You are here: Home > Hot Topic, Science & Envi, Social Science > ทำไมมนุษย์ต้องมีเซ็กส์เพื่อความสนุกสนานด้วย

ทำไมมนุษย์ต้องมีเซ็กส์เพื่อความสนุกสนานด้วย

โดย  พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

                 คนทั่วไปมักคิดว่าการมีเซ็กส์เป็นการแสดงออกถึงความรักที่ดีที่สุด  คู่รักจึงมักใช้วันวาเลนไทน์เริ่มต้นมีเซ็กส์กันครั้งแรก ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  นักชีววิทยาพบว่าการมีเซ็กส์มิใช่เพื่อความรักหรือความสนุกสนาน แต่มันเป็นเพียงแค่สัญชาตญาณธรรมดา ๆ ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเหตุใดมนุษย์จึงตีความการมีเซ็กส์เป็นเรื่องของความรักและความสนุกสนานไปได้?

                                                    นักวิทยาศาสตร์และนักมานุษยวิทยาพบว่า การมีเซ็กส์ของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์อยู่หลายประการนั่นคือ 1) มนุษย์เพศชายและเพศหญิงมักมีคู่เพียงคนเดียวตลอดชีวิต และอาศัยการแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของการอนุญาตให้มีเซ็กส์กันได้อย่างถูกต้องตามทำนองครองธรรมและสม่ำเสมอ 2) มนุษย์ทั้งเพศชายและหญิงถือเอาการแต่งงานเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการมีหน้าที่ร่วมกันในการเลี้ยงดูบุตร 3) มนุษย์มักมีเซ็กส์กันในที่ส่วนตัวและสามารถทำได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดเฉพาะช่วงเวลาที่สามารถมีบุตรได้เท่านั้น 4) ช่วงตกไข่ของมนุษย์เพศหญิงจะเป็นช่วงที่ปิดบังซ่อนเร้น 5) มนุษย์เพศหญิงมีการหมดประจำเดือนซึ่งหมายถึงการหมดความสามารถในการสืบพันธุ์  ในขณะที่มนุษย์เพศชายสามารถสืบพันธุ์ได้ตลอดชีวิตแม้ว่าจะแก่เฒ่าแล้วก็ตาม  จริงอยู่สัตว์บางชนิดก็มีลักษณะบางประการข้างต้น แต่ยังไม่มีสัตว์ชนิดใดในโลกที่มีลักษณะเหล่านี้ครบทุกข้อเช่นเดียวกับมนุษย์

                         การที่มนุษย์มีคุณลักษณะเหล่านี้เป็นผลจากการวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection)  กระนั้นก็ตามยีนที่ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นอาจไม่สามารถดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันได้ หากทารกไม่ได้รับการดูแลประคบประหงมจากพ่อแม่ ทั้งนี้เพราะทารกมนุษย์ไม่สามารถเติบโตเองได้จึงจำเป็นที่พ่อแม่จะต้องเป็นผู้เลี้ยงดู  ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดโปรแกรมไว้แต่แรกเกิดแล้วว่าสัตว์ชนิดไหนจะต้องเลี้ยงลูกหรือไม่ หรือเพศใดจะเป็นเพศที่ต้องเลี้ยงลูกราวกับว่ายีนมีความคิด

                        ปัจจัยที่ธรรมชาตินำมาพิจารณาว่าเพศใดจะเป็นผู้เลี้ยงดูลูกมีดังนี้ 1) เพศใดเป็นผู้ลงทุนมากกว่า  หากพิจารณาจากพลังงานและเวลาที่ลงทุนเพื่อผลิตไข่และสเปิร์มจะพบว่า ไข่มีขนาดใหญ่กว่าสเปิร์ม นั่นหมายความว่า เพศเมียต้องใช้พลังงานและเวลาในการผลิตมากกว่าเพศผู้  เพศเมียจึงมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นผู้เลี้ยงลูกมากกว่า  แต่เมื่อนำวิธีการของการผสมพันธุ์มาร่วมในการพิจารณาด้วยจะพบว่า หากสัตว์ทั้งสองเพศต่างปล่อยเอาไข่และสเปิร์มออกมาผสมพันธุ์กันนอกร่างกาย ทั้งสองเพศมักไม่ลงทุนเพิ่ม  พวกมันมักปล่อยให้ตัวอ่อนเติบโตเองตามธรรมชาติ  แต่หากการผสมพันธุ์เกิดขึ้นภายในร่างกายและตัวอ่อนจำเป็นต้องฝังตัวในเพศเมีย นั่นเท่ากับว่าเพศเมียถูกบังคับให้ต้องลงทุนมากขึ้นไปอีกเพราะต้องให้บริการตัวอ่อนทั้งในเรื่องอาหารและเวลา  เพศเมียจึงไม่สามารถละทิ้งตัวอ่อนได้เพราะมันจะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสิ่งที่ตนได้ลงทุนไปมากแล้ว  นี่อาจเป็นที่มาของสัญชาตญาณที่เพศเมียมักเป็นผู้เลี้ยงดูลูก

                2) การเลี้ยงลูกเป็นการขจัดโอกาสในการแพร่พันธุ์หรือไม่  สัญชาตญาณของสัตว์ทำให้มันรับรู้ว่าตัวอ่อนเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ยีนของมันดำรงอยู่บนโลกต่อไป ตัวอ่อนจึงมีความสำคัญสำหรับมัน  โดยทั่วไปหากการผสมพันธุ์เกิดขึ้นนอกร่างกาย ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะมีโอกาสขยายพันธุ์ต่อไปอีกทันทีหลังจากที่มันปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาแล้ว ทั้งสองเพศมักจะพร้อมใจกันละทิ้งตัวอ่อนให้เติบโตเองตามธรรมชาติโดยไม่ยอมเสียเวลาเลี้ยงดู ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงดูตัวอ่อนเป็นการขจัดโอกาสที่มันจะขยายพันธุ์ต่อ  แต่หากการผสมพันธุ์เกิดขึ้นภายในร่างกายและเพศเมียจำเป็นต้องอุ้มท้องตัวอ่อนไว้ซึ่งทำให้มันไม่สามารถที่จะผสมพันธุ์อีกได้ทันที เพศเมียจึงต้องเลี้ยงดูลูกอ่อนเพื่อรับประกันว่า ลูกอ่อนจะทำให้ยีนของมันคงอยู่ต่อไป  ส่วนเพศผู้นั้นหลังการผสมพันธุ์แล้ว มันมักสามารถที่จะผสมพันธุ์ต่อได้ทันที  การเลี้ยงลูกหรืออยู่กับเพศเมียเพียงตัวเดียวจึงเป็นการขจัดโอกาสที่จะขยายพันธุ์มากขึ้น  นี่จึงเป็นเหตุผลที่เพศผู้มักละทิ้งตัวอ่อนไว้ให้ตัวเมียเลี้ยง

                       3) ความมั่นใจในการเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงซึ่งหมายถึงลูกตัวที่มันเลี้ยงมียีนของมันอยู่จริง  การที่สัตว์เพศผู้ต้องเลี้ยงลูกให้ผู้อื่นมีค่าเท่ากับว่ามันพ่ายแพ้ในการแข่งขันกันขยายพันธุ์  หากไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้กับสัตว์เพศผู้ว่าตัวเมียที่มันผสมพันธุ์นั้นจะให้กำเนิดลูกที่มียีนของมันจริง ๆ เพศผู้จะหันหลังให้กับเพศเมียทันทีหลังผสมพันธุ์เสร็จเพื่อไม่ให้เสียเวลาหรือขจัดโอกาสในการแพร่พันธุ์ต่อไป ทั้งนี้เพราะเพศเมียที่มันผสมพันธุ์อาจผสมพันธุ์กับตัวผู้ตัวอื่น ๆ ทั้งก่อนและหลังมันได้

                หากนำปัจจัยทั้งสามข้อมาใช้ในการพิจารณาเพื่อกำหนดสัญชาตญาณการเลี้ยงดูทารกมนุษย์จะพบว่า แม่มีความจำเป็นที่จะเลี้ยงดูบุตรมากกว่าพ่อ ทั้งนี้เพราะแม่ต้องใช้เวลาและพลังงานในการตั้งครรภ์ถึง 9 เดือน อีกทั้งการให้นมบุตรยังทำให้แม่ไม่สามารถมีลูกเพิ่มได้อีกในช่วงเวลานั้นจึงทำให้การเลี้ยงดูบุตรไม่ทำให้แม่เสียโอกาสของการแพร่พันธุ์   นอกจากนั้นการที่แม่ละทิ้งลูกอ่อนเพื่อไปผสมพันธุ์ใหม่ก็ไม่ทำให้แม่มีลูกเพิ่มขึ้น  แม่จึงจำเป็นต้องเป็นผู้เลี้ยงลูก  ส่วนการพิจารณาทางด้านพ่อนั้นจะพบว่าการสร้างสเปิร์มของพ่อลงทุนน้อยกว่ามากทั้งในแง่สรีระและเวลา  ยิ่งไปกว่านั้นสถิติบ่งว่ามนุษย์ผู้ชายที่มีจำนวนบุตรมากที่สุดในโลกมีจำนวนกว่าพันคน ดังนั้นการที่พ่อเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นการเสียเวลาและขจัดโอกาสในการแพร่พันธุ์  ซ้ำร้ายพ่อยังมีความเสี่ยงที่อาจต้องเลี้ยงดูบุตรของคนอื่นอีกด้วย  พ่อจึงมีโอกาสที่จะละทิ้งลูกมากกว่าแม่  ถึงกระนั้นก็ตามพ่อมักไม่ทิ้งลูกเพราะพวกเขามักต้องทำหน้าที่อื่น ๆ ในครอบครัวแทน เช่น ทำมาหากิน หาอาหารและป้องกันภัยเพื่อสร้างความมั่นใจว่ายีนของตนเองจะดำรงอยู่   แต่มนุษย์ผู้ชายส่วนใหญ่ยังคงมีสัญชาตญาณของการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงของคนอื่นหรือมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเพื่อส่งเสริมการแพร่ขยายยีนโดยไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูบุตรอีกด้วย

                     นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยาและนักชีววิทยายังพบว่า การไม่ทราบเวลาตกไข่ที่แน่นอนของผู้หญิงมีประโยชน์ต่อการธำรงอยู่ของยีนด้วย  Richard Alexander และ Katharine Noonan นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนอธิบายด้วยทฤษฏีพ่ออยู่บ้าน (daddy-at-home) ว่า การที่มนุษย์ทั้งเพศหญิงและชายไม่ทราบเวลาตกไข่ที่แน่นอนร่วมกับความสามารถในการมีเพศสัมพันธ์ได้ตลอดเวลาเป็นการส่งเสริมการมีคู่เพียงคนเดียวและสร้างความมั่นใจให้กับพ่อว่าไม่ได้เลี้ยงลูกให้คนอื่น ทั้งนี้เพราะเมื่อมนุษย์ทั้งสองเพศต่างไม่รู้เวลาตกไข่จึงทำให้ผู้ชายต้องอยู่บ้านทั้งวันเพื่อมีเซ็กส์ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้  การละทิ้งผู้หญิงของตัวเองไปชั่วคราวอาจทำให้ผู้ชายคนอื่นฉวยโอกาสมามีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงของตัวเองและทำให้พวกเขาต้องตกที่นั่งลำบากด้วยการเลี้ยงลูกให้คนอื่น  นอกจากนั้นการที่ผู้ชายไม่สามารถทราบว่าผู้หญิงอื่นที่ตัวเองแอบไปมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นมีการตกไข่เวลาใด การเพิ่มปริมาณยีนของตัวเองในโลกด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น ๆ จึงเป็นไปได้ยาก  แต่หากทั้งสองเพศต่างทราบเวลาตกไข่ที่แน่นอนเช่นเดียวกับสัตว์ทั่ว ๆ ไป ผู้ชายก็จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงของตนเองเพียงวันที่ตกไข่แล้วใช้เวลาที่เหลือไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ส่งผลให้ลูกที่เกิดมาอาจถูกพ่อทอดทิ้งจนถึงกับตายได้ 

                  Sarah Hardy นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียอธิบายโดยอาศัยข้อมูลจากประวัติศาสตร์ด้วยทฤษฎีพ่อหลายคน (many-fathers) ว่า มนุษย์ในสมัยโบราณชอบฆ่าทารกเพราะมันให้ประโยชน์กับผู้ฆ่าถึง 2 ต่อนั่นคือ ผู้ฆ่าสามารถกำจัดยีนของคนอื่นและทำให้ผู้หญิงที่กำลังเลี้ยงดูบุตรสามารถกลับมาตกไข่ได้อีกครั้งหนึ่ง  เมื่อผู้หญิงไม่ทราบเวลาตกไข่ที่แน่นอน พวกเธอก็สามารถที่จะหลอกผู้ชายทุกคนที่พวกเธอมีเพศสัมพันธ์ด้วยไม่ให้ฆ่าทารกของเธอเพราะเขาย่อมไม่มั่นใจว่า เด็กที่จะถูกฆ่าเป็นลูกของเขาหรือไม่  นอกจากนั้นพวกเขายังยินดีที่จะเลี้ยงดูเด็กต่อไปให้ด้วยเพราะเขาคิดว่า เด็กอาจเป็นลูกของเขา  แต่หากมนุษย์ทราบเวลาตกไข่ที่แน่นอน ผู้ชายย่อมจะมีเพศสัมพันธ์เฉพาะช่วงเวลานั้นและมั่นใจว่าลูกที่เกิดมาเป็นลูกของเขา และผู้ชายคนต่อ ๆ มาย่อมจะฆ่าทารกอย่างไม่ลังเลเพราะเขาก็มั่นใจเช่นเดียวกันว่าทารกไม่ใช่ลูกของเขา

                นอกจากนั้นการที่มนุษย์เพศหญิงถูกสร้างให้มีความสามารถในการมีเพศสัมพันธ์ตลอดเวลาอาจเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการยึดมนุษย์เพศชายไว้กับตัว ทั้งนี้เพราะผู้หญิงในสมัยโบราณอาจอดตายได้หากผู้ชายละทิ้งพวกเธอหลังจากมีเพศสัมพันธ์  การมีเพศสัมพันธ์จึงเท่ากับเป็นการติดสินบนให้มนุษย์เพศชายยอมอยู่ด้วยดี ๆ นี่เอง

                แม้ว่ามนุษย์ผู้หญิงจะมีการหมดประจำเดือนซึ่งหมายถึงการหมดความสามารถในการแพร่ขยายยีน แต่การหมดประจำเดือนนี้กลับยังมีประโยชน์ต่อการดำรงยีนของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น อวัยวะส่วนอื่น ๆ ย่อมเสื่อมสภาพลง  หากธรรมชาติยังคงรักษาอวัยวะสืบพันธุ์ไว้ให้กับผู้หญิงตลอดไปจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า  ธรรมชาติจึงออกแบบให้อวัยวะสืบพันธุ์ของมนุษย์ผู้หญิงเสื่อมสภาพไปพร้อมกับอวัยวะอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร  นอกจากนั้นการที่ผู้หญิงหมดประจำเดือนยังทำให้พวกเธอมีเวลามากขึ้นในการหาอาหารและเลี้ยงดูบุตรหลานแทนที่จะเสียเวลาไปกับการตั้งครรภ์

                     การที่มนุษย์ไม่ทราบเวลาตกไข่ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีสัญญาณทางเพศ  การศึกษาพบว่ามนุษย์ผู้ชายเห็นไขมันบริเวณสะโพกและเต้านมของผู้หญิงเป็นสัญญาณทางเพศ  จริงอยู่ขนาดของเต้านมอาจไม่สามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงปริมาณน้ำนมที่แท้จริงได้ แต่การที่มีเต้านมขนาดเล็กหรือไม่มีเลยกลับเป็นตัวบ่งชี้ถึงการขาดอาหาร  นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้ชายทั่วโลกชอบผู้หญิงที่มีเต้านมและสะโพกใหญ่เพราะมันบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของร่างกายซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการดำรงยีนให้กับพวกเขาได้  อย่างไรก็ดีมนุษย์ผู้หญิงกลับมิได้เห็นว่าอวัยวะเพศชายเป็นสัญญาณทางเพศอย่างที่มนุษย์ผู้ชายเชื่อ  นอกจากนั้นขนาดของมันก็ไม่มีส่วนสำคัญต่อการทำหน้าที่ด้วย  

                     เมื่อมนุษย์ต้องมีเซ็กส์อย่างสม่ำเสมอเพื่อการดำรงอยู่ของยีน แต่พวกเขาไม่มีสัญญาณทางเพศเฉกเช่นเดียวกันกับสัตว์อื่น ๆ ในโลก พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีเซ็กส์เพื่อความสนุกสนานด้วย

Rating: 2 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.