You are here: Home > Econ & Business, Political Science > The End of EURO : The Uneasy Future of the European Union ฤาเงินยูโรจะล่มสลาย

The End of EURO : The Uneasy Future of the European Union ฤาเงินยูโรจะล่มสลาย

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร 

                ปัจจุบันสถานการณ์ของสหภาพยุโรปเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่นักการเมืองยังคงไม่สามารถตัดสินใจได้ พวกเขามักบ่นว่า ตลาดการเงินไม่เข้าใจสหภาพยุโรป ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แท้ที่จริงแล้วปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปก็เหมือนกับที่อื่น ๆ ทั่วโลกนั่นคือ มาจากความโลภ นักเก็งกำไร และพฤติกรรมความไม่รับผิดชอบของตลาดเงิน  The End of the EURO : The Uneasy Future of the European Union ขนาด 208 หน้าตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน 2011 ของ Johan Van Overtveldt นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์ของ Wall Street Journal ประจำยุโรป จะพูดถึง 1. ที่มาของการก่อตั้งสหภาพยุโรปและเงินยูโรอย่างคร่าว ๆ  2. ความผิดปกติเชิงโครงสร้างในการรวมตัวกันทางการเงิน 3. ทางเลือกของสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน

Niel Ferguson นักประวัติศาสตร์อังกฤษเห็นว่า ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอดจนกระทั่งเติบโตมาถึงปัจจุบันนั้นพิสูจน์แล้วว่าการรวมกันด้วยสกุลเงินเดียวเป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ เพราะมันขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าชนชาติตนสำคัญที่สุด  แท้ที่จริงแล้วความพยายามในการวมตัวกันทางการเงินเป็นหนึ่งเดียวมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว และตัวอย่างของการรวมตัวกันทางการเงินที่ประสบความสำเร็จก็เกิดขึ้นครั้งแรกในเยอรมันด้วย  ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น เยอรมันที่รวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐต่างมีระบบเงินของแต่ละรัฐเอง แต่ในปี 1838 พวกเขาก็ยอมรับมาตรฐานเงินสองระบบคือ Thaler สำหรับรัฐทางเหนือ และ Gulden สำหรับรัฐทางใต้  หลังจากนั้นเพียงแค่สิบปี ธนาคารกลางปรัสเซียก็รวบอำนาจนโยบายทางการเงินของรัฐส่วนใหญ่ได้ 

ชัยชนะของปรัสเซียเหนือฝรั่งเศสในปี 1971 ทำให้ Otto von Bismarck สามารถที่จะรวบอำนาจจนสถาปนา German Reich หรืออาณาจักรเยอรมันขึ้น  สี่ปีต่อมาเยอรมันก็หันมาใช้ทองเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับสหรัฐฯ  หลังสงครามโลกครั้งที่สองธนาคารกลางเยอรมันก็ได้กลายเป็นธนาคารกลางที่โดดเด่นและเป็นหลักยึดของยุโรปตะวันตกตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา  แม้การรวมตัวกันของสหภาพยุโรปจะใช้การรวมกันทางการเงินของเยอรมันเป็นต้นแบบ แต่พวกเขาลืมไปว่า การรวมตัวกันทางการเงินของเยอรมันนั้นมีการรวมตัวกันทางการเมืองด้วย 

ส่วนการรวมตัวกันทางการเงินอีกกลุ่มก็คือ Latin Monetary Union (LMU) ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี สวิสและกรีซนั้นเกิดขึ้นในปี 1866  การที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยอมรับเงินของแต่ละสกุลให้มีค่าเท่า ๆ กันนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จจนต้องล้มเลิกไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะแต่ละประเทศจะถูกโจมตีค่าเงินเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีหนี้สินมาก  ส่วนการรวมตัวทางการเงินของประเทศในสแกนดิเนเวียหรือ The Scandinavian Monetary Union (SMU) ที่เริ่มขึ้นในปี 1972 โดยมีสวีเดน เดนมาร์กและนอร์เวย์นั้น ก็คล้ายกับ LMU  แต่ในปี 1905 เมื่อนอร์เวย์ต้องการที่จะเป็นอิสระทางการเมืองอย่างเด็ดขาดจากสวีเดน และเดนมาร์กสามารถที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนได้มากกว่าอีกสองประเทศ ในที่สุดการรวมตัวกันทางการเงินนี้ก็สิ้นสุดลงในปี 1924   ความล้มเหลวของทั้ง SMU และ LMU ได้พิสูจน์แล้วว่าการรวมตัวกันทางการเงินไม่มีทางสำเร็จได้ หากขาดการรวมตัวกันทางการเมืองที่แน่นแฟ้นอย่างแท้จริง  

Michael Bordo นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การรวมตัวกันทางการเงินจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการรวมตัวกันทางการเมือง และเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นจนสามารถสร้างเป็นชาติเดียวกันได้   กลางทศวรรษที่ 1950 Jacques Rueff นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสที่ปรึกษาประธานาธิบดี Charles de Gaulle ประกาศว่ายุโรปจะรวมตัวกันได้ผ่านหนทางเดียวเท่านั้นคือ ค่าเงิน ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างแน่นอน  ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคม 1957 ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community (EEC))  จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะลดพิธีการที่มิใช่ภาษี  ในปี 1964 พวกเขาก็ก่อตั้ง Committee of Central Bank Governors หรือคณะมนตรีธนาคารกลางขึ้น  ขั้นตอนแรกของการก่อตั้งความร่วมมือทางการเงินก็คือ การลดความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มความร่วมมือทางการเงินและการคลังระหว่างสมาชิก  ขั้นตอนที่สองก็คือ การลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และลดความแตกต่างของสินค้าที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน  ขั้นตอนสุดท้ายก็คือใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินแบบคงที่และเพิ่มความร่วมมือของระบบธนาคารกลาง 

แนวคิดในการก่อตั้งสหภาพยุโรปของเยอรมันก็คือ การรวมตัวกันทางการเงินต้องมีความร่วมมือกันทางด้านงบประมาณ นโยบายการค้า สังคมและค่าจ้าง นั่นหมายความว่า ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทางการเมืองด้วย  ส่วนธนาคารกลางก็ต้องปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง และไม่ยินยอมให้มีการช่วยเหลือธนาคารประเทศอื่นที่ถูกโจมตีค่าเงิน หรือมีค่าเงินอ่อนแอเลยเพื่อป้องกันความวุ่นวายทางการเงิน และการผ่องถ่ายความมั่งคั่ง   ในขณะที่ฟากฝรั่งเศสกลับคิดว่า เยอรมันและฝรั่งเศสต้องมีอำนาจเท่า ๆ กัน และประเทศที่งบประมาณเกินดุล ควรให้ความช่วยเหลือประเทศที่งบประมาณขาดดุล แม้ในช่วงเวลานั้น สถานะทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะย่ำแย่กว่าเยอรมันมากก็ตาม 

เป็นที่ทราบกันดีว่าตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินนั้น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และอิสรภาพของนโยบายการเงินนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้ทีละ 2 เรื่องเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ร่วมกับการเคลื่อนย้ายของเงินโดยเสรี  การกำหนดนโยบายทางการเงินอย่างอิสระย่อมหมดไป  เป้าหมายการรวมตัวกันทางการเงินที่สำคัญที่สุดก็คือ การใช้เงินสกุลเดียว  แม้เยอรมันและอังกฤษจะไม่เห็นด้วย แต่เยอรมันก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ เพราะพวกเขาต้องการให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรวมชาติ  ในที่สุด ยุโรปก็บรรลุข้อตกลง Maastricht ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1990 และในวันที่ 1 มกราคม 1994 สถาบันการเงินแห่งยุโรป (European Monetary Institute) ก็ถือกำเนิดขึ้น และในวันที่ 1 มกราคม 1999 สหภาพยุโรปก็หันมาใช้สกุลเดียวกันโดยมีธนาคารกลางยุโรปเป็นผู้ดูแล  

ข้อกำหนดในสนธิสัญญา Maastricht ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็คือ 1. อัตราเงินเฟ้อต้องไม่สูงกว่า 1.5% ของค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อของ 3 ประเทศที่มีค่าเงินเฟ้อต่ำสุด 2. อัตราดอกเบี้ยระยะยาวต้องไม่เกิน 2% ของค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ 3 ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3. รัฐบาลต้องมีงบประมาณขาดดุลไม่เกิน 3% ของจีดีพี และต้องมีหนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีด้วย  ข้อกำหนดเหล่านี้ดำเนินนโยบายตามรอยเยอรมันอย่างแท้จริง 

การควบรวมเยอรมันตะวันออกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันนั้นเท่ากับเป็นการโยกย้ายเงินส่วนหนึ่งจากเยอรมันตะวันตกที่มั่งคั่งไปยังเยอรมันตะวันออกที่ยากจนส่งผลให้เยอรมันกลายเป็นชาติที่ขาดดุลงบประมาณมหาศาลในช่วงแรก  ซ้ำร้ายการรวมชาติยังทำให้ปริมาณเงินมาร์กของเยอรมันเพิ่มขึ้นอย่างทันทีในระบบซึ่งไม่เข้ากันกับปริมาณสินค้าที่ผลิตขึ้น  รัฐบาลเยอรมันจึงจำเป็นต้องยอมให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการเพิ่มของเงินเฟ้อ  ประเทศอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของเงินมาร์กเช่นกัน พวกเขามีทางเลือกเช่นเดียวกันกับเยอรมันก็คือ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย ไม่ก็ต้องยอมลดค่าเงินให้อ่อนลงเทียบกับเงินมาร์ก  ประเทศส่วนใหญ่เลือกนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นทันทีมากกว่า 10% 

อย่างไรก็ดีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ทำให้นักลงทุนมองไม่เห็นภัยจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน พวกเขาจึงมักกู้ในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูง  ในปี 1990 นั้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศสมาชิกแตกต่างกันมาก เช่น อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลีอังกฤษ และสเปนเท่ากับ  8.5%,  10.3%, 12.2% , 14.8% และ 15.2% ตามลำดับ  ในช่วงเวลานั้นนักการเงินส่วนใหญ่เชื่อว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่คงดำรงต่อไม่ได้ แต่เยอรมันซึ่งเป็นเสาหลักของสหภาพยุโรปยังคงยืนกรานว่า พวกเขาสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อถือธนาคารกลางเยอรมันราวกับเชื่อถือพระเจ้า  เมื่อธนาคารกลางเยอรมันขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 8% เป็น 8.75% แต่ธนาคารกลางชาติอื่น ๆ ไม่สามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้อีกแล้ว ระบบการเงินจึงกลายเป็นอัมพาตในทันที  อิตาลีเป็นชาติแรกที่ยอมยกธงขาวด้วยการลดค่าเงินไลล่า ตามด้วยอังกฤษถอนตัว และสเปนลดค่าเงินเปโซ  การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในยุโรปถึงกาลอวสาน 

เมื่อใกล้ถึงเวลาในการใช้เงินสกุลเดียว ประเทศต่าง ๆ ที่อยากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่างพยายามที่จะปรับตัวเลขต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับข้อกำหนด Maastricht เพื่อให้สามารถเข้าเป็นสมาชิกได้  แต่แทนที่พวกเขาจะลดการขาดดุลงบประมาณ  พวกเขากลับใช้วิธีตกแต่งบัญชีด้วยการนำค่าใช้จ่ายออกนอกงบประมาณ ขายทรัพย์สินของรัฐ แล้วนำมันมาลงเป็นรายได้เพื่อให้รายได้มากกว่าความเป็นจริง รวมทั้งแสดงงบที่ลดค่าใช้จ่ายทางด้านสังคม เพิ่มภาษีและการออม ปรับตัวเลข GDP เพื่อให้ระดับการขาดดุลและหนี้ดูเหมือนน้อยกว่า GDP 

Otmar Issing อดีตคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรปชาวเยอรมันได้เตือนสหภาพยุโรปไว้แล้วตั้งแต่ปี 1996 ว่า กลยุทธ์ที่พวกเขานำมาใช้เพื่อสร้างเงินสกุลเดียวหรือการรวมตัวกันทางการเงินเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันทางการเมืองเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  มันเหมือนกับการนำเกวียนมานำหน้าม้า  ในช่วงเวลานั้นกระแสต่อต้านการรวมตัวกันทางการเงินเกิดขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมัน  ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1998 ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในเยอรมัน 155 คนได้รวมตัวกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเยอรมันขอร้องให้รัฐบาลเลื่อนการใช้เงินสกุลเดียวกันออกไปก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล

ตามข้อมูลในปี 1998 มีเพียงเดนมาร์ก อังกฤษ ลักเซมเบอร์กและฝรั่งเศสเท่านั้นที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของพวกเขาอยู่ในเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาชิก  ถึงกระนั้นก็ตาม เงินยูโรก็ถือกำเนิดขึ้นตามแผนตรงเวลาโดยมีสมาชิกคือ ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ไอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสและสเปนโดยกรีซเข้าเป็นสมาชิกประเทศในปี 2001 ไซปรัสและมอลต้าในปี 2008 สโลวาเกียปี 2009 และเอสโทเนียในปี 2011 David Marsh ถือว่าการรวมตัวกันทางการเงินนี้ว่าเป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการนองเลือด และไม่มีเสียงใด ๆ เลย

การเริ่มดำเนินการของเงินยูโร ได้รับการสรรเสริญไปทั่วยุโรปว่ามันเป็นก้าวแรกของการรวมตัวกันอย่างแท้จริง และเป็นการยุติความขัดแย้งอันยาวนานนับศตวรรษในทวีปนี้  นักการเมืองเชื่อว่าโครงการนี้จะนำความสงบสุข ประชาธิปไตยและความมั่งคั่งมาสู่ทวีปนี้ได้ในอีกไม่ช้า 

จริงอยู่การใช้เงินสกุลเดียวให้ประโยชน์มากมายอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น 1. เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  2. ความโปร่งใสทางด้านราคาระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยให้ความสมารถในการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น  3. อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยลดลง  4. ธนาคารกลางยุโรปสามารถดำเนินนโยบายอย่างอิสระและให้ความสำคัญกับการรักษาระดับราคาจนสามารถลดความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจลงได้มาก  5. ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหมดไป  6. ลดความเสี่ยงด้านการค้า และการลงทุน  การใช้อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำตามอย่างเศรษฐกิจเยอรมันเป็นหลักนั้นทำให้ทั่วทั้งยุโรปได้ประโยชน์  แต่มันกลับทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศลดความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงไปมากส่งผลให้หนี้ของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

การที่แต่ละประเทศขาดความสามารถในการกำหนดนโยบายทางการเงินของตัวเองทำให้รัฐบาลขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา เมื่อต้นทุนภายในเพิ่มขึ้นไม่เป็นสัดส่วนกับประเทศอื่น  วิธีการเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ยอมปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งเท่ากับเป็นการลดค่าจ้างภายในลงเพื่อลดต้นทุน  การใช้เงินสกุลเดียวจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ 1. การเคลื่อนย้ายทางด้านสินค้าและแรงงานเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง  2. ระดับราคาและค่าจ้างมีความยืดหยุ่น เพื่อป้องกันการเกิดความแตกต่างทางด้านเงินเฟ้อ ความเสียเปรียบด้านต้นทุนและการว่างงาน 3. อัตราเงินเฟ้อที่เท่าเทียมกัน  4. การเปิดเสรี ประเทศที่เปิดเสรีมากจะเสียเปรียบน้อย 5. ความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจ  ประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายจะรับมือกับวิกฤตได้ดี 6. การรวมตัวกันของเงินคงคลังจะเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับวิกฤต  7.  ความโปร่งใสทางการคลัง และความสามารถในการเคลื่อนย้ายเงินจะเพิ่มความสามารถในการรับมือกับวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น  8. การรวมตัวทางการเมือง 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของยุโรปยังคงแตกต่างจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก Jeffy Sach กล่าวว่า สหรัฐฯ มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในถึง 40% เพื่อลดความผันผวนทางการเงินในรัฐที่รายได้น้อย  และแรงงานในสหรัฐฯ ยังย้ายถิ่นกันมากด้วย  ในขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานในสหภาพยุโรปเกิดขึ้นเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น   นอกจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจด้วย แต่ธนาคารกลางยุโรปกลับไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินนโยบายใด ๆ จึงทำให้วิกฤตเศรษฐกิจก่อให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก  การที่อังกฤษปฏิเสธการใช้เงินสกุลยูโรในขั้นสุดท้ายเป็นการยืนยันว่าพวกเขาเชื่อว่ากลยุทธ์ที่สหภาพยุโรปเลือกใช้จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน  Gordon Brown ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ปี 1997 แล้วว่า การใช้เงินยูโรมีความเสี่ยงเพราะอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดมิได้เหมาะสมกับทุกประเทศ และอัตราการเจริญเติบโตของทุกประเทศก็มิได้เท่าเทียมกัน  ซ้ำร้ายพวกเขายังไม่มีกลยุทธ์ในการรับมือกับวิกฤตด้วย  

เมื่อการรวมตัวกันทางการเมืองและงบประมาณมิได้เกิดขึ้นจริง ซ้ำการเคลื่อนย้ายแรงงานและระดับราคาและค่าจ้างมิได้ยืดหยุ่นอย่างที่ควรจะเป็น จึงก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ทันทีเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจอุบัติขึ้นในสหภาพยุโรปในปี 2009  ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะคงสกุลเดียวต่อไปหรือยุตินโยบายนี้โดยสิ้นเชิง  จริงอยู่สหภาพยุโรปมี  Stability and Growth Pact เพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางการคลังโดยมีข้อกำหนดคือ ประเทศที่ขาดดุลงบประมาณมากกว่าข้อกำหนด Maastricht ต้องเสนอวิธีการแก้ไขให้กับสหภาพยุโรป และหากไม่สามารถแก้ไขได้ใน 3 ปีพวกเขาจะถูกปรับมากถึง 0.5% ของ GDP  ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เชื่อว่าข้อสัญญานี้จะกดดันให้สมาชิกดำเนินนโยบายการคลังด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  การที่ข้อสัญญานี้ไม่มีประเทศใดนำไปปฏิบัติเป็นเพราะรัฐบาลของแต่ละประเทศมิได้อยู่ภายใต้อำนาจของคณะมนตรีของสหภาพยุโรป 

เยอรมันเองเป็นประเทศที่มีปัญหาการว่างงานสูงตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมสกุลเงินยูโรแล้ว และในปี 2005 อัตราว่างงานก็เพิ่มขึ้นถึง 12% อันเป็นผลมาจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเข้าร่วมสกุลเงินยูโรที่สูงเกินไป  Peter Hartz ผู้จัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท Volkswagen เป็นผู้เสนอ The Hartz เพื่อปรับปรุงเรื่องการจ้างงานด้วยการลดผลประโยชน์ของคนว่างงาน และตัดสวัสดิการทันทีเมื่อคนว่างงานปฏิเสธงานที่ได้รับเสนอ หรือปฏิเสธโครงการฝึกงาน  การปฏิรูปด้านแรงงานนี้ส่งผลให้เยอรมันกลับมามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2006 อัตราว่างงานลดต่ำลงเหลือ 7.2% และในปี 2008  อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 74%  การปฏิรูปแรงงานได้ทำให้เยอรมันกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในสหภาพยุโรปเลยทีเดียว  

คณะมนตรียุโรปประกาศไว้ในเดือนพฤษภาคมปี 2008 ว่า การรวมกันทางการเงินทำให้ยูโรเป็นสกุลเงินที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของโลก ทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเงิน เพิ่มการค้าและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นต่อไปสามารถที่จะได้รับผลประโยชน์ทางสังคมเหมือนอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับอยู่อย่างแน่นอน  ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อัตราการเจริญเติบโตของสหภาพยุโรปนับจากใช้สกุลเงินยูโรเพียงแค่ 2.1% เท่านั้น  อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปก็สูงกว่าสหรัฐฯ แม้อัตราเงินเฟ้อจะพอ ๆ กัน แต่หนี้ของแต่ละประเทศก็ไม่น้อยไปกว่าสหรัฐฯ เลย

สหภาพยุโรปยังมีปัญหาของความไม่สมดุลในเรื่อง 1. ดุลการค้าขาดดุลซึ่งเท่ากับเป็นการบอกเป็นนัยว่าพวกเขาต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ 2. ฟองสบู่ของทรัพย์สินร่วมกับหนี้ธนาคารที่สูงมากทำให้ธนาคารเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย 3. หนี้รัฐสูง 4. หนี้ครัวเรือนสูงมาก 5. ขาดความสามารถในการแข่งขัน  การเป็นหนี้มากทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ค่าแรงยิ่งเพิ่มขึ้นจนทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน  นอกจากนี้หนี้รัฐที่สูงมากยังทำให้ดุลบัญชีขาดดุลตามไปด้วย  

ความไม่เท่าเทียมกันทางการเงินในสหภาพยุโรปค่อย ๆ มีเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภายในเวลาหนึ่งทศวรรษ  เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปะทุขึ้นในปี 2008 นักลงทุนก็ตระหนักว่าสถานการณ์ที่ดำรงอยู่คงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาเกรงว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้ความไม่เท่าเทียมกันมีมากขึ้นไปอีก  ความถดถอยทางเศรษฐกิจและงบประมาณขาดดุลทำให้นักลงทุนตระหนักว่าปัญหาในสหภาพยุโรปไม่สามารถที่จะจัดการทีละประเทศได้เพราะมันเกิดจากพื้นฐานของการรวมสกุลเงินเลยทีเดียว  การสารภาพของ George Papandreous นายกรัฐมนตรีกรีซที่ว่ากรีซให้ Goldman Sach ตกแต่งบัญชีทำให้วิกฤตทั้งทางด้านการเมืองและตลาดการเงินปะทุขึ้นพร้อม ๆ กัน  

เมื่อนโยบายส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยเยอรมัน ฝรั่งเศสและอิตาลี และประเทศทั้งสามมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อต่ำ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำและการว่างงานสูง ธนาคารกลางยุโรปจึงจำเป็นต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำตามไปด้วย  นอกจากนั้นการใช้สกุลเงินเดียวกันยังทำให้ต้นทุนของเงินทุนของประเทศอื่น ๆ ต่ำลงตามไปด้วย แม้แต่ประเทศที่เคยมีความเสี่ยงสูงเช่นกรีซก็ตาม   เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดต่ำมาก การยืมเงินจึงกลายเป็นเรื่องดึงดูดใจ    การกู้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายเพราะนักลงทุนมิได้มองว่าประเทศที่มีปัญหาขาดดุลงบประมาณสูงมีความเสี่ยงเหนือประเทศที่มีการขาดดุลงบประมาณต่ำ หรือทุกประเทศกลายเป็นมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเยี่ยงเยอรมัน  สถาบันการเงินทุกแห่งทั่วทั้งยุโรปจึงเต็มไปด้วยพันธบัตรและหุ้นกู้  การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นยังผลให้เกิดการเติบโตทางด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรีซ ไอร์แลนด์และสเปน

 ความสำเร็จที่แต่ละประเทศประสบทำให้พวกเขาไม่ตระหนักถึงถึงภัยที่กำลังก่อตัวขึ้น  ซ้ำร้ายการที่สหภาพแรงงานมีอำนาจมาก ร่วมกับกฎระเบียบที่เข้มงวดในการปิดกิจการหรือไล่คนออกทำให้ตลาดแรงงานขาดความยืดหยุ่นอย่างรุนแรง  เมื่อประเทศเหล่านี้มีงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น พวกเขาก็จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  ในที่สุดสถานการณ์ของพวกเขาก็เป็นไปตามกฎ Stein ที่ตั้งขึ้นโดย Herbert Stein ประธานที่ปรึกษาประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐฯ ที่ว่า อะไรที่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน มันจะหยุดชะงัก  

การสารภาพของ Papandreous นายกรัฐมนตรีกรีซที่ว่า งบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะของกรีซสูงกว่าที่เคยแจ้งไว้มากทำให้ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลกรีซและเยอรมันเพิ่มขึ้นมหาศาลทันที จนรัฐบาลกรีซไม่สามารถระดมทุนเองได้จากตลาด  วิกฤตหนี้สาธารณะทั่วทั้งยุโรปจึงปะทุขึ้น  ความตื่นตระหนกทำให้ตลาดพันธบัตรของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีปัญหาขึ้นฉับพลัน  นักลงทุนรู้สึกว่าการลงทุนในโปรตุเกส ไอร์แลนด์และสเปนก็เริ่มมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน แต่ความพยายามของนักการเมืองในการลดความตื่นตระหนกกลับเป็นการเติมเชื้อไฟในตลาด  ภายในเวลาเพียงแค่ 3 เดือนอัตราดอกเบี้ยระหว่างพันธบัตรเยอรมันกับกรีซก็เพิ่มขึ้นถึง 1,000 จุด 

ในที่สุดผู้กำหนดนโยบายยุโรปจึงตัดสินใจให้เงินช่วยเหลือกรีซ 110 พันล้านยูโรแลกกับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสหภาพยุโรป และ IMF  การลดการใช้จ่ายร่วมกับการเพิ่มภาษียิ่งทำให้เศรษฐกิจของกรีซถดถอยไปกันใหญ่ ซ้ำยังทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นจนทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ และงบประมาณก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีก  การแก้ปัญหาครั้งนี้ของกรีซให้ผลในทางตรงข้ามเพราะตลาดกลับมองว่าประเทศอื่น ๆ กำลังจะล้มละลายตามไปด้วย  ในที่สุดธนาคารกลางยุโรปจึงตัดสินใจเพิ่มเงินช่วยเหลือ 750 พันล้านยูโรเข้าไปในระบบด้วยความหวังที่จะลดความตื่นตระหนกของตลาดต่อการผิดนัดชำระหนี้ของอีกสามประเทศ   

ธนาคารกลางยุโรปได้ก่อตั้ง Securities Market Program (SMP) ขึ้นเพื่อซื้อตราสารทางการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนในตลาดรอง  พวกเขาทำไปเพียงเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินโดยลดความใส่ใจต่อหนี้สาธารณะซึ่งทำให้ธนาคารกลางยุโรปเสียชื่อเสียงมาก  ในทุกการเจรจาต่อรองจะแบ่งเป็นกลุ่มยุโรปเหนือประกอบด้วยเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรียและฟินแลนด์ และใต้ประกอบด้วยฝรั่งเศสและประเทศที่กำลังประสบปัญหาตลอด  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเสมือนหนึ่งการทะเลาะกันในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว  เยอรมันต้องการให้ประเทศที่มีปัญหาแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างเสถียรภาพทางการเงิน  แต่ค่ายฝรั่งเศสก็ต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจต่อปัญหาในประเทศ และต้องการมีอำนาจเหนือธนาคารกลางยุโรป  ชาวเยอรมันส่วนใหญ่รู้สึกว่าพวกเขาต้องเป็นคนจ่ายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นสิ่งที่พวกเขารับไม่ได้ พวกเขายืนกรานที่จะไม่ยอมให้สหภาพยุโรปเป็นที่ผ่องถ่ายความมั่งคั่งระหว่างกัน  

ในการพบกันระหว่าง Merkel นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมันกับ Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ Deauville ในเดือนตุลาคมนั้นได้ข้อสรุปเพียงแค่ว่า แต่ละประเทศมีสิทธิในการแสดงความไม่เห็นชอบต่อกฎที่ยูโรโซนตั้งขึ้น  Merkel ยืนกรานว่านับจากปี 2013 เป็นต้นไปภาคเอกชนผู้ถือพันธบัตรจำเป็นต้องรับความเจ็บปวดจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลด้วย  เธอเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนเกิดขึ้นง่ายเกินไป  คำยืนกรานของ Merkel ทำให้ต้นทุนของการออกพันธบัตรใหม่ของทุกประเทศสูงขึ้น และยังทำให้ประเทศที่มีปัญหามีโอกาสล้มละลายมากยิ่งขึ้นไปอีกส่งผลให้วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปกว้างขวางและลึกมากยิ่งขึ้น 

คอลัมนิสต์จาก Economist เย้ยหยันว่า นักการเมืองชั้นนำของยุโรปเป็นแก๊งไม่เคยยิงถูกเป้า   ชาวยุโรปมีนักการเมืองที่เก่งแต่ยิงลงพื้นเท่านั้น พวกเขาชอบทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูแย่ลง  สื่อการเงินต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริหารยุโรปขาดทิศทางในการแก้ไขปัญหา   John Plender จาก Financial Times สรุปว่า การที่ผู้นำยุโรปขาดความสามารถในการวินิจฉัยว่าอะไรผิดในการรวมตัวกันทางการเงินจึงทำให้พวกเขาไม่ทราบว่าควรทำอะไรแค่ไหน  อนาคตที่ไม่แน่นอนของพวกเขาจึงยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย  Irwin Stelzer นายธนาคารจาก Rothchild Investment Bank ก็เห็นว่าวิธีการในการแก้ปัญหาของสหภาพยุโรปเป็นสัญญาที่ขาดโครงสร้างเพื่อระดมทุนและจ่ายโดยไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนให้กับใครก็ไม่ทราบด้วยตามแต่เยอรมันจะอนุญาต  Wolfgang Munchau จาก Financial Times สรุปว่า แม้เยอรมันจะเคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมตัวกันทางการเงินเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ปัจจุบันพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  แต่ให้ความสำคัญแต่กับการจำกัดหนี้เท่านั้น  

ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้บริหารยุโรปก็ตัดสินใจตั้ง European Stability Mechanism (ESM) ซึ่งมีอำนาจในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกด้วยเงื่อนไขที่จำกัดมากจากเสียงที่เป็นเอกฉันท์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสมาชิกได้ในที่สุด  ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วย ESM นี้ได้ละเลยความจริงที่ว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาของยุโรปขณะนี้เป็นปัญหาทั้งทางด้านธนาคารและหนี้สาธารณะซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นของเยอรมันนั้นยังไม่ได้มีการปรับโครงสร้าง และยังคงต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลของตัวเองอยู่ด้วย  Ponzi scheme หรือแชร์ลูกโซ่สามารถที่จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่เงินที่จ่ายมาจากสาธารณะ นั่นหมายความว่า  ในที่สุดแล้วผู้ที่เสียหายอย่างแท้จริงก็คือ ผู้เสียภาษีนั่นเอง  

ยังไม่ทันที่หมึกที่เขียนเช็คให้โปรตุเกสจะแห้ง Jean  Claude Juncker ประธานกลุ่มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยุโรปก็ประกาศว่า กรีซคงต้องการเงินสนับสนุนอีกรอบหนึ่งจำนวน 60 พันล้านยูโรหลังจากที่เพิ่งได้รับไป 110 พันล้านยูโรเมื่อไม่นานมานี้โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย  แปรรูปรัฐวิสาหกิจ และปรับโครงสร้างแทนการปรับโครงสร้างหนี้   Willem Vermeend ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Maastricht และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเนเธอร์แลนด์เห็นว่า สมาชิกอื่นควรสนับสนุนให้กรีซละจากยุโรปไปใช้ค่าเงินตัวเองจะดีกว่าด้วย   เยอรมัน ออสเตรีย ฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์ต่างเห็นว่าภาคเอกชนควรรับภาระด้วยการลดหนี้ให้ประเทศลูกหนี้บางส่วน ในขณะที่ฝรั่งเศสและธนาคารกลางยุโรปคัดค้านแนวคิดนี้อย่างดุเดือด  

ปัญหาของสามประเทศยังไม่ทันหมด  การลดอันดับเครดิตและการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปก็ทำให้อิตาลีเข้าร่วมวงประเทศที่มีปัญหาทันที Giulio Tremont รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอิตาลีกล่าวว่า หากอิตาลีล้ม เงินยูโรก็ล่มสลายอย่างแน่นอนเพราะอิตาลีมีหนี้สาธารณะมากถึง 1,800 พันล้านยูโรมากเป็นอันดับสามของโลก  หนี้ของพวกเขามากจนยากที่จะเยียวยา  Wolfgang Schauble รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมันประกาศว่า ปัจจุบันปัญหาของยุโรปก็คือ วิกฤตศรัทธาซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากกรีซได้คุกคามยุโรปไปทั่วแล้ว 

หนี้ของอิตาลีสร้างความอลหม่านขึ้นในสหภาพยุโรปอีกครั้ง  ผู้นำจึงร่วมกันตัดสินใจที่จะ 1. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซ 109 พันล้านยูโรโดย 1 ใน 3 มาจากภาคเอกชนที่อัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงแค่ 3.5% และครบกำหนดในเวลา 30 ปี 2. ขยายอำนาจของ European Financial Stability Facility (ESFS) ด้วยการยอมปล่อยสินเชื่อให้กับประเทศที่กำลังมีปัญหา ให้ความช่วยเหลือในการระดมทุนธนาคาร และเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง  ถึงกระนั้นก็ตาม ตลาดกลับไม่เชื่อว่า 1. ความช่วยเหลือของกรีซที่ถูกออกแบบว่ามาจากภาคเอกชนจะเกิดขึ้นได้จริง 2. ระยะเวลาที่กรีซจะสามารถก้าวพ้นจากความถดถอยจะเป็นอย่างที่คาดไว้  3. ข้อตกลงทั้งหลายจะสามารถนำไปปฏิบัติได้  ที่น่าแปลกใจก็คือ เยอรมันพยายามทำตัวเหินห่างจากปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นไปได้หรือไม่ว่าเยอรมันจะถอนตัวจากยุโรป  ปัจจุบันประชาคมโลกเห็นความไม่เชื่อมโยงกันของสหภาพยุโรป การขาดความกล้าหาญ และความไม่รอบคอบของผู้นำที่เห็นแต่กับประโยชน์ของประเทศตนจนทำให้ปัญหาของสหภาพยุโรปกลายเป็นเยียวยาไม่ได้

                ผู้เขียนเห็นว่าอนาคตของสหภาพยุโรปเป็นไปได้ 3 แบบก็คือ เหมือนเดิม (MOS) ล้มระบบ (TOS) และสร้างระบบใหม่ (ROS)  1. เหมือนเดิม (MOS)  ผู้นำยุโรปจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการง่าย ๆ นั่นคือ เพิ่มเงินเข้าไปในประเทศที่มีปัญหา  ธนาคารของประเทศที่มีปัญหา PIIGS 5 ประเทศมีขนาด 2.2 ล้านล้านยูโร เยอรมันและฝรั่งเศสมีทางเลือกคือ ให้ความช่วยเหลือประเทศกรีซหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้ความช่วยเหลือธนาคารของตัวเอง  การที่ประเทศซึ่งประสบปัญหาจะสามารถก้าวพ้นวิกฤตได้นั้น พวกเขาจำเป็นต้องมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น  การลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มภาษีจึงแก้ปัญหาได้ระยะสั้นเท่านั้น  การแก้ไขปัญหาระยะยาวก็คือ การลดค่าจ้างเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  แต่การลดค่าจ้างจะกดดันให้เกิดเงินฝืดโดยเฉพาะจากการลดการใช้จ่ายภาครัฐและการเพิ่มภาษี  เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นย่อมกดดันให้รัฐบาลจำต้องคงงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น ความสามารถในการลดหนี้ต่อ GDP จึงเกิดขึ้นได้ยาก  ยิ่งพวกเขาพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ เช่นนี้ การเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะยิ่งลึกและยาวนานขึ้นจนสร้างความไม่พอใจให้กับสาธารณชนมากขึ้น 

 แท้ที่จริงแล้ว ประเทศที่ประสบปัญหาต้องการเวลาปลอดหนี้ระยะหนึ่งเพื่อให้เศรษฐกิจของพวกเขาหวนกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง   การเพิ่มเงินเข้าไปช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาเรื่อย ๆ นั้น จะทำให้การควบรวมทางด้านการคลังของสหภาพยุโรปเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงซึ่งเป็นสิ่งที่เยอรมันไม่ต้องการ และกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เยอรมันจำเป็นต้องถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป  ความไม่เพียงพอของเงินทุนร่วมกับความผันผวนทางการเงินจะทำให้ระบบธนาคารของยุโรปมีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย 

วิกฤตเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้กำหนดนโยบายสามารถตอบได้ว่า แท้ที่จริงแล้วพวกเขาต้องการเงินจำนวนเท่าใดกันแน่เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบธนาคาร และเงินนั้นจะมาจากไหน  หนทางเดียวที่จะทำให้กรีซ สเปนและโปรตุเกสหวนกลับมาแข่งขันกับเยอรมันได้ก็คือ ลดมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนนานนับทศวรรษเท่านั้น

2. ยกเลิกระบบเสีย (TOS)  วิธีการนี้ก็คือ แต่ละประเทศเลือกที่จะละจากสหภาพยุโรปไป กรีซอาจเป็นประเทศแรกที่ละจากระบบเงินยูโรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภายในเวลาชั่วข้ามคืน ด้วยการลดค่าเงินดรักม่า  แต่วิธีการนี้อาจมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับกรีซมากกว่าการเลือกที่จะขอความช่วยเหลือต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้  อาร์เจนติน่าเคยเลือกหนทางนี้ในปี 2002 เมื่อพวกเขาเลิกผูกค่าเงินตัวเองกับเงินดอลลาร์ด้วยการลดค่าเงิน 70% ขอลดหนี้ลง 65% ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 26% ในเวลาอันรวดเร็ว  แต่หลังจากนั้นภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียวอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 8.5% ต่อปีติดต่อกันหลายปี ทำให้หนี้สาธารณะลดลงเหลือเพียง 40% ของจีดีพีเท่านั้น และกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่งในปี 2009 ด้วย  ถึงกระนั้นก็ตามความไว้เนื้อเชื่อใจจากนักลงทุนก็ยังคงไม่หวนกลับมา อันดับเครดิตของอาร์เจนติน่ายังคงต่ำต่อไปส่งผลให้ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนยังเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย  

ไอซ์แลนด์ประเทศที่อยู่ไม่ไกลจากกรีซ อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งให้กับกรีซ  ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่เผชิญเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุคใหม่ก็ว่าได้  จริงอยู่การปรับโครงสร้างของไอซ์แลนด์สร้างต้นทุนและความเจ็บปวดกับชาวไอซ์แลนด์ แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินดี ๆ เข้าไปในบริษัทห่วย ๆ และผู้เสียภาษีไม่จำเป็นต้องรับภาระ  รัฐบาลไอซ์แลนด์ยอมเข้าระดมทุนให้กับธนาคารของประเทศ แต่ปล่อยให้ธนาคารต่างชาติล้มละลาย  การผิดนัดชำระหนี้และการลดหนี้มิได้แก้ไขปัญหาของไอซ์แลนด์ แต่การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของรัฐบาลไอซ์แลนด์ต่างหากที่ทำให้สถานการณ์ของพวกเขาไม่เลวร้ายจนยากจะแก้ไข  ประเทศที่ละจากสหภาพยุโรปจะต้องมีระบบการควบคุมเงินทุนและระดมทุนให้กับธนาคารเพื่อมิให้พวกเขาถูกกีดกันจากการระดมทุนจากต่างประเทศยาวนานเกินไป  ผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ข้อมูลของสถานการณ์ที่เป็นจริงและวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับตลาด  อย่างไรก็ดี กรีซไม่น่าที่จะเลือกหนทางนี้  

3. ปรับโครงสร้าง (ROS) การเลือกละจากเงินยูโรของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจมีต้นทุนสูงเกินไปทั้งกับประเทศนั้น ๆ และตัวสหภาพยุโรป ทั้งนี้เพราะเมื่อมีประเทศใดประเทศหนึ่งละจากเงินยูโร  นักลงทุนก็จะเริ่มมองว่าอีกไม่ช้าประเทศอื่นก็จะทำตามจนกว่า  1. การละจากเงินยูโรได้รับการบริหารจัดการอย่างดี อนาคตของประเทศที่ออกไปจะกลับมารุ่งเรืองได้ และสถานการณ์ของสหภาพยุโรปเองก็จะดีขึ้น  2. ตลาดจะผิดหวังหากประเทศในสหภาพยุโรปไม่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ละออกไป ประเทศที่เหลือต้องระดมทุนให้มากพอกับความต้องการของธนาคาร และสถาบันต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้เหมาะสมมากขึ้นเพื่อธำรงสกุลเงินต่อไป พวกเขาจำเป็นต้องมีการรวมตัวกันมากขึ้นทั้งทางด้านการเมือง งบประมาณ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และความยืดหยุ่นด้านราคาและค่าแรง  วิกฤตที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าการเลื่อนการปรับโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว หากพวกเขายังคงต้องการธำรงสกุลเงินยูโรไว้ ไม่ว่าประเทศที่มีปัญหาจะละจากเงินยูโรหรือไม่ก็ตาม  

ตั้งแต่ต้นปี 2007 เป็นต้นมาชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนต่างล้วนไม่ค่อยพอใจต่อเงินยูโร  ยิ่งเยอรมันเป็นชาติที่แข็งแกร่งและกระเป๋าหนักสุด ทัศนคติของชาวเยอรมันย่อมมีส่วนสำคัญยิ่งต่ออนาคตของเงินยูโร เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นักการเมืองและชนชั้นสูงเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่เป็นผู้ประดิษฐ์เงินยูโร  ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เริ่มไม่ประสบผลสำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่จึงสนับสนุนให้ละจากเงินยูโรกันทันที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน อาจารย์ และบริษัทที่เคยได้รับการปกป้องล้วนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโครงการนี้ เพราะมันได้กำจัดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของพวกเขาไปจนหมดสิ้นส่งผลให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ยากที่จะต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของเงินยูโร  นอกจากนี้การรวมกันเป็นสหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางการเมืองของทุกประเทศด้วย มันจำกัดความเป็นอิสระในการตัดสินใจของนักการเมืองเช่นกัน  หากพวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มการรวมตัวกันทางงบประมาณและการเมืองเพื่อให้เงินยูโรดำรงอยู่ต่อไป นักการเมืองก็จะยิ่งสูญเสียความเป็นอิสระในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณในประเทศตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก  

การรวมตัวกันทางการเงินนี้หมายถึงการจำกัดของอธิปไตยและการบริหารการเงินของประเทศ  ผู้กำหนดนโยบายยุโรปเสียเครดิตไปมากจากผลงานนโยบายที่ยุ่งเหยิง และการขาดความสามารถในการสื่อสารถึงวิธีการแก้ไขปัญหา  กว่าพวกเขาจะประกาศอะไรที พวกเขาก็ต้องต่อรองกันยาวนาน ซ้ำยังตีความกันไปคนละทางสองทางอีกต่างหากจนทำให้พวกเขาต้องมาเจรจากันใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและทำให้ปริมาณหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน  การรวมตัวทางการเงินนี้ยังทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องพึ่งพาเยอรมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย  อันตรายจากทัศนคติของชาวเยอรมันได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสกุลเงินยูโรไปเสียแล้ว

 ปัจจุบันไม่มีปัญหาใดจะสามารถแก้ไขได้หากขาดการตอบสนองจากเยอรมันหรือต้องเป็นไปตามความต้องการของเยอรมันเท่านั้น  ยิ่งเยอรมันมีอำนาจมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ยิ่งมอง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันว่าเธอยโสโอหัง ขาดความยืดหยุ่น หยิ่ง และชอบใช้สิทธิพิเศษ รวมทั้งขาดความสามัคคีกับประเทศอื่น ๆ   ยิ่งเยอรมันมีอำนาจและไม่เป็นที่ชื่นชอบของประเทศอื่น ๆ จึงเป็นไปได้มากที่เยอรมันจะละจากสกุลเงินยูโร ทั้ง ๆ ที่การรวมตัวกันมีข้อดีหลายประการ และยังเป็นการค้ำประกันความสงบและอิสรภาพของทวีปนี้ก็ตาม

 Gideon Rachman จาก Financial Times ทำนายไว้ในปี 2010 ว่า สกุลเงินยูโรจะสิ้นสุดลงด้วยน้ำมือของเยอรมัน ทั้งนี้เพราะ Merkel มิได้มีทัศนคติและความต้องการเหมือนอย่าง Helmut Kohl หรือ Gerhard Schroder อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมันทั้งสองที่มีประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดจากสงคราม  เยอรมันจะละจากเงินยูโรเมื่อพวกเขารู้สึกว่าต้นทุนของการเป็นผู้นำในสหภาพยุโรปสูงเกินไปเสียแล้ว  ประเด็นที่พวกเขาจะมาคำนวณต้นทุนกับผลประโยชน์ก็มาจาก วัฒนธรรมที่ชอบเสถียรภาพ การคำนวณทางด้านเศรษฐกิจ และความเป็นจริงทางการเมืองของเยอรมันเอง

ในสายตาของชาวเยอรมันนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพหมายถึง การมีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อต่ำ  ความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศที่ประสบปัญหาไม่เพียงสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจของยุโรปโดยรวม  การให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับเงินมากมายของชาวเยอรมันด้วยจึงยิ่งสร้างความไม่พึงพอใจไปทั่วประเทศ 

Tony Barber จาก Financial Times สรุปว่า ความจริงที่ไม่มีใครบอกชาวเยอรมันก็คือ แท้ที่จริงแล้วเงินที่เข้าช่วยเหลือกรีซ ไอร์แลนด์และโปรตุเกสนั้นก็เพื่อช่วยเหลือธนาคารยุโรปต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารสัญชาติเยอรมันและฝรั่งเศสนั่นเอง  เงินส่วนเกินมากมายในเยอรมันถูกปล่อยไปกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงของนักลงทุนต่างประเทศ  การปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศเหล่านี้ย่อมทำให้ธนาคารเยอรมันเสียหายตามไปด้วย  นักการเมืองเกรงว่าพวกเขาจะเสียเสียงหากประชาชนทราบว่า การลดหนี้ในประเทศที่มีปัญหาทำให้ธนาคารในเยอรมันต้องระดมทุนเพิ่มด้วยเงินภาษีของประชาชน  พวกเขาจึงแสร้งทำเป็นว่าปัญหาเหล่านี้มิได้มีอยู่จริง และการแก้ไขปัญหาต้องมาจากการประหยัดของประเทศที่มีปัญหามากกว่า  สิ่งที่น่าเย้ยหยันก็คือ กว่าที่ธนาคารยุโรปจะแก้ไขปัญหาได้หมด  ชาวเยอรมันก็ต้องเติมเงินเข้าไปในประเทศที่อ่อนแออย่างไม่รู้จักจบสิ้นเช่นกัน  

นับจากทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมของเยอรมันต้องเผชิญกับปัญหาการลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน  ดังนั้นหากเยอรมันเลือกที่จะละจากสหภาพยุโรป  ค่าเงินใหม่ของพวกเขาย่อมแข็งมาก  การที่เยอรมันเป็นประเทศส่งออก บริษัทต่าง ๆ ย่อมจะต้องกลับไปเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ ก่อนรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป  นั่นคือ บริษัทสัญชาติเยอรมันต้องลงทุน เพิ่มผลิตภาพ และนวัตกรรมเพื่อให้แข่งขันกับประเทศที่เอาแต่ลดค่าเงินได้  บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้จึงเห็นว่านโยบายการจำกัดการลดค่าเงินของคู่แข่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับพวกเขา  ในมุมมองของบริษัทในเยอรมัน หากพวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศในยุโรป พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป พวกเขากำลังต้องการกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งก็คือ บราซิล (B) รัสเซีย (R ) อินเดีย (I) จีน (C) หรือ BRICS มากกว่า PIIGS  เสียอีก

Hans-Olaf Henkel อดีตหัวหน้าสหภาพอุตสาหกรรมเยอรมันเห็นว่า การแยกยุโรปควรแบ่งเป็นสองส่วนคือ พวกเงินแข็งซึ่งนำโดยเยอรมันและพวกเงินอ่อนที่นำโดยฝรั่งเศสเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของทั้งสองกลุ่ม  ในระยะยาววัฒนธรรมที่ชื่นชอบเสถียรภาพจะผลักดันให้เยอรมันตัดสินใจเหนือยอดขายสินค้า ส่วนแบ่งตลาดและความสามารถในการแข่งขัน  จริงอยู่ เยอรมันส่วนหนึ่งยังคงรู้สึกผิดต่ออาชญากรรมของนาซีและความรู้สึกนี้กลายเป็นแรงผลักดันนโยบายการเมืองของเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา  แต่ในเมื่อ Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันมิได้มีประสบการณ์เลวร้ายเช่นนายกคนอื่นความรู้สึกต่อการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปของเธอจึงไม่ต่างจากประเทศอื่นมากนัก

 หลังปี 1990 เป็นต้นมาทั้งยุโรปและเยอรมันต่างเปลี่ยนแปลงไปมาก เยอรมันจึงจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้นในเมื่อพวกเขามีส่วนในการจ่ายให้กับสหภาพยุโรปสูงสุด  เป็นไปได้ยากที่ความฝังใจกับการเมืองเก่า ๆ จะยังมีผลต่อการตัดสินใจของเยอรมันในปัจจุบัน  เยอรมันยืนกรานว่าเวลาของการที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ออกความคิดโดยให้เยอรมันเป็นคนเสียเงินได้สิ้นสุดลงแล้ว พวกเขายืนกรานที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น และมากกว่าเดิมด้วย

 Wolfgang Proissl ย้ำว่า สำหรับคนรุ่น Helmut Kohl การตัดสินใจขึ้นกับสงครามและสันติภาพ แต่ในสายตาของคนรุ่น Merkel นั้นการตัดสินใจของเธอ ณ ปัจจุบันขึ้นอยู่กับต้นทุนและผลประโยชน์เท่านั้น  ส่วน Gerhard Schroder อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมันก็กำลังกระหยิ่มใจว่า การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปที่ฝรั่งเศสมีเป้าหมายจะทำให้เยอรมันอ่อนแอลง และลดความโดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจนั้นกลับให้ผลตรงข้าม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจของเยอรมันกำลังแข็งแกร่งขึ้นต่างหาก และเยอรมันกำลังจะเป็นชาติที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปด้วย

 ถึงกระนั้นก็ตาม ใช่ว่าเยอรมันจะไม่มีปัญหาภายใน พวกเขามีปัญหาในเรื่องคนสูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน ผู้อพยพ ซ้ำการเมืองภายในยังแตกแยกระหว่างกลุ่มที่ชอบยูโรและไม่ชอบยูโรด้วย  ยิ่งกว่านั้น เยอรมันกำลังเผชิญกับปัญหาที่ชนชาติอื่น ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาก็ไม่พอใจเยอรมันมาก  เช่น Theodoros Pangalos รองนายกรัฐมนตรีกรีซถึงกับหลุดปากว่า ลูกหลานนาซีไม่มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับคนกรีซ  บางคนก็เห็นว่า ปัญหาของการรวมตัวกันได้ให้กระตุ้นนิสัยเดิม ๆ ของเยอรมันที่คนหลงลืมกันไปแล้วให้ปรากฏขึ้นอีก นั่นคือ ความโหดเหี้ยม 

การเปลี่ยนมุมมองต่อโลกของเยอรมันมีความสำคัญมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน ทั้งนี้เพราะความร่วมมือกันของสองประเทศนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองมักเต็มไปด้วยข้อจำกัดและความขัดแย้ง  ในอดีตนั้น ฝรั่งเศสมักเป็นผู้ผลักดันทางการเมือง ในขณะที่เยอรมันเป็นผู้ผลักดันทางเศรษฐกิจ  ปัจจุบันกลายเป็นว่า Merkel เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ Sarkozy เป็นคนประกาศให้โลกรู้ว่า Merkel ตัดสินใจอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเศสเคยพยายามใช้การรวมตัวกันทางการเงินควบคุมเยอรมันก็ตาม  การขาดความสามารถในการปรับตัวทำให้ความสำคัญของฝรั่งเศสต่อประชาคมโลกเป็นไปในทิศทางที่ผู้นำฝรั่งเศสคาดไม่ถึงไปเสียแล้ว

ข้อคิดเห็น หลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในสหรัฐฯ ในปี 2008 นักลงทุนก็เริ่มวิตกกังวลกับความเสี่ยงในหนี้ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงหนี้สาธารณะที่มีอย่างมากมายในหลายประเทศ แต่ปัญหาจากการใช้เงินสกุลเดียวด้วย  ยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปขาดความร่วมมือกันอย่างแท้จริงทางการเมือง ร่วมกับการขาดความโปร่งใสทางด้านการคลัง ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน และขาดความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา  วิกฤตจึงยิ่งยืดเยื้อยาวนานจนดูเหมือนลิงสางแหหนักขึ้นไปอีก   สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีตั้งแต่ การดำเนินสถานะเดิมต่อไป การที่กรีซละจากเงินยูโร หรือแม้แต่เยอรมันถอนตัวออกจากเงินสกุลเดียว  จริงอยู่นักการเมืองส่วนใหญ่ในเยอรมันยังคงยืนกรานที่จะสนับสนุนสกุลเงินยูโรต่อไป แต่ชาวเยอรมันก็เริ่มที่จะไม่เห็นด้วย  วัฒนธรรมที่คุ้นเคยยาวนานกับเสถียรภาพทางการเงินของเยอรมันเริ่มขัดแย้งกับนโยบายของสหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป พวกเขาจะไม่มีวันพอใจจนกว่าสหภาพยุโรปจะปรับตัวตามแนวนโยบายของเยอรมัน ไม่เช่นนั้นแล้วเยอรมันก็จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปซึ่งคงนำสู่การสิ้นสุดของเงินสกุลเดียวด้วย

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก และมีแนวคิดตามเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือ ผู้เขียนคาดว่า ความชื่นชอบในเสถียรภาพ และการเบื่อหน่ายจากการเป็นผู้จ่ายจะทำให้เยอรมันเป็นผู้ที่จะละจากเงินยูโรไปเอง แทนที่จะเป็นกรีซผู้ก่อปัญหา

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.