You are here: Home > Econ & Business, Hot Topic > กรีกอันตราย

กรีกอันตราย

โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร

               ทุกวันนี้เรื่องในประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจคงไม่พ้นเรื่อง น้ำท่วม ส่วนเรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศนั้นก็คงไม่พ้นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซ และเงินสกุลยูโร ทั้งนี้เพราะไม่เพียงเงินยูโรได้กลายเป็นเงินสกุลหลักสำคัญของโลกแล้ว การรวมตัวกันของสหภาพยุโรปจนถึงการใช้สกุลเงินร่วมกันได้กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่อาเซียนองค์กรความร่วมมือในภูมิภาคของไทยต้องการเดินตาม  บทเรียนจากกรีซและสมาชิกอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตย่อมมีผลต่อการตัดสินใจในการรวมตัวกันของภูมิภาคนี้

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการเงินระหว่างประเทศมีหลัก 3 ข้อนั่นคือ 1) เปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ นโยบายนี้จะทำให้ประชาชนมีอิสระอย่างเต็มที่ในการค้าขายและลงทุนกับต่างประเทศ   และยังทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศได้โดยง่าย 2) ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวโดยธนาคารกลางจะเป็นผู้สร้างเสถียรภาพภายในด้วยการกำหนดปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย  อย่างไรก็ดีประเทศที่ใช้วิธีการนี้ยังคงมีความผันผวนทางด้านการเงินสูง 3) ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินซึ่งจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถที่จะวางแผนอนาคตของตนเองได้ง่ายขึ้น  แม้ว่านโยบายแต่ละข้อจะมีข้อดี แต่การดำเนินนโยบายทั้งสามพร้อมกันกลับไม่สามารถทำได้  ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกเลือก 2 นโยบายแรก ยกเว้นจีน และยุโรป  ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในยุโรป พวกเขาจึงไม่สามารถใช้มาตรการเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ได้

                จริงอยู่วิกฤตเศรษฐกิจจากการใช้เงินเกินตัวมิใช่เรื่องใหม่ แต่วิกฤตเศรษฐกิจของกรีซกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิกฤตเศรษฐกิจอื่น ๆ ตรงที่ กรีซมิได้มีสกุลเงินเป็นเอกเทศ แต่ใช้สกุลเงินร่วมกันกับสมาชิกอื่น ๆ ทั้งภูมิภาค  ดังนั้นรัฐบาลกรีซจึงไม่สามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายได้ตามลำพัง และทฤษฏีนโยบายทางด้านการเงินและการคลังที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่เคยถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนเช่นนี้มาก่อน  บทเรียนการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจกรีซจึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หรือเท่ากับเป็นการเขียนทฤษฏีใหม่ก็ว่าได้

                แนวคิดเรื่องเงินสกุลเดียวสำหรับภูมิภาคเริ่มต้นมาจากทฤษฏีของโรเบิร์ต มันเดล นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1999 ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเจ้าของ Mundell-Fleming model  ทฤษฏีนี้มีแนวคิดว่าเงินทุนจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อมันสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี  ดังนั้นการควบรวมกันของเงินในภูมิภาคเดียวกันร่วมกับระบบการเงินแบบเสรีจะทำให้เงินทุนที่ถูกออมไว้สามารถไหลเวียนไปสู่ผู้ที่ต้องการลงทุนสมความปรารถนาภายใต้ปัจจัยที่สำคัญคือ การยืดหยุ่นของค่าแรง อัตราเช่าและกลไกราคาที่สามารถปรับให้ตรงตามความต้องการของตลาด  แนวคิดนี้นี่เองที่นำมาซึ่งสนธิสัญญามาสทริชท์ (Masstricht Treaty) หรือสนธิสัญญาเพื่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเงินโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การใช้เงินตราสกุลเดียว การมีธนาคารกลางร่วมกัน และกำหนดนโยบายต่างประเทศ และนโยบายสังคมร่วมกัน

                ภายใต้สนธิสัญญามาสทริชท์มีกฎเกณฑ์สำคัญ ๆ มากมายที่ใช้กำหนดคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ประเทศสมาชิกต้องมีงบประมาณขาดดุลไม่เกิน 3% ของรายได้ประชาชาติ อัตราดอกเบี้ยของประเทศสมาชิกต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ 3 ประเทศที่ต่ำที่สุด 2%   และหนี้ต่อรายได้ประชาชาติต้องไม่เกิน 60% และหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจะต้องถูกลงโทษ  แต่นับจากสหภาพยุโรปใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันจนถึงปัจจุบัน การบังคับใช้ข้อตกลงนี้ยังไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที  ซ้ำร้ายการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของทุนกลับเกิดขึ้นได้เฉพาะเงินทุนเท่านั้น การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนทางด้านแรงงานกลับเกิดขึ้นน้อยมาก  ข้อมูลจากธนาคารกลางยุโรปพบว่าในปี 2000 การเคลื่อนย้ายของประชากรในสหภาพยุโรป 15 ประเทศเกิดขึ้นน้อยมากเพียงแค่ 0.1% เท่านั้นหากเทียบกับชาวอเมริกันที่สูงถึง 5.9% และยังคงเพิ่มขึ้นไม่มากจวบจนปัจจุบัน  การที่แรงงานมิได้เคลื่อนย้ายอย่างเสรีสมดังความตั้งใจในการก่อตั้งสหภาพเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมซึ่งมีรากเหง้ามากจากลัทธิชาตินิยม และภาษา  ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อให้สามารถกระจายทุนไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาจึงเกิดขึ้นได้ยาก

                แม้ว่าการศึกษาของเจฟฟรี่ แฟรงเคลศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การรวมตัวกันทางการเงินเป็นสหภาพจะทำให้ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจของที่ใดที่หนึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า ทั้งนี้เพราะการเชื่อมโยงกันกระตุ้นให้วงจรธุรกิจระหว่างประเทศมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้นจากความสอดคล้องกันของนโยบายการคลังและการเงินที่เกิดจากธนาคารกลางจึงเท่ากับเป็นการลดทอนความรุนแรงของวิกฤต  แต่การที่นโยบายของธนาคารกลางยุโรปมีเป้าหมายเพียงเรื่องเดียวนั่นคือ อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นนโยบายที่ง่ายต่อการผิดสัญญา โดยละเลยนโยบายเรื่องการเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าและลดทอนความผันผวนของวงจรเศรษฐกิจ จึงทำให้การรวมตัวกันของสหภาพยุโรปไม่สามารถสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเคลื่อนย้ายของทุนได้อย่างเสรี

              สถานการณ์ของสหภาพยุโรปจึงแตกต่างจากสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง   ในสหรัฐฯ รัฐบาลกลางสามารถที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากใคร  ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็สามารถดูแลจัดเตรียมสภาพคล่องและกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยลำพัง  นอกจากนี้การที่ชาวอเมริกันทั้งหมดใช้ภาษาเดียวกันและมีคุณธรรมที่ยึดถือร่วมกัน การเคลื่อนย้ายของแรงงานจึงเกิดขึ้นได้ง่าย  แต่ยุโรปไม่มีรัฐบาลกลางเนื่องจากการรวมตัวกันมิใช่การรวมตัวกันทางการเมืองส่งผลให้ไม่มีองค์กรกลางที่จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง  ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปยังไม่สามารถที่จะจัดเตรียมสภาพคล่องให้กับประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขามีเป้าหมายเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อโดยไม่สามารถกำหนดเรื่องอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 

             นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังขาดความสามารถในการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงผ่านนโยบายการกระจายการคลังอีกต่างหาก  ที่ร้ายที่สุดก็คือประเทศสมาชิกมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมมากมาย ร่วมกับลัทธิชาตินิยมจนทำให้การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการไหลเวียนของเงินทุนเกิดขึ้นได้ยาก และยังทำให้การให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบปัญหากลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจของสมาชิกในภูมิภาคที่ใช้เงินสกุลเดียวกันจึงไม่เพียงเป็นแค่วิกฤตของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นวิกฤตของทั้งภูมิภาคหรือเท่ากับเป็นการเปลี่ยนปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งให้กลายเป็นความเสี่ยงของทั้งภูมิภาคเลยทีเดียว  

                วิกฤตการณ์ของยุโรปที่เริ่มต้นจากกรีซทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดว่า เงินยูโรไม่น่าจะสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป ทั้งนี้เพราะเงินยูโรทำให้ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตของเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกลดลง และยังเพิ่มความเสี่ยงของทั้งภูมิภาคด้วย   กรีซเป็นประเทศที่มีแรงจูงใจมากที่สุดในการสร้างความล้มเหลวของเงินสกุลยูโร  ก่อนที่กรีซจะเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป พวกเขามีหนี้สาธารณะสูงมาก แต่ในที่สุดกรีซก็สามารถลดอัตราเงินเฟ้อของตัวเองให้อยู่ในระดับต่ำพอที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้พอดีในปี 2001 

             เมื่อรัฐบาลกรีซได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อของตนให้อยู่ในระดับดีพอ ๆ กับสมาชิกอื่น ๆ ได้ตามสนธิสัญญามาสทริสท์จนสามารถเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2001 ร่วมกับการลดลงของความเสี่ยงจากการใช้สกุลเงินยูโรจึงทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาค้าขายและลงทุนในกรีซมากขึ้น  กรีซจึงกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตเกือบจะสูงที่สุดในสหภาพยุโรปนั่นคือ มีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นจาก 125 พันล้านดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 357 พันล้านดอลลาร์ในปี 2008 หรือเพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในทศวรรษก่อนเป็น 4% ในทศวรรษต่อมาซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคที่เติบโตเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น  อย่างไรก็ดีแทนที่รัฐบาลกรีซจะใช้ประโยชน์จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาลดการขาดดุลงบประมาณ พวกเขากลับเพิ่มการขาดดุลด้วยการเพิ่มเงินสนับสนุนตามความต้องการของมวลชนจนทำให้ปัจจุบันกรีซขาดดุลงบประมาณถึง 12.7% หรือมากกว่า 4 เท่าของสนธิสัญญามาสทริชท์และมีหนี้สินมากถึง 112.6% ของรายได้ประชาชาติ

              แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์ของกรีซมิได้ย่ำแย่ลงหรือเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะกรีซใช้โอกาสของการเข้าเป็นสมาชิกในการบิดเบือนตัวเลขการเป็นหนี้สาธารณะมาตั้งแต่ก่อนปี 2001 แล้ว รัฐบาลกรีซเองเคยออกมายอมรับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2004 แล้วว่า พวกเขาตกแต่งตัวเลขเพื่อให้สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้  แต่เนื่องจากในปีนั้นเป็นเวลาก่อนที่กรีซจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกทำให้พวกเขามีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมาก และรัฐบาลกรีซก็สัญญากับประชาคมยุโรปว่า พวกเขาจะดำเนินนโยบายการคลังด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และเพิ่มภาษีสินค้าบาป เช่น แอลกอฮอลล์และบุหรี่เป็น 18% และ 19% ตามลำดับเพื่อลดการขาดดุล  การขาดดุลงบประมาณของกรีซจึงมิได้เป็นฉนวนที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

             วิกฤตเศรษฐกิจของกรีซในปัจจุบันเริ่มต้นจากการที่ George Papandreous หัวหน้าพรรคสังคมนิยมซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งออกมายอมรับกับสาธารณชนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2009 ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในปีนั้นจะลดลงถึง 0.3% และหนี้สาธารณะในปีนี้ของกรีซอาจสูง 262 พันล้านยูโรถึง 6% ของรายได้ประชาชาติ  หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว Fitch ก็ประกาศลดความเชื่อมั่นของพันธบัตรรัฐบาลกรีซให้อยู่ในระดับ BBB+   ยิ่งเมื่อมูดี้ลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลกรีซลงเช่นกันส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกรีซสูงถึง 7% หรือสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันถึง 3% และทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะขายพันธบัตรใหม่เพื่อมาชำระหนี้เก่าได้

                ในประเทศที่มีสกุลเงินของตัวเอง การลอยตัวค่าเงินจะทำให้เงินของพวกเขามีค่าน้อยลง แต่มันมักตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับลดลงจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ  แต่เนื่องจากกรีซใช้เงินยูโรซึ่งเป็นสกุลเงินเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ทั้งภูมิภาคและถูกตรึงไว้ด้วยนโยบายของธนาคารกลางยุโรปและสภาพแวดล้อมของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปหรือเยอรมนีทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ความได้เปรียบจากการลดค่าเงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ  ยิ่งกว่านั้นการที่กรีซติดหนี้เป็นค่าเงินสกุลยูโร  การลดค่าเงินยิ่งทำให้พวกเขามีหนี้เพิ่มขึ้นด้วยหากเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเองหนักขึ้นไปอีก  ร้ายกว่านั้นเมื่อกรีซเริ่มประสบปัญหาและอัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางยุโรปจำเป็นยุติการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นซึ่งเท่ากับทำให้ต้นทุนของเงินทุนสูงขึ้นไปอีกและทำให้ความสามารถในการก่อหนี้ของกรีซยุ่งยากมากขึ้นตามไปด้วย 

          ทางเลือกของกรีซจึงมีไม่มากนัก นั่นคือ 1) ละจากสกุลเงินยูโรเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถลดค่าเงินสกุลตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ก็มิใช่ทางเลือกที่ดีเพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งตลาด ทำให้ธนาคารล้ม เงินทุนไหลออกและราคาอสังหาริมทรัพย์ตกลงตามไปด้วย 2) ลดระดับราคาหรือลดราคาของสินค้า ทางเลือกนี้ย่อมก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด ทำให้อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้และทำให้ขนาดของหนี้ที่พวกเขาแบกอยู่ใหญ่ขึ้นด้วย  ยิ่งกว่านั้นการลดค่าเงินยูโรให้ประโยชน์เฉพาะกับประเทศที่ทำการค้าด้วยเงินยูโรเท่านั้นซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของกรีซลดลง และยังเท่ากับเป็นการเพิ่มความกดดันในการเกิดภาวะเงินฝืดหนักขึ้นไปอีก 3) ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ  ในอดีตนั้นข้าราชการกรีซได้รับเงินบำนาญมากถึง 96% พวกเขาอาจจำเป็นต้องลดผลประโยชน์ส่วนนี้ลง แต่การทำเช่นนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการและทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ประสบปัญหาหนักข้อขึ้นไปอีก

                เมื่อกรีซไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง พวกเขาจึงต้องพึ่งพาธนาคารกลางยุโรป แต่ธนาคารกลางยุโรปเองก็ไม่สามารถพึ่งพาเงินออมจากจีนเพื่อสร้างหนี้ได้  หากพวกเขาลดค่าเงินก็จะทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าต่างประเทศลดลง ทำให้พันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิกไม่ดึงดูดการลงทุน อีกทั้งยังกดดันให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีกด้วย  ทางเลือกของพวกเขาจึงเหลือเพียง 2 ทางคือ 1) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การทำเช่นนี้เท่ากับทำให้กรีซมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นไปอีก 2) คงข้อกำหนดในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังประสบปัญหา นโยบายนี้จะทำให้ประเทศที่กำลังประสบปัญหามีหนี้ลดลงและสามารถรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้เพราะภาคการส่งออกสร้างรายได้ให้กับกรีซถึง 22% ของรายได้ประชาชาติ  แต่นโยบายเช่นนี้เท่ากับเป็นการลดทอนความสำคัญของรากฐานในการสถาปนาเงินสกุลยูโรเลยทีเดียว 3) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซ

            แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้นแล้วรายเดือน ต้นปี 2010 เยอรมนีประเทศสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปก็ยังคงยืนกรานที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซเพื่อป้องกันการเกิดข้อครหาของประชาคมยุโรป  นอกจากนั้นเยอรมนีเองก็มีหนี้สาธารณะของตัวเองถึง 77.2% ของรายได้ประชาชาติในปี 2009 ซึ่งสูงกว่าข้อจำกัดคือ 60% อยู่แล้วจึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้  ซ้ำร้ายเยอรมนีเองยังมีทางเลือกที่ดีกว่า นั่นคือ ถอนตัวจากเงินสกุลยูโรและหันกลับมาใช้เงินดอยซ์มาร์คซึ่งควรจะมีค่ามากขึ้น ทำให้หนี้ของเยอรมันเทียบกับยูโรน้อยลง ซ้ำยังทำให้สินทรัพย์ที่เคยมีค่าเป็นเงินยูโรมีราคาถูกลงสำหรับชาวเยอรมันด้วย  การถอนตัวจากสกุลเงินยูโรของเยอรมันจึงน่าที่จะให้ประโยชน์กับพวกเขามากกว่าทั้งในแง่ของเสถียรภาพและยังเท่ากับเป็นการปลดปล่อยพวกเขาออกจากกรงขังของธนาคารกลางยุโรปด้วย  ยิ่งกว่านั้นผู้เสียภาษีชาวเยอรมันย่อมยินดีที่จะเป็นอิสระต่อการที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ไม่รับผิดชอบด้วย นั่นหมายความว่า แรงจูงใจในการละจากสกุลเงินยูโรของเยอรมนีกลายเป็นข้อกำหนดที่สำคัญในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางยุโรปมากกว่ากรีซไปเสียอีก

              อย่างไรก็ดีการละจากเงินยูโรของเยอรมนีจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเงินยูโรลดลงอย่างมาก และจะทำให้การรักษาสัญญาของธนาคารกลางประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลงบประมาณเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นั่นหมายความว่า ธนาคารกลางยุโรปจำเป็นต้องทำตามข้อกำหนดซึ่งจะส่งผลให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าซึ่งก็คือเยอรมนีและฝรั่งเศสต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการให้กู้ยืมระยะยาวเพื่อกำจัดความเสี่ยงทางด้านระบบ แต่นโยบายนี้กลับส่งผลเสียต่อผู้นำของทั้งสองประเทศซึ่งกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้   ซ้ำร้ายการเข้าช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซยังเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางด้านศีลธรรมกับประเทศอื่น ๆ ตามมาด้วย อีกทั้งยังจะทำให้ต้นทุนของเงินทุนในอนาคตมีค่าเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า การเข้าช่วยเหลือกรีซเท่ากับเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพในอนาคต

            จริงอยู่หนี้ของกรีซมีนาดเล็กและสามารถที่จะถูกดูดซับได้ด้วยความสามารถของสมาชิกสหภาพยุโรปเอง แต่หนี้ของประเทศสมาชิกอื่น ๆ เช่น โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ซึ่งล้วนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าและมีขนาดหนี้ในระดับสูงกว่า 110% ของรายได้ประชาชาติแล้ว   อิตาลีซึ่งมีรายได้ประชาชาติเท่ากับ 3 เท่าของรายได้ประชาชาติของกรีซ โปรตุเกสและสเปนรวมกันก็มีหนี้สูงถึง 114.6% ของรายได้ประชาชาติหรือเท่ากับ 5 เท่าของกรีซแล้วเช่นกัน  การเข้าช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซของเยอรมนีและฝรั่งเศสจึงเสมือนเป็นการเปิดประตูให้น้ำทะลักเข้าท่วมสหภาพยุโรป และเท่ากับเป็นการทำให้วิฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใหญ่โตกว่าเดิมอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะประเทศสมาชิกอื่น ๆ จะเห็นเป็นตัวอย่างและยิ่งดำเนินนโยบายการคลังด้วยการขาดความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นไปอีก 

                อย่างไรก็ดีการปล่อยให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ก็ส่งผลเสียต่อสหภาพยุโรปเองอย่างยากที่จะจินตนาการเช่นกัน ทั้งนี้เพราะ 1) ต้นทุนของเงินทุนในการกู้ยืมของประเทศสมาชิกจะเพิ่มขึ้นมาก 2) ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลยูโรลดลงอันจะทำให้ค่าเงินยูโรลดลง 3) ทำให้เยอรมนีตระหนักถึงข้อดีของการละจากเงินสกุลยูโรมากยิ่งขึ้นไปอีกและทำให้เสถียรภาพของเงินยูโรลดลงไปอีกด้วย  นอกจากนี้ประเทศที่มีหนี้มากจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายลงไปอีกจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและค่าเงินลดลง   แม้ว่าการช่วยเหลือกรีซจะมากพอที่จะทำให้พวกเขาไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ แต่ขนาดความช่วยเหลือที่จะต้องให้กับประเทศต่อ ๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา  นับจากวิกฤติเศรษฐกิจในกรีซเริ่มขึ้นต้นทุนของการป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซได้เพิ่มขึ้นเป็น 4% หรือ 4 เท่าภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งปี  สถานการณ์ของยุโรปในตอนนี้ก็เหมือนกับสถานการณ์การล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ ในปี 2008 นั่นเอง

             เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านเครดิตก็คือ ความเชื่อมั่น  ในโลกการเงินนั้น การรับรู้มักกลายเป็นความจริงและมักถูกนำมาใช้การพยากรณ์  ปัจจุบันกองทุนเก็งกำไรเริ่มเข้ามาเก็งกำไรเงินยูโรและหนี้ของยุโรปแล้ว ความเสี่ยงของระบบในกรณีนี้ยิ่งจะสูงกว่าของสหรัฐฯ มากนักเพราะไม่มีหน่วยงานกลางที่จะรับผิดชอบหรือบรรเทาภัยพิบัติเหมือนอย่างในสหรัฐฯ  กรีซอาจทำเหมือนแบร์เสติร์นที่โอ้อวดว่าพวกเขามีนิวเคลียร์อยู่และบีบบังคับให้เยอรมนีต้องช่วยเหลือเพื่อนบ้านเพื่อลดทอนความเสี่ยงของระบบ  หากสหภาพยุโรปปล่อยให้กรีซผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลให้พวกเขามั่งคั่งน้อยลงไปด้วย  แต่การช่วยเหลือก็จะสร้างความเสี่ยงทางศีลธรรมซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ลดความสำคัญของการดำเนินนโยบายการคลังที่ถูกต้องหรือเท่ากับเป็นการลดทอนความอยู่รอดของเงินยูโรในระยะยาวอยู่ดีนั่นเอง

                กล่าวโดยสรุปก็คือการที่สมาชิกในสหภาพยุโรปไม่สามารถที่จะดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อที่จะธำรงระบบเงินสกุลเดียวเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและความสามารถในการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายทุน  นอกจากนี้นโยบายเรื่องเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรปเองก็กลายเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการตอบสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะนโยบายเรื่องเงินเฟ้อและการลดค่าเงินสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศที่มีหนี้มากมายอย่างกรีซได้เป็นอย่างดี แต่ก็เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจของประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดของสหภาพยุโรปซึ่งก็คือเยอรมนีไปกลาย ๆ   ยิ่งกว่านั้นการที่ธนาคารกลางยุโรปมีนโยบายลดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดสภาพคล่องยิ่งทำให้กรีซขาดความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก  สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความล้มเหลวของการรวมกันของสกุลเงินยูโรเพราะพวกเขามีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  เมื่อสหภาพยุโรปขาดเอกภาพเฉกเช่นสหรัฐฯ ระบบที่พวกเขาสร้างขึ้นจึงมีชะตากรรมที่จะต้องสิ้นสุดลงอย่างไม่ต้องสงสัยจากความขัดแย้งในเรื่องอรรถประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมนั่นเอง  

 

               

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.