You are here: Home > Econ & Business > Paradigm Lost : The Euro in Crisis กระบวนทัศน์ที่หายไป

Paradigm Lost : The Euro in Crisis กระบวนทัศน์ที่หายไป

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร 

                 เมื่อ Lehman ล้มในเดือนกันยายนปี 2008  วิกฤตก็ข้ามฟากมายังยุโรปอย่างรวดเร็ว  แต่ต้นเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปมิได้เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มจากสหรัฐฯ เท่านั้น  ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตในยุโรปยังเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อสมาชิกที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอเข้าร่วมในสหภาพยุโรปแล้ว นั่นคือ 1. ความมั่นใจที่มากขึ้น 2. อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว 3. อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 4. การส่งออกลดลงอย่างรวดเร็ว 5. อุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 6. การขาดความสามารถในการแข่งขัน 7. ต้นทุนในการกู้ยืมลดลง 8. วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008  ปัญหาหนี้ของสหภาพยุโรปจึงเป็นมากกว่าปัญหาด้านการคลังที่สุรุ่ยสุร่าย  แต่เป็นผลมาจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และการขาดความสามารถในการแข่งขันของประเทศยุโรปใต้ด้วย  Paradigm Lost : The Euro in Crisis หนังสือขนาด 123 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2010 ของ Uri Dadush ผู้อำนวยการของ International Economics Program ที่ Carnegie Endowment for International Peace จะพูดถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อประเทศที่กำลังเกิดวิกฤตและสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป รวมทั้งวิธีแก้ไขปัญหาที่ควรจะเป็น

ประเทศยุโรปเหนืออันประกอบไปด้วย ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมันและเนเธอร์แลนด์มีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพค่อนข้างดีก่อนเข้ารวมเป็นสหภาพยุโรปอยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปใต้มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ  แต่ในขั้นตอนก่อนการรวมเป็นสหภาพยุโรปนั้น ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็เริ่มตอบสนองต่อความคาดหวังในการเป็นสมาชิกแล้วสังเกตได้จากผลตอบแทนที่เคยแตกต่างกันลดลงจาก 550 จุดในระหว่างปี 1980-90 เหลือเพียง 10 จุดในปี 1999 เท่านั้น

การลดลงของอัตราดอกเบี้ยและความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นกระตุ้นในการบริโภคภายในสูงขึ้นมากโดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากการกู้ยืมจากต่างประเทศส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าจ้างภายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้านำเข้าหรือส่งออก เช่น อสังหาริมทรัพย์  ในระหว่างปี 1997-2009 ราคาค่าบริการในประเทศโปรตุเกส (P) ไอร์แลนด์ (I) อิตาลี (I) กรีซ (G) สเปน (S) หรือที่เรียกกันว่า  PIIGS เพิ่มขึ้นถึงปีละ 1.5% ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปเหนือเพิ่มเพียงแค่ 0.5% เท่านั้น  พวกเขายังหันเหไปจากภาคการผลิตสู่ภาคบริการและอสังหาริมทรัพย์โดยหันเหไปถึง 4% ของ GDP เทียบกับประเทศยุโรปเหนือที่หันเหไปเพียงแค่ 2% ของ GDP เท่านั้น  ซ้ำร้ายค่าแรงของประเทศ PIIGS ยังเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5.9% จนทำให้ค่าแรงของประเทศกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 32% ในเวลาเพียงแค่ 10 ปีซึ่งไม่สมดุลกับการผลิตที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1.3% เท่านั้น  ในขณะที่ประเทศยุโรปเหนือมีค่าแรงเพิ่มเพียงปีละ 1.2% หรือเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 12% ในเวลา 10 ปีเท่านั้น  การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม PIIGS ลดลงอย่างรวดเร็ว

ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของไอร์แลนด์และสเปนทำให้อัตราการเพิ่มของ GDP เป็นไปอย่างเข้มแข็ง  ระหว่างปี 1997-2007 ราคาบ้านในไอร์แลนด์ และสเปน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 12.5% และ 8% ตามลำดับ  ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนกับผลผลิตในไอร์แลนด์ สเปน เพิ่มขึ้นจาก 7.9% เป็น 10.4% และ 9.8% เป็น 13.8% ตามลำดับ  ส่วนการปล่อยกู้ภายในก็เพิ่มขึ้นถึง 155% เทียบกับประเทศยุโรปเหนือที่เพิ่มเพียงแค่ 27%  ยิ่งกว่านั้นการออมของประเทศเหล่านี้ยังลดลงด้วย เช่น โปรตุเกสและอิตาลีลดลงเหลือเพียง 4.7% และ 5.7% เท่านั้น  การใช้เงินสกุลเดียวกันทำให้อัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบกับแต่ละประเทศไม่เท่ากัน นั่นคือ ในระหว่างปี 2001-6 อัตราดอกเบี้ยในเยอรมันสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น 50 จุด แต่อัตราดอกเบี้ยในสเปน ไอร์แลนด์และกรีซต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 300-400 จุด  ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้ยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ PIIGS ลดน้อยถอยลงไปอีก

ในระหว่าง 1997-2007 นั้นค่าใช้จ่ายภาครัฐของประเทศ PIIGS ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นถึง 76% และทำให้เศรษฐกิจเติบโตถึง 3.5%  ในขณะที่ประเทศยุโรปเหนือค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเพียงแค่คนละ 34% เท่านั้น  การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายภาครัฐทำให้งบประมาณขาดดุลในโปรตุเกสและอิตาลี ถึงปีละ 1.3% และในกรีซมากถึงปีละ 5%  ร้ายกว่านั้นรายได้จากภาษีของประเทศเหล่านี้ยังลดลงอย่างมากด้วย  ยิ่งเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในไอร์แลนด์และสเปนแตกส่งผลให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีก  รัฐบาลไอร์แลนด์จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือภาคการเงินหลังฟองสบู่แตกเป็นเงินมากถึง 13.9% ของ GDP ส่งผลในระหว่างปี 2007-9 ให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 20% ของ GDP

แท้ที่จริงแล้วเยอรมันเป็นความภาคภูมิใจของยุโรปหรือเป็นปัญหาของยุโรปกันแน่  หลังการรวมตัวกันใช้เงินยูโร เยอรมันมีการปฏิรูปโครงสร้าง ควบคุมการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจนทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมันเพิ่มขึ้น  ค่าแรงของชาวเยอรมันโดยเปรียบเทียบกับกลุ่ม PIIGS ดูเหมือนจะลดลง อีกทั้งยังทำให้การส่งออกของเยอรมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย   ยิ่งกว่านั้นอุปสงค์ภายในของเยอรมันยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม PIIGS ทำให้การเกินดุลเพิ่มขึ้นไปอีกจนคนส่วนใหญ่มองว่าเยอรมันเป็นประเทศที่ได้เปรียบมากที่สุดในการรวมตัวกันเป็นยูโร  ทั้ง ๆ ที่หลังการรวมตัวกันเป็นเยอรมันเดียวในปี 1990 นั้น พวกเขากลายเป็นประเทศขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการที่ระหว่างปี 1990-5 ค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 17.6% ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเพิ่มแค่ 11.5% เท่านั้น

การรวมตัวกันเป็นเยอรมันเดียวทำให้เกิดอุปสงค์ในด้านบริการมากกว่าด้านส่งออกจากการที่ชาวเยอรมันตะวันตกได้เคลื่อนย้ายไปยังเยอรมันตะวันออกโดยในระหว่าง 1990-2 อุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้นถึง 7% ของ GDP  การเติบโตด้านบริการเพิ่มขึ้นถึงปีละ 7%  แต่การส่งออกกลับมีสัดส่วนต่อ GDP ลดลงส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.2% เป็น 8.2%  รัฐบาลเยอรมันจึงแก้ไขปัญหาด้วยการปฏิรูปโครงสร้างโดยลดการเพิ่มของค่าจ้างต่อปีจนค่าตอบแทนหมวดแรงงานลดลง 1% ของ GDP  การเพิ่มขึ้นของการว่างงานร่วมกับความสามารถในการโยกย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่าทำให้แรงงานยอมอ่อนข้อในการต่อรองส่งผลให้ค่าแรงในระหว่างปี 1995-2000 ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 3.4% และไม่เพิ่มขึ้นเลยในภาคบริการ  ผลของค่าแรงที่ไม่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกในระหว่างปี 1993-2000 เทียบกับสัดส่วนของ GDP เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 22% เป็น 33%

การส่งออกของเยอรมันที่ดีขึ้นมิได้เป็นผลมาจากการใช้เงินยูโรที่ดูเหมือนว่าจะอ่อนค่ากว่าเงินมาร์กเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันด้วย  คณะกรรมการยุโรปประมาณการณ์ไว้ว่าเงินยูโรในปี 2009 มีค่าน้อยไปสำหรับเยอรมันถึง 10-12% จนทำให้สัดส่วนของการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับประเทศอุตสาหกรรมทั่วไปที่ลดลงมากถึง 11.6%  ในระหว่าง 1993-2008 สัดส่วนของการส่งออกเทียบกับ GDP ของเยอรมันก็เพิ่มขึ้นถึง 14% จนกลายเป็น 25% ของ GDP และทำให้เยอรมันกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

หลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ค่าแรงต่อหน่วยระหว่างปี 2000-9 ของเยอรมันเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 7% ในขณะที่ประเทศ PIIGS เพิ่มขึ้นถึง 31%  ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าตอบแทนของเยอรมันเพิ่ม 11% หรือน้อยกว่ากลุ่ม PIIGS ถึง 15% ขณะที่ผลผลิตเพิ่ม 13% แต่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยทุกประเทศเพียงแค่ 2% เท่านั้น นั่นหมายความว่า ศักยภาพของเยอรมันที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่อัตราค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้นมากกว่าความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้น  ในระหว่าง 2000-8 อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในเยอรมันเพียงแค่ปีละ 1.4% เท่านั้นไม่ถึงครึ่งของประเทศในกลุ่ม PIIGS ด้วยซ้ำ  นอกจากนี้อุปสงค์ภายในของเยอรมันยังลดลงถึง 5.8% ด้วย นั่นหมายความว่า การที่การเพิ่มขึ้นของ GDP ต่ำ ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในที่ต่ำส่งผลให้ค่าตอบแทนในเยอรมันเพิ่มขึ้นน้อยหรือเพิ่มขึ้นไม่ได้นั่นเอง

ส่วนการลดลงของอุปสงค์ภายในของเยอรมันนั้นเป็นผลมาจากนโยบายการเงินในยุโรป นั่นคือ เข้มงวดเกินไปสำหรับเยอรมัน  การว่างงานจึงเพิ่มขึ้น ค่าตอบแทนก็เพิ่มไม่ได้ คนชราจึงต้องออมมากขึ้นจากการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม  อย่างไรก็ดีการที่เงินยูโรจะด้อยค่าลงถึง 20% เทียบกับดอลลาร์ร่วมกับการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทำให้เยอรมันสามารถพึ่งพาประเทศยุโรปน้อยลง และสามารถส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้มากขึ้น  

ก่อนการรวมตัวกันใช้เงินยูโรนั้น กรีซเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในยุโรป อัตราเงินเฟ้อสูงที่สุด และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต่ำที่สุด  สถานการณ์ของกรีซเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อกรีซได้มาใช้เงินยูโร อัตราเงินเฟ้อระหว่างปี 1980-1995 ที่สูงถึง 18% ลดลงเหลือเพียง 3% เท่านั้น  ความแตกต่างของผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่แตกต่างจากเยอรมันก็ลดลงจาก 1100 จุดเหลือเพียง 40 จุดเท่านั้นด้วย เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกรีซดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศหันมาลงทุนมากมาย   ถึงกระนั้นก็ตามอัตราการขาดดุลของกรีซกลับไม่ลดลง ซ้ำยังเพิ่มขึ้นจากการขาดดุล 3.7% ในปี 1997 เป็น 14.4% ในปี 2008  ตั้งแต่ปี 1997 ดัชนีผู้บริโภคของกรีซเพิ่มขึ้นถึง 45% เทียบกับ 27% ในประเทศยุโรปอื่น ๆ และตั้งแต่ปี 2000 ค่าตอบแทนของแรงงานได้เพิ่มขึ้นกว่า 80% เทียบกับ 23% ในประเทศยุโรปอื่น ๆ  ความสามารถในการแข่งขันของกรีซลดลงอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเงินยูโรมีค่าสูงไปสำหรับกรีซถึง 20-30%

ความสามารถในการแข่งขันของกรีซลดน้อยถอยลงไปอีก เมื่อพวกเขาหันเหจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการและภาคการผลิตที่ไม่สามารถส่งออกได้   ระหว่างปี 1997-2007 ภาคอุตสาหกรรมเทียบกับสัดส่วนของ GDP ลดลงถึง 2.5% ในขณะที่ภาคการก่อสร้างเพิ่มสัดส่วนถึง 2% และภาคบริการก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3%  ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเพียง 0.6% เท่านั้น  ส่วนรายได้ต่อหัวประชากรก็เพิ่มขึ้นจาก 39% เมื่อเทียบกับเยอรมันเมื่อปี 1995 เป็น 71% ในปี 2008  แม้รัฐบาลกรีซจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปในด้านสังคมและเงินเดือนข้าราชการ  ระหว่างปี 1997-2008 รัฐเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวประชากรถึง 140% เทียบกับ 40% ในประเทศยุโรปอื่น  ค่าใช้จ่ายทางด้านสังคมอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นจาก 13.9% เป็น 18.9% เทียบกับจาก 17.1% เป็น 16.1% ในประเทศยุโรปอื่น ๆ  ยิ่งกว่านั้นค่าแรงของข้าราชการต่อคนยังเพิ่มขึ้นถึง 112% เทียบกับ 38% ในประเทศยุโรปอื่น ๆ  ถึงกระนั้นก็ตามการใช้จ่ายทั้งหมดนี้ก็ทำให้งบประมาณขาดดุลจากปี 2000-7 เพียงแค่ 5% เท่านั้น  แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มขึ้น รายได้จากภาษีลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณของกรีซเพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในปี 2007 เป็น 13.9% ในปี 2009  หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 96% ในปี 2007 เป็น 115% ในปี 2009

ในระหว่าง 2002-7 อุปสงค์ของกรีซเพิ่มขึ้นถึง 4.2% ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่นเพิ่มเพียงแค่ 1.8% เท่านั้น  ดุลบัญชีเดินสะพัดของกรีซก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2004 เป็น 14.4% ในปี 2008 และหนี้สาธารณะของกรีซก็สูงถึง 112%  ไม่ว่ากรีซจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไร การปรับลดของอุปสงค์ภายในและการที่ค่าเงินสูงกว่าความเป็นจริงอยู่มากย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของประชาชนอย่างมากแน่นอน  การละจากเงินยูโรและผิดนัดชำระหนี้อาจเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำกว่า ทั้งนี้เพราะการผิดนัดชำระหนี้เท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับนักลงทุนต่างชาติ กรีซสามารถที่จะตั้งเงื่อนไขที่ทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาสามารถที่จะเติบโตได้ด้วย

การที่เศรษฐกิจของกรีซเป็นระบบที่ค่อนข้างปิดทำให้การใช้จ่ายมักอยู่ในระบบเศรษฐกิจภายในเท่านั้น การลดลงของการใช้จ่ายภาครัฐจึงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจกรีซค่อนข้างมาก   IMF คาดว่ากรีซต้องพยายามที่จะรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ 2.7% ทุกปีเพื่อให้สามารถลดหนี้ต่อ GDP ให้เหลือ 120% ภายในปี 2020  แต่การรักษาสภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงเกิดขึ้นได้ยาก  การที่กรีซต้องเผชิญหน้ากับหนี้จำนวนมหาศาลร่วมกับการขาดความสามารถในการแข่งขันทำให้ทางเลือกที่ดีที่สุดของพวกเขาเหลือเพียงแค่ปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของกรีซหวนกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน  กรีซจำเป็นต้องหันมาพึ่งพิงการส่งออกเพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มเติบโตใหม่  การปรับโครงสร้างหนี้อาจเป็นการให้ความช่วยเหลือจนดูเหมือนว่ากรีซมั่งคั่งขึ้นอีกครั้งอันจะส่งผลให้การบริโภคภายในเพิ่มขึ้นอีก  ส่วนการฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันนั้น กรีซจำเป็นต้องลดค่าแรงลง ยอมรับภาวะเงินฝืด ร่วมทั้งเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น  ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ดีสำหรับกรีซก็คือ การละจากเงินยูโรแต่ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป  อย่างไรก็ดี กรีซเป็นประเทศที่มีชื่อเสียทางด้านการเลี่ยงภาษี และการตกแต่งข้อมูล นั่นหมายความว่า การวิเคราะห์ใด ๆ ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะจากค่ายไหนอาจมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือสามารถเกิดขึ้นได้อันเป็นผลมาจากการที่ข้อมูลที่แพร่หลายอยู่นั้นไม่ใช่ของจริงทั้งหมด

แม้สถานการณ์ในรัสเซียจะแตกต่างจากกรีซ แต่บทเรียนจากรัสเซียให้ข้อคิดหลายอย่าง นั่นคือ 1. ต้องให้ความระมัดระวังกับการขาดสมดุลของเศรษฐกิจมหภาค 2. อย่าแก้ปัญหาทีละเล็กละน้อย การแก้ปัญหาที่ดีต้องมีแผนที่ดีด้วย  3. ขนาดของความช่วยเหลือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสำเร็จลงได้  หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1992 รัสเซียขาดความสามารถในการกำหนดอัตราภาษีและจัดเก็บภาษีส่งผลให้งบประมาณขาดดุลมาตลอด  เมื่อราคาน้ำมันลดเหลือเพียงบาเรลละ 12 ดอลลาร์ทำให้ภาษีที่เก็บได้เหลือเพียงแค่ค่าใช้จ่ายของรัฐ 3 เดือนเท่านั้น  การที่อัตราเงินเฟ้อก่อนหน้านี้สูงเกิน 20% ทำให้รัสเซียไม่สามารถที่จะขายพันธบัตรระยะยาวได้  หนี้ส่วนใหญ่ของรัสเซียจึงเป็นหนี้ระยะสั้นในรูปของเงินรูเบิล ประมาณ 18% ของ GDP ส่งผลให้พวกเขาถูกบังคับให้จ่ายหนี้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ทุก ๆ สัปดาห์หรือเท่ากับ 1.3% ของ GDP ทุกเดือน  กลางเดือนกรกฎาคม 1998  IMF จึงตัดสินใจเข้าช่วยเหลือด้วยการปล่อยกู้ให้รัสเซีย 20 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเท่ากับ 6.7% ของ GDP  ถึงกระนั้นก็ตามในวันที่ 17 สิงหาคม 1998 รัสเซียก็ยังต้องประกาศหยุดชำระหนี้ที่จนถึงสิ้นเดือนธันวาคมปี 1999 และเริ่มปรับโครงสร้างหนี้อยู่ดีส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลลดลงถึง 50%   การที่รัสเซียสามารถชำระหนี้ได้หมดเป็นผลมาจากการที่ราคาของทรัพยากรเพิ่มขึ้น และค่าเงินรูเบิลที่ลดลงจนทำให้การส่งออกดีขึ้นถึงกว่า 10%  ร่วมกับการที่รัฐบาลลดการใช้จ่ายและไม่เพิ่มค่าแรงเป็นเวลานาน  ถึงกระนั้นก็ตามเจ้าหนี้ก็ได้รับการชำระหนี้ช้าลง แม้ไม่มีเจ้าหนี้รายใดต้องลดปริมาณหนี้เลยก็ตาม

บทเรียนของรัสเซียสำหรับกรีซและประเทศยุโรปอื่นก็คือ 1. การขาดสมดุลเป็นเวลานานย่อมทำให้เกิดวิกฤตตามมาอย่างแน่นอน 2. แผนงานในการแก้ไขปัญหาต้องชัดและต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง  บทเรียนจากรัสเซียแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า ในการต่อสู้กับวิกฤตนั้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องสามารถวินิจฉัยถึงต้นตอได้อย่างถูกต้อง และต้องไม่คาดหวังว่าปัญหาจะถูกแก้ไขไปได้เอง   ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กำลังมองว่าการแก้ไขปัญหาในกรีซของ IMF และสหภาพยุโรปนั้นเป็นไปเพื่อซื้อเวลามากกว่าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  อย่างไรก็ดีกรีซยังคงมีช่องว่างให้ปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ แต่พวกเขาก็ต้องใส่ใจและทำอย่างจริงจัง  3. ขนาดของความช่วยเหลือก็มีความสำคัญ  ความช่วยเหลือที่ IMF ให้กับรัสเซียนั้นไม่มากพอที่จะหยุดยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุนได้ส่งผลให้รัสเซียต้องประกาศหยุดพักชำระหนี้ในที่สุด

ระหว่างปี 1990-5 นั้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์สูงกว่าประเทศ PIIGS มาก อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมก็ยังต่ำกว่า PIIGS ด้วยจนเกือบจะเท่ากับเยอรมันอยู่แล้ว  ยิ่งกว่านั้นตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูง และไอร์แลนด์ยังมีระบบการศึกษาก็ดีที่สุดในยุโรปด้วย นั่นหมายความว่า บรรยากาศทางธุรกิจและกฎระเบียบของไอร์แลนด์เอื้อต่อการทำธุรกิจที่สุดในโลกประเทศหนึ่งเลยทีเดียว  ค่าแรงจึงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป  การปล่อยกู้ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนมากกว่า  200% ของ GDP และในเวลาเพียงแค่ 10 ปีนี้การขยายตัวของสถาบันการเงินก็เพิ่มขึ้นถึง 750% ของ GDP  อัตราการเพิ่มขึ้นของบ้านก็มากถึงปีละ 9.6% และราคาก็เพิ่มขึ้นถึงกว่า 90% เทียบกับ 28% และ 20% ในสเปนและสหรัฐฯ  ในที่สุดในปี 2008 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในไอร์แลนด์ก็แตก อุปสงค์ภายในลดลงถึง 16% การลงทุนลดลงถึง 40% และราคาบ้านก็ลดลงถึง 30% ด้วย  สิ้นปี 2010 ผลผลิตของไอร์แลนด์ลดลงถึง 14%  สินทรัพย์ทางการเงินมีมูลค่าลดลงถึง 70%  นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารจะขาดทุนมากถึง 35 พันล้านยูโรหรือเท่ากับ 20% ของ GDP  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องค้ำประกันเงินฝากและเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเพื่อป้องกันความตื่นตระหนกถึง 440 พันล้านยูโรหรือเท่ากับ 270% ของ GDP

การลดลงของรายได้ร่วมกับการเพิ่มขึ้นของการว่างงานทำให้ในปี 2009 รัฐบาลไอร์แลนด์มีรายได้จากภาษี ลดลงถึง 11.6%  รัฐบาลจึงแก้ไขปัญหาด้วยการลดค่าจ้างในภาครัฐลงถึง 5-15% เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลดค่าจ้างลงด้วย  นอกจากนี้รัฐยังขยายภาษี และเพิ่มอายุเกษียณ รวมทั้งลดผลประโยชน์ทางด้านสวัสดิการลงซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายงบประมาณในปี 2010 ลดลงถึง 2.5%  แท้ที่จริงแล้ว รัฐบาลไอร์แลนด์ควรบรรเทาความร้อนแรงในด้านอสังหาริมทรัพย์และบริการด้วยการเพิ่มภาษีให้มากขึ้นมาตั้งนานแล้ว เช่น เพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์และการบริการอันจะทำให้ความรุนแรงของความเสียหายลดลงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย 

อิตาลีก็เหมือนประเทศอื่น ๆ ใน PIIGS นั่นคือ หลังการใช้เงินยูโร ความสามารถในการแข่งขันของพวกเขาลดลงไปมาก  แม้ว่าวิกฤตในกรีซจะสามารถควบคุมได้ แต่เศรษฐกิจของอิตาลีก็น่าจะอ่อนแอหลังวิกฤตกรีซอยู่ดี  ในระหว่างปี 1999-2007 หนี้ของอิตาลีลดลงถึง 10% แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มขึ้น หนี้ของอิตาลีกลับเพิ่มขึ้นเป็น 115% ของ GDP ส่งผลให้พวกเขาต้องใช้เงินถึง 4.5% ของ GDP ไปกับการใช้หนี้ซึ่งเท่า ๆ กับงบประมาณด้านการศึกษาเลยทีเดียว  ซ้ำร้ายหนี้ส่วนใหญ่ของอิตาลียังเป็นหนี้ระยะสั้น สถานการณ์ของอิตาลีจึงเปราะบางกว่าประเทศอื่นมาก 

การที่ตลาดแรงงานของอิตาลีค่อนข้างตายตัว ธุรกิจส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก การบริการและการกำกับดูแลของรัฐขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจขาดประสิทธิภาพโดยเฉพาะบริการพื้นฐาน ทั้งด้านพลังงาน การสื่อสารและการขนส่ง ส่งผลให้ระหว่างปี 1996-2004 ผลผลิตของอิตาลีลดลงถึงปีละ 1% เทียบกับเยอรมันที่เพิ่มปีละ 1%  ระหว่างปี 1998-2008 การส่งออกเติบโตน้อยจนเสียสัดส่วนของตลาดไป  สถานการณ์ของอิตาลีค่อนข้างเลวร้ายเมื่อพวกเขาไม่สามารถลดค่าเงินและอุตสาหกรรมของพวกเขาก็อยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช้ทักษะ  การที่สหภาพยุโรปไม่สามารถแก้ไขปัญหาในกรีซได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในอิตาลีทำให้พวกเขาต้องปรับงบประมาณลดลงมาก และทำให้การส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้  ร้ายกว่านั้นความสามารถในการแข่งขันของพวกเขายังคงด้อยกว่าเยอรมันต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่าค่าจ้างและผลผลิตจะแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม  ปัญหานี้บั่นทอนความสามารถในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีในระยะยาว

อิตาลีควรเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยการ 1. ลดการขาดุลงบประมาณที่ไม่รวมดอกเบี้ยลง  4% ของ GDP เพื่อค้ำประกันไม่ให้หนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้นและค่อย ๆ ลดลง 2. ลดค่าแรงต่อหน่วย รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานซึ่งประกอบไปด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

การขาดความสามารถในการแข่งขันของโปรตุเกสเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขาใช้เงินยูโร ระหว่างปี 2001-5 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็เหลือเพียงแค่ 1%  แม้โปรตุเกสจะควบคุมงบประมาณขาดดุลได้ดีกว่ากรีซ แต่การที่พวกเขาขาดความสามารถในการแข่งขันก่อนประเทศอื่น ๆ ร่วมกับการมีหนี้อยู่มากทั้งในภาครัฐและเอกชนทำให้เศรษฐกิจของโปรตุเกสอ่อนไหวกว่าประเทศอื่น 

ระหว่างปี 1991-5 อัตราดอกเบี้ยของโปรตุเกสลดลงจาก 12.3% เหลือเพียง 6% ส่วนรายได้ต่อหัวประชากรของโปรตุเกสระหว่างปี 1985-1995 ก็เพียงแค่ 60% เทียบกับเยอรมันเท่านั้นซึ่งน้อยกว่ากรีซที่ 70% เสียอีก ระหว่างปี 1995-2000 การกู้ยืมภาคเอกชนและภาคการเงินเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าส่งผลให้การออมภาคเอกชนลดลงถึง 7% จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2000 ขาดดุลถึง 9%  การใช้เงินยูโรและนโยบายจากธนาคารกลางยุโรปเสมือนหนึ่งโปรตุเกสใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปทำให้รายได้ต่อหัวประชากรของโปรตุเกสปรับฐานเข้าหาสหภาพยุโรปได้น้อยมากจนทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือเพียงแค่ 0.8% ต่อปีเท่านั้น  ยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ GDP ของโปรตุเกสในปี 2009  ยิ่งลดลงถึง 2.7% การว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 10.7%

การที่เศรษฐกิจโปรตุเกสไม่สามารถที่จะเติบโตได้หลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นเพราะโครงสร้างการส่งออกของโปรตุเกสอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้าซึ่งถูกย้ายฐานไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  สัดส่วนของการส่งออกอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีน้อยลดลงจาก 80% ในปี 1995 เหลือเพียง 75% ในปี 2001  การที่ค่าแรงของโปรตุเกสเพิ่มขึ้นถึงปีละ 6% หรือ 2 เท่าของสหภาพยุโรปในระหว่างปี 1995-2002 ทำให้งบประมาณรัฐในปี 2002 ทางด้านค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 15% หรือเท่ากับว่าค่าเงินแข็งเกินไปถึง 12% ส่งผลให้เงินลงทุนจากต่างประเทศลดลง  ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผลผลิตกลับลดลงเฉลี่ยปีละ 3.1% จนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปถึง 32% ด้วย   การลดลงของศักยภาพนี้เป็นผลมาจากการมีทุนมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีที่จำกัด  ภาคแรงงานของโปรตุเกสจบการศึกษาระดับวิทยาลัยเพียงแค่ 9% เท่านั้นเทียบกับ 18-22% ในสเปน กรีซและไอร์แลนด์

โปรตุเกสควรที่จะ 1. เปลี่ยนแปลงเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่แทนของเก่าที่ส่วนใหญ่เป็นภาคดั้งเดิมที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง 2. ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อลดการบริโภคและการลงทุนในภาคที่ไม่ใช่การส่งออก  3. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  4. เพิ่มภาษีในกลุ่มคนรวย และนักลงทุนในตลาดหุ้น 5. ลดค่าแรงข้าราชการ และ 6. ลดการลงทุนภาครัฐ  อย่างไรก็ดีความพยายามในการเพิ่มภาษีในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงในโปรตุเกสคงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะโปรตุเกสเป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาสมองไหลมากที่สุดในยุโรปอยู่แล้ว  ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็ควรให้ความเอาใจใส่ในเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยผ่านการผ่อนปรนในเรื่องนโยบายการจ้างงาน และเพิ่มบริการทางด้านสาธารณูปโภคให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้ดีขึ้นด้วย

ส่วนปัญหาของสเปนนั้นก็เป็นผลมาจากการลงทุนที่ผิดปกติอย่างมากมายในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถส่งออกได้ เช่น บ้าน และรถ  ภายในเวลาเพียงแค่ 10 ปี ราคาบ้านในสเปนก็เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว  สเปนสร้างบ้านใหม่ด้วยปริมาณที่มากกว่าอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสและอิตาลีรวมกันเสียอีกซึ่งทั้งหมดนี้ขายให้กับนักลงทุนต่างชาติ  ในช่วงที่สเปนใช้เงินยูโรใหม่ ๆ อัตราดอกเบี้ยลดลง ความมั่นใจเพิ่มขึ้นมากทำให้การบริโภคภาคเอกชนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  อัตราเงินเฟ้อจึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพถึง 1.5 เท่า  ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมระหว่างปี 2005-9  มีสัดส่วนใน GDP ลดลงถึง 4%  รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายถึง 7.5%  การที่อุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้นทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมากกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปปีละ 1%  ระหว่างปี 2000-8 การส่งออกลดสัดส่วนใน GDP ถึง 3% เมื่อเทียบกับเยอรมันที่เพิ่มขึ้นถึง 14%  ภาวะเศรษฐกิจตลอดสิบปีที่ผ่านมาทำให้หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของสเปนเพิ่มขึ้นเป็น 80%

ในปี 2009 งบประมาณขาดดุลของสเปนเพิ่มขึ้นเป็น 11.4% มากกว่าอิตาลีถึง 2 เท่า แม้หนี้ต่อ GDP จะยังคงต่ำและต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเร็วกว่าทุกประเทศในสหภาพยุโรปด้วย  รัฐบาลสเปนจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด ลดอัตราค่าจ้างต่อคนเพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเทียบกับเยอรมัน  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในบริการพื้นฐาน เช่น การขนส่ง การเงิน การสื่อสาร และพลังงานซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลง และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด  รวมทั้งปรับโครงสร้างธนาคาร 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาของ PIIGS ล้วนต้องการการแก้ไขเหมือน ๆ กันนั่นคือ การปรับโครงสร้างและปฏิรูปด้านการคลัง  สำหรับกรีซนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าอีกไม่ช้ากรีซต้องล้มละลายแน่ และเมื่อนั้นหนี้ของพวกเขาก็จะได้รับการปรับโครงสร้าง  การใช้ประโยชน์ในช่วงที่กรีซได้เงินสนับสนุนก็คือ 1. กรีซต้องปรับงบประมาณอย่างน้อย 12% เพื่อมิให้หนี้ต่อ GDP สูงเกิน 150% นั่นหมายความว่า ผลผลิตของกรีซจะลดลงอย่างมากส่งผลให้การชำระหนี้ต้องช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  2. รัฐบาลต้องพยายามลดงบประมาณที่ไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ให้สมดุลโดยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าหนี้ต่อ GDP จะลดลงเรื่อย ๆ  สเปนและอิตาลีจะต้องลดงบประมาณที่ไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ลง 8% และ 4% ตามลำดับ  นอกจากนี้พวกเขายังต้องพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบกับเยอรมันด้วยการลดค่าแรงต่อหน่วยละ 5-7% ตลอดระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งต้องปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นผลผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันในภาคที่ไม่ใช่การส่งออก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของภาครัฐด้วย

3. เยอรมันและประเทศที่เกินดุลจำเป็นต้องเพิ่มอุปสงค์ขึ้นไม่น้อยกว่า 1% เพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในประเทศ PIIGS ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ในสหภาพยุโรปไม่ลดลงและทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคอยู่ในระดับ 2%  นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรปยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเกินดุล

การที่ธนาคารกลางยุโรปและ IMF ต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่ม PIIGS ด้วยงบประมาณเป็นจำนวนมากหรือมากกว่า GDP ของฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์รวมกัน แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า 1. การก่อตั้งสหภาพยุโรปมีข้อบกพร่องที่สำคัญตั้งแต่แรก  ผลของการเข้าช่วยเหลือเป็นการชี้ให้เห็นว่าความหวังของการรวมตัวกันทางการเงินโดยปล่อยให้แต่ละประเทศตัดสินใจทางการคลังอย่างเสรีนำปัญหาที่ยากแก่การแก้ไขมาให้สหภาพยุโรป  โครงการสหภาพยุโรปจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกันทางการคลังเท่านั้น  การตัดสินใจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางยุโรปก็เท่ากับเป็นจุดสิ้นสุดของนโยบายที่ธนาคารกลางยุโรปเป็นอิสระจาการเมืองและไม่มีทางที่จะเข้าช่วยเหลือเมื่อรัฐบาลของสมาชิกประสบปัญหา  

2. การที่ IMF ต้องเข้าร่วมในการช่วยเหลือเป็นจุดสิ้นสุดของการเสแสร้งของสหภาพยุโรปที่ว่า พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก  อย่างไรก็ดี แม้สหภาพยุโรปจะอนุมัติเงินมากถึง 750 พันล้านยูโรเพื่อเข้าช่วยเหลือ PIGS แต่ปริมาณเงินเพียงแค่นี้เพียงทำได้แค่ซื้อเวลาเท่านั้น  ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ชาวยุโรปยังไม่พร้อมที่จะปฏิรูป  นักการเมืองของพวกเขาก็มิได้อธิบายถึงความรุนแรงของสถานการณ์ให้ประชาชนเข้าใจ  พวกเขาต้องตระหนักว่า หากพวกเขาไม่ปฏิรูปเท่าที่จำเป็น และยังพยายามเลื่อนการปฏิรูปไปเรื่อย ๆ พวกเขาย่อมต้องการเงินที่มากขึ้นอีกในการแก้ไขปัญหาอย่างแน่นอน  ทั้งสเปน โปรตุเกส และอิตาลีต้องลดงบประมาณลงให้ได้ รวมทั้งงดขึ้นเดือนข้าราชการและปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ  ในขณะที่เยอรมันก็ต้องช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในเพื่อให้ยุโรปทั้งทวีปไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด  นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติต้องร่วมรับผิดชอบกับความผิดพลาดในการลงทุนของตัวเองด้วยโดยยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งลดจำนวนและยืดเวลาชำระหนี้

การที่ปัญหาในสหภาพยุโรปสร้างความวิตกกับตลาดตั้งแต่วิกฤตเริ่มขึ้นในกรีซใหม่ ๆ จนลามไปทั่วทั้งยุโรปส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่รู้สึกว่าผู้กำหนดนโยบายในสหภาพยุโรปแก้ไขปัญหาแบบขาดแผนงาน และไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ตลาดได้นอกจากซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ  จริงอยู่ผู้นำยุโรปอาจสามารถที่จะฟื้นฟูงบประมาณให้เกิดเสถียรภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้  แต่พวกเขาควรมีการปฏิบัติการที่จะสามารถสร้างความมั่นใจเพื่อป้องกันวิกฤตมิให้ลุกลาม  การที่ความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของแผนยังคงอยู่ในมือของนักการเมืองของประเทศที่ดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล มีปัญหาในเรื่องการแข่งขัน แก้ปัญหาอย่างเชื่องช้าและเล็กน้อยเกินไปจนไม่สามารถที่จะเชื่อใจได้ยังผลให้ความตื่นตระหนกในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก  หนทางที่ดีที่สุดก็คือ สมาชิกสามารถที่จะตรวจสอบงบประมาณของทุกประเทศได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญาที่แต่ละประเทศให้ไว้จะถูกติดตามให้ดำเนินการจนบรรลุผล    ยิ่งกว่านั้นสมาชิกสหภาพยุโรปควรร่วมกันปรับปรุงสนธิสัญญา Maastricht ที่กำหนดมาตรการไว้ใช้กับทุกประเทศด้วย ทั้งนี้เพราะวิกฤตครั้งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกประเทศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

หนทางที่จะทำให้สหภาพยุโรปแก้ไขปัญหาได้ก็คือ การยอมให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้การปรับตัวที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากของประเทศที่ประสบปัญหาเกิดขึ้นในระดับที่ต่ำลงและมีความขัดแย้งทางการเมืองน้อยลง  การกำหนดอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปย่อมกลายเป็นเงินฝืดได้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย  การที่ระดับราคาลดต่ำลงจะกระตุ้นให้ประชาชนเลื่อนการใช้จ่ายออกไปอันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเพราะรัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้จนทำให้ขนาดของหนี้ และต้นทุนของหนี้เพิ่มขึ้น  

การที่ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญแต่กับการลดอัตราเงินเฟ้อทำให้พวกเขาขาดวิสัยทัศน์ในภาพกว้างในเรื่องของราคาสินทรัพย์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน  อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากยังทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินหมดสิ้นไป เมื่ออัตราการเจริญเติบโตต่ำ และอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถต่ำกว่าศูนย์ได้  Olivier Blanchard หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เห็นว่า ทางออกหนึ่งของปัญหาสหภาพยุโรปในปัจจุบันคือ การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้สูงถึง 4% 

ทั้งบัลกาเรีย เช็ก เอสโทเนีย ฮังการี ลัทเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ และโรมาเนียต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับที่เคยกับกับประเทศ PIIGS แล้วทั้งนั้นนั่นคือ การขาดความสามารถในการแข่งขัน และขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ผูกค่าเงินอย่างคงที่กับยูโร เช่น เอสโทเนีย ลัทเวีย ลิทัวเนีย และบัลกาเรียจะมีสถานการณ์เลวร้ายกว่าประเทศที่ค่าเงินยังผันแปรอยู่บ้าง  ความคาดหวังที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทำให้อุปสงค์ใน 3 ประเทศบอลติกซึ่งได้แก่ เอสโทเนีย ลัทเวียและลิทัวเนียตั้งแต่ปี 2002-7 เพิ่มขึ้นถึงปีละ 10% ในขณะที่บัลกาเรียก็เพิ่มถึง 9%  ราคาของสินค้าภาคที่ไม่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าภาคส่งออก และอัตราค่าจ้างก็เพิ่มขึ้น  การลดน้อยถอยลงของความสามารถในการแข่งขันทำให้เกิดการเสียสมดุลของเศรษฐกิจมหภาคขนานใหญ่ 

หลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ค่าจ้างในประเทศที่ผูกค่าเงินคงที่กับสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 10% โดยเฉพาะลัทเวียเพิ่มถึงปีละ 25% จนทำให้ค่าจ้างเพิ่มเกือบสองเท่าแล้ว  ในขณะที่ค่าจ้างของเอสโทเนียและลิทัวเนียก็เพิ่มขึ้นถึง 45-60% แล้ว  เมื่อเงินลงทุนไหลเข้าลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2008 อุปสงค์ภายในของประเทศบอลติกจึงลดลงกว่า 25% หรือลดลง 8 เท่าเมื่อเทียบกับทั้งสหภาพยุโรป  อัตราว่างงานในเอสโทเนียและลิทัวเนียก็เพิ่มขึ้นถึง 9%  การหดตัวทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในฮังการีด้วยโดยเศรษฐกิจหดตัวถึง 4-7%   เนื่องจากฮังการี เช็ก และโรมาเนียยังสามารถลดค่าเงินได้ พวกเขาจึงลดค่าเงินลงถึง 10-20% ซึ่งช่วยให้การหดตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่ไม่สามารถลดค่าเงินได้  วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ทุกประเทศที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกขาดความสามารถที่จะร่วมใช้เงินยูโรได้

บทเรียนจากประเทศที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกก็คือ 1. ผู้กำหนดนโยบายต้องติดตามดูแลเรื่องความสามารถในการแข่งขันอย่างใกล้ชิดอันเป็นผลมาจากการขาดความสามารถในการลดค่าเงิน  การปฏิรูปจึงต้องทำแต่เนิ่น ๆ ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีโดยเก็บภาษีในด้านการก่อสร้างและบริการเพิ่มขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของอุปสงค์สินค้าประเภทนี้  2. ให้ความสนใจกับการกำหนดอัตราค่าจ้างและเพิ่มความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน และเพิ่มการสนับสนุนในภาคการส่งออก  3. ลดความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าโดยเฉพาะการก่อหนี้ต่างประเทศ เพิ่มการกำกับดูแลภาคธนาคารในเรื่องการปล่อยกู้และควบคุมปริมาณเงินไหลเข้า

สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกของสหรัฐฯ มากถึง 20% และเป็นผู้ถือสินทรัพย์สหรัฐฯ นอกประเทศมากถึง 50%  การที่เงินยูโรด้อยค่าไปถึง 20% แล้วเท่ากับเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ซ้ำร้ายการที่เงินยูโรด้อยค่าลงยังทำให้อำนาจในการซื้อของนักท่องเที่ยวยุโรปลดลงด้วย บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ขายสินค้าบนภาคพื้นยุโรปจะยิ่งรู้สึกว่ากำไรของพวกเขาลดลง  ผลกระทบต่อสหรัฐฯ ก็คือ 1. พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีค่าลดลงจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันมาลงทุนมากขึ้นจนทำให้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก  2. หากวิกฤตในสหภาพยุโรปยืดเยื้อ  ธนาคารกลางยุโรปย่อมต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนานขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องใช้นโยบายเดียวกันอันจะทำให้สภาพคล่องล้นระบบยาวนานขึ้นไปอีกจนยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์ระยะยาวได้  3. การผิดนัดชำระหนี้ในประเทศใดประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรปย่อมสั่นคลอนโครงการสหภาพยุโรปและเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกตามไปด้วย

ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจยุโรปส่งผลให้การส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาเติบโตได้ช้าลง  การด้อยค่าลงของเงินยูโรทำให้กำไรของการส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาลดลงตามไปด้วย อีกทั้งยังทำให้สินค้าในอุตสาหกรรมของยุโรปแข่งขันกับสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาได้มากขึ้น เช่น ภาคเกษตรกรรม สิ่งทอและรถยนต์  การลดค่าลงของเงินยูโรยังทำให้อำนาจในการซื้อของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปลดลงไปด้วย และทำให้สินค้านำเข้าจากยุโรปมีราคาถูกลง  นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางยุโรปจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปทำให้เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จนกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ค่าเงินแข็งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดฟองสบู่  เพิ่มความผันผวนไปทั่วโลก

หนทางในการแก้ปัญหาก็คือ 1. ประเทศกำลังพัฒนาอาจจำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมให้น้อยลง และกระตุ้นอุปสงค์ภายในให้มากขึ้น 2. ลดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้  3. ให้ความระมัดระวังในการกำกับดูแลเงินทุนไหลเข้า 4. ประเทศที่มีงบประมาณเกินดุลมากร่วมกับเงินทุนไหลเข้ามากอาจจำเป็นต้องยอมให้ค่าเงินแข็งขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ภายในมากขึ้นและลดความกดดันของอัตราเงินเฟ้อ 5. ติดตามและกำกับดูแลการทำธุรกรรมของธนาคารต่างชาติอย่างใกล้ชิด

ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวร่วมกับการกำกับดูแลการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิดย่อมสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ร่วมกับการเปิดเสรีของเงินทุน  

มูดี้คาดว่าหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่ม G20 จะเพิ่มขึ้นจาก 62% ของ GDP ในปี 2007 เป็น 85% ของ GDP ในปี 2009 และน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 118% ในปี 2014 อันเป็นผลมาจากการลดลงของผลผลิตอย่างรวดเร็ว

ผลของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้จากภาษีลดลงและค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นทำให้สหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ รวมทั้งสวัสดิการในปี 2009  เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์คือมากถึง 24.7% เทียบกับ GDP และรายได้จากภาษีลดลงเหลือเพียง 14.8%  ในขณะที่รายได้จากภาษีในยุโรปจะลดลงเหลือเพียง 29.2% เทียบกับ GDP  เมื่อรัฐมีหนี้เพิ่มขึ้นก็คาดได้ว่ารัฐจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นส่งผลให้ความมั่นใจในการใช้จ่ายของธุรกิจและครัวเรือนน้อยลง  White house คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยระหว่างปี 2009-19  ของสหรัฐฯ จะเพิ่มถึง 3 เท่า จาก 1.2% ของ GDP เป็น 3.4% ของ GDP ซึ่งน่าจะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น  อย่างไรก็ดี ระดับหนี้มิใช่ตัวตัดสินผลตอบแทนของพันธบัตรเพียงอย่างเดียว  นโยบายการเงิน ความเสี่ยง ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อ ความต้องการเสี่ยงและความมั่นใจในรัฐบาลอันประกอบด้วยความซื่อสัตย์ ความเชื่อถือได้ คุณภาพของการบริหาร ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และความปรองดองกันของนักการเมืองล้วนส่งผลกระทบต่อค่าตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทั้งสิ้น

ผู้เขียนแนะนำว่านโยบายของสหภาพยุโรปในอนาคตก็คือ 1. ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป 2. ส่งเสริมให้ค่าเงินยูโรอ่อน 3. ยกเลิกการดำเนินนโยบายการคลังแบบตัวใครตัวมัน 4. อนุญาตให้รัฐบาลยุโรปถกเถียง ให้ข้อเสนอและติดตามปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาของ PIIGS อย่างใกล้ชิด 5. เพิ่มเงื่อนไขในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพให้เข้มงวดขึ้น ผู้เข้าใหม่ต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบเกินดุลในช่วงที่อุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้น 6. เผยแพร่ข้อมูลและตัวชี้วัดเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนนโยบายของประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็คือ 1. อย่าเพิ่งรีบเข้าเป็นสมาชิกก่อนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และจัดการกับอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสมาชิกให้ได้เสียก่อน 2. เพิ่มภาษีในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออกให้สูงกว่าภาษีที่เกี่ยวกับการส่งออก 3. เก็บรายได้ส่วนเกินในช่วงเศรษฐกิจดีเพื่อไว้เป็นเกราะป้องกันในการปรับงบประมาณเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว 4. พยายามเคลื่อนตัวเข้าหาอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มมูลค่าสูงและขยายตัวดีให้ได้ในช่วงเศรษฐกิจเติบโต

สำหรับประเทศพัฒนานั้น พวกเขาควรดำเนินนโยบาย 1. เพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นหนทางเดียวที่จะลดหนี้ได้ 2. ควบคุมการใช้จ่ายและเพิ่มภาษีทันทีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแท้จริง

 

ข้อคิดเห็น  สาเหตุที่สำคัญของวิกฤตยูโรก็คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของหนี้สาธารณะอันเป็นผลมาจากการขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งของกรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปนและโปรตุเกส (PIIGS)  ลำดับของเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ขาดความสามารถในการแข่งขันก็คือ การลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราดอกเบี้ย อุปสงค์เพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในด้านอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่าย นำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในขณะที่ความสามารถในการส่งออกลดลง  แม้แต่ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่แต่ยังไม่ใช้เงินยูโรก็กำลังดำเนินรอยตาม PIIGS อยู่  วิกฤตยูโรสะท้อนให้เห็นแล้วว่าการใช้ค่าเงินคงที่ร่วมกับเศรษฐกิจเปิดแบบเสรีเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด

แม้หนังสือเล่มนี้จะอ่านไม่สนุกเพราะเต็มไปด้วยตัวเลข แต่ก็อ่านง่ายมาก และมีตัวเลขเศรษฐกิจและนำเสนอนโยบายที่ผู้ที่ไม่คุ้นกับเศรษฐศาสตร์สามารถเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งมีข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกสหภาพยุโรปกลุ่มใหม่แบบคร่าว ๆ ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.