You are here: Home > Econ & Business, Political Science > เงินยูโรบนถนนสายการเงินโลก / The Euro : The Battle for the New Global Currency

เงินยูโรบนถนนสายการเงินโลก / The Euro : The Battle for the New Global Currency

โดย พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร 

สำหรับชาวยุโรปแล้ว เงินยูโรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องความผันผวนของค่าเงิน และหวังใช้มันแทนที่ดอลลาร์ วิกฤตที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2008 แสดงให้เห็นว่าการขาดสมดุลและความล้มเหลวทางด้านนโยบายจะยังคงดำรงต่อไปและจะกลายเป็นภัยคุกคามหลักต่อเสถียรภาพของเงินสกุลนี้  ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2011  สิ่งไม่น่าอภิรมย์ต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นเต็มไปหมด การมองโลกในแง่ดีสำหรับเงินยูโรเริ่มสูญหาย  คนส่วนใหญ่เชื่อว่าโครงการนี้เป็นเพียงแค่ภาพมายา  และปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาภายในสหภาพยุโรปเอง 

The Euro : The Battle for the New Global Currency หนังสือขนาด 252 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนมีนาคมปี 2011 ของ David Marsh ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินชาวอังกฤษ ผู้ช่วยประธาน German-British Forum และที่ปรึกษาคณะกรรมการการปฏิรูปสหภาพยุโรป และศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม จะพูดถึง 1. ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งสหภาพยุโรปและเงินยูโรอย่างละเอียดลออ 2. เบื้องหลังความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ก่อตั้งสองฟากที่มีแนวคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง 3. สาเหตุที่ทำให้เงินสกุลยูโรไม่น่าที่จะดำเนินต่อเนื่องได้ในระยะยาว และ  4.  ทางเลือกของสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน 

                เยอรมันซึ่งเคยเป็นชาติที่มีรัฐเล็ก ๆ รวมกันถึง 25 รัฐและใช้เงินถึง 7 สกุลเป็นชาติแรกที่ใช้กุศโลบายรวมตัวกันทางการเงินเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยนายกรัฐมนตรี Otto von Bismarck  เขายังเป็นผู้สร้างจักรวรรดิเยอรมันหลังเยอรมันชนะสงคราม Franco-Prussia และเป็นผู้ให้กำเนิดเงินมาร์กที่หนุนหลังโดยทองด้วย   แทนที่ฝรั่งเศสจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับเยอรมันด้วยเงินหลายสกุล พวกเขาสามารถที่จะจ่ายเป็นเงินสกุลมาร์กเพียงอย่างเดียว  ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงคราม Franco-Prussia  ไม่เพียงทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียเงินไปจำนวนมากเท่านั้น ยังทำให้พวกเขาสูญเสียดินแดน Alsace และ Lorraine ด้วย  

การที่เยอรมันได้รับเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ร่วมกับการรวมตัวกันเป็นจักรวรรดิทำให้พวกเขากลายเป็นศูนย์กลางของยุโรป  ในช่วงเวลานั้นการเจริญเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจของเยอรมันจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเศรษฐกิจของพวกเขาร้อนแรงเกินไป  ถึงกระนั้นก็ตามเศรษฐกิจของเยอรมันก็ยังอ่อนแอและแตกต่างจากเศรษฐกิจของอังกฤษจนทำให้ทองจากค่าปฏิกรรมสงครามหลั่งไหลกลับไปยังตลาดลอนดอนส่งผลให้ธนาคารกลางปรัสเซียต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยถึง 6% เพื่อดึงดูดเงินทุน  เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งประทุกขึ้น เยอรมันและอังกฤษต่างประกาศไม่ยอมให้ประชาชนนำเงินมาแลกเป็นทองเพื่อปกป้องเงินทุนสำรองจนส่งผลให้ประเทศทั้งยุโรปละจากมาตรฐานทองชั่วคราว  

หลังเยอรมันยอมเซ็นสัญญาสงบศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1  พวกเขาไม่เพียงสูญเสียดินแดนทั้งด้านตะวันออกและตก รวมทั้งถูกจำกัดด้านการทหารและอุตสาหกรรมแล้ว  พวกเขายังได้รับการวางบิลค่าปฏิกรรมสงครามอีก 132 พันล้านมาร์กโดยต้องจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์  Rudolf Havenstein ประธานาธิบดีเยอรมันได้ขอร้องให้ Montagu Norman  ผู้ว่าการธนาคารอังกฤษช่วยปล่อยเงินกู้ 550 ล้านมาร์กจากตลาดลอนดอน แต่ได้รับการปฏิเสธ  เยอรมันจึงจำเป็นต้องพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่จำกัดจนทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างมหาศาลครั้งใหญ่  ระหว่างปี 1922-23 ชาวเยอรมันต้องขนเงินเป็นคันรถเพื่อไปซื้อของ  รัฐบาลเยอรมันพยายามถ่วงเวลาจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อป้องกันการเกิดจลาจลในประเทศ  ชาวเยอรมันต่างเรียกร้องให้ประกาศพักชำระหนี้  สิ้นปี 1923 ดัชนีผู้บริโภคของเยอรมันเพิ่มขึ้นสองพันล้านเท่า รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจยกเลิกเงินสกุลเก่า และใช้ Rentenmark ที่มีค่า 1 ล้านล้านมาร์กแทน  

หลังจากฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันในปี 1933  เขาฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายน์ด้วยการบุกดินแดนริมแม่น้ำไรน์ และบุกเข้ายึดเช็กโกสโลวาเกียในปี 1938  ธนาคารกลางฝรั่งเศสเกรงว่าจะเกิดสงครามอีก พวกเขาจึงทยอยขนทองออกนอกประเทศ   เมื่อเยอรมันบุกเข้าไปในฝรั่งเศสได้ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 พวกเขาก็เข้าควบคุมการเงิน  ในวันที่ 15 มิถุนายน ฝรั่งเศสขนทองล็อตสุดท้ายไปยัง Dakar ในคืนก่อนที่เยอรมันจะบุกไปถึงธนาคารกลาง  ในวันที่ 22 มิถุนายนฝรั่งเศสถูกแบ่งเป็นสองโซนและถูกเยอรมันครอบครองโดยสมบูรณ์  Carl-Anton Schaefer นายธนาคารเยอรมันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลการเงินในฝรั่งเศส อีกทั้งยังกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังส์กับมาร์กให้ต่ำมากจนรัฐบาลฝรั่งเศสประท้วงว่าเยอรมันทำสงครามด้วยเงินของฝรั่งเศส

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง 1 เดือน ประเทศต่าง ๆ 45 ประเทศต่างมารวมตัวกันที่ Bretton Woods รัฐนิวแฮมเชียร์เพื่อสร้างโครงข่ายทางการเงินเพื่อใช้หลังสงครามยุติ   พวกเขากำหนดให้ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน  นอกจากนี้พวกเขายังร่วมกับจัดตั้ง IMF และ International Bank for Reconstruction and Development ซึ่งต่อมาคือธนาคารโลกโดยใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หนุนหลัง  แต่ละประเทศจะกำหนดค่าเงินตามปริมาณทองที่ฝากไว้กับ IMF โดยกำหนดเงินสำรองเป็นสกุลดอลลาร์  แม้ระบบ Bretton Woods จะสร้างเสถียรภาพทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่สามารถที่จะกระจายความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ สามารถที่จะพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด   นโยบายนี้ทำให้สหรัฐฯ ขาดวินัยทางการคลังอย่างรุนแรงและสร้างแรงกดดันระหว่างประเทศขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในยุโรปซึ่งต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ  

นอกจากนี้ ในเดือนเมษาปี 1948 พันธมิตรกำหนดให้เงินมาร์กมีค่า 3.33 Reichsmarks ต่อดอลลาร์ ในขณะที่ก่อนสงครามเงินมาร์กมีค่า 2.5 Reichsmarks ต่อดอลลาร์ส่งผลให้เงินออมของทั้งประเทศสูญหายไปในทันที   อีกสองเดือนต่อมาเยอรมันเปลี่ยนเงินสกุลใหม่เป็น D-mark  หลังจากนั้นอีก 1 ปีพันธมิตรก็ลดค่าเงินมาร์กอีก 20%  หลังการลดค่าเงินมาร์กจนดูราวกับค่าเงินของเยอรมันจะอ่อนมาก และอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ตามระบบ Bretton Woods รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อของเยอรมันที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทำให้เยอรมันส่งออกได้มากขึ้นและเกินดุลเพิ่มขึ้นจนปริมาณเงินสำรองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เงินมาร์กที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี 1949 กลายเป็นที่เคารพและสร้างความมั่งคั่งให้กับเยอรมัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนของเยอรมันด้วย

  เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ เยอรมันกำหนดให้ธนาคารกลางเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดจากการเมือง  ผู้บริหารธนาคารกลางเยอรมันถือว่าพวกเขามีหน้าที่หลักในการปกป้อง สร้างความมั่นคงและความเชื่อถือให้กับเงินมาร์ก  ธนาคารกลางเยอรมันจึงกลายเป็นเสาหลักของเยอรมันตะวันตกและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งยุโรป   ความสำเร็จของเยอรมันและธนาคารกลางเยอรมันทำให้ในเวลาเพียงแค่ 10 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง  เยอรมันมีปริมาณทองสำรองมากกว่าฝรั่งเศส จนสามารถที่จะเสนอเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารกลางฝรั่งเศสได้  แต่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเยอรมันร่วมกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นก็เริ่มสร้างความระส่ำระส่ายทางการเมืองขึ้นมาอีก  

ในปี 1961 เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนได้กลายเป็นความเสี่ยงสำหรับราคาสินค้าเกษตรกรรม  Robert Marjolin สมาชิกประชาคมยุโรปชาวฝรั่งเศสเห็นว่าความผันผวนของค่าเงินลดทอนความมั่นคงของตลาดร่วม สมาชิกส่วนใหญ่ จึงเริ่มคิดที่จะรวมตัวกันทางการเงินขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากเยอรมันและเนเธอร์แลนด์  เยอรมันเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ ต้องสามารถที่จะมีเศรษฐกิจที่บรรจบกันได้ก่อนการรวมตัวกันทางการเงินอย่างถาวร นั่นหมายความว่า นโยบายที่ใช้ต้องใกล้เคียงกันมากเพื่อให้ระดับราคา ค่าจ้าง ภาษี งบประมาณ การค้าระหว่างประเทศและความสามารถในการแข่งขันพอ  ๆ กัน  ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันทางการเงินในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมเห็นว่า ประเทศที่เกินดุลควรให้ความช่วยเหลือประเทศที่ขาดดุลด้วยการเข้าช่วยเหลือทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและรวมเงินสำรองเข้าไว้ด้วยกันอันจะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะดำเนินนโยบายด้านงบประมาณได้ง่ายขึ้น และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้เบนเข้าหากันได้ง่ายขึ้นด้วย  แนวคิดที่แตกต่างกันนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านเศรษฐกิจและปรัชญาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันจนเคยทำให้เกิดสงคราม Franco-Prussia มาแล้ว

Georges Pompidou นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้พยายามที่จะก่อร่างแผนที่ยุโรปใหม่ด้วยการเสนอโครงการ EEC ที่มีอังกฤษ ไอร์แลนด์ เดนมาร์กและนอร์เวย์เข้าร่วมเพื่อป้องกันอิทธิพลของสหรัฐฯ และถ่วงดุลความเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเยอรมัน  แม้เยอรมันจะเห็นด้วยกับความพยายามหันเหออกจากดอลลาร์ แต่เยอรมันก็ต้องการให้มีการรวมตัวกันเพื่อให้การตัดสินใจเป็นแบบเหนือชาติ (Supranational) มากกว่าที่ฝรั่งเศสตั้งใจไว้  Han Tietmaeyer ประธานธนาคารกลางเยอรมันยืนกรานว่านโยบายเศรษฐกิจของสมาชิกจะต้องสอดคล้องกันและธนาคารกลางที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายต้องปลอดจากการเมืองและเป็นหัวใจของการรวมตัวกันทางการเงิน   แผนการข้างหน้าก็คือการเคลื่อนย้ายนโยบายหลักซึ่งประกอบไปด้วยนโยบายด้านงบประมาณและการเงินออกจากสภาและรัฐบาลแต่ละประเทศไปยังสถาบันของสหภาพยุโรป  ขั้นตอนแรกของการดำเนินการก็คือ การลดความผันผวนของค่าเงินและกำหนดแนวทางของนโยบายเศรษฐกิจและการคลังร่วมกัน  ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก็คือการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ กำหนดนโยบายเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการเบนเข้าหากันและตั้งกลุ่มที่ใช้ธนาคารกลางเพียงแห่งเดียว

สาเหตุที่ฝรั่งเศสต้องการให้เกิดการรวมตัวกันทางการเงินก็เพราะ 1. พวกเขาต้องการใช้มันต่อต้านเงินดอลลาร์ 2. พวกเขาต้องการพันธนาการเยอรมันเพื่อมิให้เยอรมันซึ่งมีเสถียรภาพทางการเงินมากกว่ามีอำนาจมากเกินไป  3. พวกเขาต้องการใช้การรวมตัวกันของเงินสำรองในการสร้างสมดุลของอัตราเงินเฟ้อ  ในขณะที่เยอรมันก็ต้องการรวมตัวกันทางการเงินแต่ด้วยเหตุผลต่างกันเพราะ 1. เงินทุนจำนวนมากที่หลั่งไหลออกจากดอลลาร์เข้ามาในเยอรมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น  2. เยอรมันไม่สามารถลดปริมาณเงินไหลเข้าด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยได้มากนักเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน

หลังจากที่สหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก ในที่สุดวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ประธานาธิบดี Nixon ก็ประกาศยกเลิกนโยบายที่ให้นำเงินดอลลาร์มาแลกกับทองได้ซึ่งเท่ากับเป็นการละจากมาตรฐานทองคำอย่างถาวรและถือเป็นการสิ้นสุดของระบบ Bretton Woods

Valery Giscard d’Estaing ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่าการรวมตัวกันทางการเงินระหว่างเยอรมันและฝรั่งเศสนั้นเป็นไปเพื่อสร้างสมดุลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเงินหลังจากสะดุดไปในช่วงสงคราม  เขาเองก็เห็นเช่นเดียวกันกับผู้นำฝรั่งเศสทุกยุคทุกสมัยที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาต้องการให้ฝรั่งเศสมีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่าเยอรมันและต้องการหลบหนีอำนาจของเยอรมัน  พวกเขาเชื่อว่าหากปราศจากเงินสกุลเดียว เงินมาร์กก็จะกลายเป็นผู้นำเรื่อยไปและธนาคารเยอรมันและบริษัทประกันต่าง ๆ ก็จะมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ จนเกิดความริษยาและเกิดผลกระทบทางการเมืองต่อชาวเยอรมันในอนาคต  ส่วน Helmut Schmidt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมันกลับเห็นว่า สาเหตุที่เยอรมันต้องรวมตัวกันทางการเงินไม่ใช่สาเหตุเดียวกันกับฝรั่งเศส แต่หากไม่มีการรวมตัวกันทางการเงิน ผู้นำเยอรมันจะไม่ได้รับการยกย่องเฉกเช่นเดียวกันกับผู้นำยุโรปอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเขายังยึดติดกับความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองและคุก Auschwitz  เขาเชื่อว่าหากการรวมตัวกันทางการเงินสำเร็จลงได้ความทรงจำเรื่อง Auschwitz ก็จะเลือนหายไปจากความทรงจำของทุกคนอย่างแน่นอน

ทั้ง Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมันและ Francois Mitterand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งล้วนไม่มีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและนโยบายระหว่างประเทศต่างเข้าสู่ตำแหน่งพร้อมกันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในปี 1981-2 และกลายเป็นผู้ตัดสินใจในการรวมตัวทางการเงินเป็นสหภาพยุโรป

Francois Mitterand ซึ่งเกิดจากครอบครัวคาทอลิกทางใต้ของฝรั่งเศส และเคยติดคุกในเยอรมัน 18 เดือนในฐานะจ่าทหารราบในสงครามโลกครั้งที่สองเป็นประธานาธิบดีซ้ายจัดคนแรกของฝรั่งเศส  เป้าหมายแรกในการบริหารประเทศของเขาก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายใน  เขาจึงได้แปรรูปธนาคารให้กลายเป็นของรัฐถึง 36 แห่ง รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่อีก 5 แห่ง ลดเวลาทำงานของแรงงาน และลดอายุเกษียณ รวมทั้งเพิ่มเงินประกันสังคมให้  นโยบายของเขาส่งผลให้เศรษฐกิจร้อนแรงและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนทำให้ค่าเงินฟรังส์อ่อนลง และการขาดดุลเพิ่มขึ้นจนเศรษฐกิจฝรั่งเศสล้าหลังเศรษฐกิจเยอรมันหนักกว่าเดิมอีก  แม้ Mitterand จะทราบดีว่าเศรษฐกิจของเยอรมันแข็งแกร่ง แต่เนื่องจากฝรั่งเศสมีกำลังทหารที่เข้มแข็งกว่าและมีอาวุธนิวเคลียร์จึงทำให้ Mitterand พยายามที่จะชักชวนให้เยอรมันยอมรวมตัวกันทางการเงินเพื่อแลกกับการค้ำประกันทางด้านความมั่นคงในระหว่างการรวมตัวกันของเยอรมันตะวันตกและออก  แท้ที่จริงแล้ว ฝรั่งเศสเกรงกลัวเยอรมันมาก Mitterand  เคยกล่าวถึงเยอรมันไว้ในปี 1988 ว่า แม้ชาวเยอรมันจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ขาดอธิปไตยและความเป็นประชาธิปไตย แต่พวกเขาก็ชดเชยความอ่อนแอนี้ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ  เงินมาร์กจึงเป็นเหมือนอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมันนั่นเอง

การที่ Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมันดูเหมือนจะยินยอม Mitterand ทุกอย่างเป็นเพราะ เขาทราบดีว่าประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปไม่สนับสนุนให้เยอรมันตะวันตกรวมเอาเยอรมันตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน Kohl เคยเล่าให้ผู้บริหารอื่นฟังถึงบรรยากาศในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปี 1989  ที่ผู้นำต่างมาชุมนุมกันที่ Strasbourg เพื่อเตรียมการรวมตัวกันทางการเงินว่า มันเต็มไปด้วยความตึงเครียด  เพราะผู้นำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่างต่อต้านการรวมตัวกันของเยอรมันตะวันออกและตก เช่น นายกรัฐมนตรีอิตาลีก็ประกาศว่าเขาจะต่อต้านการรวมตัวกันของเยอรมัน  Mitterand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็กล่าวว่าการรวมตัวกันของเยอรมันได้กระตุ้นบรรยากาศที่คนส่วนใหญ่คิดว่าหลงลืมไปหมดแล้วให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง  Kohl จึงสามารถปกป้องเยอรมันได้เพียงแค่กำหนดให้ธนาคารกลางยุโรปต้องปลอดจากการเมืองและใช้แบบอย่างจากธนาคารกลางเยอรมันทั้งโครงสร้างและวิธีการใช้เครื่องมือทางการเงิน  แต่ก็ยินดีที่จะให้ Jacques Delors รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสสมัยประธานาธิบดี Mitterand เป็นประธาน คณะกรรมาธิการยุโรป (Europian Commission) คนแรก  ข้อตกลงระหว่าง Kohl และ Mitterand แสดงให้เห็นถึงการตกลงใจแบบส่วนตัวและผูกขาดอย่างเห็นได้ชัด 

ในการประชุมวันที่  27-28 มิถุนายนปี 1988 Kohl และ Mitterand ตกลงให้มีการก่อตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอันประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารชาติของสมาชิกทุกประเทศเพื่อพิจารณาเงื่อนไขในการก่อตั้งสหภาพยุโรป (EMU) โดยมี Jacques Delors เป็นประธาน  Delors Report ที่เกิดจากการประชุมสรุปว่า การรวมตัวกันทางการเงินเป็นไปเพื่อให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรี มีการรวมตัวกันของตลาดเงิน มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันในที่สุดโดยมีเป้าหมายที่เสถียรภาพของระดับราคา  ธนาคารกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นจะต้องเป็นอิสระ  นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังต้องการให้มีการรวมเงินสำรองเข้าด้วยกัน แต่เยอรมันและเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธ  ฝรั่งเศสต้องการให้เกิดสถาบันขึ้นก่อนที่จะเกิดการเบนเข้าหากันทางเศรษฐกิจ แต่เยอรมันคัดค้านแนวคิดนี้  ยิ่งกว่านั้นฝรั่งเศสยังต้องการให้อังกฤษเข้าร่วมสหภาพยุโรป เนื่องจากเกรงว่าเยอรมันจะมีอำนาจมากเกินไป แต่ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีอังกฤษปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เนื่องจากเกรงว่าจะขาดความยืดหยุ่นของนโยบาย

ในการรวมตัวชาติเยอรมันนั้น เนื่องจาก Kohl มิได้ตระหนักว่าเงินมาร์กเป็นแกนหลักของยุโรป เขาจึงตัดสินใจใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันระหว่างเยอรมันตะวันตกและออกเพื่อป้องกันมิให้ชาวเยอรมันตะวันออกเคลื่อนย้ายมายังตะวันตก  การกำหนดใช้อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากันในเยอรมันตะวันออกและตกทำให้ปริมาณเงินมาร์กเพิ่มขึ้นมากเกินไปส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเยอรมันตะวันตกสูงขึ้นมากจนทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วทั้งยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม้อังกฤษจะไม่ปรารถนาที่จะเข้าร่วมในการรวมตัวกันทางเงิน แต่ Thatcher นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็เห็นว่าอังกฤษต้องร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันอิทธิพลของเยอรมัน ไม่เช่นนั้นแล้วการรวมตัวกันทางการเงินเท่ากับเป็นการส่งมอบทวีปยุโรปเข้าไว้ในมือเยอรมัน  อังกฤษจึงตัดสินใจหวนกลับมาผูกค่าเงินกับ ERM ใหม่ในอัตรา 1 ปอนด์ต่อ 2.95 มาร์กซึ่งเยอรมันและฝรั่งเศสก็เห็นชอบด้วย  อังกฤษไม่ได้ตระหนักว่าพวกเขาเข้าร่วม ERM ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของอังกฤษกำลังจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันสังเกตได้จากการที่อัตราเงินเฟ้ออังกฤษสูงกว่าเยอรมันถึง 3 เท่า  หลังเข้าร่วม ERM อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษจึงลดลงถึง 1.4% ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมันเพิ่มขึ้น 1% และ 5% ตามลำดับ  แท้ที่จริงแล้วในช่วงเวลานั้นธนาคารกลางเยอรมันควรที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราเงินเฟ้อในเยอรมันสูงมาก แต่ธนาคารกลางเยอรมันกลับไม่ต้องการใช้นโยบายที่ต่อต้านกับรัฐบาลเพื่อให้การรวมตัวชาติของเยอรมันเป็นผลสำเร็จ 

ในเดือนธันวาคมปี 1991 ความวุ่นวายของเศรษฐกิจยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการประชุมที่เมือง Maastricht ในเนเธอร์แลนด์เพื่อเขียนข้อกำหนดในการเบนเข้าหากันระหว่างสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วยอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย งบประมาณและหนี้  สนธิสัญญานี้เป็นไปเพื่อมิให้เยอรมันสามารถที่จะเพิ่มข้อเสนอใด ๆ อีก เนื่องจากเยอรมันยังต้องการให้มีการรวมตัวกันทางการเมืองเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินเหมือนอย่างวัฒนธรรมเยอรมัน  ในสนธิสัญญายังมีข้อกำหนดไม่ให้ธนาคารกลางยุโรปจัดหาเงินทุนให้กับรัฐบาลที่มีปัญหาขาดดุลหรือที่เรียกว่า No Bail Out Clause ด้วย

หลังการประชุมที่ Maastricht เพียงไม่กี่วัน ธนาคารกลางเยอรมันก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 8% เมื่ออังกฤษเข้าร่วม ERM ในจังหวะไม่เหมาะสมจนทำให้เศรษฐกิจพวกเขาถดถอยถึง 2 ปีติดกัน พวกเขาจึงติดในกับดักทั้งด้านการเงินและการเมือง  เมื่อเงินดอลลาร์ลดค่าเงินอย่างรวดเร็ว John Major นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เขียนจดหมายไปหา Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมันเพื่อให้เยอรมันลดอัตราดอกเบี้ย ไม่เช่นนั้นแล้วทั่วทั้งยุโรปต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรืออังกฤษก็ต้องละจากการผูกค่าเงินใน ERM  ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเยอรมันต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหา แต่เยอรมันก็ไม่ยอมลดจนเงินไลร่าของอิตาลีถูกโจมตีค่าเงิน และต้องประกาศลดค่าเงินลง 7%  หลังจากนั้นธนาคารกลางเยอรมันก็ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

จอร์จ โซรอสพ่อมดทางการเงินทราบดีว่าธนาคารกลางเยอรมันจะตัดสินใจทุกอย่างบนผลประโยชน์ของเยอรมัน  เขาจึงยืมเงินปอนด์มากถึง 10 พันล้านดอลลาร์เพราะเขาเชื่อว่าในไม่ช้าอังกฤษต้องลดค่าเงินแน่  ในที่สุดอังกฤษก็ต้องลดค่าเงินจริง ๆ เนื่องจากประธานธนาคารกลางเยอรมันให้ความเห็นผ่านสื่อว่า เขาต้องการให้ความผันแปรของค่าเงินระหว่างมาร์กและสกุลอื่นกว้างขึ้นซึ่งตลาดตีความว่าอังกฤษกำลังถูกโจมตีค่าเงิน  นักลงทุนจึงเทขายเงินปอนด์ออกมามหาศาล รวมทั้งจอร์จ โซรอสด้วย  ภายในเวลาเพียงแค่วันเดียวค่าเงินปอนด์ก็ลดต่ำลงจนถึงจุดต่ำสุดตามข้อตกลงใน ERM  ทั้งธนาคารกลางเยอรมัน อังกฤษและประเทศอื่น ๆ ต่างเสียเงินไปในการปกป้องค่าเงินในวันนั้นถึง 30 พันล้านดอลลาร์  อังกฤษแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยถึง 2% แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขายเงินปอนด์ของนักลงทุนได้  แม้ธนาคารกลางอังกฤษประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 3%  แต่ก็ไม่เป็นผล  ในที่สุดอังกฤษก็ประกาศละจาก ERM ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ลดลงทันที 3% และนักลงทุนซึ่งขายเงินปอนด์ที่ยืมมาก่อนหน้านี้ในราคาที่สูงกว่าได้กำไรทันทีภายในเวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมง 

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นต่ำกว่าเยอรมัน พวกเขาจึงไม่ได้รับแรงกดดันให้ต้องลดค่าเงินเหมือนอย่างอิตาลี อังกฤษหรือสเปน  แต่ หลังจากที่ชาวฝรั่งเศสให้เสียงสนับสนุนสนธิสัญญามากกว่ากลุ่มไม่สนับสนุนเพียงเล็กน้อยอันเป็นการส่งสัญญาณว่าฝ่ายค้านในฝรั่งเศสเข้มแข็งและนโยบายเงินฟรังส์แข็งอาจสิ้นสุดในไม่ช้า  นักลงทุนกลับยืมเงินฟรังส์จากธนาคารกลางฝรั่งเศสและขายเงินฟรังซ์ในตลาดออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อบีบบังคับให้ฝรั่งเศสยกเลิกนโยบายค่าเงินแข็ง  แต่ธนาคารกลางเยอรมันปฏิเสธที่จะเข้าช่วยซื้อเงินฟรังส์อย่างไม่จำกัดตามคำขอของธนาคารกลางฝรั่งเศส  พวกเขายินยอมจ่ายเพียงแค่หมื่นล้านมาร์กเท่านั้น ถ้าเกินกว่านี้ฝรั่งเศสควรลดค่าเงินจะดีกว่า  ในสัปดาห์นั้นเยอรมันเสียเงินไปมากถึง 32 พันล้านมาร์กเพื่อปกป้องค่าเงินฟรังส์ 

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ฝรั่งเศสถูกโจมตีค่าเงินอีก  ในช่วงเวลานั้นผู้ว่าการธนาคารชาติประเทศอื่น ๆ ต่างอยากให้เยอรมันละจาก ERM เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินและใช้เงินฟรังซ์เป็นเงินสกุลหลักแทน  เมื่อฝรั่งเศสถูกโจมตีค่าเงินจนกระทั่งถึงจุดต่ำสุดของ ERM ธนาคารกลางเยอรมันกลายเป็นธนาคารเดียวที่เข้าแทรกแซง เนื่องจากธนาคารกลางฝรั่งเศสเงินหมดแล้ว  ในที่สุด 2 สิงหาคม ผู้ว่าการธนาคารทั่วทั้งยุโรปก็เห็นชอบร่วมกันให้ขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นเป็น 15% เพื่อยุติการลดค่าเงินและหยุดยั้งการโจมตีค่าเงินของนักลงทุน  

หลังปี 1993 เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  เยอรมันต้องเพิ่มค่าเงินหลายครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อส่งผลให้เศรษฐกิจของพวกเขาชะลอตัวลง  ฝรั่งเศสและอิตาลีก็ประสบปัญหาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปเช่นกันจนทั้งสามประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตติดลบพร้อมกันเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  อังกฤษเป็นชาติเดียวที่ได้ประโยชน์หลังยกเลิกการผูกค่าเงิน ค่าเงินปอนด์ที่ลดลง ร่วมกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตกว่าประเทศที่ยังผูกค่าเงินใน ERM  การที่เศรษฐกิจของอังกฤษดีกว่าขณะที่ผูกค่าเงินได้กลายเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป รวมทั้งเป็นแรงกดดันให้เกิดการเลือกระหว่างใช้เงินสกุลเดียวให้เร็วขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและยุติการรวมตลาดไป 

ส่วนฝรั่งเศสนั้น การคงอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพียงแค่ 2% ทำให้ค่าเงินของพวกเขาแข็งกว่าเยอรมันมาก  ถึงกระนั้นหนี้สาธารณะกลับเพิ่มขึ้นมากอันเป็นผลมาจากการเก็บภาษีได้น้อยลง และค่าใช้จ่ายด้านสังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นอกจากฝรั่งเศสแล้ว กรีซ สเปน เบลเยี่ยม โปรตุเกสต่างลงเรืองบประมาณขาดดุลกันถ้วนหน้าจนสูงกว่าข้อกำหนดในสนธิสัญญา Maastricht กว่าสองเท่าทั้งนั้น  การที่เศรษฐกิจของสมาชิกอื่น ๆ ผูกไว้กับเยอรมัน เมื่อเศรษฐกิจเยอรมันอ่อนแอจึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นพลอยประสบปัญหาตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นในปี 1997 สถานการณ์ทางฟากยุโรปก็ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาส่งออกได้มากขึ้น ร่วมกับอัตราเงินเฟ้อต่ำทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง  นอกจากนี้ธนาคารกลางเยอรมันยังทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงจนเหลือ 2.5%  อัตราดอกเบี้ยของสมาชิกจึงเริ่มเบนเข้าหาเยอรมันอันเป็นผลมาจากการที่ตลาดมีความมั่นใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสัญญาณสะท้อนที่จับต้องได้ว่ายุโรปกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจในไม่ช้า 

ถึงกระนั้นก็ตามหลายประเทศยังมีปัญหาหนี้สาธารณะที่เกิน 60% ของ GDP โดยเฉพาะอิตาลี  Paolo Baffi อดีตประธานธนาคารกลางอิตาลีเคยเตือนว่า อิตาลีไม่ควรเข้าร่วมใช้เงินยูโร เนื่องจากพวกเขาจะขาดเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดความสามารถในการแข่งขัน  แนวคิดนี้ก็ตรงกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนในธนาคารกลางเยอรมัน พวกเขาเห็นว่าการรวมตัวกันทางการเงินทำให้อธิปไตยของชาติเสียไป และทำให้แต่ละประเทศขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเองอันจะสร้างความกดดันภายในให้เพิ่มขึ้น   แต่ละประเทศจะต้องแก้ไขปัญหาเหมือน ๆ กันด้วยความเร็วพอ ๆ กันจึงจะสำเร็จได้  หากพวกเขาต่างแก้ปัญหาด้วยหลักการต่างกัน ผู้ที่ใช้วิธีการที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าผู้ที่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ผิด

 Martin Feldstein ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเห็นว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางยุโรปและเป้าหมายของนโยบายการเงินจะกลายเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่สมาชิกสหภาพยุโรป  ถึงกระนั้นก็ตามฝรั่งเศสก็ยังคงยืนกรานจะใช้เงินสกุลเดียวให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วเยอรมันจะกลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลสูงสุดในทวีปขึ้นมาอีก

ในที่สุดการรวมตัวกันทางการเงินก็เกิดขึ้นตรงเวลา  ธนาคารกลางยุโรปสามารถจัดตั้งขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 1998 โดย Christian Noyer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสเป็นรองประธาน และใช้การวิเคราะห์ทางการเงินและเศรษฐกิจในการควบคุมทางการเงินโดยไม่มีเป้าหมายกำหนดปริมาณเงินในระบบอย่างชัดแจ้งเหมือนอย่างธนาคารกลางเยอรมันเป็นนโยบายหลักของธนาคาร

 เมื่อ Gerhard Schroder เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันแทน Kohl สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับเอื้อให้เขาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมาก และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมากทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจเยอรมันเติบโต  เยอรมันยอมกำหนดค่าเงินมาร์กให้แข็งกว่าปกติเล็กน้อยในการแปลงค่าเงินเป็นยูโรเพื่อสนับสนุนสมาชิกอื่นซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนบ้านไปในตัวด้วย

เมื่อทุกประเทศใช้เงินยูโรในวันที่ 1 มกราคมปี 1999 ธนาคารกลางยุโรปกลายเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระดับราคาผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งสมาชิกทุกประเทศต้องยอมรับ  ปฏิบัติการนี้เสมือนหนึ่งเป็นการปฏิวัติที่ปราศจากการเสียเลือดเนื้อ ทั้งนี้เพราะสมาชิกแต่ละประเทศได้สละอธิปไตยบางส่วนด้วยความหวังจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าการอยู่เป็นเอกเทศ   ธนาคารกลางยุโรปจึงกลายเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากธนาคารกลางสหรัฐฯ  

ตลอดสิบปีแรกของธนาคารกลางยุโรป พวกเขาต้องผจญกับความผันผวนหลายรูปแบบจากความไม่สมดุลในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การขาดดุลของสหรัฐฯ อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศสและอิตาลี การเกินดุลของจีน รัสเซียและประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งปริมาณเงินมหาศาลที่กองทุนเอกชนถืออยู่ 

หลังการใช้เงินสกุลยูโรสามปีแรก เงินยูโรมีค่าลดลงถึง 30% จาก 1.18 ยูโรต่อดอลลาร์เหลือเพียง 0.84 ยูโรต่อดอลลาร์เท่านั้น  ธนาคารกลางยุโรปยังถูกบีบบังคับให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกถึง 7 ครั้งเพื่อปกป้องค่าเงิน  นักลงทุนเองก็ขาดความมั่นใจในเงินยูโรสะท้อนได้จากค่าเงินที่ต่ำลงอันเป็นผลมาจากความไม่ลงรอยกันระหว่าง Chirac และ Schroder จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่กล้าใช้เงินยูโรเป็นเงินสำรอง ซ้ำยังถอยหนีกลับไปยังเงินดอลลาร์อีกต่างหาก

อย่างไรก็ดีการใช้ธนบัตรและเหรียญยูโรที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมปี 2002 ก็เป็นไปอย่างราบรื่น พวกเขาสามารถใช้เงินสกุลยูโรได้ 96% ในเวลาเพียงแค่ 3 วันและใช้ได้ 100% ภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน แต่ประชาชนของสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอิตาลีกลับบ่นว่า การใช้เงินยูโรทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากร้านค้าฉวยโอกาสเพิ่มราคาสินค้าในช่วงเปลี่ยนผ่านของการใช้เงินยูโร

ในช่วงที่ Jean Claude Trichet เข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป ค่าเงินดอลลาร์เริ่มลดลงเพราะสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลงบประมาณ ร่วมกับเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวทำให้เขาไม่ต้องทำสงครามกับฝ่ายการเมืองมากนัก และสามารถดำรงความเป็นอิสระได้อย่างงายดาย  การที่เขาเคยเป็นประธานธนาคารกลางฝรั่งเศสที่ต้องรับแรงกดดันจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาแล้วร่วม 10 ปี  ร่วมกับบุคลิกและความสามารถในการจำนรรจาของ Trichet และค่าเงินยูโรที่แข็งขึ้นสนับสนุนฐานะของธนาคารกลางยุโรปให้เป็นที่นับถือแก่ประชาคมโลกได้เป็นอย่างดี แม้ธนาคารกลางแห่งนี้จะมีเงินสำรองเพียงแค่ 40 พันล้านยูโรเท่านั้นเทียบกับธนาคารกลางจีนที่มีเงินสำรองถึง 3,000 พันล้านดอลลาร์อย่างไม่เห็นฝุ่นก็ตาม

เมื่อวิกฤตการเงินที่ Trichet ตั้งฉายาว่าสึนามิข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาลงในยุโรปในวันที่ 9 สิงหาคม 2007 ตลาดการเงินของยุโรปก็หยุดทำงานทันที  ธนาคารกลางยุโรปจึงจำเป็นต้องปล่อยสภาพคล่องเข้าไปในระบบถึง 95 พันล้านยูโรภายในคืนเดียวเพื่อช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ   Alexandre Lamfalussy อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปเห็นว่า การแก้ไขปัญหาของ Trichet เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมควรได้รับการชื่นชม แม้ระบบของยุโรปจะเต็มไปด้วยความซับซ้อนก็ตาม   

แม้ธนาคารกลางยุโรปจะได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลก แต่ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสกลับยังคงเห็นว่าการมีอิสระของธนาคารกลางยุโรปเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง  เขาเห็นว่าการที่ฝรั่งเศสจำต้องปฏิรูปเพื่อเปิดเสรีให้มากขึ้น กลับมิได้สร้างประโยชน์ให้กับฝรั่งเศสเลย มีเพียงสมาชิกอื่น ๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์  เหตุผลที่แท้จริงที่สร้างความกระวนกระวายให้กับผู้นำฝรั่งเศสก็คือ หลังการใช้เงินสกุลยูโร ความสามารถในการแข่งขันของเยอรมันเพิ่มขึ้นมากส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันเติบโตด้วยค่าใช้จ่ายของสมาชิกอื่น ๆ โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศส ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมของเยอรมันดีกว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้จีนและอินเดียสั่งเครื่องมือและสินค้าทุนจำนวนมากจากเยอรมัน

 การเบนออกจากกันของศักยภาพของฝรั่งเศสและเยอรมันก็เป็นผลมาจากแนวคิดที่ต่างกันด้วย  ชาวเยอรมันเชื่อว่าโครงสร้างทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่การสนับสนุนการผลิตไม่เป็นที่นิยมในฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสเชื่อว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเป็นผลมาจากการเพิ่มอำนาจในการซื้อผ่านการกระจายรายได้ และลดภาษีส่วนบุคคล  Schroder เย้ยว่า หากเป้าหมายในการรวมตัวกันใช้เงินยูโรก็เพื่อลดทอนความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจของเยอรมันอ ผลที่ได้ก็ต่างกันแล้ว  ความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของเยอรมันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาแข็งแรงกว่า  เศรษฐกิจของเยอรมันเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค พวกเขามีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า และประเทศอื่น ๆ ก็ไม่สามารถลดค่าเงินมาแข่งขันได้แล้ว  

แท้ที่จริงแล้วฝรั่งเศสและอิตาลีซึ่งมี GDP รวมกันถึง 40% ของสหภาพยุโรป แต่กลับไม่สามารถที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อทดแทนความผิดพลาดของนโยบายและเสริมสร้างศักยภาพตั้งแต่เริ่มใช้เงินยูโร  แทนที่พวกเขาจะสามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนของการกู้ยืมที่ลดลงไปลดการขาดดุลงบประมาณ แต่พวกเขากลับใช้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก  หลังการแก้ไขปัญหาภายในและการปฏิรูปภาคแรงงานสิ้นสุดลง เยอรมันก็สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ข้อมูลจาก OECD บ่งว่า ระหว่างปี 1998-2010 ความสามารถในการแข่งขันของเยอรมันเพิ่มขึ้น 9% จากการลดต้นทุน และลดแรงงานต่อผลผลิต  ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของอิตาลีกลับลดลงถึง 29%  หลังการใช้เงินยูโร ประเทศชายขอบต่างพากันซื้อสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะจากเยอรมัน  การใช้เงินสกุลเดียวทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธนาคารและบริษัทใหญ่ ๆ ของประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและความผันผวนที่น้อยลง  แต่ในวิกฤตครั้งนี้ ธนาคารในเยอรมันกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากสุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเยอรมันเป็นประเทศที่เกินดุลมากที่สุดและเป็นประเทศที่ปล่อยกู้ให้ประเทศชายขอบมากที่สุดด้วย  วิกฤตนี้ยังสะท้อนว่าความเฉียบคมในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมันมิได้ถ่ายทอดมายังภาคการเงินเลย 

หลังวิกฤต Lehman ธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐฯ ต่างต้องเข้าช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ เป็นเงินรวมมากถึง 7,000 พันล้านดอลลาร์ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ และยอมรับสินทรัพย์ที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นในการค้ำประกันเงินกู้   เมื่อรัฐบาลสังคมนิยมเข้ารับตำแหน่งในกรีซ นายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่า งบประมาณของกรีซขาดดุลมากกว่านที่นายกรัฐมนตรีคนเก่าแจ้งไว้ George Papaconstantinou รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซต้องฟังรายงานวิธีการตกแต่งบัญชีของกรีซที่ซ่อนค่าใช้จ่ายไว้ทุกวันราวกับจะไม่มีวันจบสิ้น   จริงอยู่การตกแต่งบัญชีไม่ใช่ปัญหาของรัฐมนตรีเพราะเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่เขาก็ไม่กล้าขึ้นภาษี  Tommaso Padoa-Schipoppa คณะกรรมการในธนาคารกลางยุโรปเห็นว่า การโทษกรีซแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ก็ควรต้องรับผิดชอบด้วยการกดดันกรีซนานแล้ว แต่ก็ปล่อยปละละเลย  Wolgang Schauble รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของเยอรมัน และ Trichet ต่างเห็นด้วยที่จะตั้งสถาบัน European Monetary Fund เพื่อมิให้กรีซต้องไปขอความช่วยเหลือจาก IMF  แต่Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันกลับไม่เห็นด้วย  เธอต้องการให้ IMF เป็นผู้ใช้มาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นกับกรีซ  ในที่สุดสหภาพยุโรปและ IMF ได้ให้เงินช่วยเหลือกรีซครั้งแรกเป็นเงิน 45 พันล้านดอลลาร์พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่จะดำเนินนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดเป็นการตอบแทน

ชาวกรีซตอบสนองต่อนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดนี้ด้วยการออกมาเดินขบวนหลายครั้ง   แต่กรีซก็ต้องขอเข้ารับความช่วยเหลืออีกเป็นเงินมากถึง 140 พันล้านดอลลาร์และต้องรัดเข็มขัดมากขึ้นอีก  ผลของนโยบายรัดเข้มขัดครั้งที่สองสังเวยด้วยชาวกรีซถึง 3 คนจากการเดินขบวน  การเข้าช่วยเหลือครั้งที่สองนี้ก็เพื่อให้กรีซมีเวลาถึง 3 ปีในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินตลาด และยังเท่ากับเป็นการสร้างกำแพงเพื่อป้องกันการลุกลามไปยังสมาชิกอื่น ๆ  ถึงกระนั้นก็ตามตลาดการเงินก็ยังคงไม่สามารถสงบลงได้ พวกเขาเกรงว่ากรีซจะล้มละลายและละจากเงินยูโร  ในที่สุดหลังการต่อรองกันยาวนาน  สหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพแห่งสหภาพยุโรป (European Financial Stability Facility (EFSF)) แบบฉุกละหุกเป็นเงิน 500 พันล้านยูโรขึ้นเพื่อเริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่าง ๆ 

สถานการณ์ของประเทศชายขอบอื่น ๆ ก็ดูเหมือนไม่ต่างจากกรีซมากนัก  วิธีการเดียวที่พวกเขาจะหลุดจากกับดักหนี้ได้ก็คือ ได้เงินช่วยเหลือแบบกินเปล่า หรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดปริมาณหนี้ลงโดยผู้ปล่อยกู้เป็นผู้รับความเสียหายไป  ตลาดจึงสรุปว่ากองทุน EFSF นี้ไม่น่าจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหา  ค่าเงินยูโรจึงลดต่ำลงเรื่อย ๆ  ธนาคารกลางยุโรปจึงต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศอ่อนแอในตลาดที่สองและเพิ่มสภาพคล่องในระบบอีก 1,000 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่าธนาคารกลางยุโรปมิได้มีอิสระจริงและได้ละเมิดข้อห้ามในสนธิสัญญา Maastricht  แล้ว  ซ้ำร้ายพวกเขายังกลายสภาพเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองที่เต็มไปด้วยพันธบัตรของรัฐบาลที่มีปัญหาซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถจ่ายคืนได้ด้วยจนอาจกล่าวได้ว่าธนาคารกลางยุโรปกลายเป็น European Monetary Fund  (EMF) ไปโดยปริยายแล้ว 

EFES ที่จะสิ้นสุดลงในฤดูร้อนปี 2013 เป็นเพียงกองทุนชั่วคราว  สหภาพยุโรปทราบดีว่าพวกเขาต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ถาวรกว่านี้ และการตัดสินใจก็ไม่ควรใกล้เวลาเลือกตั้งในเดือนกันยายนปี 2013 ของ Merkel ด้วย  Merkel และ Sarkozy จึงตกลงกันกลางเดือนตุลาคมปี 2009 เพื่อสังคายนาระเบียบและสนธิสัญญาเพื่อปรับโครงสร้างของสหภาพยุโรป  การตกลงกันเพียงสองฝ่ายนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับ Trichet ประธานธนาคารกลางยุโรปมากจากการที่ข้อตกลงของคนทั้งสองไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกับของสมาชิกอื่น ๆ

การทะเลาะกันระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันถึงวิธีการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหายังคงดำเนินต่อไป  ซ้ำชาวเยอรมันยังทะเลาะกันเองว่าควรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปอีกหรือไม่อีกต่างหาก  Merkel และ Wolfgang Schauble รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมันต่างปฏิเสธการตั้งยูโรบอนด์ พวกเขาไม่ต้องการเอาเครดิต AAA ของเยอรมันไปค้ำประกันหนี้ให้กับประเทศที่ไม่รับผิดชอบ   อิสระในการแสดงออกของ Merkel กลับอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจาก 1. รัฐสภาเยอรมันที่จะไม่ยอมละเมิดข้อกำหนดในสนธิสัญญา Maastricht ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น 2. ความไม่พึงพอใจของชาวเยอรมันในการช่วยเหลือประเทศที่ชาวเยอรมันรู้สึกว่าขาดความรับผิดชอบและ 3. อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มเพิ่มขึ้นในเยอรมันเอง  เยอรมันยืนกรานว่าพันธบัตรที่ออกหลังปี 2013 ผู้ให้กู้ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายด้วย  แต่ฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ เห็นว่า ข้อกำหนดนี้จะทำให้ประเทศที่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงตลาดเงินได้

แม้ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันจะกล่าวไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 ว่า วิกฤตยูโรครั้งนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญที่สุดตั้งแต่มีการเซ็นสนธิสัญญาโรมในปี 1957  เงินยูโรและตลาดร่วม รวมทั้งความมั่งคั่งของเยอรมันกำลังเผชิญกับปัญหา  เงินยูโรเป็นมากกว่าค่าเงิน  แต่การรวมตัวกันทางการเงินนี้เป็นพรหมลิขิต มันเป็นงานของประวัติศาสตร์  หากเงินยูโรล้มเหลว ยุโรปก็จะพลอยล้มไปด้วย   Otmar Issing อดีตนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า แทนที่โครงการใหญ่นี้เป็นไปเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสมาชิกเหมือนอย่างที่ผู้ก่อตั้งหวังไว้  มันกลับกำลังสร้างความร้าวฉานและแบ่งแยกให้เกิดขึ้นอีกในทวีปยุโรป

  ในฤดูร้อนปี 2011 กลุ่มต่อต้านเงินยูโรเกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปจนโค่นล้มรัฐบาลไปประเทศแล้วประเทศเล่า ตั้งแต่ไอร์แลนด์ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม รวมทั้งในฟินแลนด์ สเปน และฝรั่งเศส  รัฐบาลเยอรมันเองก็ถูกวิพากษ์อย่างหนักจาก 1. ความเชื่องช้าในการแก้ไขสถานการณ์จนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ลุกลาม  2. จากการช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่ไม่รับผิดชอบ ในขณะที่ชาวเยอรมันกลับต้องดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวด 3. การพยายามสั่งสอนให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินนโยบายเฉกเช่นที่เยอรมันเคยประสบความสำเร็จ  อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่เยอรมันไม่สามารถหันกลับไปใช้เงินมาร์กได้ แต่ปัญหากลับเกิดจากการที่เงินที่ได้รับผลกระทบในประเทศชายขอบในปัจจุบันเป็นเงินของเยอรมันเองต่างหาก  ทางเลือกของเยอรมันจึงมีเพียงแค่พยายามให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้นแล้วเข้าควบคุมเงินยูโร หรือพยายามหาทางถอนตัวโดยปัดความรับผิดชอบจากประเทศที่พวกเขาเห็นว่าไม่ซื่อสัตย์ซึ่งอาจนำสู่การสิ้นสุดของเงินยูโร  แต่ทางเลือกทั้งสองล้วนไม่น่าเลือกทั้งนั้น

แท้ที่จริงแล้วเงินยูโรประสบความสำเร็จหรือไม่  ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร เช่น นอร์เวย์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ล้วนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพอ ๆ กันกับสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโร และมีอัตราเงินเฟ้อต่ำเช่นกัน นั่นหมายความว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำน่าจะเป็นผลมาจากโลกาภิวัฒน์มากกว่า  กลุ่มที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากการใช้เงินสกุลยูโรน่าจะเป็นภาคธุรกิจยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่ ๆ เพราะพวกเขามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น  ระหว่าง 1999-2000 สินค้านำเข้าและส่งออกไปยังนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว สัดส่วนการค้าของทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและเนเธอร์แลนด์กับสมาชิกอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปลดลง 5-50%  ในปี 2010 เยอรมันค้าขายกับจีนเท่า ๆ กับที่ค้าขายกับฝรั่งเศส  แต่อังกฤษ สวีเดนและโปแลนด์กลับทำได้ดีกว่าเยอรมันด้วยซ้ำ  การที่เงินยูโรยังขาดเสถียรภาพส่งผลให้สัดส่วนของเงินยูโรที่เป็นทุนสำรองยังคงมีเพียงแค่ 26% เท่านั้นซึ่งน้อยกว่าเงินดอลลาร์ ที่ 60% อยู่มาก 

นโยบายที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐฯ ในปี 2007-8 สะท้อนให้เห็นปรัชญาและประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน  ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องดูแลทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานมักเลือกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตลาดหุ้นและธนาคาร ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปที่ได้แบบอย่างมาจากธนาคารกลางเยอรมันจะเน้นแต่ในเรื่องเสถียรภาพราคาผ่านการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น  อนึ่ง การออกแบบเงินยูโรก็เพื่อมาพันธนาการเยอรมัน  แต่ผลกลับเป็นตรงข้าม  ฝรั่งเศสและเยอรมันต่อสู้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลก เช่น เรื่องกรอบการทำงานของธนาคารกลางยุโรป ฝรั่งเศสต้องการให้ธนาคารกลางดำเนินงานภายใต้นักการเมืองเพื่อปกป้องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เยอรมันต้องการการดำเนินงานแบบธนาคารกลางเยอรมันที่เป็นอิสระเพื่อป้องกันยุโรปจากเงินเฟ้อ  Axel Weber อดีตประธานธนาคารกลางเยอรมันเคยเตือนไว้ว่า เยอรมันเคลื่อนเข้าหาอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งประเทศอื่น ๆ ก็สามารถที่จะเคลื่อนเข้าหาภาคบริการได้  แต่พวกเขาต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และกฎจะถูกเขียนขึ้นเพื่อประเทศที่เข้มแข็งที่สุด และประเทศอื่นก็ต้องเดินตาม  

ผู้เขียนแนะทางออกจากวิกฤตก็คือ การละจากเงินยูโรเดิม แต่ก็ต้องมีการดำเนินการที่ซับซ้อนโดยสมาชิกอาจเลือก 1. แบ่งเป็นสองขั้วเหนือกับใต้ หรือกลุ่มเจ้าหนี้กับลูกหนี้ 2. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการยืดหนี้เพื่อให้ประเทศที่อ่อนแอสามารถที่จะใช้หนี้ได้ แต่มันจะเป็นการยืดหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนาแล้วอันจะนำมาซึ่งการสูญเสียความมั่นใจไปทั่วยุโรป

ปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ก็คือ 1. ประเทศเจ้าหนี้คงไม่ยอมให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนอย่างที่เคยเกิดในประเทศชายขอบด้วยการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้ประเทศชายขอบมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น  บริษัทของประเทศเจ้าหนี้คงไม่มีทางยอมรับค่าจ้างที่สูงเกินไปเพื่อช่วยประเทศชายขอบ เพราะพวกเขาสามารถหาค่าแรงที่ต่ำได้จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ  2. อัตราดอกเบี้ยที่ไม่เหมาะสมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่มีแนวโน้มที่จะถูกปรับเพื่อความเหมาะสมของเจ้าหนี้มากกว่า  ถึงกระนั้นก็ตามธนาคารกลางยุโรปคงต้องดำเนินนโยบายเพิ่มสภาพคล่องต่อไป 3. เงินยูโรในตลาดแลกเปลี่ยนคงไม่ลดลงมากนัก

 4. ไม่มีการลดหนี้อย่างเป็นทางการให้กับประเทศชายขอบเพราะไม่ต้องการส่งสัญญาณให้ตลาดเชื่อว่าประเทศใหญ่ก็อาจมีการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย   5. ความโน้มเอียงที่ประเทศแกนจะช่วยเหลือประเทศชายขอบลดน้อยไปมาก ทั้งนี้เพราะเยอรมันได้รัดเข็มขัดกันมานานร่วม 20 ปีจึงไม่เห็นว่าเหตุใดพวกเขาต้องช่วยเหลือประเทศที่ไม่รับผิดชอบและไม่คิดจะแก้ไขด้วย  ประเทศชายขอบควรต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น  ผู้เสียภาษีและสภาของประเทศแกนต่างสงสัยว่าเหตุใดพวกเขาต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือมากขึ้นเพื่อปกป้องตลาดส่งอออกที่นับวันจะมีกำไรน้อยลงเรื่อย ๆ  6. การขยายจำนวนสมาชิกเรื่อย ๆ กำลังจะหยุดชะงักลง  7. สถานการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการพยายามรวมตัวกันทางการเมืองเพื่อให้เข้าถึงเงินภาษีของประชาชนในประเทศร่ำรวยกว่าเป็นเรื่องที่ยากขึ้น  การแก้ไขปัญหาง่ายที่สุดก็คือลดจำนวนสมาชิกให้อยู่ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องมีการรวมตัวกันทางการเมืองเพื่อเคลื่อนย้ายเงินช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะการรวมตัวกันทางการเมืองเป็นเรื่องซับซ้อนและยากจะเกิดขึ้นได้  

แม้เยอรมันจะไม่เคยชอบเงินยูโร แต่พวกเขาเริ่มเห็นข้อดีจากการที่มันปกป้องผู้ส่งออกจากความผันผวนของค่าเงิน  อย่างไรก็ดี ความรู้สึกนี้กำลังสะดุดลง เพราะเยอรมันกำลังเกรงว่าพวกเขาอาจต้องให้ความช่วยเหลือกรีซต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดซึ่งอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นต่ออันดับความน่าเชื่อของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน   หากเยอรมันต้องการรวมตัวกันต่อไป พวกเขาอาจต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเยอรมันกำลังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือต้องการทำหรือไม่ พวกเขากลับย้อนไปให้ความสนใจกับตัวเองมากกว่า และแม้ดูเหมือนว่าเบอร์ลินจะอยากเป็นผู้นำของสหภาพยุโรป แต่พวกเขากลับขาดความมั่นใจในการส่งสัญญาณที่เข้าใจได้ไปยังเพื่อนบ้าน และขาดทักษะในการต่อรองเพื่อดึงพรรคพวกมาเป็นเพื่อน 

ปัจจุบันปัญหาของเงินยูโรกำลังมาถึงจุดเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตมาก่อน นั่นคือ ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เต็มไปด้วยความสงสัยและต้องการทำลายล้างกัน 

ดุลการชำระเงินเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่ในสหภาพยุโรป  อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ร่วมกับอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกระตุ้นให้เกิดอุปนิสัยของความไม่รับผิดชอบขึ้นทั้งจากธนาคารและภาคครัวเรือนส่งผลให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องเสียใจ  ประเทศเกินดุลที่ปล่อยกู้ให้กับประเทศขาดดุลสุดท้ายก็ต้องเข้าให้ความช่วยเหลือพวกเขา  การรวมตัวทางการเงินให้ผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจ แทนที่เยอรมันจะอ่อนแอลง กลับเพิ่มความแข็งแกร่งให้เยอรมัน และยังทำให้ทั้งยุโรปกลายเป็นเหมือนเยอรมันด้วย  ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากวิกฤตยูโรนี้คงยาวนานและร้ายแรงกว่าที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แม้ภาคธุรกิจของเยอรมันจะแข็งแกร่ง แต่รัฐบาลและธนาคารเยอรมันกลับตรงข้าม ซ้ำร้ายชาวเยอรมันยังไม่ยินดีที่จะเสียเงินเพื่อช่วยเพื่อนบ้านที่ไม่รับผิดชอบอีกต่างหาก

แม้นักการเมืองและเทคโนแครตต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีทางที่ประเทศใดจะละจากยูโรได้ เพราะมันเป็นบ้านที่มีทางเข้าหรูหราใหญ่โต แต่ไม่มีทางออก  แต่เศรษฐกิจของยูโรอ่อนแอเกินกว่าจะดำเนินต่อไปเหมือนที่เกิดขึ้นในสิบปีแรก  ถึงกระนั้นก็ตามนักการเมืองคงไม่ยอมที่จะตายง่าย ๆ สงครามเพื่อคงสภาพเงินยูโรเช่นที่ผ่านมามีแต่ต้องพ่ายแพ้  ทางเดียวที่จะชนะได้มีแต่ต้องป้องกันมิให้ปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น แต่คงสายไปเสียแล้ว

ข้อคิดเห็น หนังสือขนาด 352 หน้าที่มีตัวอักษรเล็กจิ๋วนี้อ่านสนุกและเต็มไปด้วยข้อมูลรายละเอียดลำดับขั้นตอนถึงเหตุการณ์ในสหภาพยุโรปมากมาย ทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ  ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เขียนออกแนวไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวกันทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมันดูจะเสียเปรียบมากตั้งแต่แรก เขายังคาดการณ์ว่าเยอรมันจะเป็นผู้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปซึ่งต่างจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ที่คาดว่า กรีซควรเป็นประเทศแรกที่ละจากเงินยูโร

 

 

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.