You are here: Home > Art & Culture > Francisco Goya: บิดาแห่งศิลปะยุคใหม่2

Francisco Goya: บิดาแห่งศิลปะยุคใหม่2

จากคอลัมน์”อิ่มอารมณ์ศิลป์” ใน D-Life

โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร  

                หลังปี 1792  โกย่าติดเชื้อไข้สมองอักเสบและกลายเป็นคนหูหนวก  ในระหว่างที่เขาพักฟื้นอยู่ 5 ปี เขาอ่านงานเกี่ยวกับปรัชญาและการปฏิวัติในฝรั่งเศสซึ่งทำให้เขารู้สึกหดหู่มาก เขาจึงสร้างงานชุดชื่อ Caprichos ขึ้น  ภาพชุดนี้เริ่มออกแนวมืดมนและเหนือจริงเหมือนคนฝันร้ายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัวและโดดเดี่ยวของเขาในช่วงเวลานั้น เช่น ภาพ Courtyard with Lunatics ซึ่งสะท้อนถึงความสยดสยองและเต็มไปด้วยจินตนาการของความหวาดกลัวและเปล่าเปลี่ยว  ภาพการถูกกักขังของผู้ต้องหาเช่นนี้กลายเป็นภาพที่เขาวาดอย่างสม่ำเสมอในเวลาต่อมาด้วย  หลังเขียนภาพนี้เสร็จไม่กี่สัปดาห์ เขาก็เริ่มป่วยทางจิต  

              หลังจากที่โจเซฟ โบนาปาสกษัตริย์จากฝรั่งเศสที่มาปกครองสเปนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเฟอดินันที่ 7 ก็หวนคืนบัลลังก์อีกครั้งหนึ่ง  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับโกย่ากลับไม่เหมือนเดิม เขาจึงไปซื้อบ้านของคนหูหนวกอยู่ที่ Manzanares และเริ่มสร้างงานแนวใหม่ที่เรียกว่า The Black Painting  

The Black Painting

The Black Painting

                 
"The Third of May"

The Third of May

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
            
          
                 ภาพชุด Black Painting ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของเขาคือ ภาพ The Third of May 1808   ภาพนี้ถูกเขียนในปี 1814 ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ที่ชาวสเปนปฏิเสธการครอบครองโดยฝรั่งเศส  The Third of May 1808 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เช้าตรู่ของวันที่ 3 เดือนพฤษภาคมปี 1808 เป็นภาพทหารฝรั่งเศสถือปืนจ่อยิงเหยื่อซึ่งก็คือชาวสเปน และมีศพที่เพิ่งสังเวยชีวิตให้กับสงครามนี้ส่วนหนึ่งกองอยู่  ความสว่างของภาพมาจากตะเกียงดวงใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าเหล่าทหารสาดส่องตรงไปยังตำแหน่งของเหยื่อผู้โชคร้ายที่มีสายตาเศร้าหมองระคนกับความสนเท่ห์สวมเสื้อขาวกางเกงเหลืองยืนชูมือที่มีรูปกากบาทอยู่ตรงฝ่ามือขวา ล้อมรอบด้วยชาวบ้านที่บ้างก็กำลังย่อเข่าก้มหน้า บ้างก็เอามือปิดหน้าซึ่งเป็นท่าทีที่แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวถึงขีดสุด  ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ในภาพเหมือนกับขณะที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนโดยตีความจากกากบาทบนฝ่ามือของเหยื่อ ร่วมกับเสื้อขาวและกางเกงเหลืองซึ่งเป็นสีของผู้มาแจ้งข่าวของพระสันตะปาปา  ภาพนี้เป็นภาพแรกที่มีการปฏิวัติทั้งในเรื่องหัวข้อ เนื้อหาและรูปแบบของการวาดภาพ จึงถูกจัดให้เป็นภาพแรกของศิลปะยุคใหม่และกลายเป็นภาพที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับ Edouard Manet และ Pablo Picasso ในเวลาต่อมา
 
              The Colossus ภาพของยักษ์ที่เดินผ่านเมืองที่เต็มไปด้วยซากศพที่เป็นเหยื่อจากสงครามเป็นอีกภาพหนึ่งในชุด Black Painting  ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามและการไม่ยอมรับกองทัพฝรั่งเศสของชาวสเปน  อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์พราโดลงความเห็นว่า ภาพนี้ไม่น่าจะเป็นผลงานของโกย่า หากน่าจะเป็นผลงานของลูกศิษย์เขามากกว่า 
 
 

colossus giant

 

 

 
 
 
 
 

              

Saturn Devouring His Son

Saturn Devouring His Son

                                                                                                                                    ภาพในชุด The Black Painting ที่น่าขยะแขยงและแสดงออกถึงความผิดปกติทางจิตมากที่สุดของโกย่าคงไม่มีภาพใดเกิน Saturn Devouring His Son  ภาพนี้มาจากนิยายปรัมปราของกรีกที่ Saturn กษัตริย์พระองค์หนึ่งต้องกินลูกของตัวเอง เพราะโหรทำนายว่าลูกของเขาจะฆ่าเขาเหมือนอย่างที่เขาฆ่าพ่อเพื่อชิงบัลลังก์  โกย่าวาดให้ Saturn ปรากฏขึ้นจากเงามืด อ้าปาก ตาถลนมองตรงมานอกภาพด้วยสายตาที่แสดงความสงสัยและบ้าคลั่ง  ความสว่างของภาพนอกเหนือจากส่วนตาขาวส่วนหนึ่งมาจากร่างของศพที่ฉาบด้วยเลือดปราศจากศีรษะและแขนข้างซ้าย อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อนิ้วของ Saturn ที่กำลังบีบรัดศพด้วยความโกรธแค้น  มีหลักฐานเชื่อได้ว่าขณะที่ภาพนี้ยังอยู่ที่กำแพงบ้านของโกย่า เขาวาดอวัยวะเพศของ Saturn ที่กำลังชูชันด้วย แต่เป็นไปได้ว่าขณะที่ภาพถูกเคลื่อนย้ายจากกำแพงลงมาบนผืนผ้าใบ ส่วนที่เขาวาดไว้ได้ถูกทำลายจนเสียหาย  ภาพนี้ถูกนักวิจารณ์ตีความไปต่าง ๆ นานา  บางคนตีความว่ามันแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคนหนุ่มกับคนแก่ซึ่งอาจหมายถึงโกย่ากับลูกชาย  แต่บางคนตีความว่าความโกรธเคืองของ Saturn เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความไม่พอใจของชาวสเปนในช่วงเวลานั้น   

       แม้ว่าโกย่าจะมิได้ตั้งใจให้ Saturn Devouring His Son ปรากฏต่อสาธารณชน แต่ภาพนี้กลับมีความสำคัญมากตรงที่ มันเป็นภาพที่แสดงถึงธรรมชาติของมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีเหมือนอย่างภาพใน Sistine Chapels ของไมเคิลแองเจลโลที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในคริสต์ศตวรรษที่ 16     

                  คนส่วนใหญ่ที่ชมผลงานทั้งหมดของโกย่าที่จัดแสดงแยกไว้เป็นพิเศษในพิพิธภัณฑ์พราโดจบลง คงรู้สึกเหมือน ๆ กันว่า เฮ้อ! โลกนี้ทำไมถึงเศร้าและมืดมนเช่นนี้หนอ

Rating: 5 stars

Tags: , , , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.