พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

ปัจจุบันเมื่อโลกก้าวหน้ามากขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย โรคตะวันตกจึงเริ่มจะอพยพเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา ซ้ำยังพบในคนผอมด้วยเช่นกัน การที่คนทั่วโลกเริ่มมีโอกาสเกิดโรคตะวันตกนี้มากขึ้นทำให้แพทย์และนักวิจัยส่วนใหญ่ยิ่งเชื่อว่า โรคเหล่านี้เป็นผลมาจากการกินดีอยู่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจาก University Medical Center Utrecht และ University of Amsterdam กลับได้ข้อมูลที่คัดค้านความเชื่อนี้นั่นคือ พวกเขาพบว่า กลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นและได้รับอาหารเพียงแค่วันละ 400-800 แคลอรี่ในช่วงปี 1944-45 หรือสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 27%
ข้อมูลนี้ยังยืนยันว่าการขาดอาหารในช่วงวัยรุ่นไม่เพียงสร้างปัญหาในระยะสั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย นั่นหมายความว่า ในอนาคตอันใกล้ โลกตะวันตกนี้จะยังพบได้ทั่วโลก แม้แต่ในทวีปแอฟริกาที่คนมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นเป็นเวลายาวนาน ดังนั้นค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของทั่วโลกในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังที่ก่อโรคแทรกซ้อนมากมายเหล่านี้ย่อมจะบานปลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน แล้วเมืองไทยเตรียมตัวสำหรับแก้ปัญหานี้แล้วหรือยัง
