(โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร)
ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจสูงยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับโลกถึงกับทำให้อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัล กอร์ ผู้รณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อนมาเป็นเวลายาวนานได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ แท้ที่จริงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมยังมีอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องดิน น้ำ อากาศ พลังงาน และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แต่คนส่วนใหญ่ทราบถึงแนวโน้มเกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่าใดทั้ง ๆ ที่สัญญาณเตือนภัยมีให้เห็นทุกแห่งทั่วโลก สาเหตุที่มนุษย์เราไม่ตระหนักถึงสัญญาณเหล่านี้อาจเป็นเพราะเรามีชีวิตอยู่สั้นเกินไปหรือมีธุระปะปังในชีวิตมากเสียจนกระทั่งไม่มีเวลาที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแปลผลจนได้ข้อสรุป Ron Nielsen นักวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย ผู้จัดรายการวิทยุและนักเขียนได้รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชื่อ The Little Green Handbook : Seven Trends Shaping the Future of Our Planet หนังสือขนาด 365 หน้าซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2548 เล่มนี้สรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญ ๆ และชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เราควรทราบและเข้าใจในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม แนวโน้มนโยบาย ความกดดัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และแนวโน้มของปัญหาที่อาจก่อวิกฤตกับโลก
ผู้เขียนนำเข้าประเด็นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในปัจจุบันมนุษย์เราจะร่ำรวยขึ้น แต่ความร่ำรวยนี้มาจากการใช้ทรัพยากรโลกจึงทำให้โลกยากจนลง ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหามีหลายอย่าง เช่น 1) จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2) การใช้พลังงานจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในระยะยาว 3) การทำเหมืองแร่ทำให้มีการปล่อยกากแร่ซึ่งมีซัลไฟด์จำนวนมากลงไปในทะเลจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นต้น
แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะคิดว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่จำนวนประชากรโลกมีเพิ่มขึ้น แต่มีผู้แย้งว่าแท้ที่จริงแล้วจำนวนประชากรมิใช่ปัญหา ปัญหากลับอยู่ที่โลกไม่มีพื้นที่มากพอให้กับประชากรและความจำกัดของทรัพยากร ทั้งนี้เพราะไม่มีใครทราบว่าความสามารถในการรองรับประชากรของโลกมีเท่าใดกันแน่เพราะมันขึ้นอยู่กับระดับการใช้ทรัพยากรและขีดความสามารถของระบบนิเวศ
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 จำนวนประชากรโลกมีเพียงแค่ร้อยล้านคนและเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ กระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เพิ่มเป็น 600 ล้านคน และภายในเวลาเพียง 130 ปี ก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 2,000 ล้านคนและหลังจากนั้นอีกเพียง 70 ปีก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านคน การเพิ่มของประชากรจึงคล้ายระเบิดแตก มิใช่แบบทวีคูณดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันจึงทำให้ชาวโลกไม่มีเวลาที่จะวิเคราะห์และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้
นอกจากนี้ เรายังมีความเข้าใจผิดในเรื่องเกี่ยวกับอัตราการเพิ่มประชากรคือ 1) การเพิ่มเป็นไป อย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ 2) การเกิดเหตุการณ์พิเศษ เช่น สงครามโลกหรือโรคระบาดจะทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 3) การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ความจริงก็คือ 1) การเพิ่มประชากรเป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างอัตราเกิดและอัตราตาย ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่าจะมีอัตราการเพิ่มประชากรน้อยกว่า ทั้งนี้เพราะอัตราการเกิดของประเทศพัฒนาแล้วมีเพียง 11 คนต่อ1000 คนซึ่งต่ำกว่าอัตราการเกิดของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมากถึง 24 คนต่อ1000 คน 2) อัตราการเกิดมีความสัมพันธ์กับอัตราการเจริญพันธุ์ อัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศกำลังพัฒนาสูงถึง 3.1 ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศพัฒนาแล้วเพียงแค่ 1.6 เท่านั้น 3) ส่วนอัตราการตายนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีอัตราการตายสูงถึง 10 คนต่อ 1000 คนในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีอัตราอยู่ที่ 8 คนต่อ 1000 คนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่ามาก
ข้อมูลบ่งด้วยว่า อัตราการตายไม่มีความสัมพันธ์กับความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขแต่อย่างใด ที่แปลกไปกว่านั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณสุขและการเพิ่มประชากรจะเป็นไปอย่างผกผัน นั่นคือ ยิ่งระบบสาธารณสุขดีเท่าใด อัตราการเพิ่มของประชากรยิ่งต่ำเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบสาธารณสุขกับอัตราการตายของทารกแรกเกิดกลับมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด นั่นคือ ยิ่งระบบสาธารณสุขดีเท่าใด อัตราการตายของทารกแรกเกิดยิ่งต่ำเท่านั้น ประเทศร่ำรวยจึงมีอัตราการตายของทารกเพียงแค่ 5-6.6 คนต่อ 1000 คน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราตายของทารกสูงถึง 31-88 คนต่อ 1000 คน ในปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดทั่วโลกนาทีละ 250 คนหรือเท่ากับ 130 ล้านคนต่อปี ในขณะที่อัตราตายเพียงนาทีละ 100 คนหรือเท่ากับ 50 ล้านคนต่อปีเท่านั้น จำนวนประชากรโลกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้เขียนได้เสนอการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกในอนาคตไว้ 3 ระดับคือ 1) ระดับต่ำ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.35 พันล้านคนในปี 2606 และจะค่อย ๆ ลดลงเหลือ 8 พันล้านคนในศตวรรษต่อไป 2) ระดับกลาง ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคนในปี 2602 และจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 10.48 พันล้านในปี 2625 และค่อย ๆ ลดลงเหลือ 10.3 พันล้านเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 22 3) ระดับสูง ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านคนในปี 2600 และเพิ่มขึ้นถึง 1.2 หมื่นล้านคนในปี 2638 โดยประชากรส่วนใหญ่ของโลกถึงกว่า 3 ใน 4 อาศัยอยู่ในเพียง 2 ทวีปคือ เอเซียและแอฟริกา และระหว่างปี 2545-2593 นั้นจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 จะอยู่ในแอฟริกาและครึ่งหนึ่งจะอยู่ในเอเซีย แต่ละปีจำนวนประชากรของเอเซียและแอฟริกาเพิ่มขึ้น 49 และ 20 ล้านคนตามลำดับ ส่วนจำนวนประชากรชาวยุโรปลดลงปีละ 0.7 ล้านคน
ในปัจจุบันประชากร 6 พันล้านคนกระจายอยู่ใน 175 ประเทศทั่วโลก แต่ประชากร 3 พันล้านคนอาศัยอยู่ใน 6 ประเทศเท่านั้นคือ จีน อินเดีย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย บราซิลและรัสเซีย และในปี 2593 จำนวนประชากร 3 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในเพียง 2 ประเทศคือ จีนและอินเดียเท่านั้น ประเทศที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากที่สุดมีอยู่เพียง 6 ประเทศคือ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถานและบังคลาเทศโดยหนึ่งในสามมาจากเพียง 2 ประเทศคือ อินเดียและจีน ถึงแม้ว่าอัตราการเพิ่มประชากรของจีนจะต่ำที่สุดและเท่า ๆ กับสหรัฐฯ ก็ตาม จีนยังคงมีอัตราการเพิ่มประชากรถึงปีละ 9 ล้านคนในขณะที่สหรัฐฯ มีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านคน
การที่โลกมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นไม่เพียงเป็นผลจากมีการเกิดสุทธิเพิ่มขึ้นเท่านั้น อายุขัยของมนุษย์ยังเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ช่วงระหว่างปี 2518-2543 นั้น ค่าเฉลี่ยของอายุขัยประชากรในประเทศด้อยพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 46 ปีเป็น 53 ปี ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจาก 72 ปีเป็น 78 ปี และในปี 2593 คาดว่าประชากรทั่วโลกจะมีอายุขัยมากพอ ๆ กันคือมากกว่า 80 ปี แม้แต่ชาวแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราก็จะมีอายุขัยถึง 70 ปีเช่นกัน จึงทำให้สัดส่วนของผู้ที่ต้องอาศัยผู้อื่นเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศร่ำรวยซึ่งจะมีคนชรามากขึ้นโดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 77 ในปี 2593 ส่วนประเทศในกลุ่มแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่าจะมีอัตราของผู้ที่ต้องอาศัยผู้อื่นลดลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษนี้ แต่ในเมื่อประเทศเหล่านั้นยากจน อัตราที่ลดลงก็จะไม่ส่งผลอันใดในทางบวก
อายุขัยของประชากรโลกมิได้มีแต่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มันยังลดลงได้ด้วยจากโรคระบาดต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์ ข้อมูลบ่งว่า ในระหว่างปี 2493-2529 ชาวซิมบับเวมีอายุขัยเพิ่มขึ้นจาก 40 ปีเป็น 56 ปี แต่เมื่อโรคเอดส์ระบาดอายุขัยของประชากรในประเทศนี้ก็ลดลงถึง 14-26 ปีจนทำให้อายุขัยของผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อต่างจากผู้ไม่ติดเชื้อถึง17 ปี นั่นคือ 47 ปีและ 64 ปีตามลำดับ
จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเพื่อผลิตสิ่งต่าง ๆ สำหรับสนองความต้องการ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอาจยังผลให้เกิดภาวะขาดแคลน เช่น ในด้านของทรัพยากรดินซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับผลิตอาหารและการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ แม้ว่าโลกจะมีพื้นที่มากมาย แต่ก็อาจไม่เพียงพอเพราะปัจจัยหลายอย่าง โดยทั่วไปความเพียงพอของพื้นที่เพาะปลูกขึ้นอยู่กับ 1) ส่วนประกอบของอาหารที่รับประทาน 2) ความสามารถในการผลิตของดิน 3) ปริมาณน้ำที่สามารถหาได้ และ 4) การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก โลกมีทรัพยากรดินสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และเป็นผืนป่าเท่ากับ 1.5, 3.4 และ 3.9 พันล้านเฮกตาร์ตามลำดับซึ่งเท่ากับพื้นที่รวมเพียง 8.8 พันล้านเฮกตาร์หรือร้อยละ 68 ของพื้นที่ทั้งหมดบนผืนโลก อย่างไรก็ดีมนุษย์เราไม่สามารถที่จะนำพื้นที่ทั้งหมดบนโลกมาใช้ได้ ในปัจจุบันโลกจึงมีพื้นที่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากรได้เพียง 3 พันล้านคนเท่านั้นหากทุกคนใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกับประชากรในประเทศอุตสาหกรรมในปัจจุบันซึ่งใช้คนละประมาณ 0.5 เฮกตาร์ จำนวนประชากรอาจเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 พันล้านคนได้หากทุกคนใช้ทรัพยากรในระดับของประเทศที่มีประชากรบริโภคอาหารง่าย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำพวกมังสวิรัติ แต่อาจเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านคนได้หากทุกคนใช้ทรัพยากรเพียงจำกัด หรือ เท่า ๆ กับประชากรของโลกที่ยากจนในขณะนี้
ผู้เขียนคำนวณต่อไปและสรุปว่า ถ้าชาวโลกบริโภคเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในปัจจุบัน โลกจะมีประชากรได้เพียงแค่ 1 พันล้านคนเท่านั้น หากทุกคนใช้ทรัพยากรเท่ากับชาวยุโรปตะวันตก โลกจะมีประชากรได้ 2 พันล้านคน และถ้าทุกคนบริโภคเท่า ๆ กับชาวเอธิโอเปียและอินเดีย โลกจะมีประชากรได้ถึง 1 หมื่น 1 พันล้านคน ในความเห็นของวัคลัฟ สมิล นักธรณีวิทยาชาวแคนาดา ประเทศที่เริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงประชากร หรือ มีต่ำกว่าคนละ 0.07 เฮกตาร์ หรือ 175 ตารางวา (1 เฮกตาร์ =10,000 ตารางเมตร) ต่อคนในขณะนี้ คือ อิสราเอล บังคลาเทศ สาธารณรัฐคองโก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ จอร์แดน อียิปต์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน บรูไน คูเวตและสิงคโปร์
เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์เสนอแนวคิดหนึ่งเพื่อวัดระดับการบริโภคของมนุษย์ เรียกว่า รอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint) ซึ่งคิดเป็นเฮกตาร์ต่อคน ในปัจจุบันประชากรโลกสร้างรอยเท้าเฉลี่ยคนละ 2.3 เฮกตาร์ในขณะที่ความสามารถในการผลิตของโลกมีให้เพียง 1.8 เฮกตาร์ต่อคนเท่านั้นหากคิดตามการใช้ทรัพยากรในระดับปัจจุบัน ตามการคำนวณนี้การผลิตและการบริโภคจะอยู่ในภาวะสมดุลหากโลกมีประชากรแค่ 4.8 พันล้านคน โดยทั่วไปประเทศร่ำรวยมักสร้างรอยเท้ามากกว่าประเทศยากจนซึ่งเท่ากับพวกเขาขาดแคลนทรัพยากร พวกเขาจึงจำเป็นต้องหยิบยืมจากประเทศที่สามารถผลิตได้มากกว่าบริโภค แต่การหยิบยืมจะต้องไม่มากเกินกว่าความสามารถของโลกโดยรวมที่จะรองรับรอยเท้าทางนิเวศ การคำนวณจำนวนประชากรจากมุมมองของการใช้ทรัพยากร หรือ การสร้างร้อยเท้าทางนิเวศ จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่าและอัตราการเพิ่มประชากรสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีจำนวนรอยเท้าน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้เพราะประชากรของประเทศกำลังพัฒนามีวิถีชีวิตที่ง่ายกว่าจึงสร้างรอยเท้าน้อยกว่า เช่น ชาวอินเดียสร้างรอยเท้าเพียงคนละ 0.1 เฮกตาร์เท่านั้น ส่วนชาวอเมริกันสร้างรอยเท้าถึงคนละ 9.7 เฮกตาร์ แต่สหรัฐฯ มีความสามารถในการผลิตเพียง 5.3 เฮกตาร์ต่อคนเท่านั้น นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันต้องหยิบยืมรอยเท้าจำนวนมากจากประเทศอื่น การหยิบยืมนี้อาจทำได้ไม่นานในอนาคต ทั้งนี้เพราะประชาชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังสร้างรอยเท้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน การคาดการณ์พบว่าหากชาวจีนปรับวิถีชีวิตตามชาวอเมริกัน ชาวจีนทั้งประเทศจะสร้างรอยเท้าถึง 1.3 หมื่นล้านเฮกตาร์ซึ่งมากกว่าพื้นที่บนโลกถึงร้อยละ 17
นับจากอดีตมาไม่เพียงแต่จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น การบริโภคของแต่ละคนยังเพิ่มขึ้นด้วย สถิติบ่งว่าในปี 2503 ระบบนิเวศของโลกมีพอที่จะสร้างผลผลิตได้เป็น 2 เท่าของรอยเท้าที่กำลังเกิดขึ้น แต่ภายในเวลาเพียง 25 ปีต่อมา รอยเท้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเท่ากับศักยภาพของระบบนิเวศ หลังจากนั้นรอยเท้าที่เพิ่มขึ้นก็เกินศักยภาพของระบบนิเวศเรื่อยมาจนเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รอยเท้าของมนุษย์เราก็มากกว่าศักยภาพของระบบนิเวศถึง 25% นั่นหมายความว่าประชากรได้ล้นโลกแล้ว
การเพิ่มขึ้นของประชากรไม่เพียงแต่จะก่อปัญหากับเพื่อนมนุษย์กันเองเพราะต้องแย่งทรัพยากรกันเท่านั้น หากยังรุกรานสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เช่น การทำลายป่าดงดิบซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตถึงกว่าร้อยละ 50 ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปถึงปีละ 140,000 ชนิด ด้วยอัตราการทำลายล้างเท่าที่เป็นอยู่นี้ มนุษย์เราจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปถึงครึ่งหนึ่งภายในเวลาเพียง 70 ปีเท่านั้น ฉะนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาดังเดิมได้อีก
ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพราะป่าทำหน้าที่ปกป้องดิน เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ควบคุมการหมุนเวียนของน้ำและดูดซับคาร์บอน แต่เพียง 10 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ครอบครองผืนป่าถึงร้อยละ 70 นั่นคือ รัสเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย สาธารณรัฐคองโก อินโดนีเซีย แองโกลาและเปรู ในปัจจุบันนี้แต่ละปีมีการทำลายผืนป่าถึง 13-15 ล้านเฮกตาร์โดยผืนป่าของแอฟริกาและละตินอเมริกาจะถูกทำลายสูงสุดถึงร้อยละ 70 ของที่ผืนป่าที่ถูกทำลายทั่วโลก พื้นที่ที่ถูกทำลายสูงสุดคือ มาดากัสการ์ รองลงมาคือ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามนุษย์ได้ทำลายป่าไปแล้วถึงกว่าร้อยละ 50 ของผืนป่าที่เคยมีอยู่บนโลกโดยนำไปใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สร้างเขื่อน เหมือง เมืองและโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อป่าถูกทำลายโลกจึงร้อนขึ้นเพราะการทำลายป่าเท่ากับเป็นการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศ
ในปี 2540 นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้พยายามคำนวณต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจและพบว่า แต่ละปีสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปมีค่าเท่ากับ 18-61 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งเท่ากับรายได้ของคนทั้งโลกรวมกัน นั่นหมายความว่า สิ่งที่สร้างรายได้ให้กับประชากรก็คือค่าของทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ซ้ำร้ายในบางครั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อการทำธุรกิจยังให้ผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศน้อยกว่าค่าของสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปอีกด้วย เช่น การตัดต้นโกงกางของประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนเป็นเกษตรทางน้ำทำให้ไทยขาดทุนร้อยละ 70 เมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้กับที่เสียไปในด้านความสามารถในการดูดซับคาร์บอน
ในอนาคตพื้นที่เพาะปลูกต่อคนจะลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาอันเป็นผลจากการเพิ่มประชากรและความเสื่อมของดิน แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่1 เฮกตาร์จะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ตันในปี 2493 เป็น 3 ตันเมื่อสิ้นปี 2543 แล้วก็ตาม แต่ผลผลิตที่เพิ่มก็เป็นผลจากการใช้สารเคมี การพัฒนาเช่นนี้ย่อมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนจะยิ่งกดดันให้ผลผลิตของหลายประเทศลดลง เช่น กลุ่มแอฟริกา เอเซีย ยุโรปตอนใต้และตะวันออก ผลผลิตโดยรวมของโลกที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่าเพียงพอที่จะรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นได้โดยเฉพาะประชากรในประเทศยากจนซึ่งมีปัญหาการขาดกำลังซื้อ ผู้เขียนเห็นว่าประเทศเหล่านี้ควรได้รับการช่วยเหลือให้สามารถผลิตสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ แทนที่จะให้สิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการหรือไม่มีความจำเป็นซึ่งรังแต่จะเพิ่มภาระให้กับประเทศที่มีฐานะดีกว่าในอนาคต ผู้เขียนคาดว่าความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังจะสามารถลดจำนวนผู้หิวโหยจาก 829 ล้านคนเหลือเพียง 200 ล้านคนภายในเวลา 30 ปี แต่หากมนุษย์เรายังคงทำธุรกิจในแนวปัจจุบัน จำนวนผู้หิวโหยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านคนภายในปี 2573 อย่างแน่นอน
นอกจากดินแล้ว มนุษย์เราต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกและดำรงชีวิต ปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกมีอยู่ 1,386 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร แต่เป็นน้ำสะอาดที่สามารถนำมาใช้ได้เพียงร้อยละ 2.53 หรือ 35.029 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตรเท่านั้น น้ำสะอาดนี้แบ่งเป็นน้ำแข็งร้อยละ 68.7 น้ำบาดาลร้อยละ 30 ดังนั้นน้ำสะอาดที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีคือน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบจึงมีเพียงร้อยละ 0.26 เท่านั้น ทั้งนี้เพราะน้ำในแม่น้ำมีวงจรหมุนเวียนเพียงแค่ 16 วัน ในขณะที่น้ำในทะเลสาบมีวงจรหมุนเวียนนานถึง 17 ปี และน้ำบาดาลมีวงจรหมุนเวียนถึง 1500 ปีซึ่งเท่ากับเป็นน้ำที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในชั่วชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ปริมาณน้ำที่มนุษย์เรานำมาใช้ได้จริง ๆ จึงเหลือเพียงปีละ 9,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ดีเรายังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ผ่านทางเขื่อนอีกปีละ 3,500 ลูกบาศก์กิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าปริมาณน้ำเฉลี่ยที่ผู้คนทั่วโลกจะเข้าถึงได้ปีละ 6,900 ลูกบาศก์เมตรนั้นเพียงพอต่อการใช้สอย แต่เนื่องจากน้ำมิได้กระจายอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก คนส่วนหนึ่งจึงมิได้รับน้ำอย่างเพียงพอ บริเวณที่มีปริมาณน้ำสูงสุดคือเอเซียและอเมริกาใต้ สองทวีปนี้มีน้ำรวมกันถึงร้อยละ 30 ของที่มีอยู่บนผืนโลก แต่เอเซียเป็นทวีปที่มีประชากรหนาแน่นกว่าอเมริกาใต้ ชาวเอเชียจึงมีน้ำต่อคนในปริมาณที่ต่ำกว่าชาวอเมริกาใต้มาก ยุโรปและแอฟริกามีปริมาณน้ำต่ำ แต่เนื่องจากประชากรในยุโรปกำลังลดลง ความสามารถในการเข้าถึงน้ำของชาวยุโรปจึงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรของแอฟริกาเพิ่มขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงน้ำของชาวแอฟริกันจึงยิ่งยากเย็นขึ้น ในปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 75 ได้รับน้ำไม่เพียงพออยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปี 2568 บริเวณที่มีประชากรหนาแน่นจะขาดแคลนน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
การใช้น้ำของโลกเพิ่มขึ้นจาก 580 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็น 3,800 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปีเมื่อสิ้นศตวรรษ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้ในปี 2593 น่าจะเท่ากับ 6,580 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี ส่วนการใช้น้ำรายบุคคลนั้นก็เพิ่มขึ้นจากคนละ 380 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็น 650 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเมื่อสิ้นศตวรรษ อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้น้ำยังขึ้นอยู่กับเศรษฐานะด้วย นั่นคือ ประชาชนในประเทศที่มีฐานะดี หรือในองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนา (OECD) ใช้น้ำถึงคนละ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสใช้น้ำคนละเพียง 500 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น เช่น ชาวอเมริกันเหนือใช้น้ำถึงคนละ 1500 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ชาวแอฟริกันมีโอกาสใช้น้ำเพียงคนละ 350 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
น้ำที่ถูกนำมาใช้ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนของการเกษตรร้อยละ 69 อุตสาหกรรมร้อยละ 21 ประเทศยากจนใช้น้ำไปในการเกษตรมากถึงร้อยละ 90 ส่วนประเทศที่มีเศรษฐานะดีจะใช้น้ำในการเกษตรเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนการใช้น้ำทางด้านอุตสาหกรรมและดื่มกินนั้น ประเทศร่ำรวยจะมีสัดส่วนการใช้น้ำใน 2 ด้านนี้มากกว่าประเทศยากจนโดยใช้น้ำในด้านอุตสาหกรรมมากถึงร้อยละ 45 และดื่มกินถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศยากจนใช้น้ำในอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ 4 และดื่มกินเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ประชากรของประเทศพัฒนาแล้วจึงใช้น้ำสูงถึงเฉลี่ยคนละ 130 ลิตรต่อวัน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสได้ใช้น้ำเพียงคนละ 58 ลิตรต่อวันเท่านั้น
เนื่องจากหลายประเทศไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ พวกเขาจึงจำเป็นต้องหยิบยืมจากประเทศอื่นผ่านทางการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเปรียบเสมือนการได้รับน้ำเพิ่มขึ้นนั่นเอง สำหรับประเทศที่จำเป็นต้องหยิบยืมน้ำจากประเทศอื่น ๆ เช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ปริมาณอาหารที่พวกเขาซื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปีละ 7.5 ล้านตันในปี 2503 เป็นปีละ 40 ล้านตันภายในเวลาเพียง 30 ปี
เขื่อนขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่มนุษย์เราใช้ในการแก้ปัญหาการเข้าถึงน้ำ เขื่อนใหญ่ ๆ ทั่วโลกจึงได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจากไม่กี่พันเป็น 47,455 แห่ง สามในสี่ของเขื่อนใหญ่ทั่วโลกอยู่ใน 4 ประเทศคือ จีน สหรัฐฯ อินเดียและญี่ปุ่นโดยร้อยละ 50 อยู่ในประเทศจีนเพียงประเทศเดียว เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่แล้วทั่วโลกสร้างเขื่อนทุกขนาดเพิ่มขึ้นถึง 8 แสนแห่งไว้ใช้ในการชลประทาน ป้องกันน้ำท่วม และผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างเขื่อนไม่เพียงเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงน้ำเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบทั้งในด้านนิเวศ สังคมและการเมืองด้วย ทั้งนี้เพราะประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนไม่สามารถจับปลาได้ สูญเสียที่ดินและความอุดมสมบูรณ์ ส่วนประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนส่วนหนึ่งจะถูกไล่ที่เพื่อสร้างเขื่อนจนทำให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการสร้างเขื่อนน่าจะมิใช่หนทางในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง การบริหารจัดการน้ำและการลดการสูญเสียน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องมากกว่า
นอกจากเขื่อนแล้ว น้ำบาดาลก็มีส่วนสำคัญสำหรับการชลประทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดีย ซาอุดีอาระเบีย บังกลาเทศ ตูนิเซีย ซีเรีย อิหร่านและปากีสถาน ประเทศที่ใช้น้ำบาดาลมากที่สุด 3 ประเทศคือ อินเดีย สหรัฐฯและจีน การใช้น้ำบาดาลไม่เพียงแต่เกิดขึ้นแต่ในชนบทเท่านั้น หากเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็ยังต้องอาศัยน้ำบาดาลด้วย เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มะนิลา กรุงเทพฯ จาการ์ตา ดาการ์ แต่การใช้น้ำบาดาลก็ก่อผลเสียกับประชาชนเช่นกัน ข้อมูลบ่งว่าพื้นดินของกรุงเทพฯ ทรุดลงจากการใช้น้ำบาดาลถึงปีละ 5-10 เซนติเมตร ที่แย่กว่านั้นก็คือการดึงน้ำมาไปใช้มากเกินไปยังทำให้น้ำทะเลซึมเข้ามาจนทำให้น้ำในบ่อเค็มจนใช้ไม่ได้
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปี 2568 ตะวันออกกลาง เอเซียกลางและเอเซียใต้จะเข้าสู่จุดขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับแอฟริกาเหนือ ส่วนประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมจะมิได้รับผลกระทบแต่อย่างใดแม้ว่าความสามารถในการเข้าถึงน้ำจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 60 ของที่เคยได้รับเมื่อปี 2493 แล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะอัตราการเพิ่มของประชากรในบริเวณนั้นได้ลดลงแล้ว
ในปี 2543 ประชากรโลกกว่า 2,640 ล้านคนหรือร้อยละ 44 ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลได้และประชากรกว่า 1,140 ล้านคนหรือร้อยละ 19 ไม่มีน้ำสะอาดใช้โดยในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ชาวเอเซียถึง 1,800 ล้านคนหรือร้อยละ 50 ไม่มีระบบสุขาภิบาลและ 730 ล้านคนหรือร้อยละ 20 ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ชาวแอฟริกาถึง 730 ล้านคนหรือร้อยละ 40 ไม่มีระบบสุขาภิบาลและ 304 ล้านคนหรือร้อยละ 38 ไม่มีน้ำสะอาดใช้ การที่ประชาชนในประเทศเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ทำให้อัตรารอดของทารกแรกคลอดเหลือเพียงร้อยละ 80 เท่านั้น
เมื่อความสามารถในการเข้าถึงน้ำไม่เท่าเทียมกันจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ความขัดแย้งในระดับประเทศเกิดจากการแย่งชิงกันระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดจากการที่แต่ละประเทศต้องการกักน้ำไว้ใช้มากที่สุด เช่น ตุรกีขัดแย้งกับซีเรียและอิรักจากโครงการชื่อ Grand Anatolia ทั้งนี้เพราะโครงการนี้จะมีการสร้างเขื่อนถึง 22 แห่งกั้นแม่น้ำยูเฟรตีส หากโครงการนี้เสร็จสิ้นลงตามแผนในปี 2549 น้ำที่ไหลผ่านซีเรียและอิรักจะลดลงถึงกว่าร้อยละ 40 และ 80 ตามลำดับ เมื่อสถานการณ์การขาดน้ำเริ่มรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านี้มีอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว อีกทั้งระบบบริหารจัดการน้ำยังขาดประสิทธิภาพมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วด้วย
ทางแก้ที่เป็นไปได้คือการนำน้ำทะเลมาใช้ แต่เนื่องจากกลั่นน้ำทะเลต้องใช้พลังงานสูง มันจึงไม่เหมาะกับประเทศยากจนอีกเพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีเงินจ่ายค่าพลังงาน
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในปี 2568 ประชากรถึง 2,600 ล้านคนจาก 48 ประเทศทั่วโลกจะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ผู้เขียนเห็นว่าแม้ว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา การขาดน้ำก็ยังคงไม่น่าที่จะลดลงได้ ฉะนั้นประชากรที่ขาดน้ำจะเพิ่มขึ้นจาก 2,400 ล้านคนในปี 2545 เป็น 3,200 ล้านคนในปี 2575
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจสูงในปัจจุบัน ตามธรรมชาติพลังงานที่โลกได้รับจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซับแสงอาทิตย์ ปริมาณ ช่วงชีวิตและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสมดุลของพลังงานบนโลกของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสมดุลของพลังงานบนโลกสูงที่สุดและเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เราปล่อยออกมาสูงสุด อีกทั้งยังมีช่วงชีวิตยาวนานถึง 100 ปี นั่นคือ หลังจากลอยอยู่ 100 ปี มันจะถูกทำลายไปร้อยละ 63 และยังคงเหลืออยู่ในบรรยากาศถึงร้อยละ 37 ส่วนก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะมีช่วงชีวิตยาวกว่านั้นอีก เช่น ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ มีช่วงชีวิต 120, 1700 และ 3,200 ปีตามลำดับจึงยิ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่ามันจะถูกทำลายไปหมด แต่มันมีปริมาณน้อยกว่าคาร์บอนไดออกไซด์
ประชากรโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยคนละ 1.1 ตันต่อปี โดยประชากรของประเทศอุตสาหกรรมปล่อยออกมากถึงคนละ 3.4 ตันต่อปี ในขณะที่ประชากรของประเทศกำลังพัฒนาจะปล่อยออกมาเพียงคนละ 0.5 ตันต่อปี คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า รายได้ทุก ๆ พันเหรียญที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นคนละ 0.16 ตันต่อปี ระหว่างปี 2393-2543 มนุษย์เราได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 280 พันล้านตันโดยเพิ่มขึ้นจาก 6 พันล้านตันต่อทศวรรษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็น 67 พันล้านตันต่อทศวรรษเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 สหรัฐฯ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดคือสูงถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา ส่วนจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกกลับปล่อยก๊าซนี้เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น นักวิจัยคาดว่าในระหว่างปี 2543-2563 สหรัฐฯ จะยังคงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 27 ส่วนจีนจะปล่อยเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 118 และในปี 2563 จะเป็นปีที่ประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาพอ ๆ กัน
นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกมาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงแล้ว การใช้ผืนดินซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนก็เท่ากับเป็นการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยเช่นกัน แม้ว่าการเพาะปลูกจะทำให้เกิดการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่ดินได้บ้างโดยผ่านการหายใจของพืช แต่คาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมายังคงมากกว่าอยู่ดี นักวิทยาศาสตร์คาดว่าคาร์บอนที่จะถูกปล่อยจากการใช้ผืนดินในปี 2563 จะเท่ากับ 7 พันล้านตันต่อปี
เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ IPCC จึงคาดว่า เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.4-5.8 องศาเซลเซียส โลกที่ร้อนขึ้นจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 30 เซนติเมตรเมื่อสิ้นปี 2593 และเพิ่มขึ้นเป็น 90 เซนติเมตรเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 22 ซึ่งจะกระทบต่อเมืองตามริมฝั่งทะเล เช่น บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนเกาะมัลดีฟส์และเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจจมหายไปเลยก็เป็นได้
เมื่อประเทศส่วนใหญ่ต่างตระหนักถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก ในปี 2540 จึงได้ร่วมกันร่างพิธีสารเกียวโตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การต่อรองกลับล้มเหลวเพราะสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะร่วมลงนาม ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 พิธีสารเกียวโตได้รับการปรับปรุงให้เป็นข้อตกลงบอนน์โดยมีสาระสำคัญเพิ่มเติมคือ ให้โควตาปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นกับประเทศที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น หรือช่วยประเทศกำลังพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยี และประเทศที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่าโควตาที่ได้รับสามารถขายสิทธิให้กับประเทศที่ต้องการปล่อยก๊าซมากกว่าโควตา
พิธีสารเกียวโตวางอยู่บนฐานของการคำนวณที่สรุปว่า หากโลกต้องการให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์คงที่อยู่ที่ระดับ 450 ส่วนต่ออากาศล้านส่วนเช่นในปัจจุบัน ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องลดการปล่อยก๊าซลงต่ำกว่าที่เคยปล่อยในปี 2533 ร้อยละ 30 ภายในปี 2553 บริษัทประกันภัย Munich Re คาดว่า ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจจากปัญหาโลกร้อนได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2523 เป็นปีละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงแค่ 20 ปี ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเมื่ออัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตโลกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 33 ในขณะที่อัตราการสูญเสียจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 450 ในปี 2588 ผลผลิตโลกจะเท่ากับความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกร้อนพอดี นั่นหมายความว่า ในปี 2588 โลกจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ปัญหาพลังงานเป็นปัญหาทางด้านทรัพยากรอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์เราต้องเผชิญเพราะความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับพลังงาน ข้อมูลบ่งว่าเราบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 30 เอ็กซาจูลส์ในปี 2443 เป็น 413 เอ็กซาจูลส์ภายในเวลาเพียงศตวรรษเดียว นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ เราจะบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่าของช่วงปี 2493
การบริโภคพลังงานของเราอาศัยพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ถึงร้อยละ 50 ข้อมูลบ่งว่าในปี 2543 ประเทศพัฒนาแล้วบริโภคพลังงานถึงร้อยละ 68 โดยบริโภคมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาถึง 9 เท่าและสหรัฐฯ ใช้พลังงานสูงที่สุดในโลกคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ทั้งที่สหรัฐฯ มีจำนวนประชากรเพียงแค่สองร้อยกว่าล้านคนหรือไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากรโลกเท่านั้นและคาดว่าจะบริโภคเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 33 เมื่อสิ้นปี 2563 ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกบริโภคพลังงานเพียงร้อยละ 9 แต่คาดว่าจะบริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 150 เมื่อสิ้นปี 2563 คาดว่าการบริโภคพลังงานในการขนส่งจะเพิ่มเป็นราวสองเท่าของระหว่างปี 2533-2563 ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์คาดว่ายานพาหนะจะเพิ่มขึ้นจาก 53 ล้านคันในปี 2493 เป็น 1 พันล้านคันในปี 2573
ย่านตะวันออกกลางมีน้ำมันดิบมากที่สุดโดยมีอยู่มากถึงร้อยละ 78 ส่วนประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่ม OECD ใช้น้ำมันสูงที่สุดในโลกโดยบริโภคน้ำมันสูงถึงร้อยละ 63 โดยสหรัฐฯ บริโภคสูงสุดคือถึงร้อยละ 11 ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปริมาณน้ำมันดิบที่โลกสามารถผลิตได้ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วและคาดว่าจะลดลงในอนาคตซึ่งตรงข้ามกับปริมาณความต้องการ น้ำมันดิบจึงไม่น่าที่จะเป็นพลังงานสำหรับอนาคตได้อีกนานนัก ส่วนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้ายังคงพบเพิ่มขึ้นและมีอยู่เป็นจำนวนมากจึงน่าที่จะสามารถเป็นพลังงานให้กับโลกได้อีกหลายร้อยปี อย่างไรก็ดีพลังงานทั้งสองชนิดนี้ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้สอยมากกว่าพลังงานจากน้ำมัน
นอกจากพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์แล้ว อุตสาหกรรมยังต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้าด้วย ประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบริโภคพลังงานชนิดนี้มากกว่าประชาชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาถึง 9 เท่าโดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากที่สุดในโลกโดยมีถึงร้อยละ 25 ของทั้งหมด พลังงานสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบันมาจากซากดึกดำบรรพ์ พลังงานน้ำ นิวเคลียร์ ลม แสงอาทิตย์และความร้อนใต้ผิวโลก แหล่งกำเนิดพลังงานเหล่านี้มีสมรรถนะแตกต่างกันและได้รับความนิยมไม่เท่ากัน พลังงานที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสำหรับอนาคตได้ดีคือ พลังงานน้ำ ลมและความร้อน
ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาของพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมิได้เกิดจากการที่มนุษย์เราไม่มีทางเลือก แต่เป็นเพราะพวกเราลังเลที่จะเลือกใช้พลังงานทางเลือกอื่นซึ่งอาจมีความยุ่งยากมากกว่าการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และทัศนคติของสังคมมากกว่าข้อจำกัดทางด้านกายภาพหรือเทคนิคเพราะการพัฒนาพลังงานของอนาคตขึ้นอยู่กับกำไรเป็นสำคัญ
ถึงแม้ว่าโลกจะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงการศึกษามีมากขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่สภาพทางสังคมกลับเสื่อมทรามลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรายได้ประชาชาติซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้บ่งบอกความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศอาจมิได้บ่งบอกถึงความยากจนภายในประเทศและระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริง รวมทั้งมิได้สะท้อนถึงต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อการใช้รายได้ประชาชาติไม่สามารถบ่งบอกสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ นักเศรษฐศาสตร์จึงได้คิดตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริง หรือ Genuine Progress Indicator (GPI) ตัวชี้วัดนี้ประกอบด้วยรายได้ประชาชาติบวกกับการบริการฟรีจากองค์กรการกุศลและหักด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข้อมูลบ่งว่ารายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 11,000 ดอลลาร์ในปี 2493 เป็น 33,000 ดอลลาร์ในปี 2543 แต่ดัชนีความก้าวหน้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ กลับเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ดอลลาร์เป็น 9,000 ดอลลาร์เท่านั้น ความแตกต่างระหว่างสองดัชนีซึ่งสูงถึง 26,000 ดอลลาร์นี้คือค่าความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่จะตกเป็นภาระกับลูกหลานในอนาคต
ส่วนดัชนีจีนี (GINI index) ซึ่งเป็นค่าที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้วัดการกระจายรายได้พบว่า ประเทศมั่งคั่งจะมีการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เลวร้ายมากนักจึงทำให้คนยากจนในประเทศเหล่านี้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการกระจายความมั่งคั่งของประเทศยากจนกลับยังไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าตามทฤษฎียิ่งโลกมีความซับซ้อน ความเจริญเติบโต ความมั่งคั่งและเครือข่ายมากขึ้นเท่าใด การกระจายรายได้จะยิ่งเท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ความเท่าเทียมกันยังเป็นผลมาจากนโยบายและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย การกีดกันการค้าระหว่างประเทศหรือนโยบายภาษีที่เอื้อให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะของประเทศกำลังพัฒนาจึงมักส่งผลให้เงินหลั่งไหลไปยังคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้น แม้ว่าธุรกิจต่าง ๆ จะเติบโตขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ความเท่าเทียมกันทางได้รายได้ก็มิได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ร้อยละ 20 ของประชาชนโลกซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมครอบครองความมั่งคั่งถึงร้อยละ 86 ของโลก ในขณะที่ร้อยละ 20 ของประชากรโลกซึ่งอยู่ในประเทศยากจนที่สุดครอบครองความมั่งคั่งเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ความร่ำรวยไม่เพียงกระจุกตัวอยู่แต่ในบางประเทศเท่านั้น ยังกระจุกตัวอยู่ในคนเพียงไม่กี่คนด้วย ข้อมูลในปี 2541 บ่งว่า คนรวยที่สุด 200 คนแรกของโลกอาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือถึง 65 คน อยู่ในยุโรป 55 คน และแต่ละปีคนเหล่านี้ก็ร่ำรวยเพิ่มขึ้นมากด้วย ชั่วเวลาเพียงแค่ 4 ปีคือระหว่างปี 2537-2541 พวกเขามีเงินรวมกันเพิ่มขึ้นจากสี่แสนสี่หมื่นล้านดอลลาร์เป็นกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ในปีเดียวกันนั้นทรัพย์สินของคนเหล่านี้เท่ากับผลผลิตมวลรวมของประเทศยากจนที่สุดรวมกันถึง 48 ประเทศ แค่คนร่ำรวยที่สุด 3 คนแรกก็มีเงินเท่ากับรายได้ประชาชาติของคนในประเทศยากจนที่สุด 600 ล้านคนรวมกันแล้ว
ในปัจจุบันผู้มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 1 ดอลลาร์ยังมีอยู่ถึง 1.2 พันล้านคนหรือร้อยละ 22.7 ของประชากรโลก คนเหล่านี้อยู่ในเอเซียใต้ แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าและเอเซียตะวันออก ส่วนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ยังมีมากถึง 3 พันล้านคนหรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดคือเอธิโอเปียเพราะประชากรกว่าร้อยละ 98 อยู่ในกลุ่มนี้ ชาวจีนที่เข้าข่ายยากจน หรือมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวันก็มีถึงร้อยละ 47.3 ความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายความมั่งคั่งนี้ส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพของแต่ละประเทศแตกต่างกัน บางประเทศขาดแคลนน้ำดื่มและอาหารจนทำให้มีคนตายด้วยโรคขาดอาหารถึงปีละ 3 ล้านคน และมีทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานถึงกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวยมีคนอ้วนถึงกว่า 1 พันล้านคนโดยอ้วนจนเข้าขั้นอันตรายถึง 300 ล้านคนและทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น นอกจากนี้ อัตราตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของประเทศกำลังพัฒนาในปี 2541 ยังคงสูงถึง 95 คนต่อพันคนซึ่งเท่ากับปีละ 11 ล้านคน นั่นหมายความว่า ประเทศกำลังพัฒนาล้าหลังประเทศพัฒนาแล้วถึง 30 ปี
ดัชนีพัฒนามนุษย์ หรือ Human Development Index (HDI) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักพัฒนาคิดขึ้นมาเพื่อใช้วัดความก้าวหน้าด้านคุณภาพของชีวิต ดัชนีนี้ประกอบด้วยค่าเฉลี่ยอายุขัย ระดับความรู้และสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรโลกเริ่มตั้งแต่ 47 ปีถึง 78 ปี กลุ่มประเทศที่มีค่าเฉลี่ยอายุขัยต่ำสุดอยู่ในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ สูงสุดคือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่ม OECD ส่วนระดับความรู้หรือการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่อยู่ระหว่างร้อยละ 56-99 ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้มีสัดส่วนคนอ่านออกเขียนได้ต่ำสุด ส่วนรายได้ประชาชาติอยู่ระหว่าง 500-54,000 ดอลลาร์ ดัชนีนี้บ่งว่ากลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ในเอเซียใต้ ส่วนกลุ่มแอฟริกาทางตอนใต้มีการพัฒนาการต่ำและมีรายได้ประชาชาติลดลงด้วย นอกจากนี้กลุ่มประเทศยากจนยังมีรายได้ประชาชาติเกือบคงที่มาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว นักพัฒนาคาดว่าประเทศในกลุ่ม OECD จะพัฒนาจนมีค่าดัชนีพัฒนาการคุณภาพมนุษย์สูงสุดในปี 2567 ในขณะที่กลุ่มประเทศละตินอเมริกา เอเซียใต้ อาหรับและแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่าจะพัฒนาจนมีค่าดัชนีนี้สูงสุดในปี 2593, 2608, 2683 และ 2733 ตามลำดับ
นอกจากนั้นยังมีดัชนีความยากจนที่เรียกว่า Human Poverty Index (HPI) ซึ่งใช้วัดมาตรฐานการครองชีพของแต่ละประเทศโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ HPI-1 ใช้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและ HPI-2 ใช้สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย HPI-1 ประกอบด้วย ความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 40 ปี อัตราการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่ จำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และสัดส่วนของทารกน้ำหนักน้อย ไนเจอร์เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดและบาร์บาโดสเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดตามการวัดจากดัชนีนี้ ส่วน HPI-2 ประกอบด้วย ความเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี สัดส่วนของประชาชนที่ทำงานแต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ สัดส่วนของประชาชนที่ดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยมีรายได้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยรายได้และการไม่มีงานทำเป็นระยะเวลานาน ในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 51 ประเทศ สวีเดนเป็นประเทศที่มีดัชนีนี้ดีที่สุดและสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีดัชนีนี้ต่ำที่สุดโดยมีคนยากจนตามการวัดโดยดัชนีนี้อยู่ถึง 45 ล้านคน
ในช่วงปี 2518-2543 รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเพิ่มสูงสุดจากคนละ 1,000 ดอลลาร์เป็น 4,500 ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยปีละ 140 ดอลลาร์ อย่างไรก็ดีความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้กลับไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างทางรายได้ประชาชาติระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนได้เพิ่มขึ้นจาก 30:1 ในปี 2503 เป็น 74:1 ในปี 2540 ผู้เขียนเห็นว่าการลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันความขัดแย้งและสร้างความสงบสุขให้กับสังคมโลก วิธีที่ประเทศพัฒนาแล้วควรทำคือ การลดการบริโภคทั้งในระดับรัฐและประชาชน อีกทั้งยังต้องเพิ่มความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้กับประเทศยากจนด้วย
ในปี 2543 สมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมกันร่างเป้าหมายสำหรับศตวรรษใหม่ที่เรียกว่า The Millennium Development Goals (MDG) ขึ้นเพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สำเร็จลุล่วงภายในปี 2558 เป้าหมายนี้ประกอบด้วย 1) กำจัดความยากจนและหิวโหย 2) จัดเตรียมการศึกษาระดับต้นอย่างทั่วถึง 3) กำจัดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ 4) ลดอัตราตายในเด็ก 5) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรียและโรคอื่น ๆ 6) สร้างสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงและ 7) สร้างพันธมิตรในการพัฒนา ความสำเร็จตามเป้าหมายทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จากเงินสนับสนุนของประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้แล้ว ปัญหาทางสังคมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ข้อมูลบ่งว่าในปี 2493 ประชากรเมืองมีเพียงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 47 เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนแล้วและคาดว่าภายในสิ้นปี 2571 จำนวนคนเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านคนหรือเท่ากับร้อยละ 61 ของประชากรโลก นอกจากนั้นนักประชากรศาสตร์ยังคาดว่าในปี 2558 เมืองที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคนจะมีถึง 26 เมือง กรุงเทพฯ ก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และจำนวนเมืองที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 622 เมือง
การที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมืองเป็นเพราะชีวิตคนเมืองได้รับประโยชน์มากกว่าคนชนบทหลายอย่าง เช่น มีน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาลที่ดีกว่า มีแหล่งบริการทางการแพทย์ สังคม การศึกษาและบันเทิงมากกว่า อย่างไรก็ดีการอยู่ในเมืองก็ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น สลัม อากาศเป็นพิษ จราจรหนาแน่น อุบัติเหตุรถยนต์และอาชญากรรมซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ข้อมูลบ่งว่าเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จำนวนผู้ติดยาเสพติดทั่วโลกมีถึง 200 ล้านคน เฉพาะเพียงปี 2538 เพียงปีเดียวยอดขายยาเสพติดสูงถึงสี่แสนล้านดอลลาร์หรือเท่ากับยอดขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโลกรวมกัน อาชญากรรมเป็นอุตสาหกรรมที่โตเร็วที่สุดในโลก การที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมืองจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก
เชื้อโรคเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องเผชิญ โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของโลก ในแต่ละปีโรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการตายถึง 13 ล้านคนหรือเท่ากับชั่วโมงละ 1,500 คน โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งซึ่งคร่าชีวิตคนถึงปีละ 3.5 ล้านคน ส่วนโรคเอดส์ก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1 แสนคนในปี 2523 เป็น 58 ล้านคนภายในเวลา 20 ปี และคาดภายในปี 2553 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก 59 ล้านคนโดยมีผู้ป่วยใหม่ถึงวันละ 28,500 คนหรือเท่ากับปีละ 10.4 ล้านคนและมีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตถึงวันละ 12,800 คนหรือเท่ากับปีละ 4.8 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2563 จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 14.3 ล้านคนและจำนวนผู้ป่วยเอดส์ตายสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็น 116 ล้านคน วัณโรคเป็นคู่แฝดกับโรคเอดส์ ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อวัณโรคถึง 8.4 ล้านคนและคร่าชีวิตคนถึงปีละ 2-3 ล้านคน ส่วนโรคท้องร่วงซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการขาดแคลนน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาลคร่าชีวิตเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปีถึงปีละ 1.8 ล้านคน โรคมาลาเรียซึ่งมักเกิดในเขตร้อนก็คร่าชีวิตผู้คนถึงปีละ 1.5 ล้านคนจากจำนวนผู้ติดเชื้อปีละ 300-400 ล้านคน
ข้อมูลบ่งว่าการที่ประชาชนต้องป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดต่อเป็นเพราะรัฐบาลทั่วโลกให้เงินสนับสนุนทางด้านสาธารณสุขน้อยคือ เพียงร้อยละ 5 ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นทุนในการรับมือกับการระบาดของโรคจึงสูงมาก ยิ่งไปกว่านั้นโรคติดเชื้อยังทำให้เกิดการสูญเสียช่วงชีวิตในการผลิตด้วย เช่น ในปี 2541 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจทำให้เกิดการสูญเสียการผลิตซึ่งคิดแล้วมีค่าเท่ากับปริมาณการผลิตตลอดชีวิตของคน 83 ล้านคน ท้องร่วงและเอดส์สูญเสียเท่ากับ 73 และ 71 ล้านคนตามลำดับ ซ้ำร้ายเชื้อโรคเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจึงดื้อยาได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แต่ความสามารถในการผลิตยาฆ่าเชื้อใหม่ ๆ กลับต้องอาศัยเวลานานถึง 15-20 ปีจนทำให้มนุษย์เราอาจไม่สามารถผลิตยาฆ่าเชื้อมารับมือกับการดื้อยาได้ทันกาล และเมื่อถึงเวลานั้นผู้คนทั่วโลกอาจต้องเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นได้
ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง ๆ ที่มนุษย์เราอาศัยอยู่บนโลกที่อุดมสมบูรณ์ แต่เรากลับมิได้บริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้อง คนยากจนอาจสามารถทานทนกับความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อจุดแตกหักมาถึง ความเกลียดชังและความสิ้นหวังจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงตามมา ในปัจจุบันสงครามจึงเกิดขึ้นประปรายทั่วโลก สงครามเหล่านี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2 แสน 2 หมื่นคน และยังทำให้ผู้คนต้องอพยพหลบหนีทิ้งบ้านเรือนจนทำให้ผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านคนแล้วเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โลกจึงกลายเป็นสถานที่อันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศส่วนใหญ่เพิ่มกำลังทหารและเร่งสะสมอาวุธ ในปี 2547 สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวใช้งบประมาณทหารถึง 3.92 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเป็นผู้ส่งออกอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ในช่วงปี 2529-39 มูลค่าส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ อยู่ระหว่าง 2.22-3.36 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากประเทศต่าง ๆ จะสะสมอาวุธเพิ่มขึ้นแล้ว สมรรถนะของอาวุธใหม่ก็สูงขึ้นด้วย ข้อมูลบ่งว่าระหว่างปี 2488-2543 ประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์ 5 ประเทศมีหัวรบถึง 14,968 หัวรบซึ่งเมื่อรวมกับของประเทศที่เพิ่งมีอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้มีความสามารถในการทำลายล้างเท่ากับ 250,000 เท่าของหัวรบที่ใช้กับเมืองฮิโรชิมา อย่างไรก็ดีหัวรบเหล่านี้กลับไม่เหมาะกับการสู้รบในสมรภูมิจริง พวกเขาจึงหันมาพัฒนาอาวุธชีวภาพขึ้น เชื้อโรคเป็นสิ่งที่ผลิตง่าย ราคาถูกและสามารถนำมาปนเปื้อนลงในน้ำดื่มหรืออาหารได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีกลิ่นและไม่มีสี
ส่วนในสงครามเล็ก ๆ อาวุธที่ใช้กันมักเป็นอาวุธเบา เช่น 1) ปืนซึ่งหาซื้อง่าย ทนทาน เคลื่อนย้ายง่ายและราคาถูก มันจึงถูกผลิตขึ้นปีละหลายล้านชิ้นและมีคนตายเพราะมันถึงปีละ 550,000 คน 2) กับระเบิดซึ่งราคาถูกและมีอานุภาพสูงยังผลให้มันคร่าชีวิตคนถึงปีละ 2 หมื่นคน คาดกันว่าอียิปต์มีกับระเบิดมากที่สุดในโลกโดยมีถึง 23 ล้านลูก รองลงมาคือ อิหร่าน แองโกลา จีน อิรักและเขมร 3) ระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ง่าย ราคาถูกและสามารถทำลายคอมพิวเตอร์จนทำให้อาวุธอื่น ๆ ที่มีอานุภาพสูงกลายเป็นอัมพาต 4) ผู้ก่อการร้ายที่พร้อมจะสละชีวิตเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุด ทั้งนี้เพราะคนเหล่านี้มีความสามารถในการผลิตอาวุธซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อีกทั้งยังยากที่รัฐบาลจะหาแหล่งมั่วสุมและหลักฐานสำหรับการเอาผิดด้วย
ไม่เพียงแต่ประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่เร่งสะสมอาวุธ ประเทศกำลังพัฒนาก็นิยมสะสมอาวุธด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอาวุธทำให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนารู้สึกปลอดภัยจากการถูกรุกราน แต่มันก็อาจกระตุ้นให้สร้างความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ประเทศยากจนมักมีความไม่มั่นคงทางการเมืองสูง ข้อมูลบ่งว่าประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าคนละ 1 พันดอลลาร์ต่อปีมักมีรัฐบาลเผด็จการ การศึกษาพบว่าประเทศจะมีความมั่นคงทางการเมืองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีรายได้ประชาชาติระหว่าง 7-8 พันดอลลาร์ต่อคนต่อปีหรือเท่ากับร้อยละ 25-30 ของรายได้ประชาชาติของประเทศร่ำรวยในปัจจุบัน แต่แทนที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พวกเขากลับจัดสรรเงินไปให้กับกิจการทหาร เช่น เอธิโอเปียใช้งบประมาณทางทหารถึงร้อยละ 9 ของรายได้ประชาชาติ แต่กลับใช้เงินเพียงร้อยละ 1.2 และ 4 ไปกับการศึกษาและสาธารณสุข ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความขัดแย้งและเพิ่มความเท่าเทียมกันทางสังคมคือ ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงเพื่อให้โลกสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทั้งนี้เพราะไม่มีใครทนการถูกบีบบังคับที่มากจนเกินไปหรืออยู่ในสภาวะที่สิ้นหวังมากเกินไปได้นาน
ผู้เขียนสรุปว่า ศตวรรษที่ 21 จะมีความพิเศษกว่าศตวรรษที่ผ่าน ๆ มาในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะการกระทำของมนุษย์เราจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั่วโลก หากเรามุ่งมั่นและร่วมมือกันในการรับมือกับมหันตภัยและมีความโชคดี ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงมากนัก แต่หากเรายังคงทำทุกอย่างดังที่เคยปฏิบัติมา มหันตภัยที่เกิดขึ้นคงรุนแรงจนเกินที่จะคาดเดาได้
ข้อคิดเห็น: เนื้อหาของหนังสือชี้อย่างแจ้งชัดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มนุษย์เรากำลังจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้มีความซับซ้อนและยากแก่การแก้ไข แต่การเพิกเฉยคงมิใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง ผู้เขียนได้ย้ำไว้ตลอดเล่มว่ามนุษย์เรามีทั้งเทคโนโลยีและกุศโลบายที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับลูกหลานได้อยู่แล้ว นั่นคือ ความร่วมมือร่วมใจกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าซึ่งน่าจะหมายถึงการหันมาพัฒนาและดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
