญของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมิได้อยู่ที่การเคลื่อนย้ายรายได้จากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นผลจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันมากกว่า  จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม  อังกฤษเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตเครื่องจักรไอน้ำได้  เครื่องจักรไอน้ำนี่เองที่ทำให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรของยุโรปเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้อังกฤษได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจและกองทัพอย่างมหาศาลจนสามารถครอบครองพื้นที่ถึงหนึ่งในหกของโลกในรัชสมัยพระราชินีวิคตอเรีย  การที่อังกฤษสามารถเป็นผู้นำของการปฏิวัติเป็นผลมาจากการที่อังกฤษ 1) เป็นสังคมที่เปิดกว้างทั้งทางด้านความคิดและการแสดงความเห็น 2) มีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งและมีอิสระ 3) มีการปกป้องลิขสิทธิ์ 4) เป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติทางด้านวิทยาศาสตร์ 5) มีภูมิประเทศได้เปรียบประเทศอื่น ๆ จากการที่มีทางออกทะเล ปราศจากความเสี่ยงจากการถูกรุกรานเพราะเป็นเกาะและมีดินที่อุดมสมบูรณ์ 6) มีถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของการเป็นประเทศอุตสาหกรรม

                  เป็นที่ทราบกันดีว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 3 ระยะ นั่นคือ คลื่นลูกแรกเป็นผลมาจากเครื่องจักรไอน้ำและการบริหารโรงงานขนาดใหญ่  คลื่นลูกที่สองซึ่งเกิดขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของการรถไฟ โทรเลขและการสร้างคลองเชื่อมระหว่างทวีปซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่ขยายไปในวงกว้างส่งผลให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ  คลื่นลูกที่สามเป็นผลมาจากกำเนิดของไฟฟ้า  คลื่นทั้งสามลูกนี้ทำให้ยุโรปกลายเป็นทวีปที่มีอำนาจเหนือทวีปต่าง ๆ ในโลกตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

                การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย  ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอังกฤษจึงไหลล้นไปยังส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการตามมา 1) ผลผลิตทางการเกษตรที่มากขึ้นทำให้ความต้องการแรงงานทางด้านการเกษตรลดลงยังผลให้ประชาชนเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองเพิ่มขึ้น 2) เมื่อประชาชนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น การค้าและบริการจึงเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว 3) เมื่อผู้หญิงมีงานทำนอกบ้านและนอกภาคเกษตรมากขึ้น พวกเธอก็มีอำนาจทางด้านสังคมและการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย 4) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างในครอบครัวอันเป็นผลมาจากการที่คนส่วนใหญ่แต่งงานช้าลง มีอิสระทางเพศ และทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นจึงทำให้จำนวนลูกต่อครอบครัวลดลงและจำนวนประชากรในบ้านหลังเดียวกันลดลงตามไปด้วย 5) การแบ่งงานกันทำส่งผลให้ทุก ๆ คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น 

                หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงการสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 2534 ประเทศต่าง ๆ ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามเศรษฐานะคือ 1) กลุ่มประเทศร่ำรวยซึ่งประกอบด้วยด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรป 2) ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ 3) ประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจน    ประชาชนในประเทศกลุ่มที่สองและสามต่างมีฐานะยากจนเป็นเพราะ พวกเขาขาดความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงทำให้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมของพวกเขามีต้นทุนสูงเกินไป 

                นักเศรษฐศาสตร์พบว่าปัจจัย 8 ข้อที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้คือ 1) กับดักความยากจน  เมื่อประเทศยากจนมาก ประชาชนมักมีสุขภาพไม่ดีและขาดการศึกษายังผลให้คนเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้  พวกเขาจึงมักทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็นเพื่อบรรเทาความหิวโหยยังผลให้ทรัพยากรของประเทศถูกทำลายมากเกินไป 2) สภาพภูมิประเทศ  ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลมักมีต้นทุนในการขนส่งสูง  การที่ประเทศตกอยู่ในสภาพแห้งแล้งเป็นเวลานานทำให้ขาดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ 3) กับดักทางด้านการเงิน  ประเทศที่ขาดทรัพยากรมักเป็นประเทศยากจน  การที่ประเทศเหล่านี้มีหนี้สินจำนวนมากจึงทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้เพราะรายได้ส่วนใหญ่ถูกนำไปชำระหนี้ 4) ความล้มเหลวของรัฐบาล  รัฐบาลที่ขาดความสามารถในการสร้างสันติสุขภายในประเทศย่อมไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและต่างชาติได้ 5) อุปสรรคทางด้านวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมที่กีดกันสตรียังผลให้ประเทศเหล่านี้มีจำนวนแรงงานลดลง  นอกจากนั้นการที่ผู้หญิงไม่มีความรู้และมิได้ทำงานยังทำให้พวกเธอมีลูกเป็นจำนวนมากจึงทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 6) การเมืองระหว่างประเทศทำให้ประเทศขาดความสงบสุขจึงบั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจ 7) ขาดนวัตกรรม  นวัตกรรมสร้างตลาดที่ใหญ่ขึ้น ในทางกลับกันตลาดที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม  ช่องว่างทางด้านนวัตกรรมเป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ประเทศยากจนและประเทศร่ำรวยแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ 8) กับดักของประชากร  ประชากรของประเทศยากจนมักมีลูกมากจึงทำให้พวกเขาขาดความสามารถในการลงทุนในด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษา โภชนาการและสุขภาพ  ความยากจนและการเพิ่มของประชากรเป็นของคู่กัน นั่นคือ ยิ่งประเทศยากจนมากเท่าใด ยิ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

                ผู้เขียนเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วสถาบันต่าง ๆ ที่ผลิตนักเศรษฐศาสตร์มิได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนถูกต้องมากนักจึงทำให้วิธีการแก้ไขปัญหาตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ  วิธีการที่นักเศรษฐศาสตร์ควรใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนต้องพยายามคิดแบบแพทย์ นั่นคือ 1) ควรคิดว่าระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งซับซ้อนเหมือนร่างกายนั่นคือ หากองคาพยัพใดล้มเหลวย่อมส่งผลกระทำต่อความล้มเหลวของระบบอื่น ๆ ด้วย 2) ความซับซ้อนทางด้านเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยการวินิจฉัยแยกโรค แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความยากจนมักคิดว่าปัญหาของทุก ๆ ประเทศเหมือนกัน ๆ จึงใช้ยาขนานเดียวกันในการแก้ไขปัญหาให้กับทุกประเทศ 3) การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคมด้วย 4) การพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องมีการประเมินและติดตามผลอย่างใกล้ชิด 5) ผู้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนต้องมีจรรยาบรรณเหมือนอย่างที่แพทย์รักษาคนไข้ นั่นคือ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้มากกว่าประโยชน์ของตนเอง 

                แอฟริกาดินแดนที่มีคนยากจนสูงที่สุดในโลกมีประวัติศาสตร์ยาวนานในเรื่องของการคอรัปชั่นและการตกเป็นเครื่องมือของผู้นำเผด็จการ  แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลกและประเทศตะวันตกจะยื่นมือเข้าแก้ไขปัญหาความยากจนในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2503 แล้วก็ตาม แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาต่างไม่สามารถพัฒนาได้ ซ้ำร้ายพวกเขายังตกเป็นเครื่องมือของประเทศตะวันตกด้วย

                นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิพากษ์การขาดความสามารถในการพัฒนาของแอฟริกาว่าเป็นผลมาจากการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลและการตกเป็นเหยื่อของประเทศตะวันตก  แต่ผู้เขียนเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วการที่แอฟริกาไม่สามารถพัฒนาได้เป็นผลมาจาก 1) ภูมิศาสตร์ แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้ง 2) เอดส์  คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการที่ชาวแอฟริกันเป็นเอดส์มากกว่าทวีปอื่น ๆ เป็นผลมาจากการที่พวกเขามีเพศสัมพันธ์นอกสมรสมากกว่าคนทวีปอื่น ๆ ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เอดส์ทำให้แอฟริกาไม่สามารถพัฒนาได้เพราะพวกเขาต้องสูญเสียประชาชนในวัยทำงานไปเป็นจำนวนมาก  ซ้ำร้ายองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแอฟริกาตลอดเวลาที่ผ่านมายังไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วสุขภาพเป็นสาเหตุของความยากจนด้วย ทั้งนี้เพราะไม่เคยมีใครสามารถที่จะคิดคำนวณและแสดงให้เห็นถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพได้จึงทำให้พวกเขาขาดความสนใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้  3) มาลาเรีย  ชาวแอฟริกันเสียชีวิตจากมาลาเรียถึงปีละกว่า 3 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่โรคนี้จะสามารถรักษาได้ไม่ยากเย็นนักด้วยต้นทุนที่ไม่สูงด้วย  การที่คนยากจนขาดความสามารถในการป้องกันมาลาเรียทำให้พวกเขาป่วยบ่อยและต้องสูญเสียเวลาในการทำงานไปกับการรักษา  นอกจากนี้การที่เด็กเป็นมาลาเรียบ่อยทำให้พวกเขาต้องขาดเรียนจนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้  ยิ่งกว่านั้น การที่ชาวบ้านต้องสูญเสียชีวิตของบุตรหลานไปกับโรคนี้จึงทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมีลูกมากยังผลให้พวกเขาไม่มีเวลาไปทำมาหากินและเหลือเงินสำหรับการศึกษาของบุตรหลานและการพัฒนาด้านอื่น ๆ  พวกเขาจึงไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ 

                     ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโรคติดเชื้อของชาวแอฟริกันเป็นผลมาจาก 1) การขาดความสามารถในการบริหารจัดการของชาวแอฟริกันเอง 2) ความโลภของบริษัทยา 3) การที่ประเทศร่ำรวยปฏิเสธความช่วยเหลือ  โรคและความยากจนเป็นเหตุและผลของกันและกันเสมอ  เมื่อคนยากจน พวกเขาจะป่วยมากขึ้น และเมื่อพวกเขาป่วยมาก พวกเขาย่อมยากจน  การแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนยากจนจึงเป็นหนทางที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนยากจนพ้นจากความยากจน  นอกจากนี้โรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ เช่น เอดส์ มาลาเรีย อุจาระร่วง ปอดอักเสบล้วนเป็นต้นเหตุให้อายุตามคาดของคนยากจนลดลง ทั้ง ๆ ที่โรคติดเชื้อเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้โดยง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศยากจนได้รับความเงินช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขจากประเทศร่ำรวยมากพอ  ผู้เขียนจึงได้ร่วมกับนายแพทย์พอล ฟาร์มเมอร์ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและคณะเจรจาต่อรองกับบริษัทยาผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์และก่อตั้งกองทุนเพื่อซื้อยาต้านไวรัสเอดส์ในราคาต้นทุนให้กับประเทศยากจน  4) สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การที่ประชากรส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขาดระบบชลประทานและสาธารณูปโภคทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาได้

                ยิ่งกว่านั้นประเทศยากจนยังขาดทุนที่สำคัญในการพัฒนา 6 อย่างนั่นคือ 1) ทรัพยากรมนุษย์ เช่น สุขภาพ ทักษะ การศึกษา โภชนาการ 2) ทุนทางธุรกิจ เช่น เครื่องจักร 3) สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำสะอาด สุขาภิบาล ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ระบบโทรคมนาคม 4) ทุนทางธรรมชาติ เช่น ดินที่อุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ 5) ทุนทางสถาบัน เช่น ระบบศาลยุติธรรมที่เข้มแข็ง กฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่ทันสมัย การบริการสาธารณะที่ดี 6) ทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ส่วนการที่ประเทศยากจนไม่สามารถสะสมทุนเพิ่มขึ้นก็เป็นเพราะพวกเขามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว   มันคงเป็นไปได้ยากที่จะสะสมทุนเพิ่มขึ้น หากอัตราการเพิ่มประชากรยังสูงกว่าการสะสมทุน  ในประเทศยากจนรายได้ของประชากรส่วนใหญ่หมดไปกับการบริโภค พวกเขาจึงไม่มีรายได้เหลือที่จะจ่ายภาษีส่งผลให้รัฐขาดความสามารถในการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานยังผลให้ทุนต่อประชากรลดลงและทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ  เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ตกถึงมือคนยากจนโดยตรงจะทำให้พวกเขาสามารถลงทุนในเครื่องมือทำมาหากินซึ่งจะทำให้แต่ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีเงินทุนเพิ่มขึ้นได้  ส่วนเงินช่วยเหลือที่ให้กับรัฐบาลจะทำให้รัฐบาลมีเงินลงทุนทางด้านการศึกษา การวิจัย สุขภาพและสาธารณูปโภค  การที่รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคเป็นเพราะการลงทุนชนิดนี้ต้องใช้เงินจำนวนมากและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต  อีกทั้งยังจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  นอกจากนี้รัฐยังเป็นองค์กรเดียวที่จะสามารถกระจายโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในราคาที่เหมาะสมด้วย

                แม้ว่าประเทศยากจนจะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว แต่สถานการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจนในปัจจุบันก็ยังคงเหมือนกับตลกของสหภาพโซเวียตที่กล่าวว่า เราแสร้งเป็นทำงาน คุณก็แสร้งจ่ายเงินเรา นั่นคือ ประเทศยากจนแสร้งปฏิรูป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยแสร้งให้ความช่วยเหลือ  เห็นได้จากการที่ USAID ประกาศว่าพวกเขาจะให้ความช่วยเหลือชาวแอฟริกันจำนวน 250 ล้านคนเป็นเงิน 4.4 ล้านดอลลาร์ในเวลา 3 ปีหรือเท่ากับคนละคนละหนึ่งเพนนีต่อปีเท่านั้น  เงินจำนวนเท่านี้คงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแน่นอน  การที่ประเทศยากจนจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  ไม่เช่นนั้นเงินที่ลงทุนไปแล้วก็จะเสียเปล่า 

                      เป็นที่ทราบกันดีว่า การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะขอรับเงินบริจาคได้นั้น พวกเขาจะต้องมีแผนงานที่เป็นรูปธรรมที่แน่นอน  แต่ในทางตรงข้ามประเทศผู้บริจาคกลับมิได้มีแผนงานที่แน่นอนหรือเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องจำนวนเงิน เวลาหรือการผสมผสานกันของแผนงาน  ดังนั้นผู้รับบริจาคจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการจนสำเร็จได้  เช่น รัฐบาลของประเทศยากจนมักได้รับเงินลงทุนสร้างสถานพยาบาล แต่กลับมิได้รับเงินทุนสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และเจ้าหน้าที่  ดังนั้นแทนที่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการศึกษาและอบรมมาแล้วจะทำงานในประเทศ พวกเขาจึงหลั่งไหลไปทำงานต่างประเทศ 

                   นอกจากนี้การที่ประเทศยากจนมีรายได้ประชาชาติไม่มากนัก และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนของรายได้ที่สูงจึงทำให้การขาดช่วงของเงินบริจาคส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่น ในปีแรกรัฐบาลได้รับเงินช่วยเหลือมากถึง 20-30% ของรายได้ประชาชาติ แต่ในปีต่อมาได้รับลดลงเหลือเพียง 15% เท่านั้นยังผลให้คนจำนวนมากต้องตกงาน  ผู้เขียนจึงเห็นว่าเพื่อให้เงินบริจาคเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดประสานกันอย่างมีเอกภาพ องค์กรผู้บริจาคควรจ่ายเงินไปยังกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกเพื่อให้องค์กรทั้งสองเป็นผู้บริหารเงินให้เป็นไปตามที่ประเทศผู้รับบริจาคต้องการแทนที่ประเทศผู้รับบริจาคจะต้องไปเจรจากับองค์กรผู้บริจาคแต่ละแห่งซึ่งจะทำให้เงินที่ได้รับไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่และถูกที่ถูกเวลา  

                ส่วนแนวทางการดำเนินการเพื่อยุติความยากจนคือ 1) แก้ปัญหาวิกฤตหนี้  ประเทศยากจนมักติดอยู่ในกับดักหนี้  ประเทศร่ำรวยจึงควรช่วยเหลือประเทศด้วยเงินให้เปล่าเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองใน Marshall Plan แทนการให้กู้เงิน  2) นโยบายการค้าโลก  การที่ประเทศยากจนจะสามารถมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้นั้น พวกเขาจำเป็นต้องสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดของประเทศร่ำรวยได้  แต่ประเทศร่ำรวยมักอ้างว่าพวกเขาให้ความช่วยเหลือแล้วด้วยการลดการสนับสนุนภาคเกษตรแล้ว  อย่างไรก็ดีมาตรการนี้ไม่เพียงมิได้เป็นการช่วยเหลือประเทศยากจนเท่านั้น ซ้ำยังทำให้ประเทศยากจนต้องซื้อสินค้าเกษตรแพงขึ้นด้วยเพราะพวกเขาเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 3) การเข้าถึงวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา  การที่ประเทศยากจนจะพัฒนาได้ พวกเขาจะต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้โดยง่าย แต่ประเทศร่ำรวยกลับกีดกันด้วยกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรและลิขสิทธิ 4) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะประเทศยากจนมักเป็นเหยื่อของภัยธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

                ขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนคือ 1) แยกแยะความต้องการพื้นฐาน 2) แยกแยะความต้องการของแต่ละประเทศ 3) คำนวณต้นทุนที่ต้องใช้ 4) คำนวณปริมาณเงินที่เจ้าของประเทศสามารถลงทุนเองได้ 5) คำนวณเงินที่แต่ละประเทศต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ 6) ประเมินเงินช่วยเหลือตามสถานภาพของประเทศผู้บริจาค  

                 โดยทั่วไปรายได้ของรัฐบาลประเทศยากจนจะเท่ากับ 10% ของรายได้ประชาชาติ  เงินส่วนที่รัฐจ่ายเพื่อลดความยากจนมักเท่ากับ 4% ของรายได้ประชาชาติหรือเท่ากับ 35 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี  แต่องค์การสหประชาชาติคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางสังคมให้กับประเทศยากจนจนถึงปี 2558  เช่น บังกลาเทศ เขมร กายานา แทนซาเนียและอูกันดาควรเท่ากับ 100 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี นั่นหมายความว่า เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศต้องเติมเต็มส่วนที่รัฐบาลไม่สามารถให้บริการได้หรือเท่ากับ 65 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีโดย 35% จะใช้ไปกับด้านสาธารณสุข พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน 15% ใช้ไปกับด้านการศึกษาและ 2% ใช้ไปกับการจัดเตรียมน้ำดื่มที่สะอาดและสุขาภิบาล   

                      ในปัจจุบันรายได้ประชาชาติของประเทศผู้บริจาค 22 ประเทศเท่ากับ 20.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่เงินช่วยเหลือที่คนยากจน 1.1 พันล้านคนต้องการเท่ากับ 1.24 แสนล้านดอลลาร์หรือเท่ากับ 0.6% ของรายได้ประชาชาติของประเทศร่ำรวยเท่านั้นซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน้อยมาก   จริงอยู่ประเทศร่ำรวยยังคงให้สัญญาที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือให้มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไปเป็น 1.35-1.95 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี  แต่เงินจำนวนนี้คิดเป็นเพียง 0.44-0.54% ของรายได้ประชาชาติของพวกเขาเท่านั้นซึ่งน้อยกว่า 0.7% ที่ได้รับการคำนวณไว้เป็นจำนวนมาก  ซ้ำร้ายเงินส่วนใหญ่ที่ให้มายังถูกใช้ไปกับการชำระหนี้และแก้ปัญหาฉุกเฉินจึงทำให้ประเทศยากจนไม่เหลือเงินไว้สำหรับการพัฒนาเช่นเดิม

                เป็นไปได้หรือไม่ว่า สหรัฐฯ มีรายได้ไม่มากพอที่จะบริจาคตามความคาดหวัง  ข้อมูลบ่งว่าชาวอเมริกันที่จ่ายภาษีสูงสุดสี่ร้อยคนแรกมีรายได้ 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งเงินจำนวนนี้เท่ากับรายได้ของประเทศยากจน 4 ประเทศที่มีจำนวนประชากรรวมกัน 161 ล้านคน  ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเหล่านี้ได้รับการลดภาษีจากนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชถึง 3 ครั้งนับจากปี 2544 เป็นต้นมา  และเงินภาษีที่ลดลงนี้ซึ่งมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีนั้นมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องการตามโครงการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเสียอีก นั่นหมายความว่า การที่สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือไม่เท่ากับที่สัญญามิได้เป็นผลมาจากการที่พวกเขามีเงินไม่เพียงพอ  นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังใช้เงินไปในสงครามอิรัก 2 สัปดาห์ละ 2.5 พันล้านดอลลาร์ เงินจำนวนนี้เท่ากับเงินช่วยเหลือในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาถึงหนึ่งปีเลยทีเดียว   ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากคนที่มีรายได้สูงสุดสี่ร้อยคนแรกของสหรัฐฯ จ่ายเงินเพียง 10% ของรายได้หรือเท่ากับ 6.9 พันล้านดอลลาร์ก็จะสามารถป้องกันมาลาเรียและช่วยรักษาชีวิตคนยากจนได้หลายล้านคนได้อยู่แล้ว  

                ตลอดเวลาที่ผ่าน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ความล้มเหลวในการช่วยเหลือประเทศยากจนเป็นผลมาจาก 1) รัฐบาลของประเทศยากจนชอบคอรัปชั่น  ดังนั้น ประเทศร่ำรวยจึงไม่ควรให้เงินช่วยเหลือ  แต่แท้ที่จริงแล้วความยากจนและการมีรัฐบาลที่ขาดธรรมาภิบาลเป็นของคู่กัน  เมื่อประเทศมีฐานะดีขึ้น รัฐบาลของพวกเขาย่อมมีธรรมาภิบาลมากขึ้นด้วยอันเป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีความรู้มากขึ้น การคอรัปชั่นจึงเกิดยากยิ่งขึ้น และเมื่อประชาชานมีฐานะดีขึ้น รัฐบาลของก็จะมีคุณภาพดีขึ้น  2) การไม่เป็นประชาธิปไตย  ข้อมูลบ่งว่าประชาธิปไตยกับสมรรถภาพทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันน้อยมาก 3) ขาดค่านิยมที่ทันสมัย  การคาดการณ์โดยอาศัยวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ยากจะทำได้อย่างถูกต้อง เช่น คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวมุสลิมชอบมีลูกมาก แต่หลังการปฏิวัติของอิหร่าน อัตราการเกิดของเด็กลดลงจาก 6.6 ในปี 2523 เหลือเพียง 2.5 ในปี 2543 ทั้งนี้เพราะเด็กหญิงอิหร่านมีโอกาสเข้าเรียนหนังสือมากขึ้น พวกเธอจึงไม่ต้องการมีลูกมากอีกต่อไป

                นอกจากนั้นชาวอเมริกันเองก็มักมีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า 1) พวกเขาเป็นกลุ่มผู้บริจาครายใหญ่ ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  ข้อมูลบ่งว่าเงินช่วยเหลือทางการเกษตรที่สหรัฐฯ ให้กับเกษตรกรในประเทศยากจน 1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งมีค่าเท่ากับคนละ 1 เพนนีนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการผลิตทางการเกษตรของประเทศเหล่านี้เลย  2) การลงทุนทางการทหารจะทำให้ชาวอเมริกันปลอดภัยมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ปัญหาการก่อการร้ายส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความยากจน ทั้งนี้เพราะการที่ประเทศล้มเหลวมักเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว  ประเทศที่ล้มเหลวไม่เพียงก่อปัญหาให้กับตนเองเท่านั้น พวกเขายังก่อปัญหาให้กับประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย  การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของโลกโดยรวม 3) โลกกำลังเข้าสู่สงครามทางด้านวัฒนธรรมหรือเข้าสู่วันสุดท้ายตามคัมภีร์ไบเบิ้ล  แทนการพิจารณาอย่างมีเหตุผลว่าปัญหาทางด้านวัฒนธรรมเป็นผลมาจากความผิดพลาดในเรื่องนโยบายต่างประเทศ  

                ยิ่งไปกว่านั้นผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยกับองค์กร NGO ที่ว่าโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศยากจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์ทำให้จำนวนคนยากจนลดลงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดียและจีน  นอกจากนั้นประเทศที่ได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อหัวประชากรในอัตราที่สูงจะมีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากด้วย  ดังนั้นแทนที่องค์กร NGO จะต่อต้านโลกาภิวัตน์ พวกเขาควรที่จะหันมาให้ความสนใจกับ 1) ความต้องการของคนยากจน 2) การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศยากจน 3) พฤติกรรมของประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และธนาคารโลกในอันที่จะปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ในโครงการต่าง ๆ  4) กดดันให้สหรัฐฯ หันมาให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างสันติกับประชาคมโลกมากกว่า  

                การยุติความยากจนเป็นโอกาสอันดีของมวลมนุษยชาติในการกระทำตามพันธะสัญญาที่ไม่เพียงแต่จะลดความทุกข์ทรมานแล้วยังเป็นการกระจายความมั่งคั่ง การปกครองแบบประชาธิปไตย ความมั่นคงและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนยากจนด้วย   ผู้เขียนได้เสนอหนทาง 9 ข้อสู่การยุติความยากจนคือ 1) ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติความยากจน 2) นำแผนมาปฏิบัติ 3) เพิ่มสิทธิและเสียงให้กับคนยากจน 4) เปลี่ยนบทบาทของสหรัฐฯ ในสังคมโลก 5) ฟื้นฟูบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกให้สามารถช่วยเหลือประเทศยากจนได้อย่างแท้จริงสมดังเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง 6) เสริมสร้างบทบาทองค์การสหประชาชาติให้สามารถที่จะช่วยเหลือคนยากจน แทนการทำตามความต้องการของประเทศร่ำรวย 7) ยุติการควบคุมทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา 8) ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการลงทุนทางด้านสุขภาพ การศึกษาและสาธารณูปโภคเพื่อปลดกุญแจกับดักแห่งความยากจน 9) สร้างพันธะสัญญาในระดับบุคคลว่าทุกคนสามารถที่จะทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ลูกหลานได้จารึกว่าคนรุ่นปัจจุบันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่ปราศจากคนยากจนหรือเป็นผู้เยียวยาโลกนั่นเอง

                นอกจากนี้ผู้เขียนยังเชื่อว่าเงินช่วยเหลือจำนวน 0.7% ของรายได้ประชาชาติที่ประเทศร่ำรวยสัญญาว่าจะให้กับประเทศยากจนเพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวพ้นความยากจนภายในปี 2558 ไม่มากเกินไป ทั้งนี้เพราะ 1) เงินจำนวนนี้เป็นเงินเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณทหาร 2) ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยมหาศาลน่าที่จะสามารถบริจาคได้โดยไม่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน  ปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่จะทำให้แรงบันดาลใจในอดีตเป็นจริงด้วยการ 1) ฟูมฟักระบบการเมืองที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับมนุษย์ 2) ฟูมฟักระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยกระจายผลประโยชน์ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแบ่งงานกันทำให้กับทุกส่วนบนโลก 3) ฟูมฟักความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างสันติภาพ 4) ช่วยส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับมนุษย์ในอนาคต

                       ข้อคิดเห็น แม้ว่าการยุติความยากจนทั่วโลกอาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอดีต แต่ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ไม่เพียงทำให้ผู้คนทั่วโลกร่ำรวยได้เท่านั้น ยังทำให้คนยากจนจำนวนมหาศาลสามารถก้าวพ้นความยากจนด้วย  หากมนุษย์เลือกที่จะมีวิธีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างชาญฉลาด  ทั้งคนยากจนและคนร่ำรวยย่อมสามารถที่จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายจากการยุติความยากจน นั่นหมายความว่า อนาคตของมนุษยชาติกำลังอยู่ในมือของคนรุ่นเรานี่เอง

Rating: 5 stars

Tags: , , , , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.