You are here: Home > Hot Topic, Medical Science > Mountains Beyond Mountains / สองมือที่สร้างโลก

Mountains Beyond Mountains / สองมือที่สร้างโลก

 พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

                ผู้ที่ดูหนังโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเรื่องการมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นคือชีวิตที่มีคุณค่าและมีความสุขอาจรู้สึกซาบซึ้งระคนสงสัยว่า มีคนปฏิบัติตนตามแนวคิดนี้ในชีวิตจริงด้วยหรือ  พวกเขาเป็นคนเช่นไรกันแน่และแตกต่างจากคนทั่ว ๆ ไปหรือไม่  คำถามนี้มีคำตอบอยู่ใน  Mountains Beyond Mountains: The Quest of Dr. Paul Farmer, A Man Who Would Cure the World หนังสือขนาด 322 หน้าเขียนโดย Tracy Kidder นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2546 ซึ่งนำเสนอชีวิตของนายแพทย์พอล ฟาร์เมอร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน  นอกจากเรื่องราวของนายแพทย์คนนั้นแล้ว เนื้อหาของหนังสือยังบอกเล่าถึงความสำเร็จและความสุขที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตตามปรัชญาในแนวนั้นอีกด้วย

                ผู้เขียนพบหมอพอล ฟาร์เมอร์ครั้งแรกที่ค่ายทหารอเมริกันในประเทศเฮติก่อนคริสต์มาสปี 2537  หลังจากที่เขาได้คุยกับหมอในวันนั้นแล้ว เขาจึงทราบว่าหมอฟาร์เมอร์จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยาและแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ในตอนนั้นหมอทำงานเป็นอาจารย์ทางด้านโรคติดเชื้อที่บอสตันปีละ 4 เดือนและใช้เวลาที่เหลืออีกปีละ 8 เดือนเดินทางไปรักษาชาวเฮติผู้ยากจนโดยไม่ได้รับค่าจ้างใด ๆ   ข้อมูลนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจในชีวิตหมอฟาร์เมอร์มาก  ในปี 2538 เขาจึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลในบอสตันที่หมอเป็นอาจารย์แพทย์อยู่  การติดตามหมอไปดูแลผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยในยิ่งทำให้เขาประทับใจในตัวหมอมากยิ่งขึ้นไปอีก  ครั้งนั้นเขาติดตามหมอไปดูผู้ป่วยเอดส์ชื่อโจ  หลังจากตรวจร่างกายของโจเสร็จ หมอจึงถามโจว่า เขาต้องการอะไรเมื่อออกจากโรงพยาบาล โจตอบว่าเขาต้องการให้หมอส่งเขาไปอยู่บ้านพักผู้ป่วยเอดส์เพื่อที่จะได้มีโอกาสดูทีวี และดื่มเบียร์วันละ 6 กระป๋อง  หมอพูดคุยเรื่องอื่น ๆ กับโจอีกอย่างสนุกสนานราวกับว่าพวกเขาอยู่กันแค่สองคนบนโลกเท่านั้น  เมื่อโจมีอาการดีขึ้น เขาได้เข้าไปอยู่บ้านพักผู้ป่วยเอดส์สมใจ และตอนขึ้นปีใหม่ปีนั้นหมอก็ได้นำเบียร์ 6 กระป๋องไปเป็นของขวัญปีใหม่ให้โจด้วย  ขณะที่หมอเดินออกจากบ้านพักผู้ป่วยเอดส์ ผู้เขียนได้ยินโจสรรเสริญหมอให้ผู้อื่นฟังว่าหมอเป็นดั่งนักบุญที่มาโปรดผู้ยากไร้  หมอบอกผู้เขียนว่าหมอไม่สนใจว่าใครจะเรียกหมอว่าอะไร แต่การที่ผู้อื่นยกให้หมอเป็นนักบุญยิ่งทำให้หมอต้องทำงานหนักขึ้นเพราะการเป็นนักบุญหมายถึงอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ จึงต้องยิ่งทำคุณความดีให้สมกับที่ถูกยกย่อง

                เพื่อที่จะเรียนรู้ชีวิตของหมอฟาร์มเมอร์มากขึ้น ผู้เขียนจึงได้ติดตามหมอไปยังที่ทำงาน ณ เมืองคานเย ประเทศเฮติ  สถานที่ที่หมอทำงานอยู่ชื่อว่า Partners In Health  (PIH) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 35 ไมล์เท่านั้น แต่ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ถึง 3 ชั่วโมงเศษ  ภายใน PIH มีทั้งคลินิกแม่และเด็ก โรงพยาบาล ห้องแล็ป โบสถ์ โรงเรียนและโรงครัว  สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่น่าอภิรมย์ที่สุดแห่งหนึ่งของเฮติ ประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตกก็ว่าได้  แม้ว่าโรงพยาบาลจะมิได้ให้การรักษาฟรีเพราะทุกคนต้องเสียค่าใช้จ่าย 80 สตางค์ ยกเว้นผู้หญิง เด็ก คนยากจนและผู้ป่วยหนัก แต่ผู้ป่วยจากทั่วประเทศต่างก็หลั่งไหลมามากเสียจนกระทั่งไม่มีเตียงจะให้บริการ  บางคนจึงต้องปูเสื่อนอน

                ในแต่ละวันหมอฟาร์เมอร์จะทำงานจนดึกดื่น  กิจวัตรของเขาในตอนเย็นคือการไปดูผู้ป่วยรอบเย็นตามหอผู้ป่วยก่อนกลับที่พัก  วันหนึ่งผู้เขียนตามหมอไปดูผู้ป่วยเอดส์ชื่อ ติโอฟา  ผู้ป่วยรายนี้ถือได้ว่าโชคดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศในเวลานั้น ทั้งนี้เพราะเขาได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งได้รับบริจาคมาจากผู้ป่วยเอดส์ในสหรัฐฯ  มันเป็นเรื่องยากที่ใครจะเชื่อว่าผู้ป่วยเอดส์ที่ยากจนเช่นชาวเฮติจะได้รับยาต้านไวรัส  หมอมอบยานี้ให้กับโอฟาและกำชับเขาไม่ให้ขาดยาแม้แต่วันเดียวเพราะการกินยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้เชื้อดื้อยา  หมออธิบายว่าแม้ว่าการได้รับยาต้านไวรัสจะไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายจนหมดสิ้น แต่อย่างน้อยมันสามารถยืดอายุเขาไปได้อีกช่วงหนึ่ง  หมอย้ำว่าโอฟาต้องไม่สิ้นหวังกับการมีชีวิตอยู่  โอฟาตอบว่าแค่เขาได้พูดคุยกับหมอก็ทำให้เขามีอาการดีขึ้นแล้ว  หมอเป็นเพียงคนเดียวบนโลกที่ยอมนั่งลงข้าง ๆ เขาและจับมือเขา ปฏิบัติกับเขาอย่างไม่รังเกียจยามที่เขาเจ็บป่วย ในขณะที่คนอื่น ๆ ต่างหนีหายไปหมดเมื่อทราบว่าเขาเป็นเอดส์  เขาจึงอยากมอบหมูหรือไก่สักตัวให้หมอเป็นการตอบแทน  หมอตอบว่าการที่โอฟาปฏิบัติตนตามที่หมอแนะนำก็มีค่ามากพอแล้ว  หมอไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนหรอก

                นอกจากหอผู้ป่วยโรคทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีหอผู้ป่วยวัณโรคแยกจากหอผู้ป่วยอื่น ๆ อีกด้วย  ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้วจะมาอยู่รวมกัน ณ หอผู้ป่วยนี้  ตอนที่หมอพาผู้เขียนไปถึงหอผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่กำลังดูทีวี!  กำเนิดของหอผู้ป่วยวัณโรคนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษคือ ย้อนกลับไปในปี 2531 เมื่อตอนหมอฟาร์เมอร์กลับจากสหรัฐฯ เพื่อนร่วมงานผู้หนึ่งแจ้งว่า หากหมออยู่ ผู้ป่วยวัณโรครายหนึ่งคงไม่เสียชีวิต  หมอจึงสงสัยว่าระบบการบริการมีอะไรผิดปกติแน่นอน  นักสาธารณสุขส่วนใหญ่เชื่อว่าการที่ชาวเฮติที่ป่วยเป็นวัณโรคมารับการรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่าตัวเองป่วยจากภูตผีปีศาจ  แต่หมอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อเช่นนั้น  เขาจึงทำการวิจัยและพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายขาดเป็นผู้ป่วยที่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารและค่าเดินทางเพื่อกลับมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาดไม่ว่าคนเหล่านี้จะเชื่อว่าโรคภัยที่เขาได้รับมาจากภูตผีหรือไม่ก็ตาม  หลังจากนั้นมาหมอจึงใช้นโยบายให้ยารักษาและแถมเงินเดือนอีกประมาณ 5 ดอลลาร์กับผู้ป่วยทุกรายเพื่อให้พวกเขามีค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ส่งผลให้การรักษาวัณโรคประสบความสำเร็จจนไม่มีผู้ป่วยขาดยาแม้แต่รายเดียว

                อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลยังคงมีผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัดบ้าง  เมื่อมีผู้ป่วยวัณโรครายหนึ่งไม่มาตามนัด หมอจึงเดินทางไปตามผู้ป่วยเองโดยมีผู้เขียนติดตามไปด้วย  ระยะทางจากสถานพยาบาลถึงที่พักผู้ป่วยไกลมาก  หลังจากนั่งรถมาได้ช่วงหนึ่ง หมอและผู้เขียนก็ต้องลงเดินขึ้นลงภูเขาไปลูกแล้วลูกเล่า  ผู้เขียนสังเกตว่าเขาและหมอยังดีกว่าเด็ก ๆ ที่เดินเท้าเปล่าที่เขาพบตามรายทางมากเพราะเด็กเหล่านั้นต้องหาบน้ำซึ่งมีขนาดภาชนะประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวไปด้วย  เมื่อไปถึงบ้านของผู้ป่วยวัณโรคที่ผิดนัดก็ทราบว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยรายนี้ผิดนัดเป็นเพราะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เขาจึงไม่มีเงินกลับไปรับการรักษาอีกเลยหลังจากได้รับยาชุดแรก  ขณะเดินทางกลับผู้เขียนสงสัยว่าเหตุใดหมอจึงต้องลงทุนลงแรงมากมายเดินทางบนเส้นทางยากลำบากเพื่อมาตามผู้ป่วย  หมออธิบายว่า มันคุ้มค่ากับการเดินทางไกลมาหาผู้ป่วยที่ขาดยาแม้ว่าคนอื่นจะเห็นว่ามันไม่คุ้มค่าก็ตาม เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ลงทุนอะไรเลยเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายและเพื่อให้แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาผู้ป่วยได้ตระหนักว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาวัณโรคคือการที่ผู้ป่วยหายขาดจากโรค

                ขณะเดินทางกลับ หมออธิบายเพิ่มเติมว่าการที่ประเทศยากจนเช่นเฮติแห้งแล้งเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อน  ผู้นำของประเทศจะหลอกลวงชาวบ้านว่า เขื่อนจะนำความอุดมสมบูรณ์และไฟฟ้ามาให้  แต่หลังจากที่เขื่อนถูกสร้างเสร็จ แทนที่ชาวบ้านจะมีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมมากขึ้น หรือมีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าอย่างที่กล่าวอ้าง น้ำและไฟฟ้าจากเขื่อนกลับถูกผันไปให้กับผู้ที่อยู่เหนือเขื่อนซึ่งเป็นคนผิวขาว  ส่วนพื้นที่เกษตรของชาวบ้านกลับแห้งแล้งหนักขึ้นไปอีก  ซ้ำร้ายใต้เขื่อนลงมายังมีน้ำท่วมเป็นประจำส่งผลให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีแทบทุกครั้งที่ฝนตกหนัก  ชาวบ้านจึงต้องหลบหนีความยากลำบากเข้าไปในเมืองหรือไปยังสหรัฐฯ เพื่อหางานทำในโรงงานและกลับมายังถิ่นฐานอีกครั้งพร้อมโรคเอดส์   ความยากลำบากที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบกับมนุษย์เท่านั้น แม้แต่สัตว์ยังผอมโซเสียจนกระทั่งหมายังต้องยืนพิงต้นไม้เพื่อให้มันมีแรงเห่า  ผลของเขื่อนที่ผู้หยิบยื่นอ้างว่ามันเป็นความเจริญกลับทำให้พื้นที่เพาะปลูกบางส่วนแห้งแล้ง บางส่วนก็จมน้ำ  ผู้คนจึงยากจนลงเรื่อย ๆ  เขื่อนจึงเป็นต้นทุนที่คนร่ำรวยเอารัดเอาเปรียบและสร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้กับคนยากจนนั่นเอง

                                              พอล ฟาร์เมอร์ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กและเรียนเก่งมากจึงได้ทุนเรียนตลอดหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยดุ๊ค  เขาเล่าว่าแรงบันดาลใจของเขามาจากงานเขียนของรูดอล์ฟ เวอร์ชาว (Rudolf Virchow) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและการแพทย์ชาวเยอรมันที่ว่า การเรียนแพทย์มิใช่ตระเตรียมไว้ให้นักศึกษาทำมาหากิน แต่เพื่อให้ประกันสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน  แพทย์จึงควรเป็นทนายแก้ต่างให้กับคนยากไร้และแก้ปัญหาสังคมทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเองได้  ปรัชญาทางการแพทย์นี้ได้กลายเป็นแนวคิดหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมาของหมอฟาร์เมอร์

                ไม่เพียงหมอฟาร์เมอร์จะสนใจทางด้านการแพทย์เท่านั้น เขายังสนใจเรื่องการเมืองอีกด้วย  เขาเคยร่วมเดินขบวนต่อต้านนโยบายเรื่องผู้อพยพชาวเฮติของสหรัฐฯ จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาให้ความสนใจประเทศนี้  เฮติเป็นประเทศแรกในแถบละตินอเมริกาที่ประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของคนผิวขาวในปี 2347 แม้ว่าดินแดนแถบนี้จะเต็มไปด้วยทาสชาวแอฟริกันซึ่งถูกชาวฝรั่งเศสขนมาทำการเกษตรก็ตาม  หมอฟาร์เมอร์เห็นว่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งเฮติเป็นเหมือนกับนวนิยายเรื่องโปรดของเขาชื่อ Lord of The Rings ซึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว

                      ครั้งแรกที่หมอฟาร์เมอร์เดินทางไปเฮติในปี 2526 นั้น เขาพยายามหางานทำในโรงพยาบาลตามเมืองต่าง ๆ แต่ไม่มีสถานพยาบาลแห่งไหนรับเขาเข้าทำงานจนกระทั่งคลินิกแห่งหนึ่งในเมืองเมียร์บาเลซ์รับเขา  ณ ที่นี้เขาได้พบกับโอฟีเลีย ดาห์ล สาวอังกฤษวัย 18 ปีผู้ซึ่งกลายมาเป็นแฟนของเขา

                ช่วงแรกที่หมอฟาร์เมอร์ทำงานอยู่ในเฮติ เขาพบว่าแพทย์ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่ไปทำงานในโรงพยาบาลและคลินิกตามเมืองต่าง ๆ มักทำงานแบบลวก ๆ ราวกับมิได้ตั้งใจที่จะรักษาผู้ป่วย  พวกเขามิได้ใยดีที่จะซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างจริงจัง อีกทั้งยังทำเพียงแค่จ่ายยาแก้ไอและวิตามินจากขวดสกปรกจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆให้กับผู้ป่วยโดยมิได้ใส่ใจกับปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเขาคิดเพียงว่าจะไปทำงานเพียงแค่ปีเดียวแล้วกลับบ้านก็เป็นได้  ยิ่งเมื่อหมอฟาร์เมอร์ได้ไปประสบกับเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยมาลาเรียต้องเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินที่จะถ่ายเลือด เขาจึงเห็นว่าเฮติควรมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานเสียที

                                       เขาได้ลงมือเขียนโครงการเพื่อระดมทุนจากเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยดุ๊กและพ่อของโอฟีเลียเพื่อเปิดสถานพยาบาลที่คานเย  การที่หมอฟาร์เมอร์เป็นนักระบาดวิทยาทำให้เขาคิดว่าต้องเริ่มต้นโครงการด้วยการค้นหาปัญหาก่อนเป็นอย่างแรก  จากนั้นจึงค่อยหาหนทางแก้ไขปัญหาภายใต้ปัจจัยที่พอจะเป็นไปได้ แล้วจึงสร้างตัวชี้วัดเพื่อบ่งบอกถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา  เขาและโอฟีเลียจึงช่วยกันทำสำมะโนประชากรและพบว่า ชาวเฮติมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมากและอยู่รวมกันในที่แคบ ๆ เช่น บางครอบครัวมีสมาชิกถึง 11 คนแต่มีห้องเพียง 2 ห้องเท่านั้น  ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านยังไม่มีน้ำประปาใช้  พวกเขาจึงต้องขนน้ำดื่มจากภูเขาที่ห่างไกลออกไปโดยใช้ถังน้ำที่สกปรก  การขาดแคลนน้ำสะอาดนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก  หมอฟาร์มเมอร์สรุปว่าปัญหาสาธารณสุขของเฮติส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขาดแคลนเพียงแค่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตขั้นพื้นฐานทั่ว ๆ ไปเท่านั้น  ทางแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือการมองปัญหาให้รอบด้านแล้ววางแผนการทำงานเพื่อให้สามารถบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น ต้องสอนหนังสือให้กับชาวบ้านเพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้ 

                หลังจากหมอฟาร์เมอร์เข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้พบกับทอม ไวท์ เจ้าของบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในบอสตัน  ไวท์เป็นชาวคาทอลิกเชื้อสายไอริสและเคยเป็นทหารมาก่อน จึงรู้สึกเกลียดชังการไม่เห็นค่าของมนุษย์ หรือการมองเห็นมนุษย์เป็นเพียงแค่จุด ๆ หนึ่งบนแผนที่  เมื่อไวท์ร่ำรวยขึ้น เขาจึงให้การสนับสนุนทางการเงินกับองค์กรการกุศลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากและได้กลายเป็นผู้ก่อตั้ง PIH และเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของหมอฟาร์เมอร์ด้วย  ไวท์เล่าว่าเขาชอบหมอฟาร์เมอร์เพราะหมอเป็นคนที่ฉลาดและอุทิศตนให้กับการทำงานจึงทำให้เขาไว้ใจ   หมอฟาร์เมอร์ตั้งใจทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและเขามักให้ความสำคัญกับการทำงานที่เฮติเป็นที่แรกเสมอ  แม้แต่เวลาที่เขาขาหักและใส่เฝือกอยู่ก็ยังไม่ยอมที่จะหยุดเดินทางจนกลายเป็นต้นเหตุให้เขาและโอฟีเลียเลิกรากันไปในที่สุด  อย่างไรก็ดีด้วยความเป็นคนดีและมีน้ำใจของหมอฟาร์เมอร์ โอฟีเลียยังคงเป็นเพื่อนที่ดีของเขาและร่วมงานกับเขาตลอดมา  นอกจากไวท์และโอฟีเลียจะศรัทธาในตัวหมอฟาร์เมอร์แล้ว จิม ยอง คิม ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ศรัทธาในตัวเขามาก จึงได้เข้าร่วมงานกับหมอฟาร์เมอร์ที่ PIH หลังจากสถาบันนี้ก่อตั้งได้เพียง 3 เดือน

                ในเดือนธันวาคมปี 2531 เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเฮติ  หมอฟาร์เมอร์ถูกขับออกนอกประเทศหลายครั้งเมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจที่ไม่สนับสนุนเขาชนะการต่อสู้  ในช่วงเวลานั้นชาวเฮติต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้นไปอีก  แม้แต่ในช่วงเวลาที่ทหารกลุ่มที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริหารประเทศ ชาวเฮติก็มิได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ซ้ำร้ายพวกเขายังเป็นโรคเอดส์มากขึ้นด้วย  ผู้บริหารส่วนใหญ่โทษว่าความเชื่อทางด้านเวทมนตร์คาถาของชาวบ้านทำให้พวกเขาเป็นเอดส์  แต่หมอฟาร์มเมอร์เชื่อว่าการที่ชาวเฮติเป็นเอดส์เป็นผลมาจากการที่ชาวอเมริกันและแคนาดาเข้าไปท่องเที่ยว รวมทั้งชาวเฮติส่วนหนึ่งที่ไปทำงานในสหรัฐฯ ติดโรคนี้กลับมาด้วย  สถานการณ์ทางด้านสาธารณสุขของประเทศนี้จึงเลวร้ายลงไปอีก  อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้ หมอฟาร์เมอร์ก็มิได้ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์  เขาใช้เวลาส่วนใหญ่เรียนต่อ จนเมื่อความวุ่นวายในเฮติสิ้นสุดลงในตอนกลางเดือนตุลาคมปี 2537 เขาจึงกลับมาเฮติอีกครั้งพร้อมกับวุฒิแพทย์โรคติดเชื้อและรางวัลแมคอาร์เธอร์ซึ่งให้แก่คนหนุ่มสาวที่มีแววของอัจฉริยะในขณะที่มีอายุได้ 35 ปี

                     โดยทั่วไปผู้คนมักคิดว่ารายได้กับสุขภาพมักไปด้วยกันเสมอ นั่นคือ คนที่มีรายได้ดีมักมีสุขภาพดีด้วย  แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  สถิติบ่งว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิตขณะคลอดในบอสตันสูงกว่าของประเทศคิวบา และอัตราตายของผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 5-65 ปีของเขตฮาร์เล็มในนครนิวยอร์กสูงกว่าประเทศบังกลาเทศเสียอีก  นั่นหมายความว่า การมีรายได้น้อยอาจไม่จำเป็นต้องมีสุขภาพเลวก็เป็นได้  แต่โดยทั่วไปแล้วปัญหาสุขภาพมักมาพร้อมกับความยากจนเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่หายได้ง่าย ๆ เช่น วัณโรค

                             วัณโรคเป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลกถึงกว่า 2 ล้านคนเมื่อตอนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21  โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับสองรองจากเอดส์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะวัณโรคเป็นโรคของคนยากจน  บริษัทยาใหญ่  ๆ จึงมักไม่ให้ความสนใจค้นคว้าหาตัวยาใหม่ ๆ มาใช้รักษา  ยาชนิดล่าสุดถูกผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีมาแล้ว  อุปกรณ์ในการตรวจหาโรคก็โบราณ อีกทั้งยังไม่เคยมีนโยบายจากที่ใดที่จะหาวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างจริงจังด้วย  ในปัจจุบันประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนหรือ 1 ใน 3 จึงมีเชื้อโรคนี้อยู่ในตัวเพียงแต่มันไม่สำแดงอาการออกมาเท่านั้น  ธรรมชาติของวัณโรคจะสำแดงอาการก็ต่อเมื่อร่างกายอ่อนแอจากการขาดอาหาร เป็นโรคเบาหวานหรือมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัว  ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดจึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดโรคเพราะพวกเขามีโอกาสหายใจเอาเชื้อเหล่านี้เข้าไปเป็นจำนวนมาก 

ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาวัณโรคดื้อยา ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคแต่ไม่ได้รับยาเพียงพอทั้งจำนวนและระยะเวลามักทำให้เชื้อดื้อยา  พวกเขาสามารถปล่อยเชื้อดื้อยาเข้าไปในชุมชนได้ในขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่  วัณโรคดื้อยาจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจนเพราะประชาชนของประเทศเหล่านี้ไม่มีเงินซื้อยารักษา  ในปัจจุบันปัญหาวัณโรคดื้อยามิได้เกิดขึ้นแต่กับประเทศยากจนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการเดินทางข้ามทวีปสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว วัณโรคดื้อยาจึงสามารถข้ามทวีปและแพร่กระจายเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของโลกรวมทั้งในประเทศร่ำรวยได้ด้วยเช่นกัน  มันจึงกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกไปแล้ว                                                                                 

                                  ในปี 2533 บาทหลวงแจ็ค รุสสิน เพื่อนสนิทคนหนึ่งของหมอฟาร์เมอร์ได้เดินทางไปยังย่านคาราเบย์โย อันเป็นสลัมแห่งหนึ่งในเมืองลิมา ประเทศเปรู  หลังจากไปปักหลักที่นั่นไม่นาน เขาก็ชักชวนหมอฟาร์เมอร์และจิม ยอง คิม ให้ขยายบริการของ PIH ไปยังเมืองนั้นเพราะเขาเห็นว่าประชาชนในสลัมแห่งนี้มีปัญหาทางด้านสุขภาพมากมาย  ลิมาก็เหมือนเมืองแออัดอื่น ๆ ในโลกที่ประชาชนมักมีปัญหาวัณโรค  องค์การอนามัยโลกจึงได้ตั้งโครงการควบคุมวัณโรคขึ้น  จิมและหมอฟาร์มเมอร์จึงคิดว่าวัณโรคน่าจะเป็นปัญหาสุขภาพเพียงเรื่องเดียวที่พวกเขาไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว  แต่ในเดือนพฤษภาคมปี 2538 บาทหลวงรุสสินกลับป่วยด้วยวัณโรคจนต้องบินกลับไปบอสตัน  แม้ว่าแพทย์จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ แต่เขาก็เสียชีวิตลงในเวลาไม่นาน  ผลการเพาะเชื้อจากเสมหะพบว่าเขาเป็นวัณโรคชนิดเชื้อดื้อยาทั้ง 4 ตัว  หมอฟาร์เมอร์จึงเกิดความกังขากับโครงการวัณโรคของลิมาที่องค์การอนามัยโลกดูแลอยู่  เขาและคณะจึงสืบค้นสาเหตุและพบว่า ในโครงการนี้มีผู้ป่วยด้วยเชื้อดื้อยาทั้ง 4 ชนิดเป็นจำนวนมาก  แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงได้รับการรักษาด้วยยาชนิดเดิมต่อไปอีกจนครบโดยมิได้มีการเปลี่ยนยาหรือเพิ่มยาใด ๆ ให้  นั่นหมายความว่า ไม่เพียงผู้ป่วยเหล่านี้จะมิได้หายจากการเป็นวัณโรคแล้ว พวกเขายังกลายเป็นกลุ่มคนที่แพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาเข้าสู่ชุมชนอีกด้วย

                วิธีการแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยาตามตำราแพทย์ซึ่งมักดื้อยาเพียงแค่ 1-2 ตัวคือ การให้ยาสูตรเดิม 4 ชนิดร่วมกับยาใหม่อีก 1 ชนิดด้วยวิธีการที่เข้มข้นที่เรียกย่อ  ๆ ว่า DOTS นั่นคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ได้รับมอบหมายจะต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาทุก ๆ วันซึ่งโดยทั่วไปจะได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์   การรักษาวัณโรคดื้อยาด้วยชนิดยาที่ไม่เหมาะสมไม่เพียงจะไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเท่านั้น มันยังจะเพิ่มจำนวนชนิดของยาที่เชื้อโรคดื้อขึ้นอีกด้วย  แพทย์จึงจำเป็นต้องแยกให้ได้ว่าผู้ป่วยดื้อยาชนิดใดกันแน่ 

สำหรับสถานการณ์ในลิมานั้น เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเลือกวิธีการผิด ๆ สำหรับรักษาผู้ป่วยจนกระทั่งมีผู้ป่วยดื้อยา 4 ชนิดเพิ่มขึ้นถึง 10 ราย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องละทิ้งผู้ป่วยเหล่านี้  แท้ที่จริงแล้วการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง  แต่การทำเช่นนี้ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งค่าปรึกษาแพทย์และยาเพิ่มขึ้นมาก  ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดหลักขององค์การอนามัยโลกในการรักษาผู้ป่วยต้องคำนึงถึงต้นทุนกับผลได้หรือต้องคุ้มค่ากับการลงทุน  การรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาแต่ละรายมีต้นทุนสูงขึ้นมากจึงไม่คุ้มค่าตามแนวคิดหลักขององค์การอนามัยโลก  แต่การละทิ้งผู้ป่วยดื้อยาจะยิ่งส่งผลร้ายกับประเทศและโลกโดยรวม ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยเหล่านี้จะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาไปยังชุมชนของตนเองและทำให้การระบาดของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

                 หมอฟาร์เมอร์เคยมีโอกาสรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเฮติเช่นกัน  ครั้งนั้นเขาได้ไปพบกับไมเคิล ไอเซนแมน ผู้เชี่ยวชาญที่เคยแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยาในเดนเวอร์ที่สถาบันซึ่งได้ชื่อว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดในโลก  ไอเซนแมนกล่าวว่า การแก้ปัญหาในปี 2536 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้นต้องใช้เงินทุนถึงรายละ 250,000 เหรียญ  ผู้ป่วยทุกรายต้องใช้ยาแถวสองซึ่งมีราคาและผลข้างเคียงสูง อีกทั้งยังต้องรักษาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีและบางรายก็ล้มเหลว นั่นคือ จบลงด้วยการเสียชีวิต  อย่างไรก็ตามเขายังคงเห็นว่า การรักษาโรคดื้อยายังคงต้องดำเนินต่อไปเพราะมันเป็นสถานการณ์ที่คุกคามคนทั่วโลกเนื่องจากโรคนี้สามารถที่จะข้ามพรมแดนได้ง่าย ๆ  การแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้องรังแต่จะทำให้โลกทั้งโลกปั่นป่วน 

                  หมอฟาร์เมอร์และจิม ยอง คิม จึงเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ที่เปรูด้วยการรักษาผู้ป่วย 10 รายแรกในเดือนสิงหาคมปี 2539  อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรัฐบาลเปรูไม่ต้องการได้ยินว่าโครงการรักษาวัณโรคของรัฐล้มเหลว ซ้ำร้ายทั้งหมอฟาร์เมอร์และจิมต่างไม่มีใบอนุญาตในการรักษาผู้ป่วยในเปรู  ทั้งสองจึงถูกขัดขวางจนทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตโดยยังมิได้รับการรักษา  การที่รัฐบาลเปรูไม่ต้องการให้ทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาวัณโรคดื้อยาเป็นเพราะรัฐไม่ต้องการให้เกิดมาตรฐานใหม่ซึ่งเท่ากับบีบบังคับให้รัฐต้องดำเนินการตามมาตรฐานใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงตลอดไป  เมื่อหมอฟาร์เมอร์ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่ายาได้ ภาระจึงตกอยู่กับทอม ไวท์ตามเคย  ไวท์ได้ส่งเงินไปให้กับโรงพยาบาลที่หมอฟาร์เมอร์ยืมยาไปรักษาและได้เขียนจดหมายในเชิงว่ากล่าวให้โรงพยาบาลมีเมตตากับผู้ป่วยให้มากขึ้นด้วย

          นอกจากปัญหาวัณโรคในผู้ป่วยทั่วไปแล้ว หมอฟาร์เมอร์ยังถูกรัฐบาลรัสเซียร้องขอให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาวัณโรคในคุกไซบีเรียของรัสเซียด้วย  เศรษฐกิจรัสเซียที่ตกต่ำลงยังผลให้ผู้ต้องขังในคุกเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ทำผิดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลักขโมยขนมปัง  เมื่อผู้ต้องขังคดีเล็กน้อยเหล่านั้นติดโรคจากในคุก หรือได้รับเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษาถูกปล่อยตัวออกไปสู่สังคม พวกเขาก็ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว  หมอฟาร์เมอร์คาดว่าในคุกไซบีเรียมีนักโทษที่เป็นวัณโรคถึงกว่าแสนคนโดยในจำนวนนี้กว่า 30% ติดวัณโรคชนิดเชื้อดื้อยา  สถานการณ์เช่นนี้ยากที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเรือนจำจะจัดการกับปัญหาเองได้  ในครั้งนั้นเขาต้องเดินทางไปยังคุกไซบีเรียหลายต่อหลายครั้งเพื่อหาข้อมูล อีกทั้งยังต้องช่วยเหลือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อรองกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเพราะเขาเห็นว่าการได้รับเงินเพียงพอแค่ซื้อยาไม่น่าจะทำให้นักโทษหายจากโรคได้  ปัญหาวัณโรคต้องได้รับการบำบัดทางด้านโภชนาการด้วย 

          ในเดือนเมษายนปี 2541 องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมเกี่ยวกับวัณโรคที่บอสตัน  การประชุมครั้งนั้นหมอฟาร์เมอร์ได้นำเสนอผลสำเร็จของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเปรูให้กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัณโรค  อาราตา โคชิ หัวหน้าโครงการวัณโรคขององค์การอนามัยโลกชื่นชมความสำเร็จนั้นมาก แม้ว่าครั้งหนึ่งเขาจะไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินมากมายรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเพียงไม่กี่คน  ผลสำเร็จของหมอฟาร์เมอร์ในครั้งนั้นเป็นการยืนยันให้โลกเห็นว่า หากมนุษย์ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ย่อมไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้  หมอฟาร์เมอร์ย้ำว่าก่อนที่เขาจะเข้าเป็นแพทย์ เขาสาบานที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด  แต่เขาไม่เคยสาบานที่จะรักษาผู้ป่วยด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดเลย  เนื่องจากแต่ละประเทศมีเงินทุนสำหรับใช้จ่ายทางการแพทย์อย่างจำกัด มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาคนเพียงกลุ่มน้อยด้วยเงินจำนวนมากเพราะมันหมายถึงการละเมิดเงินที่จะใช้ในการรักษาโรคให้กับคนกลุ่มใหญ่   แต่องค์การอนามัยโลกมีหน้าที่ดูแลคนทั้งโลกในระยะยาว องค์การนี้จึงตระหนักในที่สุดว่า การไม่แก้ปัญหาวัณโรคดื้อยารังแต่จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงในระยะยาว  

          สาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลสูงมากเป็นผลมาจากการที่ยาใหม่ ๆ ติดสิทธิบัตรยา  เมื่อองค์การอนามัยโลกอนุมัติโครงการ DOTS-plus ตลาดยาวัณโรคแถวสองซึ่งจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาก็มีขนาดใหญ่ขึ้น  หมอฟาร์เมอร์และจิมจึงขอร้องให้องค์การอนามัยโลกจัดประชุมกับบริษัทยาต่าง ๆ เพื่อขอร้องให้ผู้บริหารลดราคายาลง  เขาเสนอตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพื่อให้บริษัทยาเห็นว่าตลาดนี้ใหญ่มาก ราคายาจึงควรลดลง  จริงอยู่จำนวนผู้ป่วยที่เขาเสนอเป็นตัวเลขที่แท้จริง แต่ความสามารถในการซื้อกลับไม่เป็นจริง ทั้งนี้เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เขากล่าวอ้างส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจในการซื้อ  บริษัทยาต่าง ๆ จึงไม่หลงเชื่อ  ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็ต้องอนุมัติให้ยารักษาวัณโรคแถวสองเป็นยาทางการที่สำคัญส่งผลให้บริษัทที่ผลิตยาสามัญสามารถผลิตยาแถวสองได้  องค์การอนามัยโลกจึงสามารถซื้อยาแถวสอง 4 ตัวในราคาเพียงแค่ 5% เทียบกับราคาเมื่อปี 2539  เมื่อค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาลดเหลือเพียงรายละ 1,500 ดอลลาร์แทนที่จะเป็น 15,000 ดอลลาร์ การโต้แย้งว่า การรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาไม่คุ้มค่ากับการลงทุนก็หมดไป

           ความสำเร็จของโครงการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยานั้นมาจากความเชื่อของหมอฟาร์เมอร์ที่ว่า โลกมียาดี ๆ และมีเงินจำนวนมากพอที่จะทำการหยุดยั้งโรคได้  หากทุกคนใช้ความพยายามให้มากพอ ปัญหาทุกอย่างย่อมสามารถที่จะแก้ไขได้เสมอ  ผลของความสำเร็จนี้ทำให้บิล เกตส์มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกรับปากที่จะบริจาคเงินส่วนหนึ่งจากมูลนิธิของเขาเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยา                                                                                        

          ผลสำเร็จของการรณรงค์รักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาทำให้เพื่อนหลายคนของหมอฟาร์เมอร์เล็งเห็นศักยภาพของเขาในการแก้ปัญหาสาธารณสุขให้กับโลกจึงแนะนำให้เขาหันมาทำงานเฉพาะด้านนโยบายเท่านั้น  แต่หมอฟาร์เมอร์ยืนยันว่า ลำดับการทำงานของเขาคือผู้ป่วย นักโทษและนักศึกษา และผู้ป่วยที่เขาให้ความสำคัญที่สุดคือผู้ป่วยในเฮติ  การที่เขาให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยมากที่สุดเป็นเพราะเขารู้สึกว่าหากในแต่ละวันเขาได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยสักหนึ่งคน วันนั้นก็มิได้เลวร้ายเกินไปแล้ว  ดังนั้นเขาจึงมีงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีเวลาหลับนอน  วิธีการที่หมอฟาร์เมอร์ใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ บินให้มากขึ้นและนอนให้น้อยลง ทั้งนี้เพราะเขาคิดว่าตนเองโชคดีที่สามารถไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบ  มีคนจำนวนมากมายในโลกที่ไม่สามารถทำได้เช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเฮติ

                คนส่วนใหญ่มักคิดว่าหมอฟาร์เมอร์เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง  แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  โอฟีเลียเล่าว่าหมอฟาร์มเมอร์มักถามเธอเป็นประจำว่าเขาดูเป็นอย่างไรบ้าง  หากเธอไม่ชื่นชมเขา เขาจะรู้สึกเจ็บปวด  ฉะนั้นเขาจึงใช้การทำงานหนักเพื่อสร้างกำลังใจและมิให้ตนเองสิ้นหวังหรือซึมเศร้า  หมอฟาร์เมอร์มักไม่ค่อยปฏิเสธคำขอของใคร  คิวขอความช่วยเหลือจากเขาจึงยาวมาก  เขาต้องตอบจดหมายอีเล็กทรอนิกส์วันละกว่า 80 ฉบับ ต้องคอยหาซื้อของฝากตามที่ถูกขอร้องและต้องแบกของมากมายเพื่อฝากลูกหลานของคนที่เขาต้องติดต่อด้วย  กระเป๋าของเขาจึงอัดแน่นไปด้วยของฝากเสียจนกระทั่งเขาต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำไปซ้ำมาตัวละหลายวันเพราะกระเป๋าไม่มีที่ว่างสำหรับใส่เสื้อผ้าของตนเอง   เขาทำงานหนักมากจนล้มป่วยด้วยโรคตับอักเสบซึ่งร้ายแรงเสียจนกระทั่งต้องหยุดงานหลายเดือน  การที่เขาต้องทำงานหนักเช่นนี้เป็นเพราะเขาคิดว่าหากเขาไม่ทำงานหนักจะมีคนส่วนหนึ่งต้องตายโดยไม่สมควร  โอฟีเลียพูดติดตลกว่า ความคิดทำนองนี้ของเขาหากใครได้ยินเข้าคงคิดว่าเขาเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งที่หลงละเมอถึงความยิ่งใหญ่เป็นแน่

                ในเดือนกรกฎาคมปี 2543 บิล เกตส์ได้บริจาคเงิน 45 ล้านเหรียญให้กับ PIH ไว้ใช้ในการกำจัดวัณโรคดื้อยาในเปรู  วิลเลียม โฟเก ที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์มูลนิธิผู้ควบคุมโครงการเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เงินจำนวนนี้ต้องถูกใช้ไปเพื่อรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 2,000 คนภายในเวลา 5 ปีโดย  80% จะต้องได้รับการรักษาจนหายขาด  วัณโรคดื้อยาจะต้องถูกกำจัดไปจากเปรูเพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า คนยากจนก็สามารถที่จะได้รับการรักษาจนหายขาดจากโรคได้ด้วยเทคโนโลยีและเงินทุนที่ไม่มากนักและการรักษาคนยากจนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า  หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ PIH จะสามารถขยายโครงการออกไปในระดับประเทศ 

                วิธีให้เงินทุนของเกตส์ก็เหมือนกับการบริจาคของมูลนิธิใหญ่ ๆ ที่ต้องการให้เฉพาะกับโครงการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและสามารถวัดผลได้แน่นอน  แต่หมอฟาร์เมอร์และคณะไม่ชอบแก้ปัญหาเฉพาะแค่โรค  พวกเขาชอบแก้ปัญหาของคนจนด้วย  พวกเขาจึงมักใช้เงินของผู้สนับสนุนรายใหญ่ เช่น ทอม ไวท์ มาแก้ปัญหามากกว่า เช่น ใช้ซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีให้กับผู้ป่วยชาวเฮติที่เป็นวัณโรคเพราะหมอฟาร์เมอร์เห็นว่าวัณโรคต้องรักษาไปพร้อมกับเอดส์  จริงอยู่เขาเคยขอเงินสนับสนุนจากมูลนิธิต่าง ๆ  แต่มูลนิธิส่วนใหญ่มักปฏิเสธคำขอของเขาเพราะมูลนิธิเห็นว่าการรักษาผู้ป่วยเอดส์ในเฮติด้วยยาต้านไวรัสไม่คุ้มค่า  เมื่อเขาขอรับการสนับสนุนจากบริษัทยา บริษัทเหล่านี้ก็แนะนำให้เขาไปขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ  สุดท้ายเขาจึงขายสำนักงานใหญ่ของ PIH ที่เมืองแคมบริดจ์และขอเงินสนับสนุนค่ายาต้านไวรัสเพิ่มเติมจากมูลนิธิของจอร์จ โซรอสและทอม ไวท์มาแก้ปัญหาตามแนวทางของเขาเอง  การตัดสินใจของเขาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุผลตามที่ตนเองตั้งไว้มากกว่าจะเดินตามหนทางที่ผู้อื่นต้องการหรือกฎระเบียบต่าง ๆ  

          หลังจากที่หมอฟาร์เมอร์ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนา PIH สถานพยาบาลแห่งนี้ก็มีชื่อเสียงจนผู้เชี่ยวชาญและแพทย์จากทั่วโลกต่างหลั่งไหลกันไปดูงานจนทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล Mass General ในบอสตันกับ PIH ขึ้นในเวลาต่อมา  ผู้ป่วยเฮติรายแรกที่มีโอกาสเดินทางไปรักษาตัวถึงบอสตันเป็นเด็กชายวัย 11 ปีที่มาพบแพทย์ด้วยก้อนที่คอ  เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งคอหอยซึ่งเป็นมะเร็งที่พบน้อยมากในเด็ก  โรคนี้มีพยากรณ์โรคดีหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะลามไปถึงอวัยวะอื่น ๆ  เซรีนา โคนิก ซึ่งเป็นแพทย์อาสาสมัครจึงได้พยายามที่จะย้ายเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาล Mass General ในบอสตันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  แต่หลังจากที่ต้องผ่านขบวนการทางการทูตกว่า 1 เดือน เธอก็พบว่า เด็กป่วยมากเสียจนกระทั่งไม่สามารถที่จะหายใจเองได้โดยที่ไม่ได้รับการดูดเสมหะตลอดทางจึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะเดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์ธรรมดา  เธอจึงขอความร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลชาวเฮติคนหนึ่งเพื่อเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำ  ตอนแรกหมอฟาร์เมอร์ไม่อนุญาตให้เธอทำเช่นนั้นเพราะค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องบินสูงมาก เขาเกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า  แต่เมื่อเขาอนุญาต การที่เด็กไม่สามารถหายใจเองได้ทำให้เธอต้องว่าจ้างรถเพื่อนำเด็กไปส่งที่สนามบินด้วย  การเดินทางเป็นไปอย่างทุลักทุเลทำให้เด็กป่วยมากเสียจนกระทั่งไม่สามารถรับการรักษาใด ๆ ได้อีกแล้ว  แม้ว่าแพทย์หลายคนที่บอสตันต่างไม่เข้าใจในความพยายามของหมอโคนิก แต่เธออธิบายว่าเด็กคนนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับเด็กอื่น ๆ ทั่วโลกที่ควรได้รับการดูแลอย่างดีในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต   

          หลังจากนั้น 1 เดือน หมอโคนิกก็เดินทางออกจากจากเฮติอีกครั้งพร้อมกับเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งที่ไต  เด็กคนนี้ได้รับการรักษาฟรีอีกเช่นกัน  หมออีซโควิทซ์ กุมารแพทย์ของสถาบันที่บอสตันประทับใจในความพยายามและความตั้งใจของเธอมาก จึงดำริที่จะมีโครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง  ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาจึงเป็นผลของความพยายามที่จะทำดีที่สุดให้กับผู้ป่วยไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม  หมอฟาร์เมอร์อธิบายว่าการที่เขายินยอมให้หมอโคนิกนำเด็กไปที่บอสตันด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำทั้ง ๆ ที่ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายครั้งนั้นสูงมากเป็นเพราะเด็กคนนั้นเป็นลูกคนสุดท้ายของครอบครัว  เด็กจึงเป็นความหวังทั้งหมดของแม่  เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเพียงตัวอย่างของการต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนยากจน  แม้ว่าการต่อสู้แต่ละครั้งจะยากลำบากและสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับเขามาก แต่เขาก็ไม่เคยสิ้นหวังและยังจะอดทนต่อไป

                ผู้เขียนเล่าถึงการตามหมอฟาร์เมอร์ไปพบผู้ป่วยเด็กที่เป็นวัณโรคปอดอีกรายหนึ่ง  การเดินทางในครั้งนั้นยากลำบากและต้องใช้เวลามากกว่าครั้งแรกมากโดยต้องเดินทางด้วยรถยนต์ถึง 7 ชั่วโมงและใช้เวลาอีกกว่า 3 ชั่วโมงเดินมารอรถเพื่อกลับที่พัก  หลังจากเดินทางไปดูบ้านผู้ป่วยแล้ว หมอฟาร์เมอร์ตัดสินใจว่าเขาต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างบ้านใหม่ให้เด็ก อีกทั้งยังต้องให้ค่าเล่าเรียนและค่าอาหารด้วยเพื่อให้เด็กมีโภชนาการที่ดีพอที่จะต่อสู้กับโรค  การที่หมอต้องทำเช่นนั้นเพราะเขาเชื่อว่าความสามารถในการหายจากโรคขึ้นอยู่กับปัญหาพื้นฐาน  หากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานให้ โรคก็อาจแพร่ขยายออกไปในวงกว้างและจะทำให้การแก้ปัญหายากเย็นขึ้นไปอีก ซ้ำยังจะทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายมากขึ้นด้วย  

                การติดตามหมอฟาร์เมอร์อยู่หลายปีทำให้ผู้เขียนสรุปว่า การที่หมอฟาร์เมอร์พยายามที่จะทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ ในโลกไม่คิดจะทำกันนั้นอาจเป็นเพราะหมอเห็นว่าการเดินทางไกลด้วยความยากลำบากผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่าเพียงเพื่อไปคุกเข่าในบ้านของผู้ป่วยที่ยากจนแล้วนำเอาสเต็ทไปฟังที่หัวใจของคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่เป็นการกระทำที่เสียเวลามากเกินไป ทั้งนี้เพราะชีวิตของคนยากจนมิได้ด้อยค่ากว่าของคนอื่น และหากผู้คนทั่วโลกพยายามทำสิ่งที่ควรทำอย่างดีที่สุด สิ่งนั้นย่อมไม่ไร้ค่าอย่างแน่นอน

                ข้อคิดเห็น – การมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นอาจเป็นคำพูดที่ดูสวยหรูจนน่าจะเรียกว่าเหลือเชื่อ  แต่หมอฟาร์เมอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และสามารถที่จะสร้างความสุขอย่างแท้จริงได้ด้วย  นอกจากนั้นเขายังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้เสมอหากใช้ความพยายามที่มากพอและไม่ยอมแพ้  ชีวิตและงานของเขาจึงน่าที่จะเป็นกำลังใจและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี  จริงอยู่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่ประเทศเราก็ยังดีกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่งในโลก  คนไทยจึงไม่ควรสิ้นหวังและควรพยายามประกอบกรรมดีต่อไป  

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.