You are here: Home > Econ & Business, Political Science > The Future of Europe : Reform or Decline / โกงเนียน ๆ แบบยุโรป

The Future of Europe : Reform or Decline / โกงเนียน ๆ แบบยุโรป

โดย พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร

ผลสำรวจในยุโรปเมื่อไม่นานมานี้พบว่า สหรัฐเป็นศัตรูคุกคามความสงบสุขของโลกรองจากอิสราเอลและเกาหลีเหนือ  ส่วนในสหรัฐนั้น กระแสการต่อต้านฝรั่งเศสก็แพร่กระจายไปทั่ว  ไม่เคยมีครั้งใดหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝากของแอตแลนติกจะตกต่ำมากขนาดนี้  ความจริงก็คือ สหรัฐฯ และยุโรปในปัจจุบันต่างกันมากโดยเฉพาะทางด้านความคิด  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชั่วโมงการทำงาน เสถียรภาพ ความมั่นคง สิทธิขั้นพื้นฐาน และการเสียภาษี  The Future of Europe : Reform or Decline หนังสือขนาด 200 หน้าที่ถูกเขียนขึ้นในเดือนกันยายนปี  2006 ของ Alberto Alesina นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน ประธานภาควิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเล่มนี้จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปจนทำให้ทั่วทั้งทวีปไม่สามารถจะแข่งขันได้ในระยะยาวหากไม่ปรับตัวหรือปฏิรูป

ชาวอเมริกันและชาวยุโรปคิดต่างกัน ทั้งในเรื่อง ความยากจน ความเท่าเทียมกันทางสังคม การกระจายรายได้ การปกป้องทางสังคม และสวัสดิการ  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าคนจนควรช่วยเหลือตัวเอง ในขณะที่ชาวยุโรปเชื่อว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการยกระดับฐานะของคนจน  การศึกษาของ Rafael Di Tella พบว่า ชาวยุโรปจะรู้สึกมีความสุขน้อยลงเมื่อสังคมมีความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ชาวอเมริกันไม่รู้สึกอะไรหากความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น  ความแตกต่างในแนวความคิดที่สำคัญในเรื่องนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบายทั้งด้านการศึกษา การควบคุม การกำกับดูแล ค่าใช้จ่ายภาครัฐ การอพยพ ความแนบแน่นทางสังคมและบทบาทของรัฐบาล  การที่ชาวยุโรปส่วนใหญ่ยินดีเสียภาษีสูง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดเป็นเพราะ พวกเขาไม่ชอบความไม่เท่าทียมกันจนทำให้ดูเหมือนว่าพวกเขามีวัฒนธรรมการพึ่งพาหรืออุปถัมภ์

กลุ่มที่ได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนามักอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สถานะของพวกเขาแตกต่างกันมากขึ้น และความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น  การออกแบบการปฏิรูปที่จะทำให้ได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก  ปัจจุบันรัฐบาลยุโรปมีขนาดใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งทวีปแล้ว  เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการให้ความช่วยเหลือคนตกงาน ครอบครัวที่ยากจน และบำนาญซึ่งก็คือการกระจายรายได้จากคนหนุ่มที่ร่ำรวยไปยังคนแก่ที่ยากจนนั่นเอง 

เป็นที่ทราบกันดีว่า การกระจายรายได้ที่ขึ้นกับนโยบายการกำกับดูแลตลาด ค่าแรงขั้นต่ำ และการศึกษาของยุโรปนั้นให้ผลประโยชน์กับคนชั้นกลางอันเป็นกลุ่มคนที่รัฐให้การปกป้องสูงสุด  การควบคุมด้านแรงงานเป็นการปกป้องคนในสหภาพแรงงานจนส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้   การที่ชาวยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องความไม่เท่าทียมกันมากเป็นเพราะยุโรปต้องการการกระจายความมั่งคั่งมากกว่าสหรัฐฯ  พวกเขายังเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันก่อนเสียภาษีในยุโรปมีมากกว่าด้วย  ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  ในสหรัฐฯ ผลตอบแทนจากการเรียนหนังสือสูง ๆ นั้นมากกว่าในยุโรปมากมาย  ชาวอเมริกันถึง 60% เชื่อว่า คนจนเพราะขี้เกียจ แต่ชาวยุโรปแค่ 26% เท่านั้นที่มีความเชื่อเช่นนั้น  ชาวยุโรปถึง 60% เชื่อว่าคนจนมักตกอยู่ในวังวนของความจน ในขณะที่ชาวอเมริกันแค่ 29% มีความเชื่อเช่นนั้น  คนจนชาวอเมริกันไม่กังวลกับเรื่องความไม่เท่าเทียมกันเพราะพวกเขาเชื่อว่า ทุกคนสามารถที่จะไต่ระดับให้พ้นความยากจนได้ และมันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือ  ความเชื่อที่ต่างกันนี้มีฐานมาจากการที่สังคมของสหรัฐฯ ไม่มีระบบศักดินาหรือชนชั้นมาก่อน  แต่ชาวยุโรปกลับเชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดเตรียมโอกาส รายได้ และการปกป้องทางสังคมจนทำให้เกิดการกำกับดูแลทางด้านตลาดอย่างมหาศาลและเป็นภาระหนักด้านภาษี  

ความแตกต่างด้านแนวคิดในคริสต์ศตวรรษ 20 ระหว่างชาวอเมริกันและชาวยุโรปมีจุดเริ่มต้นจากวัฒนธรรมยุโรปที่หลงเหลือมาจากแนวคิดของมาร์กที่ว่า ในระบบชนชั้นนั้น มันเป็นไม่ได้ที่คนจนจะก้าวพ้นความยากจนเอง  การมีสัดส่วนของตัวแทนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เพราะตัวแทนแต่ละคนจะปกป้องผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยเอง  สภายุโรปจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาอเมริกันตรงที่ สหภาพยุโรปจะเน้นในเรื่องสิทธิทางสังคม ส่วนสหรัฐฯ เน้นการปกป้องลิขสิทธิ  การที่ลัทธิมาร์กไม่มีอิทธิพลมากนักในสหรัฐฯ  เป็นเพราะ 1. สหรัฐฯ อยู่ห่างไกลจากรัสเซียต้นกำเนิดของลัทธิมาร์กมากทำให้ความเชื่อในลัทธินี้มีน้อย  2. สหรัฐมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติทำให้การเกิดชนชั้นเป็นไปได้ยาก  3. สหรัฐฯ ไม่เคยรบกับต่างชาติในบ้านตั้งแต่ปี 1812 เป็นต้นมา ทำให้การยกระดับฐานะของประชาชนทำได้ง่ายขึ้น  

ความแตกต่างด้านเชื้อชาติและสีผิวเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ และยุโรปต่างกัน  การศึกษาพบว่าชาวอเมริกันผิวขาวไม่ชื่นชอบนโยบายการกระจายรายได้เท่ากับชาวอเมริกันผิวสี เพราะพวกเขาคิดว่านโยบายเหล่านี้เข้าข้างคนผิวสีมากเกินไป  แท้จริงแล้วสีผิวมีส่วนอย่างมากต่อนโยบายของสหรัฐฯ เช่น รัฐที่มีสวัสดิการมากกลับเป็นรัฐที่มีคนขาวมากกว่าคนผิวสี 

โดยทั่วไปสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ มักต่อรองค่าจ้างกับนายจ้างเอง การที่พวกเขาไม่มีกลุ่มอยู่ในรัฐบาลจึงทำให้พวกเขาไม่ไว้วางใจการข้องเกี่ยวของภาครัฐ  ในขณะที่สหภาพแรงงานในยุโรปส่วนใหญ่มีส่วนในพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พวกเขาจึงพัฒนาการต่อรองแบบสามฝ่ายขึ้นได้  สวัสดิการต่าง ๆ ในยุโรปจึงมักเป็นผลขอองการเจรจาต่อรองจากสามฝ่าย  อย่างไรก็ดีการที่ยุโรปเริ่มมีผู้อพยพเข้าไปอยู่มากขึ้นน่าที่จะทำให้ปัญหาเรื่องสีผิวและชนกลุ่มน้อยก่อแรงกดดันต่อนโยบายในอนาคตด้วย  

ระบบสวัสดิการของยุโรปกำลังก่อปัญหา 3 ข้อคือ 1. ปัญหาทางด้านการคลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจต่ำ ควบคู่ไปกับอัตราการเกิดต่ำ  2. การที่รัฐเข้าแทรกแซงตลาดทำให้คนร่ำรวยจำนวนน้อยสามารถที่จะหาประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองได้  3. การเก็บภาษีจำนวนมากเกินไปทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลงเพราะคนไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายฐานะได้   เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายฐานะเองได้ ก็ยิ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐส่งผลให้รัฐต้องเก็บภาษีสูงขึ้นจนทำให้ผู้คนไม่สามารถเคลื่อนย้ายฐานะได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไปในที่สุด  ปัญหาที่ยุโรปต้องเผชิญขณะนี้ก็คือ พวกเขาต้องออกแบบระบบรัฐสวัสดิการที่ไม่ทำให้ระบบการคลังล้มละลายและไม่บิดเบือนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ  

ช่องแคบยิบรอลต้าเป็นช่องแบ่งระหว่างคนยุโรปที่มีรายได้ต่อหัวประชากรปีละ 22,800 ดอลลาร์ กับชาวแอฟริกันเหนือ 210 ล้านคนที่มีจีดีพีต่อหัวประชากรปีละเพียง 1,800 ดอลลาร์ และชาวแอฟริกันใต้ 700 ล้านคนที่มีจีดีพีต่อหัวประชากรปีละ 500 ดอลลาร์เท่านั้น  ช่องแคบเพียงนิดเดียวที่เชื่อมด้วยสะพานนี้ได้ทำให้ชาวแอฟริกันมากมายหลั่งไหลกันเข้าไปในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมที่มีวัฒนธรรมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชาวยุโรป

ยุโรปจึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีการของสหรัฐฯ ไว้  การศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่จะเชื่อถือคนชนชาติเดียวกันมากกว่า การที่ชาวอเมริกันผิวขาวไม่นิยมรัฐสวัสดิการส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พวกเขาเชื่อว่ามันมีไว้เพื่อคนกลุ่มน้อย  โดยทั่วไปเมืองที่มีคนกลุ่มน้อยมากมักมีปัญหาทางด้านสังคมและมีอาญากรรมมาก ซ้ำยังเก็บภาษีได้น้อยอีกต่างหาก  แต่การกำจัดชนกลุ่มน้อยก็ไม่ใช่นโยบายที่ควรทำหรือทำได้ง่าย  ๆ

นโยบายที่ไม่มีการแบ่งแยกสีผิว ร่วมกับตลาดเสรีและการให้ความสำคัญกับคุณค่าของครอบครัวมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างงานให้กับคนกลุ่มน้อยเพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตเป็นครอบครัวอยู่ได้  แท้ที่จริงแล้วคนกลุ่มน้อยในสังคมสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ  จลาจลในฝรั่งเศสเมื่อปี 2005 เป็นเพียงสัญญาณแรกของความวุ่นวายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเรื่อย  ๆในไม่ช้า  เมื่อผู้อพยพชอบก่ออาชญากรรม  เหตุใดรัฐบาลจึงต้องให้รางวัลพวกเขาด้วยรัฐสวัสดิการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมของยุโรปกำลังกลายเป็นสังคมของคนแก่โดยมีสัดส่วนคนสูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 26% ในทศวรรษที่ 1990 เป็น 35% ในทศวรรษที่ 2000  ยิ่งกว่านั้นยุโรปก็ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะเจือจานผู้อพยพชาวแอฟริกันด้วย  นโยบายที่พวกเขาควรทำก็คือ 1. เปิดเสรีทางการค้ากับแอฟริกันให้มากขึ้น  ทั้งนี้เพราะนโยบายปกป้องการเกษตรของยุโรปทำให้ชาวแอฟริกันไม่สามารถขายผลผลิตได้  พวกเขาจึงหนีความยากจนเข้ามาในยุโรปเป็นจำนวนมาก

2. เปิดเสรีให้กับแรงงานมีฝีมือชาวยุโรปตะวันออกมากขึ้นก่อนที่พวกเขาจะย้ายไปสหรัฐฯ หมด ทั้งนี้เพราะชาวยุโรปตะวันออกมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาวยุโรปตะวันตกเลย แม้ว่านโยบายนี้อาจทำให้การแข่งขันของแรงงานมีฝีมือเข้มข้นมากขึ้นก็ตาม แต่การปิดกั้นดินแดนรังแต่จะทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนในยุโรปตะวันออกหมด  และ 3. ยุโรปกลายเป็นประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมบริการมากขึ้น แรงงานไร้ฝีมือย่อมมีโอกาสที่จะตกงานมากขึ้น

คลื่นผู้อพยพคงยังดำเนินต่อไปในยุโรป  รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรที่จะมีมาตรการที่จะเลิกนโยบายตามแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากนักล็อบบี้ และดำเนินการจัดหาแรงงานให้เหมาะสมเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ ออกใบเขียวให้กับผู้อพยพในสาขาที่ขาดแคลน 

ต้นทศวรรษที่ 1970 ชาวอเมริกันและชาวยุโรปต่างทำงานด้วยชั่วโมงทำงานพอ ๆ กัน แต่ปัจจุบันชาวยุโรปทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานที่น้อยกว่ามาก  เมื่อชาวยุโรปมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขามักหันเข้าหาความบันเทิง แทนที่จะทำเงินให้มากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าต่าง ๆ เหมือนอย่างชาวอเมริกัน  ในสายตาของคนยุโรป พวกเขาเหนือกว่าชาวอเมริกันเพราะพวกเขามีความสุข สนุกสนานมากกว่า และยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าด้วย  

สาเหตุที่ชาวยุโรปทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ มาจากเรื่อง ภาษีรายได้ จำนวนชั่วโมงทำงาน อายุเกษียณ เวลาพักผ่อน และการทำงานล่วงเวลาซึ่งล้วนถูกจำกัดจากสหภาพแรงงาน  สิ่งกีดขวางเหล่านี้นี่เองที่ทำให้รายได้ไม่เพิ่มขึ้นและทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญเริ่มเกิดปัญหา  แต่ชาวยุโรปก็ยังคงไม่สามารถที่จะทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานเท่ากับชาวอเมริกันได้ เพราะ 1. พวกเขาต้องแบ่งเวลาทำงานให้คนหนุ่มสาวได้มีโอกาสทำงานบ้าง เพื่อลดอัตราการว่างงาน  2. พวกเขาเคยชินกับการหยุดงานนานเพื่อไปเลี้ยงลูก 3. จำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของพวกเขาต่ำมานานแล้ว ไม่สามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้  ในบางประเทศ แรงงานในระบบมีน้อยอยู่เป็นเวลานานแล้ว และแรงงานนอกระบบเหล่านี้ก็ล้วนมีความสุขดีกับการท่องเที่ยวพักผ่อน เป็นแรงงานแอบแฝงที่บ้าน หรือทำงานในตลาดมืดที่รัฐไม่สามารถรับรู้รายได้ได้ เช่น อิตาลี  

ส่วนสาเหตุที่ชาวยุโรปไม่นิยมทำงานมากเหมือนชาวอเมริกันเป็นเพราะ 1. ภาษี ยิ่งภาษีมากเท่าไหร่ คนส่วนหนึ่งก็จะหันมาหาความสุขด้วยการพักผ่อนแทน หรือหันมาทำงานตลาดมืดเพื่อเลี่ยงภาษี  ข้อมูลบ่งว่า ยิ่งภาษีสูงเท่าใด รายได้ที่แรงงานจะนำกลับบ้านก็ยิ่งลดลงและพวกเขาก็จะทำงานน้อยลงด้วย  Edward Prescott นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2004 กล่าวว่าการที่ชาวอเมริกันและชาวยุโรปทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงต่างกันเป็นผลมาจากภาษีรายได้ล้วน ๆ 

นักเศรษฐศาสตร์แรงงานพบว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของอุปทานของแรงงานต่อค่าแรงหลังหักภาษีจะน้อยในผู้ชายและจะสูงในผู้หญิง  ข้อมูลนี้บอกเป็นนัยได้ว่า 1. เนื่องจากผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลักให้กับครอบครัว ไม่ว่าสถานการณ์ทางด้านแรงงานจะเป็นเช่นใด พวกเขายังต้องทำงานอยู่ดี ไม่มีทางเลือก 2. แรงงานคนที่สองของครอบครัวมีความอ่อนไหวต่อภาษีเป็นอย่างมาก  ภาษีที่สูงเกินไปจะส่งผลให้แรงดึงดูดของการทำงานเต็มเวลาลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องแลกกับเวลาของการเลี้ยงดูบุตรหลาน  ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิชาการบางคนก็แย้งว่า เวลาทำงานที่ต่างกันของชาวอเมริกันและชาวยุโรปเป็นผลมาจากกฎหมายที่กำหนดวันพักผ่อนถึงปีละ 4 สัปดาห์ ในขณะที่ไม่มีข้อบังคับนี้ในสหรัฐฯ  

แท้ที่จริงแล้ว การที่เวลาทำงานของแรงงานลดลงเรื่อย ๆ ในยุโรปนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 1970 อันเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น  พวกเขาจึงพยายามแบ่งกันทำงานเพื่อลดอัตราว่างงาน และสหภาพแรงงานเกือบทุกประเทศต่างเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงาน เช่น ในฝรั่งเศสใน ปี 1981 เมื่อประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตเตอรองเข้ารับตำแหน่ง กลุ่มสหภาพแรงงานก็มีอำนาจมากขึ้นจนกำหนดเวลาทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละ 39 ชั่วโมงเท่านั้น  ฝรั่งเศสเชื่อว่าการกำหนดชั่วโมงทำงาน และการแบ่งงานกันทำจะลดอัตราการว่างงานได้อย่างถาวร  แต่การที่สหภาพแรงงานพยายามคงระดับค่าจ้าง แต่ลดเวลาทำงานทำให้ค่าแรงสูง ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านแรงงานสูงเกินจนเกิดการย้ายฐานการผลิต และทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น  ยิ่งกว่านั้น สหภาพแรงงานยังเป็นตัวตั้งตัวดีในการเพิ่มเงินบำเหน็จบำนาญ และลดอายุเกษียณโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลี  บางประเทศก็แก้ปัญหาด้วยการให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนนานขึ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานช้าลง   การที่สหภาพแรงงานบริหารด้วยคนสูงวัยหรือพวกเกษียณทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น 

เมื่อคนส่วนหนึ่งได้วันหยุดมากถึง 6 สัปดาห์ พวกเขาย่อมสามารถที่จะท่องเที่ยวได้มากขึ้น คนอื่น ๆ ที่เห็นก็มักอยากได้ด้วย และเมื่อมันกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของทั้งสังคม โอกาสในการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้ยาก  ตัวอย่างนี้นำไปสู่เรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น อายุเกษียณ  ไม่เพียงชาวยุโรปจะมีวันหยุดมากเท่านั้น พวกเขากลับทำงานด้วยประสิทธิภาพลดลงด้วย ทำให้ผลิตภาพของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นมากกว่าชาวยุโรปมาก  เมื่อชาวยุโรปยินดีที่จะทำงานน้อยลง เกษียณเร็วขึ้น รับสวัสดิการมากขึ้นจึงทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มผลิตภาพและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นหมายความว่า อีกไม่ช้าชาวยุโรปคงต้องจนลงเรื่อย ๆ แลกกับความสบายจากการมีวันหยุดมากมายนั่นเอง

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการที่ชาวยุโรปมีคนว่างงานถึง 14 ล้านคนเป็นผลมาจาก 1. ความเข้มงวดในตลาดแรงงานที่มีมากเกินไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการไล่คนออกจากงาน  สหภาพแรงงานมีระเบียบควบคุมจนทำให้บริษัทไม่สามารถที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ ซ้ำยังจำกัดการทำงานล่วงเวลาด้วย  2. การที่รัฐไม่สามารถปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทำให้อัตราว่างงานไม่สามารถลดลงได้  3. การลดการบิดเบือนจนทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน  4. ระบบประกันการว่างงานจะทำให้แรงงานอยากอยู่ในระบบมากกว่าอยู่ในตลาดมืด เพราะการที่แรงงานอยู่ในตลาดมืดมีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือไม่ต้องเสียภาษี 

เมื่อต้นทุนในการไล่คนออกของบริษัทในยุโรปสูงมาก  พวกเขาก็จะระมัดระวังมากในการจ้างงาน และยินดีที่ก็จะหันเข้าหาเทคโนโลยีแทนแรงงานส่งผลให้แรงงานหางานได้ยากขึ้น  เมื่อการไล่คนออกทำได้ยาก รัฐบาลก็ต้องพยายามช่วยเหลือบริษัทมิให้ปิดโรงงานส่งผลให้บริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพยังคงดำเนินธุรกิจได้  แท้ที่จริงแล้วความช่วยเหลือเมื่อตกงานไม่ควรเป็นตัวกระตุ้นให้แรงงานไม่ยอมทำงาน เช่นความช่วยเหลือเมื่อตกงานไม่ควรมากและนานเกินไปเพราะมันจะทำให้แรงงานไม่ยอมทำงานอีกเช่นกัน มันควรเป็นแค่หลักประกันว่าเมื่อแรงงานเดือดร้อน เขาจะได้รับความช่วยเหลือบางส่วนชั่วคราว   เมื่อใดแรงงานปฏิเสธงานใหม่หรือไม่พยายามหางาน ความช่วยเหลือนี้ควรสิ้นสุดลงทันที

  Olivier Blanchard จาก MIT และ Jean Tirole แห่งมหาวิทยาลัยตูลูสเห็นว่า รัฐควรเก็บภาษีการไล่คนออก “Firing Tax” นั่นคือ  โรงงานก็จะไม่ไล่คนออกโดยไม่มีเหตุผล  หากโรงงานไล่คนงานออก โรงงานก็ต้องร่วมกับรัฐในการช่วยเหลือแรงงานด้วย  อิตาลีเป็นอีกประเทศที่การไล่คนออกทำไม่ได้ในทุกกรณี แม้ประเทศนี้จะไม่มีระบบให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานเลยก็ตาม  แต่เมื่อรัฐบาลปฏิรูปกฎหมายที่ทำให้สัญญาจ้างงานไม่เข้มงวดนัก และบริษัทสามารถจ้างงานแบบชั่วคราวได้ อัตราว่างงานจึงลดลงจาก 11%  ในกลางทศวรรษที่ 1990 เหลือเพียง 7.7% ในปี 2005 เท่านั้น  แต่การปฏิรูปนี้ทำให้เกิดแรงงานสองกลุ่มที่ไม่เท่าเทียมกัน นั่นคือ กลุ่มที่ได้รับการปกป้องมาก กับกลุ่มที่ไม่มีการปกป้องเลย  และข้อเสียของการจ้างแรงงานชั่วคราวก็คือ นายจ้างมักไม่ฝึกงานให้กับลูกจ้างเลย  

ในปี 2005 รัฐบาลเยอรมันเองก็ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และลดสวัสดิการคนตกงานด้วยการลดผลประโยชน์จาก 65% ของเงินเดือนสุดท้าย 3 ปีเหลือเพียง 12 เดือนและ 18 เดือนสำหรับลูกจ้างที่อายุมากกว่า 55 ปี  กฎใหม่นี้จะทำให้แรงงานกว่าล้านคนจาก 5 ล้านคนยอมกลับไปทำงานเร็วขึ้น  ผลของกฎหมายนี้ทำให้นายกฯ Schroeder ตกงานแทน  รัฐบาลนอร์ดิกกลับมีระเบียบที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นั่นคือ พวกเขามีเงินสนับสนุนการตกงานที่ดี แต่ก็มีต้นทุนของการไล่ออกต่ำด้วย เช่น เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีต้นทุนการไล่คนออกต่ำสุด แต่ก็มีสวัสดิการสำหรับคนตกงานสูงสุดด้วยการให้ค่าจ้างมากถึง 90% ของค่าเฉลี่ย 12 สัปดาห์ก่อนตกงาน แต่มีเพดานสูงสุดนานถึง 4 ปี หรือมากกว่าหากแรงงานใกล้วัยเกษียณ  แรงงานที่จะได้รับผลประโยชน์เช่นนี้ได้ต้องเป็นแรงงานที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 52 สัปดาห์ใน 3 ปี และต้องยอมเซ็นสัญญาเพื่อเข้าโครงการพัฒนาตัวเอง รวมทั้งยอมรับงานที่ฝ่ายจัดหางานของรัฐจัดหาให้  เมื่อใดที่เขาปฏิเสธงานที่รัฐจัดหาให้ สิทธิประโยชน์ของเขาก็จะสิ้นสุดตามไปด้วย  ถึงกระนั้นก็ตามเดนมาร์กก็เป็นประเทศที่มีอัตราว่างงานต่ำสุดในยุโรปเพียงแค่ 5.4% เท่านั้น เพราะต้นทุนของการไล่คนออกต่ำมาก  Yarn Algan และ Pierre Cahuc กล่าวว่าระเบียบเช่นนี้ไม่สามารถใช้ได้ทั้งยุโรป เพราะประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนมิได้มีระบบการรายงานที่ซื่อสัตย์เช่นเดียวกันกับเดนมาร์ก และวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ก็ไม่เหมือนชาวเดนมาร์กด้วย  

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างบริษัทสัญชาติอเมริกันและยุโรปก็คือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ   ในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ 1. มหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการดึงดูดคนที่เก่งที่สุดเข้ามาร่วมงาน  แทนที่มหาวิทยาลัยในยุโรปจะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น พวกเขากลับให้ความสนใจแต่กับเรื่องภายในจนทำให้นักเรียนเก่ง ๆ หนีไปอยู่สหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยในยุโรปนั้นก็มีความเชื่อผิด ๆ หลายประการ 1. ผู้เสียภาษี มิใช่นักเรียนหรือบริษัทที่ควรเป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัย  2. การจ้างงานในแต่ละภาควิชาเป็นสัญญาจ้างแบบราชการ 3. กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยขาดความยืดหยุ่น  4. เงินเดือนของครูควรเท่ากันหมด  บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยมักมีแต่คำบ่นเรื่องขาดทุนทรัพย์ในการทำวิจัย ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  สถิติบ่งว่า การที่ผลงานวิจัยจากยุโรปมีน้อยไม่ได้เป็นผลมาจากการขาดทุนทรัพย์ แต่เป็นผลจากโครงสร้างที่ขาดแรงจูงใจทั้งต่ออาจารย์และนักศึกษาในการทำวิจัย  การจ่ายค่าแรงและค่าตอบแทนเท่า ๆ กันทั้งกับอาจารย์และนักวิจัยทำให้พวกเขาขาดแรงจูงใจในการทำงาน 

แท้ที่จริงแล้วการที่มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นควรดึงดูดให้ภาคธุรกิจหันมาให้การสนับสนุนทางการเงิน อีกทั้งยังทำให้มหาวิทยาลัยสามารถคิดค่าเล่าเรียนแพง ๆ จากผู้ปกครองได้  ในสหรัฐฯ อาจารย์ที่ไม่เก่ง อาจเกษียณด้วยค่าแรงเพียงแค่ 1.5 เท่าเทียบกับเมื่อตอนเข้างานหากเขารับราชการปกติ  ส่วนอาจารย์ที่เก่งจะได้รับเงินเดือนสูงมากหากทำงานให้กับโรงเรียนธุรกิจดัง ๆ การที่นักเรียนเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนเอง พวกเขาจึงให้ความสนใจกับคุณภาพการศึกษา  ส่วนในอิตาลีนั้น อาจารย์ที่เข้าใหม่อาจได้เงินเดือนไม่สูงมากเท่ากันหมด และพวกเขาก็สามารถที่จะเกษียณด้วยเงินเดือน 3.7 เท่าเทียบกับตอนเข้างานใหม่ ๆ โดยไม่คำนึงผลงาน  เมื่อค่าแรงของอาจารย์มิได้ผูกกับผลงาน ย่อมทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน 

การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งนักวิจัยที่ดีที่สุด นักเรียนที่ดีที่สุด และทุนเล่าเรียนที่ดึงดูดนักศึกษาที่เก่งที่สุด  การที่ระบบของยุโรปเป็นแบบรวมศูนย์และเต็มไปด้วยระเบียบเพื่อให้ดูเหมือนว่าคนที่ได้รับเลือกดีที่สุดและยุติธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่ได้รับเลือกมักเป็นคนธรรมดา ๆ ที่มีความสัมพันธ์หรือรู้จักกับคนเลือกมากกว่า 

กุญแจสำคัญก็คือ แรงจูงใจ แม้ค่าจ้างแรกเข้าจะต่ำ แต่เมื่อเข้าเป็นอาจารย์แล้ว พวกเขาจะได้รับการจ้างตลอดชีวิต แรงจูงใจในการทำวิจัยของอาจารย์จึงหมดไป  เมื่อค่าจ้างต่ำ มหาวิทยาลัยจึงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับอาจารย์ที่ไม่มีผลงานด้วย  ซ้ำคณบดียังไม่กล้าที่จะหยุดยั้งอาจารย์ที่ไปรับงานที่ปรึกษานอกคณะจนทำให้ขาดความสนใจกับงานประจำอีกต่างหาก  ผลก็คือ การเรียนการสอนที่ไม่ได้เรื่อง งานวิจัยที่ไม่เอาไหน และการขาดหายไปของอาจารย์อีกต่างหาก  ยิ่งอาจารย์อาวุโสด้วยแล้ว พวกเขามีค่าแรงสูง แต่ทำงานน้อยลงและให้ความสนใจแต่กับงานนอก โดยยังคงรับเงินเดือนจากภาครัฐเหมือนเดิม  ในสหรัฐฯ นั้น มหาวิทยาลัยใช้ระบบการจ้างงานที่มีแรงจูงใจทางด้านการเงินสูงทำให้อาจารย์ต้องแข่งขันกัน  อาจารย์หนุ่ม ๆ ที่ขยันและเก่งจึงมีรายได้มากกว่าอาจารย์อาวุโสที่ไม่มีผลงาน 

จริงอยู่ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยของยุโรปอาจน้อยกว่าสหรัฐฯ แต่ปัญหาของยุโรปไม่ได้เกี่ยวกับเงิน แต่เกี่ยวกับแรงจูงใจและความต้องการเทคโนโลยีมากกว่า  ความต้องการเทคโนโลยีจะทำให้ผู้วิจัยให้ความสำคัญกับกำหนดเส้นตาย ผลลัพธ์ และความสามารถในการทำเงินจากตลาด  หากขาดแรงจูงใจเหล่านี้การวิจัยต่าง ๆ ก็มักเป็นในทิศทางที่สะเปะสะปะ  โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายทางการทหารเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความต้องการทางด้านการวิจัย  การค้นพบทางด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นไมโครชิป อินเตอร์เน็ท แบตเตอร์รี่ โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูปล้วนเป็นผลมาจากการวิจัยทางด้านการทหารทั้งนั้น และรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งที่แบกรับต้นทุนของการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้  นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารของสหรัฐฯ สูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทางด้านการวิจัย   

การแก้ไขปัญหาของระบบมหาวิทยาลัยและการทำวิจัยในยุโรปจึงไม่ใช่การใส่เงินเข้าไปให้มากขึ้น แต่ควรเป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และกระตุ้นให้ภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีให้มากขึ้น  การเปลี่ยนระบบการจ้างอาจารย์และนักวิจัยให้มีการแข่งขันมากขึ้นแทนที่จะรอให้รัฐสนับสนุนน่าที่จะทำให้ระบบก้าวหน้าขึ้นได้มาก   

2. สิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ทำให้เกิดการทำลายอย่างสร้างสรรค์ นั่นคือ บริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพจะต้องปิดตัวและถูกทดแทนด้วยบริษัทที่มีประสิทธิภาพมากกว่า  ยุโรปกลับขาดทั้งสองกรณี พวกเขาขาดการแข่งขันและมีบริษัทที่รัฐให้การสนับสนุนมากเกินไป อีกทั้งยังพยายามที่จะเก็บบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ไว้จนทำให้บริษัทใหม่ ๆ ไม่สามารถถือกำเนิดได้  แทนที่ผู้บริหารบริษัทในยุโรปจะให้ความสำคัญแต่กับบรรทัดสุดท้ายนั่นคือ กำไรเหมือนอย่างผู้บริหารบริษัทในสหรัฐฯ พวกเขากลับให้ความสำคัญแต่กับนโยบายการปกป้องและการขอรับการสนับสนุนจากรัฐ  เมื่อบริษัทได้รับการปกป้อง CEO ก็ไม่มีแรงกดดันที่จะต้องนำพาบริษัทสู่ประสิทธิภาพ และผลิตภาพ  สหภาพแรงงานไม่เชื่อมั่นว่าการปิดกิจการ ปรับโครงสร้างจะทำให้การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงมักแก้ปัญหาด้วยการเดินขบวน  ดังนั้นยุโรปจึงไม่เพียงขาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสร้างความก้าวหน้า พวกเขายังมิได้ตระเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรกับการปรับตัวอีกต่างหาก 

สาเหตุที่ทำให้ยุโรปขาดการทำลายอย่างสร้างสรรค์เป็นเพราะ 1. ระบบการควบคุมที่สร้างค่าเช่ามหาศาลด้วยการปิดกั้นไม่ให้บริษัทที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม 2. การให้การสนับสนุนของรัฐทำให้เกิดการเอียงสนามแข่ง 3. การขาดการต่อต้านการผูกขาดจนทำให้ขาดการแข่งขัน   

วิธีการที่ระบบการควบคุมบิดเบือนแรงจูงใจ เช่น ค่าแท็กซี่ในยุโรปสูงกว่าในสหรัฐฯ มาก เพราะใบอนุญาตมีน้อย  นักเศรษฐศาสตร์เรียกพฤติกรรมนี้ว่า การแสวงหาค่าเช่า( Rent Seeking ) ทั้งคนขับรถแท็กซี่และคนออกใบอนุญาตต่างสมประโยชน์จากการที่มีใบอนุญาตน้อย เพราะทั้งคู่ต่างสามารถที่จะใช้ตำแหน่งของตัวเองแสวงหาผลประโยชน์ได้มากขึ้น  การแบ่งโซนโดยไม่ให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถขยายตัวเข้าไปในเมืองด้วยข้ออ้างทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์กลับเป็นคนรวยบนความเสียหายของคนจน เพราะคนจนต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่ากับร้านค้าปลีกขนาดเล็ก  ถึงกระนั้นก็ตาม นักการเมืองยุโรปยังคงปล่อยให้มีแต่ร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ในชุมชนเพราะพวกเขาได้เสียงจากพ่อค้าปลีกนั่นเอง  

โดยทั่วไปผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากค่าเช่าที่ปราศจากการแข่งขันก็คือ เจ้าของบริษัท ทีมบริหารและพนักงาน รวมทั้งนักการเมืองด้วย  การขาดการแข่งขันยังบิดเบือนแรงจูงใจของผู้ประกอบการ รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการหันไปหาธุรกิจที่ได้รับการปกป้อง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนโดยละทิ้งธุรกิจที่มีความเสี่ยง  เช่น เฟียต บริษัทผลิตรถยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิตาลีมาอย่างอย่างยาวนาน แทนที่พวกเขาจะใช้เงินไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ พวกเขากลับใช้เงินไปซื้อบริษัทประกันภัยและบริษัทพลังงานที่อยู่ภายใต้การปกป้องของรัฐ ทำให้พวกเขาเสียส่วนแบ่งทางการตลาดและเข้าสู่ภาวะล้มละลาย 

การขาดการแข่งขันทางธุรกิจกระตุ้นให้ตลาดแรงงานปกป้องตนเองมากยิ่งขึ้นไปอีก  เมื่อแรงงานทราบว่าบริษัทได้ค่าเช่ามหาศาลจากรัฐบาล พวกเขาก็ยินดีที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากค่าเช่านั้นด้วย  โดยทั่วไปค่าเช่าที่สหภาพแรงงานปกป้องได้จะไม่ได้มาในรูปของค่าแรงที่สูงขึ้น แต่มักมาในรูปของเวลาทำงานที่ลดลงหรือสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ดีขึ้นมากกว่า  การขาดการแข่งขันทั้งในด้านการผลิตและการบริการทำให้เกิดปัญหาในตลาดแรงงานจนขาดความยืดหยุ่น  การปฏิรูปทั้งตลาดการผลิตและตลาดแรงงานจะส่งเสริมให้เกิดผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจและการเมือง   

การเปิดเสรีทางการบินของสหรัฐฯ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 5 ชั่วโมงจากนิวยอร์กไปลอสแองเจลลิสถูกกว่าการเดินทางครึ่งชั่วโมงจากซูริคไปยังแฟรงเฟิร์ตเสียอีก ทั้งนี้เพราะการกำกับดูแลทำให้เกิดค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้อง  การเปิดเสรีจะทำให้ค่าเช่าเหล่านี้หมดไป และยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่สาธารณชนด้วย  กลุ่มผลประโยชน์ส่วนน้อยมักสามารถต่อสายไปยังนักการเมืองได้  มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการเปิดเสรีจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนกลุ่มน้อยเหล่านี้  กุญแจสำคัญในการกำจัดการไร้ประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการสนับสนุนในกิจการที่ไร้ผลิตภาพก็คือ การลดภาษีทั้งหมดลง 

รัฐบาลยุโรปส่วนใหญ่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องการแข่งขันด้วยการย้ายความรับผิดชอบไปยังรัฐบาลกลางยุโรปที่กรุงบรัสเซลซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอควรจาก 1. คณะมนตรียุโรปสามารถที่จะใช้อำนาจได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลแต่ละประเทศอีก  2 การติดสินบนคณะมนตรียุโรปทำได้ยากกว่านักการเมืองท้องถิ่น 3 บรัสเซลมักปรับเปลี่ยนทุกส่วนในครั้งเดียวเลย

คณะมนตรียุโรปมักมีความสามารถมากกว่านักการเมืองท้องถิ่นตรงที่ พวกเขาสามารถที่จะหักดิบกุญแจที่ปิดตายหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยได้โดยง่าย  การมีรัฐบาลกลางยุโรปทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้ง่ายและทำให้สหภาพยุโรปประสบความสำเร็จ  จุดอ่อนของยุโรปในการแก้ไขปัญหากลุ่มความร่วมมือของบริษัท (Cartel) ก็คือ การขาดความสามารถในการกำหนดบทลงโทษพฤติกรรมการรวมหัวกันของบริษัท  

ในสหรัฐฯ การเก็บเช็คหรือการขับไล่ผู้เช่าใช้เวลา 7 สัปดาห์ การนำคดีขึ้นสู่ศาลใช้เวลา 5 สัปดาห์ และใช้เวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ในการบังคับใช้กฎหมาย  แต่ในอิตาลีต้องใช้เวลาหนึ่งปีกว่าศาลจะตัดสิน และต้องใช้เวลาอีกถึงหนึ่งปีกว่าจะบังคับใช้กฎหมายได้  ส่วนฝรั่งเศสนั้นขั้นตอนทั้งสองใช้เวลา 3 เดือน ในขณะที่เนเธอร์แลนด์และสวีเดนนั้นใช้เวลาใกล้เคียงกับสหรัฐฯ  นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลนอร์ดิกสามารถที่จะใช้นโยบายภาษีสูงร่วมกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การที่ประชาชนไม่สามารถเชื่อใจใครได้ รวมทั้งศาลด้วย ทำให้พวกเขาไม่กล้าทำธุรกรรม  การที่บริษัทไม่แน่ใจว่าจะเก็บเงินได้ทำให้พวกเขาไม่กล้าส่งสินค้าจนทำให้เกิดความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และไม่กล้าที่จะทำธุรกรรมกับบริษัทที่ไม่คุ้นเคยส่งผลให้ตลาดขาดความหลากหลาย  บริษัทที่ขาดจริยธรรมที่ทราบว่าศาลจะใช้เวลาชั่วกัปชั่วกัลป์ในการบังคับใช้กฎหมายก็มักจะไม่ปฏิบัติทำตามสัญญาส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมลดต่ำลง ต้นทุนในการทำธุรกรรมก็มากขึ้น  อิตาลีพยายามแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบยุติธรรมด้วยการกำหนดบทลงโทษด้วยเงินจำนวนมาก แต่การบังคับใช้กฎหมายก็มักเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ  บริษัทส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการรับเช็ค เพราะกว่าที่จะบังคับให้จ่ายเช็คได้หรือลงโทษได้ก็ต้องใช้เวลาสองปี และเมื่อกำหนดบทลงโทษเสร็จ ผู้ทำผิดก็สามารถจ่ายเช็คเพื่อเลี่ยงการติดคุกได้ แต่โจทย์ก็ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะเก็บเงินได้

 การเปิดธุรกิจใหม่ในอิตาลีใช้เวลา 62 วันทำการและใช้เอกสารมากถึง 16 ฉบับ และเงินอีก 5,000 ดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นฝรั่งเศสใช้เวลา 53 วันเอกสาร 15 ฉบับและเงิน 4,000 ดอลลาร์ ส่วนเยอรมันใช้เวลา 42 วัน 10 ฉบับและเงิน 4,000 ดอลลาร์ ในขณะที่สวีเดนใช้เวลา 6 วัน และเงิน 644 ดอลลาร์ เดนมาร์กใช้เวลา 3 วัน และเงิน 3,000 ดอลลาร์ และสหรัฐฯ ใช้เวลา 4 วันกับเอกสารเพียงแค่ 4 ฉบับและเงิน 166 ดอลลาร์เท่านั้น  ต้นทุนที่สูงและการกำกับที่ยุ่งยากสร้างแรงจูงใจในการติดสินบนพนักงานผู้ควบคุมและฝ่าฝืนกฎหมาย  

การที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปไม่สามารถที่จะมีระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเป็นเพราะ นักกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ในระบบที่ไม่มีการแข่งขัน  ค่าธรรมเนียมกฎหมายสูงถึง 20% ของค่าจำนองเลยทีเดียว  ส่วนในเยอรมันนั้น กว่าที่ธนาคารจะยึดบ้านได้หลังจากที่ผู้จำนองหยุดผ่อนบ้านแล้วต้องใช้เวลายาวนานมาก ค่าดาวน์บ้านจึงสูงส่งผลให้คนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเป็นเจ้าของบ้านเพียงแค่ 10% เทียบกับอังกฤษที่มีถึง 52%  ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเคลื่อนย้ายที่อยู่ได้โดยง่ายส่งผลให้ตลาดแรงงานขาดความยืดหยุ่น และการเจริญเติบโตของประชากรมีปัญหาเพราะพวกเขาไม่สามารถตัดสินใจมีลูกได้  

วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ในปี 2008 ได้ทำให้สังคมรับรู้ถึงการโกงอย่างสยดสยองของผู้บริหารบริษัทลงทุนใหญ่ ๆ ทั้งสองฟากของแอตแลนติก เช่น เอนรอน ไทคอน เวิร์ดคอม ปาร์มาแลต รอยัลอาโฮล อันเป็นผลมาจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของผู้บริหารบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้  สหรัฐฯ แก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ห้ามกรรมการธนาคารเป็นนายหน้า หรือทำกิจกรรมร่วมกับบริษัทที่มีหุ้นอยู่ในตลาด  นายหน้าที่ขายหุ้นในตลาดห้ามเป็นที่ปรึกษา ผู้ตรวจสอบห้ามให้คำปรึกษากับบริษัทหลักทรัพย์   แต่ยุโรปกลับไม่ทำอะไรเลย  นักลงทุนในตลาดหุ้นอิตาลีจึงถอนตัวไปเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลเข้าข้างรายใหญ่และคนผิด  

การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในยุโรปเกิดขึ้น 3 กรณีคือ 1. เกิดจากความแปลกประหลาดของโครงสร้างบริษัทเยอรมัน เช่น มี 2 บอร์ดคือ บอร์ดที่ปรึกษาและบอร์ดบริหารที่ 50% นั่งในบอร์ดที่ปรึกษาด้วยและ 2 ใน 3 เป็นตัวแทนที่มาจากสหภาพแรงงาน  การมีตัวแทนของสหภาพแรงงานจำนวนมากในบอร์ดที่ปรึกษามีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการตัดสินใจด้านกลยุทธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับโครงสร้างและเรื่องเงินเดือน 2. ธนาคารที่เป็นผู้บริหารกองทุนเป็นผู้กำหนดราคาหลักทรัพย์ด้วย ซ้ำยังเป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์นั้นด้วยอีกต่างหาก  3. ผู้กำกับดูแลเหนี่ยวนำให้เข้าใจผิด 

ส่วนธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็มีผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องปกป้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของผู้บริหารและพนักงานซึ่งค่อนข้างสูง และไม่เท่ากันด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายธนาคารกลางของสมาชิกสหภาพยุโรปคิดเป็น 15 เหรียญต่อหัวประชากร กรีซ ออสเตรีย ฝรั่งเศส  อิตาลี 30, 25, 23 และ 21 เหรียญ ตามลำดับ  ในขณะที่สหรัฐ และอังกฤษเพียงแค่ 5 และ 3 เหรียญเท่านั้น  ประธานธนาคารกลางอิตาลีกินเงินเดือนมากถึงปีละ 600,000 ยูโรหรือ 3 เท่าของเพื่อนที่ทำงานระดับเดียวกันในฟินแลนด์ และมากกว่าเพื่อนที่แฟรงเฟิร์ต และประธานธนาคารกลางยุโรปเองถึง 200,000 ยูโร

การประนีประนอมกันระหว่างรัฐและรัฐบาลระหว่างประเทศ(อียู) ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารสถาบันต่าง ๆ ขึ้นหลายประการ 1. ขาดการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน 2. บรัสเซลล์ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางสหภาพยุโรปมักมีอำนาจมากเกินไปในบางเรื่อง เช่น การเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2% ของ GDP เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่บรัสเซลล์ควรตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นสัดส่วนต่อจีดีพีมาก ๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับตลาดร่วม (Common Market) เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ในเรื่องขนาดกับต้นทุนหรือการทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Uniformity) หรือแบบเดียวกันทั้งหมด 

แท้ที่จริงแล้วความแตกต่างกันในยุโรปมิได้เกิดจากรัฐบาลของแต่ละประเทศกับรัฐบาลระหว่างประเทศหรืออียู แต่เป็นผลมาจากความแตกต่างในแนวคิด  ฝรั่งเศสนิยมนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องและต้องการนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของสหรัฐฯ  แต่มันเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลหากสหภาพยุโรปจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างที่ฝรั่งเศสต้องการ เพราะมันเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามการกำเนิดสหภาพยุโรปเลยทีเดียว  การรวมกันเป็นตลาดเดียวอาจส่งผลดีต่อสินค้าแต่มิใช่บริการ  ในขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการกลับมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของ GDP ของยุโรป 

ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหภาพยุโรปที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องการก้าวพ้นอิทธิพลของนาโต้นั้นก็ยังคงประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น  1. มันเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และอังกฤษก็มีมุมมองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศอื่น ๆ  2. ประเทศในยุโรปมิได้มีงบประมาณทางด้านการทหารอย่างเพียงพอเลยจึงทำให้พวกเขาไม่น่าที่จะดำรงสถานะในสังคมโลกได้ หากแยกตัวออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ  3. ยุโรปมักลังเลที่จะใช้มาตรการทางทหาร

แท้ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปก็เป็นไปเพื่อการเปิดเสรี  นโยบายที่รัฐแทรกแซงตลาด  และปกป้องตลาดภายในจากโลกภายนอกจึงเป็นนโยบายที่ไม่สมเหตุผล  แต่บรัสเซลกลับไม่สามารถที่จะหยุดยั้งปฏิบัติการของรัฐบาลแต่ละประเทศได้  ยุโรปจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจกับการปฏิรูปแนวคิดและองค์กรเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเปิดเสรีของตลาดและเพิ่มการแข่งขัน  

แม้ว่าคณะมนตรียุโรปจะพยายามที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่การที่ประชาชนในหลายประเทศออกเสียงคัดค้านรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นว่า คนส่วนหนึ่งเกรงกลัวการสูญเสียอธิปไตย นั่นหมายความว่า ความพยายามในการรวมศูนย์การตัดสินใจของสหภาพยุโรปคงเป็นไปได้ยาก  

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิจารณ์ว่าการทำงานของธนาคารกลางยุโรปล้มเหลวเพราะสถานการณ์ของสมาชิกยังคงเหมือนเดิมก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำ อัตราว่างงานสูงและสภาวะเศรษฐกิจเอื่อย นั่นหมายความว่า การที่ธนาคารกลางยุโรปให้ความสนใจแต่เฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับยุโรปโดยรวมได้  ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ปัญหาของสหภาพยุโรปที่ผ่านมาคือความสามารถในการปรับโครงสร้างด้านต่าง ๆ ต่างหาก

แม้การใช้เงินสกุลเดียวให้ประโยชน์หลายประการ เช่น กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้โดยไม่มีความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มความโปร่งใสในด้านราคาระหว่างประเทศ  เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการลดค่าเงิน แต่ก็ทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างอิสระของแต่ละประเทศหมดไป อีกทั้งยังทำให้แต่ละประเทศยังหมดโอกาสของการปรับค่าเงินให้ยืดหยุ่นด้วย 

Martin Feldstein และ Milton Friedman คาดว่าการใช้เงินสกุลเดียวจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกันในยุโรปจนอาจเกิดสงครามได้   หากยุโรปต้องการร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น พวกเขาก็จำเป็นต้องยุตินโยบายการเงินของแต่ละประเทศ และร่วมมือกันปฏิรูปโครงสร้างตลาดสินค้า บริการและแรงงานด้วยการลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ง่ายขึ้น 

ปัญหาที่เริ่มเกิดหลังการรวมเงินสกุลเดียวได้ 7  ปีก็คือ 1. ขาดการปฏิรูป  2. นโยบายของธนาคารกลางยุโรป แทนที่แต่ละประเทศจะเร่งปฏิรูป พวกเขากลับเพิ่มการปกป้องมากขึ้นไปอีก เช่น แทนที่ฝรั่งเศสจะปล่อยให้บางบริษัทล้มละลาย  พวกเขากลับเลือกเทคโนโลยีที่ต้องการส่งเสริมแล้วให้เงินสนับสนุนเพิ่ม ค่าแรงที่แท้จริงของโปรตุเกสและอิตาลีก็เพิ่มขึ้นถึง 30% และ 21% ภายในเวลาเพียงแค่ 7 ปีทำให้สินค้าของพวกเขาไม่สามารถแข่งขันได้  

ผู้ที่โจมตีธนาคารกลางยุโรปมาจากสองฝากคือ 1. ข้าราชการที่เห็นว่าธนาคารกลางยุโรปขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเพราะมีเพียงเครื่องมือเดียวนั่นคือ นโยบายการเงินที่เข้มงวด และปัญหาของยุโรปไม่ใช่ด้านอุปสงค์ แต่เป็นด้านอุปทานต่างหาก  จริงอยู่นโยบายการเงินอาจเป็นนโยบายที่ทรงพลังในการแก้ไขปัญหา แต่มันได้ผลเฉพาะปัญหาระยะสั้นเท่านั้น  แต่ปัญหาของยุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นปัญหาระยะยาว  การที่เงินยูโรจะสามารถดำเนินไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งคงเป็นไปได้ยาก  หากการปฏิรูปยังถูกเลื่อนไปเรื่อย ๆ ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงที่อยู่เช่นนี้ ความไม่พึงพอใจคงกระจายไปทั่ว  วันหนึ่งบางประเทศอาจถอนตัวออกจากยูโร

วิธีการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณของประเทศ OECD ที่น่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นก็คือ การลดการใช้จ่ายมากกว่าการเพิ่มภาษี  การลดการใช้จ่ายเป็นการแสดงเจตจำนงว่ารัฐให้ความสำคัญกับการลดการขาดดุลงบประมาณ และทำให้คาดได้ว่ารัฐจะลดดอกเบี้ยลงด้วย  

ส่วนวิธีการที่ดีที่สุดในการลดค่าใช้จ่ายก็คือ การลดค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นลดการเพิ่มของค่าจ้าง หรือการลดจำนวนข้าราชการก็ตาม  แต่วิธีการนี้กลับเป็นปัญหามากในยุโรปเพราะข้าราชการยุโรปนั้นเป็นอาชีพที่มั่นคงมาก  โดยทั่วไป การที่รัฐลดการใช้จ่ายมักไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Non Keynesian effect  เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเท่าเดิม รายได้จากภาษีก็จะไม่ลดลง  ส่วนทางด้านอุปสงค์นั้น การที่รัฐบาลลดการใช้จ่ายเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าในอนาคตรัฐบาลต้องการรายได้น้อยลง ผู้บริโภคจะรู้สึกร่ำรวยขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น และยังเป็นการส่งสัญญาณว่าในอนาคตดอกเบี้ยจะลดลง  การลดลงของภาษียังจะลดความรู้สึกไม่อยากทำงานของแรงงาน และทำให้ต้นทุนของบริษัทลดลงด้วย  การเพิ่มภาษีทำให้แรงงานไม่อยากทำงาน และยังทำให้แรงงานอยากได้ค่าแรงก่อนหักภาษีเพิ่ม เพื่อทดแทนค่าแรงหลังหักภาษี ทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น 

การที่รัฐบาลใช้จ่ายจำนวนมากเป็นเวลานานทำให้ประชาชนเชื่อว่าความเป็นอยู่ที่ดีของเขาขึ้นกับการใช้จ่ายของรัฐ  พวกเขาเลยไม่ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว ภาคเอกชนสามารถให้บริการได้ดีกว่ารัฐเสียอีก  ความเชื่อในทฤษฎีเคนส์ทำให้ประชาชนให้ความคาดหวังสูงกับนโยบายด้านอุปสงค์มากกว่า และคาดหวังน้อยกับนโยบายด้านอุปทานนั่นคือ การลดภาษี  ประชาชนส่วนใหญ่เลยพากันคิดว่า วิธีการแก้ปัญหาก็คือ รัฐต้องเพิ่มการใช้จ่าย  แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ยุโรปต้องการไม่ใช่เงิน แต่เป็นแรงจูงใจ การแข่งขันที่มากขึ้น และเงินจากภาคเอกชน  หากรัฐลดการใช้จ่ายด้วยการลดค่าแรงข้าราชการ จะทำให้รัฐสามารถลดภาษีลงได้ด้วยซึ่งจะส่งผลดีต่ออุปทาน  

สหภาพยุโรปมีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องนโยบายการปกป้อง แทนที่นักการเมืองจะพยายามแก้ปัญหาสมองไหล และการออมที่เพิ่มขึ้นของคนสูงวัย  พวกเขากลับดำเนินนโยบายปกป้องเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องการนำเข้าสินค้าจากจีน ปกป้องมิให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากผู้อพยพ ปกป้องเทคโนโลยีที่ดีกว่าจากบริษัทสัญชาติอเมริกัน และปกป้องชาวนาที่ร่ำรวย   จริงอยู่นโยบายการปกป้องอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่การปกป้องก็ควรเป็นไปเพื่อคนจน หรือคนอ่อนแอ มิใช่เพื่อแรงงานสูงวัยที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเท่านั้น 

อนึ่ง นโยบายปกป้องเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น  ยุโรปทั้งทวีปต่างต้องเผชิญกับปัญหาอาการของยุโรปนั่นคือ 1. พวกเขามักนำปัญหาทั้งใหญ่และเล็กมารวมกันเป็นบัญชียาวเหยียดทำให้นักการเมืองสามารถที่จะเลือกปัญหาที่ก่อต้นทุนต่ำสุดกับพวกเขามาดำเนินการ และเลื่อนการแก้ปัญหาที่สำคัญจริง ๆ ออกไป  2. พวกเขาเชื่อว่าการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น การวิจัย และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เช่น พวกเขาเชื่อว่าต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่พวกเขาควรทำก็คือให้ผู้ปกครองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและแปรรูปมหาวิทยาลัยเพื่อให้แข่งขันได้ต่างหาก

ผู้เขียนมีข้อเสนอสำหรับนักการเมืองที่ทำให้พวกเขายากจะหลีกเลี่ยงตามลำดับดังนี้  1. เปิดเสรีสินค้าและบริการ  สำหรับบริการด้านการเงินนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศควรโอนการกำกับดูแลไปให้ธนาคารกลาง และสถาบันนี้ต้องเป็นอิสระจากคณะมนตรีและธนาคารกลางยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากนักการเมือง  สถาบันนี้จะเป็นผู้กำหนดว่าธนาคารกับกองทุนต้องแยกจากกันอย่างเด็ดขาด  2 เปิดเสรีด้านแรงงาน ต้องกำจัดต้นทุนของการไล่ออก แทนที่บริษัทจะต้องจ้างพนักงานที่พวกเขาไม่ต้องการต่อไป  การสนับสนุนสำหรับคนตกงานควรมีประกันการตกงานรวมไว้ด้วย และมันควรผูกไว้กับการหางานใหม่ รวมทั้งยุติทันทีที่ผู้ตกงานปฏิเสธงานที่ได้รับการเสนอ  บริษัทต่าง ๆ ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับคนตกงานด้วยในรูปของภาษีการไล่พนักงาน  3. ผู้อพยพ ยุโรปจำเป็นต้องเปิดพรมแดนให้กับผู้อพยพ แต่อาจกำหนดเงื่อนไขการอพยพเหมือนอย่างการให้ใบเขียวของสหรัฐฯ เพื่อสร้างสมดุลตามอุปสงค์ของตลาดแรงงาน  

4. การวิจัย  มหาวิทยาลัยควรเก็บค่าเล่าเรียนกับนักเรียน และแยกทุนการศึกษาไว้ต่างหาก  รัฐควรยกเลิกกฎการจ้างจากส่วนกลาง และมหาวิทยาลัยควรมีสิทธิเลือกพนักงานเองตามจำนวนที่ต้องการ อีกทั้งยังควรที่จะขยันหาผู้บริจาคเองด้วย  5. ระบบยุติธรรมและต้นทุนการทำธุรกิจและธุรกรรมต้องได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม  6. นโยบายการคลัง รัฐต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในเรื่องเงินเดือนค่าราชการ เงินบำนาญและเงินสนับสนุนต่าง ๆ และควรเลี่ยงการเพิ่มภาษีเพื่อลดการขาดดุล  การลดค่าใช้จ่ายภาครัฐต้องมากพอที่จะทำให้รัฐสามารถลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ด้วย  7. ธนาคารกลางยุโรปควรเริ่มแยกแยะพันธบัตรของประเทศที่มีงบประมาณสมดุลและขาดดุล เพื่อให้รัฐบาลที่งบประมาณขาดดุลหันมาเข้มงวดกับการจัดทำงบประมาณ แทนการออกระเบียบยุ่งยากหยุมหยิมไว้ตาม Growth and Stability Pact  

เพื่อยุติความเสื่อมของยุโรป รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมี 1. โครงการของรัฐเพิ่มขึ้น 2. ให้การสนับสนุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา  3. เพิ่มเงินเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐาน และ 4.  เพิ่มกฎระเบียบ  แต่พวกเขาต้อง  1. เพิ่มแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน  2. เพิ่มความกล้าในการเสี่ยง  3.  เพิ่มการทำงานและวิจัย  ความเสื่อมจะสิ้นสุดลงได้หากยุโรปยกเลิกนโยบายปกป้องจากความท้าทายของตลาดนั่นเอง 

ข้อคิดเห็น ปัจจุบัน ยุโรปกำลังอยู่ตรงทางแยก พวกเขาสามารถที่จะดำเนินธุรกิจเช่นเดิมและยอมรับการเจริญเติบโตที่เชื่องช้าแต่นำสู่ความเสื่อมถอย หรือเริ่มต้นปฏิวัติ  จริงอยู่ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยากโดยเฉพาะในสถานที่ที่ทัศนคติและสถาบันต่าง ๆ มีประวัติศาสตร์และการเมืองที่ฝังรากลึก  แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากชาวยุโรปไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ในภาวะเสื่อมถอย  แท้ที่จริงแล้วยุโรปไม่ได้ต้องการการลงทุนจากรัฐมากขึ้น พวกเขาต้องการการปฏิรูปเพื่อให้ผู้คนมีแรงจูงใจในการทำงานหนักมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้น และยอมเปลี่ยนแปลง  ยุโรปต้องการการแข่งขันที่มากขึ้นในทุกระดับ เช่น ระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องการแรงจูงใจแบบตลาดเพื่อให้เกิดการพัฒนา  บริษัทต้องการเสียภาษีที่น้อยลง และลดการกำกับทางด้านแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อตลาดและศักยภาพในการแข่งขันมิใช่ต้องการการปกป้องหรือต้องการการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ  นโยบายปกป้องที่มากเกินไปทำให้บริษัทล้าหลัง ไม่สามารถตอบสนองต่อตลาด และยังเป็นต้นทุนที่สูงต่อคนรุ่นหลังด้วย   

ผู้เขียนไม่เห็นอะไรในยุโรปดีเลย และเข้าข้างแนวคิดการเปิดเสรีแบบเต็มรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องปกป้องใด ๆ ทั้งนั้นตามแบบนโยบายของสหรัฐฯ  ส่วนสถานการณ์หรือนโยบายที่ผู้เขียนยกตัวอย่างหลายกรณีอาจเป็นสิ่งที่ผู้อ่านเริ่มคุ้น ๆ ว่าคล้ายกับประเทศไทยมาก 

Rating: 5 stars

Tags: , , ,

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

Comments are closed.

+(reset)-

Ratings Plugin created by Cheap Web Hosting - Powered by Attache Case and VLC Player Download.