สหภาพยุโรปหรือการรวมตัวกันทางการเงินที่สามารถกำจัดภยันตรายจากความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดบนภาคพื้นทวีปและสร้างความสามัคคีได้นี้เป็นความสำเร็จมากที่สุดของทวีปยุโรป หนทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงรากเหง้าและต้นเหตุของวิกฤต Europe in Crisis: Bolt from The Blue หนังสือขนาด 184 หน้าพิมพ์ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2012 ของ Ivan T. Berend นักประวัติศาสตร์ชาวฮังกาเรียน อดีตประธาน Hungarian Academy of Science และอาจารย์มหาวิทยาลัย UCLA จะเสนอรายละเอียดที่ซับซ้อน และบทวิเคราะห์สำหรับผู้สนใจทั่วไปเกี่ยวกับ 1. ประวัติและที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจของสมาชิกสหภาพยุโรปทีละประเทศ 2. ความหมายและที่มาของการเป็นสังคมบริโภคอันเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 3. การเปิดเสรีภาคการเงินจนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ครึ่งศตวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดแนวโน้มแบบวงจรขึ้นในยุโรป เริ่มจากปีที่เริ่มสร้างชาติใหม่ เศรษฐกิจของทั้งยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในระหว่าง 1970-2000 หรือภายในเวลาเพียงแค่ 30 ปี การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 5.8 ล้านล้านดอลลาร์ ปริมาณธุรกรรมทางการเงินในเวลาเพียงแค่ 2 ปีครึ่งระหว่าง 1973-75 ก็เพิ่มขึ้นจาก 15 พันล้านดอลลาร์เป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เปิดเสรีมากขึ้นยังผลให้จริยธรรมของธนาคารและความเชื่อมั่นในสถาบันเปลี่ยนไป การพนันได้เข้าแทนที่ทัศนคติในการทำธุรกิจซึ่งเพิ่มทั้งกำไรและความ
เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้ากลายเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินอันประกอบไปด้วย FIRE (Finance, Insurance, Real Estate) เป็นส่วนใหญ่ ครัวเรือนมีพฤติกรรมเหมือนธนาคาร ธนาคารมีพฤติกรรมเหมือนกองทุนเก็งกำไร พวกเขาต่างพยายามที่จะสร้างกำไรโดยไม่สร้างคุณค่า ส่วนนักเศรษฐศาสตร์หรือพ่อมดในยุคใหม่นี้ก็มีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาคือกลุ่มที่ติดตาม ควบคุมและแนะแนวทางเศรษฐกิจได้ นั่นหมายความว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลจากปัจจัยภายนอกทั้งนั้น นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกถึงกับเชื่อว่า วงจรธุรกิจเป็นทฤษฏีที่ล้าหลัง เศรษฐกิจยุคใหม่มีแต่วงจรการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกับช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือการเจริญเติบโตแบบถดถอยเท่านั้น เศรษฐกิจถดถอยได้สูญหายไปจากโลกอย่างสิ้นเชิงแล้ว
บทวิเคราะห์จากรายงานของสหภาพยุโรปในปี 2009 บ่งว่าก่อนวิกฤตนั้น คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคได้ถูกกำจัดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง การมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำร่วมกับเสถียรภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Great Moderation กลายเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของประเทศพัฒนาแล้ว ยุโรปจะไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ตรงที่พวกเขามีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนทางการเงิน บทวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่เห็นสัญญาณที่ชัดแจ้งตรงหน้าเลย ในช่วงเวลานั้นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสูงมากแล้ว นั่นหมายความว่า พวกเขาหลงลืมไปแล้วว่า Joseph Schumpeter เคยกล่าวไว้ว่า การกู้ยืมของผู้บริโภคเป็นอันตรายที่โดดเด่นที่สุด และการกู้ยืมของผู้บริโภคเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดในช่วงเศรษฐกิจชะงักงันหรือตกต่ำด้วย แม้หนี้สาธารณะของหลายประเทศจะมากจนเกินคุณค่าของแต่ละประเทศหรือ GDP แล้ว แต่ความมั่นใจจนเกินเลยนี่เองที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างมืดบอด
แท้ที่จริงแล้วเมฆฝนได้ตั้งเค้ามาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษแล้ว แต่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ต่อไป ฤดูร้อนปี 2007 กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในเดือนเมษายน New Century Financial บริษัทสินเชื่อด้อยคุณภาพประกาศล้มละลาย อีกสองเดือนต่อมากองทุนเก็งกำไรของ Bear Stearn ขาดทุนอย่างหนัก เดือนสิงหาคม American Home Mortgage ประกาศล้มละลาย อีก 3 วันต่อมากองทุนเพื่อการลงทุน 3 แห่งของ BNP Paribas บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสก็ประกาศล้มละลาย Sachsen Landesbank รอดจากการล้มละลายเพราะ Baden Wurttemberg Landesbank ช่วยซื้อไว้ ธนาคารกลางยุโรปต้องปล่อยสภาพคล่อง 156 พันล้านยูโรให้กับธนาคารทั่วยุโรป เฉพาะกลางเดือนสิงหาเพียงเดือนเดียว ธนาคารกลางยุโรปต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบมากถึง 47.7 พันล้านยูโร
ถึงกระนั้นก็ตามการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ก็กลายเป็นสิ่งที่หยุดยั้งไม่ได้ ธนาคาร Northern Rock ของอังกฤษถูกแปรรูปเป็นกิจการของรัฐ ในเดือนกันยายน เมื่อหุ้น Lehman Brothers มีมูลค่าลดลงถึง 75% และ 9 กันยายนเพียงแค่วันเดียวราคาหุ้นก็ลดลงอีก 49% เหลือเพียง 8 ดอลลาร์ ในที่สุดวันที่ 15 เดือนกันยายนปี 2008 พวกเขาก็ประกาศล้มละลายและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ หลังจากนั้น 1 เดือนดัชนีดาวน์โจนส์ลดลงเหลือเพียง 6,469 จุดหรือเพียง 46% เทียบกับจุดสูงสุด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งความมั่งคั่งได้สิ้นสุดลงพร้อมกับวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่แล้ว
เดือนกันยายน 2008 วิกฤตเศรษฐกิจประทุขึ้นในสหรัฐฯ และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่กว้างขวางและรุนแรงที่สุดหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในลักษณาการที่แตกต่างกัน 3 ทางคือ แบบที่ 1 ไอซ์แลนด์ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีประชากรเพียงแค่ 320,000 คนนี้มีลักษณะพิเศษ ลึกล้ำและเกิดขึ้นที่แรกในยุโรป ดั้งเดิมนั้นไอซแลนด์เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักโดยเป็นสินค้าส่งออกถึง 40% ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพียงแค่ 20% เท่านั้น 92% ของประชากรเป็นชาวชนบทอาศัยแถบริมทะเล ไอซแลนด์ซึ่งเพิ่งเป็นอิสระจากเดนมาร์กในปี 1944 มีเศรษฐกิจแบบรัฐเป็นเจ้าของกิจการ รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าเกษตรและผลตอบแทนที่ธุรกิจค้าปลีกควรได้รับ รวมทั้งควบคุมปริมาณสินค้านำเข้า พวกเขาเป็นประเทศร่ำรวยและเป็นประเทศพัฒนาอันดับ 17 ของโลก หลังปี 1990 ไอซแลนด์เริ่มเข้าสู่ตลาดเสรี รัฐเริ่มปล่อยมือจากกิจการมากขึ้นโดยเริ่มมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 1991 ในปี 2000 รัฐบาลอนุญาตให้มีการเปิดเสรีทางด้านการเงิน
ปี 2001 ธนาคาร Kaupthing, Landsbanki และ Glitnir ได้กลายเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนและทำธุรกรรมระหว่างประเทศ พวกเขาเปิดสาขาในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งเสนออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารท้องถิ่นในประเทศทั้งสองถึง 50% เพื่อดึงดูดเงินฝาก ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีมูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารทั้งสามก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,451 พันล้าน ICK และอีกเพียง 5 ปีก็เพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าถึง 14,437 พันล้าน ICK ปริมาณการปล่อยกู้ในปี 2007 สูงถึง 430% ของ GDP ภายในเวลาเพียงแค่ 1 ทศวรรษมูลค่าสินทรัพย์ของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าของ GDP และติดอันดับธนาคารใหญ่ 300 แห่งแรกในโลกซึ่งสร้างมูลค่าให้กับประเทศเป็นสัดส่วนถึง 9% ของ GDP ในขณะที่อุตสาหกรรมประมงเหลือสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของ GDP เท่านั้น ส่วนหนี้ของธนาคารทั้งสามซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าของ GDP ด้วย
ในช่วงที่ธนาคารต่าง ๆ เริ่มลดการปล่อยกู้ ธนาคารส่วนใหญ่หันมาใช้บริการของธนาคาร 3 แห่งนี้ ภายในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนของปี 2007 พวกเขาปล่อยกู้เพิ่มขึ้นถึง 120% จากเงินกู้ระยะสั้นที่พวกเขาไปกู้มาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายเงินกู้ระยะสั้นในปี 2008 พวกเขากลับไม่สามารถที่จะกู้เพิ่มได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 6% ของ GDP ในปี 2005 เป็น 23% ในปี 2008 สิ้นปี 2007 หนี้สาธารณะของประเทศสูงถึง 15 เท่าของเงินสำรองที่ธนาคารกลางไอซแลนด์มีอยู่ การที่การเจริญเติบโตของภาคการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขาดความเชี่ยวชาญ ธุรกรรมส่วนหนึ่งของพวกเขาจึงเข้าข่ายอาชญากรรม เช่น เจ้าของธนาคารเป็นผู้กู้ยืมขนาดใหญ่ และพวกเขาเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการของธนาคารด้วย ซ้ำร้ายพวกเขายังมีการให้ข้อตกลงพิเศษที่ผิดปกติอีกด้วย Peter Gumbel ให้ความเห็นไว้ว่า ไอซแลนด์กลายเป็นประเทศที่เหมือนกองทุนเก็งกำไรไปเสียแล้ว
การที่ไอซ์แลนด์ต้องประสบปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลเอง หลังปี 2001 เมื่อตลาดหุ้นประสบปัญหา เงินส่วนหนึ่งถูกโยกเข้าไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลยังเพิ่มความร้อนแรงด้วยการอนุญาตให้กู้ได้ถึง 90% ของมูลค่าสินทรัพย์โดยใช้เงินดาวน์เหลือเพียงแค่ 10% ด้วย ซ้ำร้ายเชื้อไฟยังถูกเพิ่มขึ้นอีกจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจาก 5.1% เหลือเพียง 4.15% เท่านั้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไอซแลนด์จึงเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8% อัตราจ้างเพิ่มขึ้นปีละ 7% โดยไม่มีคนตกงานเลย ต้นปี 2006 วิกฤตเริ่มปรากฏเมื่อ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น คณะกรรมการธนาคารกลางเริ่มเตือนรัฐบาลและเตือนแล้วถึง 5 ครั้งจนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2008
เมื่อหนี้ของธนาคาร Glitmir ถึงกำหนดต้องจ่ายคืนในเดือนตุลาคม 2008 แต่พวกเขาไม่สามารถกู้ใหม่ได้ ประชาชนจึงเริ่มถอนเงินเมื่อทราบข่าว Landsbanki ประกาศห้ามชาวอังกฤษที่มีบัญชีกับธนาคารมากถึง 3 แสนบัญชีถอนเงิน แต่รัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามด้วยการตรึงสินทรัพย์ของ Landsbanki ในอังกฤษทั้งหมดซึ่งมีจำนวนมากถึง 50% ของ GDP ไอซ์แลนด์ รัฐบาลไอซ์แลนด์จึงจำเป็นต้องเตรียมเงิน 600 ล้านยูโรหรือ75% ของมูลค่าหุ้นธนาคารซึ่งเท่ากับ 25% ของเงินสำรองของธนาคารกลางไอซ์แลนด์เพื่อช่วย Glitmir แต่ธนาคารกลางไอซ์แลนด์กลับไม่มีเงินมากพอที่จะช่วย Landsbanki จึงทำให้ธนาคารต้องปิดสาขาในอังกฤษทั้งหมด ธนาคารใหญ่ทั้ง 3 แห่งล่มสลายพร้อมกันในเดือนตุลาคม สินทรัพย์ของพวกเขาลดลงไป 7000 พันล้าน ISK เหลือเพียง 40% จากมูลค่าในสมุด (Book Value) รัฐบาลตัดสินใจเข้าควบคุมกิจการทั้งสามในวันที่ 8 ตุลาคม 2008 ภายในเวลาเพียงแค่เดือนเดียวค่าเงินไอซแลนด์ตกลงถึง 58% ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 19% และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7%
หลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายนปี 2009 รัฐบาลแบ่งธนาคารทั้งสามออกเป็นธนาคารเก่าและใหม่ เงินฝากถูกโอนเข้าไปในธนาคารใหม่ที่เป็นของรัฐ รัฐบาลไม่ได้ใช้ภาษีมาจ่ายหนี้ แต่ให้ผู้ปล่อยกู้เป็นผู้รับภาระไปเป็นเงินมากถึง 13% ของ GDP รัฐบาลไอซ์แลนด์ตั้งกรรมการสอบสวนนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารทั้งหมด หลังอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2009 ติดลบไป 6.7% เศรษฐกิจของไอซแลนด์ก็เริ่มเติบโตขึ้น 2.9% ในอีก 2 ปีต่อมา
แบบที่ 2 กรีซ ในปี 1996 กรีซประสบความล้มเหลวในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกจากการที่โครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาพัฒนาไม่เพียงพอและมลพิษสูง อย่างไรก็ดี ความพยายามของพวกเขาในการเสนอตัวก็ประสบความสำเร็จในปี 1997 โดยได้เป็นเจ้าภาพในปี 2004 แต่กรีซกลับมิได้เตรียมตัวใด ๆ เลยจนถึงปี 2000 ถึงกระนั้นก็ตามในวันที่ 13 สิงหาคม 2004 โอลิมปิกก็สามารถเปิดม่านได้ตรงเวลา เอเธนส์สามารถสร้างสนามกีฬาใหม่และศูนย์กีฬาอีกหลายแห่ง สนามบินเก่าก็ถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์การกีฬาด้วย ระบบขนส่งและระบบขนส่งมวลชนถูกพัฒนาให้ทันสมัย พวกเขาสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่มีห้องถึง 2,300 ห้อง ทั้งหมดนี้ถูกเนรมิตด้วยงบประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์จากที่ตั้งไว้ 2.5 พันล้านดอลลาร์หรือเท่ากับ 4% ของ GDP มรดกของเกมนานาชาตินี้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในปีนั้นและทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4%
ในช่วงที่สหภาพยุโรปยอมรับกรีซเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1981 เมื่อรัฐบาลเผด็จการกรีซล้มลงนั้น พวกเขามีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ 64% เทียบกับค่าเฉลี่ยของสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น ย้อนไปในช่วงที่กรีซถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ประชาชนยากจนมาก รัฐบาลประชาธิปไตยยุคหลังที่ยังคงมีปัญหาเล่นพรรคเล่นพวกและคอรัปชั่นจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างหนักเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทัดเทียมกับสมาชิกอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป แต่แทนที่พวกเขาจะใช้นโยบายเช่นเดียวกับประเทศก้าวหน้าอื่น ๆ พวกเขากลับใช้นโยบายที่สุดโต่งกว่า เช่น 1. กำหนดอายุเกษียณเพียงแค่ 58 ปีเท่านั้นซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจเกษียณที่อายุ 45 ปีด้วยซ้ำ หรือเท่ากับเกษียณได้หลังทำงานเพียงแค่ 35 ปีแทนที่จะเป็น 40 ปีเหมือนอย่างสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น 2. จ่ายบำนาญเต็มจนทำให้เงินบำนาญมีมูลค่าถึง 11.5% ของ GDP และเท่ากับค่าใช้จ่ายด้านสังคมถึง 66% 3. อัตราค่าจ้างซึ่งเคยเท่ากับ 5% ของ GDP ในปี 1960 เพิ่มเป็น 13% 4. ใช้จ่ายเงินทางด้านสังคมเพิ่มขึ้นจาก 10.8% ของ GDP ในปี 1980 เป็น 24% 5. ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านยูโรในปี 1990 เป็น 14,377 ล้านยูโรในปี 2006
เศรษฐกิจของกรีซเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเพิ่มถึงปีละ 4% อัตราค่าจ้างจึงเพิ่มขึ้นปีละ 5% ด้วย ระหว่างปี 2000-8 รัฐบาลใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 87% ในขณะที่รายได้เพิ่มเพียง 31% เท่านั้นอันเป็นผลมาจากการขาดวินัยทางด้านการคลัง การคอรัปชั่นและการมีเศรษฐกิจมืดนอกกฎหมายสูงถึง 25-30% ของ GDP จนทำให้มีการเลี่ยงภาษีสูงถึงปีละ 20 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีการเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มถึงปีละ 30% หรือเท่ากับ 5-6% ของ GDP ด้วย การที่ประเทศบอลข่านมีวัฒนธรรมเล่นพรรคเล่นพวกและคอรัปชั่นปลูกฝังมาเป็นเวลาเกือบ 500 ปีตั้งแต่สมัยที่ Ottoman ปกครองประเทศทำให้สถาบันต่าง ๆ ของรัฐเป็นที่เกลียดชัง และไว้ใจไม่ได้ ประชาชนจึงต้องโกงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งรัฐบาลและประชาชนจึงมีนิสัยเหมือน ๆ กันนั่นคือ บริโภคและใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีรายได้ แต่มาจากการกู้เพียงอย่างเดียว ดังนั้นในปี 2009 ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกรีซจึงมีค่ามากถึง 50% ของ GDP โดยที่ 3 ใน 4 ใช้ไปกับค่าจ้างและรัฐสวัสดิการ
แท้ที่จริงแล้วกรีซไม่ควรได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่แรกแล้ว รายงานของ The Guardian ที่เปิดเผยในปี 2004 พบว่า รัฐบาลกรีซยอมรับว่าพวกเขาไม่เคยสามารถทำตามมาตรฐานที่สหภาพกำหนดได้เลยแม้แต่ในปี 2001 ก่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งนี้เพราะการขาดดุลงบประมาณไม่เคยต่ำกว่า 3% ของ GDP เลย แต่พวกเขาตกแต่งตัวเลขหลายครั้งจนสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมาชิกสหภาพอื่นกลับมิได้มีมาตรการลงโทษใดต่อการหลอกลวงนี้ เรื่องราวที่ปรากฏต่อสื่อในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่า กรีซไม่เคยเปลี่ยนแปลงให้เข้าใกล้กับชาติตะวันตกเลยไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม ดังนั้น ภายในเวลาเพียงแค่ทศวรรษเดียวที่พวกเขาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป พวกเขาก็นำหายนะมาสู่เงินยูโรแล้ว
ส่วนวิกฤตกรีซนั้น เริ่มต้นในเดือนตุลาคมปี 2009 เมื่อ George Papandreu แห่งพรรค PASOK ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศว่า นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าหลอกลวงตลาด แท้ที่จริงแล้วหนี้สาธารณะของกรีซสูงถึง 300 พันล้านยูโร หรือ 110% ของ GDP และงบประมาณขาดดุลถึง 12.7% ของ GDP ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน Fitch จึงลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงเหลือ BBB+ มกราคมปี 2010 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกรีซ 2 ปีอยู่ที่ 3.47% เพิ่มเป็น 9.37% ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มเป็น 12.27% ในเดือนมกราคมปี 2011 และเพิ่มเป็น 26.65% ในเดือนกรกฎาคมปี 2011 เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกอื่นในสหภาพยุโรป กรีซต้องดำเนินนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อบากหน้าไปขอเงิน เช่น เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 19% เป็น 23% เก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ แอลกอฮอลล์ กลุ่มผู้มีรายได้มากและผู้รับบำนาญ และลดจำนวนเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้จาก 12,000 ยูโรเหลือเพียง 5,000 ยูโรเท่านั้น ลดเงินเดือนข้าราชการลง 15% จ่ายเงินเดือนข้าราชการเหลือปีละ 12 เดือนจาก 14 เดือน นโยบายทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการเดินขบวนนับครั้งไม่ถ้วนในกรุงเอเธนส์ และยิ่งทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเนื่องจากเก็บภาษีได้น้อยลงไปอีก แม้กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและ IMF ผ่านกองทุนที่มีทุนถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม แต่วิกฤตเศรษฐกิจในกรีซซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเพียงแค่ 2.6% เทียบกับ GDP ของสหภาพยุโรปและมีประชากรเพียงแค่ 11 ล้านคนจาก 500 ล้านคนนั้นได้ทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปผันผวนจนเงินยูโรมีค่าลดลงจาก 1.5 ยูโรต่อดอลลาร์เหลือเพียง 1.2 ยูโรต่อดอลลาร์แล้ว
ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานจะทราบดีแล้วว่า กรีซมีประวัติการเป็นหนี้ที่เลวร้าย พวกเขาผิดนัดชำระหนี้หลายครั้งมาแล้ว เช่น ในปี 1843,1860 และ 1893 ในปี 2008 หลังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปถึง 3 ทศวรรษแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมยังสร้างรายได้เพียงแค่ 9% เท่านั้น พวกเขาไม่มีอุตสาหกรรมของสินค้าถาวรเลย และแม้ว่าระหว่างปี 1950-80 GDP ของพวกเขาจะเพิ่มถึง 4.5 เท่าแล้ว แต่การค้าของพวกเขาเป็นแบบรุ่นเก่าที่มีเพียง 2 สาขาที่สร้างรายได้ถึง 80% ของประเทศ นั่นคือ การท่องเที่ยวและการเดินเรือ ในปี 2008 นักท่องเที่ยวจำนวน 16 ล้านคนที่เดินทางเข้ากรีซสร้างรายได้ถึง 18% ของ GDP และสร้างงานถึง 840,000 คน ส่วนอุตสาหกรรมการเดินเรือซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศนั้น มีจำนวนเรือมากถึง 3 พันลำหรือเท่ากับ 18% ของเรือทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ของโลกในแง่ปริมาณ และเป็นอันดับ 4 ในแง่เรือขนส่ง และการค้า
The Economist รายงานไว้ในฉบับเดือนพฤษภาคมปี 2010 ว่า เศรษฐกิจของกรีซที่เติบโตตลอดสิบปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทำให้คนกรีซสามารถที่จะเติมฝันให้เหมือนกับชาวยุโรปอื่น ๆ ได้ เช่น มีรถ เที่ยวต่างประเทศ และมีผู้ช่วยส่วนตัว ถึงกระนั้นก็ตามกรีซก็ยังมีคนจนอยู่มากโดยที่ 22% ของประชากรยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน ซ้ำร้ายค่าครองชีพยังเพิ่มขึ้นมากจนเท่ากับ 84% เทียบกับนิวยอร์กแล้ว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ของชาวกรีซเป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันเท่านั้น
เมื่อวิกฤตอุบัติขึ้นในปี 2008 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินเรือก็เริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีอัตราการก่อสร้างลดลง 73% การค้าปลีกลดลง 9% และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 36% ในปี 2011 สมาชิกสหภาพยุโรปได้เข้าช่วยเหลือกรีซ 3 ครั้งเพื่อปิดช่องว่างและสร้างความมั่นใจว่ารัฐจะมีเงินไว้ใช้จ่ายรวมเป็นเงินกองทุนสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร ในขณะเดียวกันเจ้าหนี้ภาคเอกชนก็ต้องลดหนี้ให้ถึง 50% หลังการช่วยเหลือถึง 3 ปี 3 เดือนสุดท้ายของปี 2011 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรีซก็ยังคงติดลบถึง 7% และในมกราคม 2012 หนี้สาธารณะของกรีซก็ยังสูงถึง 160% ของ GDP แม้ได้รับการลดหนี้ไปแล้วถึง 100 พันล้านยูโรก็ตาม นั่นหมายความว่า โอกาสของการผิดนัดชำระหนี้ยังคงมีต่อไป และเศรษฐกิจของกรีซ รวมทั้งโอกาสของการละจากเงินยูโรก็ยังคงเป็นไปได้สูงอยู่
แบบที่ 3 ไอร์แลนด์ ไอร์แลนด์เคยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจสูงสุดของสหภาพยุโรป หลังได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1973 ไอร์แลนด์ยังเป็นประเทศล้าหลังและต้องพึ่งพิงอังกฤษอยู่มาก แต่ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 ไอร์แลนด์มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วถึงปีละ 6-12% จากเงินลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามามากที่สุดในสมาชิก OECD ถึง 217,000 ล้านดอลลาร์ เงินลงทุนโดยตรงจำนวนมาก อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการลดภาษีถึง 50% ทำให้การลงทุนในไอร์แลนด์สูงมาก ระหว่างปี 1973-2005 รายได้ต่อหัวประชากรจึงเพิ่มขึ้น 7 เท่าจาก 7,023 ดอลลาร์หรือ 35% ของค่าเฉลี่ยในสหภาพยุโรปเป็น 49,220 ดอลลาร์มากกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพถึง 53% จนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในสหภาพยุโรป ระหว่าง 1996-2006 รายได้ที่แท้จริงของชาวไอริซสูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาวยุโรปถึง 2 เท่า
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวไอริซกว่าล้านคนเสียชีวิตจากการอดตายและคนอีกกว่าล้านคนต้องอพยพหนีความยากจน การที่ชาวไอริซกลายเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยกว่าชาวอังกฤษภายในเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วอายุคนทำให้พวกเขากลายเป็นคนเพ้อฝัน ชาวไอริซต้องการที่จะใช้โอกาสของโชคดีนี้กันอย่างเต็มที่และบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง เริ่มต้นด้วยการมีบ้านเป็นของตัวเองผ่านการได้สินเชื่ออย่างไม่จำกัดจากธนาคาร ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังยกเลิกภาษีอสังหาริมทรัพย์และลดภาษีการกู้เงินเพื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วย ฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่โจษขานจนทุกวันนี้ก็คือ การซื้อที่ดินเพียงแค่ 7 เอเคอร์กลางเมืองดับลินของ Sean Quinn ด้วยมูลค่าสูงถึง 379 ล้านยูโรจนกลายเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในยุโรป การปล่อยกู้อย่างมหาศาลในไอร์แลนด์ทำให้ธนาคาร Anglo-Irish มีขนาดตลาดเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ระหว่างปี 1980-1990 หรือเพียงแค่ทศวรรษเดียวจำนวนบ้านสร้างใหม่ในไอร์แลนด์เพิ่มปีละ 23,000 หลัง แต่ระหว่างปี 2000-6 จำนวนบ้านสร้างใหม่เพิ่มปีละ 75,000 หลัง แม้ราคาจะเพิ่มถึง 300% ก็ตาม และในปี 2006 เพียงปีเดียวจำนวนบ้านที่ถูกสร้างใหม่เพิ่มถึง 93,000 หลัง ในทศวรรษที่ 2000 การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้เพิ่มขึ้นถึง 25% ต่อปี และเพิ่มจาก 40% ของ GDP เป็น 65% ของ GDP
ธนาคาร Anglo-Irish, Bank of Ireland และ Allied Irish bank ต่างกู้เงินระยะสั้นมาปล่อยกู้ระยะยาวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมสุรุ่ยสุร่ายของชาวไอริซ หนี้ครัวเรือนชาวไอริซเพิ่มขึ้นจาก 60% ของ GDP เป็น 160% โดย 80% เป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์ ระหว่าง 1996-2006 สัดส่วนของภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 5% ของ GDP เป็น 10% ในที่สุดในปี 2007 ฟองสบู่ก็หดตัว อุปสงค์ลดลง 18% ในเดือนกรกฎาคมปี 2008 ราคาบ้านลดลงถึง 9% ในเวลาเพียงแค่ปีเดียว หลังวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เริ่มขึ้น ราคาบ้านในไอริซลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และราคาหุ้นธนาคารตกลงถึง 90% หนี้ของธนาคารสูงถึง 3 เท่าของ GDP มากเป็นอันดับสามของยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ 2009 มูลค่าตลาดหุ้นของไอริซลดลงจาก 10,000 จุดเหลือเพียง 1,987 หรือลดลงถึง 80% เทียบกับเดือนเมษายนปี 2007 รายได้ของประเทศลงลง 7.1% อัตราว่างงานเพิ่ม 13% รายได้ต่อหัวประชากรลดลง 20% จาก 43,000 ยูโรเหลือเพียงแค่ 35,000 ยูโรเท่านั้น และ Sean Quinn ผู้ซื้อที่ดินแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปประกาศล้มละลายในเดือนมกราคม 2012
เมื่อสภาพคล่องเหือดหาย รัฐบาลจำเป็นต้องแปรรูปธนาคาร Anglo-Irish เป็นของรัฐและธนาคารอื่น ๆ รวมเป็นเงินสูงถึง 64 พันล้านยูโร ปรากฏการณ์ในไอร์แลนด์สะท้อนความจริงของตลาดเสรีก็คือ กำไรเป็นของเอกชน ความเสียหายเป็นของสังคม แม้นโยบายเศรษฐกิจและการคลังที่ไอซแลนด์ กรีซและไอร์แลนด์ใช้จะต่างกันในการพาพวกเขาไปสู่การกู้ยืมแบบไม่รับผิดชอบ แต่มันได้สร้างหลุมขนาดใหญ่ที่จะฝังตัวเองไปกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซ้ำร้ายพวกเขายังดึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรปให้ตกหลุมนั้นตามไปด้วย
หลังการล่มสลายของ Lehman Brothers ในเดือนกันยายนปี 2008 วิกฤตทางการเงินได้ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าเหตุใดสินทรัพย์ทางการเงินเพียงแค่ 2.5% ของสหรัฐฯ ถึงก่อให้เกิดความวุ่นวายได้มากมายขนาดนี้
แม้ประเทศแกนของยุโรปจะยังคงมีเสถียรภาพดีในช่วงต้นของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่วิกฤตทางการเงินก็ได้ลุกลามเข้าไปในสหภาพยุโรปแล้ว ความเสียหายไม่ได้เกิดเฉพาะในไอซแลนด์ กรีซและไอร์แลนด์เท่านั้น แต่มันลุกลามไปหลายประเทศในยุโรปด้วย ก่อน Lehaman Brothers จะล้ม 1 ปี ชาวอังกฤษมากมายต่างต่อแถวกันเบิกเงินธนาคาร Northern Rock ในอังกฤษ วันนั้นธนาคารกลางอังกฤษต้องขยายวงเงินให้ถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อไม่ให้ธนาคารล้ม
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจอุบัติขึ้น ประเทศทางใต้ของสหภาพยุโรปอันประกอบไปด้วยโปรตุเกส(P) อิตาลี(I) ไอร์แลนด์(I) กรีซ(G) และสเปน(S) หรือที่มีชื่อย่อว่า PIIGS เป็นกลุ่มประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบ ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ประเทศชายขอบเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกัน นั่นคือ อยู่รอบนอก เป็นกลุ่มที่เข้าสู่อุตสาหกรรมทีหลัง และเศรษฐกิจล้าหลัง รายได้ต่อหัวประชากรเพียงแค่ 57% เทียบกับยุโรปตะวันตก ในขณะที่กรีซและโปรตุเกสมีรายได้ต่อหัวประชากรเพียงแค่ 44% และ 37% ด้วยซ้ำ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศหรือภาครัฐ เศรษฐกิจท้องถิ่นก็อ่อนแอหรือที่เรียกว่า Dual Economy นั่นคือ สถาบันของประเทศดูทันสมัย แต่วิธีการปฏิบัติกลับอ่อนแอและเต็มไปด้วยพฤติกรรมที่ล้าหลังทั้งคอรัปชั่นและระบบอุปถัมภ์ ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเลี่ยงภาษีและเห็นรัฐเป็นศัตรู
โปรตุเกส (P) ในปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่โปรตุเกสได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปนั้น รายได้ต่อหัวประชากรของพวกเขาเพียงแค่ 8,904 ดอลลาร์หรือ 57% ของค่าเฉลี่ยสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น แม้แต่ในปี 2000 รายได้ต่อหัวประชาก ของพวกเขาก็เพียงแค่ 65% เท่านั้น ซ้ำร้ายระหว่างทศวรรษที่ 2000 เศรษฐกิจของพวกเขายังเติบโตเพียงแค่ปีละ 0.7% อีกต่างหาก อัตราการว่างงานในปี 2009 จึงเพิ่มขึ้นเป็น 10% พวกเขามีอำนาจในการซื้อต่ำเป็นอันดับ 6 เทียบกับสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างอยู่ได้ด้วยการกู้ยืมจนทำให้งบประมาณขาดดุลถึง 9.4% และในปี 2009 หนี้สาธารณะคิดเป็น 76% ของ GDP และเพิ่มขึ้นเป็น 110% ในอีกสองปีต่อมา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในปี 2012 หนี้ภาครัฐและเอกชนของโปรตุเกสจะสูงถึง 360% ของ GDP เลยทีเดียวซึ่งเลวร้ายกว่ากรีซด้วยซ้ำ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 5.8% เป็น 8.5% ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน เมื่อพันธบัตรรัฐบาลได้อันดับความน่าเชื่อถือเท่ากับพันธบัตรขยะ พวกเขาต้องเสียดอกเบี้ยสูงถึง 13-17% สำหรับการกู้ระยะสั้นด้วย ฤดูใบไม้ผลิปี 2011 โปรตุเกสต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและ IMF ต่อจากกรีซเป็นเงินถึง 80 พันล้านปอนด์
อิตาลี (I) อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 1985 แล้ว ลักษณะเศรษฐกิจของอิตาลีมักแบ่งเป็นทางเหนือที่พัฒนามากกว่าและทางใต้ที่ล้าหลังกว่า แม้เศรษฐกิจทางเหนือจะยังเติบโตได้ปีละ 3% แต่ทางใต้กลับติดลบปีละ 2% จึงดูเหมือนว่าระหว่าง 1992-2005 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขาจะชะงักงัน ถึงกระนั้นก็ตามชาวอิตาลีกลับบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง หนี้สาธารณะของอิตาลีจึงสูงมากโดยสูงเป็นอันดับสามของโลก ในปี 2008 หนี้สาธารณะของอิตาลีสูงถึง 108% ของ GDP แม้งบประมาณขาดดุลของพวกเขาจะไม่มากนักก็ตามเพียงแค่ 2.8% ของ GDP เท่านั้น
ในอิตาลี ผู้เสียภาษีที่เปิดเผยตัวว่ามีรายได้ปีละ 2 แสนยูโรมีเพียงแค่ 0.17% หรือ 76,000 คนเท่านั้น ในขณะที่รถหรูสามารถขายได้ถึงปีละ 210,000 คัน นายกรัฐมนตรี Silvio Berlusconi เศรษฐีพันล้านเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงในการเลี่ยงภาษี ระบบเครือข่ายยังมีความสำคัญมากกว่าความเข้มแข็งของสถาบัน บริษัทต่าง ๆ ยังเต็มไปด้วยพนักงานที่ไม่จำเป็น ตลาดมืดคิดเป็น 22-26% ของระบบเศรษฐกิจ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกหลีกเลี่ยงในอิตาลีสูงถึง 22% การมัธยัสถ์และการเห็นคุณค่าของการทำงานมิใช่ลักษณะของชาวอิตาเลียน พวกเขาเชื่อในระบบศักดินา และนิยมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยผ่านการกู้ยืม
นายกรัฐมนตรี Silvio Berlusconi ของอิตาลีไม่เคยคิดจะแก้ไขปัญหาใด ๆ นอกจากพูดไปวัน ๆ แม้ว่าความแตกต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันและอิตาลีจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 38 จุดในเดือนพฤษภาคมเป็น 144 จุดในเดือนธันวาคมปี 2008 แล้วก็ตาม เขายังปล่อยให้หนี้สาธารณะเพิ่มต่อไป ในปี 2011 หนี้สาธารณะจึงเพิ่มเป็น 2.758 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 121.5% ของ GDP โดย 1.19 ล้านล้านดอลลาร์เป็นหนี้ต่างประเทศด้วย หนี้ของอิตาลีนี้มากกว่ากรีซถึง 5 เท่าและมากกว่าหนี้ของกรีซ ไอซแลนด์และไอร์แลนด์รวมกันถึง 3 เท่า
เมื่อนายกรัฐมนตรีเพิกเฉย ตลาดจึงตกตะลึงและชะงักงัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีจึงเพิ่มขึ้นถึง 6.2% ทำให้พวกเขาต้องจ่ายหนี้เพิ่มถึงปีละ 4.1 พันล้านดอลลาร์ นักลงทุนเริ่มเกรงว่าอิตาลีจะผิดนัดชำระหนี้ ในฤดูร้อนปี 2011 ค่าค้ำประกันการกู้ (CDS) จาก 145,000 ดอลลาร์ต่อหนี้ 10 ล้านดอลลาร์ จึงเพิ่มเป็น 300,000 ดอลลาร์ในอีก 6 เดือนต่อมา และเพิ่มเป็น 511,000 ดอลลาร์ในอีก 3 เดือนต่อมา ในที่สุด Berlusconi นายกรัฐมนตรี 3 สมัยและเศรษฐีอันดับ 47 ของโลกก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แม้เขาจะเคยรอดพ้นจากข้อกล่าวหา 789 ข้อ ตำรวจค้นบ้าน 577 ครั้งและเข้าสู่ขบวนการพิจารณาคดีในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสินบนอีกกว่า 2,500 ครั้ง แต่เขากลับไม่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ Mario Monti อดีตคณะกรรมาธิการยุโรปและประธานมหาวิทยาลัย Bocconi ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนได้พยายามที่จะลดหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนจนทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีเข้าสู่ภาวะชะงักงันอีกครั้ง ในที่สุดเขาก็ต้องประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ต่อไป
สเปน (S) รัฐบาลสเปนก็เหมือนกับไอร์แลนด์ ในปี 2007 พวกเขามีหนี้เพียง 40% ของ GDP และแม้แต่ในปี 2010 พวกเขาก็มีหนี้เพียง 53% ของ GDP เท่านั้น ธนาคารสเปนก็ถูกกำกับควบคุมอย่างดี แต่ปัญหาของสเปนมาจากรัฐบาลท้องถิ่น สเปนแบ่งเป็น 17 รัฐและแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบเรื่องบริการสังคม สาธารณสุขและการศึกษากันเอง นักการเมืองท้องถิ่นนิยมใช้จ่ายในเรื่องที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความทันสมัย เช่น ปรับปรุงสนามบินใน Castilla-La Mancha ใกล้มาดริดจนกลายเป็นสนามบินใหม่ที่ไม่เคยถูกเปิดใช้เลย เมื่อสเปนเริ่มใช้เงินยูโร การก่อสร้างบ้านก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระหว่างปี 2004-5 พวกเขาสร้างบ้านใหม่ถึง 1.37 ล้านหลัง ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึงปีละ 17-18% โดยที่ 25% ไม่มีเจ้าของบ้าน แม้ธนาคารจะปล่อยกู้ให้ถึง 40-50 ปี และสามารถนำไปลดภาษีได้ถึง 15% แล้วก็ตาม
ระหว่างปี 2001-5 หนี้จากการกู้บ้านเพิ่มขึ้นถึงปีละ 25% จนเป็น 65 พันล้านยูโร ภายในเวลาเพียงแค่ทศวรรษเดียวหนี้ต่อครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 115% ระหว่าง 2001-7 การก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนของ GDP เพิ่มจาก 8% เป็น 12.7% เกือบ 20% ของ GDP ล้วนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างโดยจ้างแรงงานสูงถึง 1 ใน 6 ของแรงงานทั้งประเทศ เมื่อฟองสบู่แตก บ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่ได้ขายซึ่งส่วนใหญ่เป็นของธนาคารจึงมีมากถึง 1.5 ล้านหลัง เมื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างล้มลง อัตราว่างงานก็เพิ่มขึ้นถึง 38% โดย 45% เป็นแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี GDP ของสเปนจึงติดลบติดกัน 3 ปีซ้อนระหว่างปี 2008-10 จาก 4.8% เป็น 16% และ 7.6% ตามลำดับ สิ้นปี 2011 สเปนและอิตาลีมีหนี้รวมกัน 3.3 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากประเทศยุโรปใต้แล้ว ประเทศยุโรปตะวันออกที่แตกตัวจากกลุ่มสหภาพโซเวียตและเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปก็ประสบปัญหาต่าง ๆ กันไปเช่นกัน การที่พวกเขาเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบรัฐเป็นผู้กำกับดูแลมาเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดทำให้สถาบันของพวกเขายังใหม่และไม่แข็งแรง พวกเขาไม่มีแม้แต่ธนาคารเป็นของตัวเอง ธนาคารที่ประกอบธุรกิจอยู่เป็นธนาคารสาขาของประเทศยุโรปตะวันตกทั้งนั้น ซ้ำร้ายพวกเขายังมีวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่ต่อต้านทุนนิยมของตัวเองที่ติดตัวมาด้วย หลังการก่อตั้งประเทศ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและได้ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเฉกเช่นประเทศยุโรปอื่น ๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาร้อนแรงขึ้นไปอีก การกู้ยืมจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจอุบัติขึ้น ทั้งฮังการี ลัทเวีย ลิทัวเนีย บัลกาเรีย โรมาเนีย เซอร์เบีย ยูเครนและรัสเซียต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถ้วนหน้า ในปี 2009 อัตราการเจริญเติบโตของลัทเวีย ยูเครน เอสโทเนีย ติดลบถึง 17.4%, 14.8% และ 14.3% ตามลำดับ แต่ในปี 2010 อัตราการเจริญเติบโตของหลายประเทศเริ่มก็ดีขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามโครเอเทียและโรมาเนียยังคงติดลบต่อไป สิ้นปี 2011 เฉพาะฮังการี ลัทเวียและโรมาเนียเท่านั้นที่ยังต้องการความช่วยเหลือจาก IMF ในขณะที่โปแลนด์ เช็ก สโลวาเกียและสโลวาเนียต่างมีการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มแข็งและภาคการส่งออกที่แข็งแกร่ง พวกเขาจึงรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันได้
การที่ประเทศยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ไม่มีธนาคารเป็นของตัวเอง เมื่อธนาคารในประเทศยุโรปตะวันตกประสบปัญหาสภาพคล่อง พวกเขาจึงไม่สามารถปล่อยกู้ในประเทศยุโรปตะวันออก ซ้ำยังทยอยขายสินทรัพย์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกอีกต่างหาก โปแลนด์กลายเป็นประเทศเดียวที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ พวกเขามีอัตรากู้ยืมที่ต่ำมาก ตลาดกู้ยืมอสังหาริมทรัพย์เล็กมาก เพราะรัฐบาลจำกัดการให้กู้ยืมด้านอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2006 ในปี 2011 โปแลนด์ยังเป็นประเทศที่มีบริษัทจดทะเบียนใหม่มากอันดับสี่ของโลก และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้เพราะ 1. โปแลนด์มีประชากรมากถึง 38 ล้านคนทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว 2. โปแลนด์ได้เงินช่วยเหลือประเทศล้าหลังจากสหภาพยุโรปมากถึง 25% จากจำนวนเงิน 80,000 พันล้านยูโร 3. นโยบายเกษตรสามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรของโปแลนด์ด้วย
สโลวาเกียประเทศที่มีประชากรเพียงแค่ 5 ล้านคน แต่ผลิตรถยนต์ถึง 630,000 คัน และเป็นประเทศที่ผลิตรถต่อหัวประชากรสูงที่สุดในโลก นี้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นใกล้ชิดกับเยอรมันประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในสหภาพยุโรปและสแกนดิเนเวียจึงทำให้เศรษฐกิจของพวกเขามีเสถียรภาพตามไปด้วย พวกเขามีประชากรที่มีการศึกษา มีหนี้เพียงแค่ 30% ของ GDP และค่าแรงต่ำ เศรษฐกิจของพวกเขาจึงสามารถก้าวหน้าต่อไปได้อีกนาน
ฮังการี ลัทเวียและโรมาเนียล้วนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันตามประเทศยุโรปตะวันตก และหนี้สินเพิ่มขึ้นจนเกิน GDP เช่นกัน ฮังการีประเทศที่เคยได้รับฉายาว่าเสือเศรษฐกิจตัวใหม่นี้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก พวกเขาปฏิรูปโครงสร้างจนนักลงทุนจากต่างประเทศแห่มาลงทุนจนทำให้ในปี 2007 การกู้ยืมภาคเอกชนสูงถึง 93 พันล้านดอลลาร์ และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 10% หลังวิกฤต Lehman ธนาคารทุกแห่งต่างพยายามประคับประคองตัวเองไม่ให้ล้มละลาย ธนาคารยุโรปตะวันตกที่มาเปิดสาขาในยุโรปตะวันออกจึงพากันขนเงินกลับหมด การปล่อยกู้ในยุโรปตะวันออกจึงลดลงจาก 8% เหลือเพียง 4% การส่งออกที่ลดลง ร่วมกับการไหลออกของเงินทุนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศยุโรปตะวันออกประสบปัญหาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
ตลาดของฮังการีเป็นประเทศแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออกโดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ก่อนการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ ระหว่างปี 1989-2004 เงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในประเทศบอลติกสูงถึง 161,255 ล้านดอลลาร์โดยใน 5-7 ปีแรกเข้าไปในฮังการีส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮังการีระหว่างปี 2001-6 สูงถึงปีละ 4.2% จนเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป และเริ่มมีสัญญาณของวิกฤตเกิดขึ้น เช่น หนี้ต่างประเทศจำนวนมาก เงินสำรองน้อย การขยายตัวของสินเชื่อสูง ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม ฮังการีดำเนินนโยบายผิดพลาดครั้งใหญ่เมื่อพวกเขาพยายามที่จะดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อแย่งคะแนนเสียง พวกเขาเป็นประเทศเดียวที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยไม่สามารถลดหนี้สาธารณะให้เหลือ 3% ตามสนธิสัญญา Maastricht เลย ซ้ำในปี 2006 ยังเพิ่มเป็น 9.3% อีกต่างหาก
ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลฮังการียังกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการจ่ายเงินเดือนข้าราชการถึงปีละ 13 เดือนจนทำให้รายได้ของประชาชนมากกว่าผลิตภาพ รายจ่ายและการลงทุนของรัฐเพิ่มถึงปีละ 4.7% จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มจาก 1.9 ล้านยูโรในปี 2000 เป็น 5.8 ล้านยูโรในปี 2006 เศรษฐกิจของพวกเขาจึงเริ่มเสื่อมถอยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจะประทุขึ้นในสหรัฐฯ เสียอีก ซ้ำร้ายนักลงทุนจากต่างประเทศยังเริ่มถอนเงินอันเป็นผลมาจากความวุ่นวายภายในประเทศ ในที่สุดฮังการีก็ต้องหันไปพึ่งสหภาพยุโรปและ IMF เพื่อขอความช่วยเหลือถึง 26 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2009 GDP ของประเทศจึงลดลงถึง 6.7% และผลผลิตอุตสาหกรรมก็ลดลงถึง 17.4%
แม้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดร่วมกับเงินช่วยเหลือจะทำให้ฮังการีรอดพ้นจากเศรษฐกิจล่มสลายได้ในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลใหม่ของ Viktor Orban ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในปี 2010 ก็ประกาศละจากแนวทางที่ถูกกำกับโดย IMF เขายืนกรานว่าบรัสเซลล์ไม่มีอำนาจในการสั่งการฮังการี อย่างไรก็ดีฮังการีต้องหวนกลับไปขอความช่วยเหลือจาก IMF อีกครั้งเมื่อพวกเขาต้องจ่ายค่าตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถึง 10% เนื่องจากถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเหลือเพียงแค่พันธบัตรขยะ
ลัทเวียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 6-8% ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นจาก 31% เทียบกับค่าเฉลี่ยของสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2000 เป็น 50% ในอีก 8 ปีต่อมา อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจของพวกเขากลับร้อนแรงเกินไปสังเกตได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในปี 2007 อัตราเงินเฟ้อของลัทเวียสูงถึง 10% หนี้สาธารณะ 22% ของ GDP ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี GDP ของพวกเขากลับลดลงถึง 18% และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 20% รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดในเดือนธันวาคมปี 2008 ด้วยการลดเงินเดือนข้าราชการลง 20% เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% เป็น 21% หลังจากนั้นอีกเพียงแค่ 6 เดือนรัฐบาลประกาศลดเงินเดือนข้าราชการอีก 20% ลดบำนาญ 10% ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ 20% ลดงบประมาณสาธารณสุข 30% และปิดโรงพยาบาล 49 แห่ง ลดเงินเดือนครูลง 1 ใน 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจหวนกลับมาเติบโตได้ถึง 4% อีกครั้งในปี 2011
หลังการใช้เงินสกุลยูโร เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ก็ร้อนแรงพอกัน ระหว่างปี 2000-7 ราคาบ้านในสวีเดน นอร์เวย์และเดนมาร์กเพิ่มขึ้นถึง 80% ส่วนในไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษและสเปนก็เพิ่มขึ้นถึง 100%, 108%, 128% และ 135% การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในสวีเดน เบลเยี่ยมและออสเตรียก็ฟุ่มเฟือยไม่แพ้กัน ธนาคารของออสเตรียซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้สำคัญในยุโรปตะวันออกก็ปล่อยกู้อย่างไม่ระมัดระวังจนต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย
วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มในสหรัฐฯ สร้างผลกระทบทางจิตวิทยาต่อคนทั่วโลก ในระหว่าง 2007-11 ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจกลายเป็นเหยื่อที่รุนแรงที่สุดของวิกฤต ประชาชนต่างไม่เชื่อใจทั้งสถาบัน รัฐและระหว่างกัน ในเดือนเมษายน 2009 IMF ประมาณการว่าความสูญเสียอันเป็นผลจากการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของประเทศในสหภาพยุโรปและอังกฤษนับจากกันยายนปี 2008 เป็นต้นมาสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และทำให้มูลค่าของบริษัททั่วโลกลดลงถึง 14.5 ล้านล้านดอลลาร์ ชาวยุโรปตกงานถึง 20 ล้านคน ระดับหนี้สาธารณะของประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเกิน 60% ของ GDP จนกลายเป็น 82.3% ในปี 2011 การกู้เงินระหว่างธนาคารหยุดชะงัก ความมั่งคั่งทางการเงินในตลาดหุ้นของสมาชิกสหภาพยุโรปลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง เฉพาะวันที่ 10 ตุลาคมเพียงวันเดียวบริษัทใหญ่ ๆ ในอังกฤษมีมูลค่าลดลงถึง 100 พันล้านปอนด์ ภายในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว Caisse d’Epargne ธนาคารสัญชาติฝรั่งเศสขาดทุนถึง 600 ล้านยูโร Oldenburg State Church ก็เสียหายไป 4.3 ล้านยูโรจากการลงทุนใน Lehman นั่นหมายความว่า การอธิษฐานก็ช่วยอะไรไม่ได้ และแม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งสุดก็ได้ลงเรือลำเดียวกันแล้ว
วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มในสหรัฐฯ ข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ภายในเดือนเดียวกันกับที่ Lehman ล้ม วิกฤตก็อุบัติขึ้นในยุโรปทันที รัฐบาลอังกฤษต้องค้ำประกันเงินฝากสำหรับผู้ฝากเงิน 50,000 ปอนด์เพื่อหยุดยั้งความพยายามในการถอนเงิน และยังต้องช่วยเหลือ Bradford & Bingley Mortgage อีกถึง 50 พันล้านปอนด์ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์กต้องลงขันกันช่วยเหลือธนาคาร Fortis เป็นเงินถึง 11.2 พันล้านยูโร ธนาคารกลางรัสเซียก็ต้องเข้าช่วยเหลือธนาคารต่าง ๆ มากถึง 500 พันล้านรูเบิล หลังจากนั้นการเข้าช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ต้องดำเนินต่อไปราวกับไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยังต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเงินมากถึง 5% ของ GDP เพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะงักงัน เดือนพฤศจิกายนปี 2011 ธนาคารร่วม 20 แห่งในยุโรปต้องเพิ่มทุนใหม่จากการขาดทุนมหาศาลในปีก่อนหน้านี้
เมื่อความวิตกกังวลนำหน้าเหตุผลจนทำให้ธนาคารต่าง ๆ เลิกปล่อยกู้ระหว่างกัน เศรษฐกิจย่อมเข้าสู่ภาวะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกฤตทางการเงินจึงแพร่เข้าสู่เศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างรวดเร็ว เดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปก็ติดลบไปแล้วถึง 1.5% และผลผลิตอุตสาหกรรมก็ลดลงถึง 3.5% GDP ของอังกฤษลดลงถึง 6.15% ติดต่อกัน 6 ไตรมาสจนถึงมกราคมปี 2010 GDP อิตาลีลดลง 6.76% ติดต่อกัน 7 ไตรมาส GDP ไอร์แลนด์ลดลง 12.4% ติดต่อกัน 13 ไตรมาส GDP ของเอสโทเนียลดลงถึง 20.3% ติดต่อกัน 7 ไตรมาส GDP ลัทเวียลดลง 25.1% ติดต่อกัน 8 ไตรมาส GDP ฝรั่งเศสและเยอรมันก็ลดลง 3.87% และ 6.62% ติดต่อกัน 4 ไตรมาสเช่นกัน แม้แต่ประเทศในสแกนดิเนเวียและสวิสเซอร์แลนด์ก็ไม่มีข้อยกเว้น
ระหว่างสิ้นไตรมาสที่สองของปี 2010 ถึง ไตรมาสที่สองของ 2011 GDP ของยุโรปเริ่มเพิ่มขึ้น 0.6% ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.3% และอัตราว่างงานลดเหลือ 16.5 ล้านคนโดยแรงงานอายุน้อยกว่า 25 ปียังตกงานสูงถึง 22% สโลวาเกีย 36% กรีซ 47% สเปน 49% พายุที่โหมกระหน่ำในปี 2010 ได้เปลี่ยนจากวิกฤตการเงินเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะแทนโดยหนี้สาธารณะระหว่างปี 2000-8 ของประเทศกรีซ อิตาลีและโปรตุเกสเท่ากับ 137%, 119% และ 85% ของ GDP มีเพียงเยอรมัน สวิสและรัสเซียเท่านั้นที่หนี้สาธารณะของพวกเขาไม่เพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ทำให้สหภาพยุโรปที่มีประชากรมากถึง 330 ล้านคนและมี GDP รวมกัน 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ประสบปัญหาก็เพราะ 1. การใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดร่วมกับการที่ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจึงทำให้การลงทุนในอังกฤษและสเปนลดลงถึง 34%และ 20% ตามลำดับ การบริโภคก็ลดลง เช่น ในไอร์แลนด์ สเปน และอังกฤษลดลง 34% , 21% และ 15% ตามลำดับ Mario Monti นายกรัฐมนตรีอิตาลีอดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์จึงพยายามที่จะหว่านล้อมนายกรัฐมนตรี Angela Merkel แห่งเยอรมันให้เห็นว่าการใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะอิตาลีได้ลองมาแล้วในปี 2010 ด้วยการลดเงินบำนาญและเพิ่มภาษีเพื่อประหยัดถึง 40 พันล้านยูโร แต่มันกลับทำให้เศรษฐกิจอิตาลีเติบโตติดลบถึง 1.5-2.2% Monti จึงประกาศเปลี่ยนแผนด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 7.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดลงของทั้งการลงทุนและการบริโภคทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำสอง (Double Dip Crisis) ทั้งนี้เพราะการลดลงของอุปสงค์ในเวลาที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอจะทำให้การฟื้นของเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งและจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยกลับไปอีก
การแก้ปัญหาขาดดุลและหนี้สินจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวจะทำให้วิกฤตหนี้ขยายวงออกไปและทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในการชำระหนี้ตามมาส่งผลให้ตลาดเริ่มเกิดความกังวลว่าจะมีสมาชิกบางประเทศละจากเงินยูโรซึ่งรวมทั้งอิตาลีด้วย เมื่อตลาดเริ่มวิตกกังวล พวกเขาก็เลิกซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหันมาขายแทน ธนาคารต่างพยายามกำจัดพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งอิตาลีด้วย ต้นปี 2012 พันธบัตรรัฐบาลเยอรมันกลายเป็นที่ต้องการของตลาดจนสามารถขายด้วยอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ปัญหาหนี้และการสะสมของหนี้รัฐมหาศาลได้ก่อวิกฤตธนาคารขึ้นในประเทศแกนด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมันซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับประเทศชายขอบ สิ้นปี 2010 ธนาคารฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมต่างมีพันธบัตรรัฐบาล PIIGS สูงถึง 650, 550, 350 และ 250 พันล้านยูโรตามลำดับ หรือร่วมกันร่วม 1.8 ล้านล้านยูโรส่งผลให้ธนาคารในประเทศเหล่านี้ต้องเพิ่มทุนมหาศาล ธนาคารกลางยุโรปจึงจำเป็นต้องปล่อยกู้เข้าไปในระบบสูงถึง 489 พันล้านยูโรด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเพื่อช่วยเหลือธนาคารของประเทศแกนเหล่านี้
2. ปัจจัยด้านจิตวิทยาซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่สุด แท้ที่จริงแล้วระดับหนี้ของอิตาลีไม่ได้สูงกว่าเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาและพวกเขาก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศแกนอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะนักลงทุนเชื่อมั่นว่าสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศเหมือนกันหมดส่งผลให้พันธบัตรของสมาชิกทุกประเทศรวมทั้งประเทศที่ถูกคาดว่าจะเป็นสมาชิกถูกขายมาในอัตราดอกเบี้ยพอ ๆ กับเยอรมัน แต่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในภูมิภาคกลับเลือนหายอันเป็นผลมาจากการขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาวิกฤตในกรีซ นักลงทุนจึงมีปฏิกิริยาแบบคนเป็นโรคประสาท อุปสงค์ที่ต่ำร่วมกับความตื่นตระหนกทำให้การขายพันธบัตรรัฐบาลทำได้ยากขึ้น
นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวด การลดลงของอุปสงค์ การเพิ่มขึ้นของงบประมาณขาดดุลทำให้ตลาดขาดความเชื่อมั่นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจนเข้าสู่วิกฤต และลุกลามไปยังประเทศฝรั่งเศสจนผลตอบแทนรัฐบาลฝรั่งเศส 10 ปีเพิ่มขึ้นถึง 140 จุด ทั้งนี้เพราะนักลงทุนเห็นว่าธนาคารในฝรั่งเศสมีพันธบัตรรัฐบาลประเทศชายขอบเป็นจำนวนมาก การที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสสูงขึ้นนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงการล่มสลายของเงินยูโรด้วย ทั้ง ๆ ที่หัวใจของการแก้ปัญหาอยู่ที่วิกฤตหนี้กรีซ
แทนที่ผู้กำหนดนโยบายจะเข้าช่วยเหลือธนาคารและค้ำประกันหนี้เป็นจำนวนที่มากพอผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ แต่พวกเขาเลือกที่จะแก้ไขปัญหาทีละเล็กละน้อยทุกครั้งเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ไม่ทำให้ตลาดคลายความกังวล แต่กลับทำให้วิกฤตการเงินเป็นไปอย่างต่อเนื่องและซึมลึกลงไปอีก สื่อและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวโทษ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันที่ขาดปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด ข้อเสนอของการร่วมรับผิดชอบที่ต้องอาศัยเงินภาษีของชาวยุโรปร่วมกันจะถูก Merkel ปฏิเสธเสมอจึงเท่ากับว่าสหภาพยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาผู้นำที่ไม่ยอมนำ
ถึงกระนั้นก็ตามผู้เสียภาษีก็ต้องเสียเงินอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินไปยังประเทศชายขอบเองหรือผ่านการช่วยเหลือธนาคารในประเทศตัวเอง นักวิเคราะห์มองว่า Merkel พยายามที่จะบีบบังคับให้ประเทศที่ประสบปัญหาเดินตามกฎใหม่ที่ผู้กำหนดนโยบายเขียนขึ้นเพื่อนำไปสู่การรวมตัวกันทางการคลังที่มากขึ้น เพราะหากขาดการปฏิเสธความช่วยเหลือ ประเทศชายขอบเหล่านี้ยากที่จะยอมรับการรวมตัวกันทางการคลังที่มากขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความเป็นประชาธิปไตย ระบบสภาที่ซับซ้อนของสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศ ความยุ่งยากและการตัดสินใจที่เชื่องช้าของสถาบัน รวมทั้งการต้องฟังเสียงประชาชนทำให้ความต้องการของ Merkel ยากที่จะได้รับการตอบสนอง ยิ่งฝรั่งเศสขอร้องให้เยอรมันร่วมออกยูโรบอนด์เพื่อช่วยอิตาลีและสเปนด้วยแล้ว แต่เยอรมันยิ่งยืนกรานที่จะปฏิเสธ
ในเวลาเดียวกันนั้นพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันกลับสามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยจาก 4.7% เหลือเพียงแค่ 2% เท่านั้นด้วย นั่นหมายความว่า เยอรมันสามารถประหยัดได้ถึง 26 พันล้านยูโรจากความเชื่องช้าในการตัดสินใจของ Merkel เนเธอร์แลนด์เองก็ประหยัดได้ถึงหมื่นล้านยูโรเช่นกัน การที่เยอรมันไม่ยินดีที่จะออกยูโรบอนด์ เพราะอัตราดอกเบี้ยของยูโรบอนด์ย่อมสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอย่างแน่นอน เมื่อชาวเยอรมันยังไม่รู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในวิกฤต พวกเขาย่อมไม่อยากเสียเงินเพิ่ม แม้แนวคิดนี้จะดูเหมือนคนสายตาสั้น แต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใดนักการเมืองของประเทศที่เข้มแข็งรู้สึกลังเลในการเสียสละประโยชน์ของประเทศและนำตำแหน่งของตัวเองเข้าสู่อันตราย การขาดปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการนำประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาออกจากภาวะเกือบล้มละลายก่อให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในตลาดการเงิน สิ้นปี 2011 ประเทศต่าง ๆ พยายามที่จะผลักดันให้ธนาคารในประเทศขายพันธบัตรรัฐบาลในสหภาพยุโรปทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาเกรงว่าเงินยูโรจะล่มสลาย สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 1 ใน 3 ของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันไม่มีผู้ซื้อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แท้ที่จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เงินยูโรเข้าสู่ภาวะอันตรายเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ความลังเล การขาดประสิทธิภาพในการช่วยเหลือ หรือมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อันเป็นผลมากปัญหาเชิงโครงสร้างตั้งแต่เริ่มต้นกันแน่
Jeffrey Friedman บรรณาธิการหนังสือ What Caused the Financial Crisis สรุปว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือไม่ควบคุมก็ตาม กฎหมายทั้งสองด้านล้วนมาจากปรัชญาและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ต่างกัน การควบคุมตัวเองหรือที่เรียกว่า laissez-faire ที่ไม่ให้รัฐเข้ายุ่งเกี่ยวนั้นมีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่าตลาดมีความสมบูรณ์และสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ การเปิดเสรีจะเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น การควบคุมโดยรัฐเป็นอันตรายเพราะพวกเขาจะทำลายความราบรื่นในการทำงานโดยอัตโนมัติของตลาด ส่วนแนวคิดในเรื่องการที่รัฐต้องควบคุมนั้นเชื่อว่าตลาดไม่สมบูรณ์จึงจำเป็นต้องมีข้อกำหนดเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นและปกป้องสังคมจากผลข้างเคียงไม่ดีจากตลาด ตลาดไม่ได้แก้ปัญหาแต่เป็นตัวสร้างปัญหา การดำเนินการของกลไกตลาดจึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่ไปถ่วงดุลกับผลข้างเคียงด้านลบอันอาจเกิดกับสังคมด้วย
ระบบตลาดที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจนี้ก็คือ ทุนนิยมร่วมสมัยที่มีการเปิดเสรีแบบโลกาภิวัฒน์ หรือการกำกับดูแลตัวเองของระบบการเงินนั่นเอง Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวโทษว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตนี้ก็คือ ธนาคารและนักลงทุน ทั้งนี้เพราะธนาคารส่วนใหญ่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยง แต่พวกเขาไม่เพียงบริหารความเสี่ยง พวกเขายังสร้างความเสี่ยงขึ้นมาเองด้วย
สามทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารได้เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติการไปอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันธนาคารอาศัยตลาดทุนที่ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลแล้ว พวกเขาสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นและขายหนี้ไปยังกลุ่มคนที่สามซึ่งพฤติกรรมนี้ได้เปลี่ยนแรงจูงใจจากการให้ความสำคัญกับผลระยะยาวเป็นรายได้ที่เป็นเงินสดในระยะสั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินคือ 1. การเกิดขึ้นของธนาคารเงา (Shadow Banking) ซึ่งทำตัวเหมือนธนาคารจริง ๆ 2. นวัตกรรมทางการเงินได้เปลี่ยนกิจกรรมของธนาคารโดยสร้างอนุพันธ์ใหม่ซึ่งเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกทอดหนึ่ง และใช้มันไปเดิมพันที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3.การเปิดเสรีทางการเงิน George Soros ถึงกับกล่าวว่า เงินทุนได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งคนขับแล้วจึงทำให้ความตื่นตระหนกทางการเงินก่อผลเสียมากมายต่อระบบเศรษฐกิจ หากความตื่นตระหนกทางการเงินแสดงบทบาทเด่น มันมักทำให้เกิดการล่มสลายของภาคเศรษฐกิจหลักตามมา ในกรณีนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือทางการเงินกับธนาคารเพื่อมิให้เศรษฐกิจล้มลง การที่ภาคการเงินใหญ่จนล้มไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะขึ้นในที่สุด
ในทศวรรษที่ 1970-80 โลกตะวันตกเข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรมที่เรียกว่า การปฏิวัติภาคบริการ สามทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจึงลดลง เช่น แรงงานภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษลดลงจาก 48% เหลือเพียง 20% ในเวลาเพียงแค่ 15 ปีหลังการสร้างชาติใหม่สัดส่วนของยุโรปตะวันออก อุตสาหกรรมในโปแลนด์ก็ลดลงจาก 42% เหลือเพียง 32% ฮังการี ลดลงจาก 40% เหลือเพียง 28% สัดส่วนของภาคบริการและแรงงานจึงเพิ่มจาก 50% เป็น 75% ภาคการเงินจึงกลายเป็นตัวนำของเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้า ในปี 2007 ธุรกรรมการเงินจึงมากกว่า GDP ของทั้งโลกรวมกันถึง 66 เท่าหรือ 50-60 เท่าเทียบกับมูลค่าการค้าโลกโดย 80-99% ของเงินจำนวนนี้เป็นเงินร้อนที่มีไว้สำหรับการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนและหุ้น
ในอดีตจนถึงทศวรรษที่ 1960 สถาบันปล่อยกู้มักมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ พวกเขาสามารถปล่อยกู้ให้กับลูกค้าในประเทศได้ แต่หลังจากทศวรรษที่ 1970 ธนาคารมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น เศรษฐกิจถูกดำเนินการภายใต้ราคาตลาดแต่เพียงอย่างเดียว ภายใต้ระบบนี้ สังคมกลายเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่ปฏิเสธแนวทางแบบ Keynes เชื่อว่า กำไรจะไหลลงและทำให้ประชาชนทั้งหมดได้รับส่วนแบ่งได้มีบทบาทสำคัญในยุโรปด้วยเช่นกัน
ศาสดาของแนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้คือ Ludwig von Mises, Friedrich Hayek แห่ง Vienna School of Economics, Milton Friedman และ Robert Lucas Jr. แห่ง Chicago School of Economics ทั้ง Hayek และ Friedman ต่างเชื่อว่าการเปิดเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลาดการค้าเสรีเป็นหนทางเดียวสำหรับสังคมเสรีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การเปิดเสรีทางการตลาดเป็นการค้ำประกันสังคม อิสรภาพและความมั่งคั่ง Hayek ถึงกับประณามว่า การที่รัฐเข้าแทรกแซงเท่ากับเป็นถนนสู่ความเป็นทาส Friedman วิพากษ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการก้าวก่ายอิสรภาพส่วนบุคคล เขาสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระบบบำนาญ การศึกษา สาธารณสุข ลดภาษี และควรใช้อัตราภาษีคงที่เพียงแค่ 16% โดยให้แต่ละครอบครัวไปรับผิดชอบทุกเรื่องเอาเอง เขาเชื่อว่าการว่างงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและความก้าวหน้าของเศรษฐกิจ
ความล้มเหลวของเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 1970 การเมืองและแนวคิดแบบอนุรักษ์ในทศวรรษที่ 1980 และการล่มสลายของแนวทางการแก้ปัญหาแบบ Keynes เอื้ออำนวยให้กับนักการเมืองกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างยิ่ง โลกาภิวัฒน์จุดชนวนให้เกิดแรงกดดันต่อการเปิดเสรีภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงทั่วโลก ทุกประเทศต่างต้องปรับตัวต่อสถานะใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ธนาคารเลิกให้ความสนใจกับระเบียบการปล่อยกู้ตามมาตรฐานและการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถปล่อยกู้และลงทุนได้มากขึ้น ในปี 1999 The Gramm-Leach-Bliley Financial Service Modernization Act ทำให้เกิดการจำนองที่ไม่มีหลักทรัพย์ (Subprime Mortgage) ทั่วสหรัฐฯ นอกจากนี้ IMF ยังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มเสรีนิยมใหม่ด้วยการพยายามปรับโครงสร้างและเปิดเสรีทางการเงินในประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและต้องการเงินจากพวกเขา การเปิดเสรีทั่วโลกทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นส่งผลให้เกิดการปล่อยกู้จำนวนมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำ
การเกิดของอนุพันธ์ชนิดต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการเอาหนี้มารวมกันแล้วสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขายให้กับนักลงทุนก็ทำให้นักการเงินหลงลืมข้อจำกัดของการลงทุนที่มิให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง การสร้างอนุพันธ์เหล่านี้เท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทผู้ปล่อยกู้ไปยังบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ระหว่างปี 1995-2005 ปริมาณธุรกรรมนี้เพิ่มขึ้นปีละ 19% จนเพิ่มเป็น 8.06 ล้านล้านดอลลาร์
Jurgen stark เคยให้ความเห็นไว้ว่า วิกฤตการเงินนี้เป็นผลมาจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปและการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดของตลาดเงิน แทนที่พวกเขาจัดสรรเงินไปในที่ที่ควรจะสร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริงและสร้างงาน พวกเขากลับนำเงินไปในกิจกรรมเสมือนหนึ่งการพนันจนลดทอนความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มความบอบบางให้กับเศรษฐกิจโดยรวม การเก็งกำไรก็มาพร้อมกับการลดลงของวัฒนธรรมการปล่อยกู้แบบดั้งเดิม และจริยธรรมในการทำธุรกิจ ธนาคารควรทราบว่าลูกค้าจะนำเงินไปทำอะไร กิจกรรมนี้ไม่เพียงเป็นงานที่ต้องมีทักษะสูงเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเฉลียวฉลาดและมีจริยธรรมด้วย แต่ในโลกเสรีทางการเงิน ธนาคารกลับขาดคุณสมบัตินี้ไปโดยปริยาย ซ้ำร้ายธนาคารยังหยุดประเมินเครดิตของลูกค้าหรือแม้แต่ช่วยลูกค้าตกแต่งบัญชีด้วย
หลังการเซ็นสัญญาตลาดร่วมของหกประเทศที่เรียกว่า The Single Market Act ของประเทศในยุโรป การค้าระหว่างกันของสมาชิกได้เพิ่มขึ้นถึง 23 เท่าและเพิ่ม GDP ถึง 5% ในปี 1973 สมาชิกของตลาดร่วมก็เพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศได้แก่ อังกฤษ ไอร์แลนด์และเดนมาร์ก ต่อมาในทศวรรษที่ 1980 สเปน กรีซ และโปรตุเกสก็เข้าเป็นสมาชิก สวีเดน ฟินแลนด์และออสเตรียเข้าเป็นสมาชิกในปี 1995 ส่วนโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี สโลวาเนีย เอสโทเนีย ลัทเวียแ ลิทัวเนีย ไซปรัสและมอลต้าเข้าเป็นสมาชิก ในปี 2004 โรมาเนียและบัลกาเรียเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกในปี 2007 นี่เอง สหภาพยุโรปที่มีสมาชิก 27 ประเทศกับประชากร 500 ล้านคนได้ทำให้ธนาคารกลางยุโรปกลายเป็นสถาบันเหนือชาติที่สำคัญที่สุดในโลก
การขยายจำนวนประเทศโดยยอมรับประเทศรอบนอกที่มีเศรษฐกิจต่ำกว่านี้ได้ทำให้เกิดการแบ่งขั้วขึ้นในสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเหนือและตะวันตกหรือประเทศแกนอันประกอบด้วย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันและออสเตรีย กับกลุ่มชายขอบซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่เหลือทั้งหมด การที่อัตราดอกเบี้ยเบนเข้าหากัน แต่เศรษฐกิจกลับเบนออกจากกันนี้ส่งผลให้เกิดการจัดสรรเงินทุนที่ผิดปกติจนเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ขึ้นและลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ประเทศชายขอบส่วนใหญ่เหล่านี้ยังมีระบบเศรษฐกิจแบบ Dual Economy นั่นคือ แบบสมัยใหม่อันเกิดจากการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศที่เต็มไปด้วยพลวัตและการแข่งขันสูง กับแบบเก่าซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ฝังแน่นมานาน เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การคอรัปชั่น และนิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย
ความแตกต่างที่ฝังแน่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตที่แตกต่างจากแรงงาน ทักษะในการบริหาร จริยธรรมในการทำงาน มาตรฐานการศึกษา และพฤติกรรมพื้นฐานของประชาชน ในปี 1950 แรงงานชาวยุโรปตะวันตกสร้างผลผลิตชั่วโมงละ 5.82 ดอลลาร์ ชาวเมดิเตอร์เรเนียนสร้าง 2.89 ดอลลาร์ ในขณะที่ชาวยุโรปกลางและตะวันออกสร้าง 2.41 ดอลลาร์ อีก 40 ปีต่อมาชาวยุโรปตะวันตกสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 25.3 ดอลลาร์ ในขณะที่ชาวยุโรปตะวันออกสร้างเพียงแค่ 6.83 ดอลลาร์เท่านั้น เมื่อเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปไม่ได้รับการบังคับให้ปฏิบัติอย่างจริงจัง การเข้าเป็นสมาชิกหลังปี 1989 จึงเกิดขึ้นได้ง่าย แม้แต่โรมาเนียและบัลกาเรียที่เพิ่งเป็นสมาชิกเมื่อปี 2007 นี่เองประชาชนก็มีรายได้เพียงแค่ 10% ของค่าเฉลี่ยสมาชิกสหภาพยุโรปเท่านั้น แถมยังมีอุปนิสัยคอรัปชั่นฝังในกมลสันดานอย่างลึกซึ้งติดมาด้วย การแบ่งขั้วอย่างชัดเจนในสหภาพยุโรปได้กลายเป็นต้นตอของความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานของสหภาพยุโรปก็ยังมีปัญหา เช่น ธนาคารกลางยุโรปไม่ได้เป็นแหล่งเงินกู้สุดท้าย พวกเขาทำหน้าที่เพียงแค่สร้างเสถียรภาพของระดับราคาเท่านั้น การใช้เงินยูโรทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศชายขอบลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ภาคเอกชนขาดการออมและเพิ่มการกู้หนี้ยืมสิน รวมทั้งลงทุนผิดปกติในบางธุรกิจ ระดับราคาและค่าแรงจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว งบประมาณภาครัฐขาดดุลเพิ่มขึ้น หนี้สินก็เพิ่มขึ้น แต่พวกเขากลับขาดความสามารถในการใช้อาวุธในการแก้ไขปัญหานั่นคือ การลดค่าเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และลดการขาดดุล ซ้ำยังไม่สามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจด้วย
แม้สนธิสัญญา Maastricht จะมีข้อกำหนดให้ 1. อัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศจะต้องไม่เกิน 1.5% ของค่าเฉลี่ยต่ำสุดสมาชิกสามประเทศ 2. งบประมาณขาดดุลไม่เกิน 3% และหนี้ไม่เกิน 60% ของ GDP 3. ประเทศที่สมัครสมาชิกต้องผูกค่าเงินแบบคงที่และไม่ลดค่าเงินติดต่อกันเป็นเวลาสองปี 4. อัตราเงินเฟ้อต้องไม่เกิน 2% ของค่าเฉลี่ยสมาชิกสามประเทศต่ำสุด โดยมีบทลงโทษก็คือการเสียค่าปรับ 0.2-0.5% ของ GDP ถึงกระนั้นก็ตามสมาชิกเกือบทุกประเทศล้วนไม่ได้จริงจังกับข้อตกลงในสนธิสัญญามากนัก เบลเยี่ยมและอิตาลีก็ได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกแม้จะมีหนี้สาธารณะในปี 1998 สูงถึง 117% ก็ตาม สเปนและโปรตุเกสต่างก็ละเมิดระเบียบเรื่องงบประมาณขาดดุลไม่เกิน 3% แม้แต่เยอรมันเองก็ขาดดุลเกิน 3% ในปี 2002 และ 2005 ซ้ำร้ายในปี 2009 สมาชิกมากถึง 10 ประเทศมีหนี้สาธารณะเกินข้อตกลง
ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การขาดธนาคารกลางที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินกู้สุดท้าย และการขาดการควบรวมกันทางการคลังทำให้ความวุ่นวายของงบประมาณในประเทศต่าง ๆ เป็นภัยต่อเงินยูโร แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่แล้วตั้งแต่ตอนก่อตั้งสกุลเงิน แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแต่เจริญเติบโตเท่านั้น และพวกเขาก็สามารถที่จะจัดการได้อย่างแน่นอน
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนและหนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดใหม่นั่นคือ การใช้ชีวิตมากกว่าที่หาได้ วิถีชีวิตของชาวยุโรปได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อประชาชนยินดีที่จะทำงานมากขึ้นเพื่อได้บริโภคของหรูหรา และพักผ่อนต่างประเทศหรือที่ N. McKendrick เรียกว่า สังคมผู้บริโภค Gilles Lipovetsky เป็นคนแรกที่พูดถึงพัฒนาการของสังคมบริโภคว่า ขั้นที่ 1 ระหว่าง 1880 ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการผลิตเป็นแบบจำนวนมาก และสินค้าเป็นมาตรฐานด้วยราคาที่ต่ำทำให้เกิดผู้บริโภคที่ทันสมัยในประเทศตะวันตก ขั้นที่ 2 จากสงครามโลกครั้งที่สองถึงทศวรรษที่ 1970 สังคมบริโภคถือกำเนิดขึ้นในทุกสังคม ขั้นที่ 3 การบริโภคแบบอเมริกันที่จริยธรรมของลัทธิโปรเตสแตนท์ถูกทำลายไปหมด
สงครามเย็นไม่เพียงก่อให้เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจเท่านั้น ยังเป็นการสู้รบในเรื่องวิถีชีวิตและมาตรฐานชีวิตด้วย วิถีชีวิตอย่างตะวันตกมีเป้าหมายในการเอาชนะและทำให้สหภาพโซเวียตอ่อนด้อยลง ทศวรรษที่ 1970-80 จึงเป็นทศวรรษของการสะสมเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีและเป็นยุคสมัยของการบริโภคอย่างสุดโต่งโดยมีศาสดาเป็นสินค้าแบรนด์เนม ชาวตะวันตกได้ถูกเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาตามไปด้วย พ่อแม่อยากให้ลูกที่เติบโตท่ามกลางความหรูหราได้มีชีวิตที่ดีกว่า และกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลักจนแทบจะเสียคน ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังสามารถคาดว่าจะมีชีวิตที่ยืนยาว และสามารถหาความสุขใส่ตัวอีกหลายสิบปีหลังเกษียณ 70-80% ของคนรุ่นนี้มีบ้านเป็นของตัวเอง มีวันหยุดพักผ่อนมากถึงปีละ 6 สัปดาห์ และมีเวลาทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง รวมยังมีเงินบำนาญจากภาครัฐอีกต่างหาก
นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ทำให้การบริโภคเป็นไปได้ง่ายขึ้นและน่าสนใจมากขึ้น การตลาดจึงไม่เพียงส่งเสริมวัตถุนิยมเท่านั้น ยังส่งเสริมการหลงตัวเองด้วย วัตถุต่าง ๆ ได้มีความสัมพันธ์กับจิตใจมากกว่าหน้าที่ในการทำงานของมันไปเสียแล้ว คนรุ่นนี้ยินดีเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเยาว์เพื่อเป็นเจ้าของบ้านที่มีความสะดวกสบายมากกว่า พวกเขาเชื่อว่าการซื้อบ้านและการศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า การเป็นหนี้เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 วิถีชีวิตที่หรูหรากลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันเป็นเครื่องสะท้อนตัวตนด้วย
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดัชนีประชากรต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก อายุตามคาดของประชากรเพิ่มขึ้นถึง 20-25 ปีภายในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ อัตราการเกิดลดลงเหลือเพียง 9.7 คนต่อ 1,000 และในปี 2005 อัตราการเจริญพันธุ์เหลือเพียงแค่ 1.5% เท่านั้น อัตราการแต่งงานลดลงจาก 6 คู่ต่อพันและในปี 2005 เหลือเพียง 4.7 คู่ต่อพัน การอยู่ด้วยกันมีมากกว่าการแต่งงาน อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นโดยในปี 2005 คนสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 22% แล้ว ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมีสัดส่วนลดลงจาก 24-30% เหลือเพียง15-16% ภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งศตวรรษ
สังคมได้กลายเป็นสังคมแบบปัจเจกนิยม วัตถุนิยม มุ่งสันทนาการอันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ที่มีลูกน้อยลง มีอายุยืนขึ้น รายได้ เวลาว่างและอิสรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ชนชั้นกลางยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 67% ในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ชาวยุโรปทุกคนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครึ่งหนึ่งมีรถและคอมพิวเตอร์ และเช็คข้อมูลทางอินเทอร์เน็ท พวกเขาทำงานลดลง 100-150 ชั่วโมงเหลือกันเพียงแค่ปีละ 650 ชั่วโมงเท่านั้น ลัทธิบริโภคนิยมหรือการบริโภคที่มากเกินไม่เพียงสร้างความพึงพอใจจากความต้องการพื้นฐานเท่านั้นยังกลายเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจ และเป็นสันทนาการไปในตัวด้วย
ในปี 1875 รายได้ 50% ของแรงงานถูกใช้ไปกับอาหาร 10% ใช้ไปกับเสื้อผ้า 13% ใช้ไปกับการศึกษาและสาธารณสุข ในปี 1995 หรือ 120 ปีต่อมา รายได้เพียงแค่ 18.5% เท่านั้นที่ถูกใช้ไปกับอาหาร แต่รายได้มากถึง 57% ถูกใช้ไปกับการศึกษาและสาธารณสุข ระหว่างปี 1993-2006 ค่าใช้จ่ายในสินค้าคงทนถาวรเพิ่มขึ้นถึง 120% ในเวลาเพียงแค่ทศวรรษเดียว ค่าใช้จ่ายในร้านอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 50% สันทนาการกีฬา 180% การทำผม และแต่งหน้า 57% และท่องเที่ยว 51% ในปี 2005 ชาวเยอรมัน อังกฤษ ดัชท์ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เบลเยี่ยม สเปน ออสเตรียน สวีดิช สวิส และนอร์วีเจียนใช้เงินไปในการท่องเที่ยวมากถึง 278 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ GDP ของเช็กและฮังการีรวมกัน 40% ของประชากรยุโรปท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้มากถึง 10% ของ GDP จ้างงานถึง 12%
การมีบ้านเป็นของตัวเองไม่เพียงสร้างความสะดวกสบาย แสดงถึงความมั่งคั่งและเป็นอิสระเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จด้วย ชาวยุโรปที่มีรายได้เพียงแค่ 60% ของชาวอเมริกันจึงมีบ้านมากถึง 80% และชาวยุโรปในทุก ๆ 1000 คนจะมีบ้านถึง 422 คน นอกจากบ้านแล้ว รถก็เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงสถานะอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นที่เห็นได้อย่างง่ายดายด้วย ผู้บริโภคสามารถที่จะใช้รูปแบบของการบริโภคเพื่อบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ทางสังคม ระหว่างปี 1990-2004 จำนวนรถในยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 40% ลักเซมเบอร์กประเทศที่ร่ำรวยที่สุดมีรถ 659 คันต่อ 1000 คน อิตาลีและโปรตุเกสมี 581 และ 572 คันต่อพันคนตามลำดับ ประเทศยุโรปตะวันออกที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็มีรถเพิ่มเป็น 280-290 คันต่อพันคนแล้วหรือเท่ากับครอบครัวละคัน การเป็นเจ้าของรถสะท้อนให้เห็นถึงลัทธิบริโภคนิยมในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Democratization of Luxury
ลัทธิบริโภคนิยมยังกระตุ้นให้เกิดร้านค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านลดราคาที่ขายสินค้าหรูหราในราคาต่ำอีกเป็นจำนวนมาก ในปี 2006 ยุโรปมีช้อปปิ้งมอลล์ถึง 5,700 แห่งในพื้นที่ 111 ล้านตารางเมตรเฉลี่ย 226 ตารางเมตรต่อพันคน แม้แต่ในปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมากแล้วก็ยังมีห้างเปิดใหม่มากถึง 115 แห่ง ลัทเวียยังมีช้อปปิ้งมอลล์เท่ากับอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปนเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวประชากร หลังปี 2000 ช้อปปิ้งมอลล์เปิดใหม่ถึง 40 ล้านตารางเมตรทั่วทั้งยุโรป ในปี 2006 ชาวยุโรปใช้เงินในช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ถึง 500 พันล้านยูโรหรือคนละ 1,110 ยูโร การค้าปลีกในยุโรปมีมูลค่าสูงถึง 2.17 ล้านล้านยูโรหรือเท่ากับ 20% ของ GDP ของทั้งทวีปและเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงเป็นอันดับสี่ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงเศรษฐกิจดี หนี้จำนวนมากมักอยู่ในระดับที่จัดการได้หากการชำระหนี้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ในปี 1950 ครัวเรือนอเมริกันมีหนี้ 34% ของรายได้หลังหักภาษี ในปี 1980 พวกเขามีหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 69% และในปี 2003 พวกเขามีหนี้ถึง 32,660 ดอลลาร์หรือ 115% ของรายได้ ในปี 2007 หนี้ของชาวเยอรมัน เอสโทเนีย สเปน โปรตุเกส ฟินแลนด์ สวีเดน และอังกฤษ เกินกว่า 100% ของรายได้แล้ว แต่หนี้ของไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์นั้นสูงถึง 250% ของรายได้ และในเดนมาร์กสูงถึง 300% หนี้ของครอบครัวในเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปนและอังกฤษ เพิ่มขึ้นจาก 76% เป็น 84% หนี้ครัวเรือนที่มากมายขนาดนี้ย่อมสร้างปัญหาให้กับชาวยุโรปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย
ชาวยุโรปตะวันออกต่างอยากมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตเหมือนอย่างชาวยุโรปตะวันตก พวกเขาจึงบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ระหว่างปี 2001-3 การบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 30% ลิทัวเนียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 8.5% แต่พวกเขาบริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 11.6% รัสเซียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 7.3% แต่พวกเขาบริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 12.3% การบริโภคของลัทเวียเพิ่มขึ้นถึง 21% ในเวลาเพียงแค่ปีเดียว ชาวฮังการีนิยมกู้หนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะจากสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี 2001-8 พวกเขามีหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 70.2%
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปหลังสงครามโลกก็คือการสร้างสหภาพยุโรปและรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการเป็นผลมาจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ถูกจุดโดยประสบการณ์จากสงครามและความต้องการแข่งขันบริการทางสังคมกับสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การควบคุมตลาดหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการให้ความสำคัญกับสังคมเหนือเศรษฐกิจกลายเป็นคุณค่าที่ได้รับการยึดถือจนทำให้ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน ดัชนีความเท่าเทียมกันทางสังคมหรือ Gini ในยุโรปประมาณ 0.22-0.26 ก็เป็นผลมาจากรัฐสวัสดิการที่ประกอบด้วยการศึกษาฟรี การสาธารณสุขฟรี บำนาญ เงินทดแทนสำหรับคนว่างงาน การให้การสนับสนุนสินค้าพิเศษบางอย่าง และผลประโยชน์ทางสังคมซึ่งมาจากภาษีที่สูงลิ่วนั่นเอง
แต่ช่วงหลังการบริการทางสังคมกลับกลายเป็นเป้าของการถูกโจมตี ในระหว่างปี 1996-2006 ค่าใช้จ่ายด้านสังคมและการแพทย์ จึงลดลงจาก 22% เหลือเพียง 19.8% ของ GDP สวัสดิการรัฐที่ลดลงในหลายประเทศนับจากวิกฤตเศรษฐกิจเรื่อยมาจนทำให้ความเท่าเทียมกันน้อยลงจนดัชนี Gini ของอังกฤษ ประเทศในบอลติก กรีซ ไอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส ฮังการีและโรมาเนีย เพิ่มขึ้นเป็น 0.33 แต่ก็ยังดีกว่าสหรัฐฯ ซึ่งดัชนีสูงถึง 0.41
เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มต้นในปี 2008 หลายประเทศหันเข้าวิธีการแบบ Keynes รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินไปมากถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 1 ใน 4 ของ GDP ทั่วโลกเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ และกระตุ้นอุปสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เยอรมันก็ใช้จ่ายมากถึง 32 พันล้านยูโรและ 50 พันล้านยูโรหรือ 1.3% หรือ 2% ของ GDP ฝรั่งเศสก็ใช้เงินถึง 26 พันล้านยูโรหรือ 1.3% ของ GDP อังกฤษก็ใช้ถึง 31 พันล้านปอนด์หรือ 2.2% ของ GDP เช่นกัน
ถึงกระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจของสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงถดถอย หากคำนวณตาม Proust Index ที่คำนวณจำนวนปีที่สูญหายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น กรีซและไอซแลนด์จะถอยไป 12 ปีกลับไปเท่าปี 2000 โปรตุเกสและลัทเวียจะหายไป 10 ปีถอยไปเท่ากับปี 2002 ฮังการี สเปนและอังกฤษจะหายไป 8 ปีถอยไปเท่ากับปี 2004 อิตาลีหายไป 7 ปีถอยไปเท่ากับปี 2005 สมาชิกทั้งทวีปหายไปรวม 22 ปี เมื่อสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปไม่มีมาตรการที่เด็ดขาด และใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดเหมือน ๆ กันจนทำให้อุปสงค์ลดลง ภาษีที่เก็บได้น้อยลง งบประมาณขาดดุลจึงมากขึ้น หลายประเทศจึงประสบปัญหาถดถอยกลับไปเป็นครั้งที่สอง (Double Dip Recession)
Economist ฉบับสิงหาคมปี 2011 วิพากษ์ว่าการลดงบประมาณลงพร้อม ๆ กันเป็นนโยบายที่สร้างความพ่ายแพ้ให้ตัวเอง รัฐบาลควรเริ่มสร้างการเจริญเติบโตและปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว The New York Times ฉบับกุมภาพันธ์ 2012 วิพากษ์ว่าผู้นำที่ฉลาดกว่า Merkel น่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับสหภาพยุโรปได้มากกว่าและช่วยให้เพื่อนบ้านสามารถหาทางออกจากหนี้ได้โดยไม่บีบคั้นพวกเขาจนสิ้นหนทาง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลทั้ง 1. Joseph Stiglitz ก็เน้นว่าการใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดจะนำไปสู่การชะงักงันและถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2. Paul Krugman ก็เห็นว่าการใช้นโยบายที่เข้มงวดเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีผลลัพธ์ 3. Amartya Sen ก็เห็นว่า แม้นโยบายมัธยัสถ์จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้องและเฉลียวฉลาดโดยเฉพาะกับประเทศยุโรปที่ให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ และความเป็นอยู่ที่ดีเหนือเศรษฐกิจซึ่งเป็นคุณค่าที่ยุโรปต่อสู้เพื่อให้ได้มา
ผู้เขียนเห็นว่า การใช้นโยบายของ Keynes เพื่อกระตุ้นอุปสงค์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจำเป็นต้องทำพร้อม ๆ ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การลดค่าจ้างเพื่อลดต้นทุนมักส่งผลกระทบกับแรงงานที่ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำแต่ก็เป็นความเจ็บปวดที่ยากจะหลีกเลี่ยง สหภาพยุโรปควรหาทางออกจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ลดอัตราว่างงานและเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและอังกฤษต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน การกำกับดูแลภาคการเงินต้องใช้ความพยายามมากมายและมีความซับซ้อน รวมทั้งต้องใช้ความกล้าในการปฏิบัติ แต่สหภาพยุโรปก็ต้องฟื้นฟูหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นไปได้ว่าในที่สุดยุโรปก็หันกลับไปใช้ระบบการกำกับดูแลเหมือนเดิม
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปใช้กลยุทธ์ในการช่วยเหลือประเทศมิให้ล่มสลาย ด้วยการใช้นโยบายของความกลัวในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันที่แน่นแฟ้นมากขึ้น นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาพยายามที่จะก่อตั้งสถาบันเหนือชาติขึ้นมากำกับดูแลซึ่งแผ้วทางไปสู่การรวมตัวกันทางการคลังในอนาคต Jacob Funk Kirkegaard แห่ง Petersen Institute ในวอชิงตันกล่าวว่า เยอรมันใช้กลยุทธ์ที่จะปล่อยให้วิกฤตไปถึงจุดหมิ่นเหม่เพื่อให้ฝรั่งเศสยินดีที่จะหยิบยื่นอธิปไตยของชาติซึ่งเคยปฏิเสธที่จะมอบให้ วิกฤตเป็นการปลุกหรือเครื่องมือที่เยอรมันใช้ในการสยบให้สมาชิกสหภาพยุโรปยอมจำนน แม้ความสนใจทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองของสมาชิกล้วนยังคงต้องการให้การรวมตัวกันดำเนินต่อไป แต่นักการเมืองและพลเมืองของแต่ละประเทศยังมีส่วนที่ค้านอยู่ นักวิชาการบางค่ายจึงเสนอการแบ่งสหภาพยุโรปเป็นสองชั้น
หากประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีปัญหาละจากเงินยูโรก็อาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ในระยะแรก แต่ในระยะยาวสหภาพยุโรปจะรวมตัวกันได้แข็งแกร่งมากขึ้น เพราะความแตกต่างจะลดลง และเท่ากับเป็นการกำจัดอุปสรรคที่จะทำให้การรวมตัวมากขึ้นไปในตัวด้วย สหภาพยุโรปจำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นใหม่ด้วยการออกยูโรบอนด์ รวมทั้งยอมให้ธนาคารกลางยุโรปทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินกู้สุดท้าย แต่เยอรมันจะยอมให้มียูโรบอนด์ได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกันทางการคลังแล้วเท่านั้น
โลกาภิวัฒน์ทำให้การรวมตัวของยุโรปมากขึ้น การเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปให้กลายเป็นมหาอำนาจเป็นความต้องการของสมาชิกทุกชาติ ประเทศเล็ก ๆ ต่างมีประสบการณ์ของการลดทอนอำนาจอธิปไตยและพึ่งพาการรวมตัวกันสหภาพยุโรปมากขึ้น ทั้งชาวดัชท์ ชาวเดน ชาวเบลเยี่ยมและประเทศเล็กอื่น ๆ ต่างรู้สึกปลอดภัยภายใต้โครงสร้างของสหภาพยุโรป ส่วนประเทศใหญ่ก็ได้แรงงานราคาถูกและตลาดเป็นการตอบแทน โลกาภิวัฒน์เป็นผลมาจากการปฏิวัติเทคโนโลยีและนโยบายทดแทนอาณานิคม นโยบายที่เปลี่ยนไปอาจหยุดยั้งกระบวนการโลกาภิวัฒน์ได้ชั่วคราว และอาจนำไปสู่ลัทธิชาตินิยมและความไม่เป็นมิตรจนอาจก่อให้เกิดสงครามได้อีก แต่มันคงเกิดขึ้นไม่นานและไม่มีใครต้องการให้เป็นเช่นนั้น
สหภาพยุโรปเป็นมากกว่าการรวมตัวกันทางการเศรษฐกิจ เงินยูโรก็เป็นมากกว่าแค่สกุลเงิน การรวมตัวกันของพวกเขาจะเป็นแบบค่อยเป็นคนไปจนเป็นสมาพันธรัฐยุโรปได้ในที่สุด การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจมักเป็นเส้นทางสู่การรวมตัวกันทางการเมือง แต่ไม่ใช่สมาชิกทุกประเทศที่คิดเช่นนั้น บางประเทศต้องการเพียงแค่มีโอกาสเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ที่สุดนี้เท่านั้น ปัจจุบันทุกประเทศต่างรู้สึกถึงความมั่นคง และความมั่งคั่งในการรวมตัวกันมากขึ้น การรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งและลึกซึ้งจะเป็นการค้ำประกันสันติสุขในภูมิภาค และตำแหน่งมหาอำนาจของพวกเขาในสังคมโลกด้วย ประวัติศาสตร์ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า ประเทศเหล่านี้และรัฐบาลของพวกเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมและบาปที่เลวร้ายแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อคิดเห็น แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ใหญ่มาก แต่ก็ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ความรู้เกี่ยวกับสังคมบริโภค ตัวเลขทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างละเอียดลออจนผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสือแนวนี้มาก่อนสามารถที่จะมีความรู้ได้อย่างลึกซึ้งจากการอ่านหนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียว
ผู้เขียนอาจมิได้ให้ข้อเสนอที่ละเอียดว่าทางออกของสหภาพยุโรปควรเป็นเช่นใด แต่แนวคิดส่วนใหญ่ที่เขาพูดถึงก็บ่งไปในแนวเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไปที่อยากให้การรวมตัวกันของสมาชิกสหภาพยุโรปลึกซึ้งขึ้นด้วยการรวมตัวกันทางการคลัง และใช้นโยบาย Keynesian เพื่อนำยุโรปออกจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ขึ้นกับเยอรมันเท่านั้น
