You are here: Home > Econ & Business, Political Science > Europe’s Promise: Why the European Way Is the Best Hope in An Insecure Age

Europe’s Promise: Why the European Way Is the Best Hope in An Insecure Age

โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร 

 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อำนาจและความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ไม่เคยเปลี่ยนเลย  แต่ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ประเทศส่วนใหญ่เริ่มหันไปยังโมเดลของยุโรปมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแม้สหภาพยุโรปจะมีโครงสร้างซับซ้อน แต่สามารถที่จะสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่หลากหลายได้มากกว่า และยังสามารถสร้างสมดุลของกฎระเบียบนานาชาติโดยยังคำนึงถึงความแตกต่างของความต้องการและวัฒนธรรมได้มากกว่าด้วย  ยุโรปได้สร้างทุนนิยมแห่งสังคมแบบใหม่ (Social Capitalism) ที่สร้างสมดุลระหว่างการควบคุมและการแข่งขันโดยยังคงสามารถที่จะทำงานได้ดี และมีความผันผวนน้อยในช่วงที่เศรษฐกิจขาดสมดุลหรือไม่มั่นคง โมเดลของยุโรปยังสามารถที่จะปกป้องประชาชนและสร้างเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่า อีกทั้งยังกระจายความมั่งคั่งได้ดีกว่าด้วย

Europe’s Promise: Why the European Way Is the Best Hope in An Insecure Age หนังสือขนาด 488 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนมกราคมปี 2010 ของ Steven Hill นักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านการเมืองชาวอเมริกันเล่มนี้จะแสดงถึง  1. ข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์จากรัฐสวัสดิการของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปทุกเรื่องราวอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่เปลนอนถึงเชิงตะกอน รวมทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจ ประชากร และสังคม 2. ความแตกต่างและแนวคิดจนเป็นที่มาของนโยบาย และนโยบายที่ต่างกันระหว่างสองฟากแอตแลนติกโดยจะเน้นถึงส่วนประกอบที่ทำให้สหภาพยุโรปสามารถที่จะกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหลังสงคราม  3. อธิบายถึงสถานที่ ขบวนการ และพัฒนาการของโมเดลยุโรปที่น่าจะสามารถคงอยู่ตลอดไปได้ และสามารถที่จะสร้างอิทธิพลต่อภูมิภาคอื่นได้ด้วย  ทั้งนี้เพราะโมเดลของยุโรปบ่มเพาะคุณภาพชีวิตชนชั้นกลางและเหมาะกับประชาคมโลกอย่างแท้จริง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1949 เพื่อจัดการกับทวีปนี้   Jean Monnet, Robert Schuman และ Konrad Adenauer ได้ก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community) ขึ้นในปี 1951 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็ก  กลยุทธ์ของ Monnet นั้นง่ายดายและเฉลียวฉลาด นั่นคือ เมื่อถ่านหินและเหล็กกล้าเป็นทรัพยากรหลักในการก่อสงคราม การรวมทรัพยากรเข้าไว้ด้วยกันเป็นเครือข่ายย่อมทำให้ความเป็นปรปักษ์กันเกิดขึ้นได้ยาก  ในการพยายามประสานศัตรูที่เคยก่อสงครามเข้าหากันนั้น การเขียนโครงการใหญ่น่าจะถูกต่อต้านมากกว่าการพยายามต่อภาพทีละเล็กละน้อยที่ให้ผลดีต่อทุกฝ่าย  ผู้ก่อตั้งประชาคมประกาศว่า มันเป็นก้าวแรกของการก่อตั้งสมาพันธรัฐยุโรป  

สนธิสัญญาโรมที่เซ็นในปี 1957 ได้ขยายหนทางสู่การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปในอีก 6 ทศวรรษต่อมา ในปี 1973 ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) ได้เพิ่มสมาชิกเข้ามาอีก 3 ประเทศคือ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร  ส่วนกรีซ สเปน และโปรตุเกสเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกในทศวรรษที่ 1980  สมาชิกสภายุโรปได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1979  ส่วนสนธิสัญญา Maastricht ที่ถือเป็นต้นกำเนิดสหภาพยุโรปนั้นถูกเซ็นในปี 1993  ออสเตรีย สวีเดน และฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 1995 และในปี 2004 พวกเขาก็รับสมาชิกจากยุโรปตะวันออกเพิ่มอีก 10 ประเทศกลายเป็น 27 ประเทศ  สหภาพยุโรปจึงกลายเป็นสถาบันแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์กรเหนือชาติขึ้น (Supranational ) โดยสมาชิกยังคงรักษาอธิปไตยและวัฒนธรรมไว้ได้

ในทศวรรษที่ 1940 นักเศรษฐศาสตร์จากเมือง Freiburg และ Cologne ได้เสนอแนวคิดเศรษฐกิจแบบการตลาดสังคม (Social Market Economy) ที่ให้คุณค่ากับความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน ความสมัครสมานสามัคคี และสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนทุกคน เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าการแข่งขันอย่างเสรีแบบทุนนิยมเดิมขาดประสิทธิภาพ  เศรษฐกิจแนวนี้มีหลักการที่จะตอบสนองต่อทั้งตลาดเสรีและมนุษยชาติ  Otto von Bismarck ผู้นำชาวเยอรมันเป็นคนแรกที่นำแนวคิดนี้มาใช้ เพราะเขาต้องการลดทอนอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ และการรวมตัวกันทางการค้าต่าง ๆ จึงให้สิทธิประโยชน์มากมายกับประชาชนซึ่งหล่อหลอมกันจนเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมประชาธิปไตย  (Social Democracy)  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศยุโรปตะวันตกหลายชาติก็หันมาให้ความสำคัญกับความเสมอภาคของมนุษย์และประชาธิปไตย

หากสหรัฐฯ เป็นต้นกำเนิดของชนชั้นกลาง ยุโรปก็ทำให้ชนชั้นกลางได้รับความมั่นคงและเหลือเนื้อไว้บนกระดูกสำหรับครอบครัวมากกว่าชาวอเมริกัน ชาวยุโรปได้สร้างระบบที่สนับสนุนครอบครัวได้ดีกว่า และลดความเสี่ยงของบุคคลในยุคของทุนนิยมเสรีได้ดีกว่าสหรัฐฯ มาก  ระบบทุนนิยมแห่งสังคม (Social Capitalism) ขึ้นอยู่กับการสร้างสมดุลระหว่างองค์กรอิสระกับการควบคุมโดยรัฐ  การแยกแยะระหว่างเศรษฐกิจยุโรปกับการสนับสนุนแรงงานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทั้งสองทำงานเป็นหนึ่งเดียวจนอาจเรียกได้ว่ามันเป็นเศรษฐกิจแบบสถานะคงตัว (Steady State Economy)  เศรษฐกิจแบบนี้ต้องการการปรับสมดุลระหว่างคันโยกและลูกรอกเพื่อให้การค้ารุ่งเรืองและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกันก็ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายที่จะตระเตรียมให้มีงานและค่าตอบแทนที่เพียงพอโดยไม่ทำให้ธุรกิจขาดความสามารถในการทำกำไร และไม่ทำลายระบบนิเวศน์ที่มนุษย์อาศัยอยู่  การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระบบนี้จะไม่เร็วเกินไป แต่ก็ไม่ช้ามาก มันจะค่อย ๆ ขยายส่วนของเค้กโดยไม่ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังให้ความมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับส่วนแบ่ง  หลังการใช้เศรษฐกิจแนวนี้ ยุโรปสามารถที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องโดยมีผลผลิตมากที่สุดในโลกได้ อีกทั้งยังสามารถที่จะผลิตสินค้าและบริการต่อชั่วโมงได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่นด้วย  พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแบบสหรัฐฯ หรือจีน เพราะผลิตภาพของพวกเขาสูง อีกทั้งยังกระจายความมั่งคั่งได้มากกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วย  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 2% ก็เพียงพอกับเศรษฐกิจแบบสถานะคงตัวแล้ว 

ยิ่งกว่านั้นระบบเศรษฐกิจแบบสถานะคงตัวนี้ยังสร้างกลไกที่ช่วยเหลือประชาชนและครอบครัวให้เตรียมตัวสำหรับช่วงเวลาที่ไม่มั่นคง เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ ป่วย ชรา ตกงานด้วย  แท้ที่จริงแล้ว ระบบนี้ได้บีบบังคับให้แต่ละคนเตรียมการช่วยเหลือสำหรับตัวเองอยู่แล้วโดยรัฐบาลจะหักเงินทั้งจากนายจ้างและลูกจ้างเพื่อไว้สำหรับจ่ายเพื่อความมั่นคงในอนาคต  ในขณะที่สหรัฐฯ ปล่อยให้ประชาชนเก็บเงินเองมากกว่า ชาวอเมริกันจึงต้องเก็บเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายในเรื่องค่ารักษาพยาบาล การเกษียณ และเลี้ยงดูบุตร  ระบบของสหรัฐฯ จึงเป็นสังคมแบบด้วยตัวคุณเอง เพราะทุกอย่างประชาชนต้องจ่ายเอง  ในทางทฤษฎี ชาวอเมริกันจะเสียภาษีน้อยกว่าชาวยุโรป แต่มันเป็นแค่ภาพมายา  ชาวยุโรปเสียภาษีรายได้มากกว่าชาวอเมริกันก็จริง แต่พวกเขาเสียภาษีท้องถิ่น ภาษีโรงเรือน และภาษีประกันสังคมน้อยกว่า  เมื่อคำนวณภาษีทุกอย่างแล้ว ชาวอเมริกันก็เสียภาษีพอ ๆ กับชาวยุโรป แต่ชาวยุโรปกลับได้ผลประโยชน์มากกว่าด้วย  ยิ่งกว่านั้นชาวยุโรปยังได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและมีความสะดวกสบายทางด้านวัตถุไม่น้อยกว่าชาวอเมริกันอีกต่างหาก  พวกเขายังได้สร้างโครงสร้างทางสังคมที่ลงทุนในทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด นั่นคือ คนด้วย  โมเดลยุโรปยังได้ค้ำประกันหลักการสำคัญของสหรัฐฯ ไว้นั่นคือ ชีวิต อิสรภาพและความสุข 

สหรัฐฯ เสียค่าใช้จ่ายไปมากมายกับสงคราม เช่น พวกเขาเสียเงินไปถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ไปกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน และยังใช้จ่ายทางการทหารถึง 4% ของ GDP หรือเท่ากับ 20% ของงบประมาณสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายประกันสังคมและค่ารักษาพยาบาลรวมกันเสียอีก  หากสหรัฐฯ ต้องการให้ชาวอเมริกันอีกทั้ง 47 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพได้ประกันสุขภาพเหมือนอย่างชาวยุโรป พวกเขาเพียงเพิ่มเงินอีกปีละ 100-150 พันล้านดอลลาร์ หรือเพียงแค่ 20-50% ของงบประมาณประจำปีด้านการทหารเท่านั้น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังทำไม่ได้  งบประมาณทางการทหารของสหรัฐฯ จึงกลายเป็นแกนหลักของโมเดลสหรัฐฯ เพราะมันทำหน้าที่ 3 อย่างคือ เครื่องมือด้านนโยบายต่างประเทศ ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วงชิงเงินภาษีจากโครงการอื่น

นโยบายการต่างประเทศของยุโรปใช้แครอทมากกว่าไม้  แทนที่ยุโรปจะใช้กำลังบีบบังคับ พวกเขาใช้วิธีการดึงดูดให้แต่ละประเทศเข้าเป็นสมาชิก ร่วมค้า ให้เงินลงทุน ให้เงินสนับสนุนจนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ให้การช่วยเหลือประเทศอื่นมากที่สุดในโลก  ยุโรปยังเริ่มดำเนินการเสาะแสวงหาหนทางที่จะสร้างระบบนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน  การใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนได้ค่อย ๆ เปลี่ยนภูมิประเทศของยุโรปใหม่เมื่อพวกเขาติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ โซล่าร์เซลล์ขนาดใหญ่ โรงสีใต้น้ำ และงูทะเลที่เปลี่ยนพลังงานคลื่นไปเป็นพลังงานไฟฟ้า  พวกเขาพยายามที่จะใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทำให้การขนส่งใช้พลังงานเขียว  การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพิ่มดอกผลในหลายทางและยังเป็นการปูทางสู่อนาคตด้วย 

โครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงสร้างผลดีกับสิ่งแวดล้อม  สร้างงานมหาศาล และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น ยังเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อราคาพลังงานผันผวนด้วย  การใช้พลังงานให้เกิดผลิตภาพเพิ่มขึ้นยังทำให้ชาวยุโรปสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่น้อยกว่าชาวอเมริกันโดยใช้พลังงานน้อยกว่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าด้วย  โครงการเหล่านี้ยังไม่เพียงทำให้ยุโรปได้ปฏิวัติพลังงาน การขนส่ง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทวีป ลดการพึ่งพิงน้ำมัน แต่ยังเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจอีกด้วย 

การมีสถาบันที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความแตกต่าง  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับสถาบันของยุโรปที่ต้องตัดสินปัญหาร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับดูแลต่าง ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวอเมริกันและชาวยุโรปมีทัศนคติในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิบัตร การร่วมมือ สวัสดิการทั่วไป สัญญาประชาคม รัฐบาล และความเป็นประชาธิปไตยต่างกันนั่นเอง  ศูนย์กลางของสถาบันที่เป็นรากฐานของประเทศก็คือ การเมือง เศรษฐกิจ สื่อ และแรงงาน สถาบันทั้งสี่มีบทบาทในการเร่งปฏิกิริยาในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน  สถาบันหลักทั้งสี่ของสหภาพยุโรปเป็นผลงานของการออกแบบอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

 ขณะที่สหรัฐฯ วุ่นวายกับสงครามเย็นตลอดหลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งสอง ยุโรปกลับใช้เวลาเดียวกันนั้นไปกับการเรียงร้อยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค  การเกิดใหม่ของยุโรปในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ใส่ใจของสหรัฐฯ  ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งยังคงเห็นว่ายุโรปเต็มไปด้วยวิกฤต แต่แท้ที่จริงแล้วยุโรปไม่เพียงจะเติบโตมากกว่า พวกเขายังสร้างงานมากกว่าสหรัฐฯ ด้วย  ในปัจจุบันสื่ออเมริกันที่รักชาติยังคงปกป้องอเมริกันจากความจริง ทั้ง ๆ ที่ฐานันดรที่สี่ควรมีหน้าที่ในการเป็นหมาเฝ้าบ้านให้กับรัฐบาล แต่พวกเขากลับให้ข้อมูลผิด ๆ กับประชาชน

ระหว่างปี 1998-2008 สมาชิกสหภาพยุโรปมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรสูงกว่าสหรัฐฯ  และในระหว่าง 2000-5 สหภาพยุโรปก็เพิ่มงานได้มากกว่าสหรัฐฯ ด้วย ซ้ำยังมีงบประมาณเกินดุลการค้าถึง 3 พันล้านดอลลาร์ด้วย  บริษัทสัญชาติยุโรปติดอันดับใน Fortune 500 ในเดือนกรกฎาคม 2009 มากถึง 179 แห่ง ในขณะที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีนมี 140, 68 และ 37 แห่งตามลำดับ  บริษัทใหญ่ที่สุด 60 บริษัทก็เป็นของยุโรปถึง 30 แห่ง เป็นของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีนประเทศละ 18 , 5 และ 3 แห่งตามลำดับเท่านั้น  Royal Dutch Shell ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของโลกก็เป็นของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ BP บริษัทอันดับสี่ก็เป็นของอังกฤษ ส่วน Nestle และ Unilever บริษัทอาหารอันดับหนึ่งและสองของโลกก็เป็นของยุโรป AirFrance/KLM และ Lufthansa สายการบินที่ใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลกก็เป็นของฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้แต่ร้านค้าปลีก เช่น Carrefour, Tesco และ Metro ก็ล้วนเป็นของสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งนั้น ปัจจุบันบริษัทสัญชาติอเมริกันหลายแห่งก็กลายเป็นของชาวยุโรปไปแล้ว  ในปี 2005 การควบรวมกิจการใหญ่ ๆ 16 ใน 20 แห่งเกิดจากการซื้อของชาวยุโรป  ปัจจุบันชาวอเมริกันกว่า 2 ล้านทำงานให้บริษัทสัญชาติเยอรมัน  ในปี 2005  แม้บริษัทสัญชาติจีนจะลงทุนในสหรัฐฯ ถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นลงทุนในจีนถึง 31 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังน้อยกว่าที่สหภาพยุโรปลงทุนเฉพาะในรัฐเท็กซัสเพียงแห่งเดียว  

เศรษฐกิจยุโรปไม่เพียงใช้กลยุทธ์ในการจ้างงานที่หลากหลาย พวกเขายังมีสถาบันที่มีลักษณะพิเศษซึ่งผ่านการปฏิรูปมาหลายทศวรรษจนสามารถที่จะสร้างผลผลิตได้สูงและมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงด้วย พวกเขามีการแบ่งงานกันทำโดยยุโรปตะวันตกจะผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และยุโรปกลางและตะวันออกจะทำส่วนประกอบ  อุตสาหกรรมจะได้รับผลประโยชน์จากการร่วมมืออย่างใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลโดยเฉพาะในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูง การเงิน และภาคอุตสาหกรรม  การมีระบบประกันสุขภาพและบำนาญที่ดีทำให้บริษัทสามารถที่จะวางแผนต้นทุนได้ดีขึ้นจากการที่แรงงานของพวกเขามีสุขภาพดี และไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาในการต่อรองกับสหภาพแรงงาน  การใช้พลังงานสีเขียวยังลดต้นทุนให้ธุรกิจและยังทำให้พวกเขามีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วย

การประกันสุขภาพและระบบบำนาญที่มีให้กับทุกคนทำให้บริษัทจ่ายเงินเข้าไปในกองทุนประกันแบบคงที่ และยังน้อยกว่าที่บริษัทสัญชาติอเมริกันต้องจ่ายให้พนักงานของตัวเองเพื่อให้ได้การดูแลสุขภาพอย่างพิเศษ  บริษัทสัญชาติอเมริกันต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพเท่ากับ 18.3% ของเงินเดือนพนักงาน ในขณะที่บริษัทสัญชาติเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดาและญี่ปุ่นจ่ายเพียงแค่ 4.9% ของเงินเดือนพนักงานเท่านั้น  ต้นทุนผลประโยชน์ด้านสุขภาพต่อชั่วโมงของชาวอเมริกันจึงสูงถึง 2.38 ดอลลาร์ ในขณะที่อีกห้าประเทศในยุโรปข้างต้นจ่ายเพียงแค่ 0.96 ดอลลาร์เท่านั้น  รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ทุกคันมีต้นทุนด้านประกันสุขภาพของพนักงานสูงถึงคันละ 1,500 ดอลลาร์  การที่ประกันสุขภาพของพนักงานเป็นเรื่องของนายจ้างทำให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงสูง และยังทำให้บริษัทขาดความสามารถในการแข่งขันด้วย  แม้ปัจจุบันสหภาพยุโรปจะเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องประกันสุขภาพต่อหัวประชากรเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ แต่ชาวยุโรปกลับมีสุขภาพดีกว่าเสียอีก

หลักสำคัญในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเท่านั้น ยังเพื่อผลประกอบการที่ดีกว่าด้วย เช่น Mark&Spencer ใช้พลังงานจากกังหันลม ใช้น้ำฝนสำหรับราดห้องน้ำ  Ikea ฝังแผงโซล่าร์เซลล์ไว้ในหลังคาจนทำให้พวกเขาใช้พลังงานไฟฟ้าลดลงถึง 50% อีกทั้งยังใช้กังหันขนาดเล็กผลิตพลังงานที่ใช้กับเครื่องทำความร้อนและแอร์ด้วย  โรงงานแปรรูปของเสียเป็นพลังงานเหล่านี้ประหยัดน้ำมันให้กับ Ikea ได้ถึง70 ตันต่อปี และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 200 ตัน  โรงงานผลิตพลังงานขนาดเล็กแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุโรปเพราะมันไม่เพียงทำให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ยังเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจด้วยการเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจจากการที่พวกเขาสามารถขายคาร์บอนให้กับบริษัทอื่นได้ด้วย 

แม้จีนและอินเดียจะมีค่าแรงที่ต่ำ แต่ความร่วมมือระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกทำให้สหภาพยุโรปสามารถที่จะสร้างความคล่องแคล่วและแข็งแกร่งในการทำธุรกิจได้  ปัจจุบันยุโรปตะวันออกกลายเป็นแหล่งผลิตรถที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  ในปี 2007 สโลวาเกียเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก  แม้ยุโรปตะวันตกจะไม่ใช่ประเทศที่จะผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มต่ำ และการผลิตแบบจำนวนมากอีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขาก็สามารถที่จะหันไปผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง งานวิจัยอุตสาหกรรม การออกแบบอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการสื่อสารได้โดยเน้นไปที่การออกแบบและการตลาด  

ในทศวรรษที่ 1990 ไอร์แลนด์เคยเป็นแหล่งผลิตคอมพิวเตอร์ให้กับยุโรป แม้ปัจจุบันการผลิตถูกย้ายไปที่ฮังการีแล้ว แต่วิศวกรของไอร์แลนด์ก็ยังสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานในการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้  การเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออกทำให้เยอรมัน ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์สามารถที่จะแข่งขันในระดับโลกและยังสามารถสงวนงานไว้ให้แรงงานได้ด้วย   20% ของบริษัทเยอรมันย้ายการลงทุนไปยังยุโรปตะวันออก แต่มันก็ได้สงวนงานไว้ให้กับชาวเยอรมันด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาสามารถส่งออกไปยังประเทศยุโรปตะวันออกถึง 17%  การย้ายงานไปยังตะวันออกทำให้ช่องว่างระหว่างยุโรปตะวันตกและตะวันออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

เศรษฐกิจยุโรปได้รับการกระตุ้นจากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จ้างงานมากถึง 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด  สวีเดนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ที่กำลังเจริญเติบโตสูงจากความร่วมมือระหว่างบริษัทยาขนาดใหญ่ รัฐ และกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยและทดลอง  การที่รัฐบาลยุโรปต่างสนับสนุนบริษัทกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมและกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ  ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนของยุโรปทำให้ชาวยุโรปสามารถใช้อินเทอร์เน็ทความเร็วสูงที่เร็วกว่าได้ในราคาที่ถูกกว่าชาวอเมริกันมาก  ยุโรปยังใช้การเป็นหุ้นส่วนทางการเงินระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อหนุนหลังการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผ่านการร่วมมือระหว่างกองทุนต่าง ๆ 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งได้นำเสนอแนวทางเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า Social Market Economy  ที่มีลักษณะร่วมกันตัดสินใจ (Codetermination) จากคณะกรรมการกำกับดูแลที่ถูกเลือกจากตัวแทนแรงงาน และตัวแทนของผู้ถือหุ้น ผู้อำนวยการ และสภาแรงงานมาใช้ในการบริหารธุรกิจ  การร่วมกันตัดสินใจนี้ได้ขยายขอบเขตออกไปจนก่อให้เกิด Codetermination Act ขึ้นในปี 1976 และกลายเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกด้วย  

การตัดสินใจร่วมกันทำให้การควบคุมที่เกิดขึ้นสามารถสร้างสมดุลได้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมิให้ความมั่งคั่งตกแต่กับฝ่ายนายจ้างเท่านั้น  การมีตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการกำกับดูแลไม่เพียงไม่สร้างแรงกดดันหรือทำให้การตัดสินใจล่าช้า แต่ยังทำให้การสื่อสารและความร่วมมือระหว่างผู้จัดการและแรงงานเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย  เมื่อแรงงานได้ข้อมูลที่ถูกต้อง การก่อการจลาจลหรือการนัดหยุดงานที่จะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับกิจการก็เกิดขึ้นน้อยลงและทำให้การตัดสินใจที่เกิดขึ้นได้รับการยอมรับและถูกต้องตามทำนองครองธรรมในสายตาของแรงงานมากขึ้นด้วย  การต้องตัดสินใจร่วมกันยังทำให้นายจ้างต้องปรึกษากับลูกจ้างในทุกด้าน ตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัย สุขภาพ ค่าแรง ระยะเวลาการทำงาน โบนัส เงินบำนาญ การฝึกอบรม การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ การเลิกจ้าง และอนาคตของบริษัท อีกทั้งยังกลายเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ CEO ทำหน้าที่เหมือนพระเจ้าในที่ทำงานด้วย   กลยุทธ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าที่ชาวยุโรปยึดถือ และทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในชะตากรรมของเศรษฐกิจด้วย  สถาบันที่ถูกต้องไม่เพียงนำมาซึ่งความสำเร็จทางธุรกิจเท่านั้น ยังทำให้แรงงานและครอบครัวมีสุขภาพดีและสร้างผลผลิตได้สูงด้วย 

สวัสดิการที่ยืดหยุ่น ( Flexicurity) เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งของสังคมยุโรป มันทำให้การจ้างงานใหม่ การเลิกจ้างเพื่อแลกเปลี่ยนกับการฝึกอบรม การฝึกงานให้กับแรงงานใหม่ และการรับเงินช่วยเหลือเมื่อเลิกจ้างเป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจคล่องตัว  ธุรกิจสามารถที่จะยุติการจ้างได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ  แรงงานก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอระหว่างรองานใหม่ และได้รับการฝึกอบรมใหม่เพื่อให้ได้งานใหม่เร็วขึ้น  นายจ้างชาวเดนมาร์กสามารถที่จะเลิกจ้างและจ้างงานได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากรัฐบาลเดนมาร์กลงทุนมากถึง 4% ของ GDP เพื่อการฝึกงานเป็นจำนวนมาก  รัฐบาลยังมีเงินวิจัยเพื่อสอบถามความต้องการแรงงานจากนายจ้างและอบรมแรงงานให้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้ในปีต่อไป  ข้อมูลบ่งว่า 2 ใน 3 ของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถหางานได้ใหม่ใน 1 ปี  

นอกจากการฝึกงานหลังตกงานแล้ว ชาวยุโรปยังได้เงินช่วยเหลือตกงาน 70-90% ของเงินเดือนสุดท้ายนานถึง 1-2 ปี หรือถึง 4 ปีในเดนมาร์ก  บางประเทศยังมีเงินช่วยเหลือค่าบ้าน อาหาร ดูแลเด็ก และฝึกอบรมเพื่อให้มีทักษะใหม่ที่เหมาะกับงานใหม่กับผู้ตกงานด้วย  ในขณะที่ชาวอเมริกันที่ตกงานจะได้เงินทดแทนเพียงแค่ 50% ของเงินเดือนเดิมเท่านั้น  ซ้ำร้ายมีเพียง 37% เท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์เมื่อตกงานอีกต่างหาก 

การได้รับการดูแลที่ต่างกันในระหว่างตกงานเป็นผลมาจากทัศนคติที่ต่างกันระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป  การตกงานในสหรัฐฯ ถือเป็นการลงโทษ มันเป็นความผิดของคนตกงาน ในขณะที่การตกงานในยุโรปเป็นวัฏจักรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  มันเป็นผลจากการขึ้นลงของเศรษฐกิจ  ผู้ตกงานจะไม่ถูกกล่าวโทษ และยังสามารถที่จะรักษาสถานภาพได้ใกล้เคียงกับเดิมมาก เช่น มีรายได้อย่างเพียงพอ มีสวัสดิการรักษาพยาบาล การดูแลเด็ก เงินสนับสนุนค่าบ้าน ฝึกอบรมทักษะใหม่ และมีที่ปรึกษาด้านอาชีพเพื่อช่วยให้ผู้ตกงานสามารถกลับไปทำงานใหม่หรือยืนได้ด้วยตัวเองได้  ในขณะที่ชาวอเมริกันจะไม่ได้รับการประกันสุขภาพเมื่อพวกเขาตกอยู่ในอันตรายและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

ในเดือนกรกฎาคม 2008 หรือช่วงต้นของวิกฤตเศรษฐกิจนั้น อัตราว่างงานในยุโรปกำลังอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 25 ปีเพียงแค่ 6.9% เท่านั้น ในขณะที่สหรัฐฯ มีอัตราว่างงานเพียงแค่ 5.8% เท่านั้น  แต่อีกปีหนึ่งต่อมา อัตราว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 3.5% ในขณะที่อัตราว่างงานในยุโรปเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.3% เท่านั้น  แท้ที่จริงแล้วอัตราว่างงานของสหรัฐฯ สูงกว่านี้มาก เพราะจำนวนคนคุกในสหรัฐฯ ยังมีอีกถึง 2.3 ล้านคนหรืออีกประมาณ 1.2% ของจำนวนประชากรที่ไม่รวมอยู่ในอัตราว่างงานนี้  แม้ว่าหากนับความมั่งคั่งแล้ว ชาวอเมริกันดูเหมือนจะมั่งคั่งกว่าชาวยุโรปถึง 30% แต่หากนับรวมความมั่นคงทางสังคมเข้าไปแล้ว ชาวยุโรปดูเหมือนจะมีความมั่งคั่งถึง 90% ของที่ชาวอเมริกันมี  ในขณะที่พวกเขาทำงานเพียงแค่ 75% เทียบกับที่ชาวอเมริกันทำเท่านั้น  

ยุโรปใช้เงิน 4.6 ล้านล้านดอลลาร์หรือคนละ 9,200 ดอลลาร์ หรือ 27% ของ GDP ไปกับการสนับสนุนแรงงาน ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้เงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคนละ 7,300 ดอลลาร์หรือ 16% ของ GDP เท่านั้น  เงินจำนวนที่ต่างกันมากขนาดนี้สามารถที่จะสร้างความแตกต่างของคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน  ชาวยุโรปจึงมีคุณภาพชีวิตเหนือชาวอเมริกันในทุก ๆ ด้าน  ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนมากเพียงไหน ชาวยุโรปสามารถมีความสุขกับโครงการจากเปลนอนถึงเชิงตะกอนได้โดยไม่มีการลดทอน  ผลประโยชน์นี้เป็นสากลสำหรับทุกชีวิตในยุโรป นั่นหมายความว่า แม้แต่ผู้อพยพก็ได้รับเช่นกัน  ยุโรปใช้เงินมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 3 เท่าไปกับเรื่องครอบครัว เช่น ให้บิดาลาไปเลี้ยงบุตรได้ถึง 14 สัปดาห์โดยรับเงินเดือน  สวีเดนจ่ายเงินทดแทน 2 ใน 3 ของเงินเดือนให้มารดาลาคลอดถึง 69 สัปดาห์  นอร์เวย์ให้เงินทดแทน 80% สำหรับมารดาลาคลอดนาน 1 ปี และจ่ายให้บิดา 50% ของเงินเดือนเมื่อลามาเลี้ยงบุตรในปีที่สอง  เด็กเดนมาร์กที่อายุเกินสองปีจะถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  เด็กเยอรมันและดัชท์จะได้เงินค่าผ้าออมเดือนละ 200 ดอลลาร์  ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นเพียง 5 ชาติในโลกที่ไม่มีการจ่ายเงินให้กับมารดาที่ลาคลอด                 

ชาวยุโรปเชื่อว่าคุณค่าของครอบครัวหมายถึง การมีเวลาในการพักผ่อนด้วยกันอย่างเพียงพอ  รัฐบาลจึงจัดให้ชาวยุโรปได้มีวันลาพักร้อนปีละ 4-6 สัปดาห์โดยยังได้รับเงินเดือนปกติ   ในขณะที่ชาวอเมริกันทำงานปีละ 1,976 ชั่วโมง ชาวเยอรมันและฝรั่งเศสทำงานน้อยกว่าปีละ 400 ชั่วโมงโดยยังคงมีมาตรฐานชีวิตเท่าเทียมกัน  ซ้ำร้ายชาวอเมริกันถึง 1 ใน 4 ไม่มีวันลาพักร้อนเลย  ในสวีเดนยังมีการจ่ายเงินให้แรงงานไปดูแลคนป่วยได้ถึงปีละ 6 สัปดาห์ด้วย

ชาวยุโรปทุกคนมีสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยค่าใช้จ่ายที่เกิดเพียงครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ เท่านั้น  ถึงกระนั้นก็ตามชาวอเมริกันกว่า 47 ล้านคนหรือ  15% ของประชากรก็ยังไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล และในจำนวนนี้เป็นเด็กมากถึง 8 ล้านคน  แม้แต่คนมีงานทำบางคนก็ยังไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลเลย  ชาวเยอรมันได้เงินถึง 80% ของค่าแรงเฉลี่ยเป็นเงินบำนาญ  ในขณะที่ชาวอเมริกันมีเงินบำนาญเพียงแค่ 40% ของค่าแรงเฉลี่ยเท่านั้น   ยุโรปยังใช้เงินไปกับผู้สูงวัยมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 25% ผู้สูงวัยจึงสามารถที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเพื่อช่วยให้พวกเขาวสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตได้ตามปกติ แม้ต้องอยู่โดยลำพังก็ตาม  เดนมาร์กจะมีชุมชนที่ช่วยเหลือตัวเองของผู้เกษียณ พวกเขาจะมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ใช้สวน ห้องอาหาร ห้องทำงานร่วมกัน    พวกเขาอาจจ้างคนดูแลให้บริการที่จำเป็นร่วมกัน หรืออาจมีสัญญาณเตือนภัยอุบัติเหตุ และพยาบาลหุ่นยนต์ไว้ช่วยเหลือ  คณะมนตรีสหภาพยุโรปได้ใช้เงินถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ไปกับโครงการวิจัยเพื่อหานวัตกรรมที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย

                ชาวยุโรปไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเรียนหนังสือส่งผลให้พวกเขาสามารถที่จะเริ่มต้นชีวิตได้เร็วกว่าชาวอเมริกัน  ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยรัฐของสหรัฐฯ ปีละ 6,185 ดอลลาร์ มหาวิทยาลัยเอกชนปีละ 23,712 ดอลลาร์  นักศึกษาจึงเป็นหนี้คนละ 46,000 ดอลลาร์เมื่อจบการศึกษา  ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเล่าเรียนก็แพงขึ้น เงินสนับสนุนจากรัฐก็ลดลงจึงทำให้ชาวอเมริกันจบมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยน้อยลงจนน้อยกว่าสหภาพยุโรปแล้ว

การมีบ้านเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่ชาวยุโรปให้ความสำคัญ  นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษทุกโครงการจึงต้องเตรียมบ้าน 25-30% ของโครงการให้มีราคาที่คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้   ในเฮลซิงกิ อพาร์ตเม้นท์ใหม่ 40% ต้องเป็นอาคารสงเคราะห์ (Social Housing)  ส่วนในเนเธอร์แลนด์นั้น บ้านที่สร้างมาแล้วหนึ่งปี ถ้าไม่มีเจ้าของ ใครก็สามารถที่จะเข้าไปครอบครองได้  บ้านส่วนหนึ่งในยุโรปจะเป็นของรัฐหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีไว้ให้ทั้งคนยากจนและคนชั้นกลางอาศัย บ้านกลุ่มนี้มีไว้เพื่อไม่ให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขายบ้านในราคาสูงเกินไป และลดการเก็งกำไร   

นอกจากนั้นครอบครัวที่มีเด็ก หรือผู้อยู่อาศัยที่มีอายุระหว่าง 18-28 ปี และคนสูงอายุมีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือ  ยุโรปถือว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า 53% ของค่าเฉลี่ยประเทศเป็นผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่สหรัฐฯ ถือว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า 31% ของค่าเฉลี่ยประเทศจึงเป็นผู้มีรายได้น้อย  ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐฯ ก็ยังมีผู้มีรายได้น้อยมากกว่ายุโรปอยู่ดี  ชาวอเมริกันถึง 25% เป็นผู้มีรายได้น้อย ขณะที่เยอรมันและสวีเดนมีผู้มีรายได้น้อย 16% และ 6% เท่านั้น 

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่า ชาวอเมริกันร่ำรวยที่สุดในโลกและชาวยุโรปเสียภาษีแพงเกินไป ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เมื่อชาวอเมริกันรวบรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่พวกเขาต้องจ่าย พวกเขาก็จะทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว พวกเขาเสียภาษีถึงเกือบ 52%   นอกจากภาษีรายได้แล้ว พวกเขายังต้องเสียค่าเล่าเรียน เงินส่วนเพิ่มสำหรับประกันชีวิต ค่าธรรมเนียมซ่อนเร้นต่าง ๆ โดยไม่ได้รับบริการใด ๆ จากรัฐเลย  ในขณะที่ชาวยุโรปได้รับบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การดูแลเด็ก และผู้สูงอายุ รวมทั้งบำนาญจากภาษีที่พวกเขาเสียทั้งหมด  ในปี 2007 ชาวอเมริกันเสียค่าใช้จ่ายเองถึงคนละ 2,306 ดอลลาร์หรือคิดเป็น 31% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งประเทศ ในขณะที่ชาวยุโรปได้รับบริการฟรี

จริงอยู่ชาวยุโรปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 16-25% ในขณะที่ชาวอเมริกันเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงแค่ 6-8% แต่ชาวอเมริกันต้องเสียภาษีเพิ่มอีกสารพัด รวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกกว่า 20% ซึ่งเป็นบริการฟรีของชาวยุโรป  สหรัฐฯ คืนภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ให้มีค่าประกันสุขภาพมากถึงปีละกว่า 300 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเงินจำนวนนี้เพียงพอต่อการให้บริการสุขภาพกับชาวอเมริกันทั่วประเทศแล้ว  หากนำภาษี และผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับมาคำนวณภาษี เป็นไปได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านสังคมของสหรัฐฯ จะสูงกว่าที่รัฐบาลยุโรปแต่ละประเทศจ่ายสำหรับบริการด้านสังคมให้กับชาวยุโรปเสียอีก  การที่ระบบภาษีของสหรัฐฯ มีช่องว่างมากมายทำให้ผู้ประกอบการและชาวอเมริกันส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงภาษี  การบริการที่ดีของรัฐสวัสดิการส่งผลให้ชาวยุโรปซื่อสัตย์ต่อการแบ่งปันค่าใช้จ่ายของสังคมมากกว่าชาวอเมริกัน 

ในทศวรรษที่ 1970 ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 1% มีรายได้ 8% ของ GDP แต่ในปี 2007 พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 22% ของ GDP ในขณะที่พวกเขาเสียภาษีลดลงจาก 50% เหลือเพียง 35% เท่านั้น    คนยากจนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านคนหรือ 12.7% ของประชากรแล้ว ในขณะที่ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมันมีคนจนเพียงแค่ 6%, 8% และ 5% เท่านั้น  ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 10% ครอบครองความมั่งคั่งของประเทศสูงถึง 70% และคนมั่งคั่งที่สุด 1% มีทรัพย์สินมากกว่าคนมั่งคั่งน้อยที่สุด 95%  ในขณะที่คนมั่งคั่งที่สุด  10% ของเยอรมันครอบครองทรัพย์สินเพียงแค่ 44% เท่านั้น  ค่าตอบแทน CEO ของสหรัฐฯ สูงกว่าค่าตอบแทนของแรงงานถึง 475 เท่า ในขณะที่ค่าตอบแทน CEO ของอังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดนสูงกว่าแรงงานเพียงแค่ 24, 15 และ 13 เท่าเท่านั้น 

การที่ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อคนร่ำรวยทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ถูกยักย้ายไปยังบริษัทต่าง ๆ และกำไรของบริษัทที่หลั่งไหลไปยังคนชั้นล่างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  รายได้ของชาวอเมริกันระหว่างปี 2000-4 เฉลี่ยลดลงถึง 1,700 ดอลลาร์  หนี้ครัวเรือนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้น 15%  เงินออมก็ลดลงจาก 8% ของ GDP เหลือเพียง 0.4% เท่านั้น  หลังปี 2008 เงินออมของชาวอเมริกันก็ติดลบถึง 13% แล้วด้วย  ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมใน Atlanta, New Orleans, Washington DC เท่า ๆ กับ Nairobi เคนยา และ Abidjan ไอเวอรี่โคสต์ แล้ว  Ted Halstead ผู้ก่อตั้ง New America Foundation พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีระดับความยากจนเท่ากับประเทศกำลังพัฒนา  สถานการณ์การแข่งกันไปสู่หุบเหวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำกับแรงงานเหมือนกับที่เกิดขึ้นในจีน และอินเดียเลยทีเดียว 

ปัจจุบันการให้ความหมายกับคำว่าพัฒนาได้ทำให้เกิดการเพิ่มดัชนีที่มากกว่า GDP อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการว่างงานแล้ว  องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้เพิ่มดัชนี Economic Well-Being, Weighted Index of Social Development, Human Poverty Index, Genuine Progress Indicator, Ecological Footprint, Mothers Index, Quality of Life Index เพื่อวัดคุณภาพชีวิตด้วย เช่น ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อายุตามคาด ความยากจน อัตราการเกิดอาชญากรรม ความยั่งยืนของระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม ความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง และความมั่นคงในชีวิต  ดัชนีข้างต้นทั้งหมดของสหรัฐฯ บ่งว่าพวกเขาอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งนั้น 

การศึกษาพบว่าความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนำไปสู่อาชญากรรมและการฆาตกรรม  เมื่อสหรัฐฯ มีดัชนีความไม่เท่าเทียมกันสูง ก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงมีอาชญากรรมสูงและฆาตกรรมสูงที่สุดของประเทศพัฒนาแล้ว  จริงอยู่ยุโรปมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ แต่เป็นเพราะชาวยุโรปมองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงวิธีการเท่านั้น  พวกเขาจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  พวกเขาเพียงแต่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องสังคมและแรงงานเท่านั้น  เมื่อชาวยุโรปอยู่ในผ้าห่มที่อบอุ่นของสวัสดิการของรัฐ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวว่าความมั่งคั่งทั้งหมดจะหายไปกับค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ การตกต่ำของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นที่ผันผวน  

นอกจากสวัสดิการทั่วไปแล้ว ชาวยุโรปยังได้สวัสดิการเพิ่มเติมหรือแบบแปลก ๆ อีกมากมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ให้สวัสดิการกับพ่อแม่ 400 ดอลลาร์เพื่อไว้ซื้อเครื่องเขียนให้ลูกไปโรงเรียน ออสเตรีย เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์ให้วันพักร้อนเพิ่มสำหรับแรงงานอายุน้อย  ส่วนนอร์เวย์จะเพิ่มวันหยุดพิเศษสำหรับแรงงานที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป  เนเธอร์แลนด์และสวีเดนจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับวันลาพักร้อนพิเศษด้วย  การให้เงินสนับสนุนเพื่อการพักผ่อนเพื่อค้ำประกันว่าครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกัน และประชาชนไม่จำเป็นต้องทำงานมากเกินไปจนเกิดความเหนื่อยล้าอันจะส่งผลเสียต่องานมากกว่า  นอกจากนี้ยุโรปยังให้ค่าแรงสำหรับการลาป่วยด้วยเพื่อค้ำประกันว่าแรงงานจะไม่ไปทำงานทั้ง ๆ ที่ป่วยและจะไปแพร่เชื้อโรคให้กับเพื่อนร่วมงาน  ถ้าแม่ต้องการไปทำงาน รัฐบาลก็ค้ำประกันว่าเด็กจะมีผู้ดูแลอย่างดีโดยแม่ไม่ต้องเลือกระหว่างการเป็นแม่กับหน้าที่การงาน  ชาวเยอรมันยังได้ค่าไวอากร้ายาเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ค่าเสริมเต้านม ค่าเรียนทำอาหาร ค่าบริการแท็กซี่ รวมทั้งได้ค่าทำศพหลายพันยูโรด้วย

 ปัจจุบันแม้ชาวเยอรมันกำลังไม่พอใจมากจากการลดผลประโยชน์การตกงานลดลงจาก 32 เดือนเหลือเพียง 12 เดือน แต่ความรู้สึกไม่พอใจนี้ก็เหมือนกับที่ Daniel Kahneman กล่าวไว้ว่า ผู้คนมักไม่พอใจเมื่อพวกเขาสูญเสียสิ่งที่พวกเขามี มากกว่าความพอใจในการได้รับสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมี  แต่ชาวเยอรมันคงไม่ทราบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลประโยชน์เมื่อตกงานเลยแม้แต่เดือนเดียว  แรงงานชาวยุโรปทราบดีว่าหากพวกเขาปฏิบัติตัวตามปกติตามแบบแผนที่ได้รับการออกแบบไว้ พวกเขาก็จะได้ค่าแรงที่เหมาะสม ชีวิตที่มีคุณภาพและการเกษียณที่สะดวกสบายรออยู่  รัฐสวัสดิการของยุโรปนี้ไม่เพียงครอบคลุมแรงงานปกติเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงแรงงานล่วงเวลาด้วย

เมื่อรัฐบาลยุโรปที่จำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือทางการเงินกับภาคการเงินที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในปี 2008 พวกเขาวางกฎเหล็กมากมายสำหรับความช่วยเหลือ เช่น การลดค่าตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และนายธนาคาร  รัฐบาลหลายประเทศเข้าถือครองธนาคารเองเลย เช่น รัฐบาลเยอรมันเข้าถือครองหุ้น 25% ใน Commerzbank แลกกับเงิน 13 พันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มทุน  ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงใส่เงินดี ๆ เข้าไปในสถาบันเลว ๆ เช่น Citigroup โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น  นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกันทั่วทั้งทวีปเร็วกว่าสหรัฐฯ ด้วยโดยใช้เงินไปเพื่อให้เกิดการจ้างงาน คงไว้ซึ่งการใช้จ่ายของภาคเอกชนและเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ชาวยุโรปที่ประสบปัญหาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจก็ได้รับเงินสวัสดิการจากการตกงานซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพในชีวิตโดยอัตโนมัติ   เครื่องมือเหล่านี้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมมากมาย ทั้งนี้เพราะความเจ็บปวดของประชาชนได้รับการลดทอนไปโดยระบบอัตโนมัติที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว  บริษัทเยอรมันมีมาตรการลดทอนเวลาทำงานของแรงงานทั้งหมดแทนการไล่ออก และรัฐบาลก็จ่ายเงินชดเชย 2 ใน 3 ให้กับค่าแรงที่ลดลงของแรงงาน   นโยบายเช่นนี้ไม่เพียงให้ผลดีต่อแรงงาน ยังทำให้บริษัทสามารถรักษาแรงงานที่มีทักษะไว้ได้เพื่อรอเศรษฐกิจเติบโตรอบใหม่  การเลิกจ้างมากมายทำให้ในปี 2008  สหรัฐฯ มีแรงงานตกงานทันทีถึง 3 ล้านคน   นโยบายการเลิกจ้างนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่ชาวอเมริกันยึดถือที่มีการแบ่งกันระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ 

ในปี 2009 รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปให้เงินสนับสนุนผู้ออกรถใหม่ 1,300-3,000 ดอลลาร์กับการเอารถเก่ามาแลกเพื่อประคองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  รัฐบาลอิตาลีให้เงินสนับสนุนถึง 6,500 ดอลลาร์สำหรับการเอารถเก่าเกินสิบปีมาแลกกับรถใหม่ที่ใช้ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจนหรือก๊าซธรรมชาติ  นโยบายเหล่านี้ทำให้แรงงงานในเยอรมันและสเปนซึ่งมีโรงงานผลิตรถอยู่เป็นจำนวนมากสามารถที่จะมีงานทำได้ตามปกติ 

นโยบายหลักในการทำธุรกิจของบริษัทในเยอรมันต่างกับในสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง พวกเขาให้ความสำคัญกับผลกำไรระยะยาว และยอมให้มีตัวแทนจากแรงงานเข้าไปบริหารในคณะกรรมการด้วยส่งผลให้การกระจายรายได้ และความช่วยเหลือต่อแรงงานมีมากกว่าในสหรัฐฯ  กลยุทธ์เช่นนี้ทำให้ทุกคนในองค์กรต้องให้ความสำคัญกับผลประกอบการระยะยาวเพราะทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน  การที่กลยุทธ์ในการทำธุรกิจของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ผลิตอะไรอีกแล้ว นอกจากภาคการเงินซึ่งไม่มีผลผลิตที่เป็นชิ้นเป็นอันออกสู่ตลาด  หนทางที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ ก็คือ การตั้งเป้าหมายใหม่ให้เป็นเศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ แทนการปล่อยให้ภาคการเงินทำลายเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลกเหมือนอย่างที่ผ่านมา

ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของประเทศพัฒนาแล้วมี 3 แบบ 1. แบบที่รัฐจ่ายเพียงฝ่ายเดียว เช่น อังกฤษ แคนาดา สวีเดน 2. แบบรับผิดชอบร่วมกันโดยค่าใช้จ่ายมาจากเงินเดือนของแรงงานและนายจ้าง เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมันและญี่ปุ่น ระบบนี้ดูเหมือนจะดีที่สุดเพราะประชาชนมีทางเลือกและระยะเวลาการรอคอยก็ไม่นานมาก  3. แบบระบบเอกชนที่ใช้บริษัทประกันของสหรัฐฯ ระบบนี้ของสหรัฐฯ มองผู้รับบริการเหมือนตู้เอทีเอ็มที่ต้องออกค่าธรรมเนียมราคาสูง ในขณะที่รับบริการน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

การที่ชาวอเมริกันถึง 47 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ และชาวอเมริกันถึงกว่า 1 ใน 3 ไม่มีประกันสุขภาพเป็นครั้งคราวนี้บั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาก ทั้งนี้เพราะไม่เพียงแรงงานจะสุขภาพไม่ดีแล้ว การไม่มีประกันสุขภาพยังสร้างแรงกดดันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย  การไม่มีระบบประกันสุขภาพที่ดีให้กับชาวอเมริกัน นี้ทำให้อัตราตายของทารก อายุตามคาด จำนวนแพทย์และเตียงพยาบาล และความผิดพลาดทางด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ สูงกว่าประเทศพัฒนาอื่น ๆ แล้ว  ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐฯ กลับมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึงคนละ 6,500 ดอลลาร์หรือ 16.5% ของ GDP สูงกว่าฝรั่งเศสที่ใช้ 3,500 ดอลลาร์และได้อันดับหนึ่งในการดูแลสุขภาพเสียอีก  การที่ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่า ทำให้บริษัทประกันพยายามหลีกเลี่ยงการให้บริการทุกรูปแบบ แต่ยังคงเก็บเบี้ยประกันในราคาที่สูงมาก และ CEO ของ UnitedHealth Group องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรจึงมีรายได้สูงถึง 125 ล้านดอลลาร์ด้วย 

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าบริการสาธารณสุขดีที่สุดในโลกนั้นใช้ระบบการบริการภาคเอกชนเช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ  ชาวฝรั่งเศสสามารถเลือกแพทย์คนใดก็ได้ที่พวกเขาต้องการและแพทย์ต้องแสดงค่าธรรมเนียมไว้บนผนังเพื่อให้ผู้รับบริการรับทราบ  กองทุนสุขภาพของฝรั่งเศสคิดเป็น 13% ของค่าแรงโดยสัดส่วนของนายจ้างต่อลูกจ้างเท่ากับ 70% ต่อ 30%  ส่วนคนยากจนรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด  การควบคุมค่าใช้จ่ายเกิดจากการต่อรองระหว่างรัฐบาลและตัวแทนทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย    ส่วนออสเตรียนั้น แรงงานต้องจ่ายเงินสำหรับประกันสุขภาพเดือนละ 17 ดอลลาร์ แต่หากเขาไม่ใช้บริการ 12 เดือนขึ้นไปก็จะได้เงินคืน 3 เดือน  ส่วนระบบประกันสุขภาพของเยอรมันก็สะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคมโดยเด็กจะช่วยคนแก่ คนรวยช่วยคนจนและคนแข็งแรงช่วยคนเจ็บป่วย  ค่าประกันสุขภาพจะถูกหักจากเงินเดือน 6-7% และนายจ้างสมทบอีกในจำนวนเท่า ๆ กัน  การที่สหรัฐฯ ไม่สามารถให้ประกันสุขภาพกับประชาชนทุกคนได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เพรามันจะไปกระทบกับกำไรของบริษัทประกัน  

สหรัฐฯ มีประชากรเพียงแค่ 5% ของโลก แต่ใช้น้ำมันถึง 25% ของที่ผลิตในโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 เท่าของสหภาพยุโรปจนมีอันดับคุณภาพอากาศอันดับที่ 97 จาก 133 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เพราะยุโรปเข้าสู่การปฏิวัติทางด้านการใช้พลังงานแล้ว   ยุโรปใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากจากนวัตกรรมมากมายที่ลดการใช้พลังงาน เช่น 1. การใช้พลังงานลม สเปน เยอรมันและเดนมาร์กใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า 6%,  8% และ 20% ตามลำดับ  ยุโรปจึงใช้พลังงานไฟฟ้าจากลมมากถึง 3 ใน 4 ของที่ผลิตขึ้นในโลก  2. พลังงานแสงอาทิตย์ ชาวยุโรปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไปทำความร้อนเพื่อใช้ในการอาบและซักผ้า  พวกเขายังมีการใช้ thin-film solar cell ที่มีต้นทุนเพียงแค่ 10% ของโซ่ล่าร์เซลเดิมด้วย  3. พลังงานน้ำใต้ทะเลสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า โปรตุเกสเป็นประเทศแรกที่ติดกังหันน้ำใต้ทะเลเพื่อเปลี่ยนคลื่นเป็นกระแสไฟฟ้าให้กับครอบครัวรอบชายฝั่งถึง 15,000 หลังคาเรือนจนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30 ล้านตัน  4. พลังงานความร้อนใต้โลกสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใน อิตาลี ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมันและโปรตุเกส   การใช้พลังงานทดแทนเหล่านี้ไม่เพียงลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมนวัตกรรม ประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น ยังเป็นการสร้างงานให้กับแรงงานได้อีกมากด้วย    

การศึกษาของ McKinsey พบว่าภาคครัวเรือน การค้า การขนส่ง อุตสาหกรรมและการผลิตเป็น 5 ภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุดโดยภาคครัวเรือนเป็นภาคที่ใช้พลังงานสูงสุดถึง 25% ของทั้งหมด และเป็นภาคที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย  ในขณะที่ชาวยุโรปมีบ้านขนาดเล็กลง แต่บ้านของชาวอเมริกันกลับใหญ่กว่าเมื่อ 25 ปีก่อนถึง 40%  บ้านของชาวอเมริกันจึงใหญ่เป็น 2 เท่าของชาวยุโรปตะวันออก  เดนมาร์กเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก พวกเขาใช้พลังงานเพียงแค่คนละ 6,600 วัตต์เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตเท่ากับชาวอเมริกันที่ใช้พลังงานถึงคนละ 13,300 วัตต์  การใช้พลังงานของชาวเดนซ์จึงไม่เพิ่มขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว ในขณะที่การใช้พลังงานของชาวอเมริกันกลับเพิ่มขึ้นถึง 40% 

อาคารในยุโรปที่สร้างหลังทศวรรษที่ 1990 ทั้งหมดจะต้องได้รับการออกแบบให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  การออกแบบจึงต้องให้ความสำคัญกับตำแหน่งของแสงอาทิตย์ การมีฉนวนป้องกันความร้อน และใช้หลังคาโซล่าร์เซลล์  การออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานนี้ยังลดต้นทุน กระตุ้นมูลค่า เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพิ่มสุขภาพและผลผลิตให้กับแรงงานด้วย  การศึกษาพบว่าผลผลิตของแรงงานในอาคารประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 6-16% อันเป็นผลมาจากการได้ใช้แสงธรรมชาติ หน้าต่างที่มากขึ้นและคุณภาพของอากาศที่ดีขึ้น  การขายสิทธิการปล่อยคาร์บอนก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่กระตุ้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้

 นอกจากการเดินและการปั่นจักรยานแล้ว เพชรน้ำหนึ่งของยุโรปในการเดินทางก็คือ รถไฟ  รถไฟของยุโรปมีชื่อเสียงทั้งทางด้านประสิทธิภาพ ความเร็ว การตรงต่อเวลา ความสะดวกสบาย ประหยัดและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย  การเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงในยุโรปจึงสามารถแข่งขันกับการเดินทางทางอากาศได้อย่างสบาย และยังทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ามากด้วย  การศึกษาพบว่าการเดินทาง 1 ไมล์ของสหรัฐฯ ใช้พลังงานมากกว่าการเดินทางในยุโรปและญี่ปุ่นถึง 37%  หากสหรัฐฯ ใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพเท่ายุโรปและญี่ปุ่น พวกเขาจะใช้น้ำมันลดลงถึงวันละ 4 ล้านบาร์เรลหรือปีละ 1.5 พันล้านบาร์เรลเลยทีเดียว 

แทนที่สหรัฐฯ จะส่งเสริมการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ รัฐบาลกลับเพิ่มเงื่อนไขที่ดีให้กับผู้ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อซึ่งใช้พลังงานสูงขึ้นไปอีก  ยุโรปยังมีมาตรการลดการใช้รถลงอีกด้วย เช่น ลอนดอนเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ใช้งานในบริเวณหนาแน่นอีก 8 ปอนด์เพื่อนำรายได้ไปใช้กับการขนส่งมวลชนส่งผลให้การจราจรหนาแน่นลดลง  นโยบายเก็บค่าธรรมเนียมนี้ลดปริมาณรถในสต็อกโฮมและโรมลงถึง 20% เลยทีเดียว  การผลิตแอลกอฮอลล์เพื่อใช้แทนน้ำมันในยุโรปผลิตจากหญ้า ฟาง และขี้เลื่อย ในขณะที่สหรัฐฯ ผลิตจากข้าวโพดจึงไปแย่งการผลิตอาหารจนส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 

ภาษีคาร์บอนที่มาจากแนวคิดที่ว่า จะเก็บภาษีจากสิ่งที่มนุษย์เผาผลาญ ไม่ได้เก็บภาษีจากสิ่งที่พวกเขาหาได้เป็นภาษีที่ออกแบบมาเพื่อลดกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากหรือใช้พลังงานอย่างขาดประสิทธิภาพ ให้รางวัลกับผู้ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเปลี่ยนอุปนิสัย  และกระตุ้นการสร้างนวัตกรรม แม้สหภาพยุโรปจะใช้นโยบายต่าง ๆ มาแล้วก็ตาม พวกเขายังต้องเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ 1. การกระจายอำนาจของสหภาพยุโรป ทำให้นโยบายและเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศเลือกใช้มีความหลากหลายจนทำให้ขาดความสามารถในการประหยัดจากขนาด  ยิ่งกว่านั้นความชื่นชอบหรือวัฒนธรรมที่ต่างกันก็ยังสร้างความโกลาหลให้กับนโยบาย เช่น เยอรมันชอบความเร็วทำให้พวกเขาต่อต้านการจำกัดความเร็วรถ ฝรั่งเศสผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทำให้การยกเลิกการใช้นิวเคลียร์พร้อมกันทั้งภูมิภาคทำได้ยาก  2. บริษัทด้านพลังงานใหญ่ ๆ เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้การแข่งขันและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเกิดขึ้นได้ยาก  3. การเมืองระดับโลกทางด้านพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง รัสเซีย  การที่รัสเซียเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติของยุโรปถึง 40% เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับยุโรป แม้ยุโรปจะใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเพียงแค่ 6% ก็ตาม  สหภาพยุโรปจึงพยายามที่จะแบ่งปันการใช้พลังงานร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทะเลเหนือเพื่อป้องกันความผันผวนจากรัสเซียและราคาพลังงานโลก

สหรัฐฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดียย่อมไม่ร่วมมือในการลดการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแน่นอน  การมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง สถาบันที่ถูกต้องและการเป็นผู้นำที่ดีย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับว่าสหรัฐฯ มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้นำที่ก้าวหน้ากว่ายุโรปหรือไม่

ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศนั้น แทนที่ยุโรปจะใช้นโยบายทางทหารกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ใช้ พวกเขาใช้นโยบายการค้า การสร้างเครือข่ายและการให้ความช่วยเหลือแทนเพื่อยุติความขัดแย้งหรือครอบครองทรัพยากรบนฐานความคิดที่ว่า การที่ประเทศต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะสู้รบกันได้  นโยบายนี้มีรากฐานมาจากกลยุทธ์ของ Monnet ผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปนั่นเอง  ชาวยุโรปเชื่อว่าอำนาจแบบนุ่มนวล (Soft Power) เป็นอำนาจที่ดีกว่าเพราะมันมาจากความเห็นร่วมกันระหว่างผู้เล่นและกลุ่มผลประโยชน์

Mark Leonard ผู้เขียน Why Europe Will Run the 21st Century เห็นว่าโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะไม่ใช่โลกที่มีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวแล้ว  แต่ประเทศส่วนใหญ่จะเดินตามรอยเท้าของสหภาพยุโรป ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงของสหภาพยุโรปเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในซึ่งไม่มีการคุกคามหรือความรุนแรง  ยุโรปมีหลายหนทางให้แต่ละประเทศเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงตลาด เงินช่วยเหลือ และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แต่ประเทศเหล่านั้นก็ต้องทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยธรรม ประชาธิปไตยและตลาดเสรี  การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถเข้าถึงทางเลือกที่สหภาพยุโรปจัดเตรียมไว้ให้นี้ทำให้แต่ละประเทศต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายในในทุก ๆ เรื่อง 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเห็นว่าวิธีการของสหภาพยุโรปในการเปลี่ยนแปลงประเทศต่าง ๆ เหมือนกับวิธีการควบรวมกิจการของบริษัท  สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับโครงสร้างของกฎหมาย และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยใช้แรงจูงใจมากกว่าการคุกคามหรือใช้กำลัง  ยุโรปสามารถเปลี่ยนแปลงสาธารณรัฐเช็กและฮังการีจากภายในจนพวกเขายินดีที่จะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและปฏิบัติตามกฏหมายลิขสิทธิต่าง ๆ  เมื่อใดที่ประเทศเหล่านี้ถูกดึงดูดเข้าไปในเครือข่ายของสหภาพยุโรปแล้ว พวกเขาก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดกาล  ในขณะที่สหรัฐฯ ส่งกำลังเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านกว่า 15 ครั้งในรอบ 50 ปี แต่พวกเขากลับไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อนบ้านได้เลย และสุดท้ายสหรัฐฯ ก็ต้องส่งกำลังทหารเข้าไปอีก 

แม้แต่ตุรกีประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ได้ยกเลิกโทษประหาร การทรมานในคุกและการใช้กำลังทางทหารปราบปรามด้วยความหวังที่จะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเช่นกัน  ทั้ง ๆ ที่สหภาพยุโรปใช้เงินเพียงแค่ 10% ในการเปลี่ยนแปลงตุรกี เทียบกับค่าใช้จ่ายที่สหรัฐฯ บุกอิรัก  สหภาพยุโรปเห็นว่าเงินช่วยเหลือ เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต  พวกเขาจึงใช้เงินกับเพื่อนบ้านเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ใช้ในแผนมาร์แชลเพื่อช่วยเหลือยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  นโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปต่อประเทศยากจนก็เข้าใจได้ง่ายกว่าสหรัฐฯ เพราะพวกเขาไปพร้อมเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลือต่าง ๆ  กว่า 80 ประเทศตั้งแต่แอฟริกาเหนือถึงอานาโตเรียกลายเป็นประเทศรอบ ๆ สหภาพยุโรปที่ไม่เพียงได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน การเข้าถึงตลาด พวกเขายังเป็นเครือข่ายการค้าของสหภาพยุโรปด้วย 

ในปี 2008 ประธานาธิบดี Nicholas Sarkozy ของฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายสหภาพยุโรปรอบเมดิเตอร์เรเนียนจนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลและประธานาธิบดีซีเรียมานั่งเจรจาบนโต๊ะเดียวกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์  จริงอยู่ข้อตกลง 6 ข้อระหว่างผู้นำรอบเมดิเตอร์เรเนียนนี้อาจมิใช่หัวข้อใหญ่ เช่น การกำจัดมลพิษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การเพิ่มการขนส่งทางเรือ การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ การร่วมมือกันจัดการกับภัยพิบัตรทางธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนนักเรียนและการทำธุรกิจ  แต่มันสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายสิบปี ทั้งนี้เพราะมันสามารถเป็นบ่อเกิดของความไว้เนื้อเชื่อใจ การร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันได้ในอนาคต  

ในปี 2009  Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันก็ริเริ่มความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศยูเครน จอร์เจีย มอโดวา อาร์มาเนีย เบลารุส และอาเซอร์ไบจันขึ้น  สหภาพยุโรปพยายามที่จะฝังความแตกต่างและเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันขึ้นเพื่อสันติภาพ ประชาธิปไตยและตลาดเสรี  ประเทศเล็ก ๆ ต่างเห็นข้อดีของการร่วมมือกันในภูมิภาคตามอย่างสหภาพยุโรปเพราะพวกเขาทราบดีว่าการเป็นประเทศเล็ก ๆ ขาดอำนาจต่อรอง

Robert Kagan นักวิเคราะห์เห็นว่า นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปแตกต่างกันมาก ทั้งสองราวกับมาจากคนละโลก  ทั้ง ๆ ที่สหภาพยุโรปเองก็ใช้เงินไปกับการทหารมากถึง 319 พันล้านดอลลาร์รองจากสหรัฐฯ จำนวนทหารของสหภาพยุโรปก็มากกว่าสหรัฐฯ  ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปส่งกำลังทหารหลายหมื่นเข้าไปในดินแดนที่มีความขัดแย้งมากถึง 21 ครั้ง รวมทั้งในอัฟกานิสนถาน เลบานอน โคโซโว คอนโกและไอร์แลนด์เหนือ แต่กำลังทหารของสหภาพยุโรปมิได้ถูกส่งไปรบ พวกเขาไปเพื่อสร้างสันติภาพมากกว่า  สหภาพยุโรปเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดจากสงครามในทวีปตัวเองแล้ว พวกเขาจึงพยายามใช้ทางเลือกอื่น นั่นคือ การใช้สันติภาพและความมั่งคั่งในการขอความร่วมมือมากกว่า 

สหรัฐฯ ไม่เคยตระหนักเลยว่าตะวันออกกลางเป็นชายแดนของสหภาพยุโรป  ความเสียหายที่สหรัฐฯ ก่อกับประเทศในตะวันออกกลางย่อมส่งผลกระทบกับสหภาพยุโรปด้วย  การใช้กำลังทหารรังแต่จะสร้างความแตกแยกและบ่มเพาะการก่อการร้าย  สหภาพยุโรปเชื่อว่าการชนะสงครามคือการสร้างสันติภาพขึ้นบนโลก 

ปัจจุบันสหภาพยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจที่ได้รับความเคารพนับถือ แม้พวกเขาจะใช้กำลังทหารน้อยก็ตาม  แต่ทั่วโลกต่างยังกังขาว่านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปจะใช้ได้ผลกับความขัดแย้งทั่วโลกได้หรือไม่  แม้สหภาพยุโรปประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนเผด็จการของสเปน โปรตุเกส ตุรกีและประเทศยุโรปตะวันออกก็จริง แต่การใช้วิธีเดียวกันกับทุกประเทศทั่วโลกอาจไม่ง่ายนักไม่ว่ากับจีน อินเดีย เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง

สหภาพยุโรปมองว่าจีนต้องการการค้าและการพัฒนา  พวกเขาจึงไม่เพียงลงทุนในจีน ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีและ Know How ให้ด้วย  นโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรปต่อจีนมี 3 เรื่องคือ การปฏิรูปการเมืองและสิ่งแวดล้อม โลกร้อนและสิทธิมนุษยชน  สหภาพยุโรปกำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนจีนให้เข้ามาตรฐานยุโรป  พวกเขาเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความทันสมัยจะค่อย ๆ นำจีนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย   จริงอยู่ ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจ  แต่ Paul Kennedy ผู้เขียน Rise and Fall of the Great Power เตือนสหรัฐฯ แล้วว่าสถานการณ์ของสหรัฐฯ ในปัจจุบันก็เหมือนกับมหาอำนาจที่ล้มเหลวในอดีตนั่นคือ พวกเขาใช้งบประมาณทางการทหารสูงเกินไปและมีงบประมาณขาดดุลที่มากเกินไปซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลล้มละลายในที่สุด  ปัจจุบันโลกในกลุ่มที่สองกำลังดูโมเดลทั้งของสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีนว่า พวกเขาควรเลียนแบบใคร  สหภาพยุโรปควรเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสันติภาพในทุกภูมิภาค และสหรัฐฯ ควรยอมให้สหภาพยุโรปได้เป็นผู้นำในการสร้างเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มากขึ้น 

คนส่วนใหญ่คงสงสัยว่าความสำเร็จของสหภาพยุโรปเกิดขึ้นได้อย่างไร  แท้ที่จริงแล้วความสำเร็จของสหภาพยุโรปเกิดจากปัจจัยหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นประชาธิปไตย   จริงอยู่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมมีผลต่อชีวิตประจำวัน แต่ประชาธิปไตยเป็นหนทางที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจว่าใครควรจะอยู่ที่หัวโต๊ะและออกนโยบายที่ส่งผลกระทบกับทุกชีวิตในสังคม  ในระบอบประชาธิปไตยนั้น สถาบันการเมืองมีหน้าที่หล่อหลอมทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  สหภาพยุโรปมักใช้คำว่าความเห็นร่วมกันในการให้ได้มาซึ่งข้อสรุปจากความเห็นที่แตกต่างกัน  ความสามารถในการได้มาซึ่งความเห็นร่วมกันนั้นกำลังเป็นสิ่งสำคัญ 

สหรัฐฯ ใช้วิธีการที่ผู้ชนะได้ไปทั้งหมดเป็นต้นกำเนิดของการออกแบบการเลือกตั้งจนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชนกลุ่มน้อยและคนกลุ่มใหญ่  ในขณะที่สหภาพยุโรปใช้ระบบหลายพรรคจึงทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยเติบโตได้ดี  ผู้บริหารประเทศของยุโรปจะต้องตอบคำถามฝ่ายค้านทุกคำถามทางโทรทัศน์จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบปกปิดหรือตามอำเภอใจได้  เยอรมันยังมีระบบให้เด็กนักเรียนเลือกตัวแทนเข้าไปเสนอกฎหมายในรัฐบาลท้องถิ่นได้ด้วย

 ส่วนตัวแทนในสภาล่างของสหรัฐฯ นั้นมิได้เป็นตัวแทนที่ดี ทั้งนี้เพราะผู้แทนในสภาเป็นชายถึง 80% และเป็นคนขาวถึง 80% ในขณะที่ประเทศมีคนขาวเพียงแค่ 67% และเป็นผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่  ยิ่งสภาสูงด้วยแล้ว ยิ่งไม่สามารถเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันได้เลย เพราะประกอบด้วยผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 63 ปีโดยมีคนดำและผิวสีเพียงแค่ 5% และผู้หญิงเพียงแค่ 17% เท่านั้น  ในขณะที่ตัวแทนสภาของเยอรมันนั้น 32% เป็นผู้หญิงและมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 49 ปีเท่านั้น  ตัวแทนเหล่านี้มาจากทุกสาขาอาชีพจึงส่งผลให้ความเห็นร่วมกันที่เกิดขึ้นมักให้ประโยชน์กับคนทุกกลุ่มใกล้เคียงกัน  ระบบผู้ชนะได้คะแนนทั้งหมดของสหรัฐฯ นั้นทำให้ผู้ออกคะแนนเสียงเสียประโยชน์ ซ้ำยังทำให้พวกเขาต้องเลือกเพียงข้างใดข้างหนึ่งด้วย  เมื่อคะแนนเสียงถูกแบ่งเป็นสองข้าง ภาษีของฝ่ายหนึ่งอาจตกไปอยู่ในกรรมมือของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างง่ายดาย  ยิ่งกว่านั้นผู้แทนจากรัฐที่มีประชากรน้อยและเสียภาษีน้อยอาจสามารถยับยั้งผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนในชาติได้ด้วย  รัฐที่มีพลเมืองน้อยที่มักเป็นรัฐอนุรักษ์ และเก็บภาษีต่อหัวประชากรได้ต่ำมักมีคะแนนเสียงข้างมากในสภา พวกเขาจึงกลายเป็นผู้ใช้ภาษี และแต่งตั้งผู้พิพากษาที่อนุรักษ์

ระบบของสหภาพยุโรปนั้นมีหลายพรรค และแต่ละรัฐสามารถมีผู้แทนได้หลายคนซึ่งอาจมาจากคนละพรรคก็ได้  ระบบหลายพรรคจึงส่งเสริมการถกเถียงและการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะทุกเสียงมีค่าที่จะสร้างความพลิกผันได้  การที่สภาของสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มีตัวแทนเป็นผู้หญิงทำให้นโยบายเกี่ยวกับครอบครัวได้รับความสนใจสูง  สวีเดนมีตัวแทนเป็นผู้หญิงถึง 47% ในขณะที่ฟินแลนด์ เนอร์เธอแลนด์ก็มีถึง 41%  กลุ่มที่ดูเหมือนจะมีปัญหาที่สุดในสหภาพยุโรปคือชนกลุ่มน้อย พวกเขามีตัวแทนในสภาน้อยมาก ทั้งนี้ไม่เพียงเป็นผลจากการแบ่งแยกผิวเท่านั้น ยังเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ด้วย 

การที่สหภาพยุโรปใช้ระบบสัดส่วนในการถือครองที่นั่งก็เพื่อค้ำประกันว่าคนทุกภาคส่วนในสังคมมีตัวแทนในสภา  แม้ในระยะแรกการได้มาซึ่งความเห็นร่วมกันสำหรับตัวแทนที่หลากหลายอาจเป็นเรื่องยาก แต่ในระยะยาวพวกเขาก็สามารถที่จะปรับตัวจนได้ข้อสรุปอยู่ดี และยังทำให้การเผชิญหน้าต่อความท้าทายเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย  Arend Lijphart ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโกเห็นว่า ประเทศที่ใช้ระบบหลายพรรคจะประสบความสำเร็จมากกว่า ออกกฎหมายที่ให้ประโยชน์กับแรงงานมากกว่า มีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และมีการจัดการภาคเศรษฐกิจมหาภาคที่ดีกว่าด้วยอันเป็นผลมาจากความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวแทนที่มาจากคนหลากหลายกลุ่ม

โดยทั่วไปประชาธิปไตยต้องเป็นไปเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูล  หากประชาชนได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องแล้วพวกเขาก็จะสามารถเชื่อใจรัฐบาลได้  โครงสร้างการสื่อสารที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและการถกเถียงทางการเมืองจะประกอบด้วย เงินสนับสนุนพรรคการเมือง การให้เวลากับผู้สมัครตามสื่อสาธารณะ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ทความเร็วสูง และการกระจายข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ  กฎหมายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่จะมีเงินสนับสนุนให้กับพรรคการเมืองถ้าพวกเขาสามารถได้รับการเลือกตั้งอย่างน้อย 1%  เงินสนับสนุนที่พรรคการเมืองได้รับไม่เพียงใช้สำหรับการหาเสียงเท่านั้น มันยังถูกใช้ไปในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ออฟฟิศ และแรงงาน 

ความสามารถในการเข้าถึงสื่อสาธารณะอย่างเท่าเทียมเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระดับการแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม  พรรคจะได้เวลาหาเสียงตามเสียงที่เคยเลือกได้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน  แม้พรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยก็จะได้เวลาออกอากาศไม่ต่ำกว่า 5 นาที  การออกอากาศจะทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงได้มีโอกาสรับทราบนโยบายทุกพรรคเพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โทรทัศน์และวิทยุของสหภาพยุโรปล้วนเป็นเครือข่ายที่แน่นแฟ้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างถ้วนหน้า และเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน  สถานีวิทยุส่วนใหญ่ในสวีเดน เยอรมันและอังกฤษได้รับเงินสนับสนุนถึง 50-90 ดอลลาร์ต่อหัวประชากร สถานีวิทยุ BBC ก็ได้เงินจากค่าธรรมเนียมครัวเรือนละ 15-170 ดอลลาร์ต่อปี พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเกรงว่าจะขาดเงินสนับสนุนเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนไป และยังทำให้พวกเขาสามารถเสนอข่าวได้อย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลด้วย  สื่อในสหภาพยุโรปจึงทำหน้าที่เป็นจุดส่วนถ่วงทั้งในแง่ข่าวและการเสนอข้อมูลให้กับสาธารณะ  ในขณะที่สหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนเพียงแค่ 3 ดอลลาร์ต่อหัวประชากรเท่านั้น  เมื่อสื่อของสหรัฐฯ จำเป็นต้องหารายได้จากภาคเอกชน พวกเขาจึงต้องระมัดระวังการเสนอข่าวที่อาจกระทบต่อรายได้  

ชาวยุโรปนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ เยอรมันเพียงประเทศเดียวก็มีหนังสือพิมพ์รายวันมากถึง 13 ฉบับแล้ว  Bild เป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากถึง 4 ล้านฉบับมากกว่า USA Today หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดของสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า แม้ชาวเยอรมันจะมีจำนวนเพียงแค่ 25% ของชาวอเมริกันก็ตาม  รัฐบาลสวีเดนเชื่อว่า กลุ่มคนพิเศษก็ต้องการข้อมูลเพื่อที่รัฐจะได้ข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกัน  ในสวีเดนจึงมีหนังสือพิมพ์สำหรับกลุ่มที่อ่านหนังสือไม่เก่ง กลุ่มที่อ่านหนังสือไม่ได้ กลุ่มที่สายตาเสีย คนแก่ ผู้อพยพใหม่  หนังสือพิมพ์จึงต้องนำเสนอด้วยวิธีการที่แปลกกว่าปกติ เช่น ตัวอักษรใหญ่ บทความสั้น อ่านง่าย แต่ให้ข้อมูลเช่นเดียวกัน  การอ่านหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องสำคัญเพราะมันกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือออก  มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและได้ข้อมูลมากขึ้น  รัฐยังให้การสนับสนุนในเรื่องอินเทอร์เน็ทความเร็วสูง ทั้งนี้เพราะรัฐเชื่อว่ามันช่วยให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย  การที่สื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถทำหน้าที่กระจายข่าวสารให้กับสาธารณะได้ทำให้ชาวอเมริกันไม่สามารถที่จะเรียนรู้โลกภายนอกได้

Henry Milner นักรัฐศาสตร์ เห็นว่าลักษณะสถาบันของสหภาพยุโรป การให้เงินสนับสนุนสื่อ และระบบตัวแทนแบบสัดส่วนทำให้ประชาชนเป็นคนมีความรู้   ชาวยุโรปจึงไม่เพียงมีประสบการณ์ทางการเมือง ทราบถึงผลกระทบของนโยบายต่อผลประโยชน์ของพวกเขาและชุมชน  ยังสามารถตัดสินใจในเรื่องที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดีด้วย  เรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยุติธรรม การให้บริการสาธารณสุขที่ดี นโยบายพลังงาน ความปลอดภัยในครอบครัว นโยบายต่างประเทศที่สมดุลล้วนเป็นไปเพื่อตอบคำถามเดียว นั่นคือ ใครคือผู้ได้ประโยชน์

โดยทั่วไปแต่ละประเทศไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบอะไรต่างมีสัญญาประชาคมที่ประชาชนและผู้นำต้องยึดถือ  ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ล้วนอยากมีคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกันกับชาวอเมริกันและชาวยุโรป แต่พวกเขากำลังมาถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะใช้หนทางใดกันแน่ในการพัฒนาต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพราะหนทางของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่อง 1. บทบาทและขนาดทางการทหาร สหรัฐใช้ทหารเป็นหนทางของอำนาจและการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าทางสังคมด้วย  2. สิทธิบัตร อิสรภาพ ความเท่าเทียมกันและบทบาทของรัฐซึ่งนำไปสู่การเขียนกฎ กฎหมายและสัญญาประชาคมที่แตกต่างกัน

ในสหภาพยุโรปเรื่องของสิทธิบัตรหรือสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องสัมบูรณ์เหมือนอย่างในสหรัฐฯ ชาวยุโรปมองว่าผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรมีหน้าที่ที่จะใช้สมบัติชิ้นนี้กับสังคมส่วนรวมด้วย  ชาวยุโรปมองว่าความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ต้องแบ่งปันร่วมกัน  ทุกคนจึงต้องมีสิทธิในเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม  รัฐบาลจะต้องเป็นที่หลบภัยสุดท้ายของสมาชิก และมีหน้าที่จะต้องสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมด้วย  รัฐจึงต้องสร้างเครื่องมือในการจัดการในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม และการเมืองรุนแรง

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีอำนาจน้อยมากในเรื่องสิทธิบัตร  ชาวอเมริกันเชื่อว่ารัฐบาลไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่มักเป็นปัญหาเสียเอง  รัฐบาลจอร์จ บุชจึงได้แก้กฎหมายภาษีใหม่โดยลดภาษีมากมายให้กับคนรวย อีกทั้งยังยกเลิกการกำกับดูแลธนาคาร ภาคการเงินและการปล่อยสินเชื่อบ้าน  Will Houtton CEO ของ Work Foundation กล่าวว่าความแตกต่างทางด้านความคิดของสหรัฐฯ และยุโรปนี้มีรากฐานมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรมแล้ว  สหรัฐฯ ถือกำเนิดมาจากการกบฏ พวกเขาจึงเชื่อว่ามีแต่ตัวเอง และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับพระเจ้าเท่านั้น   ส่วนความขยันก็เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า  พระเจ้าจะประทานที่ดินให้กับคนที่พระองค์เห็นว่าขยันพอและควรได้รับ  ความเป็นอิสระทำให้พวกเขาสามารถที่จะสักการะพระเจ้าองค์ใดก็ได้ที่พวกเขาเลือก  ดังนั้นสิทธิส่วนตัวจึงเป็นที่มาของหนทางชีวิตของชาวอเมริกัน

ปัจจุบันสังคมแบบการเป็นเจ้าของนี้ได้ก่ออันตรายให้กับสหรัฐฯ เป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะปลาใหญ่กินปลาเล็กเสียหมด  แนวคิดของสหรัฐฯ ได้ก่อปัญหาใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 นี้ เพราะรัฐบาลได้ให้เงินมากมายกับภาคธุรกิจที่เป็นเพื่อนกับทั้งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยข้ออ้างว่ามิเช่นนั้นเศรษฐกิจจะล้มครืน  แต่พวกเขากลับปฏิเสธที่จะจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้กับคนจน ไม่จัดสวัสดิการการลาคลอด บำนาญและการฝึกงานด้วยข้ออ้างว่าไม่มีเงิน  ซ้ำยังยินยอมให้มีการจ่ายโบนัสกับ CEO ของ AIG บริษัทที่ขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลถึง 170 พันล้านดอลลาร์เป็นเงินถึง 165 ล้านดอลลาร์  ร้ายกว่านั้นรัฐบาลยังบีบบังคับให้แรงงานในอุตสาหกรรมรถยอมลดค่าแรงและบำนาญเพื่อรักษาอุตสาหกรรมรถไว้ในประเทศด้วย  ปัจจุบันชาวอเมริกันกำลังอยู่ในยุคของวอลล์สตรีทที่นำโดย CEO ที่เดินเหินในแผ่นดินอเมริการาวกับพระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณ

ส่วนยุโรปถือกำเนิดมาจากระบบศักดินาและศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก  พวกเขาเชื่อว่าการใช้สิทธิพิเศษต้องมาพร้อมกับข้อจำกัดทางสังคม  St. Augustine กล่าวไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 แล้วว่าผู้ที่ใช้ความมั่งคั่งไปในทางที่เลวมีความผิดมหันต์  St. Thomas Aquinas ก็เห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้สมบัติส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไปด้วย  ชาวคริสต์จึงจำเป็นต้องใช้ความมั่งคั่งของตัวตามความจำเป็นของสังคมด้วย  รัฐบาลจึงมีหน้าที่เหมือนกับพ่อแม่ที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง  สิทธิบัตรที่แต่ละคนมีสิทธินั้นจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อพวกเขาใช้มันตามข้อจำกัดของสังคมด้วย  สัญญาประชาคมของชาวยุโรปถูกขยายเข้าไปในบริษัทและภาคธุรกิจด้วย  พวกเขาจึงต้องใช้สิทธิบัตรที่ได้รับจากสังคมไปในทางที่รับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน  กาวที่เชื่อมสังคมยุโรปไว้ด้วยกันก็คือ กฎ ข้อตกลง และสัญญาประชาคมที่ทุกคนต่างยึดถือ

Charles Hampen-Turner เขียนไว้ใน Seven Cultures of Capitalism ว่า  ผู้จัดการของบริษัทในยุโรปมักจะพูดถึงเรื่องคุณค่า การทำงานร่วมกันและวิสัยทัศน์ระยะยาว  ในขณะที่ผู้จัดการชาวอเมริกันมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และทำงานตามลำดับขั้น รวมทั้งให้ความสนใจแต่กับผลประกอบการรายไตรมาสเท่านั้น  ผู้ประกอบการชาวอเมริกันมองว่าความยากจนและการว่างงานเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว ใช้ไม่ได้ เป็นสิ่งน่าอับอาย และน่าตำหนิ  ในขณะที่ชาวยุโรปมองว่าความยากจนและการว่างงานเป็นผลมาจากการที่แรงงานต้องปรับตัวกับภาวะทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลง และเป็นความโชคร้ายที่พวกเขาไปถูกจ้างในอุตสาหกรรมที่กำลังจะตาย   ดังนั้นคนว่างงานจึงควรได้รับความช่วยเหลือให้มีทักษะใหม่เพื่อเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นต่อไป  คนทั้งสังคมจึงต้องแบ่งปันภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้เพื่อให้แรงงานกลับเข้าทำงานใหม่ได้

สถาบันหลัก 4 สถาบันที่เป็นรากฐานของยุโรปก็คือ สถาบันด้านเศรษฐกิจ การเมือง สื่อและการสื่อสาร รวมทั้งสถาบันสนับสนุนแรงงาน  สถาบันการเมืองมีหน้าที่ในการตัดสินใจว่าใครควรจะทำอะไรที่ไหน และดำเนินนโยบายกับสมาชิกในสังคม  สถาบันเศรษฐกิจมีหน้าที่ในการจัดการเรื่องทางเศรษฐกิจและความเป็นเจ้าของ  สถาบันสื่อมีหน้าที่สำคัญในการให้ข้อมูลข่าว โต้แย้งและหล่อหลอมให้ประชาชนมีความรู้ ให้ความเพลิดเพลินและพักผ่อน  สถาบันด้านแรงงานจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อค้ำประกันแรงงานและครอบครัวให้พวกเขามีสุขภาพดี  ประสบความสำเร็จ สร้างผลผลิตให้กับสังคมได้ และมีความสุข  สถาบันทั้งสี่จะทำงานร่วมกันเหมือนอย่างขาเก้าอี้ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงความยาวเพื่อให้เก้าอี้นั่งสบาย   ระบบแรงงานของยุโรปจึงมีชื่อเสียงในด้านความหลากหลายที่ให้ค่ากับความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม 

แม้ปัจจุบันยุโรปจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่พวกเขายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องผู้สูงอายุและการลดลงของประชากรซึ่งคุกคามต่อความมั่งคั่งในอนาคต รวมทั้งการควบรวมเอาคนกลุ่มน้อยในสังคมเข้าเป็นสมาชิก  ความท้าทายทั้งสองเรื่องนี้น่าที่จะสร้างความตึงเครียดในทวีปได้ไม่น้อยในไม่ช้านี้

ความท้าทายของกลุ่มอพยพและการควบรวม 1. กลุ่มอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย   รัฐบาลประเทศชายขอบล้วนกำลังปวดหัวกับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่หลั่งไหลมาตามชายแดน พวกเขาไม่กล้าส่งกลับ แต่การรับไว้ก็เป็นปัญหาระยะยาว  2 . กลุ่มลูกหลานของผู้อพยพชาวมุสลิมที่ไม่ยอมควบรวมทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งไม่ยอมรับการศึกษาจนเป็นผลให้พวกเขาไม่มีงานทำและเป็นภาระของสังคม  3. กลุ่มผู้อพยพชาวยุโรปตะวันออกสามารถทำงานได้ดี และเป็นกลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อในยุโรปตะวันตกไม่สูงขึ้นมาก แต่ก็แย่งงานชาวยุโรปตะวันตก  ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้รับประโยชน์บางอย่างเยี่ยงคนชาติ แต่ชาวยุโรปเองกลับเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจจนเกิดความขัดแย้งกันเป็นส่วนตัวบ่อย ๆ 

นอกจากนั้นชาวยุโรปเองก็เห็นว่าชนกลุ่มน้อยกำลังเป็นภาระอันหนักอึ้ง  เพราะพวกเขาจะได้บ้านฟรี ได้ค่าใช้จ่ายรายเดือน ได้สวัสดิการรักษาพยาบาล ได้ค่าดูแลบุตร แต่กลับไม่เคยคิดจะทำงานจริงจัง  การขาดความสามารถในการควบรวมเอาชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมเข้าเป็นสมาชิกของสังคมอย่างแท้จริงมีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากศาสนาและวัฒนธรรม  แท้ที่จริงแล้วชาวยุโรปมีแนวโน้มที่จะกดดันและขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกจากทวีปมาตั้งแต่โบราณกาล แต่พวกเขามิได้ทำจนกระทั่งชนกลุ่มน้อยมีจำนวนมากจนเกินกว่าจะขับไล่ได้แล้ว  พวกเขาจึงประสบปัญหาในการควบรวมชนกลุ่มน้อยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และพวกเขาจะทนต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้อย่างไร ร้ายกว่านั้นสหภาพยุโรปไม่สามารถที่จะปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการหลั่งไหลของชาวมุสลิมเข้ามาเพิ่มเติมได้ด้วย เพราะจำนวนคนขาวในประเทศกำลังลดลงจากอัตราเกิดที่ลดลง 

เมื่อสหภาพยุโรปยังต้องการแรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้มีภาษีมากพอที่จะจ่ายรัฐสวัสดิการ และพวกเขาก็ต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการขับเคลื่อนสังคม  การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ซ้ำยังไม่เคยคิดที่จะควบรวมเข้าหากันย่อมลดทอนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ความแตกต่างที่มากมายย่อมยากที่จะก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้  ชาวยุโรปเริ่มสงสัยว่าพวกเขาทำงานหนักเพื่อคนที่พวกเขาไม่รู้จักไปทำไม  ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญคาดว่าชาวมุสลิมในสหภาพยุโรปมีมากถึง 15 ล้านคนหรือ 3% ของประชากรแล้ว และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2005 เป็น 8% ของประชากร

เยอรมันเป็นชาติที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในยุโรปโดย 25% ยังคงเป็นอิสลามที่เคร่งครัด และเป็นชาวเติร์กที่มาอยู่ในเยอรมันนานแล้ว  เยอรมันเป็นประเทศที่มีหัวอนุรักษ์มากในเรื่องสัญชาติ พวกเขาไม่ยอมให้สัญชาติใหม่กับชนกลุ่มน้อยง่าย ๆ จวบจนปี 1995 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวเยอรมันมีความเชื่อเก่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์มาแล้วว่าพวกเขาต้องดำรงความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์ไว้  สถานการณ์ในฝรั่งเศสดูเหมือนจะไม่เลวร้ายมาก ทั้งนี้เพราะ 42% ของชาวมุสลิมในฝรั่งเศสคิดว่าพวกเขาเป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว และการแต่งงานต่างศาสนามีมากถึง 50%  แม้ฝรั่งเศสจะปิดพรมแดนอย่างแน่นหนาตั้งแต่ปี 1995 แต่จำนวนชนกลุ่มน้อยผิวสีก็เพิ่มขึ้นมากจนเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน 

การเหยียดผิวและความยากลำบากในการควบรวมชนกลุ่มน้อยสร้างปัญหาต่อสหภาพยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะชนกลุ่มน้อยไม่สามารถที่จะยกระดับชีวิตตัวเองได้ง่าย พวกเขามักหางานทำได้ยากจึงมีอัตราว่างงานสูง ระยะเวลาการว่างงานของชาวมุสลิมก็จะนานกว่าชาวยุโรปทั่วไป  อัตราว่างงานของคนมุสลิมในเยอรมันและเนเธอร์แลนด์จะสูงกว่าชาวเยอรมันและชาวดัชท์ถึง 2 เท่าส่งผลให้ 36% ของชาวมุสลิมอยู่ในภาวะยากจน 29% เป็นคนว่างงาน  ส่วนในฝรั่งเศสนั้นคนผิวสีคิดเป็นครึ่งหนึ่งของคนคุกเลยทีเดียว  ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังมาถึงจุดที่จะต้องเป็นหม้อหลอมทางวัฒนธรรมเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ เคยผ่านมาแล้ว

สหภาพยุโรปได้ทุ่มเงินหลายล้านล้านยูโรไปกับโรงเรียนสอนภาษา ชั้นเรียนวันหยุด การให้คำปรึกษา และการอบรมเพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยให้สามารถมีความรู้ที่จะทำงานและควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังได้ออกกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวเพื่อป้องกันการเหยียดผิวในที่ทำงานหรือการปฏิเสธงานกับชนกลุ่มน้อย  Nicholas Sakozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ริเริ่มโครงการ Pan-Mediterranean เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยอนุญาตให้เด็กมุสลิมมาเรียนในยุโรปได้ถึง 1.5 ล้านคน  สหภาพยุโรปยังมีกองทุน European Social อีกหลายพันล้านยูโรเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความแตกต่างด้านความมั่งคั่งและเพิ่มคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการควบรวมของคนกลุ่มน้อย และลดทอนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เช่น ให้ยืมเงินเพื่อตั้งกิจการ เปลี่ยนทัศนคติของผู้หญิงในเรื่องเทคโนโลยี  อย่างไรก็ดีชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มกลับต่อต้านความพยายามควบรวม พวกเขายินดีที่จะอยู่ในวัฒนธรรมเก่าโดยไม่เปลี่ยนแปลง         

ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับอัตราเกิดที่ลดลงและการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ เช่น 25% ของหญิงเจนัวส์อิตาลีไม่มีบุตร และ 25% มีบุตรเพียงแค่คนเดียว  จำนวนนักเรียนถึงกว่า 50% ในโรงเรียนจึงเป็นชาวต่างชาติหรือพ่อแม่เป็นชาวต่างชาติ  สัดส่วนของผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปีต่อผู้ที่มีอายุ 65 ปีเพิ่มขึ้นจาก 100:70 เป็น 100:240   ซ้ำร้ายในเมืองยังเต็มไปด้วยชาวต่างชาติจนชาวเจนัวเริ่มรู้สึกอึดอัด เพราะพวกเขารู้สึกว่าเมืองนี้ไม่ใช่เมืองของพวกเขาเสียแล้ว  ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำลังเผชิญหน้ากับการลดลงของประชากร ทั้งนี้เพราะอัตราเกิดต่ำกว่า 2.1% ซึ่งเป็นอัตราที่ดำรงการเจริญเติบโตของประชากร  แม้การมีอัตราเกิดต่ำเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่มันกลับทำให้แรงงานที่จะเสียภาษีเพื่อเลี้ยงดูประชากรในอนาคตลดลงด้วย 

สหรัฐฯ เองก็ต้องพึ่งอัตราการเกิดของกลุ่มละตินอเมริกัน (Hispanics) ที่สูงถึง 2.9% เพื่อคงจำนวนประชากรไว้  นักประชากรศาสตร์คาดว่าในปี 2020 หญิงกลุ่ม Hispanics จะคิดเป็น 47% ของหลาย ๆ เมือง นอกจากนี้ สัดส่วนของคนขาวในสหรัฐฯ จะลดลงจาก 69% ในปี 2000 เหลือเพียง 50% ในปี 2050 เท่านั้น  ส่วนสหภาพยุโรปที่มีอัตราการเกิดที่ 1.5% นั้นต้องพึ่งพาชนกลุ่มน้อยที่ย้ายมาอยู่เพื่อเพิ่มประชากรเช่นกัน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการลดลงของประชากรเป็นการฆ่าตัวตาย  อัตราการพึ่งพิงของยุโรปในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นจาก 4:1 เป็น 2:1 นั่นหมายความว่า แรงงานหนึ่งคนต้องหาเลี้ยงผู้พึ่งพิงถึง 2 คนเลยทีเดียว  ประเทศที่น่าจะประสบปัญหามากที่สุดก็คือ อิตาลีเพราะอัตราพึ่งพิงของพวกเขาจะเพิ่มเป็น 1:1 เลยทีเดียว  อย่างไรก็ดีอัตราการพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้นกลับเป็นเฉพาะคนสูงอายุเท่านั้น  ในหลายประเทศอัตราการพึ่งพิงในปี 2050 จะยังคงไม่ต่างจากทศวรรษที่ 1960 เพราะพวกเขาสามารถที่จะเพิ่มจำนวนแรงงานได้ผ่านการเพิ่มอายุเกษียณ

แท้ที่จริงแล้วจำนวนคนที่อยู่ในเกณฑ์เกษียณยังคงอยู่ในภาคแรงงานจำนวนมาก  เช่น 37% ของชาวยุโรปที่มีอายุระหว่าง 55-64 ปียังทำงานอยู่  ชาวเยอรมันที่มีอายุระหว่าง 60-64 ปีก็ยังทำงานอยู่ถึง 22%  ในขณะที่ชาวอิตาลีกว่า 38% เกษียณที่อายุ 50 ปี นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลยืดอายุเกษียณ แรงงานจะยังคงทำงานได้อีกสิบกว่าปีเลยทีเดียว  รัฐบาลจึงควรเพิ่มอายุเกษียณเป็น 70 ปีซึ่งจะทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 70%   ปัจจุบันเยอรมันและอังกฤษได้เพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 และ 68 ปีตามลำดับแล้ว

  นอกจากผู้สูงอายุแล้ว กลุ่มที่น่าจะเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพก็คือ ผู้หญิง  ในเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปนนั้นผู้หญิงมีอัตราการทำงานเพียงแค่ 60%, 57%, 45% และ 49% ตามลำดับเท่านั้น  ในขณะที่สหรัฐฯ อังกฤษ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์กและนอร์เวย์ ผู้หญิงมีอัตราการทำงานสูงถึง 65%, 67% และ 70% ตามลำดับ  การจะเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในที่ทำงานได้นั้น รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยโดยที่ผู้หญิงไม่ต้องเลือกระหว่างการทำงานกับการมีบุตร เช่น Nordic Model ให้แม่ลาคลอดโดยยังจ่ายเงินเดือนอีก 12-16 เดือน ช่วยค่าเลี้ยงดูเด็ก ปรับตารางงานของพ่อแม่ให้เหมาะสม  แม่ที่มีลูกเล็กสามารถที่จะปรับเวลาทำงานได้โดยไม่เสียสถานภาพการทำงานและไม่ขาดโอกาสในความก้าวหน้า และให้พ่อสามารถลาคลอดตามแม่ได้ด้วยอย่างน้อย 4 สัปดาห์  นโยบายเหล่านี้ทำให้หญิงนอร์เวย์มีรายได้สูงและมีอัตราการเกิดสูงที่สุดในยุโรปด้วยคือสูงถึง 1.8%

เยอรมัน สเปนและอิตาลีกลับตรงข้าม แม้พวกเขาจะมีเงินสนับสนุนการลาคลอดเหมือนอย่างประเทศอื่น ๆ แต่การที่พวกเขายังคงติดกับดักของฟาสซิสต์ ( Fascist) ที่มีวัฒนธรรมสงสัยในความสามารถของผู้หญิงจึงทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่เอื้ออำนวย   ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าผู้หญิงที่ออกมาทำงานนอกบ้านเป็นคนเห็นแก่ตัว  อัตราการเกิดของหญิงเยอรมันจึงมีเพียงแค่ 1.4% เท่านั้น  ปัจจุบันผู้หญิงเยอรมันถึง 30% ไม่มีลูกซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์  ส่วนหญิงอิตาลีนั้น ไม่เพียงต้องดูแลลูก พวกเขายังต้องดูแลพ่อแม่ที่บ้านด้วยจึงทำให้พวกเขาไม่อยากมีลูก และไม่มีโอกาสออกมาทำงาน 

อย่างไรก็ดี นโยบายรัฐก็มีส่วนสำคัญที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น นายกรัฐมนตรี Tony Blair ได้ดำเนินนโยบายให้มารดาหลังคลอดสามารถลาได้พร้อมเงินเดือน 6 เดือนและสามารถลาต่ออีก 6 เดือนโดยไม่รับเงินเดือน มีบริการการศึกษาฟรี และการเลี้ยงเด็กจนถึง 4 ปีฟรี รวมทั้งปรับเวลาการทำงานได้ตามความเหมาะสมส่งผลให้อัตราการเกิดของเด็กเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 1.9% โดยผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีมีอัตราการมีบุตรเพิ่มถึง 15% เลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้นการเพิ่มประสิทธิภาพก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการลดสัดส่วนผู้พึ่งพิง  การที่เทคโนโลยีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทำให้ผลผลิตจากแรงงานเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม การที่เครื่องมือสามารถทำงานโดยอัตโนมัติ ก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงอายุได้  เช่น ญี่ปุ่นใช้หุ่นยนต์ถึง 370,000 ตัวทำงานในโรงงาน และงานบริการต่าง ๆ เช่น ทำซูชิ ปลูกข้าว ทำความสะอาด เสิร์ฟอาหาร และป้อนข้าวคนแก่ 

ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังปฏิวัติโลกอย่างเงียบ ๆ ตามแนวทางของตัวเองใน 5 ด้านคือ 1 ทุนนิยมแบบสังคม (Social capitalism) และระบบแรงงานของยุโรป หรือระบบรัฐสวัสดิการนั้นเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ใหญ่และมั่งคั่งที่สุดในโลก  ในปัจจุบัน บริษัทสัญชาติยุโรปติดอันดับใน Fortune 500 มากที่สุดและมีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดด้วย   ยิ่งกว่านั้นความมั่งคั่งของยุโรปยังไม่ได้กระจุกตัว แต่ถูกแบ่งปันไปให้กับแรงงานและครอบครัวอย่างถ้วนหน้าเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสที่จะมีความสุขกับสุขภาพที่แข็งแรงและชีวิตที่มีผลิตภาพ   เศรษฐกิจของยุโรปจึงไม่จำเป็นต้องมีอัตราการเจริญเติบโตมากมาย   จริงอยู่คนทั่วไปรู้สึกว่าชาวยุโรปเสียภาษีมากที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวอเมริกันเองก็เสียภาษีไม่น้อยกว่าชาวยุโรปเลย หากพวกเขานำเอาเงินที่ต้องเสียเพื่อให้ได้บริการด้านการศึกษา สุขภาพ บำนาญ ค่าเลี้ยงดูเด็ก และเงินช่วยเหลือ ฯลฯ เช่นเดียวกันกับที่ชาวยุโรปได้รับจากรัฐบาลมาคำนวณ 

 สหภาพยุโรปทราบดีว่าในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นปัจจุบัน มาตรฐานการครองชีพของชนชั้นกลางมิได้ขึ้นกับรายได้เท่านั้น ยังหมายถึงการสนับสนุนแรงงานและครอบครัวด้านอื่น ๆ อย่างเพียงพอ  แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของหนทางแบบยุโรปที่สร้างความมั่นใจให้กับชีวิต อิสรภาพและความสุข  สัญญาประชาคมของยุโรปจึงหยั่งลึกไปในคุณค่าของความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่หล่อหลอมเป็นกระดูกสันหลังเพื่อความสำเร็จ  รัฐบาลใช้เงินไม่น้อยกว่า 25% ไปกับการสนับสนุนแรงงาน และ 3 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศ OECD อื่นไปกับด้านครอบครัว

 2. สุขภาพดีแบบยุโรป  ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของยุโรปให้บริการอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าระบบของสหรัฐฯ ที่ยังคงละชาวอเมริกันกว่า 47 ล้านคนไว้โดยไม่มีประกันสุขภาพ  แม้ระบบประกันสุขภาพของเยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และสวิสเซอร์แลนด์จะไม่ได้บริหารโดยภาครัฐ แต่พวกเขาก็สามารถที่จะแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างเสมอภาคและบริการที่ดีเยี่ยม  บริษัทประกันเอกชนของประเทศเหล่านี้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและต่อรองค่าใช้จ่ายได้อย่างสมเหตุสมผลจนไม่ทำให้การบริการน้อยหรือมากเกินไป ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเกินไปนัก  ในขณะที่บริษัทประกันสุขภาพของสหรัฐฯ กลับแสวงหากำไรและพยายามให้บริการที่น้อยที่สุดจนทำให้ค่ารักษาพยาบาลบานปลาย  

3. ยุโรปที่ยั่งยืน ชาวยุโรปเตรียมตัวสำหรับการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจนทำให้ชาวยุโรปสร้างรอยเท้าบนระบบนิเวศเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันโดยมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน  4. ยุโรปในประชาคมโลก (Global Europe) สหภาพยุโรปใช้อำนาจอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างสันติภาพและพัฒนาการอย่างยั่งยืนผ่านการค้า การลงทุนและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เหมือนอย่าง Marshall Plan ที่สหรัฐฯ เคยช่วยเหลือยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  พวกเขามุ่งมั่นจะสร้างหุ้นส่วนที่มีสันติภาพและมั่งคั่งขึ้นในสังคมโลกขึ้นเพื่อให้เพื่อนบ้านอีกกว่า 2 พันล้านคนเข้าร่วมในการพัฒนา  การที่ยุโรปเลือกหนทางที่ไม่เสียเลือดเนื้อนี้เป็นผลจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสงครามที่โหดเหี้ยมบนทวีปตัวเอง

5. ยุโรปที่หลากหลาย (Pluralist Europe) ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเลือดสอนให้ยุโรปสร้างสถาบันใหม่และใช้วิธีการใหม่ในการได้มาซึ่งข้อสรุปร่วมกัน นั่นคือ การใช้ตัวแทนที่หลากหลายหาข้อสรุปจากความแตกต่าง และใช้ระบบประชาธิปไตยจากหลายพรรคเพื่อค้ำประกันว่าทุกคนได้มีส่วนร่วมและไม่มีใครเสียเปรียบ  นอกจากนี้พวกเขายังใช้วิธีการให้เงินสนับสนุนการหาเสียง ให้เวลาบนสื่อกับผู้สมัครอย่างเท่าเทียมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเท่าเทียมกัน  การมีตัวแทนจากทุกกลุ่มในสถาบันหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเมืองที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายและกำกับดูแลทำให้ความมั่งคั่งถูกกระจายอย่างทั่วถึงและยุติธรรม  

แม้สหภาพยุโรปประสบความสำเร็จมากมายและกำลังเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่น ๆ แต่พวกเขาเองก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอันเนื่องมากจากการลดลงของประชากรอันจะทำให้ประเทศขาดภาษีที่จะมาใช้ในบริการของรัฐ รวมทั้งปัญหาเรื่องคนกลุ่มน้อยและชาวมุสลิมที่ไม่ยินดีจะควบรวมเข้าเป็นสมาชิกของสังคม พวกเขาจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายและใช้เงินหลายพันล้านยูโรเพื่อแก้ไขปัญหา  การที่สหภาพยุโรปจัดเตรียมรัฐสวัสดิการมากมายเพื่อค้ำจุนประชาชนในฐานะที่พวกเขาเป็นสมาชิกของสังคมทำให้ชาวยุโรปกระสับกระส่ายน้อย และไม่ก้าวร้าว สังคมยุโรปจึงมิได้เต็มไปด้วยความรุนแรงและอาชญากรรมเหมือนอย่างในสหรัฐฯ

ข้อคิดเห็น  เมื่อคุณค่าที่สหรัฐฯ ยึดถือคือผู้ชนะได้ทั้งหมด ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้สังคมเต็มไปด้วยความรุนแรง ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ แบ่งแยกเพศและสีผิว รวมทั้งขาดความสุข  สหรัฐฯ จึงเป็นประเทศผู้นำในด้านการฆาตกรรม อาชญากรรม อัตวิบากกรรม และอัตราเข้าคุกสูงจนทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีอัตราการสร้างคุกสูงกว่ามหาวิทยาลัยไปแล้ว  หากการดูแลประชากรของตัวเองเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐบาล เหตุผลที่ประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเลี้ยงดูเด็ก การลาคลอดที่ได้เงินเดือน การได้ผลประโยชน์เมื่อเกษียณ การได้เวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ การศึกษาฟรีจนถึงระดับมหาวิทยาลัยถึงเป็นเพียงแค่ความฝันของชาวอเมริกัน ทั้ง ๆ ที่เงินสำหรับบริการสังคมเหล่านี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของงบประมาณทางการทหารหรือเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ มิได้ใส่ใจกับหน้าที่พื้นฐานของตัวเอง 

ส่วนยุโรปนั้น หลังความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความรักและความห่วงใยระหว่างรัฐและประชาชนในทวีปตัวเอง  พวกเขากลับกำลังลังเลที่จะเล่นบทบาทมหาอำนาจใหม่ที่ต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกต่อจากสหรัฐฯ ก็เป็นได้

                 การที่ผู้เขียนมองยุโรปแต่ในแง่ดีอาจเป็นเพราะผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเกือบทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ และหนังสือถูกเขียนขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปยังเกิดขึ้นได้ไม่นาน  หากผู้เขียนออกหนังสือในปีนี้ แนวทางของหนังสืออาจไม่เห็นดีเห็นงามกับผู้นำยุโรปเท่านี้ก็เป็นได้ 

 

 

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.