You are here: Home > Econ & Business, Political Science > มายาภาพแห่งยุโรป / A Grand Illusion : An Essay on Europe

มายาภาพแห่งยุโรป / A Grand Illusion : An Essay on Europe

ดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร 

 

เป็นที่ทราบกันดีแล้ว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปถดถอยลงถึงสองรอบจนทำให้ชาวยุโรปส่วนหนึ่งไม่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว  แท้ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหรือไม่  มีนักวิชาการหรือนักการเมือง หรือประชาชนคัดค้านหรือไม่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  A Grand Illusion : An Essay on Europe หนังสือเล่มเล็ก ๆ ขนาด 150 หน้าที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1996 โดย Tony Judt นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงว่า แนวคิดของกลุ่มต่อต้านการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (Euro-skeptic) มีมาตั้งแต่ปีนั้นแล้ว  หนังสือจะพูดถึง  1. ความคาดหวังต่อการเกิดสหภาพยุโรป 2. ทำไมสหภาพยุโรปจะไม่รุ่งเรือง  3. การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปจะเป็นไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

แนวคิดของการรวมตัวกันของชาติในยุโรปถูกนำเสนอครั้งแรกใน Le Moniteur หนังสือพิมพ์สัญชาติฝรั่งเศสตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้ชื่อว่า United States of Europe  ต่อมาในปี 1922 แนวคิดของการรวมตัวกันของยุโรปก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Aristide Briand รัฐบุรุษชาวฝรั่งเศสเสนอให้ชาวยุโรปมีพันธบัตรรัฐบาลกลาง (Federal bond) ร่วมกัน  ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ในเดือนตุลาคมปี 1942 Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เขียนจดหมายไปถึง Anthony Eden รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมีใจความว่า เขาเชื่อว่าชาวยุโรปจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ A Council of Europe โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างหนทางของความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มที่เคยร่วมมือกันในสงครามเพื่อต่อต้านนาซี 

ต่อมาในปี 1945 Charles de Gaulle ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ต้องการที่จะลดทอนอำนาจของเยอรมันให้อยู่ในระดับที่ไม่คุกคามประเทศอื่น ๆ โดยที่วัตถุดิบและผลผลิตของเยอรมันยังต้องมากพอที่จะหลั่งไหลเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสต้องพึ่งพาถ่านหินจากลุ่มแม่น้ำ Ruhr ในเยอรมัน  อย่างไรก็ดีความปรารถนานี้ของฝรั่งเศสกลับขัดแย้งกับความปรารถนาของอังกฤษและสหรัฐฯ ที่ต้องการฟื้นฟูเยอรมันตะวันตก  อังกฤษและสหรัฐฯ จึงพยายามที่จะจัดให้เยอรมันตะวันตกสามารถที่จะดูแลตัวเองได้นำมาซึ่งความไม่สบายใจต่อฝรั่งเศส  ในที่สุดความพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันก็เป็นผลจากแนวคิดของ Jean Monnet ในรูปแบบของ European Coal and Steel Community อันประกอบด้วยสมาชิกตั้งต้น 6 ประเทศ   Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีเยอรมันให้ความเห็นในการเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือนี้ว่ามันเป็นหนทางเดียวที่เยอรมันจะสามารถกลับเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือนานาชาติในฐานะที่เท่าเทียมกับชาติอื่น  กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ก็ต้องการให้เยอรมันสามารถฟื้นฟูได้เพราะพวกเขาต้องการตลาดเยอรมัน และต้องการให้เยอรมันเป็นคู่ต่อกรความโดดเด่นของฝรั่งเศส  แต่สหราชอาณาจักรกลับมองความร่วมมือนี้ในทางที่แตกต่างจากประเทศอื่นเพราะอังกฤษไม่ได้ต้องการทั้งวัตถุดิบและตลาดเยอรมัน พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่เข้าร่วมในกลุ่มความร่วมมือนี้เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ผู้เขียนเห็นว่านโยบายหลายอย่างของการรวมตัวเป็นประชาคมยุโรป  (European Community) ไม่เข้าท่า เช่น นโยบายที่ตั้งราคาขายสินค้าให้มากกว่าราคาตลาดโลกและยอมซื้อสินค้าที่ผลิตมากเกินในราคากำหนด  จริงอยู่นโยบายปกป้องด้านการเกษตรอาจมีความสำคัญในช่วงปี 1950 เพราะในช่วงเวลานั้นจำนวนเกษตรกรในแต่ละประเทศยังมีสัดส่วนสูงอยู่ เช่น เยอรมัน 25% ฝรั่งเศส 30% และอิตาลีมากถึง 43%  แต่ในปี 1955 ซึ่งเป็นปีก่อนการตั้งประชาคมยุโรปนั้น สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นมากจนราคาตกต่ำ และผลผลิตนอกภาคการเกษตรก็เพิ่มขึ้นมากจนทำให้รายได้ของเกษตรกรต่ำกว่ารายได้นอกภาคการเกษตรแล้ว กฎหมายปกป้องภาคเกษตรจึงให้ผลประโยชน์แต่เฉพาะกับผู้ผลิตรายใหญ่แทนที่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร ผู้เขียนเห็นว่า หากรัฐบาลฝรั่งเศสได้หวนกลับไปนับเสียงของเกษตรกรในประเทศตัวเองใหม่ซึ่งเหลือเพียง 8.7% เท่านั้น พวกเขาคงยกเลิกนโยบายนี้ก่อนที่งบประมาณของ EC มากกว่า 70% ในทศวรรษที่ 1970 จะถูกใช้ไปกับสินค้าเกษตร  แท้ที่จริงแล้วนโยบายนี้ไม่ควรมีตั้งแต่แรก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลสามารถที่จะยกระดับราคาสินค้าเกษตรได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ประชาชนในเมืองโกรธแค้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์สร้างผลกระทบต่อชาวยุโรปหลายประการ นั่นคือ  1. ทำให้รัฐสามารถเข้ายุ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจทุกเรื่องเหมือนอย่างที่ Michael Howard เคยกล่าวไว้ว่า สงครามและสวัสดิการจะไปคู่กันเสมอ  ชาวเยอรมันดูเหมือนจะมีความสุขมากกว่าชาติอื่น  เพราะพวกเขาสามารถสนุกสนานกับการสร้างชาติใหม่  2. สงครามเย็น ทุกชาติในยุโรปต่างเห็นร่วมกันว่าภัยคุกคามใหม่ของพวกเขาคือ สหภาพโซเวียต  สหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจใหม่จึงได้ให้เงินช่วยเหลือยุโรปตะวันตกมากมายผ่านทาง Marshall Plan เพื่อปิดล้อมมิให้สหภาพโซเวียตสามารถขยายอำนาจ  เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้เยอรมันได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว เยอรมันตะวันตกจึงกลายเป็นชาติที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายของปี 1949 เยอรมันตะวันตกก็มีผลผลิตเทียบเท่ากับปี 1936 แล้ว  ยิ่งกว่านั้นเยอรมันยังเกินดุลกับประเทศที่เหลือในยุโรปด้วยเพราะพวกเขาเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่สำคัญ 

ในทศวรรษต่อ ๆ มาเศรษฐกิจของยุโรปรุ่งเรืองมาก แม้ว่าจำนวนเกษตรกรจะลดลงไปอย่างมากก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่  1. ในระหว่างปี 1945-55 สหรัฐฯ ให้เงินมาช่วยเหลือประเทศคู่สงครามในโครงการ Marshall Plan มากถึง 24.8 พันล้านดอลลาร์โดยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและอิตาลีได้เงินไป 6.9, 5.5, 3.9 และ2.9 พันล้านตามลำดับเพื่อใช้ในการนำเข้าวัตถุดิบ ลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มเงินให้กับผู้บริโภคจนทำให้ทั่วทั้งยุโรปสามารถที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ได้  2. เยอรมันได้แรงงานจากการที่ประชากรกลุ่มเบบี้บูมเติบโตเข้ามาในตลาด ร่วมกับแรงงานราคาถูกชาวปรัสเซีย โปแลนด์ เช็กโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวียที่หลั่งไหลเข้ามาในเยอรมันมากถึงกว่า 10 ล้านคน

การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปแตกต่างจากการรวมตัวกันของภูมิภาคอื่น  ชาวยุโรปรวมตัวกันเพราะพวกเขามีรากฐานเหมือนกันตามธรรมชาติโดยเริ่มแรกพวกเขาแบ่งกลุ่มกันตามนิกายทางศาสนา ได้แก่ กลุ่มคริสเตียนที่แบ่งพื้นที่ของจักรวรรดิออตโตมานบนบอลข่าน  และกลุ่มคาทอลิกในฝรั่งเศสที่แบ่งสรรพื้นที่ของอาณาจักรโรมัน  ส่วนการแบ่งกันในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งกลุ่มยุโรปตะวันตกยุคปัจจุบันนั้นจะเน้นไปในแนวเหนือใต้ ชาวยุโรปเหนือซึ่งเป็นกลุ่มโปรเตสแตนท์เดิมอันประกอบด้วยกลุ่ม Lutheran, Calvinist และ Anglican ซึ่งพูดภาษาที่มีรากมาจากภาษาเยอรมันนั้นเป็นการแบ่งประเทศกันอย่างเรียบร้อยและมีเขตแดนที่แน่นอน  ในขณะที่กลุ่มยุโรปใต้ที่นับถือศาสนาโรมันคาทอลิกและพูดภาษาลาตินจะยังคงอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปกครองโดยกษัตริย์หรือพระสันตะปาปา  การแบ่งแยกเช่นนี้ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน  ส่วนการการรวมกันเป็นชาติครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่กลุ่มแรกประกอบด้วยชาติยุโรปตะวันตกภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และกลุ่มยุโรปตะวันออกภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์  การเกิดชาติด้วยวิธีการแบบยุโรปตะวันออกนี้เป็นข้อเสียอย่างมาก ทั้งนี้เพราะประเทศที่เกิดจากการแตกตัวออกมาจะมีประวัติศาสตร์และจุดอ่อนเหมือน ๆ กัน 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ยุโรปตะวันออกจึงอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม  ถึงกระนั้นก็ตามชาวยุโรปตะวันออกที่อายุน้อยต่างยังคงกระตือรือร้นที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์  รัฐบาลกลับบริหารภายใต้กลยุทธ์ที่ใช้แต่อำนาจและก่อให้เกิดความเกรงกลัวจึงสร้างความเสียหายกับประเทศในระยะยาว  การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันออกภายใต้การนำของสหภาพโซเวียตที่เรียกว่า COMECON จึงเป็นไปเพียงแค่ให้เกิดการแบ่งงานกันทำ และทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศยุโรปตะวันออกด้วยกันเป็นไปอย่างราบรื่นโดยปราศจากปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน  เมื่อสินค้าของประเทศยุโรปตะวันออกไม่เป็นที่ต้องการของประชาคมโลก พวกเขาจึงยากจนและมีแต่ความทรงจำของความกดดัน และความกระสับกระส่าย  คอมมิวนิสต์ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจของชาติเหล่านี้เสียหาย ยังทำให้คนในสังคมหมดกำลังใจที่จะทำงานด้วย การที่ประเทศยุโรปตะวันออกจะสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้อาจมิได้ทำให้ความทรงจำอันเลวร้ายตลอด 50 ปีเหือดแห้งไป แต่มันก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ผู้นำส่วนใหญ่ของประเทศยุโรปตะวันออกจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปให้ได้เร็วที่สุด แม้ว่าข้อปฏิบัติบางอย่างจะทำให้ดูเหมือนพวกเขาสูญเสียอำนาจอธิปไตยไปบ้างก็ตาม

                จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของยุโรปเริ่มต้นในปี 1989 อันเป็นปีสิ้นสุดของลัทธิคอมมิวนิสต์  ในปีนั้นชาวยุโรปตะวันออกทั้งหมดตกอยู่ในความวุ่นวายของทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  ส่วนในยุโรปตะวันตกนั้น ฝรั่งเศสก็ตระหนักว่า พวกเขาอยู่ในสัมพันธภาพกับเยอรมันแบบ “เยอรมันแสร้งเป็นไม่มีอำนาจ และฝรั่งเศสก็แสร้งไม่รู้ว่าเยอรมันมีอำนาจ”  ทั้งนี้เพราะในปี 1989 หลังการพังทลายลงของกำแพงเหล็ก เยอรมันตะวันตกได้รวมเอาเยอรมันตะวันออกเข้ามาจนกลายเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและมั่งคั่งมากกว่าฝรั่งเศสมากส่งผลให้อำนาจอันโดดเด่นของฝรั่งเศสสิ้นสุดลง  ในขณะที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจเยอรมันต่อสหภาพยุโรปและต่อโลกกลับเพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปไปอีกเสียแล้ว  ถึงกระนั้นก็ตามฝรั่งเศสยังคงต้องการที่จะมีอิทธิพลโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคอีก  ทั้ง Konrad Adenauer และ Helmut Kohl อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมันต่างยังคงยินยอมที่จะยกอำนาจให้กับฝรั่งเศสต่อไป แทนที่จะยืนกรานความเข้มแข็งของเยอรมัน ทั้งนี้เพราะพวกเขายังคงรู้สึกกระดากใจต่อศักยภาพของตัวเอง

การที่สมาชิกแต่ละชาติต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปก็เพื่อตอบสนองความต้องการและปิดจุดบอดของตัวเอง เช่น เยอรมันกลัวการตกงานและอัตราเงินเฟ้อที่คุมไม่ได้ ฝรั่งเศสกลัวเศรษฐกิจชะงักงัน  แต่สหภาพยุโรปเองก็ไม่แน่ใจว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตมาเป็นเวลาหลายทศวรรษจะสามารถดำเนินต่อไปได้หลังปี 1989 ปัญหาของการรวมชาติของเยอรมันและตัวภาวะเศรษฐกิจเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราว่างงานที่เริ่มสูงขึ้นจาก 1.6% ในทศวรรษที่ 1960 เป็น 11% ในปี 1993  ซ้ำร้ายอัตราว่างงานของผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปียังสูงถึง 20% ทั้งในสเปน ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยมและกรีซด้วย  ยิ่งกว่านั้นสหภาพยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดความมั่นคงในสังคม  เมืองใหญ่ ๆ ของทุกประเทศต่างมีคนจนเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และผิวดำเป็นจำนวนมาก  จริงอยู่ความกดดันและเกลียดชังในสังคมแม้จะมีอยู่มากมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้ว แต่การที่สังคมของสหภาพยุโรปยังคงไม่วุ่นวายน่าจะเป็นผลมาจากรัฐสวัสดิการที่ให้ประโยชน์กับประชาชนตั้งแต่เปลนอนถึงเชิงตะกอนตามอย่างประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย  แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่สูงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ประกันสังคมและบำนาญก็ทำให้สัดส่วนของรัฐสวัสดิการต่อ GDP ของทุกประเทศในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างไม่หยุดยั้ง

  ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากรัฐสวัสดิการเหล่านี้ก็คือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในช่วงยากลำบากของประเทศ  แต่รัฐสวัสดิการเช่นนี้จะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อการจ้างงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  หากการจ้างงานชะงักงัน บริการเยี่ยงนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน  ปัจจัยที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดที่สหภาพยุโรปต้องเผชิญก็คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุร่วมกับการลดลงอย่างมากของอัตราเกิด นั่นหมายความว่า รัฐสวัสดิการต้องเพิ่มบริการให้ผู้สูงอายุมากขึ้นในขณะที่คนทำงานเพื่อจ่ายภาษีมีลดลง  ความจริงข้อนี้เป็นที่ตระหนักต่อนักการเมืองทั่วทั้งสหภาพยุโรปอยู่แล้ว  ปัญหาสำหรับกลุ่มการเมืองก็คือ ใครจะเป็นผู้ผิดหวังหรือเสียสละก่อนระหว่าง กลุ่มผู้จ่ายภาษีที่มีจำนวนลดลง หรือกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น    

อย่างไรก็ดี การขาดแคลนแรงงานในยุโรปไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกเขาเคยเผชิญปัญหานี้แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้อพยพจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้ามาในทวีป เช่น ชาวเติร์กเข้ามาในเยอรมันถึง 5 ล้านคนหรือประมาณ 10% ของแรงงานในประเทศ  แม้ในช่วงหลังรัฐบาลของแต่ละประเทศจะจำกัดปริมาณผู้อพยพ แต่แรงงานต่างชาติในทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ก็ยังคงมากถึง 6.1%, 6.4% และ 4.3% ของประชากรตามลำดับ  ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญก็คือการขาดความสามารถที่จะดูดซับความแตกต่างหรือสร้างวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายได้ รวมทั้งมีการแข่งขันกันแย่งชิงทรัพยากร แม้แต่ในสหภาพยุโรปเองความไม่เท่าเทียมกันก็เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่ประเทศยุโรปเหนือซึ่งร่ำรวยสามารถที่จะให้รัฐสวัสดิการและส่งเสริมการสร้างฐานะได้ดีกว่ายุโรปใต้จนนำมาซึ่งความอิจฉาและความไม่พอใจ 

นอกจากนี้ในกลุ่มคนยุโรปเหนือมักคิดว่าการเป็นชาวยุโรปก็คือ คนทันสมัย มั่งคั่ง เสียภาษี มีการศึกษาดี และมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง ในขณะที่กลุ่มชนบทหรือพวกยุโรปใต้นั้นเป็นพวกหลังเขา เกียจคร้าน เป็นชาวเมดิเตอร์เรเนียนที่ต้องการการสนับสนุนไปเสียทุกเรื่อง นั่นหมายความว่า  เมื่อความสามารถในการเคลื่อนย้ายคนและทรัพยากรมีมากขึ้นจากการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปก็จะทำให้ความไม่พึงพอใจก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ จนเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้นเหมือนอย่างในประวัติศาสตร์

แม้การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปอาจเป็นสิ่งน่าพึงประสงค์สำหรับทุกคน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในความรู้สึกของชาวยุโรปทุกคนก็คือ ความเป็นชาติหรือชาตินิยมซึ่งมีรากฐานมาจากการสู้รบแย่งชิงดินแดนตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19  การสร้างโครงข่ายและความเชื่อมโยงกันทางการค้าจึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของจักรวรรดิออโตฮังกาเรียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้  ในสายตาของโลกภายนอก สหภาพยุโรปยังคงเป็นความหวังและโอกาสของความมั่งคั่งรวมทั้งเสถียรภาพของสมาชิกทั้งตะวันออกและใต้  แต่ในสายตาของคนภายในนั้นยังคงมีปราการตั้งอยู่  การรวมตัวกันเป็นสหภาพของยุโรปเหนือและใต้ในครั้งนี้จึงมิใช่เพื่อผลประโยชน์ทางด้านทรัพยากรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปเพราะความกลัวที่จะหมดอำนาจในประชาคมโลกของพวกเขาด้วย 

เป็นที่ทราบกันดีว่าการรวมกันเป็นชาติย่อมปกป้องผู้อ่อนแอได้มากกว่า เพิ่มโอกาสของการกระจายทรัพยากรได้ดีกว่า ธำรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีมากกว่า รวมทั้งสามารถที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า  มันจึงเป็นไปได้ยากที่ประเทศคอมมิวนิสต์เก่าจะสามารถเข้าร่วมสหภาพยุโรปได้อย่างเท่าเทียมกับสมาชิกเดิมโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก นอกเสียจากว่าประเทศยุโรปตะวันตกจะยินดีที่จะเสียสละหากพวกเขามีฐานะที่ดีพอ  แท้ที่จริงแล้วปัญหาที่ชาวยุโรปให้ความสนใจในปัจจุบันก็คือปัญหาด้านประชากรและภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจจากตะวันออกและใต้  หากการเข้าร่วมของยุโรปตะวันออกเป็นผลสำเร็จก็คงเป็นผลมาจากการที่ชาวยุโรปยินดีที่จะเปิดประตูต้อนรับมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ยอมลดทอนข้อปฏิบัติในการเข้าเป็นสมาชิก

ผู้เขียนเชื่อว่านับจากนี้ไปสหภาพยุโรปจะถูกปกครองโดยเยอรมันมีเยอรมันเป็นผู้นำซึ่งไม่แน่ว่าชาวยุโรปทั้งหมดจะยินดีมากกว่าการมีฝรั่งเศสเป็นผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองในเมดิเตอร์เรเนียน  ความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจของเยอรมันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัญหาน่าจะเกิดกับเยอรมันมากกว่าความกระสับกระส่ายของเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพราะเยอรมันคงไม่สามารถที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพในยุโรปได้จากการที่พวกเขาให้ความสนใจแต่กับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศและไม่มีความปรารถนาที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็จะอึดอัดใจกับความเอื่อยเฉื่อยของเยอรมันเองด้วย

 

ข้อคิดเห็น หนังสือที่เขียนตั้งแต่ปี 1996 เล่มนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งสหภาพยุโรปมีมาก่อนการใช้เงินสกุลเดียวมาเป็นหลายปี  กลุ่มนี้เห็นว่าการก่อตั้งสหภาพยุโรปไม่ให้ประโยชน์อะไรกับสมาชิกเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน

การทำนายถึงอนาคตที่ว่าเยอรมันจะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่และกุมอำนาจของสหภาพยุโรปก็เกิดขึ้นตั้งแต่สหภาพยุโรปยังอยู่ในช่วงที่ก่อตั้งไม่เสร็จแล้ว  บัดนี้กลุ่ม Euro skeptic คงกำลังหัวเราะเยาะฝรั่งเศสอย่างไม่ต้องสงสัย

การศึกษาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลว และการใส่ใจกับความเห็นของนักวิชาการที่แตกต่างจากนักการเมืองอย่างสิ้นเชิงน่าที่จะเป็นประโยชน์ในการรับมือของนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยเรากำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN 

Rating: 5 stars

Tags: , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.