You are here: Home > Econ & Business, Political Science > German Europe เยอรมันหรือยุโรป

German Europe เยอรมันหรือยุโรป

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

                ความจริงในปัจจุบันก็คือ ยุโรปได้กลายเป็นเยอรมันไปเสียแล้ว ไม่มีใครตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น  แต่ในช่วงก่อนที่เงินยูโรอาจจะล่มสลาย เยอรมันได้ถูกผลักดันเข้าไปสู่บทบาทที่มีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุดในยุโรปอย่างไม่ตั้งใจ German Europe หนังสือขนาด 120 หน้าตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2013 ของ Ulrich Beck ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilians ชาวเยอรมันผู้ตั้งทฤษฎี Risk Society และ Rodney Livingston ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Southampton จะอธิบายว่าปัจจุบันโลกได้เห็นเยอรมันในยุโรปและยุโรปในเยอรมันแล้ว  สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  ผลลัพธ์จะเป็นเช่นใด  ภัยคุกคามในอนาคตจากสถานการณ์นี้คืออะไร แล้วมันจะดึงดูดอะไรเข้าไปหา และทฤษฎีทางการเมืองการปกครองที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักการเมืองที่มีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจคืออะไร  เมื่อวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้มิใช่วิกฤตเศรษฐกิจล้วน ๆ แต่มันเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง  การวิเคราะห์แต่ด้านเศรษฐกิจจะทำให้การวิเคราะห์นั้นขาดมุมมองทางด้านสังคม  เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิกฤตนี้จะนำไปสู่การรวมตัวกันทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ในยุโรปทั้งทางด้านภาษี เศรษฐกิจและสังคมและการเมือง

สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2012 สถานีวิทยุทั่วทั้งเยอรมันออกอากาศว่า วันนี้สภาล่างของเยอรมันจะตัดสินอนาคตของกรีซอันหมายถึงการอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดที่สองให้กับกรีซซึ่งจะทำให้รัฐบาลกรีซสูญเสียอำนาจในการควบคุมงบประมาณของตัวเองมากขึ้นไปอีกหรือไม่  ผู้ที่ได้ฟังประกาศข่าวนี้คงแปลกใจ  มันเป็นไปได้อย่างไร  มันหมายความว่าอย่างไรที่ประเทศประชาธิปไตยประเทศหนึ่งจะกำหนดชะตากรรมของประเทศประชาธิปไตยอีกประเทศหนึ่ง  จริงอยู่ชาวกรีซต้องการเงินภาษีของชาวเยอรมัน  แต่ข้อเสนอที่ให้ไปพร้อมความช่วยเหลือทางการเงินนี้มันได้จู่โจมความเป็นอิสรภาพของกรีซทั้งประเทศไปด้วย  ยิ่งกว่านั้นข่าวนี้ยังได้รับการยอมรับทั่วไปเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมชาติของโลกไปแล้ว  เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะมองประเทศประชาธิปไตยประเทศหนึ่งถูกทำให้อ่อนแอโดยไม่รู้สึกราวกับกำลังโดนข่มขืน  วันนี้เยอรมันได้กลายเป็นผู้ตัดสินว่าสหภาพยุโรปจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ไปแล้วหรือนี่ 

การที่ฐานะทางเศรษฐกิจของเยอรมันดีที่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้เยอรมันถูกยกให้เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการแก้ไขปัญหาโดยไม่มีใครกล้าต่อกร นั่นหมายความว่า เยอรมันได้ก้าวหน้ากว่าที่เคยเป็นเพียงแค่นักเรียนที่อยากเรียนรู้ กลายเป็นปรมาจารย์ของยุโรปไปเสียแล้ว  แท้ที่จริงแล้วเยอรมันมิได้เป็นผู้นำยุโรป แต่เมื่อวิกฤตยุโรปย่างกราย เยอรมันก็พบว่าพวกเขาต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์อีกแล้ว พวกเขาต้องพยายามที่จะฟื้นฟูวิสัยทัศน์ทางการเมืองของยุโรปท่ามกลางอุปสรรคนานาประการ รวมทั้งต้องหาหนทางในการกดดันจนกว่าประเทศสมาชิกอื่น ๆ จะทำหน้าที่ของตัวเอง  เยอรมันกลายเป็นผู้มีอำนาจมากเกินกว่าที่พวกเขาสามารถที่จะมีได้ในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด  ถึงกระนั้นก็ตามนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศต่างยังไม่ยินยอมพร้อมใจ เช่น Eugenio Scalfari นักข่าวชาวอิตาเลียนเขียนไว้ว่า ถ้าเยอรมันยังคงใช้นโยบายทางการเงินที่ทำให้เงินยูโรล่มสลาย  เยอรมันก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่มสลายของโครงการสหภาพยุโรปนี้ด้วย และเท่ากับว่าพวกเขาได้ก่ออาชญากรรมครั้งที่สี่ขึ้นแล้ว  

                แม้เยอรมันกำลังจะกลายเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด เพราะเงินของเยอรมันกำลังถูกโยนเข้าไปให้กับคนกรีซผู้ล้มละลาย  แต่ชาวยุโรปส่วนใหญ่กลับกำลังโต้แย้งกันเพื่อที่จะพบว่าผลของการโต้แย้งและอำนาจที่ได้มาทำให้สถานภาพของทุกคนเลวร้ายลง  หลายคนกำลังคิดว่าพวกเขาเป็นผู้สูญเสียเพราะนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดที่ถูกกำหนดโดยเยอรมันและบรัสเซลล์ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลง  พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าทุกคนต่างกำลังเป็นเหยื่อของวิกฤตเศรษฐกิจและเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้แก้ไขปัญหา  เมื่อวิกฤตอุบัติขึ้น คนส่วนใหญ่ในสังคมพบว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว แม้แต่ชาวเยอรมันเองก็สงสัยว่าเหตุใดเงินบำนาญของพวกเขาต้องใช้ไปกับการช่วยเหลือกรีซที่ล้มละลาย ทำไมประเทศถึงล้มละลายได้  การล้มละลายนี้มีความหมายอย่างไรกับคนทั่วไป  ทำไมธนาคารที่เกือบล้มละลายต้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ

แม้โครงการสหภาพยุโรปจะดำเนินมาได้ถึงกึ่งศตวรรษ แต่ผู้ก่อตั้งทั้งหลายไม่ได้ทำการควบรวมเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบ  ผลที่เกิดก็คือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ได้ทำให้อยู่ในระดับเดียวกันและประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ  แนวคิดที่ว่าแต่ละประเทศมีหน้าที่ควบคุมการเงินของตัวเองให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้นอาจเกิดขึ้นได้ดีในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู แต่กลับประสบปัญหาเมื่อเกิดวิกฤต  วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นเหมือนอย่างที่ Gramsci ให้ความหมายไว้ นั่นคือ ของเก่าได้ตายไปแล้ว แต่ของใหม่ยังไม่เกิด  ชาวยุโรปซึ่งเริ่มเคยชินกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป เช่น การใช้เงินสกุลเดียว การข้ามแดนโดยไม่ต้องตรวจพาสปอร์ต การเลือกสถานที่ทำงานได้อย่างเสรีในประเทศใดก็ได้ จึงเริ่มตกอยู่ในความกลัว ความงงงวยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กระสับกระส่าย และทุรนทุราย

แท้ที่จริงแล้ววิธีการแก้ปัญหาหนึ่งที่น่าจะเป็นผลดีกับสหภาพยุโรปก็คือการปล่อยให้แต่ละประเทศเลือกที่จะละจากเงินยูโรไป  แต่ผู้นำยุโรปทุกประเทศกลับคิดว่าการละจากยูโรเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้  ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  แท้ที่จริงแล้วไม่มีบทบัญญัติในสนธิสัญญาใด ๆ ห้ามมิให้สมาชิกลาออก  แต่การละออกจากยูโรของกรีซหรือประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น อาจมีต้นทุนสูงมาก เช่น ผู้ออมอาจสูญเสียเงินไปส่วนหนึ่ง รัฐอาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามของการล่มสลาย คนชั้นกลางจะยากจนลง ชาวยุโรปที่เหลือก็ต้องต่อสู้กับปัญหาทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่มีต้นทุนสูงอย่างยาวนาน  อย่างไรก็ดี แนวคิดที่คนเยอรมัน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงของงบประมาณในประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า กฎจะต้องถูกแก้ไขเพื่อแผ้วทางให้กับการเกิดการรวมตัวของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ  หนทางเดียวที่จะทำให้การแก้ไขวิกฤตยูโรเป็นไปได้สำเร็จก็คือ การรวมตัวกันทางการเมืองมากขึ้น นั่นหมายความว่า การเมืองทั้งภายใน ภายนอกและระหว่างประเทศของแต่ละประเทศจะไม่สามารถดำเนินไปในรูปแบบเดิมอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้สวมบทหญิงเหล็กที่ยืนกรานว่าชาวยุโรปใต้จะไม่ได้เงินชาวเยอรมันไปพร้อมกับการขาดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นที่ผ่านมา  ความเห็นนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่านักการเมืองทุกประเทศให้ความสำคัญแต่กับการเลือกตั้งในประเทศ สื่อและความสนใจทางเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเองเหนือคำมั่นสัญญาของอนาคตของสหภาพยุโรป  การนำผลประโยชน์ของชาติเข้าสู่ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสำนึกของนักการเมืองเลย  แม้แต่ Merkel ก็เกรงกลัวโอบามาน้อยกว่าชาวเยอรมัน

คำถามที่นักสังคมศาสตร์กำลังพยายามหาคำตอบก็คือ ทำอย่างไรให้แต่ละชาติสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ภายใต้ความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การก่อการ้าย 9/11 หายนะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Chernobly ในยูเครน ความท้าทายเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน 2 ประการคือ 1. มันเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง 2. มันส่งผลกระทบต่อโลก มันยังทำให้ทุกคนตระหนักถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างชีวิตของคนในสังคม 

ทฤษฎีเกี่ยวกับความเสี่ยงในสังคมกล่าวว่า ความทันสมัยเป็นทั้งสิ่งที่นำพาสู่อันตรายและเป็นสิ่งที่มุ่งมั่นที่จะปลดปล่อยชาติจากหายนะที่มาจากความทันสมัยนั้น  ผลของความทันสมัยจึงได้เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกันทางการเมืองและสังคมไปจนหมดสิ้น

วิกฤตยุโรปทำให้ได้ข้อเสนอทางทฤษฎี 3 เรื่องนั่นคือ  1. โลกกำลังเข้าใกล้หายนะในหลาย ๆ เรื่อง เช่น หายนะจากการล่มสลายในการรวมตัวกันทางการเงินอันจะนำไปสู่ผลกระทบที่อาจทำให้การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปยุติลง หรือแม้แต่ทำให้เศรษฐกิจของโลกลงเหวไปได้ด้วยเช่นกัน  ถึงกระนั้นก็ตาม โลกก็ไม่จำเป็นต้องเดินไปทิศทางนั้นแต่เพียงทิศเดียว  2. ความเสี่ยงของชาวยุโรปเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นจากนโยบายที่มีเจตนารมณ์อย่างเด่นชัดให้แต่ละประเทศควบคุมตัวเอง เห็นได้จากการที่การรวมตัวกันทางการเงินนี้ถูกนำมาใช้โดยไม่มีการตั้งสถาบันพิเศษขึ้นติดตามและประสานนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของสมาชิกมาตั้งแต่แรก  3. ความเสี่ยงเผยให้เห็นว่ามันเป็นเวลาสำคัญที่ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การลากเอาประชาชนออกจากกิจวัตรประจำวัน หรือลากเอานักการเมืองออกมาจากข้อจำกัดที่ผูกมัดพวกเขาไว้  ความเสี่ยงเป็นทั้งความมั่นคงในชีวิตประจำวัน และยังกระตุ้นให้คนยกระดับความหวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่ดีกว่า

การที่คนส่วนใหญ่กำลังคาดเดาว่าหายนะกำลังจะคืบคลานเข้ามา สถาบันเก่า ๆ ทั้งด้านการเมืองและสังคมที่เคยมีอยู่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ รวมทั้งกฎและระเบียบที่เคยคาดว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดการเมืองในรูปแบบใหม่ นั่นคือ 1. Hegelian Scenario ในสายตาของ Georg Hegel นักปรัชญาชาวเยอรมันนั้น  ความอวดดีจะทำให้แต่ละประเทศพยายามหาทางออกเองจนกระทั่งสถานการณ์เข้าสู่จุดอับ  คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็จะนำอำนาจใหม่เข้ามาแล้วให้ผู้อื่นเลือกว่าจะร่วมมือหรือตาย  หลังจากนั้นพวกเขาก็ดำเนินการต่อไปในเส้นทางที่จะนำไปสู่หายนะเช่นเดิม  2. Carl Schmitt Scenario ความคาดหวังต่อการเกิดหายนะกลายเป็นตัวแผ้วทางให้นักการเมืองได้อำนาจมากขึ้น กฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกละไว้เพื่อต่อสู้ให้กับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

ในการจัดการกับภัยคุกคามต่อเงินยูโรและสหภาพยุโรปนั้น ผู้เข้าร่วมเจรจาทั้งหลายต่างต่อรองกันในสถานการณ์พิเศษซึ่งมิได้ให้ความสำคัญแต่กับชาติของตัวเองเท่านั้น  พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับเรื่องฉุกเฉินข้ามชาติซึ่งพวกเขาสามารถหาประโยชน์ได้หลายทางด้วย  นี่คือความตึงเครียดระหว่างตรรกะของความเสี่ยงและตรรกะของประชาธิปไตย  ภายใต้ภัยคุกคามต่อโลก เราได้กลายเป็นประจักษ์พยานถึงการเพิกเฉยกับกฎของประชาธิปไตยอันเป็นผลมาจากการที่การตัดสินใจต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นวาทะของความเสี่ยงของการล่มสลายของยุโรปจึงได้ให้กำเนิดปีศาจร้ายทางการเมืองขึ้น  ประชาธิปไตยจะยอมให้หายนะเกิดขึ้นได้มากแค่ไหนขึ้นกับ 1. แต่ละชาติยังคงช่วยเหลือกันโดยละวิธีคิดเกี่ยวกับชาติแบบเดิม ๆ และช่วยกันหาทางแก้ไขไปตามหนทางที่ประชาธิปไตยเปิดช่องไว้ให้  2. กลุ่มเทคโนแครตได้รวบอำนาจไปหรือเท่ากับเป็นการสิ้นสุดประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

ความเสี่ยงของการล่มสลายที่จับต้องได้นี้นำไปสู่ความฝันที่จะมียุโรปแบบใหม่ กลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มสร้างยุโรป พวกเขามีความหวังว่าจะเกิดการรวมตัวกันทางการเมืองมากขึ้นในอนาคต  แนวคิดสำคัญนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า หายนะที่กำลังคุกคามนี้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น เหนี่ยวนำให้เกิดกฎระเบียบเหนือชาติ และเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมืองใหม่  พวกเขาต้องการให้ใช้ระเบียบข้ามชาติใหม่ในการกำกับดูแลธนาคาร  ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่จะถือกำเนิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้  แต่แนวคิดนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังต้องการความเป็นชาติและประชาธิปไตยอยู่  

นโยบายยุโรปของ Merkel ทั้งละเลยและดูถูกศาลรัฐธรรมนูญด้วย  กลุ่มสร้างยุโรปเห็นว่า สมาชิกควรโอนอำนาจของสภาตัวเองในการควบคุมงบประมาณไปให้กับผู้มีอำนาจส่วนกลางในยุโรปเพื่อกำกับการก่อหนี้ของสมาชิกอย่างเคร่งครัด  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ปฏิบัติการโอนอำนาจจากรัฐบาลแต่ละประเทศเข้าสู่ระบบยุโรปทั้งทางด้านสังคม การเมืองและกฎหมายเกิดขึ้นได้อย่างถูกกฎหมาย  แรงกดดันจากเงื่อนเวลาจะทำให้ไม่มีใครคิดถึงเรื่องประชาธิปไตยอีกต่อไป  ความเสี่ยงในเรื่องของเงินยูโรเกิดขึ้นกับระบบการเมืองทั่วทุกประเทศ  Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า หากเราต้องการให้เกิดการรวมตัวกันทางการคลัง เราต้องยอมรับที่จะโอนการคลังของแต่ละประเทศจากมือรัฐบาลไปยังองค์กรของสหภาพยุโรป  ข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่เน้นเรื่องชาติกับกลุ่มสร้างยุโรปก็คือ กลุ่มสร้างยุโรปใช้ความเร่งด่วนของสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย  สถานการณ์การเมืองแบบเร่งด่วนที่ผิดกฎหมายนี้ได้บั่นทอนความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ

ในกรณีของสงคราม สิ่งที่เราเห็นก็คืออาวุธใหม่ ๆ  แต่ในกรณีของความเสี่ยง เราเห็นความร่วมมือกันข้ามพรมแดนในการหลบเลี่ยงความวิบัติ  ในสงคราม เรามักสามารถที่จะชี้ตัวศัตรูได้ แต่ในกรณีของความเสี่ยงนั้น ไม่มีใครสามารถชี้ตัวผู้กระทำได้อย่างเด่นชัด และไม่เห็นความตั้งใจที่จะเป็นศัตรูด้วยซ้ำ  มนุษย์จึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงเหมือน ๆ กันทั้งโลก (Global Risk)  วิกฤตยุโรปนี้มีความขัดแย้งในตัวเองหลายประการ  ไม่เพียงมันอาจทำให้สหภาพยุโรปล่มสลาย มันอาจทำให้เกิดการรวมตัวกันมากยิ่งขึ้นไปด้วย และการที่โครงการสหภาพยุโรปอาจยุติลงได้กลายเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีจิตสำนึกของความเป็นชาวยุโรปมากขึ้น

กลุ่มสร้างยุโรปเสนอให้มีการรวมตัวกันของธนาคารโดยให้ธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าช่วยเหลือสหภาพยุโรปด้วยการนำเสนอภาษีการทำธุรกรรมทางการเงิน การแยกธนาคารเพื่อการลงทุนและธนาคารค้าปลีกออกจากกัน รวมทั้งพิจารณาตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของยุโรปที่มีหน้าที่ควบคุมทุนนิยมทางการเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่ในขณะนี้  แท้ที่จริงแล้วกลุ่มสร้างยุโรปมีทางออกของปัญหาไว้อยู่แล้ว แต่พวกเขาอาจจำเป็นต้องเก็บงำไว้โดยไม่แพร่งพราย เนื่องจากแนวคิดของพวกเขาย่อมถูกต่อต้านอย่างมาก อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้เสนอแพ้การเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

ในเดือนตุลาคมปี 2011 หัวหน้ารัฐบาลของทั้ง 27 ประเทศต่างมาประชุมในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของยุโรปว่าจะช่วยเหลือเงินยูโรอย่างไร  ในวันนั้นผู้นำหลายประเทศกำลังดีใจที่พวกเขาไม่ต้องเป็นกลุ่มคนชั้นสองในการประชุมอีกแล้ว เพราะการประชุมครั้งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของ Merkozy หรือความร่วมมือระหว่าง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันและ Nicholas Sakozy ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสที่ทั้งสองมักขอพักการประชุมเพื่อไปทำการตกลงกันนอกรอบก่อนแล้วใช้ข้อตกลงนั้นเป็นข้อสรุปของการประชุม  แต่มันกลับเกิดสถานการณ์ใหม่นั่นคือ เกิดการแบ่งขั้วแบบใหม่ระหว่างกลุ่มที่ใช้เงินยูโร และไม่ใช้เงินยูโร สถานการณ์ใหม่นี้ได้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันใหม่เป็น 3 แบบนั่นคือ 1. การแบ่งระหว่างกลุ่มใช้เงินยูโร และไม่ใช้เงินยูโร 2. กลุ่มที่ใช้เงินยูโรซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ 3. กลุ่มที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจ

การแบ่งแบบกลุ่มใช้เงินยูโรและไม่ใช้เงินยูโร ผู้ที่เป็นเหยื่อของกลุ่มนี้ก็คือ สหราชอาณาจักรเพราะพวกเขากลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีความแน่นอน  การแบ่งกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการที่ David Cameron โหวตค้านในความพยายามที่จะให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องงบประมาณมากขึ้น  ยิ่งกว่านั้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ร่วมรัฐบาลอังกฤษยังปฏิเสธข้อเสนอในการรวมตัวกันของธนาคารด้วยความเกรงว่าลอนดอนจะมิได้เป็นศูนย์กลางทางการเงินอีกต่อไป  ถึงกระนั้นก็ตามสหภาพยุโรปยังคงมีความสำคัญต่ออังกฤษอยู่มากเพราะสินค้าอังกฤษถึง 55% ถูกส่งเข้ามาในสหภาพยุโรป  การถูกแบ่งเป็นกลุ่มเช่นนี้เท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวอังกฤษ และเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้สมาชิกที่ยังไม่ใช้เงินยูโร เช่น โปแลนด์ ต้องรีบเข้าร่วมสกุลเงินโดยเร็ว

การแบ่งกลุ่มที่ใช้เงินยูโรเป็นกลุ่มเจ้าหนี้และกลุ่มลูกหนี้  กลุ่มลูกหนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยอมรับอำนาจของกลุ่มเจ้าหนี้ที่นำโดยเยอรมันซึ่งกำลังพยายามที่จะยกระดับวัฒนธรรมเรื่องเสถียรภาพทางการเงินให้เป็นแนวทางหลักของสหภาพต่อไป  กลุ่มลูกหนี้พบว่าพวกเขาได้สูญเสียอำนาจในการควบคุมอธิปไตยของตัวเองและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไปแล้ว และยังต้องเลือกระหว่างเป็นกลุ่ม underclass หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องออกจากเงินยูโรไปเลยด้วย  การประสานงานและการรวมตัวกันของสหภาพยุโรปซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานนั้นกำลังเป็นที่สงสัยโดยเฉพาะกับกลุ่มลูกหนี้ เพราะพวกเขากำลังถูกปฏิบัติราวกับถูกลดเป็นเพียงรัฐหนึ่งหรือเป็นอาณานิคมมากกว่า  สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นราวกับว่า ประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่มีทางเลือก กลุ่มลูกหนี้ต้องพึงพอใจแต่กับประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียวดอกหรือ 

กลุ่มมีอำนาจและไม่มีอำนาจ  วิกฤตยุโรปได้เสริมสร้างความมั่นคงให้กับตำแหน่งผู้นำของเยอรมันในสหภาพยุโรปโดยไม่ตั้งใจ  การเพิ่มขึ้นของอำนาจนี้ไม่เพียงเป็นผลมาจากฐานะทางการเงินของเยอรมันเท่านั้น ยังมีรากฐานมาจากตำแหน่งทางการเมืองด้วย  Eric Gujer เขียนไว้ใน Neue Zurcher Zeitung ว่า เบอร์ลินต้องแสดงบทของผู้นำโดยไม่ตั้งใจ  พวกเขาเพียงแต่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่พวกเขาแทบไม่เคยมีบทบาททางการต่างประเทศและกำลังทหารเลย   Niccolo Machiavelli เป็นนักคิดคนแรกที่ให้คำนิยามของอำนาจที่หล่อหลอมจากความสับสนของสถานการณ์ไว้ว่า วิกฤตที่สร้างความร้าวฉานและทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเป็นต้นกำเนิดของอำนาจในประวัติศาสตร์  วิกฤตถูกเชื้อเชิญเข้ามาเพื่อเป็นแหล่งสะสมของอำนาจ  ความวิบัติที่คืบคลานเข้ามาก่อให้เกิดโอกาสที่ถูกฉวยไว้โดยใครก็ตามที่มีสติปัญญามากพอที่จะเปลี่ยนมันเป็นอำนาจซึ่งตรงกับสิ่งที่ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันทำ  เธอฉวยโอกาสที่ถูกนำมาเสนอให้กับเธอในการปรับโครงสร้างอำนาจในยุโรปเสียใหม่

แท้ที่จริงแล้วในโครงสร้างของสหภาพยุโรปนั้น แต่ละประเทศต่างมีอำนาจในการต่อรองพอ ๆ กัน แต่วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดความพล่าเลือนของอำนาจอันเป็นผลมาจากปริมาณหนี้ที่แต่ละประเทศแบกอยู่และจำนวนของประเทศที่กำลังจะล้มละลาย 

ปัจจุบัน Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ถูกยกให้เป็นราชินีที่ไม่ได้สวมมงกุฎของยุโรปไปแล้ว  หากพิจารณาถึงการได้มาซึ่งอำนาจของเธอแล้ว เราจะตระหนักถึงประสิทธิภาพของเธอจากการตอบคำถาม นั่นคือ เธอมักจะมีแนวโน้มที่ไม่ทำอะไร ไม่ตัดสินใจเพราะยังไม่ถึงเวลา และปฏิบัติเมื่อสายเกินไปแล้ว หรือการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง  ในวิกฤตสหภาพยุโรปนั้น Merkel ตัดสินใจช้าทุกสถานการณ์  ครั้งแรกเธอลังเลที่จะใส่เรื่องการเป็นหนี้ของกรีซเข้าไว้ในการประชุม  ครั้งที่สองเธอปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือกรีซ  ครั้งที่สามเธอปิดกั้นการเข้าช่วยเหลือสเปนและอิตาลี  แท้ที่จริงแล้วเธอไม่เคยให้ความสนใจกับการช่วยเหลือสมาชิกเลยต่างหาก  เธอให้ความสนใจแต่เฉพาะการชนะเสียงเลือกตั้งในเยอรมันเท่านั้น  เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง เธอต้องปกป้องเงินเยอรมันและความสามารถในการแข่งขันของเยอรมันในตลาดโลก  หากการปกป้องเยอรมันสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือยุโรปในเวลาเดียวกันได้ด้วย เธอถึงจะไม่ปฏิเสธ

อีกคุณสมบัติที่โดดเด่นของ Merkel ก็เหมือนกับ Machiavelli กล่าวไว้คือ เขาจะยึดติดกับคำพูดเมื่อวาน หากมันทำให้เขาได้เปรียบในวันนี้  วันนี้คุณอาจทำตรงข้ามกับที่ประกาศไว้เมื่อวาน หากมันสามารถช่วยให้คุณชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไป  Merkel แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเธอเป็นปรมาจารย์ในการเข้าช่วยเหลือในนาทีสุดท้าย  เวลาสื่อสัมภาษณ์ เธอจะกล่าวว่า ยูโรบอนด์หรือ ต้องข้ามศพเธอไปก่อน  แต่ในความเป็นจริงแล้ว เธอจะสั่งให้ Wolfgang Schauble รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปหาหนทางที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตยูโรด้วยการอนุญาตให้ธนาคารกลางยุโรปเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ธนาคารซึ่งเมื่อวิเคราะห์ให้ดีแล้วก็เป็นเงินของผู้เสียภาษีชาวเยอรมันอยู่ดี

ความคล้ายคลึงกันทางการเมืองของ Merkel และ Machiavelli ก็คือ 1. เยอรมันเป็นประเทศที่เศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในสหภาพยุโรป  เมื่อเกิดวิกฤตสินเชื่อประเทศลูกหนี้ทั้งหลายต่างต้องพึ่งพาความเต็มใจของเยอรมันในการค้ำประกันหนี้   แท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เนื่องจาก Merkel ไม่ได้เป็นทั้งกลุ่มสร้างยุโรปและกลุ่มต่อต้านการรวมตัวจึงเป็นที่มาของ Merkiavellian  นั่นคือ Merkel มักไม่ปฏิเสธและไม่ตอบรับ แต่จะตอบทั้งรับและปฏิเสธ  2. การไม่เลือกทางใดทางหนึ่งนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติได้อย่างไร อำนาจแบบ Merkiavelli เกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะไม่ทำอะไร ศิลปะของความชักช้าโดยเจตนานี้เป็นรากฐานที่เยอรมันใช้ในการแก้วิกฤตตลอดเวลา  การแสดงท่าทีลังเลเป็นการบีบบังคับไปในตัว  หากเยอรมันปฏิเสธการช่วยเหลือ ประเทศลูกหนี้ย่อมถึงกาลอวสานอย่างแน่นอน

 การควบคุมโดยไม่ตั้งใจด้วยการบีบบังคับให้ใช้นโยบายมัธยัสถ์ได้ทำให้อำนาจถูกเปลี่ยนมือโดยไม่จำเป็นต้องมีกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ   การไม่ยอมตัดสินใจทำให้เยอรมันเข้าสู่อำนาจที่สูงสุดในยุโรปได้อย่างซ่อนเร้น  ดังนั้นอำนาจใหม่ของเยอรมันในครั้งนี้มิได้มีพื้นฐานมาจากกำลัง แต่มาจากเศรษฐกิจ หรืออาจเรียกว่า Fourth Reich  การที่ Merkel สามารถสร้างแรงกดดันไม่ได้เป็นผลจากตรรกะของสงคราม แต่มาจากตรรกะของความเสี่ยงซึ่งก็คือ ภัยคุกคามจากการล่มสลาย  กลยุทธ์ของการปฏิเสธความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นไม่ทำอะไร ไม่ลงทุน ไม่ให้เงินทุน ไม่ให้เครดิต ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของเยอรมันในช่วงที่สหภาพยุโรปมีความเสี่ยงทางการเงินนั่นเอง  

3. ทำอย่างไรเยอรมันจึงประสบความสำเร็จในงานที่ดูเหมือนจะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ในการรวมเอาการเลือกตั้งในประเทศเข้ากับบทบาทของกลุ่มสร้างยุโรป   วิธีการทุกอย่างที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเงินยูโรนั้นจะได้จากการผ่านความเห็นชอบโดยนักการเมืองภายในก่อนซึ่งก็ต้องส่งเสริมผลประโยชน์ของชาวเยอรมันและตำแหน่งของ Merkel   Merkiavelli ตอบสนองต่อปัญหาวิกฤตด้วยการหงายไพ่สำคัญนั่นคือ ยุโรปที่เหมือนเยอรมัน  Merkel กล่อมคนในประเทศว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครเอาภาษีของชาวเยอรมันไปใช้   ส่วนในงานระหว่างประเทศ เธอก็เลือกที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อชาวยุโรปด้วยการใช้นโยบายที่ค่อนข้างเข้มงวด   เธอให้ทางเลือกแค่จะเป็น German Euro หรือไม่มียูโรเลย  เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การเป็นที่รักดีกว่าเป็นที่หวาดกลัว  แต่หากไม่สามารถได้ทั้งความรักและความกลัว Merkel เลือกความกลัวมากกว่า   นโยบายที่แท้จริงของ Merkel ก็คือเลือกให้ชาวต่างชาติกลัว แต่เลือกให้ชาวเยอรมันรัก

4. Merkel เลือกที่จะใช้สูตรที่เคยทำให้เยอรมันประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นั่นคือ ประหยัดๆๆๆ เพื่อเสถียรภาพ  เธอจึงตัดทุกสิ่งทุกอย่างทั้งบำนาญ การศึกษา การวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน

องค์ประกอบ 4 ประการของ Merkiavellianism นั่นคือ 1. การรวมกันแบบรัฐ และการสร้างยุโรป 2. ศิลปะของความชักช้าเพื่อกดดัน  3. ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในประเทศก่อน และ 4. วัฒนธรรมของเยอรมันในเรื่องเสถียรภาพได้เสริมสร้างกันและกัน รวมทั้งสถาปนาศูนย์กลางของอำนาจขึ้นที่เยอรมัน  Merkiavelli อาจทำให้ต้องละวิธีการด้านประชาธิปไตยไปบ้างเพื่อให้นโยบายมัธยัสถ์แบบเยอรมันแผ่ขยายไปทั่วยุโรป

เหตุใดการเล่นบทได้-ไม่ได้ของรัฐบาลเยอรมันในการสนับสนุนเงินยูโรและช่วยเหลือสหภาพยุโรปทำให้ชาวเยอรมันได้อำนาจในยุโรป   ในสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าประเทศที่มั่งคั่งกว่าและมีอำนาจมากกว่าสามารถที่จะใช้อำนาจทางการเงินในการเรียกความร่วมมือหรือได้รับอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มขึ้น  ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ย่อมเกรงว่าพวกเขาจะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำสั่งของผู้ให้กู้  ดังนั้นไม่ว่าประเทศจะใหญ่หรือเล็ก แต่หากพวกเขาติดกับดักหนี้ อำนาจของเยอรมันย่อมเพิ่มขึ้น  แท้ที่จริงแล้ว Merkel มิได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เพียงแต่เธอเห็นโอกาสและฉวยมันไว้เพื่อประโยชน์ของเธอทั้งในเยอรมันและต่างประเทศ  อย่างไรก็ดี Merkiavelli คงใช้ได้ผลไม่นาน ทั้งนี้เพราะนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดไม่ก่อผลดีในระยะยาว ซ้ำร้ายวิกฤตยูโรนี้ยังไม่มีใครเห็นไฟที่ปลายอุโมงค์เลย

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ล้วนเป็นหนี้กันถ้วนหน้า แต่เศรษฐกิจของเยอรมันยังคงรุ่งเรืองต่อไป  สื่อต่างแส่ส้องถึงความภาคภูมิใจบนพื้นฐานของสิ่งที่ประชาชนรับรู้   ชาวเยอรมันคิดว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่บัณฑิตของยุโรปเท่านั้น แต่เป็นถึงระดับปรมาจารย์เลยทีเดียว นั่นหมายความว่า พวกเขาเป็นคนสำคัญเช่นกัน  ความเป็นเยอรมันได้กลายเป็นความสากลเสียแล้ว นั่นหมายความว่า ไม่เพียงชาวยุโรปจะเดินทางเดียวกับเยอรมันเท่านั้น   เยอรมันในวันนี้คือยุโรปในวันหน้าด้วย  ประสบการณ์ทางสังคมของชาวเยอรมันและคุณค่าทางการเมืองที่พวกเขานับถือเป็นที่สิ้นสุด  พวกเขายังเชื่อว่าอะไรที่ดีต่อเศรษฐกิจเยอรมันย่อมถูกต้องสำหรับเศรษฐกิจยุโรปทั้งหมดด้วย   ชาวยุโรปทั้งปวงกำลังจะกลายเป็นเยอรมันไปหมด  หากใครต้องการดูตัวอย่างต้องมาดูที่เยอรมัน

 การปฏิรูปที่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเกิดขึ้นในปี 2002-3 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มแรงกดดันให้คนว่างงานยอมรับงานที่ต่ำกว่าความสามารถด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำเกิน  ต้นทุนของนายจ้างก็ลดลงจากการลดสวัสดิการด้านสุขภาพและเงินบำนาญ  อย่างไรก็ดีชาวเยอรมันได้เห็นผลของความเสียสละก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปี 2006  นอกจากนี้ความสำเร็จของเยอรมันส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากการที่เพื่อนบ้านอ่อนแอจากปัญหาวิกฤตยูโร  นโยบายมัธยัสถ์ได้ก่อให้เกิดผลตามมาที่เหมือน ๆ กัน นั่นคือ ความไม่ปลอดภัยถ้วนหน้า ทั้งนี้เพราะงานกว่าครึ่งที่เกิดขึ้นใหม่เป็นงานชั่วคราวส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น และความแตกต่างของรายได้เพิ่มขึ้น  ซ้ำร้ายนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดได้ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเลวร้ายลงจนก่อให้เกิดผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้จากการที่เศรษฐกิจถดถอยจนทำให้รายได้จากภาษีลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น งบประมาณขาดดุลจึงมากขึ้น รัฐจำเป็นต้องตัดงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกอันเป็นที่มาของวงจรอุบาทว์ในประเทศลูกหนี้ทั้งหลาย

ใจกลางของนโยบายนี้มีแต่คำว่าไม่โดยไม่มีคำว่าใช่อยู่เลย  ไม่ว่าจะเป็นยูโรบอนด์ เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม หรือการให้ความช่วยเหลือโดยตรงกับธนาคาร รวมทั้งไม่มีโครงการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย  ชาวเยอรมันใช้บทเรียนในการรวมเอาประเทศล้มละลายมาเป็นตัวอย่างในการจัดการกับปัญหายุโรปโดยลืมคำว่าสมัครสมานสามัคคีไปเสียหมดแล้ว  กุญแจสำคัญของความผิดพลาดในการใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดของเยอรมันมิได้เกิดจากการให้ความหมายของคำว่าดีกับยุโรปตามความเห็นของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการที่เยอรมันเชื่อว่าพวกเขามีอำนาจที่จะตัดสินใจแทนประเทศอื่นด้วย  เยอรมันคิดว่าพวกเขาเป็นพวกรับผิดชอบ ในขณะที่ประเทศอื่นเต็มไปด้วยคนเกียจคร้านที่ต้องเรียนรู้ความหมายของวินัยทางการคลัง การเสียภาษีที่ดี ทัศนคติที่ดีในการดูแลธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะทำความสะอาดบัญชีให้ปลอดจากหนี้ พร้อมไปกับดูแลสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่า ชาวยุโรปใต้ต้องการผู้ฝึกสอนคนใหม่หรือต้องรับการศึกษาใหม่

การหลอกหลอนของอดีตถูกเก็บงำไม่ได้ง่าย  แม้แต่ปัจจุบันลัทธิฟาสซิลส์ก็ยังวนเวียนอยู่ในความทรงจำ  ชาวเยอรมันไม่ต้องการได้รับการจดจำว่าเป็นผู้ก่อสงครามหรือล้างเผ่าพันธุ์ แต่พวกเขาต้องการได้รับการขนานนามว่าเป็นปรมาจารย์ของยุโรป และเป็นผู้ให้ความรู้แจ้งแก่ยุโรป  แม้ว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปจะก่อผลดีให้กับสมาชิกมาโดยตลอด  แต่การรวมตัวกันเป็นยุโรปนั้นกลับมีทั้งแบบเท่าเทียมกันและพึ่งพากันแบบลำดับขั้น  เช่น ประเทศใหญ่และเล็ก มีอำนาจมากและน้อย ลูกหนี้กับเจ้าหนี้  การบีบบังคับให้ประเทศลูกหนี้ต้องดำเนินนโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดตามที่เยอรมันต้องการนั้นเป็นเครื่องยืนยันอย่างแจ้งชัดถึงการพึ่งพากันในสหภาพยุโรปเป็นแบบลำดับขั้น

ปัจจุบันการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วไป สังเกตจากการลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนของประชาชนในประเทศลูกหนี้ นั่นหมายความว่า ผู้กำหนดนโยบายอาจจำเป็นต้องหวนกลับไปปฏิบัติตามหลักการเบื้องต้น 4 ข้อของการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปเสียใหม่ นั่นคือ หลักความยุติธรรม หลักความเท่าเทียมกันหรือเสมอภาค วิธีการที่ประเทศใหญ่ปรนนิบัติประเทศเล็ก หลักความปรองดองกันหรือภราดรภาพ และหลักการไม่ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันเพื่อป้องกันมิให้ประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่าหาประโยชน์จากประเทศอ่อนแอเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว  เยอรมันได้ฝ่าฝืนหลักการทั้งสี่ไปหมดแล้ว

หากสหภาพยุโรปต้องการออกจากความยุ่งเหยิงในปัจจุบัน พวกเขาอาจจำเป็นต้องก่อตั้งสถาบันใหม่  วิธีการที่น่าจะเกิดขึ้นน่าจะเป็นไปตามที่ Jean-Jacques Rousseau เขียนไว้ในสัญญาประชาคมก็คือ เมื่อใดที่ประชาชนต้องการที่จะเอาชนะรัฐ พวกเขาก็จะพบหนทางที่จะเป็นอิสระและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองผ่านทางสัญญาประชาคม  แท้ที่จริงแล้วสหภาพยุโรปมิได้เป็นสังคมของประเทศเดียว  ลักษณะของสหภาพยุโรปเป็นเหมือนกับสังคมหลังการเป็นชาติที่เกิดจากการรวมตัวของหลาย ๆ ชาติ  ความท้าทายของสหภาพยุโรปก็คือ การหารูปแบบของสังคมที่จะทำให้คนในสังคมได้รับการปกป้องตามกฎหมายด้วยอำนาจของคนในสังคมเอง หรือการหารูปแบบของสังคมที่สามารถใช้อำนาจของคนในสังคมเพื่อปกป้องกันเองอย่างถูกกฎหมาย

สัญญาประชาคมใหม่ต้องปกป้องอิสรภาพที่ชาวยุโรปเริ่มเคยชินไว้ อีกทั้งยังต้องปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามของความเสี่ยงและทุนนิยมเสรีที่ผลักภาระมากมายไว้บนบ่าของประชาชน  นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดที่ลูกหนี้แต่ละประเทศยอมรับเป็นนโยบายที่ไม่ยุติธรรมกับประชาชนอย่างยิ่ง  หลังจากที่พวกเขาต้องยอมใช้เงินที่มีค่าเงินแข็งเกินไป นายธนาคารทั้งหลายกลับหนีไปพร้อมกับความเสียหายอันเกิดจากการพนันของตัวเอง  ทำไมรัฐบาลต้องช่วยเหลือนายธนาคารแทนที่จะเป็นเรือชูชีพให้กับประชาชน  ประชาชนพบว่าพวกเขาถูกทิ้งไว้กับพายุของวิกฤตสินเชื่อที่กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากทวีป ทิ้งไว้แต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  สัญญาประชาคมใหม่ควรมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีทางเลือกว่าเป็นสวัสดิการรัฐหรือกลุ่มปฏิรูปที่แฝงเร้นในรูปแบบของเสรีนิยมใหม่เท่านั้น

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะแบ่งปันคุณค่าระหว่างกัน แต่สิ่งนี้มิได้เกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว  ชาวเยอรมันและชาวกรีซต่างควรที่จะลองเข้าไปอยู่ในฐานะของกันและกันบ้างเพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งและเข้าใจกันมากขึ้น   การที่เยอรมันบีบบังคับให้ทุกประเทศที่เยอรมันเข้าช่วยเหลือทางการเงินต้องใช้นโยบายมัธยัสถ์อย่างเข้มงวดนี้ได้ปลุกความทรงจำของผู้คนให้นึกถึงช่วงเวลาที่เยอรมันขยายจักรวรรดิทางทหาร 

Jan Hildebrand เขียนไว้ใน Die Welt ว่า ใครก็ตามที่ต้องการให้หนี้ได้รับการรับผิดชอบร่วมกัน ก็ต้องยอมรับว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป รายได้และค่าใช้จ่ายย่อมไม่สามารถตัดสินใจได้โดยลำพัง  การรวมหนี้เข้าด้วยกันต้องมาพร้อมสัญญาประชาคม  อย่างไรก็ดีการนำเสนอทั้งสองสิ่งนี้พร้อมกันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย แต่หากการรวมทั้งหนี้และการเมืองประสบความสำเร็จ ตลาดย่อมยินดีจากการที่มีผู้รับผิดชอบกับความสูญเสียอย่างแน่นอน

ประชาชนที่กำลังต่อสู้กับนโยบายเยอรมันยุโรปจะต้องเรียนรู้ที่จะให้ความร่วมมือกันในแต่ละประเทศเพื่อให้การรวมตัวกันของยุโรปที่จะมากขึ้นนี้เกิดขึ้นแบบล่างสู่บนบนพื้นฐานของหลักการสังคมประชาธิปไตยซึ่งพวกเขาสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  วิกฤตนี้แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วว่ามีความไม่สมดุลระหว่างกลุ่มทุนที่มีอำนาจมากแต่มีความถูกต้องตามกฎหมายน้อย กับกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีอำนาจน้อยแต่ถูกต้องตามกฎหมาย   อย่างไรก็ดีความร่วมมือระหว่างกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มสร้างยุโรปอาจทำให้เกิดการร่วมมือกันแบบนานาชาติมากขึ้น แต่สิ่งที่ทุกคนได้เห็นและไม่สามารถที่จะต้านทานได้ในปัจจุบันก็คือ เยอรมันยุโรป 

วิกฤตเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดรอยแยกระหว่างยุโรปเหนือและใต้  ทั้ง ๆ ที่งานของผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบันก็คือ การสร้างยุโรปที่สามารถที่จะหาคำตอบให้กับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายในทุก ๆ วันโดยไม่ทำให้เกิดความรุนแรงหรือความเกลียดชังระหว่างชาติและยังคงสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปด้วย  แต่ความอหังการในการจัดการกับชาวยุโรปใต้ที่ถูกกล่าวหาว่าขี้เกียจและไร้วินัยของชาวยุโรปเหนือไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความป่าเถื่อนโหดร้ายและกักขฬะของวัฒนธรรมเท่านั้น ยังรวมถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นที่คนส่วนใหญ่เคยคิดว่ามันลบเลือนไปหมดแล้วเสียอีกด้วย  ทำไมชาวยุโรปถึงไม่คิดว่าชาวกรีซไม่ได้เป็นเพียงลูกหนี้เท่านั้น พวกเขายังเป็นต้นกำเนิดของอารยะธรรมยุโรปซึ่งเป็นที่มาของคุณค่าและแนวคิดของคนในสังคมปัจจุบันด้วย   ชาวเยอรมันหลงลืมไปแล้วหรือว่าพวกเขาเป็นหนี้ภูมิปัญญาในประวัติศาสตร์ของชนชาติเหล่านี้ด้วย หากไม่มีคุณค่าทางด้านอิสรภาพและประชาธิปไตย ไม่มีวัฒนธรรมเก่าแก่และเกียรติภูมิ ยุโรปก็ไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งนั้น

ข้อคิดเห็น หนังสือที่มีเพียง 120 หน้าเล่มนี้อ่านยากมากเพราะไม่เพียงมันจะถูกเขียนโดยชาวเยอรมัน หัวข้อที่เขียนยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีทางด้านการเมืองการปกครองที่ยุ่งยากซับซ้อน  ถึงกระนั้นก็ตามหนังสือเล่มนี้ก็ยังควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของผู้กำหนดนโยบายได้อย่างละเอียดลออ อีกทั้งยังย้ำเตือนให้เห็นว่า นักการเมืองก็คือนักการเมืองที่เหมือนกันทั่วโลก พวกเขาเห็นความสำคัญแต่กับการได้เสียงและปกป้องผลประโยชน์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น

 

 

Rating: 5 stars

Tags: , , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.