You are here: Home > Econ & Business, Hot Topic, Political Science > สาธารณรัฐยุโรป / The United States of Europe : The New Superpower and the End of American Supremacy

สาธารณรัฐยุโรป / The United States of Europe : The New Superpower and the End of American Supremacy

โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร 

สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นบนคาบสมุทรแอตแลนติกนั่นคือ การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป  ประเทศในยุโรป 25 ชาติได้รวมตัวกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนมีการค้า และความมั่งคั่งมากขึ้น อันจะทำให้พวกเขามีสามารถเป็นมหาอำนาจเคียงข้างสหรัฐฯ และมีสิทธิในการออกเสียงมากขึ้นในระดับนานาชาติด้วย  ตลาดร่วมที่สมาชิกได้มอบอำนาจอธิปไตยให้กับรัฐบาลนานาชาตินี้จะกลายเป็นดินแดนที่ไม่มีเขตแดนขวางกั้นทั้งทางด้านกฎหมาย การค้าและวัฒนธรรม  สมาชิกจะใช้ประธาน สภา รัฐธรรมนูญ ธนาคารกลาง และศาลร่วมกันโดยมีทหาร 60,000 นาย ข้าราชการ 20,000 คนและกฎระเบียบที่ร่างและต้องปฏิบัติร่วมกัน 80,000 หน้า

เงินยูโรได้กลายเป็นข้อคำแถลงทางการเมืองจากชาวยุโรปถึงประชาคมโลกในกระเป๋าของทุกคนว่า พวกเขาสามารถที่ทดแทนความขัดแย้งด้วยความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นในทวีปแล้วอย่างถาวร  สมาชิกสหภาพยุโรปต่างมีเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางการเมืองกันอย่างเด่นชัดหลายอย่าง เช่น ชาวยุโรปจะใช้มาตรฐานของบัตรประชาชน ใบเกิด ใบขับขี่ และพาสปอร์ตเดียวกัน  พวกเขาสามารถเล่นล็อตเตอรี่ร่วมกัน มีธงผืนเดียวกัน มีวันชาติร่วมกัน และมีคำขวัญเดียวกันนั่นคือ เอกภาพในความหลากหลาย  (Unity in Divertify)

The United States of Europe : The New Superpower and the End of American Supremacy ที่มีขนาด 350 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายนปี 2005 ของ T.R.Reid นักข่าวของสำนักพิมพ์ Washington Post  เล่มนี้จะบอกถึงวิธีการและเหตุผลที่ชาวยุโรปเสนอโครงการสหภาพยุโรปเข้าสู่ประชาคมโลก และมหาอำนาจใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงโลกเช่นใด

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ชาวยุโรปไม่ชอบชาวอเมริกัน พวกเขาถึงกับเอาสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของชาวอเมริกันมาล้อเลียนกันในทีวีเป็นประจำ เช่น เอาเครื่องมือจากการทำศัลยกรรมพลาสติก ยาไวอากร้า โปรแกรมลดน้ำหนักมาทิ้งในขยะ การที่ชาวยุโรปขาดความเคารพชาวอเมริกันจนถึงกับเย้ยหยันในบางครั้งเป็นผลมาจากการที่พวกเขาสามารถรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น และยืนหยัดต่อกรกับสหรัฐฯ ได้อย่างเท่าเทียมแล้วนั่นเอง ยิ่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะประธานาธิบดีจอร์จ บุชใช้นโยบายทุบตีต่างประเทศมากเท่าใด ชาวยุโรปยิ่งแหนงหน่ายจากสหรัฐฯ มากเท่านั้น

ถึงกระนั้นก็ตามสินค้าและวัฒนธรรมของอเมริกันก็สามารถที่จะแทรกซึมและหยัดยืนในสหภาพยุโรปได้อย่างองอาจ แม้แต่ในเบลเยี่ยมซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความขมขื่นจากสหรัฐฯ มากที่สุดประเทศหนึ่งก็มีร้านแม็คโดนัลล์มากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปเช่นกัน  การที่สินค้าสัญชาติอเมริกันมีขายมากมายในสหภาพยุโรปเป็นเพราะชาวยุโรปชื่นชอบมัน พวกเขายังชื่นชอบจิตวิญญาณของการสามารถทำได้ การมองโลกในแง่ดีและความเชื่อมั่นในตัวเองของชาวอเมริกันด้วย  ถึงกระนั้นก็ตามชาวยุโรปยังคงไม่ชอบนิสัยการทำธุรกิจของชาวอเมริกันที่เห็นแก่ตัว ให้ความสนใจแต่กับตัวเองและกำไร และปล้นชิงความอุดมสมบูรณ์ของโลก  ชาวอเมริกันไม่เห็นใจคนป่วยและคนจน ไม่ใส่ใจที่จะทำตามระเบียบนานาชาติ รวมทั้งชอบที่จะคุกคามศีลธรรม สิ่งแวดล้อมและร่างกายของคนทั่วไป  ชาวยุโรปมองว่าชาวอเมริกันคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่รู้อะไรเลยนอกรองเท้าตัวเอง ซ้ำยังมีขนาดสมองน้อยกว่าขนาดเข็มขัดด้วย  ชาวอเมริกันเพียง 20% เท่านั้นที่มีพาสปอร์ต และข่าวที่พวกเขาให้ความสนใจมีเพียงแค่น้ำท่วมกับภัยแล้งเพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองดี  ชาวอเมริกันมักคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น และคนอื่น ๆ ทั่วโลกต้องเรียนรู้จากพวกเขา  ทัศนคติของชาวยุโรปที่มีต่อชาวอเมริกันเลวร้ายมาตั้งแต่ยังไม่ก่อตั้งสหภาพยุโรปแล้ว

ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ 9/11 ชาวยุโรปก็ยินดีให้การสนับสนุนในการเข้าทำสงคราม ยกเว้นกรีซที่มีเสียงสนับสนุนเพียงแค่ 29% เท่านั้น  อย่างไรก็ดีเพียงแค่ปีเดียวหลังเหตุการณ์ 9/11 ทั้งรัฐมนตรี คอลัมนิสต์ อาจารย์ และชาวยุโรปทั่วไปต่างก่นด่าสหรัฐฯ ถึงความเห็นแก่ตัวและความบ้าสงครามกันถ้วนหน้า  ผลความสำรวจความชื่นชอบสหรัฐฯ ของชาวเยอรมันพบว่าในปี 2002 ชาวเยอรมันถึง 61% ชื่นชอบสหรัฐฯ แต่อีกเพียง 2 ปีความชื่นชอบลดลงเหลือเพียง 38% เท่านั้น  ชาวยุโรปถึง 55% รู้สึกว่าชาวอเมริกันเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลก  ชาวกรีซ สเปน สวีเดนและฟินแลนด์ยังรู้สึกว่าสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามยิ่งกว่าอิหร่านหรือเกาหลีเหนือเสียอีก  เมื่อชาวยุโรปรู้สึกว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้ปกป้อง ซ้ำยังเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุด  ชาวยุโรปจึงจำเป็นต้องรวมตัวกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พวกเขาไม่มีทางเลือกใดมากกว่าการเป็นมหาอำนาจเสียเอง

แรงบันดาลใจของการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่เกิดขึ้นจากขั้นตอนทีละเล็กละน้อยที่ขับเคลื่อนตามฝันของผู้นำแต่ละรุ่น ท่ามกลางความเสียหายอย่างย่อยยับจากสงครามสองครั้งบนผืนทวีปนี้  ชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งได้พยายามที่จะสร้างสันติภาพที่ถาวรให้เกิดขึ้นผ่านความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ  ความฝันของพวกเขาก็คือการสิ้นสุดสงครามพร้อม ๆ ไปกับความยากจนอย่างถาวร  ความคิดในการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปเริ่มขึ้นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อผู้นำชาติต่าง ๆ ในยุโรปมองย้อนไปถึงความน่าสะพึงกลัวของสงคราม 4 ปีที่ได้กลืนกินชีวิตเด็กหนุ่มชาวยุโรปไปทั้งทวีป  หนังสือที่บันทึกถึงสงครามของนายกรัฐมนตรี Winston Churchill แห่งอังกฤษได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดของการสร้างครอบครัวยุโรปที่จะทำให้เกิดสันติภาพ ความปลอดภัยและอิสรภาพขึ้นในทวีปแห่งนี้  เขาคิดว่าการรวมตัวกันจะทำให้ยุโรปมีลักษณะคล้ายกับสหรัฐฯ ที่เรียกว่า United State of Europe ชาวยุโรปจะร่วมกันสร้างกลุ่มของชาติที่พวกเขาสามารถที่จะแบ่งปันความรู้สึกของความเป็นชาติ และมีสัญชาติเดียวกัน ชาวฝรั่งเศสต้องลบล้างความเกลียดชังที่มีต่อชาวเยอรมันซึ่งบุกไปถึง La Belle ถึง 2 ครั้งในชั่วอายุเดียว

เสียงของ Churchill ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังครั้งแรกโดย Jean Monnet ผู้ได้รับสมญานามว่าบิดาแห่งยุโรปอดีตพนักงานขายบรั่นดีจากเมืองคอนยัคในประเทศฝรั่งเศส  เมื่อ Monnet ถูกส่งตัวไปประจำตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งยุโรป แทนที่เขาจะพยายามแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ เขากลับใช้การเจรจาจนทำให้บรั่นดีของเขาสามารถที่จะขายได้มากมายตามเมืองต่าง ๆ ไม่แพ้บรั่นดียี่ห้ออื่น   เมื่อ Monnet ย้ายไปทำงานด้านธนาคาร เขากลายเป็นผู้มีสัมพันธภาพที่ดีกับ Franklin D. Roosevelt, Winston Churchill, Konrad Adenauer, Charles de Gaulle  ผู้นำสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมันและฝรั่งเศส  ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง  Monnet ได้กล่าวสุนทรพจน์ในอังกฤษไว้ว่า เขตเศรษฐกิจเดียวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดบรรยากาศของความร่วมมือกันและหลีกเลี่ยงการสังหารหมู่ที่อาจเกิดขึ้นอีกบนทวีปแห่งนี้

การประชุมครั้งแรกของสภายุโรปได้ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเฮกในเดือนพฤษภาคม 1948 แนวคิดในการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากสหรัฐฯ ผ่านทาง Marshall Plan ซึ่งก็คือเงินสนับสนุนจำนวน 12 พันล้านดอลลาร์ในการฟื้นฟูยุโรปหลังสงคราม รวมทั้งร่วมก่อตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ( Organization for Economic Cooperation and Development (OECD)) เพื่อส่งเสริมให้คู่ต่อสู้ระหว่างสงครามได้ร่วมมือกันพัฒนาประเทศต่อไป  ในแผนนี้สหรัฐฯ ยืนกรานที่จะแบ่งเงินให้ทั้งกับผู้ชนะ ผู้แพ้และประเทศที่เป็นกลาง แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธที่จะให้ประเทศในยุโรปตะวันออกรับเงินช่วยเหลือจาก Marshall Plan  การที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินมากมายไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาต้องการให้ญี่ปุ่นและประเทศยุโรปตะวันตกเป็นป้อมปราการการเผยแพร่คอมมิวนิสต์เท่านั้น พวกเขายังรู้สึกเป็นหน้าที่ของประเทศร่ำรวยที่จะต้องรับผิดชอบต่อประเทศยากจนด้วย สหรัฐฯ ยังแสดงให้ชาวยุโรปเห็นถึงวิธีการในการร่วมมือกันทั้งทางด้านทหารและความมั่นคงผ่านการก่อตั้ง NATO ในปี 1949 ด้วย

ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการหลีกเลี่ยงสงครามเป็นแรงผลักดันที่รุนแรงที่สุดของแนวคิดของการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป  โครงการจึงต้องมีการเชื่อมโยงกันทั้งด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและเยอรมันซึ่งเป็นศัตรูกันทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดระหว่างสงครามสามครั้งหลังในภาคพื้นทวีป  Monnet เริ่มต้นด้วยการวางแผนให้เกิดการรวมตัวกันในด้านอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กของฝรั่งเศสและเยอรมันเพื่อให้ทั้งสองสามารถที่จะควบคุมกันและกันได้  ฝรั่งเศสสามารถที่จะขายถ่านหินและเยอรมันสามารถที่จะผลิตเหล็กกล้าได้ และทั้งสองจะได้รับรู้ว่าต่างไม่ได้นำวัตถุดิบไปผลิตอาวุธสงคราม  มันจึงเป็นแผนของกำไรและสันติภาพในเวลาเดียวกัน

Robert Schuman รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสเห็นว่าแผนของ Monnet ไม่เพียงจะแก้ปัญหาการผลิตเหล็กกล้าของเยอรมันเท่านั้น มันน่าจะเป็นหนทางของความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของยุโรปและนำไปสู่ฝันของ L’Europe ในเวลาต่อมาได้ด้วย  Schuman จึงเรียกประชุมสื่อในวันที่ 10 พฤษภาคมเพื่อเสนอแนวคิดของ Monnet นี้จนเป็นที่มาของวันชาติยุโรปจวบจนปัจจุบัน  Schuman ยังเสนอแนวคิดของสมาพันธรัฐยุโรป (European Federation) ที่จะมีระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเมืองร่วมกัน แผนงานนี้คงไม่สำเร็จในชั่วข้ามคืน แต่จะเกิดขึ้นจากการต่อเติมทีละเล็กละน้อยผ่านสนธิสัญญาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ ปี

หลังจากนั้นหลายประเทศที่ผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้สนธิสัญญาโรม  ในปี 1957 ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community) ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้น 6 ประเทศอันได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ขึ้นก็ถือกำเนิดขึ้นโดยคณะกรรมการใหญ่มีผู้นำคือ Jean Monnet นั่นเอง ประชาคมถ่านหินและเหล็กแห่งยุโรป ( European Coal and Steel Community) หรือที่เรียกว่า ตลาดร่วม ( Common Market)  นี้ได้กำจัดภาษีศุลกากรออกไป แต่ได้สร้างกฎระเบียบทางการค้าใหม่ รวมทั้งแผนที่จะทำให้เกิดการผสมผสานทางการขนส่ง การเกษตรและภาษีแทน  พวกเขาต้องการให้การรวมตัวกันนี้หนาแน่นพอที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ อันจะขวางกั้นมิให้เกิดสหภาพยุโรปได้

เหตุผลที่ทำให้การรวมตัวกันด้านเศรษฐกิจของยุโรปเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเป็นเพราะ 1. การรวมตัวกันทางการเมืองเกิดขึ้นได้ยากกว่า ทั้งนี้เพราะไม่มีประเทศไหนทราบว่า พวกเขาต้องสูญเสียอธิปไตยไปมากเท่าใด 2. ผู้นำในอุตสาหกรรมเห็นว่าการรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวของทวีปเปิดโอกาสให้กับการขยายตัวของธุรกิจ หากเยอรมัน ฝรั่งเศส หรือแม้แต่สหราชอาณาจักรต้องการกลับมามีอำนาจทางเศรษฐกิจ พวกเขาย่อมต้องทำงานร่วมกันมากว่าจะแย่งกันใหญ่  ตลาดร่วมที่เกิดขึ้นในปี 1957 นี้ได้ยกเลิกภาษีระหว่างประเทศเสีย รวมทั้งออกกฎหมายร่วมกันในเรื่องภาษี ค่าแรง ชั่วโมงทำงานและความปลอดภัยในที่ทำงาน  นอกจากนี้ตลาดร่วมยังได้ออกกฎหมายให้ความช่วยเหลือทางการเกษตรด้วยการประกันราคาสินค้าและรายได้ของชาวนาจากเงินภาษีที่เก็บได้จากภาคอุตสาหกรรม ในช่วงแรก Charles de Gaulle ประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งเห็นการรวมตัวกันของยุโรปเป็นหนทางของการขยายความต้องการและอำนาจของฝรั่งเศสจึงปิดกั้นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของประเทศอื่น เช่น นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และไอร์แลนด์  นอร์เวย์ซึ่งเพิ่งค้นพบบ่อน้ำมันในทะเลเหนืออันเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่งคั่งจึงตัดสินใจไม่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกเลย  แต่ในปี 1963 สหราชอาณาจักรและเดนมาร์กก็ได้กลายเป็นสมาชิกใหม่ของตลาดร่วม ตามมาด้วยกรีซ สเปนและโปรตุเกสโดยออสเตรีย ฟินแลนด์และสวีเดนเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 1995

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ชาวยุโรปก็เกิดแรงจูงใจใหม่ที่จะควบรวมเอาประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายเข้ามาเป็นสมาชิกโดยเริ่มจากมหาสมุทรอาร์ติกจรด Azores จากอ่าว Galway สู่ bank of Volga  การรวมตัวกันไม่เพียงเป็นไปในทางกว้างเท่านั้น พวกเขายังต้องการรวมตัวกันในทางลึกให้แนบแน่นขึ้นด้วย  ต้นทศวรรษที่ 1990 พวกเขาก็ยินดีที่จะเพิ่มสัมพันธภาพให้ลึกซึ้งขึ้นด้วยการตกลงใช้เงินสกุลเดียว ธนาคารกลางแห่งเดียว การเดินทางที่ไม่มีเขตแดน และระเบียบในเรื่องอาหารและสุขภาพที่เป็นเอกภาพ  ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ต้องยอมรับเงื่อนไขทุก ๆ ข้อรวม 8 หมื่นหน้า เช่น  1. ค้ำประกันว่ารัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง 2. ประชาชนมีอิสรภาพอย่างเต็มที่ 3. ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี พวกเขายังต้องยอมรับในเรื่องสวัสดิการสังคม กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และการปกป้องสิทธิของอาชญากรด้วย

ปัญหาของการรวมตัวกันทางการเมืองก็คือ รัฐบาลต้องสูญเสียอำนาจไปให้กับส่วนกลางมากเท่าใด และพวกเขาเหลืออำนาจอะไรบ้าง ทำอย่างไรที่ความต้องการของประเทศเล็ก ๆ จะยังได้รับการปกป้องในสภายุโรป เรื่องใดที่ควรได้รับการตัดสินใจโดยกลุ่มเทคโนแครก เรื่องใดควรใช้การโหวตโดยประชาชน  จริงอยู่แม้ทางเดินของพวกเขายังคงยาวไกล แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็ยังคงดีกว่าการตกลงกันในสนามรบที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนและได้กลืนกินชีวิตหนุ่มชาวยุโรปไปนับล้านคนอย่างแน่นอน

ปัจจุบัน บรัสเซลล์เมืองหลวงของเบลเยี่ยมซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรปได้กลายเป็นสถานที่ที่มีอำนาจควบคุมด้านธุรกิจ การเงินและการค้าที่ใหญ่ที่สุดไม่เพียงในยุโรป แต่ในโลกไปเสียแล้ว  พวกเขาจะมีสำนักงานที่ออกระเบียบซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องสิทธิบัตร กฎหมายธนาคาร ระเบียบการประกาศล้มละลาย การป้องกันผู้บริโภค การควบรวมกิจการ การต่อต้านการผูกขาดและความปลอดภัยด้านอาหาร รวมทั้งระเบียบหยุมหยิมมากมายตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ความดังของเครื่องตัดหญ้า การติดตั้งกล้องวงจรปิด ขนาดของเส้นรอบวงของแตงกวา ความยาวของกล้วยที่สั้นที่สุดที่สามารถขายในตลาดได้ จนเกือบจะกำหนดขนาดของถุงยางอนามัยได้ก่อนที่อิตาลีจะต่อต้านในที่สุด  สำนักงานเหล่านี้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจสูงที่สุดในโลกธุรกิจ  ปัจจุบัน กฎระเบียบต่าง ๆ ที่หลั่งไหลออกมาจากบรัสเซลล์นี้ได้ทำให้บริษัทสัญชาติยุโรปกลายเป็นผู้นำโลกในทุก ๆ ด้าน

วันที่ 1 มกราคม 2002 ซึ่งชาวยุโรปเรียกว่า E-day นั้นเป็นวันที่มีความสำคัญกับพวกเขามาก ทั้งนี้เพราะออสเตรีย เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปนต่างยอมรับเงินสกุลเดียวที่เรียกว่าเงินยูโรแทนสกุลเงินที่แตกต่างของแต่ละประเทศ หลายคนยกย่องให้เหตุการณ์ในวันนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว คืนนั้นคนทั่วทั้งยุโรปต่างไปต่อแถวกันที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อกดเงินยูโร  มันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า United States of Europe ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วจริง ๆ และไม่มีใครหยุดยั้งมันได้ด้วย  มันเป็นการแปลงสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และมันสามารถที่จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและตรงเวลา พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

เยอรมันเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้เงินมาร์กอย่างเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2002  และภายในวันที่ 5 มกราคม 95% ของธุรกรรมทั่วทั้งยุโรปไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านค้า สัญญาต่างก็ใช้เงินยูโรกันถ้วนหน้า เงินยูโรกลายเป็นความท้าทายของดอลลาร์ตั้งแต่วันแรกที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นเห็นได้จากการที่มันมีจำนวนคนใช้มากกว่าเงินดอลลาร์ตั้งแต่วันแรก ทั้งนี้เพราะมันรวมเอาฝรั่งเศสและเยอรมันสองประเทศจากห้าประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกไว้ด้วยกัน  มันยังกลายเป็นสกุลเงินที่สำคัญอันดับสองตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิดขึ้น  เงินยูโรถูกออกแบบมาให้ท้าทายเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินสำรองที่ใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่แรก มันเป็นเครื่องยืนยันถึงความปรารถนาของชาวยุโรปที่จะสร้างระบบเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองแทนที่จะยอมรับกรอบของชาวอเมริกัน

เงินยูโรจะเป็นเครื่องมือที่ชาวยุโรปใช้ต่อสู้กับสหรัฐฯ ได้  แนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1949 จาก Jacques Rueff นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่เห็นว่ายุโรปจะสามารถรวมตัวกันได้ผ่านทางการเงินเท่านั้น ไม่มีทางอื่นเลย มันเป็นหนทางเดียวที่แต่ละประเทศจะยอมจำนนต่อสัญลักษณ์ที่ตัวเองเคารพบูชามานับศตวรรษ มันเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวที่แนบแน่น กรีซเป็นประเทศหนึ่งที่ยินดีจะใช้เงินยูโรอย่างเต็มที่เพราะตุรกีคู่แข่งของพวกเขาไม่สามารถทำได้ โปรตุเกสและลักเซมเบอร์กซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ยิ่งยินดีที่จะใช้เงินยูโรเพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการมีตัวตนในสังคมโลก

เมื่อเงินเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง การเกิดเงินสกุลเดียวจึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย  การใช้เงินหลายสกุลบนภาคพื้นทวีปก่อให้เกิดต้นทุนมากมาย  ก่อนการใช้เงินสกุลเดียว นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงครั้งละ 15 ดอลลาร์ต่อการแลกเปลี่ยนเมื่อข้ามพรมแดน  การยุติการใช้อัตราแลกเปลี่ยนประหยัดได้ถึงปีละหมื่นล้านดอลลาร์หรือเท่ากับ 0.4% ของ GDP ทั่วทั้งทวีปเลยทีเดียว  การใช้เงินสกุลเดียวยังทำให้ธุรกรรมทางการค้าโปร่งใสมากขึ้นด้วย

กำหนดการของการเริ่มใช้เงินยูโรเกิดขึ้นเมื่อ 1992 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะ 1 ในปี 1994 เริ่ม European Monetary Institute และออกแบบเงินใหม่ รวมทั้งกำหนดว่าประเทศใดบ้างที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เงินสกุลนี้บ้าง ระยะ 2 เริ่มวันที่ 1 มกราคม 1999 เป็นวันถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ แต่ใช้เฉพาะการทำธุรกรรมเท่านั้น ระยะ 3 เริ่มใช้ทั้งธนบัตรและเหรียญ

เพื่อปรับให้ระดับเศรษฐกิจของสมาชิกใกล้เคียงกัน สนธิสัญญา Maastricht จึงมีข้อกำหนดเพื่อมิให้แต่ละประเทศมีหนี้สินมากเกินไปอันจะทำให้ค่าเงินอ่อน  สหภาพยุโรปยังกำหนดกฎเกณฑ์ให้สมาชิกแต่ละประเทศรับผิดชอบทางการคลังภายใต้ Stability and Growth Path (SGP) นั่นคือ งบประมาณขาดดุลได้ไม่เกิน 3% ของ GDP  ธนาคารกลางยุโรปที่จะทำหน้าที่กำหนดปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยจะมีต้นแบบมาจากธนาคารกลางเยอรมันซึ่งเป็นธนาคารกลางที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ชื่อของเงินสกุลใหม่ได้รับการตกลงให้ใช้คำว่า ยูโร Euro โดยนำมาจากอักษรสี่ตัวของทวีป 4 ทวีปและกำหนดให้เป็นเพศชายโดยมี Jean-Pierre Malivoir ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์  เขาทราบดีว่างานออกแบบสัญลักษณ์นี้มีต้นทุนสูงโดยอาจสูงถึงล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากเขาเป็นคนค่อนข้างมัธยัสถ์ แทนที่เขาจะจ้างนักออกแบบ เขาจึงเลือกที่ออกแบบเองโดยเลือกอักษรกรีกตัว epsilon แล้วใส่ขีดคู่ขนานเลียนแบบเงินดอลลาร์และเงินเยน  ส่วนการออกแบบธนบัตรนั้นก็มีหลักการว่าต้องไม่ใช่ตึก หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งเนื่องจากเงินสกุลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อความกลมเกลียวและลบประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อย่างเหี้ยมโหดและยาวนานของสมาชิก   Robert Kalina จากธนาคารกลางออสเตรียซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบธนบัตรจึงต้องการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกถึงมรดกที่เป็นของชาวยุโรปร่วมกัน เขาใช้เวลากว่าปีจึงเลือกสี 7 สีสำหรับธนบัตรตามแต่สถาปัตยกรรมของแต่ละช่วงเวลา เช่น 5 ยูโรเป็นยุคคลาสิกมีสีเทา 10 ยูโรเป็นยุคโรมันเนสท์สีชมพู เขาเลือกใช้ประตูและหน้าต่างของแต่ละยุคบนธนบัตรด้านหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้าง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปสะพานเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์  ส่วนเหรียญนั้นสมาชิกตกลงให้แต่ละประเทศออกแบบกันเองเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถที่จะนำเอาอุดมการณ์หรือสัญลักษณ์มาใช้ได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงกันในแต่ละประเทศ ด้วยว่าพวกเขาควรนำสัญลักษณ์อะไรไปไว้บนเหรียญ เช่น ไอร์แลนด์ใช้รูปพิณเซลติก เยอรมันใช้รูปประตู Brandenburg ดัชท์ใช้รูปพระราชินี Beatrix เบลเยี่ยมใช้รูปพระเจ้า Albert ฝรั่งเศสใช้รูป Marianne ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนเยาว์และความเป็นหญิง อิตาลีใช้รูป Vitruvian Man ของลีโอนาร์โด ดาร์วินชี่ ออสเตรียใช้รูป Mozart กรีซใช้รูป Europe

ในวัน E-day เงินสดจำนวน 600 พันล้านยูโรได้ถูกแจกจ่ายไปยังที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ธนาคาร ร้านค้า ตู้เอทีเอ็มทั่วทั้งยุโรป มันเป็นการขนย้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง เงินเหรียญจำนวน 51 พันล้านยูโรและธนบัตรอีกจำนวน 14.5 ล้านยูโรที่ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่ซึ่งเรียงกันได้เท่ากับ 55 เท่าของความสูงของเอเวอร์เรสต์นี้จะต้องถูกส่งไปยังที่ต่าง ๆ ตามกำหนดภายในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2001   นอกจากเงินแล้วป้ายราคาทั่วทั้งยุโรปยังต้องถูกติดใหม่หมด  เครื่องเก็บเงินก็ต้องติดตั้งโปรแกรมใหม่ด้วย ร้านค้าทุกแห่งต้องเปลี่ยนห้องเก็บของเป็นที่เก็บเงินสกุลใหม่เพื่อให้สามารถใช้ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2002  ธนาคารกลางยุโรปได้ใช้เงินมากถึง 70 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเงินสกุลใหม่นี้ผ่านทางโฆษณาต่าง ๆ ในเกือบทุกกิจกรรม  ข้าราชการทั่วทั้งยุโรปได้รับเงินเดือนเป็นเงินยูโรก่อนเป็นเดือน ๆ ในคืนนั้นคนทั่วทั้งยุโรปต่างออกมาต่อคิวเพื่อถอนเงินและถ่ายรูปขณะที่พวกเขารับเงินสกุลใหม่จากตู้  ATM  เงินสกุลเก่าแทบทุกประเทศหายไปจากตลาดหมดภายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น

หลังจากใช้เงินสกุลยูโร คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าร้านค้าเริ่มขายสินค้าราคาแพงขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วความแตกต่างของราคาสินค้าได้ถูกกำจัดให้หมดไปจากความโปร่งใสทางด้านราคาที่ต้องมีมากขึ้น  โมนาโค มอนเตเนโกร ลิกเทนสไตน์และแอนดอราก็ร่วมเข้าใช้เงินสกุลนี้ด้วย แม้แต่สวิสที่ยังคงใช้เงินฟรังส์สวิสก็ยังยอมรับเงินยูโรตามร้านค้าต่าง ๆ  ถึงกระนั้นก็ตามสมาชิกหลายประเทศยังไม่ยอมเข้าร่วมใช้เงินยูโรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียเนื่องจากประชาชนเกรงว่าข้อกำหนดในสนธิสัญญา Maastricht จะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐสวัสดิการที่ดีของพวกเขา  สำหรับชาวยุโรปแล้ว ความฝันที่จะได้มีเงินตราไว้เป็นอาวุธต่อสู้กับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นจริงแล้ว  ในที่สุด เงินยูโรได้กลายเป็นความท้าทายของเงินดอลลาร์ได้ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีจากการที่มันมีค่าแข็งขึ้นถึง 60% และในปีที่สามมันกลายเป็นเงินที่มีค่าแข็งที่สุดในโลกแทนที่เงินดอลลาร์ด้วย   เงินยูโรซึ่งเป็นความท้าทายของดอลลาร์อย่างแท้จริงนี้ได้ทำให้เกิดเศรษฐกิจสองขั้วแทนที่จะเป็นขั้วเดียวเช่นที่ผ่านมา   ชาวยุโรปมีความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ที่จะสร้างรัฐเหนือรัฐของตนเอง (Supranational State) และชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ลิ้มลองอำนาจรัฐเหนือรัฐของยุโรปก็คือ Jack Welch แห่งจีอี

แจ็ค เวลส์ประธานบริษัทจีอีซึ่งวางแผนจะเกษียณในฤดูใบไม้ผลิปี 2000 ได้ตัดสินใจเข้าซื้อบริษัท Honeywell ด้วยเงิน 45 พันล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการที่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 118 ปีของการก่อตั้งจีอี  แต่ก่อนการควบรวมสำเร็จเรื่องจะต้องผ่านมาถึง Directorate-General for Competition แผนกต่อต้านการผูกขาดในบรัสเซลล์ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายป้องกันการผูกขาดเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสรี เวลส์ซึ่งเป็นประธานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของบริษัทเชื่อมั่นว่าการควบรวมจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะเขาสามารถที่จะควบรวม 900 บริษัทมาแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายทีวี บริษัทผลิตพลาสติก เซรามิค บริษัทตัวแทนประกัน บริษัทประกันสุขภาพสุนัขโดยใช้กลยุทธ์ในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วก่อนที่คู่แข่งหรือผู้ถูกซื้อจะรู้ตัว  ก่อนสิ้นทศวรรษที่ 1990 เขาซื้อบริษัทถึงสัปดาห์ละ 300 ล้านดอลลาร์หรือปีละ 15 พันล้านดอลลาร์  ยิ่งกว่านั้นการควบรวมนี้ก็ได้รับการเห็นชอบจากสภาสหรัฐฯ แล้วอย่างง่ายดาย

ถึงกระนั้นก็ตาม เวลส์ก็ต้องมาอธิบายแผนของเขากับ Mario Monti อดีตอาจารย์ผู้สอนวิชาทฤษฎีทางการเงินแห่งมหาวิทยาลัย Bocconi ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ Directorate-General for Competition  Monti ผู้มีความเชื่อว่ากฎระเบียบที่ถูกกำหนดโดยยุโรปจะต้องเป็นระเบียบของโลกมีหน้าที่กำกับการควบรวมกิจการ การตั้งราคา และการปฏิบัติทางธุรกิจของทุกอุตสาหกรรมในยุโรป  เขาจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก  เมื่อใดที่ Monti สงสัยว่าบริษัทจะตั้งราคาสินค้าสูงผิดปกติ เขาสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นและยึดเอกสารได้โดยทันที เขาเคยสั่งปรับบริษัท DaimlerChrysler ถึง 70 ล้านยูโรในข้อหาตั้งราคารถรุ่นเดียวกันแตกต่างกันในแต่ละประเทศมาแล้วด้วย

เมื่อเวลส์ได้พบกับ Monti เขาก็พบว่าทีมงานยุโรปของ Monti รู้เรื่องเกี่ยวกับบริษัทที่เขาจะซื้อมากกว่าเขาเองเสียอีก  แม้เวลส์จะสามารถชักจูงให้กรรมการต่อต้านการผูกขาดที่สหรัฐฯ เชื่อว่าเขาจะขายสายผลิตภัณฑ์บางอย่างไป เช่น สายการผลิตเครื่องเฮลิคอปเตอร์เพื่อเพิ่มการแข่งขัน แต่ Monti กลับไม่สนใจเรื่องการขายแผนกบางแผนก  Monti สนใจถึงความใหญ่โตของบริษัทที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมอันจะทำให้เกิดการขับคู่แข่งออกจากตลาดจนสามารถขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจมากกว่า  การควบรวมกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ทั้งสองมีความสำคัญในตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับสายผลิตภัณฑ์ใด ๆ  หากจีอีออกแบบเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ของ Honeywell นั่นหมายความว่า ลูกค้าไม่สามารถหันไปหาผู้ผลิตอื่นได้อีกแล้วอันจะเป็นอันตรายต่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและลูกค้าสัญชาติยุโรปอย่างยิ่ง  เวลส์ไม่สามารถหาข้อแก้ตัวสำหรับความวิตกนี้ได้หรือเพราะมันคือเหตุผลของการควบรวมนั่นเอง  ตลอดเวลาหลายเดือนเวลส์พยายามที่จะเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ที่เขาสัญญาว่าจะขายทิ้งเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้

แม้ Monti จะประกาศว่า เขาไม่อนุมัติให้เกิดการควบรวมอย่างแน่นอน  เวลส์ก็ยังไม่ยอมแพ้ เขาพยายามให้จอร์จ บุชประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วยด้วยการแถลงข้อกังวลในเรื่องการควบรวมนี้กับสาธารณชน แทนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะให้ความยำเกรงบุช พวกเขากลับออกเสียงไม่ยอมให้เกิดการควบรวม 20-0 เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่ายุโรปไม่ใช่ลูกไล่ของสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ไม่มีอำนาจจะมาสอนสั่งวิธีการในการกำกับดูแลบริษัทสัญชาติอเมริกันกับชาวยุโรปด้วย  วุฒิสภาสหรัฐฯ ถึงกับประกาศให้เวลส์สามารถที่จะควบรวมกิจการได้เป็นการตอบโต้  แต่ในที่สุดเวลส์ก็ต้องยอมจำนนว่า การควบรวมสิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องทำธุรกิจกับยุโรปซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่น  จีอีจำเป็นต้องทำตามระเบียบของยุโรป  หลังการล่มสลายของการควบรวม  หุ้นของจีอีตกจาก 60 ดอลลาร์เหลือเพียง 33 ดอลลาร์ และยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่บริษัทต้องจ่าย นั่นคือ ค่าทนาย 50 ล้านดอลลาร์ และอีก 25 ล้านดอลลาร์ให้กับธนาคาร Chase Manhattan  ความล้มเหลวนี้ยังได้สร้างมลทินมากมายให้กับเวลส์ด้วย การควบรวม GE-Honeywell ได้กลายเป็นตำนานของความแตกต่างระหว่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปมาจนถึงทุกวันนี้

แม้การควบรวมของเวลส์จะล้มเหลว แต่การควบรวมกิจการของฝั่งยุโรปกลับประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยไม่เป็นข่าวมากนัก  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสินค้าที่พวกเขาบริโภคล้วนเป็นสินค้าที่มีบริษัทแม่เป็นชาวยุโรปหรือมีสัญชาติยุโรปไปแล้ว  ชาวยุโรปได้สร้างอาณาจักรของบริษัทและธนาคารที่ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งแต่ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถจะซื้อบริษัท อุตสาหกรรมและร้านค้าปลีกได้ทั่วโลกด้วย  ปัจจุบันชาวอเมริกันมากมายกำลังออกแบบ สร้าง โฆษณาและขายสินค้าให้กับบริษัทสัญชาติยุโรป เช่น New York Post, Los Angeles Dodgers อยู่ในเครือ News Corp ของอังกฤษ Dove Soap, Vaseline, Bird’s Eye frozen food อยู่ในเครือ Unilever ของเนเธอร์แลนด์

การที่บริษัทสัญชาติยุโรปเข้าไปซื้อกิจการในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าเศรษฐกิจของสองทวีปมักไม่เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันจึงเท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยง  นอกจากนี้การที่การแข่งขันในสหรัฐฯ มักเป็นไปอย่างร้อนแรง บริษัทสัญชาติยุโรปจึงสามารถเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจจากการกิจการที่ซื้อด้วยซึ่งจะทำให้ชาวยุโรปสามารถที่จะทำธุรกิจได้ทั่วโลกอีกต่างหาก พวกเขายังสามารถที่จะลดต้นทุนผ่านการลดแรงงานและปิดสาขาในสหรัฐฯ แทนที่จะลดแรงงานหรือปิดสาขาในทวีปยุโรปเพื่อเพิ่มกำไรได้ด้วย  ยิ่งชาวอเมริกันบริโภคสินค้านำเข้ามากกว่าส่งออกเท่าใด พวกเขายิ่งต้องการการลงทุนโดยตรงจากชาวยุโรปเพื่อลดการขาดดุลมากเท่านั้น

การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปทำให้การแข่งขัน และบริการในสหภาพยุโรปดีขึ้นมากจนเหนือกว่าสหรัฐฯ แล้ว  ปัจจุบันเทคโนโลยีหลายอย่างฟากยุโรปเหนือกว่าสหรัฐฯ มาก  การรวมตัวกันของสหภาพยุโรปได้กลายเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดการรวมตัวกันของบริษัทต่าง ๆ ในยุโรปจนทำให้พวกเขามีตลาดที่ใหญ่และมั่งคั่งกว่าสหรัฐฯ มาก  นอกจากนี้การกำกับดูแลที่เข้มงวดจาก DG comp ตั้งแต่ขนาดของสินค้า วัสดุหีบห่อ และมาตรฐานต่าง ๆ ยิ่งทำให้สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหนึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานของทั้งทวีปตามไปด้วย  แนวคิดเรื่อง มาตรฐานยุโรป (Europeanization) ได้ทำให้เกิดการพัฒนาโทรศัพท์มือถือระบบเดียวขึ้นในยุโรปที่เรียกว่า Group Special Mobile หรือ GSM และกลายเป็น Global System for Mobiles ในเวลาต่อมาด้วย

เป็นที่ทราบกันดีแล้วชาวยุโรปได้รับรัฐสวัสดิการจากเปลนอนถึงเชิงตะกอนที่มีค่าใช้จ่ายมหาศาลโดยถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องความผันผวนในชีวิตชาวยุโรปทุกคน  ความสามารถในการเข้าถึงผลประโยชน์มากมายเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวยุโรป และการจ่ายภาษีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการนี้ก็เป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของพวกเขาเช่นกัน  ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมของชาวยุโรปทุกคนเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของที่ใดที่หนึ่ง   ความรับผิดชอบที่พวกเขาช่วยกันจ่ายเงินนี้สะท้อนอยู่ในโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนโครงการรัฐสวัสดิการที่แสนแพง ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่ทุกคนถูกบังคับจ่ายสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่คนยากจนก็ต้องเสียภาษีเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่จึงมีภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ 16-25% โดยเยอรมันเป็นประเทศที่มีภาษีมูลค่าต่ำสุด และฮังการี เดนมาร์กและสวีเดนเป็นประเทศที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุด

รัฐสวัสดิการนี้ทำให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร คนขับรถ และคนเติมน้ำมันใช้แพทย์และโรงพยาบาลเดียวกัน รวมทั้งส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเดียวกันด้วย  ความช่วยเหลือจะเห็นได้อย่างเด่นชัดเมื่อคนตกงาน อังกฤษจะให้ผลประโยชน์ทางด้านที่อยู่อาศัย ไฟฟ้าและความร้อน อาหาร การดูแลเด็ก และเงินเดือน  คำว่ารัฐสวัสดิการนี้ทำให้ชาวยุโรปรู้สึกถึงกลไกความช่วยเหลือทางสังคมที่สัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น มันเป็นความภาคภูมิใจ เป็นคุณค่าและเป็นรากฐานของความเป็นยุโรป  รัฐสวัสดิการของพวกเขานี่เองที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ในโลก

สังคมยุคใหม่ถูกกำหนดด้วย 3 สิ่งนั่นคือ ความเป็นประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและเอกลักษณ์ของสังคม  เอกลักษณ์ทางสังคมหรือทัศนคติของสังคมที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี่เองที่ทำให้ชาวยุโรปรู้สึกว่าพวกเขาแตกต่างจากชาวเอเซียและอเมริกัน

สำนักข่าวบีบีซีได้รับเงินสนับสนุนจากทุกบ้านปีละ 170 ดอลลาร์ พวกเขาจึงสามารถที่จะมีรายการทีวีและวิทยุได้ถึง 5 สถานี ในขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมันและอิตาลีต่างมีสถานีของรัฐที่ได้รับความนิยมอย่างสูงโดยได้เงินสนับสนุนจากภาษีเช่นกัน  บริการของรัฐเกือบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และบ้าน ล้วนได้รับความนิยมอย่างดียิ่งทั้งนั้น  จริงอยู่บรัสเซลล์จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต้น แต่ทุกประเทศต่างกำหนดมาตรฐานของตัวเอง

รัฐสวัสดิการของชาวยุโรปจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่สามารถที่จะหยุดงานไปเลี้ยงดูลูกได้ ชาวยุโรปเชื่อว่าการเลี้ยงลูกเป็นงานหนักและมันเป็นการตระเตรียมคุณค่าให้กับทั้งสังคม สังคมจึงจำเป็นต้องจ่ายเพื่องานบริการอันทรงคุณค่าของสังคมนี้  รัฐบาลนอร์เวย์จ่ายเงินให้แม่ไปเลี้ยงลูกเท่ากับ 80% ของรายได้เป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งค่าเสื้อผ้า และค่าเดินทาง  ส่วนพ่อซึ่งลางานเพื่อเลี้ยงลูกในปีที่สองจะได้เงินชดเชยเพียงแค่ 1 ใน 3 ของเงินเดือนเท่านั้น  บริษัทยังต้องรับพ่อและแม่กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมด้วย หลังครบสองขวบเด็กจะถูกส่งเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็กที่เป็นรัฐสวัสดิการอีกเช่นกัน  นอกจากนี้รัฐบาลยังจ่ายเงินให้เด็กเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกจนถึงอายุ 18 เดือนโดยให้ค่ารักษาพยาบาลฟรีอีกต่างหาก  ในขณะที่สหรัฐฯ จะจ่ายเงินชดเชยเพียงเล็กน้อยให้กับแม่ลูกอ่อนที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อนเท่านั้น

ส่วนเงินเดือนและสวัสดิการของชาวยุโรปก็ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดแต่เพียงอย่างเดียว มันถูกกำหนดร่วมกันระหว่างรัฐบาลและสหภาพแรงงาน  ในปี 2003 ชาวอเมริกันทำงานปีละ 1,976 ชั่วโมง ในขณะที่ชาวเยอรมันและชาวฝรั่งเศสทำงานน้อยกว่าปีละ 400 ชั่วโมง  นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าชั่วโมงทำงานที่น้อยกว่าของชาวยุโรปทำให้ GDP ของพวกเขาต่ำกว่าชาวอเมริกันก็จริง  แต่การคำนวณรายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ นั้นได้บวกกุญแจมือ ลูกกรง คุก และตำรวจไว้ด้วย  ของเหล่านี้ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของชาวอเมริกันเลย  นอกจากนี้กฎหมายของสหภาพยุโรปยังให้ความคุ้มครองแรงงานไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปหรือไม่ก็ตามให้ได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกันกับที่คนในชาติได้รับด้วย

ความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ชาวยุโรปนิยมพูดถึงด้วยความภาคภูมิใจและเป็นสิ่งที่ใครก็แตะต้องไม่ได้ แม้แต่โทนี่ แบลร์ก็ยังประกาศว่าบริการสาธารณสุขอังกฤษเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติที่ฉายอยู่บนมงกุฎของอังกฤษและรัฐบาลพรรคแรงงานของเขา แต่ชาวอเมริกันกว่า 47 ล้านคนกลับไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลเลย

รัฐสวัสดิการยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ชาวอเมริกันเห็นว่าเป็นความผิดด้วย  ชาวยุโรปเชื่อว่าความเข้มแข็งของรัฐมิได้เกิดขึ้นจากลงโทษประชาชน แต่เกิดจากความเมตตา  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ทุกข์ยากเผชิญชะตากรรมของตัวเองอย่างเดียวดาย เช่น ผู้ติดยาเสพติด  ชาวยุโรปเชื่อว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นคนป่วย พวกเขาจึงต้องถูกส่งไปรักษาแทนที่จะไปติดคุกเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ทำ  ชาวยุโรปเชื่อว่าหากผู้เสพถูกส่งเข้าคุก พวกเขาย่อมไม่สามารถเลิกได้ และเท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้ทำให้ผู้ประสบปัญหาตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ลงไปอีก  นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดของยุโรปทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย และประหยัดงบประมาณไปในตัวด้วย ทั้งนี้เพราะการรักษาผู้เสพติดประหยัดกว่าการดูแลพวกเขาในคุก  แม้ว่าค่าใช้จ่ายรัฐสวัสดิการจากเปลนอนถึงเชิงตะกอนจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากก็ตาม แต่มันคือกุญแจสำคัญที่สุดที่บ่งบอกถึงความหมายของการเป็นชาวยุโรป

ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังบ่นว่าชาวยุโรปเอาเปรียบพวกเขาใน NATO ทั้งนี้เพราะกว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ชาวยุโรปอาศัยอาวุธและกำลังทหารชาวอเมริกันเป็นผู้ปกป้องทวีปซึ่งทำให้พวกเขาสามารถที่จะประหยัดงบประมาณไว้เพื่อรัฐสวัสดิการได้มากมาย  การที่รัฐบาลยุโรปเห็นความสำคัญของการลางานของแม่ลูกอ่อนเหนือการทหารกลายเป็นอำนาจที่ทรงพลังในการดึงเอาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน และแยกพวกเขาออกจากสหรัฐฯ  แท้ที่จริงแล้วยุโรปใช้งบประมาณทางการทหารมากถึง 2% ของ GDP และมีกำลังทหารมากถึง 2 ล้านนาย และมากกว่าสหรัฐฯ ซึ่งมี 1.6 ล้านนายด้วยซ้ำ แต่ทหารของสหรัฐฯ และยุโรปถูกกำหนดให้มีภารกิจต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ทหารอเมริกันถูกส่งให้ไปแสดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯ ที่ใดก็ได้ในโลก ขณะที่ทหารชาวยุโรปมักถูกเรียกตัวไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทอนาโด และควบคุมการจลาจล หรือความรุนแรงระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะทหารยุโรปไม่มีใครมาทำงานเพื่อที่จะตายเพื่อยุโรป  ถึงกระนั้นก็ตามทหารยุโรปก็เสียชีวิตไปแล้วมากมายแล้วในความพยายามรักษาสันติภาพตามที่ต่าง ๆ ในโลก หลังจากที่ทหารอเมริกันละไปแล้ว ทหารยุโรปยินดีจะตายเพื่อยุโรปในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายตามอุดมการณ์แบบชาวยุโรปเท่านั้น

อำนาจทางการทหารแบบสหรัฐฯ ดูเป็นเรื่องล้าหลังสำหรับชาวยุโรป เพราะพวกเขาได้กำจัดภัยคุกคามของสงครามออกไปจากทวีปเรียบร้อยแล้ว  การแบ่งงานกันทำของทหารระหว่างประเทศสองฟากแอตแลนติกก็คือ สหรัฐฯ ก่อสงคราม และยุโรปสานสันติภาพ  จึงเหมือนกับอเมริกันทำอาหาร ส่วนยุโรปก็ล้างจาน   Robert Kagan นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันที่อาศัยในบรัสเซลล์เคยค่อนแคะไว้ว่า  ยุโรปได้หันหนีจากอำนาจไปสู่วิธีการที่ตนเองเลือก เช่น ใช้กฎหมาย การเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงจมปลักกับวิธีการเดิม ๆ ในอดีตด้วยการใช้แสนยานุภาพทางการทหาร และปฏิเสธที่จะทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ  วิธีการของทั้งสองจึงเหมือนกับพวกเขามาจากคนละโลก อเมริกันมาจากดาวอังคาร ส่วนยุโรปมาจากดาวศุกร์

อำนาจของสหรัฐฯ ที่พวกเขาต้องจ่ายด้วยเงิน เลือดเนื้อและเกียรติภูมิไปมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำว่า มหาอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ชาวยุโรปไม่ต้องการแล้ว เพราะพวกเขาสามารถเป็นมหาอำนาจได้ด้วยวิธีการของพวกเขาเองโดยไม่จำเป็นต้องสร้างทหารมากมายให้ทัดเทียมกับสหรัฐฯ  Jean Monnet บิดาแห่งยุโรปเคยกล่าวไว้ว่าสหภาพยุโรปจะกลายเป็นมหาอำนาจแบบพลเรือน นั่นคือ พวกเขาจะไม่มีกำลังทหาร แต่จะมีเสียงที่มากกว่าในองค์กรนานาชาติทั้งหลาย เช่น สหประชาชาติ องค์กรการค้าระหว่างประเทศ  และ IMF   ในการโต้แย้งพวกเขาจะปฏิบัติการรวมกันราวกับเป็นเสียงเดียว แต่เมื่อถึงเวลาออกเสียง พวกเขาต่างใช้สิทธิออกเสียงแยกกันทีละประเทศเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ  พวกเขาสามารถชนะใจประชาคมโลกมากมายไม่ใช่ด้วยไม้แต่เป็นแครอท นั่นคือ กระเป๋าที่ใหญ่โตอันเต็มไปด้วยความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ  ในปี 2003 สหภาพยุโรปจ่ายเงินช่วยเหลือรวมกันมากถึง 36.5 พันล้าน ในขณะที่สหรัฐฯ จ่ายเพียง 13.3 พันล้านเท่านั้น  ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือมักรู้สึกขอบคุณและต้องการได้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม กำลังทหารของสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถกำจัดอิทธิพลของยุโรปไปได้

สหภาพยุโรปเป็นชุมชนของความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันสงครามในทวีปตัวเองและยังเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ตำแหน่งใหม่ในเวทีโลกด้วย พวกเขายังมีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะกระจายความเป็นชุมชนเช่นนี้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก  อย่างไรก็ดีนโยบายหนึ่งที่สมาชิกยังคงลังเลที่จะใช้ร่วมกันนั่นคือ นโยบายการต่างประเทศ

Generation-E หรือชาวยุโรปที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปีซึ่งจบการศึกษามาหลังจากที่ยุโรปไม่มีพรมแดนแล้ว เป็นกลุ่มคนที่สร้างสังคมยุโรปของตัวเอง เช่น ในออฟฟิศ ในบาร์ ในสนามบอล และสโมสร พวกเขาเห็นว่าทวีปแห่งนี้ไม่ใช่เป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นบ้านของพวกเขาทุกคน  การอยู่ อาศัย เรียน และทำงานที่ใดก็ได้ในทวีปเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พวกเขาจึงมีวัฒนธรรมเดียวกัน นั่นคือ อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน ดูรายการทีวีเดียวกัน และเป็นกลุ่มคนที่ทำให้การออกเสียง pro-Europe ชนะไปอย่างเฉียดฉิว  วันสำคัญของ Generation-E ก็คือวันเสาร์ที่สองถึงสี่ของเดือนพฤษภาคม เพราะพวกเขาต้องลงคะแนนเสียงให้กับนักร้องที่ชื่นชอบในรายการ Eurovision  รายการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1956 นี้ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดเมื่อนักร้องป๊อปจากสวีเดนวง ABBA ชนะการประกวดในปี 1974 หลังจากนั้นมานักร้องดัง ๆ หลายคนก็มาจากเวทีนี้ เช่น Olivia Newton John, Celine Dion, Julio Iglesias

นอกจากชาวยุโรปจะมีความสัมพันธ์กันผ่านทางดนตรีแล้ว รัฐบาลยังสร้างทางเชื่อมต่าง ๆ เพื่อให้ชาวยุโรปเดินทางไปมาอย่างสะดวกสบายด้วย เช่น ทางรถไฟใต้ทะเลเชื่อมระหว่างลอนดอนกับปารีส สะพานเชื่อมระหว่างโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กกับ Malmo ของสวีเดน  การที่พวกเขาสร้างทางเชื่อมเหล่านี้ก็เพื่อให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นชาวยุโรปนั่นเอง  การเดินทางโดยไม่มีเขตแดนเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่สำคัญของชาวยุโรป พวกเขาจึงไม่ต้องทำวีซ่า ไม่มีการตรวจพาสปอร์ตเมื่อผ่านแดน และยังสามารถที่จะเรียน ทำงาน อาศัยที่ใดก็ได้ในยุโรปอีกด้วย

ชาวยุโรปจึงมีวัฒนธรรมร่วมกันใหม่หลายอย่าง เช่น กินขนมปังฝรั่งเศสยัดไส้เป็นอาหาร  ดื่มเบียร์เหมือนกัน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง  อย่างไรก็ดีสิ่งที่ขาดหายไปในการรวมตัวกันเป็นยุโรปก็คือ ความเป็นคริสเตียน พวกเขาหันหลังให้กับศาสนาอย่างสิ้นเชิง  ในอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม คนน้อยกว่า 10% ที่ไปโบสถ์ ในสแกนดิเนเวียเหลือเพียงแค่ 3% เท่านั้นจนรัฐบาลเลิกให้การสนับสนุนโบสถ์แล้ว โบสถ์บางแห่งในอัมสเตอร์ดัมถูกเปลี่ยนเป็นอพาร์ตเม้นท์เพื่อให้มีเงินจ่ายค่าไฟ  ยุโรปกลายเป็นสังคมทางโลกียะอย่างเด็ดขาด  มันเป็นครั้งแรกในรอบ 1500 ปีที่ชาวคริสเตียนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรป  สหภาพยุโรปเป็นการรวมตัวกันทางโลกียะเพียงอย่างเดียว พวกเขาไม่ได้พูดถึงศาสนาไว้ในระเบียบใด ๆ เลยตลอด 8 หมื่นหน้า  การไม่นับถือศาสนาและหมดศรัทธากับวิทยาศาสตร์ทำให้ชาวยุโรปรุ่นใหม่ ๆ กลัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไม่สมเหตุสมผลด้วย  ชาวยุโรปรุ่นใหม่จึงดูเหมือนว่าจะมองโลกในแง่ร้าย และต่อต้านทุกอย่างจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัย 100%   เป็นไปได้ว่าการที่ชาวยุโรปกังวลเรื่อยเปื่อยก็เป็นผลจากอารมณ์ที่ผิดปกติ และระบบที่ล้มเหลวนั่นเอง

นอกจากศาสนาแล้ว สถาบันครอบครัวก็ดูเหมือนจะล่มสลายไปแล้วเหมือนกัน  ชายหญิงยุโรปส่วนหนึ่งอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน เด็กเกือบ 50% ในนอร์เวย์ และสวีเดนเกิดจากแม่ที่ไม่ได้แต่งงาน 41% ในฝรั่งเศส 38% ในอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอาจเกิดจากชายหญิงที่ยังอยู่ด้วยกันก็ตาม

การรวมตัวกันของ 27 ประเทศบนภาคพื้นยุโรปเท่ากับเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติกแล้ว แต่สหรัฐฯ ก็เลือกที่จะไม่ใส่ใจ  ชาวยุโรปตั้งใจออกแบบการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปไว้เพื่อแทนที่สงครามและพวกเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  พวกเขาเลือกที่จะให้สหรัฐฯ เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้กับกองกำลัง NATO ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องพวกเขาในทวีปเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการแทน  นอกจากสันติภาพแล้ว การรวมตัวกันยังทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจด้วย  การกำจัดอุปสรรคทางการค้า การใช้กฎระเบียบเดียวกัน และเงินสกุลเดียวกันที่กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในโลกได้ทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจทั้งทางการค้าและการเงิน พวกเขาจึงมีทั้งประชาชน ความมั่งคั่ง การค้าและอิทธิพลที่มากกว่าชาติใด ๆ ในโลก ประชาชนในสหภาพยุโรปรุ่นใหม่ได้สร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของพวกเขาไว้แล้วด้วย  ในคริสต์ศตวรรษใหม่นี้ การรวมตัวกันของยุโรปได้ท้าทายอำนาจสูงสุดที่สหรัฐฯ เคยอ้างว่ามี และสามารถที่จะยืนบนเวทีโลกได้อย่างทัดเทียมกับสหรัฐฯ  ยุโรปสามารถเอาชนะสหรัฐฯ ได้อย่างเด็ดขาดในสหประชาชาติ เมื่อสหรัฐฯ ต้องเสียเงินและกำลังคนถึง 95% ในสงครามอิรัก

Irwin M.Stelzer นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เมื่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีส่วนเสริมสร้างการเกิดสหภาพยุโรป  ชาวอเมริกันไม่เคยคิดว่าพวกเขากำลังสร้างกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีความตั้งใจจะท้าทายสหรัฐฯ  การสนับสนุนให้เกิดสหภาพยุโรปหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการเกิดรัฐเหนือรัฐ (Continental Superstate) ที่สหรัฐฯ ยากที่จะต่อกร

จริงอยู่สมาชิกสหภาพยุโรปยังมีหลายเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ เช่น เรื่องผู้อพยพ เรื่องอำนาจของชาติเล็ก ๆ แต่พวกเขากำลังหาทางแก้ไขปัญหาอยู่และคงสำเร็จในไม่ช้า  สหภาพยุโรปกลายเป็นตำรวจโลกในหลายเรื่อง เช่น สินค้าด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การเงินและความเป็นส่วนตัว  ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 กฎต่าง ๆ ที่ใช้ในเศรษฐกิจโลกถูกกำหนดขึ้นตามกฎของบรัสเซลล์  บริษัทใหญ่ ๆ ทุกสัญชาติต่างไม่มีทางเลือกนอกจากต้องปฏิบัติตาม หากพวกเขาต้องการเข้าถึงตลาดยุโรป

วันที่ 1 มีนาคม 2004 สหภาพยุโรปได้ประกาศเรื่องภาษีศุลกากรใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าสัญชาติอเมริกันตั้งแต่เสื้อผ้ายันไปถึงกระดาษ  สมาชิกสภาล่างของสหรัฐฯ กล่าวอย่างแค้นเคืองว่า ระเบียบนี้ก็เหมือนกับที่ชาวอเมริกันปฏิวัติเมื่อ 230 ปีก่อนเพื่อที่จะหยุดยั้งมิให้ชาวยุโรปเป็นผู้บอกชาวอเมริกันว่าเราควรเก็บภาษีอย่างไรในสหรัฐฯ  แต่สหภาพยุโรปก็ถือไพ่เหนือกว่าเพราะบริษัทสัญชาติอเมริกันต่างอยากเข้าไปทำธุรกิจกับยุโรปทั้งนั้น แม้พวกเขาจะไม่ชอบที่สหภาพยุโรปเอามีดมาขู่ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับ

การที่สหรัฐฯ สามารถขาดดุลมหาศาลได้อย่างยาวนานเป็นเพราะทุกชาติยินดีที่จะใช้เงินดอลลาร์ในการทำการค้าระหว่างประเทศ  เมื่อเงินยูโรซึ่งกลายเป็นเงินที่มีค่าแข็งที่สุดได้กลายเป็นทางเลือกแทนเงินดอลลาร์  นักลงทุนก็เริ่มเห็นความมั่นคงทางการเงินใหม่แทนที่สหรัฐฯ  กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดนักลงทุน  แต่หากนักลงทุนต่างหนีหาย รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องขึ้นภาษีเนื่องจากพันธบัตรของพวกเขาไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ชาวอเมริกันได้ตื่นขึ้นมาพบกับการปฏิวัติใหม่ของยุโรปอย่างเจ็บปวด พวกเขาจำเป็นต้องตระหนักและยอมรับว่า ปัจจุบันโลกไม่ได้มีขั้วเดียวแล้ว แต่มหาอำนาจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก  อิทธิพลของยุโรปจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และโลกจะเคลื่อนสูงยุคสองขั้วที่สมดุลกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทูต พูดง่าย ๆ ก็คือ นับจากนี้ไป สหรัฐฯ ต้องให้ความเคารพกับสหภาพยุโรปแล้ว

ข้อคิดเห็น : หนังสือนี้อ่านสนุกและยกระดับความสุขจนอาจก่อให้เกิดความอิจฉาขึ้นในใจของผู้อ่านเล่มนี้เขียนถึงกำเนิดของการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปและกำเนิดของเงินยูโรได้อย่างละเอียดลออโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างที่ละเอียดลออของรัฐสวัสดิการ รวมทั้งการถือกำเนิดธนบัตรซึ่งหาอ่านไม่ได้ในหนังสือเล่มอื่น

ผู้เขียนชื่นชมยุโรปแบบสุดขั้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมันถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2005 อันเป็นปีที่สหภาพยุโรปกำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด หรือเป็นเพราะผู้เขียนชื่นชอบรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมกันในสังคมก็เป็นได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.