You are here: Home > Econ & Business, Political Science > The Tragedy of the Euro โศกนาฎกรรมเงินยูโร

The Tragedy of the Euro โศกนาฎกรรมเงินยูโร

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดเงินและรัฐบาลอย่างมาก รายงานประจำเดือนมิถุนายนปี 2010 แสดงให้เห็นว่าระบบธนาคารของยุโรปเกือบล่มสลายไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้แต่ฝรั่งเศสประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของยุโรปก็เกือบจะผิดนัดชำระหนี้  หลังการต่อรองกันอย่างหนัก สมาชิกสหภาพยุโรปก็ได้ให้เงินออกมา 750 พันล้านยูโรเพื่อช่วยธนาคารและประเทศที่ประสบปัญหาท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของชาวเยอรมันถึงกว่า 56%  พวกเขาต้องการกลับไปใช้เงินมาร์ก  ชาวเยอรมันเห็นว่าพวกเขาออมเงินและใช้นโยบายการคลังแบบเกินดุลติดต่อกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มใช้เงินสกุลยูโร ในขณะที่ประเทศที่เกิดปัญหากลับใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับโครงการที่ไม่ได้เรื่อง เช่น  Tourism for all ของกรีซที่ให้เงินสนับสนุนการพักผ่อนและการท่องเที่ยว  กรีซยังให้เงินบำนาญสูงถึง 80% ของค่าจ้างและได้มากถึง 14 เดือนต่อปี ในขณะที่ชาวเยอรมันได้เงินบำนาญเพียงแค่ 46% ของค่าจ้างและปีละ 12 เดือนเท่านั้น  การที่ธนาคารกลางยุโรปเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ลดถอนความเป็นอิสระและความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางยุโรปอย่างมาก และยังเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ชาวเยอรมันช่วยเหลือประเทศอื่นโดยที่พวกเขาไม่ได้สมัครใจ ซ้ำยังไม่เข้าใจด้วยว่าเหตุใดพวกเขาต้องเป็นคนจ่ายและต่อไปต้องจ่ายอย่างไร 

การเกิดขึ้นของโครงการสหภาพยุโรปนี้เป็นผลมาจากความฝันของนักสังคมนิยมที่ต้องการให้มีรัฐบาลกลางยุโรป แต่มันเป็นโครงการที่น่าจะล้มเหลว เพราะมันเป็นโครงการที่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวในการสร้างอำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองบางคนเท่านั้น     The Tragedy of the Euro หนังสือขนาด 196 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 2011 ของ Phillip Bagus ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Rey Juan Carlos เมืองมาดริด ประเทศสเปนจะ 1. พูดถึงการถือกำเนิดของเงิน ธนาคาร และธนาคารกลาง   2. เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของเงินยูโรและการสร้างสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเงินยูโรด้วยวิธีอันแสนวิปลาส   3. แสดงวิธีการเปลี่ยนให้ระบบการเงินของยุโรปกลับมาเป็นปกติได้ต่อไปในอนาคต

ในการก่อตั้งสหภาพยุโรปนั้น ผู้ก่อตั้งมีความเห็นที่แตกต่างกันทางด้านวิสัยทัศน์อยู่ 2 แบบตั้งแต่เริ่มแรก นั่นคือ แบบเสรีนิยมดั้งเดิม (classical liberal) และแบบสังคมนิยม (Socialist)

วิสัยทัศน์แบบเสรีนิยมดั้งเดิมที่ผู้ก่อตั้งชุดแรกของสหภาพยุโรปอันประกอบไปด้วย Robert Schuman อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส Konrad Adenauer อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมัน และ Alcide de Gasperi อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีต่างตั้งใจให้สหภาพยุโรปดำเนินตามนั้นจะให้ความสำคัญกับอิสระของแต่ละคนมากที่สุดตามคุณค่าที่ชาวยุโรปและชาวคริสต์เตียนยึดถือ  รัฐจึงมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนและส่งเสริมตลาดเสรีเพื่อให้ความคิด สินค้าและบริการสามารถที่จะเคลื่อนที่ไปได้อย่างมีอิสระ

สนธิสัญญาโรมที่เขียนขึ้นในปี 1957 ก็ให้ความสำคัญกับอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ เงินทุนและการย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีเขตแดนเป็นเครื่องขวางกั้น  รัฐบาลไม่สามารถที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินอันเท่ากับเป็นการบิดเบือนการแข่งขันได้  การแข่งขันในทุกระดับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะมันจะทำให้มาตรฐานสินค้า ราคา และค่าจ้างมาบรรจบกัน (converge)  เงินทุนจะไหลไปสู่ประเทศที่มีค่าจ้างต่ำจนค่าจ้างเพิ่มขึ้น และไหลออกจากประเทศที่มีค่าจ้างสูงเพื่อให้ค่าจ้างลดลง  ตลาดยังจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เกิดการรวมศูนย์ การแข่งขันทางด้านภาษีจะทำให้อัตราภาษีลดลง ผู้กำหนดนโยบายที่สามารถสร้างเสถียรภาพของค่าเงินที่ดีย่อมกดดันคู่แข่งอื่น ๆ ได้

ส่วนวิสัยทัศน์แบบสังคมนิยมนั้นเป็นแนวคิดของ Jacques Delors อดีตประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชาวฝรั่งเศสและ Francois Mitterand อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ต้องการสร้างจักรวรรดิยุโรปใหม่ กลุ่มนี้ต้องการปกป้องยุโรปจากภายนอกและเป็นผู้แทรกแซงจากภายใน พวกเขาต้องการรวบอำนาจโดยผู้เชี่ยวชาญ (technocrat) และให้ยุโรปเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ การกำกับดูแลและการสร้างความกลมกลืนทางกฎหมายระหว่างสมาชิก  แนวคิดนี้ให้อำนาจกับรัฐบาลกลางที่บรัสเซลล์มากเป็นพิเศษจึงเป็นแนวคิดตามอุดมคติของนักการเมืองและกลุ่มคนชั้นสูง เพราะความเป็นประชาธิปไตยจะยิ่งลดลงอย่างแน่นอน 

วิสัยทัศน์ทั้งสองแบบต่อสู้กันมาตั้งแต่ 1950 ในช่วงเริ่มแรกของการออกแบบสหภาพยุโรปนั้นเน้นไปทางเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม Christian Democrat ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมันและอังกฤษ แต่กลับไม่สามารถเอาชนะชนชั้นปกครองฝรั่งเศสได้ สังเกตได้จากนโยบายที่รัฐเน้นการสนับสนุนเกษตรกรมากผิดปกติ  แม้เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถในการสร้างสวัสดิการสังคมแบบอุดมคติจะยุ่งยากมากขึ้นอันเป็นผลจากการที่ต้องมีการใช้เงินงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งการกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วทั้งยุโรปเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ออกมาใหม่ ๆ ล้วนชักนำให้ดำเนินการตามแบบสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ   อย่างไรก็ดีแนวคิดแบบเสรีนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ในช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและเยอรมันหวนกลับมารวมชาติใหม่อันเป็นผลจากการที่แนวคิดนี้เป็นที่นิยมของเยอรมันมากกว่าและในช่วงเวลานั้นเยอรมันก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตามอิทธิพลของฝรั่งเศสก็ยังมีอยู่สูงอยู่มาก  ฝรั่งเศสเกรงว่าหลังเยอรมันรวมตัวกันได้ เยอรมันจะสร้างเงินมาร์กให้โดดเด่นในตลาดเสรี ผู้นำฝรั่งเศสจึงต้องการอำนาจทางการเงินมากขึ้นอย่างเร่งด่วน  พวกเขาอ้างว่าการรวมตัวกันทางการเงินจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมลดลงกระตุ้นการค้า การท่องเที่ยวและเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรป  อย่างไรก็ดีในที่สุดเยอรมันซึ่งต่อต้านแนวคิดแบบสังคมนิยมก็ยอมรับการรวมตัวกันของค่าเงินเป็นยูโร เพราะเยอรมันต้องการให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรวมชาติ นั่นหมายความว่า ฝรั่งเศสได้สิทธิในการสร้างจักรวรรดิ  ในขณะที่เยอรมันได้สิทธิในการรวมชาติ  ฝรั่งเศสเชื่อว่าการรวมตัวกันใช้เงินยูโรจะเป็นการลดทอนอำนาจเยอรมัน เพราะอาวุธที่แหลมคมที่สุดของเยอรมันคือเงินมาร์กได้ถูกละไปเสียแล้วจึงเท่ากับเป็นการถอดอาวุธเยอรมันดี ๆ นี่เอง  

ขั้นตอนต่อไปที่ฝรั่งเศสวางแผนไว้ก็คือการสร้างรัฐธรรมนูญยุโรป (Europe Constitution) ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างรัฐบาลกลาง  แต่ฝันนี้ของ Valery Giscard d’Estaing Ginard ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกลับล่มสลายเพราะชาวฝรั่งเศสลงประชามติไม่เห็นด้วยในปี 2005  ถึงกระนั้นก็ตาม เหล่านักการเมืองเหล่านี้ยังคงไม่ละความพยายามต่อไปจนกว่าพวกเขาจะได้สิ่งที่ต้องการ  พวกเขาจึงผ่านสนธิสัญญา Lisbon ในปี 2007 ที่ภายในเขียนแต่คำว่าไม่แบ่งแยก หลายฝ่าย อดกลั้น ใจกว้างและเป็นหนึ่งเดียวซึ่งเสมือนกับว่าสนธิสัญญานี้เป็นการแสดงถึงความพ่ายแพ้ของกลุ่มสังคมนิยม

แท้ที่จริงแล้วการถือกำเนิดของเงินยูโรนี้กระตุ้นให้เกิดวิกฤตร้ายแรงมากมาย เพราะสมาชิกสามารถที่จะพิมพ์เงินเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลได้จนส่งผลให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ  วิกฤตนี้ยังสามารถที่จะก่อให้เกิดการรวบอำนาจและกำหนดนโยบายการคลังจากส่วนกลางด้วย  การที่นักการเมืองมักให้ความเห็นว่าการสิ้นสุดของเงินยูโรคือการสิ้นสุดของสหภาพยุโรปนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่การสิ้นสุดของสหภาพยุโรปตามแนวทางแบบสังคมนิยมเท่านั้น หาใช่การสิ้นสุดของสหภาพยุโรปอย่างแท้จริงไม่  แท้ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปไม่จำเป็นต้องรวมค่าเงินก็ได้ ปัจจุบันสมาชิกหลายประเทศก็มิได้ใช้เงินยูโรอยู่แล้ว เช่น เดนมาร์ก สวีเดน อังกฤษ และเช็ก  การเลือกไม่ใช้เงินยูโรยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของชาวยุโรปในแง่อิสรภาพมากกว่าการใช้เงินสกุลเดียวด้วยซ้ำ

เงินซึ่งเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยนนั้นถือกำเนิดขึ้นจากปัญหาของการความต้องการที่ซับซ้อนไม่เท่ากันและไม่พร้อมกัน  ส่วนธนาคารถือกำเนิดขึ้นจากกความต้องการใช้เงินของรัฐบาล ทั้งนี้เพราะธนาคารมีสิทธิพิเศษในการเก็บเงินสำรองที่รับฝากมาจากบุคคลทั่วไปแล้วสร้างปริมาณเงินใหม่จากสำรองที่ถือนั้นโดยคิดเป็นจำนวนเท่าตามกฎหมายที่รัฐกำหนดจึงเท่ากับเพิ่มปริมาณเงินให้รัฐบาลไว้ใช้จ่าย  เมื่อธนาคารพิมพ์เงินใหม่ พวกเขาก็จะปล่อยกู้ให้กับลูกค้าซึ่งเท่ากับเป็นการกดดันอัตราดอกเบี้ยไปในตัว  เมื่อประชาชนออมมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็จะลดลงซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนกล้าที่จะกู้เงินไปลงทุนในโครงการที่ไม่สามารถทำกำไรได้หากอัตราดอกเบี้ยสูง  ปริมาณเงินในตลาดจะเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการกู้เงินของนักลงทุน นั่นหมายความว่า เมื่อธนาคารปล่อยกู้มากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ  นักลงทุนกำลังถูกหลอกให้ลงทุนในโครงการที่ดูเหมือนจะไม่เคยทำกำไรได้ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย  การปล่อยกู้อย่างกว้างขวางเข้าไปในโครงการที่ยากจะทำกำไรย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อธนาคาร  นายธนาคารต่างรู้ดีว่าการทำธุรกิจที่มีเงินสำรองเพียงเล็กน้อยของธนาคารนี้จะถูกคุกคามอย่างแน่นอนในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

เพื่อเป็นการช่วยนายธนาคารเนื่องจากธนาคารคือผู้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล  รัฐบาลจึงตั้งธนาคารกลางขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินกู้สุดท้ายให้กับธนาคารเมื่อเกิดวิกฤต  นอกจากนี้ธนาคารกลางยังมีหน้าที่ดูแลและควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสมดุลในช่วงเวลาปกติด้วย  การที่ธนาคารต่างมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถหาแหล่งกู้สุดท้ายได้เสมอจึงทำให้พวกเขามั่นใจในการปล่อยกู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณเงินในระบบจึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  เมื่อปริมาณเงินมีมากขึ้น ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้น คนที่ได้เงินทีหลังมักเห็นว่าสินค้าราคาสูงก่อนที่รายได้ของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น  คนกลุ่มแรกที่ได้ใช้เงินมักเป็นธนาคารเสมอ  ส่วนประชาชนทั่วไปคือคนกลุ่มสุดท้ายที่จะได้ใช้เงิน  รัฐบาลยุโรปก็ใช้ความสามารถในการเพิ่มปริมาณเงินอย่างไม่จำกัดนี้ไปในการจ่ายรัฐสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งให้การสนับสนุนบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลด้วย 

การถือกำเนิดขึ้นของระบบการเงินของยุโรป (European Monetary System (EMS)) ก็เพื่อที่จะควบคุมความใหญ่โตของธนาคารกลางเยอรมัน  นอกจากนี้รัฐบาลฝรั่งเศสยังต้องการให้ EMS เป็นแหล่งรวมของเงินสำรองของธนาคารกลางทุกประเทศด้วย นั่นหมายความว่า ฝรั่งเศสจะได้มีโอกาสใช้เงินทุนสำรองของเยอรมัน  ในช่วงต้นของการผูกค่าเงินระหว่างกันนั้น ค่าเงินสามารถเคลื่อนไหวได้ไม่เกิน 2.5% เท่านั้นโดยธนาคารจะต้องเพิ่มปริมาณเงินเมื่อค่าเงินแข็งกว่าค่าเงินที่กำหนด แต่ถ้าค่าเงินอ่อน ธนาคารกลางก็ต้องขายสินทรัพย์ที่เป็นเงินสำรองเพื่อมาซื้อเงิน เช่น เมื่อเงินเปโซของสเปนแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับเงินมาร์ก ธนาคารกลางสเปนก็พิมพ์เงินออกมาเพื่อให้ค่าเงินลดลงซึ่งธนาคารสเปนก็ทำด้วยความยินดีเพราะเท่ากับว่าพวกเขาสามารถที่จะพิมพ์เงินได้ไม่จำกัด แต่เมื่อค่าเงินเปโซลดต่ำลง ธนาคารกลางสเปนก็ต้องซื้อเงินเปโซและขายเงินมาร์กหรือสินทรัพย์เพื่อให้เงินแข็งค่าขึ้น แต่ธนาคารกลางสเปนกลับทำได้จำกัดตามปริมาณเงินสำรองที่มีอยู่เท่านั้น  การบีบบังคับให้ธนาคารกลางเยอรมันผลิตเงินมาร์กเพื่อมาซื้อเงินเปโซย่อมไม่มีทางทำได้  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างที่วิปริตของ EMS

 แท้ที่จริงแล้วข้อจำกัดของการแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินอ่อนนั้นเป็นการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจที่วิปริตได้ ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางทุกแห่งต่างถูกธนาคารอื่นบังคับให้แย่งกันพิมพ์เงินออกมา  การพิมพ์เงินเป็นผลมาจากความพยายามในการกระจายรายได้ในประเทศ  แต่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ร่วมกับข้อจำกัดในการแทรกแซงทำให้การกระจายเกิดขึ้นระหว่างประเทศ  สเปนพิมพ์เงินออกมามากเพื่อซื้อสินค้าเยอรมัน เยอรมันจึงจำเป็นต้องพิมพ์เงินเพิ่มตามเพื่อซื้อสินค้าของสเปน หรือเท่ากับเป็นการกระจายเงินจากประเทศที่พิมพ์เงินช้าไปยังประเทศที่พิมพ์เงินเร็วกว่า

ธนาคารกลางเยอรมันเป็นธนาคารที่เสียเงินสำรองไปทั้งหมดถึงสองครั้งในชั่วอายุเดียว  ครั้งแรกจากภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินในปี 1923 และการปฏิรูปค่าเงินในปี 1948 นับจากนั้นมาชาวเยอรมันจึงต้องการให้ค่าเงินของพวกเขาแข็งสังเกตได้จากการตั้งธนาคารกลางเยอรมันที่เป็นอิสระจากรัฐบาล  โดยทั่วไปธนาคารกลางจะเป็นผู้จัดหาเงินให้กับรัฐบาลที่ขาดดุล  แต่ธนาคารกลางเยอรมันกลับทำหน้าที่ยับยั้งการเกิดอัตราเงินเฟ้อ พวกเขากลับไม่ต้องการผลิตเงินเร็วเท่ากับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ  ธนาคารกลางเยอรมันมักเป็นฝ่ายบังคับให้ธนาคารของประเทศต่าง ๆ หยุดพิมพ์เงินแม้รัฐบาลจะต้องการให้พิมพ์ก็ตาม  ประเทศที่พิมพ์เงินมากกว่าธนาคารกลางเยอรมันมักสะท้อนออกมาในรูปของค่าเงินที่อ่อน  เงินมาร์กกลายเป็นที่นับถือของทั้งชาวเยอรมันและประชาคมโลก  นโยบายของธนาคารกลางเยอรมันนี้ทำให้ไม่เพียงเยอรมัน แต่ชาวยุโรปทั้งหมดเชื่อว่า แท้ที่จริงแล้วระบบเงินที่มีเสถียรภาพสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องหลงผิด มันเป็นไม่ได้ที่ธนาคารซึ่งมีอิสระในการพิมพ์เงินด้วยอัตราที่ต่างกันจะสามารถสร้างเสถียรภาพของเงินสกุลตัวเองเท่า ๆ กับเงินสกุลอื่นได้

เงินสกุลยุโรปจึงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับรัฐบาลที่ชื่นชอบการพิมพ์เงินเพื่อกำจัดตัวยับยั้งที่ไม่ให้ประเทศขาดดุลพิมพ์เงินอย่างไม่จำกัด  เงินสกุลเดียวกันนี้ยังเท่ากับเป็นการกำจัดอำนาจของธนาคารกลางเยอรมันไปตลอดกาลด้วย  แท้ที่จริงแล้วหากชาวยุโรปต้องการเงินที่มีเสถียรภาพ และค่าเงินเพียงค่าเดียว พวกเขาสามารถที่จะนำเงินมาร์กไปใช้ได้เลยทุกประเทศ  แต่การทำเช่นนี้เท่ากับว่าทุกประเทศต้องกระอักกระอ่วนกับการเปิดเผยให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาพิมพ์เงินมากกว่าเพื่อนบ้าน  การใช้เงินสกุลเดียวจึงเท่ากับเป็นการช่วยจัดหาเงินให้รัฐบาลก่อหนี้ เปิด และกระจายความมั่นคั่งออกไปได้ง่ายขึ้น

ความพยายามในการสร้างเงินสกุลเดียวเกิดขึ้นครั้งแรกจาก Pierre Werner นายกรัฐมนตรีลักเซมเบอร์กจึงได้ชื่อว่า Werner plan  แผนการนี้เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1980 โดยมี 3 ชั้นตอนคือ 1. นโยบายงบประมาณต้องมีความสัมพันธ์กันและลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 3. ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่และพยายามทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศมาบรรจบกัน  การที่ไม่มีใครเห็นขั้นตอนที่ 2 ก็เพราะไม่มีใครทราบว่าการจะมาถึงแผนขั้น 3 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แผนในการใช้เงินสกุลเดียวถูกฟื้นฟูใหม่ในสมัย Jacques Delors ประธานคณะกรรมการกลางยุโรป เขาได้พยายามที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันทางการเมืองเพิ่มขึ้นโดยตั้งเป้าให้มีตลาดเดียวตอนสิ้นปี 1992

ในปี 1987 แรงกดดันของการเกิดเงินสกุลเดียวสูงขึ้นอีกภายใต้ความร่วมมือของ Helmut Schmidt อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมันและ Valery Giscard d’Estaing อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสอันเป็นผลมาจากกระแสการรวมตัวชาติของเยอรมันเพิ่มขึ้น  Delors Report ที่เขียนขึ้นในเดือนเมษายน 1989 นั้นได้มีแผนการ 3 ขั้นตอนในการก่อตั้งเงินสกุลเดียวนั่นคือ  1. กำหนดให้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1990 อัตราแลกเปลี่ยนถูกยกเลิกซึ่งเท่ากับว่าการรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวสำเร็จเรียบร้อย   แม้ในเดือนมกราคม 1990 Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีเยอรมันจะยินดีตกลงกับ Francois Mitterand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสแล้ว แต่ธนาคารกลางเยอรมันยังคงไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินสกุลเดียว  Karl Otto Pohl ประธานธนาคารกลางเยอรมันจึงพยายามเขียนข้อกำหนดที่ไม่คาดว่าฝรั่งเศสจะยอมรับได้เพื่อชะลอการใช้เงินสกุลเดียว แต่ฝรั่งเศสกลับยอมรับโครงสร้างธนาคารกลางยุโรปตามแนวทางของธนาคารกลางเยอรมัน

2. ระหว่างปี 1994-8 จะมีการจัดตั้ง European Monetary Institute ขึ้นเพื่อต่อรอง 5 เรื่องคือ อัตราเงินเฟ้อที่จำกัดไม่ให้เกินค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อประเทศสมาชิกที่ต่ำสุด 3 ประเทศ + 1.5% หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 3% ของ GDP และไม่เกิน 60% ของ GDP ด้วย อัตราดอกเบี้ยระยะยาวคิดค่าเฉลี่ย 3 ประเทศที่ต่ำสุด +2% อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ภายใต้ข้อกำหนดของ EMS  ข้ออ้างที่เยอรมันถูกบังคับให้ใช้เงินสกุลเดียวก็คือ เพื่อให้เยอรมันสามารถเข้าร่วมวงกับประชาคมโลกโดยปราศจากความเคลือบแคลงหลังจากที่เยอรมันสร้างความเสียหายมากมายในสงครามโลกครั้งที่สอง  มันเป็นกลยุทธ์ที่จะไม่ทำให้เยอรมันถูกโดดเดี่ยวในยุโรปอีกต่อไป  ทั้ง ๆ ที่แท้ที่จริงแล้วหากปราศจากการใช้เงินสกุลเดียว สถาบันการเงินของเยอรมันจะต้องเป็นผู้นำ  แต่เพราะความอิจฉาและความโกรธเคืองของเพื่อนบ้านจึงนำผลร้ายมาสู่การเมืองเยอรมันอย่างมากมาย

Francois Mitterand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้สร้างพันธมิตร 3 ประเทศอันประกอบด้วยฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและสมาชิกอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปมาปิดล้อมเยอรมัน  ในขณะที่ชนชั้นปกครองในเยอรมันก็พยายามหว่านล้อมชาวเยอรมันให้ยอมรับเงื่อนไขการใช้เงินสกุลเดียว   แม้นักวิชาการในเยอรมันจะพยายามชักจูงให้นักการเมืองเห็นถึงอันตรายจากการใช้เงินสกุลเดียวและไม่ยอมเซ็นสนธิสัญญา Maastricht ก็ตาม  Anatole Kalteksky ให้ความเห็นไว้ใน The Times ว่าสนธิสัญญา Maastricht นี้เป็นการยอมจำนนของเยอรมันต่อฝรั่งเศสเป็นครั้งที่สามในคริสต์ศตวรรษนี้ (หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองแล้ว) ทั้งนี้เพราะเขาไม่เชื่อว่าธนาคารกลางใดในโลกจะสามารถปลอดจากอิทธิพลของนักการเมืองได้  ยิ่งรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยแล้วยิ่งชอบที่จะมีอำนาจในการควบคุมการพิมพ์เงิน  ยิ่งอัตราเงินเฟ้อต่ำเท่าใด ธนาคารกลางยุโรปยิ่งต้องพิมพ์เงินมาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้นเท่านั้น  หากอัตราเงินเฟ้อต่ำร่วมกับการว่างงานที่มากขึ้น ธนาคารกลางย่อมต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางเยอรมันที่จะทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาเท่านั้น

ข้อแตกต่างระหว่างธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางเยอรมันก็คือ ธนาคารกลางเยอรมันจะให้ความสนใจแต่กับปริมาณเงินเท่านั้น สิ่งที่หันเหไปจากเป้าหมายเงินเฟ้อแล้วจะต้องถูกแก้ไขให้หมดไป  ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปมี 2 หน้าที่นั่นคือ พวกเขาต้องวิเคราะห์ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอันประกอบไปด้วย อัตราค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ยระยะยาว อัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีราคา ผลผลิต พัฒนาการของงบประมาณ ดัชนีความมั่นใจของธุรกิจและผู้บริโภคในการกำหนดนโยบายทางการเงิน  ธนาคารกลางยุโรปสามารถใช้เครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจมากกว่าธนาคารกลางเยอรมัน  พวกเขาสามารถที่จะใช้ดัชนีที่หลากหลายในการเลือกกำหนดนโยบาย  มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะพยายามกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลานานเพราะพวกเขาไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นผู้กระตุ้นให้เศรษฐกิจถดถอย

รัฐบาลของยุโรปตอนใต้โดยเฉพาะฝรั่งเศสต้องการที่จะใช้เงินยูโรเป็นตัวกำจัดเงินมาร์ก  ก่อนการใช้เงินยูโรนั้น เงินมาร์กเป็นมาตรฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการของประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางเยอรมันมักเพิ่มปริมาณเงินน้อยกว่าประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเสมอ  อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นกับเงินมาร์กมักเป็นสิ่งที่ประชาชนใช้เป็นตัวเปรียบเทียบถึงความสามารถในการบริหารประเทศ  นักการเมืองของทุกประเทศจึงกลัวการเปรียบเทียบนี้นัก และอยากที่จะหยุดการเปรียบเทียบและลดค่าเงิน ทั้งนี้เพราะการลดค่าเงินร่วมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมักเป็นต้นเหตุให้นักการเมืองแพ้เลือกตั้ง  ส่วนการที่ประเทศยุโรปใต้มีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นผลมาจากการที่พวกเขามีหนี้สูง แม้ธนาคารกลางยุโรปจะดูคล้ายธนาคารกลางเยอรมัน แต่มันเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น  ภายในธนาคารกลางยุโรปกลับถูกกดดันโดยนักการเมืองที่พยายามเปลี่ยนธนาคารกลางยุโรปให้เหมือนธนาคารกลางในยุโรปใต้  เสียงของเยอรมันในธนาคารกลางยุโรปน้อยกว่าเสียงของสมาชิกยุโรปใต้แล้ว  ส่วนเงินยูโรก็ทำให้ประเทศยุโรปใต้สามารถที่จะเพิ่มปริมาณเงิน และทำให้เงินเฟ้อจะสามารถสูงขึ้นได้โดยยังถูกปิดบังไว้ได้อย่างยาวนานด้วย 

ก่อนที่เงินยูโรจะถูกนำมาใช้จริงนั้น ความคาดหวังว่าจะเกิดเงินยูโรทำให้อัตราเงินเฟ้อคาดหวังลดลงจนทำให้แต่ละประเทศสามารถที่จะปรับปรุงสถานการณ์ทางการเงินของประเทศให้เป็นไปตามสนธิสัญญา Maastricht ได้  ในทางตรงกันข้ามชาวเยอรมันเกรงว่าเงินยูโรจะผันผวนมากกว่าเงินมาร์ก ทำให้ความคาดหวังต่ออัตราเงินเฟ้อในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น  

การใช้เงินยูโรทำให้ฝรั่งเศสได้รับประโยชน์ด้วยค่าใช้จ่ายของเยอรมัน ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปธนาคารกลางจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยเงินใหม่ที่พิมพ์ใหม่ และผลกำไรที่ได้รับจะจ่ายคืนให้กับรัฐบาลเมื่อสิ้นปี  แต่เมื่อใช้เงินยูโร ธนาคารกลางของสมาชิกทุกประเทศจะต้องส่งผลรายได้จากอัตราดอกเบี้ยไปให้ธนาคารกลางยุโรปแทน  สิ้นปีธนาคารกลางยุโรปจึงจะคืนกำไรไปให้  การคืนผลกำไรของธนาคารกลางยุโรปไปยังธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ นั้น ไม่ได้คำนวณจากสินทรัพย์ที่แต่ละประเทศถือ แต่คำนวณจากต้นทุนที่ธนาคารแต่ละประเทศถืออยู่ในธนาคารกลางซึ่งคำนวณจากจำนวนประชากรและ GDP  ก่อนใช้เงินสกุลยูโร ธนาคารกลางเยอรมันผลิตเงินมากกว่าประชากรและ GDP ของธนาคารกลางฝรั่งเศส เพราะเงินมาร์กเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ  ธนาคารกลางเยอรมันจึงมีสินทรัพย์ที่สร้างดอกเบี้ยมากกว่าจำนวนประชากรและ GDP ธนาคารกลางเยอรมันจึงสร้างรายได้ให้กับธนาคารกลางยุโรปมากกว่าฝรั่งเศส  แต่เมื่อธนาคารกลางยุโรปจ่ายคืนเงินให้กับธนาคารของแต่ละประเทศตามฐานของประชากรและ GDP  ธนาคารกลางเยอรมันกลายเป็นผู้ได้รับผลกำไรลดลงจากปีละ 68.9 พันล้านเหลือเพียง 47.5 พันล้านเท่านั้น 

ส่วนการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศยุโรปใต้มีสาเหตุมาจาก 1. ความคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากเกียรติภูมิของธนาคารกลางเยอรมันที่ถูกโอนย้ายมายังธนาคารกลางยุโรปด้วย 2. ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ลดลง ทั้งนี้เพราะนักลงทุนเชื่อว่าประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจะซื้อหนี้เน่าของประเทศที่มีปัญหาอย่างแน่นอน  ประเทศยุโรปใต้จึงได้รับการค้ำประกันให้จ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลงจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ลดลงนั่นเอง  ในขณะที่รัฐบาลเยอรมันต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะพวกเขามีความเสี่ยงจากการมีภาระมากขึ้น  การลดลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศยุโรปใต้ทำให้สินทรัพย์ทุนของประเทศเหล่านี้มีราคาเพิ่มขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขาสามารถที่จะนำเข้าสินค้ามากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

การที่ค่าเงินยูโรแข็งเป็นผลจากเกียรติภูมิของธนาคารกลางเยอรมันและการส่งออกของเยอรมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  หลังใช้เงินสกุลเดียว เยอรมันยังพยายามขึ้นค่าจ้างให้ช้าลงเพื่อคงศักยภาพในการแข่งขัน ในขณะที่ประเทศยุโรปใต้นั้น การผลิตก็ขาดประสิทธิภาพ การบริโภคก็เพิ่มขึ้น การออมและการลงทุนก็เพิ่มไม่เท่ากับเยอรมัน ซ้ำร้ายเงินจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศเหล่านี้ยังทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นอีกต่างหาก และเพิ่มมากกว่าการเพิ่มของค่าแรงในเยอรมันด้วยส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ลดลง  เยอรมันและออสเตรียมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น 13.7% ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของกรีซ สเปน อิตาลี และไอร์แลนด์ ลดลง 11.3%, 11.2% , 9.4%, และ 9.1% ตามลำดับ   และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศยุโรปใต้ถูกส่งออกไปยังเยอรมัน ในขณะที่พวกเขานำเข้าเสถียรภาพทางการเงินจากเกียรติภูมิของธนาคารกลางเยอรมัน 

การใช้เงินยุโรทำให้การนำเข้าและคุณภาพชีวิตของเยอรมันเพิ่มไม่เท่ากับการใช้เงินมาร์ก  ในช่วงที่ใช้เงินยูโรนั้น ประเทศยุโรปใต้ใช้ข้อกำหนดของสนธิสัญญา Maastricht เป็นข้ออ้างในการลดงบประมาณและแก้ไขกฎระเบียบเพื่อป้องกันการล้มละลาย  และทำให้พวกเขาสามารถบรรลุข้อกำหนดของสนธิสัญญา Maastricht จนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้  แท้ที่จริงแล้วหากประเทศเหล่านี้ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป พวกเขาก็คงล้มละลายไปนานแล้ว  การได้เป็นสมาชิกเพียงแต่เลื่อนระยะเวลาการล้มละลายออกไปเท่านั้น ทั้งนี้เพราะหนี้สาธารณะของเบลเยี่ยม ไอร์แลนด์ อิตาลีสูงถึง 132%, 113% และ 103% มาตั้งแต่ปี 1991 แล้ว

ในยุคของจักรวรรดินิยมทางการเงิน ธนาคารและรัฐบาลยุโรปใต้ผลิตเงินที่เยอรมันต้องยอมรับส่งผลให้ราคาสินค้าในเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น  เมื่อเงินยูโรทำให้เกิดความเสียเปรียบมากมายต่อเยอรมัน  เหตุใดเยอรมันจึงยอมรับการเข้าร่วมกับเงินสกุลนี้  แท้ที่จริงแล้วชาวเยอรมันกว่า 70% ต้องการใช้เงินมาร์ก แต่นักการเมืองของเยอรมันไม่ฟังเสียงประชาชน  นักการเมืองเยอรมันอ้างว่าเพื่อให้การรวมชาติระหว่างเยอรมันตะวันตกและออกเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับการสนับสนุนจากยุโรปด้วยกัน พวกเขาจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมเงินสกุลยูโร

 จริงอยู่ การที่เยอรมันไม่ได้เซ็นสัญญาสันติภาพและถูกควบคุมโดยฝ่ายพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้เยอรมันไม่สามารถที่จะเป็นอธิปไตยได้อย่างเต็มที่  แต่รัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษต่างก็เกรงกลัวอำนาจจากการรวมตัวกันของเยอรมันอันเป็นผลมาจากการที่เยอรมันจะมีประชากรมากที่สุด มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดและตั้งอยู่กลางยุโรปอีกต่างหาก  ในการเหนี่ยวรั้งอำนาจของเยอรมันนี้ เยอรมันจึงจำเป็นต้องเซ็นสัญญาในข้อตกลง Two plus four นั่นคือ รัฐบาลเยอรมันจะไม่เรียกคืนดินแดนที่ถูกยึดไปในสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องจ่ายเงิน 21 พันล้านมาร์กให้กับสหภาพโซเวียตเพื่อแลกกับการถอนทหารในเยอรมันตะวันออก รัฐบาลเยอรมันต้องลดขนาดทางการทหารและยกเลิกการใช้สงครามนิวเคลียร์ ชีวภาพและเคมี  แท้ที่จริงแล้วกลุ่มพันธมิตรมิได้เกรงกลัวทหารของเยอรมัน แต่พวกเขากลัวธนาคารกลางเยอรมัน ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางเยอรมันคอยหยุดยั้งไม่ให้ธนาคารของประเทศอื่น ๆ พิมพ์เงินออกมา นั่นหมายความว่า เยอรมันต้องยอมยกเลิกเงินมาร์กและสูญเสียอธิปไตยทางการเงินเพื่อแลกกับการรวมตัวเป็นเยอรมันเดียว  Richard von Weizsacker อดีตประธานาธิบดีเยอรมันกล่าวว่า เงินยูโรไม่ได้มีค่าอะไรเลยนอกจากราคาของการรวมชาติเยอรมันเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลสูงสุดในยุโรปและมีกำลังทหารมากที่สุดด้วย  รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการกำจัดอิทธิพลของธนาคารกลางเยอรมันมานานแล้ว  การใช้เงินสกุลเดียวเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสได้เสริมสร้างตำแหน่ง และคัดท้ายยุโรปให้เป็นจักรวรรดิใหม่ภายใต้การนำของผู้นำฝรั่งเศส  แม้รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถที่จะควบคุมธนาคารกลางฝรั่งเศสมาหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากธนาคารกลางเยอรมันไม่ยอมเพิ่มค่าเงินตามธนาคารกลางฝรั่งเศสจนทำให้ฝรั่งเศสจำเป็นต้องลดค่าเงินบ่อยครั้ง  ธนาคารกลางเยอรมันกลายเป็นคนระงับอัตราเงินเฟ้อในฝรั่งเศสโดยอาศัยอำนาจในการทำให้อัตราเงินเฟ้อในเยอรมันต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

เมื่อธนาคารกลางเยอรมันเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางฝรั่งเศสก็จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามหากพวกเขาไม่ต้องลดค่าเงิน  ในสายตาของฝรั่งเศสนั้น นโยบายของเยอรมันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่เพียงพอ  เยอรมันสามารถสั่งการผ่านอัตราดอกเบี้ยเพื่อระงับการใช้จ่ายของรัฐบาลฝรั่งเศส  Mitterand เห็นว่า แม้เยอรมันจะมีอำนาจอธิปไตยน้อยและมีอำนาจทางการทูตที่ด้อยกว่า แต่เยอรมันสามารถที่จะชดเชยความอ่อนแอนี้ผ่านทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง  เงินมาร์กนี่แหละที่มีอำนาจเหมือนลูกระเบิด ความตั้งใจของ Mitterand ก็คือ ใช้อำนาจทางการเงินของเยอรมันเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลฝรั่งเศส  

ทั้ง Kohl และ Mitterand ต่างเห็นร่วมกันว่าเงินสกุลเดียวเป็นหนทางเดียวในการฟื้นฟูความเสมอภาคทางการเมืองหลังการรวมชาติของเยอรมัน  นักการเมืองทั่วทั้งยุโรปต่างเห็นว่าการวมตัวกันเป็นเงินสกุลเดียวเท่ากับเป็นการควบคุมอำนาจของเยอรมันหลังการรวมชาติ   Giscard d’Estaing ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอ้างว่าความล้มเหลวของการรวมตัวกันทางการเงินจะนำไปสู่การที่เยอรมันกลายเป็นเจ้ายุโรปอีก 

ชาวเยอรมันเองก็มองว่า การรวมตัวกันทางการเงินก็เป็นไปตามความต้องการและเป็นการหาประโยชน์ของชนชั้นปกครองที่ต้องการอำนาจเท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาวเยอรมัน ทั้งนี้เพราะชนชั้นปกครอง นักการเมือง นายธนาคาร นักธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มส่งออกล้วนได้ประโยชน์จากสกุลเงินยูโร  1. ชนชั้นปกครองได้กำจัดอำนาจของธนาคารกลางเยอรมันจากการที่ธนาคารกลางเยอรมันไม่เคยยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาล  นักการเมืองเยอรมันสามารถที่จะซุกปีกธนาคารกลางยุโรปเพื่อหนีจากความรับผิดชอบในการสร้างหนี้  การที่รัฐบาลไม่ต้องแข่งขันกันในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้อำนาจของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด

2. กลุ่มต่าง ๆ ในเยอรมันสามารถที่จะหาผลประโยชน์จากความก้าวหน้าของการรวมตัวกันของยุโรป เช่น การผสมผสานของแรงงาน มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีซึ่งเท่ากับเป็นการรวบอำนาจมากขึ้น  การผสมผสานของมาตรฐานแรงงานให้ประโยชน์กับสหภาพแรงงานเยอรมัน  การที่เยอรมันมีมาตรฐานแรงงานสูงทำให้แรงงานของประเทศยุโรปใต้ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้  หากประเทศเหล่านี้ต้องการแข่งขันได้ ต้องลดค่าแรงลง  มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ให้ประโยชน์กับบริษัทเยอรมันเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว  การกำหนดมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีทำให้การส่งออกของเยอรมันได้เปรียบในการแข่งขัน  3. กลุ่มส่งออกของเยอรมันได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากประเทศยุโรปใต้ และประเทศนอกสหภาพยุโรปโดยที่พวกเขาไม่ต้องใช้นโยบายค่าเงินแข็งแม้จะมีดุลการค้าเกินดุลมากเกินไป

การใช้เงินยูโรจึงมิได้เป็นไปเพื่ออิสรภาพและสันติ แต่มันกลับสร้างความขัดแย้งมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการมอบเครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดไปอยู่ภายใต้อำนาจของเทคโนแครตด้วย  เมื่อธนาคารกลางยุโรปมีอำนาจที่จะพิมพ์เงินสกุลใหม่  เงินสกุลใหม่นี้จะค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการไปยังประเทศที่ได้รับเงินใหม่นี้เป็นที่แรก  การพิมพ์เงินเพิ่มในระยะแรกของธนาคารกลางยุโรปอาจต้องใช้ความระมัดระวังอยู่บ้าง  พวกเขาอาจต้องโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อว่าโครงการนี้ส่งผลดีต่อประชาชนด้วย  ธนาคารกลางยุโรปมักอ้างว่าพวกเขาทำไปเพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาและเพิ่มการจ้างงาน  แต่หากประชาชนตระหนักได้ว่าพวกเขาไม่ต้องการทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปและการล่มสลายของระบบเงิน พวกเขาก็อาจไม่อยากให้ปริมาณเงินมีเพิ่มขึ้นอีกต่อไป อำนาจของธนาคารกลางก็จะสิ้นสุดลง 

การทำธุรกิจการเพิ่มเงินนี้ได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล  ธนาคารก็ออกทุนให้รัฐบาลในรูปของเงินกู้หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล  อำนาจในการสร้างเงินใหม่นี้ขึ้นกับเงินสำรองเพียงเล็กน้อยที่ธนาคารมีเท่านั้น เช่น มีเงินสำรอง 1 แสนพิมพ์เงินได้ 1 ล้าน  เมื่อธนาคารซื้อพันธบัตร ราคาพันธบัตรก็เพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ลดลง รัฐบาลก็เสียดอกเบี้ยลดลง  ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับนักการเมืองนั้นจึงมีมาอย่างยาวนานสังเกตได้ว่าทั้งสองกลุ่มมักไม่เคยวิพากษ์นโยบายของกันและกันเลย ซ้ำยังมักถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอีกต่างหาก เงินที่ถูกพิมพ์ออกมานั้นสร้างแรงจูงใจหลายอย่าง เช่น สามารถนำมาซื้อเสียงหรือสานฝันของนักการเมือง โครงการแบบนี้ถูกล่อลวงให้ดูเหมือนว่าธนาคารกลางและรัฐบาลต่างเป็นอิสระต่อกัน  แต่แท้ที่จริงแล้วธนาคารกลางก็พิมพ์เงินเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลและจ่ายเงินกำไรกลับไปให้รัฐบาล  ในขณะที่ธนาคารได้รับสัมปทานเหมือนกับธนาคารกลางในการพิมพ์เงินให้มากขึ้นซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนด้านการเงินกับรัฐบาลเช่นกัน  ในสกุลเงินยูโรนั้น รัฐบาลได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการใช้จ่ายเงินที่พวกเขาพิมพ์ขึ้น ในขณะที่ต้นทุนตกอยู่กับประชาชนเพราะค่าเงินลดลงและอำนาจในการซื้อลดลง

การก่อตั้งสกุลเงินยูโรสร้างผลลัพท์ที่มีลักษณะพิเศษ นั่นคือ ธนาคารกลางยุโรปสามารถที่จะออกเงินทุนให้กับรัฐบาลที่ขาดดุลอย่างไม่จำกัด  เมื่อรัฐบาลในสหภาพยุโรปขาดดุลงบประมาณ พวกเขาก็ออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถูกซื้อโดยธนาคารที่นำพันธบัตรเหล่านี้ไปค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปอีกทีหนึ่ง  ธนาคารต่างออกเงินใหม่ด้วยการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น  เมื่อรัฐบาลเริ่มใช้เงิน ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้น เงินใหม่ที่ถูกพิมพ์นี้หลั่งไหลไปยังประเทศที่ยังไม่ได้พิมพ์เงินผ่านการซื้อสินค้านำเข้าส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศส่งออกเริ่มเพิ่มขึ้นจนทำให้เงินใหม่นี้แผ่ขยายไปทั่วสหภาพยุโรป  ประเทศแรกที่พิมพ์เงินคือผู้ชนะด้วยต้นทุนของผู้ที่ได้รับเงินทีหลัง ประชาชนของกลุ่มประเทศที่ไม่ได้พิมพ์เงินจะรู้สึกว่าพวกเขามีรายได้ลดลงเพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หรือรายได้ที่แท้จริงลดลงนั่นเอง

  ในระบบเงินยูโร ประเทศที่พิมพ์เงินก่อนได้ประโยชน์จากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเสียหายต่ออำนาจในการซื้อตกกับประเทศที่เหลือทั้งหมดที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของทุกประเทศก็เริ่มเพิ่มขึ้น แม้แต่ประเทศที่ดำเนินนโยบายการคลังแบบเกินดุลอันเป็นผลมาจากความฟุ่มเฟือยของประเทศอื่น  เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แต่ละประเทศก็พยายามที่จะพิมพ์เงินให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เพื่อมิให้เสียเปรียบ  อย่างไรก็ดีสถานการณ์เช่นนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน มันจะสิ้นสุดลงเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน

ในความเป็นจริงแล้ว มีเหตุผลมากมายที่ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้เพราะประเทศที่ขาดดุลมากมีแรงจูงใจที่จะออกพันธบัตรจำนวนมากโดยให้ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือเป็นผู้แบกต้นทุนของความไม่รับผิดชอบในรูปแบบของอำนาจการซื้อที่ลดลง  ด้วยแรงจูงใจเยี่ยงนี้ นักการเมืองแต่ละประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะบริหารให้งบประมาณขาดดุล  โศกนาฏกรรมยูโรจึงเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้นักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์สั้นที่คิดถึงแต่การเลือกตั้งครั้งต่อไป สามารถขยายการใช้จ่ายเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากขึ้นอย่างไม่จำกัด  แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลกรีซใช้ประโยชน์จากโศกนาฏกรรมของสินทรัพย์สาธารณะมาเป็นเวลานานแล้ว การขาดดุลของกรีซถูกเคลื่อนย้ายไปยังสมาชิกอื่น ๆ แบบแอบแฝงตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสกุลเงินยูโร  รัฐบาลกรีซใช้เงินเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากชาวกรีซ และเพื่อผลประโยชน์ของกรีซเท่านั้น

หากสินค้าไม่สามารถผ่านแดนได้ ทหารจะข้ามไปเอง นั่นคือ เมื่อใดที่สินค้าถูกป้องกันไม่ให้ผ่านแดน ความขัดแย้งมักเกิดขึ้น  ในทางตรงกันข้ามการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ประคับประคองสันติภาพ  ในระบบการค้าเสรีนั้น ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันอย่างผสมผสาน  การปกป้องและลัทธิชาตินิยมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง  เมื่อทองและสินค้าถูกเคลื่อนย้ายจากเยอรมันไปยังพันธมิตรภายใต้การบีบบังคับทางการทหาร ชาวเยอรมันจึงเลือกฮิตเล่อร์เป็นผู้นำจากคำสัญญาที่จะกำจัดสนธิสัญญาแวร์ซายน์ และการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  ผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปทราบดีว่าหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนต้องผ่านการค้าเสรีเท่านั้น  การก่อตั้งเขตการค้าเสรีก็เพื่อบ่มเพาะการแลกเปลี่ยนอย่างสมัครใจ การได้ประโยชน์ร่วมกันจะสร้างสัมพันธภาพ ความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การพึ่งพาอาศัยกันและมิตรภาพ

กลไกแรกในการจัดการกับการเคลื่อนย้ายแบบทางเดียวของสินค้าก็คือระบบการแจกจ่ายใหม่  เงินงบประมาณถึง 1 ใน 3 ของสหภาพยุโรปจึงถูกใช้ไปในการเพิ่มความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกัน  เสาหลักของนโยบายการกระจายอีกข้อก็คือ กองทุนเพิ่มความแน่นแฟ้น หรือทำงานร่วมกันเพื่อให้โครงสร้างของแต่ละประเทศกลมกลืนกัน  ประเทศที่มี GDP ต่ำกว่า 90% จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน  เงินสนับสนุนนี้ดัชท์ เป็นผู้จ่ายมากที่สุด รองลงมาคือเดนซ์และเยอรมัน  ระหว่าง 1995-2003 ชาวเยอรมันจ่ายเงินถึง 76 พันล้านเข้าไปในสหภาพยุโรป เฉพาะปี 2009 เพียงปีเดียวรัฐบาลเยอรมันจ่ายเงินไปแล้วถึง 15 พันล้าน  ความพยายามในการกระจายความมั่งคั่งนี้ได้กลายเป็นต้นเหตุที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งเสมือนหนึ่งสินค้าที่ถูกขนย้ายไปโดยไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทน

กลไกที่สองในการจัดการกับการเคลื่อนย้ายของสินค้าไปทางเดียวก็คือ ตลาดเงิน  ผู้ที่มีอำนาจผูกขาดในการผลิตเงินก็คือ ธนาคารกลางยุโรป  พวกเขาได้กระจายความมั่งคั่งด้วยการการผลิตเงินและกระจายเงินอย่างไม่เท่าเทียมกันไปยังชาติที่ขาดดุลมากกว่า  ประเทศที่ใช้เงินมากกว่าภาษีที่ได้รับจะผลิตแต่พันธบัตรซึ่งธนาคารของพวกเขาก็จะซื้อไปเพื่อแลกเงินกับธนาคารกลางยุโรป  พวกเขาก็ได้รับสิทธิใช้เงินเป็นประเทศแรกด้วยราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น  แทนที่กรีซจะลดค่าแรง รัฐบาลของพวกเขากลับพิมพ์พันธบัตรมาแลกเงินกับธนาคารยุโรปเพื่อไปจ่ายค่าแรงที่สูงร่วมกับชดเชยคนว่างงาน  คนเหล่านี้ก็นำเงินไปซื้อรถของเยอรมัน  ในขณะที่คนทั่วทั้งยุโรปจนลงจากการซื้อรถที่มีราคาสูงขึ้นซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเคลื่อนย้ายเงินเพียงทางเดียวจากเยอรมันไปกรีซ นั่นหมายความว่า  ในปี 1920 เยอรมันต้องจ่าย และปัจจุบันชาวเยอรมันก็ยังจ่ายอยู่ผ่านสนธิสัญญา Maastricht แทนที่จะเป็นสัญญาแวร์ซายน์โดยที่พวกเขาไม่ได้ก่อสงครามเลยด้วยซ้ำ

มันไม่ใช่แค่สนธิสัญญาแวร์ซายน์ที่สร้างความไม่พึงพอใจระหว่างกัน  แม้แต่ข้อกำหนดในสนธิสัญญา Maastricht ก็เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งด้วย  เมื่อรัฐบาลกรีซประสบปัญหา เงินทุนจากสหภาพยุโรปก็หลั่งไหลกันไปสนับสนุนเงินกู้ของกรีซอีก  การไหลของเงินอย่างไม่เต็มใจเข้าไปในกรีซอย่างไม่รู้จบสิ้นกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจและความเกลียดชังทั้งต่อรัฐบาลและชาวกรีซ  หนังสือพิมพ์เยอรมันเรียกชาวกรีซว่าพวกโกหก พวกเขาเย้ยหยันว่า ในขณะที่ชาวเยอรมันต้องเกษียณอายุ 67 ปี แต่ชาวกรีซกลับได้เกษียณก่อน  หนังสือพิมพ์กรีซก็กล่าวโทษว่าความโหดร้ายของเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองทำให้พวกเขายังคงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามที่ติดค้างชาวกรีซอยู่จนทุกวันนี้

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 สาธารณะชนได้ทราบว่า Goldman Sach ช่วยรัฐบาลกรีซปกปิดหนี้สาธารณะหรือกรีซตกแต่งบัญชี  แต่การที่ธนาคาร Deutsche ของเยอรมันเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลกรีซเป็นจำนวนมาก การปล่อยให้รัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลให้ระบบธนาคารยุโรปล่มสลายตามไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Deutsche bank  ในวันที่ 25 มีนาคม สมาชิกสหภาพยุโรปจึงบรรลุข้อตกลงร่วมกับ IMF ในการช่วยเหลือกรีซ  ถึงกระนั้นก็ตาม สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจยังคงไม่ดีขึ้น  ในวันที่ 2 พฤษภาคมสมาชิกสหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินกู้ให้กับกรีซมากถึง 110 พันล้านด้วยอัตราดอกเบี้ย 5% โดยเงิน 27.9% มาจากเยอรมัน  ความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางยุโรปสิ้นสุดลงเมื่อพวกเขายอมรับพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่มีอันดับความเชื่อถือเท่ากับพันธบัตรขยะ

แม้ธนาคารกลางยุโรปจะกลายเป็นเครื่องพิมพ์เงินเพื่อตอบสนองกับการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดสมความตั้งใจของฝรั่งเศสและรัฐบาลยุโรปใต้แล้ว  แต่เศรษฐกิจในยุโรปก็ยังคงผันผวนต่อไป   Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันเห็นว่าความพยายามของ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและ Silvio Berlusconi นายกรัฐมนตรีอิตาลีในการก่อตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือชาติต่าง ๆ เท่ากับเป็นการโยกย้ายเงินจากชาติร่ำรวยไปยังยุโรปใต้  การเจรจาต่อรองจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ในทุกการเจรจาต่อรองนักการเมืองจากฟินแลนด์ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ต่างถือหางเยอรมัน  ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้นำสหภาพยุโรปก็บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือในการป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้เพราะธนาคารต่าง ๆ ในเยอรมันและฝรั่งเศสต่างถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซและสเปนกันอย่างถ้วนหน้า เช่น ธนาคารฝรั่งเศสมีหนี้ของโปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซและสเปนมากถึง 493 พันล้าน ในขณะที่เยอรมันก็มีหนี้ของ 4 ประเทศนี้รวมกันถึง 465 พันล้าน  

แม้ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันจะดูเหมือนไม่ค่อยยินยอมในการช่วยเหลือ แต่ปริมาณเงินมหาศาลที่เยอรมันยอมจ่ายตามข้อตกลงก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่าเธอเองก็เป็นผู้ปกป้องสหภาพยุโรปตามแนวทางแบบสังคมนิยมด้วย  ปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้เสมือนหนึ่งการปฏิวัติเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะหลักการสำคัญที่ใช้ในการก่อตั้งสหภาพได้ถูกละเลยไปหมดทุกเรื่อง  พวกเขายังก่อตั้งสถาบันใหม่ที่เรียกว่า European Financial Stability Facility (EFSF) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลักเซมเบอร์กเพื่อให้จ่ายหนี้หรือช่วยเหลือประเทศสมาชิกนั่นเอง  ส่วนวิธีการเพิ่มทุนก็ทำเพียงแค่ขอคำรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกก็พอโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภายุโรปอีกต่อไปแล้ว  ปฏิบัติการในวันที่ 9 พฤษภาคมเท่ากับเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของสถาบันในสหภาพยุโรปไปตลอดกาล  ผลของการแทรกแซงทางด้านการเงินและการคลังซึ่งเป็นไปในแนวทางที่ดีต่อประเทศที่มีปัญหาเรื่องหนี้นี้จึงเท่ากับว่ารัฐบาลเยอรมันได้เข้าค้ำประกันหนี้ของประเทศยุโรปใต้อย่างเต็มที่  แม้เยอรมันต้องการสิทธิในการลงโทษประเทศที่ทำผิดระเบียบในเรื่องการก่อหนี้เป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่ข้อเสนอในการยกเลิกอำนาจในการออกเสียงตามที่เยอรมันต้องการกลับถูกเพิกเฉย

ในที่สุดการรวมตัวกันทางการเงินก็กลายเป็นการโยกย้ายความมั่งคั่ง  เสียงของนายธนาคารกลางเยอรมันได้สูญหายไปท่ามกลางจำนวนสมาชิกของยุโรปใต้ที่มีมากกว่า  พวกเขาจึงเน้นแต่เรื่องนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ลดต่ำลง เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหาทางการเงินจนทำให้คุณภาพของสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันการผลิตเงินยูโรมีค่าต่ำลง  บัญชีของธนาคารกลางยุโรปจึงเต็มไปด้วยพันธบัตรของรัฐบาลที่มีปัญหาทางการเงิน  การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซและของประเทศอื่น ๆ ย่อมเป็นนัยยะให้เห็นว่าธนาคารกลางยุโรปต้องขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อันจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเงินยูโรลดลงตามลำดับ  และหากธนาคารใดธนาคารหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ พวกเขาก็จะทิ้งสัญญาค้ำประกันที่ด้อยคุณภาพไว้กับธนาคารกลางยุโรป

หนทางในการออกจากปัญหาหนี้สาธารณะก็คือ 1. ประเทศที่เป็นหนี้ทั้งหลายสามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายสาธารณะลง  วิธีการนี้คงเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรีซซึ่งชาวกรีซมักมีชื่อเสียงในการก่อความวุ่นวายเมื่อพวกเขาเสียผลประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม  2. ประเทศควรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้มีรายได้จากภาษีมากขึ้น  การขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างถาวรส่งผลกระทบกับหนี้สาธารณะ การเพิ่มคุณภาพชีวิตแบบปลอม ๆ สามารถที่จะประคับประคองได้ผ่านทางหนี้สาธารณะ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเลิกให้การสนับสนุนคนว่างงาน  3. รัฐบาลอาจพยายามเพิ่มรายได้ด้วยการเพิ่มภาษี  4. การเติบโตผ่านการเปิดเสรีในบางอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มการแข่งขัน  5. ความช่วยเหลือจากภายนอก

การก่อตั้งสถาบันการเงินแบบ EMU นี้เป็นหายนะทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง  เงินยูโรประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นพาหนะของการวมศูนย์อำนาจยุโรปและกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างจักรวรรดินิยมยุโรปใหม่ภายใต้การนำของฝรั่งเศสในการหยุดยั้งอิทธิพลของเยอรมัน  นโยบายการเงินเป็นวิธีการทางการเมืองไปสู่การรวมตัวกันทางการเมืองที่ทั้งประเทศในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียนและฝรั่งเศสมีความตั้งใจไว้  นักการเมืองฝรั่งเศสเคยถึงกับวิพากษ์ว่านโยบายของธนาคารกลางเยอรมันไม่ยุติธรรมและเป็นอำนาจที่ยอมรับไม่ได้ที่ประเทศที่แพ้สงครามเยี่ยงเยอรมันจะควบคุมประเทศอื่น นักการเมืองฝรั่งเศสจึงต้องการที่จะสร้างธนาคารกลางร่วมเพื่อควบคุมอิทธิพลของเยอรมัน  การซื้อพันธบัตรรัฐบาลกลางกรีซจากธนาคารในประเทศฝรั่งเศสโดยธนาคารกลางยุโรปภายใต้การกำกับดูแลของ Jean Claude Trichet ประธานธนาคารกลางยุโรปเป็นผลงานและสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า กลยุทธ์ที่ผู้ก่อตั้งชาวฝรั่งเศสได้รับชัยชนะสมดังใจแล้ว

ความล้มเหลวของเงินยูโรไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างทางด้านโครงสร้าง แต่เป็นเพราะมันอนุญาตให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งไปยังประเทศที่รัฐบาลและระบบการเงินของพวกเขาพิมพ์เงินเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ  ขบวนการจึงเหมือนกับโศกนาฏกรรมของสินทรัพย์สาธารณะ (Tragedy of the Commons) ประเทศที่ได้ประโยชน์ก็คือประเทศที่พิมพ์เงินได้เร็วกว่าประเทศอื่น ทุกประเทศจึงแข่งขันกันพิมพ์เงิน วิกฤตหนี้สาธารณะส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถที่จะควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลและธนาคารกลางยุโรปก็มีอำนาจมากขึ้นในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล  ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังมาถึงการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งครั้งที่สามแล้ว

อนาคตของระบบที่มีแรงจูงใจซึ่งไปสิ้นสุดที่การทำลายตัวเองนี้คือ 1. ระบบจะแตกสลายไป  บางประเทศอาจละจากเงินยูโร เช่น เยอรมันจะหวนกลับไปใช้เงินมาร์กที่มีค่าแข็งขึ้นอันส่งผลให้สินคาส่งออกมีราคาสูงขึ้น  แต่การลงทุนและการพักผ่อนต่างประเทศของชาวเยอรมันมีต้นทุนลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น  ส่วนเงินยูโรจะก็สูญเสียความน่าเชื่อถือและล่มสลาย  2. ปฏิรูป ข้อกำหนดในเรื่องการคลังตามสนธิสัญญา Maastricht และมันถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  ประเทศที่ฝ่าฝืนจะถูกระงับสิทธิในการออกเสียงและไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป  3. แรงจูงใจในการขาดดุลที่มากกว่าประเทศอื่นจะนำไปสู่การโยกย้ายความมั่งคั่งจากประเทศที่ร่ำรวยไปสู่ประเทศยากจนอันจะส่งผลให้เกิดการจลาจลในประเทศร่ำรวย จนพวกเขาจากเงินยูโร หรือการโอนย้ายนี้ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงมาก  สถานการณ์จะเป็นเช่นใดสุดที่จะคาดเดา

ข้อคิดเห็น หนังสือได้บอกเล่าถึงการก่อตั้ง EMS อย่างไรจึงนำมาซึ่งหายนะ การลดลงของอัตราเฟ้ออย่างมากมายเป็นผลมาจากการสร้างธนาคารกลางยุโรปที่ลอกเลียนแบบมาจากธนาคารกลางเยอรมัน เบี้ยประกันความเสี่ยง  (Risk Premium) ที่ลดลงเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่แข็งแรงกว่าส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศยุโรปใต้  เงินก้อนใหม่ที่เกิดขึ้นจากการใช้สกุลเงินเดียวกันส่วนใหญ่ถูกอัดฉีดเข้าไปในประเทศชายขอบ ส่งผลให้พวกเขาบริโภคเกินตัวและลงทุนผิดพลาด เช่น รถ อสังหาริมทรัพย์ และรัฐสวัสดิการที่ไม่จำเป็น  จนกลายเป็นปัญหาหนี้สาธารณะมากมาย   ผู้เขียนเห็นว่าเยอรมันเสียรู้ฝรั่งเศสในการเข้าให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรปใต้ และกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ในการต่อกร  ดังนั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งเศรษฐานะที่มั่นคงและความเป็นผู้นำต่อไป เยอรมันจึงควรที่จะละจากเงินยูโร

หนังสือยังให้รายละเอียดการถือกำเนิดของเงิน ธนาคารและธนาคารได้อย่างละเอียดลออจนผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนสามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

 

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.